ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    สำหรับทาง ๒ แพร่ง คือ วิจิกิจฉา อุปมาเหมือน

    บุรุษผู้มีทรัพย์ มีโภคะ เดินทางไกลอันกันดารถึงทาง ๒ แพร่ง ไม่อาจตัดสินใจว่า ควรไปทางนี้ หรือไม่ควรไปทางนี้ หยุดอยู่ในที่นั้นนั่นเอง

    ไม่รู้จะปฏิบัติแบบไหน บางท่านก็มาถึงปัญหาที่ว่า จะอบรมเจริญปัญญาอย่างไร ถ้าไม่สามารถตัดสินได้จริงๆ ว่า ข้อปฏิบัติไหนถูก หนทางปฏิบัติไหนผิด เพราะฉะนั้น บางท่านก็หยุดอยู่ในที่นั้นนั่นเอง

    เมื่อเป็นเช่นนั้น เหล่าโจรปรากฏตัวขึ้นมาก็จะทำให้ผู้นั้นถึงความย่อยยับ ฉันใด ผู้ที่เกิดความสงสัยในพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็ไม่อาจที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ปวงมารมีกิเลสเป็นต้น ย่อมทำภิกษุนั้นให้ถึงความย่อยยับ วิจิกิจฉาจึงเสมอด้วยทาง ๒ แพร่ง

    เพราะฉะนั้น การที่จะละทาง ๒ แพร่งนี้ ก็โดยการเรียน และการสอบถามปัญหาต่างๆ ให้เข้าใจ ให้แจ่มแจ้งชัดเจน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    คำว่าหม้อกรองน้ำด่างนั้น เป็นชื่อของนิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์

    คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือ จงละนิวรณ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

    เรื่องของนิวรณ์ ๕ เป็นเรื่องซึ่งทุกคนมีเป็นประจำ คือ กามฉันทนิวรณ์ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มีใครไม่มีบ้าง ทุกคนต้องเป็นผู้ตรงที่จะรับว่า ยังเป็นผู้ที่มีความยินดีพอใจอย่างมากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เมื่อมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นกามฉันทนิวรณ์อยู่เนืองๆ บ่อยๆ ก็เป็นปัจจัยให้มีพยาปาทนิวรณ์ คือ มีความคับแค้นขุ่นเคืองใจเวลาที่ไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา สิ่งที่ต้องการ หรือเวลาที่ประสบกับสิ่งที่ไม่ต้องการ

    นอกจากนั้น ยังมีถีนมิทธนิวรณ์ วันหนึ่งๆ ก็มีความท้อใจ มีความท้อแท้ มีความหดหู่ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความเบิกบาน เข้มแข็ง ร่าเริงในธรรมอยู่ได้เสมอๆ เพราะในบางครั้งมีเหตุที่จะทำให้มีความท้อใจบ้าง มีความท้อแท้บ้าง ซึ่งมีมาก หลายอย่าง เช่น บางท่านเวลาที่อยากจะได้ผลของธรรม พากเพียรทำกุศลมากมาย แต่กิเลสก็ยังมีอยู่มากมาย ก็เริ่มรู้สึกท้อแท้อีกแล้วว่า ทำกุศลก็มาก ทำไมผลของกุศลไม่ได้บ้าง หรือทำไมกิเลสจึงยังมีอยู่เยอะ ทำไมสติไม่เกิดบ่อย ทำไมปัญญา ไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม แสดงให้เห็นว่า ยังมีกิเลสอยู่ ทำให้เมื่อหวังสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นเหตุให้ท้อแท้หรือว่าท้อถอย

    และมีอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ทุกคนที่ยังมีกิเลส จะต้องมีกายวาจาที่เป็นอกุศลในบางกาล ซึ่งไม่เป็นที่พอใจของตนเอง เพราะฉะนั้น ก็มีความรำคาญใจในอกุศล ที่ได้ทำแล้ว หรือในกุศลที่ยังไม่ได้ทำ ทำให้จิตใจไม่สงบฟุ้งซ่าน ขณะนั้นก็เป็น อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์

    นอกจากนั้น ก็มีวิจิกิจฉานิวรณ์ คือ ความสงสัย ไม่แน่ใจในลักษณะของสภาพธรรม ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ เป็นต้น

    คำนั้นมีคำอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือ จงละนิวรณ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

