ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
ขอกล่าวถึงความอ่อนน้อมของท่านพระอานนท์เถระซึ่งท่านมีต่อสงฆ์ หลังจากที่ท่านได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงการอ่อนน้อมของท่านพระอานนท์ต่อสงฆ์ ขอกล่าวถึงตั้งแต่เริ่มต้นที่ท่านพระมหากัสสปะสังคายนาครั้งที่ ๑ โดยปรารภคำของสุภัททวุฑฒบรรพชิต ซึ่งท่านพระมหากัสสปะดำริที่จะทำสังคายนา และท่านก็สมมติภิกษุ ๕๐๐ รูป ตามข้อความใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ปัญจสติกขันธกะ เรื่องสมมติภิกษุ ๕๐๐ รูป
ข้อ ๖๑๕
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ถ้ากระนั้น ขอพระเถระจงคัดเลือกภิกษุทั้งหลายเถิดขอรับ ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสป จึงคัดเลือกพระอรหันต์ได้ ๕๐๐ รูป หย่อนอยู่องค์หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปว่า
ท่านเจ้าข้า ท่านพระอานนท์นี้ยังเป็นเสกขบุคคลอยู่ก็จริง แต่ไม่ลุอำนาจฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ และท่านได้เรียนพระธรรม และพระวินัยเป็นอันมากในสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะเหตุนั้น ขอพระเถระจงคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วยเถิด
ลำดับนั้น พระมหากัสสปจึงคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วย จึงพระเถระทั้งหลายปรึกษากันว่า พวกเราจักสังคายนาพระธรรม และพระวินัยที่ไหนดีหนอ ครั้นแล้วเห็นพร้อมกันว่า พระนครราชคฤห์มีโคจรคามมาก มีเสนาสนะเพียงพอ สมควรแท้ที่พวกเราจะอยู่จำพรรษาในพระนครราชคฤห์ สังคายนาพระธรรม และพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่ควรเข้าจำพรรษาในพระนครราชคฤห์
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา
ในขณะที่ท่านพระมหากัสสปะคัดเลือกพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป หย่อนอยู่ ๑ รูป ท่านพระอานนท์ยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ท่านบรรลุคุณธรรมเป็นเพียงพระโสดาบันบุคคล แต่ถึงอย่างนั้น แม้ว่าท่านยังเป็นเสกขบุคคลอยู่ก็จริง แต่เป็นผู้ที่ไม่ลุอำนาจฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ และท่านได้เรียนพระธรรม และ พระวินัยเป็นอันมากในสำนักพระผู้มีพระภาค ด้วยเหตุนั้นพระเถระทั้งหลายจึงขอให้ท่านพระมหากัสสปะคัดเลือกท่านพระอานนท์เข้าด้วย
ข้อความต่อไป
เรื่องปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรม
ข้อ ๖๑๖
ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลายได้ไปพระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรม และพระวินัย แล้วปรึกษากันว่า ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมไว้ ถ้ากระไรพวกเราจักปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมในเดือนต้น แล้วจักประชุมสังคายนาพระธรรม และพระวินัยในเดือนท่ามกลาง ครั้งนั้น พระเถระได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมในเดือนต้น ฯ
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 598
พระอานนท์สำเร็จพระอรหัต
ข้อ ๖๑๗
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม ข้อที่เรายังเป็น เสกขบุคคลอยู่จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้นไม่ควรแก่เรา จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี จึงเอนกายด้วยตั้งใจว่าจักนอน แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน และเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้นจิตได้หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ได้ไปสู่ที่ประชุม ฯ
ข้อความมีเพียงเท่านี้ ซึ่งปกติทุกท่านก็จะต้องนอน เพราะฉะนั้น ท่าน พระอานนท์ก็เช่นเดียวกัน ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี จึงเอนกายด้วยตั้งใจว่าจักนอน แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน และเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้นจิตได้หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น
ท่านผู้ฟังจะเห็นความเป็นอนัตตาของอรหัตตมรรค อรหัตตผล และของสภาพธรรมซึ่งจะเกิดขึ้นในขณะไหน อย่างไรก็ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยควรที่จะให้เกิดขึ้นขณะใด อย่างไร ก็เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น
ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมย่อมทราบหนทางข้อปฏิบัติว่า การที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะใด ปัญญาจึงสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้หนทางที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ย่อมมีปัจจัยที่จะให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญาก็รู้ชัดในเหตุปัจจัยว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เพราะฉะนั้น ทีผู้ซึ่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว สติจะไม่เกิดไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การที่สติจะเกิดขึ้นน้อมไปสู่นามหรือรูทางหนึ่งทางใด ก็มีปัจจัยที่จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ตามความเป็นจริง ตามที่ท่านสะสมมา จิตของท่านพระอานนท์จะน้อมไประลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใด รูปธรรมใด ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น และท่านก็ทราบว่าไม่ใช่ตัวตน และการนอนพักผ่อนนี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นเมื่อถึงกาละที่ท่านจะพักผ่อน ท่านก็นอนพักผ่อนด้วยสติ ซึ่งในขณะนั้น ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้
เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดคิดว่า ท่านพระอานนท์ยังมีตัวตนที่พากเพียร และก็มีความท้อถอยเมื่อได้พากเพียรเป็นเวลานานแล้วก็ไม่บรรลุ ก็เลยเลิกความเพียร และก็นอนเสีย
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
นาที 7.55
ข้อความที่พระผู้มี พระภาคทรงพยากรณ์ว่า ท่านพระอานนท์จะปรินิพพานในอัตภาพนี้ หมายความว่า ท่านจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ มีปรากฏใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อานันทวรรคที่ ๓ จูฬนีสูตร
ข้อความต่อไป
พระอุบาลีวิสัชนาพระวินัย
ข้อ ๖๑๘
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:
ญัตติกรรมวาจา
ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้วข้าพเจ้าจะพึงถามพระวินัยกะพระอุบาลี
ท่านพระอุบาลี ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่าดังนี้
ญัตติกรรมวาจา
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปถามพระวินัยแล้วจะพึงวิสัชนา
นี่คือการสังคายนาของบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายในครั้งที่ ๑ ซึ่งมีท่านพระมหากัสสปเป็นผู้ถามพระวินัย และท่านพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย ถ้าผู้ถามไม่ใช่พระอรหันต์ และผู้ตอบไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ย่อมจะไม่รู้แจ้งในเหตุผลที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทต่างๆ
สำหรับผู้ที่ถามถามต้องเป็นที่ทรงความรู้จริงจึงจะถามได้ ถ้ายังไม่มีความรู้เรื่องอะไรเลย จะให้ถามก็คงถามไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะถามเพื่อที่จะให้คนอื่นแสดงข้อความที่ชัดเจนแจ่มแจ้งถูกต้อง ผู้ถามนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้จริงในเรื่องที่จะถามด้วย
สำหรับในเรื่องธรรม ท่านพระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาธรรม
ข้อความต่อไป
พระอานนท์วิสัชนาพระธรรม
ข้อ ๖๑๙
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
ญัตติกรรมวาจา
ท่านทั้งหลายขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าจะพึงถามธรรมกะท่านพระอานนท์
ท่านพระอานนท์ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
ญัตติกรรมวาจา
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปถามธรรมแล้วจะพึงวิสัชนา
ต่อจากนั้น เป็นการวิสัชนาพระธรรมต่อจากพระวินัย เป็นความสมบูรณ์ของการสังคายนาครั้งที่ ๑
ข้อความต่อไป แสดงให้เห็นถึงการอ่อนน้อมที่ท่านพระอานนท์มีต่อสงฆ์ มีข้อความว่า
เรื่องสิกขาบทเล็กน้อย
ข้อ ๖๒๐
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลายว่า
ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ดูกร อานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้
พระเถระทั้งหลายถามว่า
ท่านพระอานนท์ ก็ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือเปล่าว่า พระพุทธเจ้าข้า สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ท่านพระอานนท์ตอบว่า
ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบท เล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย ฯ
เรื่องไม่บัญญัติ และไม่ถอนพระบัญญัติ
ข้อ ๖๒๑
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
ญัตติทุติยกรรมวาจา
ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบทของพวกเราที่ปรากฏแก่คฤหัสถ์ มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร สิ่งนี้ไม่ควร ถ้าพวกเราจักถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสีย จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเป็นการชั่วคราว พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ตราบใด สาวกเหล่านี้ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายตราบนั้น เพราะเหตุที่ พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว พระสมณะเหล่านี้จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายในบัดนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว นี้เป็นญัตติ
ท่านผู้ฟังจะเห็นความเคารพนอบน้อมของพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีต่อพระผู้มีพระภาค แม้ว่าจะทรงอนุญาตให้ถอนพระบัญญัติเล็กน้อย แต่ว่าพระอรหันต์เถระทั้งหลาย ท่านมีความเคารพในสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติแล้ว และไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ
ถ้าท่านผู้ใดในสมัยนี้คิดเห็นว่า พระวินัยบัญญัติข้อใดอาจจะประพฤติไม่ได้ หรือว่าไม่เหมาะไม่ควร ก็ขอให้คิดถึงพระอรหันต์ทั้งหลายในการกระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งท่านมีความเห็นร่วมกันว่า ท่านจะไม่บัญญัติสิ่งที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงบัญญัติ และจะไม่ถอนสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 601
นาที 16.38
ข้อความต่อไปมีว่า
ปรับอาบัติทุกกฏแก่พระอานนท์ ข้อ ๖๒๒
ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลายได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ ข้อที่ท่านไม่ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็ สิกขาบทเหล่าไหน เป็นสิกขาบทเล็กน้อย นี่เป็นอาบัติทุกกฏแก่ท่าน ท่านจง แสดงอาบัติทุกกฏนั้น.
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า เพราะระลึกไม่ได้ ข้าพเจ้าจึง มิได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า สิกขาบทเหล่าไหน เป็นสิกขาบทเล็กน้อย ข้าพเจ้าไม่เห็นเหตุที่ไม่ได้ทูลถามนั้น ว่าเป็นอาบัติทุกกฏ แต่ เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ายอมแสดงอาบัติทุกกฏนั้น.
พระเถระทั้งหลายกล่าวต่อไปว่า ท่านพระอานนท์ ข้อที่ท่านเหยียบ ผ้าวัสสิกสาฎกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเย็บ แม้นี้ก็เป็นอาบัติทุกกฏแก่ท่าน ท่าน จงแสดงอาบัติทุกกฏนั้น.
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าเหยียบผ้าวัสสิกสาฎกของ พระผู้มีพระภาคเจ้าเย็บโดยมิได้เคารพก็หามิได้ ข้าพเจ้าไม่เห็นเหตุที่เหยียบนั้น ว่าเป็นอาบัติทุกกฏ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ายอมแสดงอาบัติทุกกฏ นั้น.
พระเถระทั้งหลายกล่าวต่อไปว่า ท่านพระอานนท์ ข้อที่ท่านให้มาตุคาม ถวายบังคมพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าเปื้อนน้ำตาของพวกนางผู้ร้องไห้อยู่ แม้นี้ก็เป็นอาบัติทุกกฏนั้น.
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคิดว่ามาตุคามเหล่านี้ อย่าได้อยู่จนเวลาพลบค่ำ จึงให้พวกมาตุคามถวายบังคมพระสรีระของพระผู้มี พระภาคเจ้าก่อน ข้าพเจ้าไม่เห็นเหตุที่ให้มาตุคามถวายบังคมพระสรีระของ พระผู้มีภาคเจ้านั้น ว่าเป็นอาบัติทุกกฏ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้า ยอมแสดงอาบัตินั้น.
พระเถระทั้งหลายกล่าวต่อไปว่า ท่านพระอานนท์ ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำนิมิตอันหยาบ ทรงทำโอกาสอันหยาบอยู่ ท่านไม่ทูลอ้อนวอน พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงดำรงอยู่ ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ ชนมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นอาบัติทุกกฏแก่ท่าน ท่านจงแสดง อาบัติทุกกฏนั้น.
