นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
วันมาฆบูชา เป็นวันที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ในขณะที่ถวายอยู่งานพัดพระผู้มีพระภาคที่ถ้ำสูกรขาตา ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม แก่ทีฆนขปริพาชกซึ่งเป็นหลานของท่าน เพราะฉะนั้น ในวันสำคัญทางศาสนา จะเป็นอนุสสติได้หลายอย่าง คือ นอกจากระลึกถึงความสำคัญของวันมาฆบูชาแล้ว ก็ยังระลึกถึงเหตุการณ์ในตอนบ่าย ตอนเย็น ซึ่งขณะนั้นทีฆนขปริพาชกได้ไปหา ท่านพระสารีบุตร เพื่อไต่ถามทุกข์สุขที่ท่านได้อุปสมบทในพระธรรมวินัยของ พระผู้มีพระภาค และท่านพระสารีบุตรได้พาท่านซึ่งเป็นหลานไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ท่านพระสารีบุตรก็ถวายอยู่งานพัด ในขณะที่ฟังพระธรรมนั่นเองท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และกาลเวลาก็ล่วงผ่านไป หลังจากที่ท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้วประมาณ ๔๕ ปี
ชีวิตของพระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีทุกข์ใจ แต่ว่ามีทุกข์กาย แม้พระผู้มีพระภาคพระอัครสาวก และพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ไม่พ้นจากอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ เพราะว่าอกุศลกรรมย่อมมีปัจจัยที่จะให้ผลได้ตราบที่ยังไม่ปรินิพพาน
ขอกล่าวถึงการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร หลังจากที่ท่านบรรลุ พระอรหันต์ในวันมาฆบูชา ล่วงเลยไปประมาณ ๔๕ ปี ข้อความใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อรรถกถาจุนทสูตร มีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี ก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ บ้าน นาฬกคาม ในแคว้นมคธ อาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านสามเณรจุนทะเป็นอุปัฏฐากของท่าน ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรปรินิพพานด้วยอาพาธนั่นแหละ
ถ้าย้อนระลึกไปถึงแคว้นมคธ หรือเมืองสาวัตถี แม้บ้านนาฬกคามในอดีตก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้น แม้เพียงใน ๔๕ ปีนั้น มีทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งกุศลธรรม อกุศลธรรม มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ย้อนกลับมาเกิดอีกเลย ไม่ว่า ใครจะเกิดในสถานที่นั้น ก็เกิดเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ตำบลนาฬกะเป็นที่อยู่ของสกุลของท่านพระสารีบุตร ท่านสามเณรจุนทะเป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตร เวลาที่ท่านยังไม่ได้อุปสมบท ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า สามเณรจุนทะ แม้ว่าเวลาที่ท่านเป็นพระเถระแล้ว ก็ยังเรียกอย่างนั้นเหมือนกัน เหตุนั้นจึงกล่าวว่าสามเณรจุนทะ ท่านสามเณรจุนทะเป็นผู้อุปัฏฐากท่านพระสารีบุตรด้วยน้ำล้างหน้า ไม้สีฟัน และน้ำฉัน กวาดบริเวณ นวดหลัง และรับบาตรจีวร
ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานในปีที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน แต่ปรินิพพานก่อนท่านพระมหาโมคคัลลานะ และก่อนพระผู้มีพระภาค
ข้อความในอรรถกถาโดยย่อมีว่า
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่จำพรรษาแล้ว เสด็จออกจากหมู่บ้าน เวฬุวะไปเมืองสาวัตถี แล้วประทับ ณ พระวิหารเชตวัน
เมื่อท่านพระสารีบุตรแสดงวัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไปที่พักกลางวัน เพื่อนเหล่าอันเตวาสิกในที่นั้นแสดงวัตรแล้วหลีกไป ท่านจึงกวาดที่พักกลางวัน ปูแผ่นหนัง ล้างเท้า แล้วนั่งคู้บัลลังก์เข้าผลสมาบัติ
ลำดับนั้น เมื่อท่านออกจากผลสมาบัตินั้นตามกำหนดแล้ว เกิดความปริวิตกว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายจักปรินิพพานก่อนหรือหนอ หรือว่าพระอัครสาวกปรินิพพานก่อน แต่นั้นท่านก็รู้ว่าพระอัครสาวกปรินิพพานก่อน ท่านจึงตรวจดูอายุสังขารของท่าน แล้วรู้ว่าอายุสังขารของเราจักเป็นไปได้เพียง ๗ วันเท่านั้น จึงคิดว่า เราจะปรินิพพานที่ไหน
ลำดับนั้น จึงคิดแล้วคิดอีกว่า ท่านพระราหุลปรินิพพานในดาวดึงส์พิภพ พระอัญญาโกณฑัญญเถระปรินิพพานที่สระฉัททันต์ เราจะปรินิพพานที่ไหน ดังนี้ จึงเกิดความสังเวชปรารภมารดาว่า มารดาของเราก็เป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เลย ท่านมีอุปนิสัยหรือไม่หนอ เมื่อท่านได้เห็นอุปนิสัยแห่งพระโสดาปัตติมรรคของมารดาของท่าน จึงตรวจดูว่า มารดาของท่านจักบรรลุด้วยเทศนาของใคร ทราบว่า จักบรรลุด้วยธรรมเทศนาของท่านเท่านั้น มิใช่ของใครอื่น
แล้วคิดต่อไปว่า ถ้าท่านพึงขวนขวายน้อยก็จักมีคนกล่าวว่า พระสารีบุตรเถระเป็นที่พึ่งของคนที่เหลือทั้งหลาย แต่ไม่อาจจะเปลื้องแม้เพียงความเห็นผิดของมารดาของตนได้ ท่านจึงตกลงใจที่จะเปลื้องมารดาจากความเห็นผิด และจะปรินิพพาน ในห้องที่เกิดนั่นแหละ
ท่านให้สามเณรจุนทะไปบอกภิกษุบริษัท ๕๐๐ รูปของท่านให้ทราบว่า ท่านจะไปบ้านนาฬกะ
ภิกษุทั้งหลายจึงเก็บเสนาสนะถือบาตร และจีวร ไปสำนักของท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรเก็บเสนาสนะ กวาดที่พักกลางวัน และยืนที่ประตูที่พักกลางวัน ตรวจดูที่พักกลางวันคิดว่า บัดนี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย จะไม่มีการกลับมาอีกแล้ว
ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูปแวดล้อม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตข้าพระองค์ ขอ พระสุคตเจ้าทรงอนุญาต นี้เป็นกาลปรินิพพานของข้าพระองค์ อายุสังขารข้าพระองค์ปลงลงแล้ว
ก็เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อตรัสว่า เธอจงปรินิพพาน ก็จะกลายเป็นสรรเสริญความตาย เมื่อตรัสว่า เธออย่าปรินิพพาน คนผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิก็จะยกโทษว่า กล่าวสรรเสริญคุณของวัฏฏะ ฉะนั้น จึงไม่ตรัสคำแม้ทั้งสอง
