สติ - ธรรมไม่ใช่เรา


    ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายสตินทรีย์ มีข้อความว่า

    ที่ชื่อว่าสติ เพราะเป็นเหตุระลึก หรือว่าเป็นสภาพที่ระลึก หรือว่าเป็นเพียงการระลึกเท่านั้น

    นี่คือการที่จะแยกลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภท แต่ละชนิด ซึ่งเกิดร่วมกัน ให้เห็นว่า ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ปะปนกัน เช่น สติกับปัญญา ไม่ใช่เจตสิกเดียวกัน เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่าสติ เพราะเป็นเหตุระลึก หรือว่าเป็นสภาพธรรมที่ระลึก หรือว่าเป็นเพียงการระลึกเท่านั้น

    ถ้าจะพิจารณาธรรมจะเห็นได้ว่า ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าสติเป็นเจตสิก และก็เป็นขณะที่ระลึก ย่อมไม่มีเราที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ใช่ไหมคะ

    มีแต่รู้ว่าขณะใดหลงลืมสติ คือ สติไม่เกิด หรือว่าขณะใดสติเกิด จึงทำกิจ ของสติ เพราะเหตุว่าสติเป็นสภาพที่ระลึก เจตสิกอื่นจะทำกิจระลึกซึ่งเป็นกิจของสติไม่ได้เลย

    ก็สตินั้นชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดี โดยครอบงำความเป็น ผู้หลงลืมสติเสียได้

    วันหนึ่งๆ ทำไมกุศลจิตไม่เกิด เพราะเหตุว่าหลงลืมสติ สติไม่เกิดจึงไม่ระลึกเป็นไปในทาน ไม่ระลึกเป็นไปในศีล ไม่ระลึกเป็นไปในภาวนา แต่ถ้าขณะใดที่ระลึกที่จะให้ทาน ขณะนั้นไม่ใช่เรา คือสติที่ทำกิจระลึกเป็นไปในทาน

    เพราะฉะนั้นที่สติชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดี โดยครอบงำความเป็นผู้หลงลืมสติเสียได้

    หรือชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะการปรากฏ

    ที่จะรู้ได้ว่ามีสติหรือหลงลืมสติ ก็ทำให้รู้ได้เพราะลักษณะของสตินั่นเอง

    สตินั่นแลเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่าสตินทรีย์

    ก็สตินั้นมีความระลึกได้ อปิลาปนะ เป็นลักษณะ และมีการเข้าไปช่วยประคองเป็นลักษณะ คือ สติย่อมให้กำหนด หรือย่อมให้ระลึกถึงกุศลกรรมโดยชอบ

    ข้ออุปมาใน อัฏฐสาลินี มีว่า

    เช่นเดียวกับขุนคลังของพระราชาซึ่งรักษารัตนะ ๑๐ ประการอยู่ ย่อมยังพระราชาให้กำหนด ให้ระลึกถึงพระอิสริยสมบัติทั้งตอนเย็นตอนเช้าฉะนั้น ฉันใด สติก็ย่อมระลึกถึงกุศลธรรมทั้งหลาย คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ นี้สมถะ นี้วิปัสสนา อริยสัจ ๔ เหล่านี้ นี้วิชชา นี้วิมุตติ โลกุตตรธรรมเหล่านี้ สติระลึกได้ เป็นลักษณะอย่างนี้แล

    ท่านผู้ฟังคิดถึงสมบัติข้าวของ ของท่านบ่อยๆ ใช่ไหม วันหนึ่งอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง แต่นั่นไม่ใช่สติ แต่ว่าลักษณะของสติก็เป็นสภาพที่ระลึก แต่ไม่ใช่ระลึกในอกุศล แต่ว่าระลึกเป็นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย เช่น ระลึกเป็นไปในสติปัฏฐาน ๔ ขณะใดที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาความรู้สึก ระลึกถึงสภาพของจิตในขณะนี้ หรือระลึกถึงลักษณะของธรรม

