คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
อกุศลแม้เพียงเล็กน้อยนิดหน่อย ซึ่งอาจจะไม่ได้สังเกตเลย แต่พระผู้มีพระภาคก็ตรัสโดยเฉพาะกับพระภิกษุให้เห็นว่า ในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศของการขัดเกลากิเลส ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ต้องมีความระมัดระวังที่จะแสดง ให้เห็นว่า เป็นการเคารพนับถือในพระศาสดา ในพระผู้มีพระภาคหรือไม่ เพราะถ้า ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้คดโกง กระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ไม่นับถือเรา เท่านี้ก็เตือนได้แล้วทุกครั้งที่อกุศลจิตจะเกิด
และสำหรับคฤหัสถ์ก็เช่นเดียวกัน พระธรรมทั้งหมดแม้ว่าจะแสดงกับพระภิกษุ แต่ก็สำหรับพุทธบริษัททั้งหมดด้วย ไม่ใช่เฉพาะกับพระภิกษุเท่านั้น ซึ่งท่านผู้ฟัง ก็จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างต้องมีเหตุ คือ เหตุที่จะทำให้เป็นผู้คดโกง เป็นผู้กระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มานะจัด จิตไม่ตั้งมั่น ก็ต้องมีเหตุ คือ มีความสำคัญติดข้อง ยึดมั่นในตัวตน มีความรักตน มีความต้องการสมบัติต่างๆ เพื่อตน ซึ่งทำให้ผู้นั้น มีจิตไม่ตั้งมั่น หวั่นไหว
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะดับอกุศลได้หมดสิ้น จะต้องดับการยึดถือสภาพธรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้งหมด เพราะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งมีหนทางเดียว คือ ต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังรักตัว ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องการ ให้ตัวตนมีความสุข ก็คงเป็นผู้ที่คิดว่า ชีวิตจะเป็นสุขได้ ต้องเป็นชีวิตที่มีทรัพย์สมบัติ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีโลภะที่จะแสวงหาสมบัติให้ตาเห็น ให้หูได้ยิน ให้จมูกได้กลิ่น ให้ลิ้นลิ้มรส ให้กายกระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ แต่ต่างกับสมบัติในพระธรรมซึ่งมี ๒ อย่าง คือ ประเภทหนึ่งทำให้ติดข้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ อีกประเภทหนึ่ง ทำให้ละคลายความติดข้อง ทำให้ไปสู่ทางดับ ไม่ใช่ไปสู่ทางเกิด
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2064
อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ปฐมธนสูตรที่ ๕
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ ทรัพย์คือศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล
ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตตะ จาคะ และปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม
ถึงเวลาเลือกแล้วใช่ไหม จะเลือกทรัพย์ประเภทไหน ต้องการไหมทรัพย์ ๗ ประการ คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ หรือว่าไม่เอา ยังไม่ยอมแลกกับสมบัติทางโลก ถ้าจะให้แลกก็ไม่ยอม
แต่ผู้ที่มีปัญญาจริงๆ สมบัติทั้งโลกจะแลกกับสมบัติ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตตะ จาคะ และปัญญาไม่ได้ ผู้ที่เห็นคุณค่าของทรัพย์ ๗ ประการ ที่เป็นสมบัติหรือทรัพย์ทางธรรมแล้ว จะไม่ยอมแลกด้วยทรัพย์สมบัติใดๆ ทางโลกทั้งสิ้น ตรงกันข้ามผู้ที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้พิจารณาเห็นประโยชน์ของทรัพย์ ๗ ประการทางธรรม ก็ยังคงพอใจที่จะเลือกทรัพย์สมบัติทางโลกอยู่
แสดงให้เห็นถึงการสะสมปัญญาจริงๆ ที่จะต้องพิจารณาเห็นว่า ทรัพย์อื่น ไม่สามารถติดตามไปได้ เพราะว่าชั่วตาเห็น แล้วทรัพย์นั้นจะหมดสิ้นไปเมื่อไรก็ได้
อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อุคคสูตร ข้อ ๗ มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล มหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อว่าอุคคะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีมา โดยเหตุที่มิคารเศรษฐีผู้เป็นหลานโรหณเศรษฐี เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากถึงเพียงนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกร อุคคะ ก็มิคารเศรษฐีหลานโรหณเศรษฐีมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากสักเท่าไร
