ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
คำที่น่าฟังซึ่งทุกคนได้ยิน และเปรียบอยู่เสมอ คือ ฟ้ากับดิน ไม่ว่าอะไร ก็ตามที่ห่างกันมาก จะใช้คำอุปมาที่แสดงให้เห็นถึงความต่างกัน คือ ฟ้ากับดิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กว่ากุศล และปัญญาจะเจริญได้ จะต้องพิจารณาแม้ความเคารพ ในเพื่อนพรหมจรรย์ เพราะในขณะที่ไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ขณะนั้น เป็นอกุศลจิต และแม้เพียงขณะที่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ขณะนั้นก็เป็น กุศลจิต
เคยมีใครคิดบ้างไหมว่า ท่านห่างไกลเหมือนฟ้ากับดิน ในขณะที่ขาด ความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ แม้เพียงเล็กน้อยเท่านี้ ก็แสดงให้เห็นถึงการไม่เจริญ ของกุศล เพราะเมื่อไม่เคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ก็คือขณะนั้นไม่กระทำเพื่อละคลายกิเลส เพียงเล็กน้อยนิดเดียว แต่ให้เห็นถึงกำลังของกิเลสที่ทำให้ไม่มีความเคารพ ในเพื่อนพรหมจรรย์
ขณะใดที่เกิดสติระลึกได้ จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นไม่ได้ทำการละคลายหรือขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง แม้ในขณะที่อกุศลประเภทต่างๆ เกิดขึ้น
และข้อความที่ว่า ห่างไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดิน ก็เตือนให้ท่านพิจารณาตนเองว่า ท่านเป็นผู้ที่ห่างไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดินหรือเปล่า หรือ ไม่ห่างไกลถึงแค่นั้น อาจจะใกล้กว่านั้น
ที่กล่าวว่า ห่างไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดิน ก็เพราะการรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย และความดีเพียงความนอบน้อม ความเคารพใน เพื่อนพรหมจรรย์เท่านั้นยังทำไม่ได้ สิ่งที่ยากกว่านั้น คือ การประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จะเป็นไปได้อย่างไร
ใครก็ตามที่มีอกุศล และไม่เห็นโทษของอกุศลนั้นแม้เพียงเล็กน้อย จะเห็นได้ว่า ความดีที่จะทำเพื่อละอกุศลในขณะนั้นยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น การรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมก็ต้องยากยิ่งกว่านั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะรีบทำความดีไหม จะรีบละอกุศลในขณะนั้นที่กำลังเกิดไหม
ข้อความในอรรถกถาที่ว่า ฟ้ากับดิน ฟ้า คือ อากาศ ไกลจากดินโดยสภาวะความเป็นจริงแห่งธาตุ คือ ไม่มีสภาวะเจือกันแม้ในบางคราว
นี่คือความหมายของคำว่า ฟ้ากับดิน ที่ห่างไกลกัน
ท่านผู้ฟังได้ฟังชีวิตของพระสาวกต่างๆ และการอบรมเจริญปัญญาของท่าน ตั้งแต่ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ ท่านผู้ฟังอยากจะมีชีวิตแบบไหน เป็นสิ่งที่น่าพิจารณามาก เพราะว่าชีวิตทุกชีวิตแสนสั้น ไม่นานเลย แต่ละภพ แต่ละชาติ ทุกคนมีเวลาไม่มากในชาตินี้ คงจะไม่เกิน ๑๐๐ ปีสำหรับท่านที่จะมีอายุยืนยาว พระผู้มีพระภาคก็ทรงพระชนม์อยู่เพียง ๘๐ พรรษา แม้ว่าในสมัยของพระองค์อายุกัปจะเป็น ๑๐๐ ปีก็ตาม
การที่จะให้ชีวิตที่เกิดมาชั่วคราว และตายไปดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร ก็ต้องแล้วว่าชีวิตของแต่ละท่านที่จะดำเนินไป ดำเนินไปด้วยกำลังของอวิชชา หรือด้วยกำลังของปัญญา
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
นาที 4.53
ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ธาตุวิภังคสูตร สูตรนี้จำแนกเรื่องของธาตุ และขอกล่าวถึงเฉพาะบางตอน ข้อความใน ธาตุวิภังคสูตร มีว่า
ต่อนั้นพระองค์จึงตรัสเรียกท่านปุกกุสาติว่า
ดูกร ภิกษุ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจัก กล่าวต่อไป
ท่านปุกกุสาติทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุฯ
ถ้าท่านปุกกุสาติทราบว่าเป็นพระผู้มีพระภาค จะไม่ใช้คำว่า ท่านผู้มีอายุเลย แต่ตลอดเวลานั้นไม่ทราบ
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖ มีแดนสัมผัส ๖ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลส เครื่องสำคัญตน และกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตน และกิเลสเครื่องหมักหมมไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นี้อุเทศแห่งธาตุวิภังค์ ๖ ฯ
