พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
ขอกล่าวถึงข้อความที่แสดงว่าพระโพธิสัตว์ทรงเริ่มปรารภธรรม คือ จักร ในครั้งไหน ซึ่งทุกท่านก็จะได้พิจารณาตัวเองว่า ถ้าความปรารถนาในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมของท่านยังไม่มั่นคงจริงๆ ก็ไม่อาจสำเร็จสมความปรารถนานั้นได้ เพราะถึงแม้จะปรารถนาการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว ก็ยังต้องอบรมเจริญกุศลธรรมไปจนกว่าจะบรรลุความปรารถนา
มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถาสูตรที่ ๖ มีข้อความที่แสดงว่า พระโพธิสัตว์ทรงเริ่มปรารถนาธรรม คือ จักร
ในบทว่า ปวตฺติตํ พึงทราบประเภทดังนี้ว่า
ชื่อว่ากำลังปรารถนาอย่างจริงจังซึ่งพระธรรมจักร ๑ ธรรมจักรชื่อว่าปรารถนาอย่างจริงจังแล้ว ๑ ชื่อว่ากำลังทำพระธรรมจักรให้เกิดขึ้น ๑ ธรรมจักรชื่อว่าทรงทำให้เกิดขึ้นแล้ว ๑ ชื่อว่ากำลังประกาศพระธรรมจักร ๑ ธรรมจักรชื่อว่าทรงประกาศแล้ว ๑
จะเห็นได้ว่า ธรรมเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่เพียงการปรารถนาธรรมจักร คือ ความเป็นไปแห่งพระธรรม ได้แก่ ปฏิเวธญาณ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และ เทศนาญาณ ก็ต้องมีความละเอียดว่า เริ่มตั้งแต่เมื่อไร
ข้อความต่อไปมีว่า
ชื่อว่ากำลังปรารถนาอย่างจริงจังซึ่งธรรมจักร ตั้งแต่ครั้งไหน
ครั้งที่พระโพธิสัตว์เป็นสุเมธพราหมณ์ เห็นโทษในกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในเนกขัมมะ ถวายมหาทานแล้วบวชเป็นฤๅษี ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด ตั้งแต่นั้นมา ชื่อว่ากำลังปรารถนาอย่างจริงจังซึ่งพระธรรมจักร
ทุกคนที่กำลังฟัง กำลังปรารถนาอย่างจริงจังหรือยัง แต่สำหรับพระโพธิสัตว์ต้องมีตั้งแต่เริ่มปรารถนาอย่างจริงจัง คือ ในพระชาติที่เป็นสุเมธพราหมณ์
ข้อความต่อไปมีว่า
ชื่อว่าปรารถนาอย่างจริงจังแล้ว ตั้งแต่ครั้งไหน
ครั้งพระองค์ประชุมธรรม ๘ ประการ แล้วทรงผูกพระมนัสเพื่อประโยชน์แก่การทำพระมหาโพธิญาณให้ผ่องแผ้ว ณ บาทมูลแห่งพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า ทีปังกร ทรงอธิษฐานพระวิริยะว่า เราไม่ได้รับพยากรณ์ จักไม่ลุกขึ้น แล้วจึงนอนลง ได้รับพยากรณ์จากสำนักพระทศพลแล้ว ตั้งแต่นั้นมา ธรรมจักรชื่อว่าปรารถนาอย่างจริงจังแล้ว
ตอนที่เป็นสุเมธพราหมณ์ก็เห็นโทษของกาม เพราะฉะนั้น ก็มีความปรารถนา ที่จะพ้นทุกข์ ขณะนั้นชื่อว่ากำลังปรารถนาอย่างจริงจัง แต่ชื่อว่าปรารถนาอย่าง จริงจังแล้ว ในขณะที่นอนลงแทบบาทมูลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร คือ กระทำจริงๆ แล้วว่า ปรารถนาจริงๆ ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่นอนที่บาทมูลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร
ชื่อว่ากำลังให้ธรรมจักรเกิดขึ้น ตั้งแต่ครั้งไหน
ครั้งแม้เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานบารมี ชื่อว่ากำลังยังธรรมจักรให้เกิดขึ้น เมื่อทรงบำเพ็ญศีลบารมีก็ดี ฯลฯ ทรงบำเพ็ญอุปบารมีก็ดี ชื่อว่ากำลังยังธรรมจักร ให้เกิดขึ้น
เมื่อทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ก็ดี เมื่อทรงบำเพ็ญมหาบริจาค ๕ ก็ดี ทรงบำเพ็ญญาตัตถจริยาก็ดี ชื่อว่าทรงยังธรรมจักร ให้เกิดขึ้น