ท่านอุคคะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทองแสนลิ่ม จะกล่าวไปไยถึงเงิน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุคคะ ทรัพย์นั้นมีอยู่แล เรามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่ทรัพย์นั้นแลเป็นของทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
ดูกร อุคคะ ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ๗ ประการเป็นไฉน คือ ทรัพย์คือศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ (คือ การฟังพระธรรม) ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑
ดูกร อุคคะ ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ไม่ทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม เป็นผู้มีทรัพย์มากในโลก อันอะไรๆ พึงผจญไม่ได้ในเทวดา และมนุษย์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม
พอที่จะเลือกได้แล้วใช่ไหม จะเอาอะไรมาแลกอะไร จะยอมหรือไม่ยอมอย่างไร ในขณะนี้กำลังฟังพระธรรม กำลังมีหิริ มีโอตตัปปะ มีศรัทธา และกำลังอบรมเจริญปัญญาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ท่านผู้ฟังในขณะนี้กำลังหลีกเร้น ด้วยการฟังพระธรรม เพราะว่าไม่ได้ คล้อยตามไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหมือนในขณะอื่นซึ่งไม่ได้ฟังพระธรรม
บางท่านที่พอใจในคำว่า มุนี หรือความหมายของผู้สงบ หรือผู้หลีกเร้น ดูเหมือนเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ควรที่จะได้เข้าใจความหมายของมุนี โมเนยยะ หรือการปฏิบัติเพื่อการหลีกเร้น ซึ่งหมายความถึงปัญญา และการเจริญปัญญา ไม่ได้หมายความถึงสถานที่ หรือการกระทำใดๆ โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับ บุคคลอื่น แต่ปัญญาไม่เกิด
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า การอบรมเจริญปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาทั้งสิ้น แม้แต่ความหมายของคำว่า หลีกเร้น สงบจากความวุ่นวาย ซึ่งใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวรรค ชราสุตตนิทเทสที่ ๖ ข้อ ๒๐๙ มีข้อความว่า
พระเสกขะ ๗ จำพวก (เว้นอรหัตตผล) เรียกว่า ผู้ประพฤติหลีกเร้น พระอรหันต์ เรียกว่า ผู้หลีกเร้น
นี่คือความต่างกัน ผู้ที่ประพฤติหลีกเร้น กับผู้ที่หลีกเร้นแล้ว
พระเสกขะ ๗ จำพวก เรียกว่า ผู้ประพฤติหลีกเร้น เพราะเหตุไร
พระเสกขะเหล่านั้น ยังจิตให้หลีกเร้น หดกลับ ถอยกลับ ปิดกั้น ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ย่อมประพฤติ อยู่ เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป ยังจิตให้หลีกเร้น หดกลับ ถอยกลับ ปิดกั้น ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ในจักขุทวาร ประพฤติ อยู่ เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป ยังจิตให้หลีกเร้น หดกลับ ถอยกลับ ปิดกั้น ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ในโสตทวาร ... ในฆานทวาร ... ในชิวหาทวาร ... ในกายทวาร ... ในมโนทวาร ... เปรียบเหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็นที่ใส่เข้าไปในไฟ ย่อมหด งอ ม้วน ไม่คลี่ออก ฉะนั้น
เหมือนคนอื่นหรือเปล่า หรือเหมือนทุกท่านที่กำลังประพฤติเป็นไปด้วย การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะในขณะนั้นมีการที่จะ หดกลับ ถอยกลับ รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ในจักขุทวาร ประพฤติ อยู่ เป็นไป หมุนไป รักษา ดำเนินไป ให้อัตภาพดำเนินไป ยังจิตให้หลีกเร้น หดกลับ ถอยกลับ ปิดกั้น ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้นๆ ในโสตทวาร ... ในฆานทวาร ... ในชิวหาทวาร ... ในกายทวาร ... ในมโนทวาร ...