ธาตุมนสิการบรรพในมหาสติปัฏฐานทรงแสดงไว้ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ผู้ที่เจริญสติไม่ใช่รู้เพียง ๔ คือ ไม่ใช่รู้แต่เพียงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แล้วจะบรรลุอริยสัจธรรม ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงธาตุ ๔ แต่จะต้องแสดงถึงธรรมอื่นที่เกื้อกูลให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจชัดเจน ได้เจริญสติ ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ดูกร ภิกษุ ธาตุนี้มี ๖ อย่าง คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖ นั่น เราอาศัยธาตุดังนี้กล่าวแล้ว ฯ
ถ้าไม่มีวิญญาณธาตุก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือ ธรรมชาติที่รู้กับธรรมชาติที่ไม่ใช่สภาพรู้
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีแดนสัมผัส ๖ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน เป็นแดนสัมผัส ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีแดนสัมผัส ๖ นั่น เราอาศัยอายตนะดังนี้กล่าวแล้ว ฯ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงธาตุ ๖ แต่ยังต้องมีแดนสัมผัส ๖ คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน แต่ขอให้ทราบว่า ท่านพระปุกกุสาติท่านฟังอยู่ตลอดเวลา และก็เข้าใจตามนั้นด้วย
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ บุคคลเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมหน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส หน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส หน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว ... ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ... ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ... รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว ย่อมหน่วงนึกธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส หน่วงนึกธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส หน่วงนึกธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา นี้เป็นการหน่วงนึกโสมนัส ๖ หน่วงนึกโทมนัส ๖ หน่วงนึกอุเบกขา ๖ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ นั่น เราอาศัยความหน่วงนึกดังนี้กล่าวแล้ว ฯ
สิ่งใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเพราะตาเห็นแล้ว เกิดความรู้สึกโสมนัส โทมนัส หรืออุเบกขา ก็ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ว่าให้ไปบังคับไม่ให้โสมนัสเกิด ไม่ให้โทมนัสเกิด ถ้าเป็นการบังคับอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ลักษณะของนาม และรูปทั่ว เมื่อไม่รู้ทั่วก็ละไม่ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ มีปัญญาเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีสัจจะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีจาคะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีอุปสมะ คือ ความสงบ เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ นั่น เราอาศัยธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจดังนี้กล่าวแล้ว ฯ
ต่อไปจะเป็นความหมายที่ละเอียดของคำว่า ปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ดูกร ภิกษุ อย่างไรเล่า ชื่อว่า ไม่ประมาทปัญญา ดูกร ภิกษุ ธาตุนี้มี ๖ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ ฯ
ดูกร ภิกษุ ก็ปฐวีธาตุเป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็ปฐวีธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่แค่นแข็ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่แค่นแข็ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุภายใน ก็ปฐวีธาตุทั้งภายใน และภายนอกนี้แล เป็นปฐวีธาตุทั้งนั้น พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายปฐวีธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดปฐวีธาตุได้ ฯ