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เธอจักปรินิพพานที่ไหน สารีบุตรเมื่อพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักปรินิพพานในห้องที่ข้าพระองค์เกิด ในบ้านนาฬกะ แคว้นมคธนั้น จึงตรัสว่า สารีบุตร เธอจงสำคัญเวลาในบัดนี้ ก็การเห็นภิกษุเช่นเธอของภิกษุผู้เป็นทั้งพี่ และน้องของเธอจักหาได้ยาก ในบัดนี้ เธอจงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น
ท่านพระสารีบุตรทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์ให้ท่านแสดงธรรม หลังจากที่แสดงอิทธิฤทธิ์แล้ว ท่านจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า และเหาะขึ้นไปแสดงปาฏิหาริย์หลายร้อยอย่าง แล้วปรารภธรรมกถา
ท่านพระสารีบุตรกล่าวธรรมกถาด้วยกายที่ปรากฏบ้าง ไม่ปรากฏบ้าง ด้วยกายเบื้องบน เบื้องล่าง หรือครึ่งกาย บางทีก็แสดงเป็นรูปพระจันทร์โดยไม่มีใครเห็น บางครั้งก็เป็นรูปพระอาทิตย์ บางครั้งก็เป็นรูปภูเขา บางทีก็เป็นรูปทะเล บางทีก็เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ บางทีก็เป็นเวสวัณมหาราช บางทีก็เป็นท้าวสักกมหาราช บางทีก็เป็นท้าวมหาพรหม เมื่อแสดงปาฏิหาริย์หลายร้อยอย่างอย่างนี้ ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวธรรมกถา ชาวพระนครทั้งสิ้นประชุมกันแล้ว ท่านเหาะลงแล้ว ได้ยืนถวายบังคมพระบาทพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพระเถระว่า
สารีบุตร ธรรมปริยายนี้ ชื่ออะไร
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
ชื่อสีหนิกีฬิตะ พระเจ้าข้า
ท่านพระสารีบุตรได้เหยียดมือที่มีสีดังครั่งสด แล้วจับที่ข้อพระบาทเช่นกับ ลายเต่าทองของพระผู้มีพระภาค พลางกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์บำเพ็ญบารมีมาหนึ่งอสงไขยแสนกัป ก็เพื่อถวายบังคมพระบาททั้งสองนี้ของพระองค์ มโนรถของข้าพระองค์ถึงที่สุดแล้ว บัดนี้ แต่นี้ไป การประชุมกันในที่เดียวกันด้วยอำนาจปฏิสนธิจะมิได้มีอีกแล้ว
คือ จะไม่มีการเกิดมาพบกันอีก
สมาคมก็จะมิได้มี ความคุ้นเคยกันได้ขาดแล้ว ข้าพระองค์จักเข้าสู่ พระนิพพานที่ไม่แก่ ไม่ตาย เกษม มีสุข เย็นสนิท ไม่มีภัย ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จไปแล้ว ถ้าว่าพระองค์ไม่ทรงชอบพระทัย โทษไรๆ ของข้าพระองค์ที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจา ขอพระองค์ทรงอดโทษนั้นด้วย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค นี้เป็นการไปของข้าพระองค์แล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สารีบุตร เราอดโทษต่อเธอ ก็โทษไรๆ ของเธอที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจา ที่ไม่ชอบใจเรา ไม่มีเลย สารีบุตร บัดนี้เธอจงสำคัญกาลอันควรเถิด
พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจากที่ฟังธรรม เสด็จมุ่งหน้าต่อพระคันธกุฎี แล้วได้ประทับยืน ท่านพระสารีบุตรทำประทักษิณ ๓ ครั้งแล้วถวายบังคมในที่ ๔ แห่ง กราบทูลแล้วว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เลยไปหนึ่งอสงไขยกับแสนกัปแต่กัปนี้ ข้าพระองค์หมอบลงที่ใกล้พระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี ปรารถนาเห็นพระองค์ ความปรารถนาของข้าพระองค์นั้นสำเร็จแล้ว ข้าพระองค์เห็นพระองค์แล้ว เป็นการเห็นครั้งแรก นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย การได้เห็นพระองค์ ไม่ได้มีอีกแล้ว ดังนี้ แล้วประคองอัญชลี หันหน้าเฉพาะตราบเท่าที่ที่จะเห็นได้ ถอยกลับแล้วถวายบังคม แล้วหลีกไป