ทรงอยู่ในภาวะเป็นพระเวสสันดร ทรงถวายสัตตสตกมหาทาน ทรงมอบบุตร และภรรยาในมุขคือทาน ทรงถือเอายอดพระบารมี ทรงบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงดำรงอยู่ในดุสิตนั้นตลอดพระชนมายุ อันเทวดาทูลอาราธนาแล้วให้ปฏิญญา แม้ทรงพิจารณาดูมหาวิโลกนะ ๕ ชื่อว่ากำลังยังธรรมจักรให้เกิดขึ้นเหมือนกัน
เมื่อทรงปฏิสนธิในพระครรภ์พระมารดาก็ดี เมื่อทรงทำหมื่นจักรวาลให้ไหวในขณะปฏิสนธิก็ดี เมื่อทรงทำโลกให้ไหวเหมือนอย่างนั้นนั่นแล ในวันเสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดาก็ดี เมื่อประสูติแล้วเสด็จย่างพระบาทไป ๗ ก้าว ทรงบันลือ สีหนาทว่าเราเป็นผู้เลิศก็ดี เมื่อเสด็จอยู่ครองเรือนตลอด ๒๙ พรรษาก็ดี เสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ก็ดี ทรงบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานทีก็ดี ทรงกระทำมหาปธาน ความเพียร ๖ พรรษาก็ดี เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวาย แล้วทรงลอย ถาดทองในแม่น้ำ แล้วเสด็จไปโพธิมัณฑสถานอันประเสริฐ ในเวลาเย็น ประทับนั่งตรวจโลกธาตุด้านทิศบูรพา ทรงกำจัดมาร และพลของมาร ในเมื่อดวงอาทิตย์ยัง ทรงอยู่นั่นแล ทรงระลึกถึงปุพเพนิวาสญาณในปฐมยามก็ดี ทรงชำระทิพยจักษุ ในมัชฌิมยามก็ดี ทรงพิจารณาปัจจยาการในเวลาต่อเนื่องกับเวลาใกล้รุ่ง แล้วแทงตลอดโสตาปัตติมรรคก็ดี ทรงทำให้แจ้งโสตาปัตติผลก็ดี ทรงทำให้แจ้งสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผลก็ดี เมื่อทรงแทงตลอดอรหัตตมรรคก็ดี ก็ชื่อว่าทรงกำลังกระทำธรรมจักรให้เกิดขึ้นเหมือนกัน
ก็ธรรมจักร ชื่อว่าอันพระองค์ให้เกิดขึ้นแล้ว ในขณะแห่งพระอรหัตตผล
จริงอยู่คุณราสี (คือ) กองแห่งคุณ ทั้งสิ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมสำเร็จพร้อมกับอรหัตตผลนั่นแล เพราะฉะนั้น ธรรมจักรนั้น เป็นอันชื่อว่าอันพระองค์ ให้เกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น
พระองค์ทรงประกาศธรรมจักรเมื่อไร
เมื่อพระองค์ทรงยับยั้งอยู่ ๗ สัปดาห์ ณ โพธิมัณฑสถาน แล้วทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร กระทำพระอัญญาโกณฑัญญเถระให้เป็นกายสักขีที่ป่า อิสิปตนมฤคทายวัน ชื่อว่าทรงประกาศพระธรรมจักร
ก็ในกาลใดพระอัญญาโกณฑัญญเถระ ได้การฟังที่บังเกิดด้วยอานุภาพ แห่งเทศนาญาณของพระทศพล แล้วบรรลุธรรมก่อนพระสาวกอื่น จำเดิมแต่ กาลนั้นมา พึงทราบว่า ธรรมจักรเป็นอันชื่อว่าทรงประกาศแล้ว
ขณะที่กำลังทรงแสดงธรรมจักร ชื่อว่าทรงประกาศพระธรรมจักร แต่เมื่อ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ธรรมจักรเป็นอันชื่อว่าทรงประกาศแล้ว เพราะว่ามีผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมตาม เป็นกายสักขี เป็นการแสดงให้เห็นว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้นั้น บุคคลอื่นสามารถรู้แจ้งตามได้
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1954
นาที 9.11
จริงอยู่ คำว่า ธรรมจักร นี้เป็นชื่อแห่งเทศนาญาณบ้าง แห่งปฏิเวธญาณบ้าง ใน ๒ อย่างนั้น เทศนาญาณเป็นโลกียะ ปฏิเวธญาณเป็นโลกุตตระ
ถามว่า เทศนาญาณ ปฏิเวธญาณ เป็นของใคร
แก้ว่า ไม่ใช่ของใครอื่น พึงทราบว่า เทศนาญาณ และปฏิเวธญาณเป็นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
สำหรับพระเถระทั้งหลาย ข้อความมีว่า
พระเถระชื่อว่าย่อมประกาศตามธรรมจักรที่พระศาสดาทรงประกาศไว้ก่อนแล้ว เหมือนเมื่อพระศาสดาเสด็จไปข้างหน้า พระเถระเดินไปข้างหลัง ชื่อว่าเดินตาม พระศาสดานั้นฉะนั้น