    ไม่มีทางอื่นเลย นอกจากปัญญาเท่านั้นที่จะละคลายนิวรณ์ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า จงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือ จงละนิวรณ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ปงฺกวารํ ดังต่อไปนี้ เมื่อช่างย้อมใส่น้ำลงใน หม้อกรองน้ำด่าง หม้อน้ำ ๑ หม้อ ๒ หม้อบ้าง ๑๐ หม้อบ้าง ๒๐ หม้อบ้าง ๑๐๐ หม้อบ้าง ก็ไหลออก น้ำแม้ฟายมือเดียวก็ไม่ขังอยู่ ฉันใด กุศลธรรมภายในของบุคคลผู้ประกอบด้วยนิวรณ์ ย่อมไม่ตั้งอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกร ภิกษุ คำว่า หม้อกรองน้ำด่างนี้ เป็นชื่อของนิวรณ์ทั้ง ๕

    ถ้ามีหม้อกรองน้ำ ไม่ว่าจะเอาน้ำใส่ลงไปในหม้อกรองน้ำนั้น จะ ๑ หม้อ ๒ หม้อ ๑๐ หม้อ ๒๐ หม้อ ๑๐๐ หม้อ น้ำก็ไหลออกหมดไม่ตั้งอยู่ แม้ฟายมือเดียว น้ำก็ไม่สามารถจะขังอยู่ได้ เพราะฉะนั้น กุศลธรรมภายในของบุคคลผู้ประกอบด้วยนิวรณ์ ย่อมไม่ตั้งอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน

    ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะทราบได้เลย แม้เพียงชั่วขณะที่ฟังธรรม ขณะนี้ควรที่กุศลจิตจะเกิดอย่างมาก แต่ก็ชั่วขณะ อกุศลก็แทรก ไม่ว่าจะเป็นทางตาหรือทางใจ ทั้งๆ ที่เห็นอย่างนี้ ใจคิดเรื่องอื่นได้ ทั้งๆ ที่กำลังได้ยินอย่างนี้ บางครั้ง ก็คิดอย่างอื่นได้

    แสดงให้เห็นว่า กุศลธรรมของแต่ละบุคคลที่ยังมีนิวรณ์ตั้งอยู่เพียงชั่วขณะเล็กน้อย ขณะใดที่เผลอไป ขณะที่กำลังฟัง และชั่วขณะที่เป็นกุศลดับ อกุศลจิตก็เกิดเพราะนิวรณ์ ๕

    เพราะฉะนั้น กุศลทั้งหลายไม่สามารถตั้งอยู่ได้นานสำหรับผู้ที่ยังมีนิวรณ์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คำว่า เต่านั้น เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์

    คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกเต่าขึ้นเสีย คือ จงละอุปาทานขันธ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

    ขุดไม่ง่ายเลย อกุศลทั้งหลาย

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า กุมฺโม ดังต่อไปนี้ เต่ามีอวัยวะ ๕ คือ เท้า ๔ ศีรษะ ๑ ฉันใด สังขตธรรมทั้งหมด เมื่อรวบรัดก็มีขันธ์ ๕ เท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกร ภิกษุ คำว่าเต่านี้เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕

    สังขตธรรม คือ สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น และดับไป ตั้งแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว หรือในขณะนี้ และต่อไปอีกเกินแสนโกฏิกัปป์ สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เกิด สามารถประมวลเป็นขันธ์ ๕ คือ รูปทุกชนิดเป็นรูปขันธ์ ๑ สัญญา ความจำ เป็นสัญญาขันธ์ ๑ เวทนา ความรู้สึก เป็นเวทนาขันธ์ ๑ เจตสิกอีก ๕๐ ที่เหลือ เป็นสังขารขันธ์ และจิตเป็นวิญญาณขันธ์ เป็นที่ยึดมั่นพอใจติดข้อง ยากแสนยาก ที่จะให้ละอุปาทานขันธ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย ซึ่งทุกท่านสามารถพิสูจน์ได้ คือ แม้ว่าได้ฟังพระธรรมอยู่บ่อยๆ เนืองๆ มีความเข้าใจเรื่องหนทางอบรมเจริญปัญญา มีศาสตรา แต่ศาสตรานั้นเป็นศาสตราเล็ก หรือศาสตราใหญ่ เป็นศาสตราที่คม หรือยังไม่คม ซึ่งจะต้องทำให้คมขึ้น จึงสามารถขุด และสามารถละความยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คำว่า เขียงหั่นเนื้อนั้น เป็นชื่อของกามคุณ ๕ คือ รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยโสต … กลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ … รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา … โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

    คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกเขียงหั่นเนื้อเสีย คือ จงละกามคุณ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย

    พิจารณาจริงๆ แล้ว สิ่งซึ่งเป็นที่พอใจ เป็นกามคุณ ก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นเอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คำว่า ชิ้นเนื้อนั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ

    คือ โลภะ ความยินดีพอใจ

    คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกชิ้นเนื้อขึ้นเสีย คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นเสีย

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า มํสเปสีติ โข ภิกฺขุ ดังต่อไปนี้ ขึ้นชื่อว่าชิ้นเนื้อนี้ คนเป็นอันมากปรารถนากันแล้ว ทั้งเหล่ามนุษย์มีกษัตริย์เป็นต้น ทั้งสัตว์ดิรัจฉาน มีกาเป็นต้น ต่างปรารถนา สัตว์เหล่านั้นประกอบด้วยอวิชชา อาศัยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ต่างก็ปรารถนาวัฏฏะ ชิ้นเนื้อย่อมติดอยู่ในที่ที่วางไว้ๆ ฉันใด สัตว์เหล่านี้ถูกความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินผูกไว้ ก็ติดอยู่ใน วัฏฏะ แม้ประสบทุกข์ก็ไม่เบื่อฉันนั้น ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ย่อมเสมือนชิ้นเนื้อด้วยประการฉะนี้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกร ภิกษุ คำว่าชิ้นเนื้อนี้เป็นชื่อของความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน

    ตรัสการละความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ด้วยมรรคที่ ๔

    คือ ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงดับโลภะได้หมดเป็นสมุจเฉท ไม่เหลือเลย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คำว่า นาคนั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้ขีณาสพ

    คือ พระอรหันต์

    คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า นาคจงหยุดอยู่เถิด เจ้าอย่าเบียดเบียนนาค จงทำความนอบน้อมต่อนาค ดังนี้

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    คำว่า นาคนี้ เป็นชื่อของพระขีณาสพ

    ในคำว่า นโม กโรหิ นาคสฺส มีเนื้อความดังนี้ คือ ท่านจงกระทำการ นอบน้อมต่อพระพุทธนาคผู้พระขีณาสพว่า พระผู้มีพระภาคนั้นตรัสรู้แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงฝึกแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อฝึก พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นสงบแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อสงบ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงข้ามแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อข้าม พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ดับสนิทแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อดับสนิท

    พระสูตรนี้ได้เป็นกัมมัฏฐานของพระเถระด้วยประการฉะนี้ ฝ่ายพระเถระ ทำพระสูตรนี้แลให้เป็นกัมมัฏฐาน เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต

    แสดงให้เห็นว่า พระสูตรสูตรเดียวรวมธรรมทุกอย่าง ในการทำให้ผู้ฟังที่มีปัญญาสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถถึงความเป็นพระอรหันต์ได้

    ไม่มีข้อที่จะข้องใจเลย เพราะว่าพระธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องของสภาพธรรม ที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ ซึ่งผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาแล้วสามารถเข้าใจโดยไม่คิดว่า เป็นเพียงคำอุปมา แต่สามารถรู้ว่า คำอุปมานั้นๆ หมายถึงสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนั้น ที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    นี่คือโยนิโสมนสิการในการฟัง การฟังพระธรรมโดยแยบคาย คือ ฟังแล้วพิจารณาใคร่ครวญเนื้อความที่ได้ฟังเพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตาม แม้ข้อความในปัญหา ๑๕ ข้อนั้น เช่น เห็นความสำคัญของศาสตรา คือ ปัญญา การที่จะให้กิเลสซึ่งทุกคนมีดับหมดไม่เกิดอีกเลย ถ้าไม่มีปัญญาจะดับกิเลสนั้นได้อย่างไร จะใช้วิธีอื่น เป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะใช้วิธีของพวกฤๅษี พวกดาบสต่างๆ หรือ วิธีทรมานตัวต่างๆ ถ้าไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริงแล้ว ไม่สามารถละกิเลสได้

    ถ้าท่านเห็นต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมีรากลึก แต่ไม่มีศาสตรา ทำอย่างไรจึงจะฟันต้นไม้ต้นนั้นได้ เหมือนกับเวลานี้ มีอวิชชา มีความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทำอย่างไรจึงจะละหรือดับกิเลส ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ก็มีหนทางเดียว คือ การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่หนทางอื่น

    ลิ่มสลักอยู่ที่ไหน ขณะนี้ทุกคนทราบว่า อวิชชาเป็นลิ่มสลัก เพราะฉะนั้น ลิ่มสลักในขณะนี้อยู่ที่ไหน