มหาปฐพีไม่อาจจะทรงไว้ได้ ไหวจนถึงน้ำรองรับแผ่นดิน พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะเหล่าภิกษุที่ยืนแวดล้อมว่า
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงติดตามพี่ชายของพวกเธอเถิด ขณะนั้นบริษัท ๔ ละพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้พระองค์เดียวในพระเชตวัน ออกไปไม่เหลือเลย
ฝ่ายชาวพระนครสาวัตถีพากันพูดว่า ข่าวว่าพระสารีบุตรเถระทูลลา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วประสงค์จะปรินิพพานออกไปแล้ว พวกเราจะไปนมัสการท่าน พากันถือเอาของหอม และพวงมาลัยเป็นต้นออกไปจนแน่นประตูเมือง สยายผม ร้องไห้คร่ำครวญโดยนัยเป็นต้นว่า บัดนี้พวกเราเมื่อถามว่า ท่านผู้มีปัญญามากนั่งที่ไหน พระธรรมเสนาบดีนั่งที่ไหน ดังนี้ จะไปสำนักของใคร จะไปวางสักการะในมือของใคร เมื่อพระเถระหลีกไปแล้ว ก็ได้ติดตามท่านพระเถระไป
ท่านพระสารีบุตรเถระเพราะความที่ท่านดำรงอยู่ในปัญญามาก คิดแล้วว่า ทางนี้คนทั้งหมดไม่ควรก้าวเลยมา ก็ได้โอวาทมหาชนว่า
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แม้พวกท่านจงหยุด อย่าถึงความประมาทใน พระผู้มีพระภาคเลย แล้วให้พวกภิกษุกลับ แล้วท่านก็หลีกไปกับบริษัทของท่าน
พวกชนเหล่าใดต่างคร่ำครวญว่า ครั้งก่อนพระผู้เป็นเจ้าสารีบุตรเที่ยวจาริกไปแล้วก็กลับมา บัดนี้ การไปนี้เป็นการไปเพื่อไม่กลับมาอีก จึงพากันติดตามอยู่อย่างนั้น
พระเถระกล่าวกะชนเหล่านั้นว่า
ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท ชื่อว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมเป็นอย่างนี้ แล้วก็ให้ชนเหล่านั้นกลับแล้ว
ท่านพระสารีบุตรแสดงธรรมสงเคราะห์ชนทั้งหลายตลอดเจ็ดวัน ในระหว่างทางพักแรมคืนเดียวในที่ทุกแห่ง ได้ถึงบ้านนาฬกะเวลาเย็น และยืนที่โคนต้นนิโครธใกล้ประตูบ้าน
ลำดับนั้นหลานของพระเถระชื่อว่าอุปเรวตะ ไปนอกบ้าน ได้เห็นพระเถระแล้ว จึงเข้าไปยืนไหว้อยู่แล้ว ท่านพระเถระจึงกล่าวกับเขาว่า
ยายของเธออยู่ในเรือนหรือ
อุปเรวตะกล่าวว่า
อยู่ขอรับ ท่านผู้เจริญ
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
เธอจงไปบอกว่า เรามาที่นี้ เมื่ออุบาสิกาถามว่า มาเพราะเหตุอะไร ก็จงกล่าวว่า ข่าวว่าท่านพระเถระจะอยู่ในบ้านตลอดวันหนึ่งในวันนี้ ท่านจงจัดแจงห้องสำหรับท่านพระเถระเกิด และท่านจงรู้ที่เป็นที่อยู่ของภิกษุ ๕๐๐ รูป
คือ ขอให้อุบาสิกาจัดเตรียมห้องที่ท่านเกิด และจัดที่สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูปด้วย
อุปเรวตะก็ไปแจ้งให้นางสารีพราหมณี มารดาของท่านพระสารีบุตร ทราบตามนั้น