ถ้าโดยปฏิกูลมนสิการบรรพแล้ว ก็จำแนกเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม พวกนั้นด้วยความเป็นปฏิกูล แต่โดยความเป็นธาตุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่แค่นแข็ง ไม่จำเป็นต้องที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้น
สำหรับอาโปธาตุก็เช่นเดียวกัน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ก็อาโปธาตุเป็นไฉน คือ อาโปธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็อาโปธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่เอิบอาบซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่เอิบอาบซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อาโปธาตุภายใน ก็อาโปธาตุทั้งภายใน และภายนอกนี้แล เป็นอาโปธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอาโปธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายอาโปธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดอาโปธาตุได้ ฯ
สำหรับปฏิกูลมนสิการบรรพเป็นอาการที่เป็นวัตถุภายในร่างกายของธาตุดินกับธาตุน้ำ แต่ไม่ได้รวมธาตุไฟกับธาตุลม
สำหรับธาตุมนสิการนั้นรวมลักษณะของธาตุไฟกับธาตุลมด้วย
เหตุที่ไม่รวมธาตุไฟกับธาตุลมในปฏิกูลมนสิการบรรพ เพราะลักษณะของธาตุไฟกับธาตุลมไม่ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล ไม่เหมือนกับธาตุดินกับธาตุน้ำ
และความเป็นปฏิกูลที่กายจะมากกว่า หรือน้อยกว่าวัตถุภายนอก ต้นไม้ ดอกไม้ก็มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ปฏิกูลเหมือนหัวใจ ตับ ปอด ไส้เล็ก ไส้ใหญ่ เลือด หนองพวกนี้ไหม หรือปฏิกูลน้อยกว่า ยึดถืออะไรมากกว่า แต่สิ่งที่ยึดถือนั้น อะไรปฏิกูลมากกว่า
สำหรับธาตุไฟ ธาตุลม มีข้อความต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุ ก็เตโชธาตุเป็นไฉน คือ เตโชธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็เตโชธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่อบอุ่นถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ธาตุที่เป็นเครื่องยังกายให้อบอุ่น ยังกายให้ทรุดโทรม ยังกายให้กระวนกระวาย และธาตุที่เป็นเหตุให้ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วถึงความย่อยไปด้วยดี หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่อบอุ่นถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า เตโชธาตุภายใน ก็เตโชธาตุทั้งภายใน และภายนอกนี้แล เป็นเตโชธาตุทั้งนั้น พึงเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายเตโชธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดเตโชธาตุได้ ฯ
ท่านที่อยากจะทราบว่า ในกายมีธาตุไฟกี่ประเภท ในพระสูตรนี้ก็ได้ทรงแสดงไว้ว่ามี ๔ ประเภท คือ ธาตุไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ๑ ธาตุไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรมให้แก่ชรา ๑ ธาตุไฟที่ยังกายให้กระวนกระวายให้เจ็บไข้ได้ป่วย ๑ และธาตุไฟที่เป็นเหตุให้ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วถึงความย่อยไปด้วยดีอีก ๑ คือ ธาตุไฟที่ย่อยอาหาร ที่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะธาตุไฟรักษาไว้ให้อบอุ่น ถ้าส่วนผสมดี ธาตุไฟดี ผิวพรรณวรรณะก็น่าดู
นี่เป็นเรื่องของรูปร่างกายซึ่งเกิดจากกรรมบ้าง เกิดจากจิตบ้าง เกิดจากอุตุบ้าง เกิดจากอาหารบ้าง ส่วนธาตุไฟที่มีอยู่ในร่างกายก็ไม่ใช่จะให้คุณเสมอไป ทำให้ร่างกายดำรงอยู่ ให้อบอุ่น ให้มีชีวิตยังไม่เน่า ยังไม่เปื่อยก็จริง แต่ก็มีธาตุไฟที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมด้วย ทุกคนต้องแก่ชรา ก็ธาตุไฟนั่นอีกแหละที่เผาทำให้ทรุดโทรม ทำให้เหี่ยวแห้ง ทำให้ผิวพรรณวรรณะเปลี่ยน ทำให้ผมเปลี่ยน ธาตุไฟทำให้ร่างกายทรุดโทรม