ไม่ใช่ว่าพระเถระทั้งหลายตรัสรู้ธรรมใหม่อื่นแล้วมาแสดง แต่พระเถระทั้งหลายที่เป็นสาวกนั้น ประกาศตามธรรมจักรที่พระศาสดาทรงประกาศไว้ก่อนแล้ว ซึ่งทุกท่านก็กำลังเดินตามพระผู้มีพระภาคเวลาที่ฟังพระธรรม และเข้าใจหนทางที่จะประพฤติปฏิบัติที่จะอบรมเจริญปัญญา
ถามว่า ประกาศตามอย่างไร
ตอบว่า ก็พระศาสดาเมื่อทรงแสดงว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ อะไรบ้าง ชื่อว่าทรงประกาศธรรมจักร
พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระนั่นแล เมื่อแสดงว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ชื่อว่าย่อมประกาศตามซึ่งธรรมจักร แม้ในสัมมัปปธานเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน มิใช่แต่ในโพธิปักขิยธรรมอย่างเดียว
แม้ในคำว่า ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจจ์ ๔ เหล่านี้ อริยวงศ์ ๔ เหล่านี้เป็นต้น ก็พึงทราบนัยนี้เหมือนกัน
ด้วยประการดังกล่าวนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่าทรงประกาศธรรมจักร พระเถระชื่อว่าประกาศตามพระธรรมจักรที่พระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว
ก็พระธรรมอันพระเถระผู้ประกาศตามธรรมจักรอย่างนี้ แสดงแล้วก็ดี ประกาศแล้วก็ดี ย่อมชื่อว่าเป็นอันพระศาสดาทรงแสดงแล้ว ประกาศแล้วทีเดียว
คือ ไม่ว่าใครจะประกาศ ก็เหมือนพระผู้มีพระภาคนั่นเองกำลังประกาศ เพราะแม้สาวกจะประกาศ ก็ประกาศตามที่ได้ทรงแสดงแล้ว เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ถ้าใครจะกล่าวถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ลักษณะของโลภะ โทสะ ลักษณะของรูป ของสี ของกลิ่น ของรส ก็เหมือนกับพระผู้มีพระภาคนั่นเองทรงแสดง และประกาศแล้วทีเดียว
ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณีก็ตาม อุบาสก อุบาสิกาก็ตาม เป็นเทพหรือเป็นท้าวสักกะก็ตาม เป็นมารหรือเป็นพรหมก็ตาม แสดงธรรมไว้ ธรรมทั้งหมดนั้น เป็นอันชื่อว่าพระศาสดาทรงแสดงแล้ว ทรงประกาศแล้ว
ส่วนชนนอกนั้น ชื่อว่าตั้งอยู่ในฝ่ายของผู้ที่ชื่อว่าดำเนินตามรอยอย่างไร เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายอ่านลายพระราชหัตถ์ที่พระราชาทรงประทาน แล้วกระทำงานใดๆ งานนั้นๆ อันผู้ใดผู้หนึ่ง กระทำเองก็ดี ให้คนอื่นกระทำก็ดี เขาเรียกว่า พระราชาใช้ให้ทำอย่างนั้นเหมือนกัน
ความจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนพระราชา พุทธพจน์คือปิฎก ๓ เหมือนลายพระราชหัตถ์ การให้โดยมุขคือนัยในพระไตรปิฎก เหมือนการทรงประทานลายพระราชหัตถ์ การให้บริษัท ๔ เรียนพุทธพจน์ตามกำลังของตนแล้วแสดง ประกาศแก่ชนเหล่าอื่น เหมือนอ่านลายพระราชาหัตถ์แล้วทำการงาน
ในธรรมเหล่านั้น ธรรมที่ผู้ใดผู้หนึ่งแสดงก็ดี ประกาศก็ดี พึงทราบว่า ชื่อว่า ธรรมอันพระศาสดาแสดงแล้ว ประกาศแล้ว เหมือนผู้ใดผู้หนึ่งอ่านลายพระราชหัตถ์ ทำงานใดๆ ด้วยตนเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นทำก็ดี งานนั้นๆ ชื่อว่าอันพระราชาใช้ ให้ทำแล้วเหมือนกัน
ความปรารถนาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แม้ของพระโพธิสัตว์ ก็ต้อง เริ่มจากความปรารถนาอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น ทุกท่านต้องมีความปรารถนาจริงๆ ในชีวิตที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม มิฉะนั้นแล้วก็เหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ คือ มีชีวิตไป วันหนึ่งๆ โดยไม่รู้จุดประสงค์ของชีวิตว่าเพื่ออะไร แต่เมื่อรู้ว่าเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็จะไม่ทอดทิ้งละเลยเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ธาตุวิภังคสูตร มีข้อความที่แสดงว่า สัจจะเป็นแกนสำคัญ เป็นบารมีในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะว่าเป็นความจริงใจในการเริ่มสละกิเลสตั้งแต่ต้น