    ทางตาที่เห็นเป็นเพียงธาตุรู้ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นเห็น ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่รู้ว่าลิ่มสลักอยู่ที่ไหน แต่เมื่อรู้ว่า ขณะเห็นเป็นลิ่มสลัก ซึ่งกว่าจะขุดลิ่มสลัก ออกจากเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมก่อน จนกระทั่งมีความเข้าใจซาบซึ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรม เป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ที่จะพิจารณา ที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย นั่นคือความเพียร คือ การขุดอวิชชาออกจากขณะที่เห็น และไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรม

    ทางหูกำลังได้ยินก็รู้ว่า อวิชชาคือลิ่มสลัก ไม่ได้อยู่ที่อื่น ลิ่มสลักอยู่ที่ทางหู ที่ได้ยิน ยังไม่ได้ยกขึ้น เพราะฉะนั้น ก็กั้นที่จะให้รู้ว่าไม่ใช่เราที่ได้ยิน แต่เป็น สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นธาตุรู้เสียง เมื่อมีเสียงกระทบกับโสตปสาทก็เป็นปัจจัยให้ธาตุรู้เสียงเกิดขึ้นได้ยิน ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ นั่นคือศาสตราที่ขุดลิ่มสลักทางหู ขณะที่ได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916


    นาที 18.40

    อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค อรรถกถาปายาสิราชัญญสูตร และ อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อรรถกถาวัมมิกสูตร กล่าวถึงพระภิกษุ ๕ รูปที่เจริญสมณธรรมบนภูเขา ซึ่งพระภิกษุ ๒ รูป รูปหนึ่งคือพระสังฆเถระได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ อีกรูปหนึ่งคือพระอนุเถระได้บรรลุพระอนาคามี และเกิดใน สุทธาวาสพรหม พระภิกษุอีก ๓ รูปในชาตินั้น ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ เกิดเป็นพระเจ้าปุกกุสาติ ท่านพระพาหิยทารุจีริยะ และท่านพระกุมารกัสสปะ และที่เป็นเอตทัคคะมี ๒ รูป คือ ท่านพระพาหิยะกับท่านพระกุมารกัสสปะ

    ส่วนใน อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา อรรถกถาสภิยเถรคาถาที่ ๓ และ อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา อรรถกถาทัพพมัลลปุตตเถรคาถา และ อรรถกถาธรรมบทเรื่องพระพาหิยทารุจีริยะ กล่าวถึงภิกษุ ๗ รูปที่ เจริญสมณธรรมด้วยกันบนภูเขา ซึ่งนอกจากพระสังฆเถระ และพระอนุเถระ พระเจ้าปุกกุสาติ ท่านพระพาหิยทารุจีริยะ และท่านพระกุมารกัสสปะแล้ว ยังมีอีก ๒ รูป คือ ท่านพระทัพพมัลลบุตร และท่านพระสภิยะ

    สำหรับพระภิกษุ ๗ รูปนั้น เป็นเอตทัคคะ ๓ รูป คือ ท่านพระพาหิยะ ท่านพระกุมารกัสสปะ และท่านพระทัพพมัลลบุตร

    ขอกล่าวถึงพระภิกษุอีก ๒ รูป คือ ท่านพระทัพพมัลลบุตร และท่านพระสภิยะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชีวิตที่ต่างกันของสหายที่ได้บำเพ็ญสมณธรรมด้วยกันบนภูเขา แต่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมของท่านก็ต่างกันไป

    อรรถกถา ขุททกนิกาย อรรถกถาทัพพมัลลปุตตเถรคาถา ข้อ ๑๔๒ มีข้อความว่า

    พระภิกษุรูปหนึ่งในพระภิกษุ ๗ รูปนั้น ปฏิสนธิในเรือนของเจ้ามัลละองค์หนึ่งในอนุปิยนคร แคว้นมัลละ มารดาของท่านสิ้นชีวิตเมื่อท่านยังอยู่ในครรภ์ เมื่อ คนทั้งหลายนำร่างมารดาของท่านไปป่าช้า ยกขึ้นสู่เชิงตะกอนใส่ไฟแล้ว เพราะกำลังความร้อนของไฟ ทำให้พื้นท้องของร่างมารดาของท่านแยกออกเป็น ๒ ส่วน ทารกลอยขึ้น และตกลงมาที่เสาไม้มีแก่น ท่านจึงได้ชื่อว่าทัพพะ เพราะตกไปที่เสาไม้ มีแก่น จึงรอดชีวิต