นอกจากนั้น ธาตุไฟที่มีอยู่ในร่างกาย เวลาที่ไม่ได้ส่วนสัดที่พอเหมาะก็ทำให้กระวนกระวาย เจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ เพราะฉะนั้น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมที่มีอยู่ในร่างกายนั้น นอกจากปฏิกูลแล้ว ยังต้องบำรุงรักษากันอยู่เสมอ
อุปมาเปรียบเหมือนกับอสรพิษ ๔ ตัว ไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องกัด ทั้งๆ ที่ทะนุบำรุงอย่างมากมาย ถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีเจ็บไม่มีป่วยไข้แน่ แต่เพราะเหตุว่าเมื่อมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่ถึงแม้ว่าจะเฝ้าทะนุบำรุงรักษาสักเท่าไรก็ตาม มิวันใดก็วันหนึ่ง ก็จะต้องให้โทษทำให้เกิดความกระสับกระส่ายกระวนกระวายได้
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
ต่อไปก็เป็นธาตุลม
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ก็วาโยธาตุเป็นไฉน คือ วาโยธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็วาโยธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า หรือแม้สิ่งอื่น ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า วาโยธาตุภายใน
ก็วาโยธาตุทั้งภายใน และภายนอกนี้แล เป็นวาโยธาตุทั้งนั้น พึงเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายวาโยธาตุ แล้วจะให้จิตคลายกำหนัดวาโยธาตุได้
สำหรับธาตุลม ก็มี ๖ ลักษณะที่ทรงแสดงไว้ คือ
ลมพัดขึ้นเบื้องบน ๑ ลมพัดลงเบื้องต่ำ ๑ ลมในท้อง ๑ ลมในไส้ ๑ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ๑ ลมหายใจออกลมหายใจเข้า ๑
ลมที่พัดไปมาในร่างกายก็มี ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น รวมกันแล้วยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา ก็เป็นความเข้าใจผิดที่ยึดถือธาตุลักษณะต่างๆ ที่มาประชุมรวมกัน
ต่อไป คือ อากาศธาตุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ก็อากาศธาตุเป็นไฉน คือ อากาศธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็อากาศธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ซึ่งเป็นทางให้กลืนของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม เป็นที่ตั้งของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และเป็นทางระบายของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วออกทางเบื้องล่าง หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อากาศธาตุภายใน
ก็อากาศธาตุทั้งภายใน และภายนอกนี้แล เป็นอากาศธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอากาศธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายอากาศธาตุ แล้วจะให้จิตคลายกำหนัดอากาศธาตุได้
ที่ในกายมีอากาศธาตุคั่นอยู่ เป็นช่องว่างละเอียดทุกปรมาณูทีเดียว ที่ทำให้ร่างกายนี้แตกย่อยยับเป็นส่วนๆ เป็นชิ้นๆ อย่างละเอียดได้ เพราะเหตุว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ทั่วไปในร่างกาย แล้วประโยชน์ของการที่ทรงแสดงอากาศธาตุก็เพื่อที่จะให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วที่หลงยึดถือ คือ อากาศธาตุด้วย เป็นส่วนว่างในร่างกาย แต่เพราะอาศัยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มาประชุมรวมกันทำให้สำคัญยึดถือส่วนที่มาประชุมรวมกันที่อากาศนี้เองว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
อุปมาเหมือนกับที่ว่างแห่งหนึ่ง ยังไม่มีไม้ ยังไม่มีอิฐ ยังไม่มีปูน ยังไม่มีเชือก ยังไม่มีเถาวัลย์ ยังไม่มีวัตถุที่จะมาก่อสร้างให้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ก็ไม่เกิดความยึดถือว่าเป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นอาคารต่างๆ แต่พอเอาอิฐ เอาไม้ เอาปูน เอาเชือก เอาเถาวัลย์ เอาดินเหนียว หรือเอาอะไรๆ ก็ตามมาประกอบขึ้นไปที่นั้น อากาศธาตุที่ว่างในที่นั้นก็มีส่วนอื่นมาประชุมรวมเกิดขึ้นให้สำคัญผิดว่า เป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นอาคารต่างๆ ฉันใด ที่กายนี้ก็เหมือนกัน ส่วนแท้ๆ ส่วนหนึ่งที่มีก็คือ อากาศธาตุ แต่ว่ามีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มารวมมาปนอยู่ด้วยก็เลยทำให้ยึดถือว่าเป็นตัวตน