นางสารีพราหมณีคิดว่า ลูกชายเราทำไมจึงให้เตรียมที่อยู่แก่พวกภิกษุเท่านี้ ท่านบวชมาตั้งแต่หนุ่ม ตอนแก่คงอยากจะสึกละกระมัง
นี่เป็นความเห็นของผู้ที่เป็นมารดา
นางได้จัดแจงห้องที่ท่านพระสารีบุตรเกิด และได้จัดที่พักของภิกษุ ๕๐๐ รูป ให้จุดเทียน และตะเกียงส่งไปถวายพระเถระ พระเถระพร้อมกับพวกภิกษุขึ้นปราสาทเมื่อท่านพระสารีบุตรเข้าไปยังห้องที่ท่านเกิดแล้ว ก็ให้พวกภิกษุไปพักผ่อนกันยังที่ ของตนๆ พอพวกภิกษุไปแล้วเท่านั้น อาพาธอย่างกล้าก็เกิดขึ้นแก่ท่านพระสารีบุตรเวทนาปางตายเพราะถ่ายเป็นโลหิต ต้องเอาภาชนะหนึ่งเข้าไปรองรับ เอาภาชนะหนึ่งออกมา
นางพราหมณีคิดว่า เราไม่ชอบใจความเป็นไปแห่งบุตรของเราเลย และได้ยืนพิงประตูห้องที่อยู่ของตน
ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ตรวจดูว่าท่านพระสารีบุตรอยู่ที่ไหน เมื่อเห็นว่า นอนบนเตียงอันเป็นที่ปรินิพพานในห้องที่ตนเกิดในบ้านนาฬกะ ก็ได้พากันไปนมัสการเป็นครั้งสุดท้าย
เมื่อท่านพระสารีบุตรเห็นก็ถามว่า เป็นใคร และเมื่อทราบว่าเป็น ท้าวจาตุมหาราชมาเพื่อจะอุปัฏฐาก ท่านก็กล่าวว่า ผู้อุปัฏฐากไข้ของท่านมีอยู่แล้ว ท้าวจาตุมหาราชก็กลับไป
เมื่อท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ไปแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพก็มาโดยนัยนั้นนั่นแหละ ก็เมื่อท้าวสักกะไปแล้ว ท้าวมหาพรหมก็มา แล้วก็กลับไปเหมือนอย่างนั้น
เมื่อนางสารีพราหมณีเห็นพวกเทวดาพากันมา จึงคิดว่า เทวดาเหล่านี้ไหว้ บุตรของเราแล้วก็ไป เพราะเหตุอะไรหนอ จึงได้ไปถามเรื่องนั้นแก่ท่านพระสารีบุตรว่า
เจ้าใหญ่กว่าท้าวมหาราชทั้ง ๔ หรือ พ่อ
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
อุบาสิกา ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เหมือนศิษย์วัด ตั้งแต่พระผู้มีพระภาคของเราทรงปฏิสนธิ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็ถือพระขรรค์รักษาแล้ว
นางสารีพราหมณีถามว่า
พ่อ คล้อยหลังท้าวจาตุมหาราชไปแล้ว ใครมาล่ะ
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า
ท้าวสักกะจอมเทพ
นางสารีพราหมณีถามว่า
เจ้าใหญ่กว่าจอมเทพหรือ พ่อ
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
อุบาสิกา ท้าวสักกะก็เช่นเดียวกับสามเณรผู้ถือสิ่งของ เวลาที่พระศาสดาของพวกเราเสด็จลงจากดาวดึงส์พิภพ ก็ได้ถือบาตรจีวรตามลงมา
นางสารีพราหมณีถามว่า
พ่อ หลังจากที่ท้าวสักกะนั้นไปแล้ว ดูเหมือนสว่างไสว ใครมา
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า
อุบาสิกา นั่นคือท้าวมหาพรหม ผู้เป็นพระเจ้า และศาสดาของอุบาสิกา
เพราะว่านางสารีพราหมณีไม่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเลย ยังคงบูชาพรหม และถือว่าพรหมเป็นศาสดา เป็นพระเจ้าของนาง
นางสารีพราหมณีกล่าวว่า
พ่อยังใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมพระเจ้าของแม่หรือ
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