    ซึ่งท่านจะเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้จัดเสนาสนะ และเป็นพระภัตตุเทศก์ คือ ผู้แจกภัตตาหาร

    ก็ในวันที่ท่านพระทัพพมัลลบุตรมีอายุได้ ๗ ขวบ พระผู้มีพระภาคมีพระภิกษุเป็นบริวาร เสด็จจาริกไปในแคว้นมัลละ ประทับอยู่ในอนุปิยัมพวัน ทัพพมัลลบุตรเห็นพระผู้มีพระภาคก็เลื่อมใส และประสงค์จะบวช

    อายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้นเอง

    พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้พระเถระรูปหนึ่งให้บรรพชาให้ ขณะที่ท่านปลงผม ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และเมื่อปลงผมเสร็จ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับในแคว้นมัลละแล้ว ก็เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ในพระเวฬุวันมหาวิหาร ท่านพระทัพพมัลลบุตรผู้เสร็จกิจในการดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉทแล้ว ประสงค์จะอุทิศชีวิตเพื่อช่วยกระทำกิจของสงฆ์ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงประทานสาธุการ และทรงมอบกิจปูลาดเสนาสนะ และกิจภัตตุเทศก์แก่ท่าน

    ถ้าเป็นคนมีกิเลสก็จะเห็นว่า กิจนี้ไม่น่าสนุกเลย จัดที่นอน และแจกอาหารแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากที่ไกล และที่ใกล้ ดูเป็นภาระ แต่สำหรับผู้ที่หมดภาระคือการ ที่จะต้องดับกิเลส และมีชีวิตอยู่วันหนึ่งๆ ต่อไป ก็ใคร่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา จึงขวนขวายที่จะกระทำกิจเพื่อช่วยเหลือกิจของพระศาสนา เพราะฉะนั้น ท่านก็ทูลขอ ที่จะได้กระทำกิจของสงฆ์ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงมอบกิจปูลาดเสนาสนะ และกิจ ภัตตุเทศก์แก่ท่าน

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า สามเณรนี้ยังเล็กแท้ แต่ดำรงอยู่ในสภาวะใหญ่ (คือ เป็นพระอรหันต์) ดังนี้แล้ว จึงโปรดให้ท่านอุปสมบทในเวลาที่มี อายุได้ ๗ ขวบเท่านั้น

    แม้ว่าท่านจะไม่ได้เป็นเอหิภิกขุ แต่ท่านก็ได้เป็นหนึ่งในอสีติมหาสาวก คือ ในมหาสาวก ๘๐ รูป และได้เป็นเอตทัคคะคือเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสาวกผู้จัดเสนาสนะ

    การจัดที่หลับที่นอน ที่อยู่อาศัย เป็นเรื่องยากไหม เป็นเรื่องสำคัญไหม เพราะว่าบางคนก็นอนยาก ไม่ค่อยจะได้ที่สบายที่เป็นสัปปายะของการนอน บางคนก็ชอบร้อน บางคนก็ชอบเย็น บางคนก็ชอบเปิดหน้าต่าง บางคนก็ชอบปิดหน้าต่าง บางคนก็ชอบอยู่ใกล้ทางประตู บางคนก็ไม่ชอบอยู่ใกล้ทางประตู อาหารสัปปายะ ก็เป็นที่ลำบากว่า ใครจะชอบรสไหนอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญสมณธรรมได้สะดวกสบาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นเอตทัคคะในการจัดเสนาสนะ และในการ แจกภัตตาหาร ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะกระทำได้อย่างดี ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็น ได้ว่า บางคนอาจจะไม่ลำบากในเรื่องที่นอน แต่ลำบากในเรื่องอาหาร บางคน ไม่ลำบากในเรื่องอาหาร เป็นผู้ที่บริโภคง่าย รับประทานง่าย แต่เป็นผู้ที่ลำบาก ในเรื่องการนอน

    นี่ก็เป็นชีวิตจริงในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ทุกชาติก็จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงที่ได้สะสมมา

    สำหรับอีกท่านหนึ่ง คือ ท่านสภิยเถระ

    อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกกนิบาต สภิยเถรคาถาที่ ๓ มีข้อความว่า

    ท่านพระสภิยะท่านเกิดในครรภ์ของนางปริพาชิกาท่านหนึ่งซึ่งเป็นธิดากษัตริย์ ได้ยินว่า นางปริพาชิกานั้นเป็นธิดาของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง มารดาบิดานั้นได้มอบธิดานั้นให้แก่ปริพาชกคนหนึ่ง เพื่อให้ศึกษาลัทธิของปริพาชก