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าถูกมารดลใจ จึงไม่ได้ ทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำรงอยู่ตลอด กัป ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความ สุขแก่ชนมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่สัตวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อ ความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่เห็นเหตุนั้นว่าเป็นอาบัติทุกกฏ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ายอมแสดงอาบัติทุกกฏนั้น.
พระเถระทั้งหลายกล่าวต่อไปว่า ท่านอานนท์ ข้อที่ท่านได้ทำการ ขวนขวายให้มาตุคามบวชในพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว แม้ นี้ก็เป็นอาบัติทุกกฏแก่ท่าน ท่านจงแสดงอาบัติทุกกฏนั้น.
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าทำการขวนขวายให้ มาตุคามบวชในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้วด้วยคิดว่าพระนาง มหาปชาบดีโคตมีนี้ เป็นพระเจ้าแม่น้ำของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ประคับ ประคอง เลี้ยงดูทรงประทานขีรธาราแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระพุทธมารดาทิวงคต ได้ยังพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสวยถัญญธารา ข้าพเจ้าไม่เห็น เหตุนั้นว่าเป็นอาบัติทุกกฏ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ายอมแสดงอาบท ทุกกฏนั้น.
นาที 21.53
ถ. ทั้งที่พระพุทธเจ้ายังไม่ปรับอาบัติของท่านพระอานนท์ ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังทรงมีชีวิตอยู่ ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นอาบัติทุกกฏ ทำไมพระเถระเหล่านั้นทั้งหมดจะมาปรับอาบัติทุกกฏกับท่านพระอานนท์ ในหลายๆ ด้านครับ
สุ แต่ละท่านก็มีความคิดความเห็นต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นเมื่อได้กระทำสังคายนาแล้ว ก็อาจจะมีบางบุคคลที่เห็นว่าท่านพระอานนท์ได้กระทำความผิด บกพร่องหลายประการ เพราะฉะนั้นเป็นการดีที่สงฆ์จะติท่านพระอานนท์ เพื่อที่จะให้ท่านพระอานนท์ แสดงเหตุผลในการที่ท่านได้กระทำสิ่งซึ่งอาจจะมีหลายท่านเห็นว่าเป็นข้อบกพร่อง เพราะว่าเรื่องการที่จะไม่ให้ใครติว่าใครจะทำอะไรบกพร่อง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อท่านพระอานนท์ท่านก็เป็นพระโสดาบัน ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ในระหว่างที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้นการติเหล่านี้ อาจจะเกิดมีขึ้นแล้วในครั้งนั้น ด้วยเหตุนี้สงฆ์จึงได้กล่าวถึงการกระทำต่างๆ ซึ่งอาจจะมีบางท่านติ เพื่อที่จะให้ท่านพระอานนท์ได้แสดงเหตุผลในการกระทำของท่านแต่ละข้อ
นาที 23.24
ข้อความต่อไป
เรื่องพระปุราณเถระ
ข้อ ๖๒๓
สมัยนั้น ท่านพระปุราณะเที่ยวจาริกในชนบททักขิณาคิรี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป คราวเมื่อพระเถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรม และ พระวินัยเสร็จแล้ว ได้พักอยู่ในชนบททักขิณาคิรีตามเถราภิรมย์ แล้วเข้าไปหา พระเถระทั้งหลายที่พระวิหารเวฬุวันอันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ แล้วได้กล่าวสัมโมทนียะกับพระเถระทั้งหลาย แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเถระทั้งหลายได้กล่าวกะท่านพระปุราณะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า
ท่านปุราณะ พระเถระทั้งหลายได้สังคายนาพระธรรม และพระวินัยแล้ว ท่านจงรับรู้พระธรรม และพระวินัยนั้นที่พระเถระทั้งหลายสังคายนาแล้ว
ท่านพระปุราณะกล่าวว่า
ท่านทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรม และพระวินัยเรียบร้อยแล้วหรือ แต่ว่าข้าพเจ้าได้ฟัง ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคด้วยประการใด จักทรงไว้ด้วยประการนั้น ฯ
จะเห็นได้ว่า ความคิดของแต่ละท่านนี้ต่างกัน สำหรับท่านพระอานนท์ แม้ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ผู้ร่วมในการกระทำสังคายนา แต่เมื่อสงฆ์แสดงความประสงค์ประการใดที่จะให้ท่านกระทำ ท่านก็กระทำ เช่น ในเรื่องของการแสดงอาบัติทุกกฎ ท่านก็กระทำ แต่สำหรับท่านพระปุราณะ ถึงแม้ว่าท่านจะได้ทราบว่า พระเถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรม และพระวินัยเรียบร้อยแล้ว แต่ท่านก็กล่าวว่า พระเถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรม และพระวินัยเรียบร้อยแล้วหรือ แต่ว่าข้าพเจ้าได้ฟัง ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคด้วยประการใด จักทรงไว้ด้วยประการนั้น ฯ