อย่างนั้นอุบาสิกา เล่ากันมาว่า วันที่พระศาสดาของพวกเราประสูตินั้น ท้าวมหาพรหม ๔ เหล่านั้น เอาข่ายทองรองรับพระมหาบุรุษ
ขณะนั้นเมื่อนางพราหมณีคิดว่า เพียงลูกของเรายังมีอานุภาพเท่านี้ พระศาสดาซึ่งเป็นพระศาสดาของลูกเราจักมีอานุภาพขนาดไหนหนอ พลันปีติ ๕ อย่างก็เกิดขึ้นแผ่ไปทั่วสรีระ
พระเถระทราบว่า ปีติโสมนัสเกิดขึ้นแล้วแก่มารดา บัดนี้เป็นเวลาสมควรแสดงธรรม ท่านจึงกล่าวว่า
มหาอุบาสิกา ท่านกำลังคิดอะไร
นางสารีพราหมณีกล่าวว่า
แม่กำลังคิดถึงเหตุนี้ว่า เพียงลูกเรายังมีคุณถึงเพียงนี้ แล้วพระศาสดาของ ลูกนั้นจะมีคุณถึงเพียงไหน
ท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวว่า
อุบาสิกา ในขณะที่พระศาสดาของอาตมาประสูติ ในขณะเสด็จออกผนวช ในขณะตรัสรู้ และในขณะประกาศธรรมจักร หมื่นโลกธาตุหวั่นไหวแล้ว ขึ้นชื่อว่า ผู้ที่เสมอด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะไม่มี
แล้วแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยขยายความละเอียดว่า แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นต้น
คือ ตามบทสรรเสริญคุณของพระผู้มีพระภาค
เวลาจบธรรมเทศนาของท่านพระสารีบุตร นางพราหมณีก็ดำรงอยู่ใน พระโสดาปัตติผล
พระเถระคิดว่า บัดนี้เราให้เท่านี้ก็ควรแก่มารดาแล้ว ค่าเลี้ยงดูสำหรับ แม่พราหมณีสารี จักควรด้วยเหตุเท่านี้
ขณะนั้นเป็นเวลาจวนสว่างแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ให้ท่านพระจุนทะประคองให้นั่ง แล้วกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า
อาวุโส เมื่อพวกท่านทั้งหลายเที่ยวไปกับผมตลอด ๔๔ ปี กรรมใดของผมที่เป็นไปทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ซึ่งพวกท่านไม่ชอบใจ ขอให้พวกท่านจงอดโทษแก่ผมด้วย
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ย่อมไม่มีแก่พวกข้าพเจ้า ผู้ไม่ละท่านเที่ยวไป ดุจเงาของท่านตลอดกาลเท่านี้ แต่ว่าขอท่านจงอดโทษให้แก่พวกข้าพเจ้าเถิด
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรดึงมหาจีวรมาปิดหน้า นอนโดยข้างขวา เข้าสมาบัติ ๙ ตามลำดับสมาบัติ ทั้งโดยอนุโลม และปฏิโลมเหมือนพระศาสดา แล้วเข้าตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานนั้นแล้ว ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
นางสารีอุบาสิกาคิดว่า ลูกของเราไม่กล่าวอะไรเลยหรือหนอ จึงลุกขึ้น นวดหลังเท้าก็รู้ว่าปรินิพพานแล้ว เปล่งเสียงดังหมอบที่เท้า กล่าวว่า
พ่อ พวกเราไม่รู้คุณของพ่อ ก่อนแต่นี้ ก็บัดนี้แม่ไม่ได้เพื่อนิมนต์ภิกษุหลายร้อยหลายพันหลายแสน ตั้งแต่พ่อให้นั่งฉันในนิเวศน์นี้ ไม่ได้เพื่อให้นุ่งห่มด้วยจีวร ไม่ได้เพื่อให้สร้างวิหารเป็นพัน ดังนี้ คร่ำครวญอยู่จนถึงอรุณขึ้น
เมื่ออรุณขึ้น นางก็ให้เรียกช่างทองมาให้เปิดห้องเก็บทอง แล้วให้นำทองคำออกมาโกฏิหนึ่ง ให้นายช่างทองทำเป็นบุษบกห้าร้อยยอด สำหรับไว้ศพท่าน พระสารีบุตร
เมื่อได้กระทำมหาบุษบกในท่ามกลางมณฑปสำหรับไว้ศพท่านพระสารีบุตร ทั้งขอบเขตบริเวณนั้นเสร็จแล้ว ก็ได้อาราธนาศพท่านพระสารีบุตรขึ้นไว้เหนือ บุษบกทองคำ และได้ทำสักการบูชาถึง ๗ วัน ๗ คืน