    นอกจากนั้น การศึกษาธรรมขณะใด และก็มีความเข้าใจในเรื่องของ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งดูเป็นชื่อเมื่อสภาพธรรมนั้นๆ ยังไม่ปรากฏ แต่ว่าความจริงขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม มีสัมมัปปธาน ๔ คือ วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ว่า แม้ในขณะจิตเดียวที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น มีโสภณธรรมเกิดร่วมด้วย แต่ว่าให้ทราบว่า ลักษณะของสตินั้นเป็นลักษณะที่ระลึก

    สติย่อมใคร่ครวญคติแห่งธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และมิได้เป็นประโยชน์เกื้อกูล แล้วรู้ว่าธรรมทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้น ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล แล้วบรรเทาธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลให้น้อยลง

    นี่คือผู้ที่มีสติระลึกได้ ทำให้ระลึกถึงบาป ระลึกถึงบุญ ระลึกถึงคุณ ระลึกถึงโทษ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบก็ดุจสีขาวกับสีดำ ที่ทำให้เห็นความต่างกันของธรรมที่เป็นอกุศล และธรรมที่เป็นกุศล เพราะเหตุว่าถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด หลายคนอาจจะคิดว่า อกุศลนั่นแหละเป็นกุศล เพราะบางท่านก็อาจจะกล่าวว่า อกุศลเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นไร นั่นก็ยังไม่เห็นความต่างกันของสีดำกับสีขาว แต่ว่าความจริงแล้ว ถ้าสติเกิดขณะใด เป็นสภาพที่ระลึกที่จะให้รู้ในลักษณะของความต่างกันของธรรมที่เป็นอกุศล และกุศล

    รู้ว่าธรรมทั้งหลายมีกายสุจริตเป็นต้นเหล่านั้นประโยชน์เกื้อกูล ย่อมประคับประคองธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลไว้ เหมือนปริณายกรัตนะของ พระเจ้าจักรพรรดิ รู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล แล้วจึงนำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลออกไปเสีย

    อีกนัยหนึ่ง สติมีการระลึกได้เป็นลักษณะ มีการไม่หลงลืมเป็นรส คือ เป็นกิจ มีการรักษาอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีการจดจ่อต่ออารมณ์ คือ ระลึกตรงลักษณะของอารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ มีสัญญาอันมั่นคงเป็นปทัฏฐาน หรือมีกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน พึงเห็นว่า เป็นเช่นเดียวกับเสาเขื่อน เพราะตั้งมั่นในอารมณ์ และพึงเห็นว่าเป็นเสมือนนายประตู เพราะรักษาจักขุทวารเป็นต้น นี่คือข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์

    ลักษณะของสติ เกิดทุกขณะที่กุศลจิตเกิด แต่ยังไม่คุ้นเคยกับลักษณะของสติ เพราะเหตุว่า เวลาเป็นกุศลที่เป็นไปในทาน ก็ระลึกถึงการที่จะให้ทาน แต่ในขณะที่จิตกำลังระลึกเป็นไปในทานแต่ละขณะนั้นเอง มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีศรัทธาเจตสิกเกิด ร่วมด้วย

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี ได้แสดงลักษณะอาการของสติขั้นต่างๆ ซึ่งทำให้มีชื่อต่างๆ คือ

    ธรรมชาติที่ชื่อว่าสติ โดยที่เป็นความระลึกได้ บทนี้เป็นบทแสดงสภาวะของสติ คือสภาวลักษณะของสติ คือ การระลึกได้

    ที่ชื่อว่าอนุสสติ โดยที่ระลึกเนื่องๆ เพราะระลึกบ่อยๆ

    เพราะฉะนั้นก็มีสติที่ระลึกได้อย่างหนึ่ง แล้วก็อนุสสติที่ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ

    ชื่อว่าปฏิสสติ โดยที่ถึงเฉพาะ เพราะเหมือนไปตรงหน้า คือ ไม่หันเหไปทางอื่นเลย นั่นคือลักษณะของสติ คือ ถึงเฉพาะเหมือน ไปตรงหน้า อย่างในขณะที่กำลังฟังพระธรรม จิตใจหันเหไขว้เขวไปทางไหนหรือเปล่า กำลังฟังอยู่ หลงคิดเรื่องอื่นไปนิดหนึ่ง ขณะนั้นขาดสติ ใช่ไหม แต่ขณะที่ไม่หลงไปทางอื่นเลย โดยที่ถึงเฉพาะ เพราะเหมือนไปตรงหน้า นั่นคือลักษณะที่เป็น ปฏิสสติ คือเป็นลักษณะของสติ