ข้อความในอรรถกถามีว่า
บทว่า สจฺจมนุรกฺเขยฺย ความว่า พึงรักษาวจีสัจจะตั้งแต่ต้น เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะ คือ นิพพาน
จิตที่ซื่อตรงจริงใจต่อวาจาจริง ย่อมนำไปสู่ความจริงทั้งหมด เพราะว่า ผู้ที่รักความจริงเป็นผู้ที่แสวงหาความจริง จึงต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในความจริงตั้งแต่ต้น
อย่างที่ท่านผู้ฟังบอกว่า ข้อปฏิบัติอื่นน่าตื่นเต้น แต่ข้อปฏิบัติที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติขณะนี้ไม่ตื่นเต้นอะไร ก็จะต้องเป็นผู้ที่แสวงหาความจริง เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จริง แต่ปัญญายังไม่รู้ตาม ความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น
บทว่า จาคมนุพฺรูเหยฺย ความว่า พึงพอกพูนการเสียสละกิเลสตั้งแต่ต้นเทียว เพื่อทำการสละกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค
ธรรมต้องสอดคล้องกันตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ผู้ที่ต้องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อย่าลืม ต้องเป็นผู้สละกิเลส ถ้ายังไม่ยอมสละอะไรเลยสักอย่าง และอยากรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ย่อมไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ต้องเห็นโทษของกิเลส และพยายามสละกิเลสด้วย เพราะว่าการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเริ่มโดยการเป็น พระโสดาบันบุคคล สู่การเป็นพระสกทาคามีบุคคล สู่การเป็นพระอนาคามีบุคคล สู่การเป็นพระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสหมด
และการที่กิเลสจะดับหมดได้ ต้องจากการเริ่มสละตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงไหน ยังไม่เป็นอะไร แต่สามารถตระเตรียมการที่จะถึงความเป็น พระอรหันต์ที่จะดับกิเลสหมด โดย พอกพูนการเสียสละกิเลสตั้งแต่ต้นเทียว คือ ต้องเริ่มต้นสละกิเลสไปเรื่อยๆ
บางท่านอยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ไม่อยากสละกิเลส เหตุกับผล ไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้น ก็เป็นไปไม่ได้เลย
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1955
นาที 18.15
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ โพธิราชกุมารสูตร มีข้อความว่า
ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬามิคทายวัน เขตนครสุงสุมารคิระ ในภัคคชนบท โพธิราชกุมารทูลเชิญพระผู้มีพระภาคกับภิกษุสงฆ์รับภัตตาหารที่ปราสาทชื่อโกกนุท ที่สร้างแล้วใหม่ๆ สมณพราหมณ์หรือมนุษย์คนใดคนหนึ่งยังไม่ได้อยู่เลย
นี่ก็เป็นธรรมเนียมที่คงจะสืบต่อมาจากในครั้งนั้น เวลาที่มีการสร้างบ้านใหม่หรือสถานที่ใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อการระลึกถึงพระรัตนตรัย เพื่อการกุศล ก็ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไปรับภัตตาหาร และในครั้งที่พระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพานนั้น ถ้าพระองค์ประทับอยู่ ณ สถานที่ใด บุคคลนั้นก็มีโอกาสที่จะได้ทูลเชิญให้เสด็จไปรับภัตตาหาร