    มีความเลื่อมใสมากในปริพาชก จนกระทั่งมอบธิดาให้แก่ปริพาชก เพื่อให้ศึกษาลัทธิของปริพาชก

    ปริพาชกคนหนึ่งปฏิบัติผิดกับนาง นางจึงตั้งครรภ์ เมื่อปริพาชกนั้นเห็น นางมีครรภ์ก็ได้หนีไป ส่วนนางก็ได้ออกจากสำนักนั้นไปที่อื่น และได้คลอดบุตรในสภา ในระหว่างทาง และได้ตั้งชื่อบุตรว่าสภิยะ

    เมื่อสภิยะเติบโตขึ้น ได้บวชเป็นปริพาชก เรียนศาสตร์ต่างๆ เป็นมหาวาที เที่ยวขวนขวายในวาทะ ไม่เห็นบุคคลผู้เสมือนกับตน จึงได้สร้างอาศรมใกล้ประตู พระนคร ให้ขัตติยกุมารเป็นต้นศึกษาศิลปะอยู่ ถือเอาปัญหา ๒๐ ข้อ ถาม สมณพราหมณ์เหล่านั้นๆ

    ปัญหา ๒๐ ข้อนี้ ข้อความในอรรถกถากล่าวว่า

    สหายในอดีตซึ่งเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสได้แต่งปัญหาเหล่านั้น ให้ท่าน ถามปัญหานั้นกับสมณพราหมณ์ทั้งหลาย

    จะเห็นได้ว่า ท่านที่ได้สะสมความเห็นถูกมาเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แม้ว่าจะได้คบหากับผู้ที่มีความเห็นผิด เช่น พวกปริพาชก แต่กุศลในอดีตก็เป็นปัจจัยทำให้ท่านกลับมาเห็นถูกได้ แม้ว่าจะมีการคบหากับผู้ที่มีความเห็นผิดก็ตาม

    สภิยปริพาชกได้ไปเฝ้าพระศาสดา ณ พระวิหารเวฬุวัน และทูลถามปัญหาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้นแล้ว ท่านทูลขออุปสมบท บรรลุพระอรหันต์

    เมื่อท่านพระเทวทัตพยายามเพื่อทำลายสงฆ์นั้น เมื่อจะให้โอวาทแก่ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นฝักฝ่ายแห่งท่านพระเทวทัต ท่านพระสภิยะจึงกล่าวธรรม ๔ คาถาเหล่านี้ว่า

    พวกอื่นเว้นบัณฑิตย่อมไม่รู้สึกว่า พวกเราที่ทะเลาะวิวาทกันนี้ จะพากัน ย่อยยับในท่ามกลางสงฆ์นี้ พวกใดมารู้ชัดในท่ามกลางสงฆ์นั้นว่า พวกเราพากันไปสู่ที่ใกล้มัจจุราช ความทะเลาะวิวาทย่อมระงับไปได้จากสำนักของพวกนั้น เมื่อใดเขา ไม่รู้ธรรมอันเป็นอุบายระงับการทะเลาะวิวาทตามความเป็นจริง ประพฤติอยู่ ดุจไม่แก่ ไม่ตาย เมื่อนั้นความทะเลาะวิวาทก็ไม่สงบลงได้

    ถ้าชนเหล่าใดมารู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริง เมื่อสัตว์ทั้งหลายพากันเร่าร้อนอยู่ ชนเหล่านั้นย่อมไม่เร่าร้อน ความทะเลาะวิวาทของพวกเขา ย่อมระงับไปได้ โดยส่วนเดียว

    การงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ย่อหย่อน วัตรอันเศร้าหมอง และพรหมจรรย์ อันบุคคลพึงระลึกด้วยความสงสัย กรรม ๓ อย่างนั้นย่อมไม่มีผลมาก

    ผู้ไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ห่างไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดินฉะนั้น

    จบ สภิยเถรคาถา

    คำที่น่าฟังซึ่งทุกคนได้ยิน และเปรียบอยู่เสมอ คือ ฟ้ากับดิน ไม่ว่าอะไร ก็ตามที่ห่างกันมาก จะใช้คำอุปมาที่แสดงให้เห็นถึงความต่างกัน คือ ฟ้ากับดิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กว่ากุศล และปัญญาจะเจริญได้ จะต้องพิจารณาแม้ความเคารพ ในเพื่อนพรหมจรรย์

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    8 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