ในครั้งนั้น อุปัฏฐายิกา (อุบาสิกาผู้อุปัฏฐาก) ของพระเถระคนหนึ่ง ชื่อเรวดี คิดที่จะบูชาพระเถระ ก็ได้ให้ทำเสาดอกไม้ทอง ๓ ต้น และแม้ท้าวสักกเทวราชก็คิด จักบูชาพระเถระ ผู้คนไปที่นั่นมากมายจนเหยียบอุบาสิกานั้นตาย
อุบาสิกานั้นก็ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้ระลึกถึงอดีตกรรมว่า ได้กระทำกุศลใดจึงทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็รู้ว่า เราชื่อนางเรวดี บูชา พระเถระด้วยเสาประดับด้วยดอกไม้ทองสามต้น ถูกพวกมนุษย์เหยียบแล้วตายไป เกิดในดาวดึงส์พิภพ เชิญท่านทั้งหลายดูสิริสมบัติของเรา บัดนี้ ถึงพวกท่านก็จง ให้ทานทำบุญเถิด
ถ. ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานก่อนพระผู้มีพระภาค แต่ปีเดียวกัน
สุ. และก่อนท่านพระมหาโมคคัลลานะด้วย ซึ่งใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อรรถกถาเจลสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จากนั้นมาครึ่งเดือน ในวันอุโบสถแห่งกาฬปักข์กึ่งเดือนนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ปรินิพพาน และหลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๖
ถ. ท่านพระสารีบุตรไม่ได้ปรินิพพานเดือนมาฆะหรือ
สุ. ไม่ใช่ ท่านรู้แจ้งเป็นพระอรหันต์ในเดือนมาฆะ และหลังจากนั้น ๔๕ ปี
ถ. สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนี้ ตรงกับวันมาฆบูชา
สุ. วันนี้ ตอนเย็นๆ อย่างนี้
ถ. แต่ปรินิพพานวันเพ็ญเดือน ๑๒
สุ. วันเพ็ญเดือน ๑๒
ถ. ขอให้ ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายว่า อุบาสิกาท่านฟังอย่างไร ท่านจึงได้สำเร็จโสดาปัตติผล
สุ. ถ้าแสดงเรื่องของพุทธคุณ แสดงอย่างไรจึงจะรู้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเพียงแสดงเรื่องศีล ไม่ใช่พระคุณธรรมที่จะทำให้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเพียงแสดงเรื่องความสงบของจิตขั้นสมถภาวนา ก็ไม่เป็นทางที่จะให้รู้พระคุณของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ต้องแสดงเรื่องของสัจธรรม และการอบรมเจริญหนทางที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงจะทำให้เห็นได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น ไม่พ้นไปจากเรื่องของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ซึ่งเมื่อผู้ใดได้ฟัง และได้อบรมเจริญปัญญามาพอที่จะเป็น พระโสดาบันบุคคล ย่อมเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ ขึ้นอยู่กับเหตุว่า เหตุพอหรือยัง ถ้าเหตุยังไม่พอ ก็อย่าไปหวังว่า ธรรมที่ท่านพระสารีบุตรแสดงกับมารดาของท่าน เมื่อผู้ใดได้ฟังแล้วก็จะได้บรรลุมรรคผลไปด้วย ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ขึ้นกับการสะสมอบรมปัญญาของแต่ละท่านจริงๆ
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1502
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)