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ โพธิราชกุมารก็ได้กราบทูลมีข้อความว่าความสุขอันมนุษย์จะพึงถึงได้ด้วยความสุขไม่มี ความสุขอันบุคคลจะพึงถึงได้ด้วยความทุกข์แล
นี่เป็นความเห็นของโพธิราชกุมาร ซึ่งเป็นต้นเหตุที่พระผู้มีพระภาคจะได้ตรัสเล่าถึงประวัติของพระองค์ตั้งแต่ต้น เพราะเหตุว่าโพธิราชกุมารนั้นมีความเห็นว่า การที่บุคคลจะพึงถึงความสุขได้นั้น พึงถึงด้วยความสุขไม่มี หมายความว่า จะพึงถึงด้วยความสุขไม่ได้ คล้ายๆ กับว่า การที่จะถึงความสุขจะต้องด้วยความทุกข์ คือ การทรมานตัวให้ลำบาก
ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเล่าประวัติของพระองค์ตั้งแต่ต้น ได้ตรัสเล่าถึงการทรมานพระองค์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทรงตรัสรู้
ทรงระลึกถึงครั้งที่ทรงบรรลุปฐมฌาน เมื่องานวัปปมงคลของพระบิดา ก็ทำให้ทรงพระดำริว่า จะกลัวความสุขซึ่งเป็นสุขเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมหรือ แล้วทรงบริโภคอาหารหยาบ ทรงมีกำลังขึ้น แล้วก็ทรงเจริญความสงบบรรลุปฐมฌานเป็นต้นไป จนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทรงดำริที่จะทรงแสดงธรรม ในที่สุดก็ทรงเห็นว่า พระปัญจวัคคีย์นั้นควรจะเป็นบุคคลที่จะได้ทรงแสดงธรรม เพื่อทรงอนุเคราะห์
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมฟังธรรมแล้ว ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสในพระสูตรนี้มีว่า
วันหนึ่งอาตมาภาพกล่าวสอนภิกษุแต่ ๒ รูป ภิกษุ ๓ รูปไปเที่ยวบิณฑบาต ภิกษุ ๓ รูปไปเที่ยวบิณฑบาตได้สิ่งใดมา ภิกษุทั้ง ๖ รูปก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น อาตมาภาพกล่าวสอนภิกษุแต่ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปไปเที่ยวบิณฑบาต ได้สิ่งใดมา ภิกษุทั้ง ๖ ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น
ครั้งนั้นภิกษุปัญจวัคคีย์ที่อาตมาภาพกล่าวสอน พร่ำสอนอยู่เช่นนี้ ไม่นานเลย ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันแล้ว เข้าถึงอยู่
นี่เป็นข้อความในโพธิราชกุมารสูตร ซึ่งใคร่ที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาว่าเมื่อท่านได้ฟังพระสูตรนี้แล้ว ท่านคิดอย่างไร เป็นชีวิตปกติหรือเปล่า ที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็จะต้องมีกิจการงานที่จะต้องกระทำตามควรแก่เพศนั้น เป็นบรรพชิตไม่บิณฑบาตได้ไหม เป็นฆราวาสไม่ทำงานได้ไหม เพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อการมีชีวิตอยู่ ก็ต้องมีกิจการงานที่จะต้องกระทำ แม้บรรพชิตก็ต้องบิณฑบาต ซึ่งถ้าท่านไม่ติดเรื่องของการบิณฑบาต ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะให้เห็นว่า การฟังธรรมมีประโยชน์เกื้อกูล ทำให้บุคคลนั้นขณะที่กำลังเจริญสติ ก็สามารถที่จะน้อมจิตไปพิจารณา เพื่อการละคลาย และเพื่อการรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แต่ไม่ใช่หมายความว่าบิณฑบาตไม่ได้ เพราะอะไร ทรงโอวาทตลอด พร่ำสอนตลอด จนกว่าจะบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ในระหว่างนั้นผลัดกันไปบิณฑบาตกี่ครั้ง ท่านต้องเป็นผู้ที่เจริญสติแม้ขณะที่บิณฑบาต เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า ให้เป็นผู้มีปกติเจริญสติ