ชั่วขณะหนึ่งๆ ที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็เป็นผู้ที่กำลังประพฤติหลีกเร้น โดยไม่ใช่จะต้องไปสู่ที่หนึ่งที่ใด แต่ขณะใดที่ตาเห็น ที่จะไม่เป็นไปกับเรื่องราวต่างๆ ก็โดยการที่สติระลึก และค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งวันหนึ่งๆ ก็คงจะน้อยมาก แต่ก็เป็นหนทางถูก หนทางตรง ที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมขึ้น
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2065
นาที 12.50
เรื่องของการเข้าใจข้อปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะชาติหนึ่งๆ ที่เกิดมา ที่จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเป็นขณะที่แสนยากในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าบางคน เกิดมามีโอกาสแต่ไม่ฟัง หรือว่าบางคนฟังแล้วไม่มีการสะสมที่จะเห็นประโยชน์ ก็ผ่านเลยไปในแต่ละวัน เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสได้ฟังเรื่องของการอบรมเจริญ มรรคมีองค์ ๘ ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบเพื่อปัญญาจะได้เจริญขึ้นอีกในแต่ละชาติ ที่มีโอกาสได้ฟังเรื่องของมรรคมีองค์ ๘
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปฏิปทาสูตรที่ ๒ ข้อ ๖๘ มีข้อความว่า
สาวัตถีนิทาน
คือ เรื่องนี้เกิดขึ้นที่พระนครสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญมิจฉาปฏิปทาของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมไม่ยังญายธรรมอันเป็นกุศลให้สำเร็จ เพราะความปฏิบัติผิดเป็นตัวเหตุ ก็มิจฉาปฏิปทาเป็นไฉน ความเห็นผิด ความดำริผิด วาจาผิด ทำการงานผิด เลี้ยงชีพผิด ความเพียรผิด การระลึกผิด การตั้งมั่นผิด นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิปทา
ถ้าไม่มีความเห็นผิด การปฏิบัติผิด จะไม่ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงมีประโยชน์เกื้อกูลให้ระลึกพิจารณาให้ถ่องแท้ เพื่อประโยชน์ของตนเอง และบุคคลอื่นด้วย มิฉะนั้นแล้วถ้าบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าใจผิด และชักชวนบุคคลอื่นให้เข้าใจผิดปฏิบัติผิดตามๆ กันไป ผู้นั้นย่อมหมดโอกาสที่จะได้เข้าใจพระธรรม โดยถูกต้อง และย่อมจะไม่เป็นเหตุให้ได้เจริญมรรคมีองค์ ๘
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สามคามสูตร ข้อ ๕๔ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ความวิวาทที่เกิดเพราะเหตุอาชีวะอันยิ่งหรือปาติโมกข์ อันยิ่งนั้นเล็กน้อย ส่วนความวิวาทอันเกิดในสงฆ์ที่เกิดเพราะเหตุมรรคหรือปฏิปทา ความวิวาทนั้นมีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดา และมนุษย์ ฯ
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1757
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ อย่าง
เรื่องของการวิวาทขอให้ทราบว่า ต้องมีมูลเหตุ และสำหรับการวิวาทเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด เมื่อเทียบกับการวิวาทในเรื่องของการเจริญมรรคมีองค์ ๘ แล้ว การวิวาทในเรื่องอื่นแม้ในเรื่องของอาชีวะหรือปาติโมกข์อันยิ่งนั้น ก็ยังนับว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการวิวาทในเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ และเหตุที่จะให้เกิดการวิวาทนั้น มี ๖ อย่าง คือ
๑. เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ
๒. เป็นผู้มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ
๓. เป็นผู้มีความริษยา มีความตระหนี่
๔. เป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้มีมายา
๕. เป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด
๖. เป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้น สละคืนได้ยาก
ภิกษุที่เป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้น สละคืนได้ยากนั้น ย่อมไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงแม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ภิกษุที่ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงแม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขานั้น ย่อมก่อความวิวาทให้เกิดในสงฆ์ ซึ่งเป็นความวิวาทมีเพื่อ ไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดา และมนุษย์
เพราะฉะนั้น แต่ละท่านจะต้องฟัง พิจารณา หนักแน่นไม่หวั่นไหว ในพระธรรมที่ได้ฟัง ที่ได้พิจารณาในลักษณะของสภาพธรรม ในอริยสัจจธรรมว่า ข้อปฏิบัติใดเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้จริงๆ เพราะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน และการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ละคลายจากกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ กำลังคิดนึกเดี๋ยวนี้ กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์เดี๋ยวนี้
ลักษณะของสภาพธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย สภาพธรรมใดมีลักษณะอย่างใด ก็เป็นอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งอวิชชาไม่สามารถรู้ในลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นได้ แต่ปัญญาที่ค่อยๆ เกิดเพราะสติระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะทำให้ค่อยๆ รู้ในลักษณะของเห็นที่กำลังเห็น เมื่อรู้แล้วก็ค่อยๆ คลายการยึดถือ สิ่งที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และค่อยๆ ละการยึดถือเห็นว่า เป็นเราเห็น
เพราะฉะนั้น การพิสูจน์การเจริญปัญญา ไม่ยากเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขณะใด สติเกิดจะรู้ได้เลยว่าปัญญารู้อย่างนี้ไหม เมื่อรู้แล้วก็ค่อยๆ คลายตามปกติ ตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด และเข้าใจว่าปัญญาเกิด แต่ปกติที่กำลังเห็นไม่มีการรู้เลยว่าเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีการละคลายการยึดถือเห็นที่กำลังเป็นปกติในขณะนี้ว่าเป็นตัวตน ไม่มีการละคลายที่จะเข้าใจว่า สภาพของปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
ถ้าเข้าใจว่าชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมเต็มไปด้วยอวิชชา และความยึดมั่น แต่เมื่อได้ฟัง และมีความเข้าใจเกิดขึ้นเป็นขั้นๆ สติก็เริ่ม ระลึกรู้ การละคลายก็จะค่อยๆ เป็นไปตามลำดับ แต่ต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี แสดงประวัติของท่านสูรอัมพัฏฐเศรษฐีอุบาสก ซึ่งท่านเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกสาวก ผู้เลื่อมใสโดยไม่หวั่นไหว
ข้อความมีว่า
ท่านปุรพันธเศรษฐีอุบาสก (บาลีว่า สูรอัมพัฏฐะ) ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ท่านเกิดในสกุลเศรษฐี เป็นอุปัฏฐากของเหล่าอัญญเดียรถีย์