    นาที 8.57

    อาการที่ระลึก ชื่อว่าสรณตา

    สติชื่อว่าธารณตา เพราะทรงจำสิ่งที่ได้ฟัง และเล่าเรียนมาไว้ได้

    เป็นอย่างนี้ไหม เทียบได้มีสติชื่อไหนบ้าง เพราะชื่อของสติแสดงอาการต่างๆ ของสติที่เกิดขึ้น ถ้าศึกษาธรรมแล้วก็ด้วยความเข้าใจนั้นก็ทรงจำสิ่งที่ได้ฟัง และที่เล่าเรียนมาไว้ได้ สตินั้นชื่อว่า ธารณตา

    ภาวะที่ไม่เลื่อนลอย ชื่ออปิลาปนตา โดยหมายความว่า หนักแน่น คือ ดิ่งเข้าไปในอารมณ์

    สติชื่อว่า อสัมมุสนตา เพราะไม่หลงลืมสิ่งที่ทำคำที่พูดแม้ที่ล่วงเลยมานาน

    ที่ชื่อว่าสตินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะของสติที่ปรากฏ

    ที่ชื่อว่าสติพละ เพราะไม่หวั่นไหวในเพราะความประมาท

    ที่ชื่อว่าสัมมาสติ เพราะเป็นสติที่ถูกต้อง นำออกไปจากสังสารวัฏฏ์เป็นกุศล มีข้อสงสัยในข้อไหนบ้างไหม

    สติชื่อว่าอสัมมุสนตา เพราะไม่หลงลืมสิ่งที่ทำคำที่พูดแม้ที่ล่วงเลยมานาน

    คนที่จำเก่งๆ ชื่อว่ามีสติหรือเปล่า ระลึกได้สมัยตอนเป็นเด็กป่วยไข้ได้เจ็บอย่างไร เคยซุกซนอย่างไร เคยรับประทานอะไรอร่อยที่ไหน อย่างนั้นเป็นสติหรือเปล่า

    อสัมมุสนตา สติชื่อว่าอสัมมุสนตา เพราะไม่หลงลืมสิ่งที่ทำคำที่พูด แม้ที่ล่วงเลยมานาน

    บางคนจำเรื่องเบ็ดเตล็ดเก่งมาก แต่หลงลืมสิ่งที่ควรกระทำ อย่างนั้นไม่ชื่อว่า อสัมมุสนตา แต่ต้องเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำต่อผู้หนึ่งผู้ใด แล้วกระทำโดยไม่หลงลืม ในทางที่เป็นกุศล

    บางคนอาจจะเป็นหนี้เป็นสิน แล้วก็หลงลืม ไม่จำเลย นั่นก็ชื่อว่าจำเรื่องอื่นได้หมด เรื่องตอนเป็นเด็กสนุกสนานอย่างไร เคยรับประทานอะไรที่ไหน เคยเล่นสนุกอย่างไร จำได้ แต่เรื่องนี้ ลืม เรื่องที่ควรที่จะกระทำหน้าที่ของตนเองกับบุคคลอื่นกลับลืม แต่ว่าจำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าสติต้องเกิดกับโสภณจิต ต้องเกิดกับกุศลจิตเท่านั้น แต่ว่าสำหรับการที่จะไประลึกถึงเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ขณะนั้นจิตไม่ใช่กุศล แล้วก็ลักษณะนั้นไม่ใช่สติเจตสิก แต่ว่าเป็นลักษณะของวิตกเจตสิก

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ กล่าวว่า

    อกุศลขันธ์ทั้งหลายเป็นธรรมเว้นจากสติ คือ ไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ อกุศลทุกประเภทเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ โลภมูลจิต โทสมูลจิต อิสสา มัจฉริยะ ความเกียจคร้าน ความเคลือบแคลงสงสัย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ทั้งหมด เป็นธรรมเว้นจากสติ และเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ

    ข้อความใน โมหวิจเฉทนี เรื่องกุศลจิตดวงแรก มีข้อความว่า

    ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเรียกศรัทธาว่า โอกัปปนา ความปลงใจเชื่อ และเรียกสติว่า อปิลาปนา ความไม่เลือนลอย เรียกเอกัคคตาว่า อโลฐิติ ความมั่นคงแห่งจิต เพราะเหตุว่าเกิดกับกุศลจิต เรียกปัญญาว่า ปริโยคาหนา ความรอบคอบ

    ส่วนในฝ่ายอกุศล ธรรม ๓ อย่าง คือ ตัณหา ทิฏฐิ อวิชชา ย่อมหยั่งลงสู่อารมณ์ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเรียกธรรมทั้ง ๓ นั้นแลว่า โอฆะ

    หยั่งลงสู่อารมณ์เหมือนกันแต่ว่าต่างกันที่ ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ก็ด้วยตัณหา ทิฏฐิ อวิชชา ซึ่งหยั่งลงสู่อารมณ์โดยเป็นโอฆะ เป็นห้วงน้ำใหญ่ ซึ่งทุกคนถูกพัดไหลไปอยู่ตลอดเวลาตามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เอกัคคตาในฝ่ายอกุศลไม่เรียกว่า โอคาหนา ความหยั่งลง

    เพราะเหตุว่ายังเป็นธรรมประกอบด้วยอุทธัจจะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่สงบ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเอกัคคตาเจตสิกจะชื่อว่าสมาธิ แต่ก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิ แล้วก็ไม่เป็นสภาพธรรมที่จะเจริญถึงขั้นรูปฌาน อรูปฌาน หรือโลกุตตรกุศลได้ เพราะเหตุว่า ในขณะนั้นเกิดร่วมกับอุทธัจจเจตสิก ซึ่งสติลักษณะของสติตรงกันข้ามกับอวิชชา เพราะเหตุว่าอวิชชาเป็นสภาพที่เลื่อนลอย แต่ว่าสติเป็นสภาพที่ไม่หลงลืม ไม่เลื่อนลอย

    ศรัทธาตรงกันข้ามกับโลภะ เพราะเหตุว่าโลภะยอมสละให้ทุกอย่างด้วยความพอใจ ด้วยความรัก แต่ว่าศรัทธา บริจาคจริง แต่เป็นการสละออก ไม่ใช่เพื่อการติดหรือว่า การยึดข้อง ปัญญาก็ตรงกันข้ามกับมิจฉาทิฏฐิ

    ข้อความที่ท่านผู้ฟังจะได้ฟังเรื่องของสติ มักจะควบคู่กันไปกับลักษณะของปัญญาซึ่งเป็นสัมปชัญญะ แต่ก็ต้องแยกออกจากกันด้วย แต่ก็จะเห็นได้ว่า ในขณะใดที่สติเกิดก็อาจจะมีลักษณะของปัญญาในขั้นต้นๆ อยู่ด้วย เช่น ในขณะที่รู้ว่า สิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว นั่นก็เป็นสติที่ระลึกที่จะให้เกิดการไตร่ตรองพิจารณาให้ตรง ว่าลักษณะของอกุศลธรรมซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นอกุศล ลักษณะของกุศลธรรมที่เป็นธรรมฝ่ายขาว เป็นกุศล ขณะใดที่ปัญญาเกิดร่วมด้วย กุศลจิตนั้นชื่อว่า ญาณสัมปยุตต์ ขณะใดที่ปัญญาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเป็น ญาณวิปปยุตต์

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายคำว่า สโต จะ สัมปชาโน คือ สติ และสัมปชัญญะ มีข้อความว่า

    เพราะบทว่า สโต จะ สัมปชาโน มีสติรู้ทั่วโดยชอบ ใน ๒ อย่างนั้น สติ มีความระลึกได้เป็นลักษณะ สัมปชัญญะมีความไม่ฟั่นเฟือนเป็นลักษณะ