ประการต่อไป คือ วิญญาณธาตุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ต่อนั้น สิ่งที่จะเหลืออยู่อีก ก็คือ วิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง บุคคลย่อมรู้อะไรๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น คือ รู้ชัดว่า สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
ดูกร ภิกษุ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิดทุกขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ตัวทุกขเวทนาอันเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ
เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเกิดอทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนาย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ
ทุกอย่างที่สติระลึกรู้ได้ ไม่ว่าสุขเวทนาเกิดขึ้น รู้ว่าสุขเวทนาเกิดเพราะอาศัยปัจจัยอะไร ถ้าทุกขเวทนาเกิด ก็รู้ว่า ทุกขเวทนาเกิดนั้นเพราะอาศัยปัจจัยอะไร ถ้าความรู้สึกเฉยๆ อทุกขมสุขเวทนาเกิด ก็รู้ว่า อทุกขมสุขเวทนา คือ ความรู้สึกเฉยๆ นั้นเกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยอะไร เพราะเนื่องมาจากทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ และเมื่อดับก็รู้ด้วยว่า สุขเวทนานั้นดับ ทุกขเวทนานั้นดับ หรือว่าอุเบกขาเวทนานั้นดับหมดแล้ว
ต่อไปขอกล่าวถึงข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ เพื่อศึกษาสันติ ว่าทรงมุ่งหมายอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมัน และไส้ จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมัน และไส้นั้น และไม่เติมน้ำมัน และไส้อื่น ย่อมเป็นประทีปหมดเชื้อ ดับไป ฉันใด ดูกร ภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และรู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิตเพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็ปัญญานี้ คือ ความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง
เวลานี้มีสุขเวทนาบ้าง มีทุกขเวทนาบ้าง มีอทุกขมสุขเวทนาบ้าง แต่ถึงปัญญาขั้นที่รู้ว่า เมื่อสิ้นชีวิตลงแล้วก็ไม่มีสุขเวทนาอีกเลย ไม่มีทุกขเวทนาอีกเลย ไม่มีอุเบกขาเวทนาอีกเลย นั่นจึงจะเป็นความสงบที่แท้จริง ถ้าไม่ถึงขั้นนี้ก็ไม่ใช่ปัญญาที่ประเสริฐยิ่ง เพราะเหตุว่าปัญญาที่ประเสริฐยิ่งจะต้องเป็นปัญญาที่รู้อย่างนี้ คือ รู้ว่าเบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิตเพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมด ที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ เพราะเหตุนั้นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็ปัญญานี้ คือความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง
สำหรับเรื่องต่อไปที่เกี่ยวเนื่องกัน
ความหลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นคุณ ไม่กำเริบ ดูกร ภิกษุ เพราะสิ่งที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดานั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา ได้แก่ นิพพานนั้นจริง
ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็สัจจะนี้ คือ นิพพาน มีความไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง อนึ่งบุคคลนั้นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงเป็นอันพรั่งพร้อมสมาทานอุปธิเข้าไว้ อุปธิเหล่านั้นเป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยการสละอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็จาคะนี้ คือ ความสละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง
สัจจะที่ประเสริฐก็เป็นการรู้แจ้งนิพพาน หรือนิพพานนั่นเองเป็นสัจจะ คือ ไม่เลอะเลือน เปลี่ยนแปลง แปรปรวน เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่ถึงความเป็นสัจจะอย่างยิ่ง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง คือ ผู้ที่รู้แจ้งสิ่งที่ไม่เลอะเลือน ส่วนจาคะก็เช่นเดียวกัน
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)