ข้อความต่อไป
ข้อ ๖๒๔
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะพระเถระทั้งหลายว่า
ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนเสด็จปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกร อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เมื่อเราล่วงไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุฉันนะ
ท่านพระฉันนะเป็นผู้ติดตามพระผู้มีพระภาค ตอนที่พระผู้มีพระภาคเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ คือ จากพระราชวังไป และภายหลังนายฉันนะก็ได้บวช แต่ก็ไม่มีความนอบน้อม หรือไม่มีความอ่อนน้อมเลย เป็นผู้ที่ทะนงตน ถือตัวว่าเป็นผู้ที่ใกล้ชิด และเป็นผู้ที่ได้ติดตามพระผู้มีพระภาคเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จออกจากพระราชวัง เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีความยำเกรงต่อสงฆ์ ไม่ว่าใครจะกล่าวสอน หรือว่าชี้แจงอย่างไร พระภิกษุฉันนะก็ไม่ปฏิบัติตาม ไม่เชื่อฟัง เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคจวนจะเสด็จปรินิพพาน ก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า เมื่อพระองค์ล่วงไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุฉันนะ
พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า
ท่านอานนท์ ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร
พระอานนท์ตอบว่า
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าทูลถามพระผู้มีพระภาคแล้วว่า พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อานนท์ ภิกษุฉันนะพึงพูดตามปรารถนา ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงสั่งสอน ไม่พึงพร่ำสอนภิกษุฉันนะ
ท่านพระเถระทั้งหลายกล่าวว่า
ท่านอานนท์ ถ้าเช่นนั้น ท่านนั้นแหละจงลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ
พระอานนท์ปรึกษาว่า
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะได้อย่างไร เพราะเธอดุร้าย หยาบคาย
พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า
ท่านอานนท์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปกับภิกษุหลายๆ รูป
ท่านพระอานนท์รับเถระบัญชา แล้วโดยสารเรือไปพร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงเมืองโกสัมพี ลงจากเรือ แล้วได้นั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่งใกล้ พระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน ฯ
ท่านอาจจะสงสัยว่า พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้จะมีประโยชน์เกื้อกูลอย่างไรบ้างกับการเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของชีวิต ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ เพราะฉะนั้น ก่อนที่ท่านผู้ฟังจะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ เช่น ท่านพระอรหันต์ทั้งหลายที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ท่านก็ย่อมไม่ทราบเลยว่า ชีวิตของท่านจะวนเวียนไป และมีสภาพที่จะเป็นอุบาสกบ้าง อุบาสิกาบ้าง ภิกษุบ้าง ภิกษุณีบ้าง ชาติหนึ่งชาติใดในลักษณะอย่างใด เพราะฉะนั้น ชีวิตที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล ซึ่งบางท่านก็ได้อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่บางท่านก็ยัง ท่านอาจจะเป็นผู้มีความเห็นผิดในครั้งที่ได้พบพระผู้มีพระภาค ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ในปัจจุบันนี้ ท่านก็จะยังคงอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เป็นภพหนึ่งชาติหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่สำหรับผู้ที่ได้พบ และมีความเข้าใจถูก แต่ยังไม่บรรลุคุณธรรม ท่านก็จะมีภพชาติต่างๆ กันไป แต่ว่าไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก เหมือนชีวิตของบุคคลทีซึ่งได้พบพระผู้มีพระภาค และปรากฏในพระไตรปิฎก
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)