    สติมีความไม่หลงลืมเป็นรส คือเป็นกิจ สัมปชัญญะมีการไตร่ตรองเป็นรส คือ เป็นกิจ

    สติมีความอารักขาเป็นอาการปรากฏ สัมปชัญญะมีการเลือกเฟ้นเป็น อาการปรากฏ

    ในการอบรมเจริญภาวนานั้น เมื่อมีสติฟั่นเฟือน ไม่รู้ทั่วโดยชอบ แม้คุณเพียงอุปจาระก็ไม่สำเร็จได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงอัปปนา

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของกุศลจิตขั้นที่สูงกว่าขั้นทาน และขั้นศีลว่า จะต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าขณะนั้นไม่รู้หนทางที่จะทำให้กุศลจิตเจริญขึ้น สงบขึ้น แล้วเข้าใจว่าเป็นการเจริญสมถภาวนา ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า เมื่อมีสติฟั่นเฟือน คือ ไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่รู้ทั่วโดยชอบ แม้คุณเพียงอุปจาระก็ไม่สำเร็จได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงอัปปนา เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงฌานจิตได้จริงๆ ความสงบที่เป็นกุศลต้องละเอียดขึ้น และถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะถึงแม้ขั้นอุปจารสมาธิ

    เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งคิดที่จะทำฌาน หรืออย่าเพิ่งคิดแม้แต่จะทำสมาธิ เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง สมาธิที่กำลังทำอยู่นั้นต้องเป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งเป็นอกุศลจิต และจะทำไหม หรือยังอยากจะทำอยู่ แม้ว่าเป็นมิจฉาสมาธิ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1548


    นาที 18:08

    สติเป็นโสภณเจตสิก เป็นธรรมที่จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะเหตุว่าชีวิตวันหนึ่งๆ ซึ่งเต็มไปด้วยอวิชชา ขณะนั้นหลงลืมสติ ไม่เป็นกุศล ไม่สามารถที่จะพิจารณาสภาพธรรมในชีวิตประจำวันได้ตามความเป็นจริง จนกว่าสติจะเกิดเมื่อใดมีการระลึกได้ แม้ในเหตุในผล ในความถูก ความควรในชีวิตประจำวันขณะใด ขณะนั้นก็เป็นการเกิดขึ้นของสติ ซึ่งจะเห็นได้ ว่าในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าในกาลสมัยไหน กุศลธรรมเกิดขึ้นเพราะสติมีการระลึกได้ มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ ทุกคนก็เต็มไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง

    เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่จะฟังพระธรรมข้อเล็กข้อน้อย หรือข้อความสั้นๆ หรือเป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า คงจะไม่มีความสำคัญเท่าข้อความอื่น แต่ถ้าในขณะนั้นสติเกิดระลึกได้พิจารณาข้อความนั้นจริงๆ จะได้ประโยชน์จากพระธรรมข้อนั้น ตามขั้นของความเข้าใจ เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่สุขุมลึกซึ้ง แม้เพียงการฟัง ก็ยังจะต้องประกอบด้วยสติ หรือฟังด้วยสติ พิจารณาจริงๆ จึงจะได้ประโยชน์ และกุศลทั้งหลายก็จะเจริญขึ้นตามลำดับขั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาหรือไม่