ไม่ได้กล่าวถึงการสะสมปัญญา และบารมีในอดีตชาติที่จะทำให้ท่านได้เป็น พระโสดาบัน ซึ่งท่านก็ต้องได้เคยฟังพระธรรม ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมาแล้ว
ในชาติที่ท่านจะได้เป็นพระโสดาบันนั้น ท่านเกิดในตระกูลเศรษฐีมีนามว่า สูรอัมพัฏฐะ (แต่ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า ท่านชื่อว่า ปุรพันธเศรษฐี)
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่ง โสดาปัตติมรรคของท่าน จึงได้เสด็จไปถึงประตูบ้านของท่านในเวลาที่เสด็จบิณฑบาต เมื่อท่านเห็นพระผู้มีพระภาคท่านก็คิดว่า พระสมณโคดมทรงอุบัติในสกุลใหญ่ และเป็นผู้อันมหาชนรู้จักกันอย่างดีในโลก ด้วยเหตุนี้การไม่ไปเฝ้าพระองค์นั้น ไม่สมควร
ดังนั้น ท่านจึงเข้าไปเฝ้า และกราบที่พระยุคลบาท รับบาตร และอาราธนาให้เสด็จเข้าไปในเรือน ให้ประทับนั่งบนบัลลังก์มีค่ามากแล้วได้ถวายภัตตาหาร เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเสร็จภัตกิจแล้ว ท่านก็นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามควรแก่อุปนิสัยของท่าน เมื่อจบเทศนา ท่านดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล และพระผู้มีพระภาคได้เสด็จกลับไปยังพระวิหารเชตวัน
ทุกท่านอยากจะเป็นอย่างนี้ ใช่ไหม ง่ายดี แต่ก่อนที่จะเป็นอย่างนี้นั้น ไม่ง่ายเลย จะต้องอาศัยการฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ และอบรมเจริญปัญญา จนพร้อมที่เมื่อได้ฟังพระธรรมถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ลำดับนั้น มารคิดว่า ชื่อว่าปุรพันธะนี้เป็นสมบัติของเรา (เพราะกาลครั้งหนึ่งท่านเคยเป็นอุปัฏฐากของพวกเดียรถีย์) มารคิดว่า แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จไปเรือนของเขาวันนี้ เขาจะได้บรรลุมรรคผลเพราะได้ฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคหรือไม่หนอ
เพื่อที่จะได้รู้ว่าปุรพันธเศรษฐีบรรลุมรรคผลหรือไม่ มารก็เนรมิตรูปเป็น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับยืนใกล้ประตูเรือนของปุรพันธอุบาสก
อยากรู้มาก มีวิธีที่จะรู้ได้ คือ ได้แปลงกายเป็นพระผู้มีพระภาค
แม้ปุรพันธอุบาสกได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมาอีกแล้ว ก็คิดว่า ธรรมดาการเสด็จไปชนิดไม่แน่นอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีเลย เหตุไรหนอจึงเสด็จมา ดังนี้
การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไป และเสด็จกลับมาอีก ย่อมไม่มีเลย เพราะฉะนั้น ท่านก็มีความสงสัย
ท่านจึงได้รีบไปที่ที่มารแปลงเป็นพระพุทธเจ้ายืนอยู่ เมื่อกราบแล้วได้ยืน ที่สมควรข้างหนึ่ง และกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงกระทำภัตกิจเสร็จในเรือนของ ข้าพระองค์ ทรงอาศัยเหตุอะไรจึงเสด็จมาอีก
มารกล่าวว่า
ดูก่อน ปุรพันธะ เราเมื่อกล่าวธรรม ไม่ทันพิจารณาแล้วกล่าวคำไปข้อหนึ่ง มีอยู่ แท้จริงเรากล่าวไปว่า ปัญจขันธ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาหมดทุกอย่าง แต่ความจริงไม่ใช่ทั้งหมดเห็นปานนั้น ด้วยว่าขันธ์บางจำพวกที่เที่ยง มั่นคง ยืนยง มีอยู่
ทีนั้นปุรพันธอุบาสกคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหนักอย่างยิ่ง
คือ เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเลยที่จะกล่าวอย่างนี้
ด้วยธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเป็นคำสองไม่มี จึงคิดใคร่ครวญว่า ขึ้นชื่อว่ามารเป็นข้าศึกของพระทศพล ผู้นี้ต้องเป็นมารแน่ จึงกล่าวว่า