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ มี เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏ หรือว่าเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แน่ใจ ละการที่เคยยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือเปล่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นจริงๆ เพราะปรากฏจริงๆ ใช่ไหม การฟังธรรมต้องเข้าใจ มีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ และสิ่งที่ปรากฏก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ และเข้าใจอย่างนี้หรือยัง หรือว่ายังคงเป็นเรา พอเห็นก็เป็นเรา เป็นแขนเรา เป็นขาเรา หรือว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็อะไรถูก ระหว่างที่ยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นเรากับเริ่มเข้าใจถูกต้องว่า ตลอดชาติ กี่ชาติก็ตาม มีสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็น ธรรมชนิดนี้ ลักษณะนี้ เป็นธรรมที่เพียงปรากฏให้เห็นเท่านั้นจริงๆ และก็ต้องปรากฏให้จักขุวิญญาณ คือจิตเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ด้วย ไม่ใช่จิตอื่น นอนหลับสนิทสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ไม่ปรากฏเลย แม้ว่ามี ก็ไม่ปรากฏ แต่จะปรากฏต่อเมื่อมีจิตเห็นเกิดขึ้น เข้าใจอย่างนี้ ทุกทวาร ทุกทาง จิตเห็นไม่ใช่คนหนึ่งคนใดเลย เป็นธาตุรู้ คือจิตเกิดพร้อมกับเจตสิกแต่ละประเภท ไม่ว่าจิตขณะนั้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ เจตสิกแต่ละหนึ่งนั้นก็ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจจริงๆ ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ก็ต่อเมื่อเข้าใจความจริงที่มีในขณะนี้ คือจิตเป็นธาตุรู้ และมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ หาเราได้ไหม เป็นเราอันไหน จิตไม่ใช่เรา เจตสิกไม่ใช่เรา รูปไม่ใช่เรา เมื่อไหร่รู้จริงๆ เมื่อนั้นก็ไม่มีเราในที่ไหนๆ ไม่ว่าในสวรรค์ มนุษย์ หรือที่ไหนก็ไม่มี ถึงจะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้

    นี่ประโยชน์ คือการเห็นถูกการเข้าใจถูก ไม่ใช่ชวนให้หลงไปยึดถือสิ่งต่างๆ แต่ว่าให้เข้าใจความจริง ว่าแท้ที่จริงแล้วที่เคยยึดถือธรรมที่ปรากฏว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องรู้ความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่าง รูปเป็นรูป ปรากฎได้แต่ละทาง ปรากฏแล้วก็หมดไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย ถ้าสามารถที่จะเห็นการเกิดขึ้น และดับไป ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นผ่านไปแล้ว แต่ขณะนี้สติสัมปชัญญะกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น แข็ง มีแข็งเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นเลย ก็จะเห็นได้ว่าก่อนๆ นี้แม้จะคิดเรื่องราวตั้งแต่เมื่อวานนี้ วันไหนก็ตาม ก็ไม่มีสาระ เพราะไม่มี หมดแล้ว ไม่กลับมาอีก แต่แข็งขณะนี้กำลังมี ให้เข้าใจได้แค่ไหน ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งจริงๆ เกิดแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้ และความจริงก็ดับไปด้วยทุกขณะ สภาพธรรมปรากฏไม่เคยขาดไปเลย แต่อวิชชาไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ว่าเป็นเพียงธรรมที่เกิดปรากฏแต่ละลักษณะ แล้วก็ดับ แล้วปรากฏทีละอย่างด้วย

    ถ้าคิดถึงจิตหนึ่งขณะที่เกิดขึ้น รู้เพียงอย่างเดียว จะมีเรื่องราวต่างๆ ได้ไหม ถ้าไม่สืบต่อกัน แต่เพราะเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว และคิดนึกด้วยความไม่รู้ ว่าแท้จริงสิ่งที่ปรากฏเนี่ยดับแล้ว เมื่อไม่ประจักษ์การที่ดับไปแล้วไม่กลับมาอีก ก็ยังยึดถือสิ่งนั้นว่ายังอยู่ และก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งไม่ดับเลย นี่คืออัตตานุทิฏฐิ การเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เสียงที่ปรากฏทางหู ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ มีคุณอุดรอยู่ที่ไหน อยู่ที่เสียง หรืออยู่ที่สี หรืออยู่ที่เห็น หรืออยู่ที่ได้ยิน

    ผู้ฟัง อยู่ที่นึกคิด ครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ นึกคิดดับแล้ว คุณอุดรอยู่ที่ไหน ขณะที่เห็นไม่ได้คิด

    ผู้ฟัง ก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี จนกว่าจะมั่นคงว่า ไม่มี เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจแม้แต่คำว่า จิต หรือสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ไม่ใช่เพียงฟัง แล้วก็เข้าใจได้ทันที แต่ก็จะรู้ว่าสิ่งที่ต่างกัน คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง ปรากฏให้เห็น แต่ธาตุที่สามารถเห็น และกำลังเห็นต้องมี สิ่งนี้จึงปรากฏได้ เหมือนกับเสียง ถ้าไม่มีธาตุที่ได้ยินเสียง เสียงนั้นก็ปรากฏไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นในขณะใดที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ให้ทราบว่าสิ่งนั้นๆ จะปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีธาตุที่กำลังรู้สิ่งนั้น กำลังเห็น ก็คือรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ เห็นเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ นี่คือธาตุที่สามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่มีรูปร่างเหมือนอย่างที่เราจะเอามาจับ เอามาตั้ง เอามาพิสูจน์ แต่ว่าเมื่อธาตุนี้มี และลึกซึ้งยากแก่การที่จะรู้ เพราะว่าไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลย แต่สภาพอาการเห็น กำลังเห็นมี เพราะฉะนั้น ตัวเห็นจริงๆ ต้องมี แต่ว่าไม่มีรูปร่าง เป็นเพียงธาตุที่เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ดับไป จนกว่าจะรู้ว่าธาตุนี้หลากหลาย กำลังเห็นทางตา เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่คิดนึก กำลังได้ยินเสียง เสียงปรากฏ ธาตุที่ได้ยินขณะนั้นไม่เห็น และไม่คิด นี่คือความรวดเร็วของสภาพธรรม ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ถ้ารู้ความจริงของลักษณะของธรรมแต่ละอย่างจริงๆ ไม่มีเรา แล้วก็จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปไม่กลับมาอีกเลย

    ที่เป็นเราในชาตินี้ ตั้งแต่เกิดจนถึง ณ บัดนี้ ก็ผ่านทุกสิ่งทุกอย่างมาตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งต้องเกิดเป็นไปเหมือนขณะนี้ต้องเกิดอย่างนี้ คือเห็นอย่างนี้ ต้องได้ยินเสียงอย่างนี้ คืออย่างนี้ทุกขณะเป็นอย่างนั้นเลย คือ มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเป็นไปหลังปฏิสนธิเกิดแล้วต้องเป็นไป แต่ว่าไม่ได้กลับมาอีกเลยสักขณะเดียว

    ถ้ารู้จริงๆ ว่าเราติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เพราะไม่รู้ความจริง ซึ่งหมดแล้วไม่กลับมาอีก ผู้ที่รู้อย่างนั้นจริงๆ จะติดข้องในสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วหมดไปไหม เพราะยังไม่รู้จริง ก็ยังคงติดข้องอยู่ เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ว่ามีธาตุรู้ ซึ่งต่างกับสิ่งที่ปรากฏ และ ถ้าไม่มีธาตุรู้เลย สัตว์ บุคคล ไม่มี มีแต่รูปธาตุ แต่เพราะเห็นว่ามีธาตุรู้ ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่จำ ที่คิดนึก ที่สุข ที่ทุกข์เกิดขึ้น โดยใครก็ยับยั้งไม่ได้ เปลี่ยนแปลงสภาพที่เกิดแล้วให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้จึงเป็นเราตลอด ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ก็จะเป็นอยู่เฉพาะในชาตินี้ จะเป็นเราชาติหน้า เป็นคนนี้อีกต่อไปได้ไหม ไม่ได้ เปลี่ยนหมดเลยเหมือนชาติก่อน เป็นใครมาแล้ว ก็ไม่ทราบ เห็นอะไรมาแล้ว สุขทุกข์กับเรื่องราวต่างๆ เท่าไหร่ ก็ไม่ทราบ เป็นกรรมกร เป็นพระราชา เป็นพ่อค้าคฤหบดี เป็นหญิง เป็นชายเป็นอะไร ก็ไม่รู้เรื่อง จำไม่ได้หมดเลย แต่ก็ต้องเป็นตามเหตุตามปัจจัย และก็จบเป็นแต่ละชาติ ชาตินี้ใกล้จะจบหรือยัง มีคนตอบว่ายัง หรือไม่รู้ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น แต่ว่าการที่สามารถที่จะรู้ความจริง ในหลายๆ ชาติ ในแสนโกฏิกัปป์ที่จะได้ยินได้ฟังอีก ได้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏอีก แสนยาก เพราไม่รู้ว่าต่อไป เพียงแค่ขณะต่อไปนี้จะเป็นอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    6 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