ท่านเป็นมารหรือ
มารยอมรับว่าใช่ ปุรพันธอุบาสกจึงชี้นิ้วกล่าวว่า
มารตั้ง ๑๐๐ ตั้ง ๑,๐๐๐ ก็มาทำศรัทธาของเราให้หวั่นไหวไม่ได้หรอก พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงธรรมแก่เรา ก็ทรงแสดงธรรมปลุกให้ตื่นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ท่านอย่ายืนใกล้ประตูเรือนของเรานะ
มารก็ได้อันตรธานไปในที่นั้นนั่นเอง
และในตอนเย็นปุรพันธอุบาสกก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้ทรงทราบ
ท่านผู้ฟังพิจารณาธรรมหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหวที่จะรู้ว่า สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง ไม่ว่าใครจะกล่าวว่าอย่างไรก็หนักแน่นมั่นใจมั่นคงว่า สิ่งใดที่เกิด เพราะเหตุปัจจัยสิ่งนั้นก็ดับ ที่จะยั่งยืนมั่นคงนั้นไม่มีเลย หรือขันธ์บางขันธ์อาจจะยั่งยืนมั่นคง ถ้าคิดอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ก็เป็นความเห็นผิด และเป็นการไม่มั่นคง ในเหตุในผล ซึ่งการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ต้องเป็นผู้มีความมั่นคงในเหตุในผล จริงๆ ไม่คลอนแคลน ไม่ว่าในการพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ต้องพิจารณาในเหตุผลที่จะทำให้สติปัฏฐานเจริญขึ้นโดยถูกต้อง
ผู้ฟัง มารนี่มาได้แนบเนียนมาก ถ้าปุรพันธะไม่ได้โสดาบันก็เสร็จแน่
สุ. ถ้าเป็นผู้ที่หนักแน่นมั่นคง ฟังพระธรรมเข้าใจ แม้ในขั้นของการฟัง ก็ต้องประกอบด้วยเหตุผลที่จะต้องรู้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไม่มีสอง เพราะว่า ทรงแสดงตามที่ทรงตรัสรู้ ฉะนั้น ที่จะกลับไปกลับมาเป็นไปไม่ได้ และโดยเหตุผล จริงๆ ก็เป็นอย่างนั้นไม่ได้
สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ มีข้อความว่า
นอกจากมรรคแล้ว เครื่องนำออกอย่างอื่นย่อมไม่มี แม้มรรคนั้นมิใช่เครื่อง นำออกก็หาไม่ เพราะฉะนั้น มรรคนั้นบัณฑิตจึงรู้ว่าเป็นสัจจะ เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องนำออกอย่างแท้จริง
ทุกคนกำลังมีกิเลสสะสมมามาก ก็อยากจะให้กิเลสนั้นหมดไป เบาบางไป ดับไป แต่จะไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น เพราะฉะนั้น เครื่องที่จะนำกิเลสทั้งหลายออกอย่างอื่นนอกจากมรรคไม่มีเลย หรือใครคิดว่า มีหนทางอื่น วิธีอื่นที่จะดับกิเลส แต่ข้อความในพระไตรปิฎก และอรรถกถาแสดงไว้ชัดเจนว่า เครื่องนำออกอย่างอื่นย่อมไม่มี แม้มรรคนั้นมิใช่เครื่องนำออกก็หาไม่
ยังปฏิเสธกำกับไว้อีกว่า ที่มรรคนั้นจะไม่ใช่เครื่องนำออกนั้น เป็นไปไม่ได้ แต่ละขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะสภาพธรรม และสังเกตพิจารณาเพื่อที่จะแยกลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ออกจากลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏ นั่นเป็นหนทางที่จะนำกิเลสออกอย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้น บัณฑิตจึงรู้ว่าเป็นสัจจะ
ต้องเป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด จึงจะรู้ว่า หนทางที่จะละกิเลสนั้นมีหนทางเดียว
ข้อความต่อไปใน สัมโมหวิโนทนี วิภังคปกรณ์ มีว่า
ทุกข์นั้นตัณหามิได้สร้างแล้วย่อมไม่มา ทุกข์ย่อมมีเพราะเหตุภายนอก มีเพราะพระอิศวรบันดาลก็หาไม่ ที่แท้ทุกข์ย่อมมีเพราะตัณหานี้
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)