พระวินัยปิฎก มหาวรรค พระปัญจวัคคีย์ทูลของบรรพชาอุปสมบท มีข้อความว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน กราบทูลขออุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุญาตด้วยพระวาจา ครั้นต่อมาพระผู้มีพระภาคได้ทรงโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือจากนั้นด้วยธรรมีกถาอยู่ ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดกับท่านพระวัปปะ และท่านพระภัททิยะ ท่านทั้งสองได้กราบทูลขออุปสมบท ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอนุญาตด้วยพระวาจา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารที่ท่านทั้ง ๓ นำมาถวาย ได้ประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุที่เหลือจากนั้นด้วยธรรมีกถา ภิกษุเที่ยวบิณฑบาต นำบิณฑบาตใดมา ทั้ง ๖ รูปก็เลี้ยงชีพด้วยบิณฑบาตนั้น
วันต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถา ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแก่ท่านพระมหานามะ และท่านพระอัสสชิ ท่านทั้ง ๒ ได้เห็นธรรมแล้ว กราบทูลขออุปสมบท ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุญาตด้วยพระวาจา
ทั้ง ๕ รูป บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ซึ่งจากพระวินัยปิฎกก็ไม่ได้มีข้อความชัดเจนว่า ท่านผู้ใดไปบิณฑบาตกับใครในวันไหน มีข้อความแต่เพียงว่า ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุในวันที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วพระภิกษุ ๓ รูปไปบิณฑบาต ๒ รูปฟังโอวาท
อรรถกถาปปัญจสูทนี ซึ่งเป็นอรรกถา ปาสราสิสูตร และอรรถกถา โพธิราชกุมารสูตร และใน สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถา พระวินัย มหาวรรค ก็มีข้อความตรงกัน ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความของอรรถกถา มีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงใคร่ครวญว่า ผู้ใดสมควรที่จะได้ทรงอนุเคราะห์แล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จจากโพธิมณทลไปยังพาราณสี ก็ในกาลนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแล้วในวันอุโบสถนั้นเอง ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่พระปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหะ คือ วันอุโบสถ วันเพ็ญ เดือน ๘ เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่ตก ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล
พระผู้มีพระภาคมิได้เสด็จไปสู่บ้านแม้เพื่อบิณฑบาต จำเดิมแต่วันปาติบท คือ วันแรม ๑ ค่ำ ทั้งนี้เพื่อทรงโอวาท และทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์ เมื่อปัญจวัคคีย์รูปใดสงสัยก็ได้ไปเฝ้าทูลถาม และแม้พระผู้มีพระภาคเองก็เสด็จไปทรงอนุเคราะห์ยังที่ภิกษุนั้นนั่งอยู่ ทรงสละแม้เวลาเสวยพระกระยาหาร พระผู้มีพระภาคทรงโอวาท ๒ รูป ๓ รูปไปบิณฑบาต และทรงโอวาท ๓ รูป ๒ รูปไปบิณฑบาต
ซึ่งข้อความในอรรถกถาก็ไม่ได้บอกว่า พระปัญจวัคคีย์รูปใดไปกับรูปใด เพราะเหตุว่า เมื่อได้รับฟังโอวาทแล้ว แม้ว่าจะไปบิณฑบาตก็จะต้องเจริญสติด้วย
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ท่านพระวัปปะได้ดวงตาเห็นธรรมในวันแรม ๑ ค่ำ คือวันรุ่งขึ้นจากที่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ท่านพระภัททิยะได้ดวงตาเห็นธรรมในวันแรม ๒ ค่ำ ท่านพระมหานามะได้ดวงตาเห็นธรรมในวันแรม ๓ ค่ำ ท่านพระอัสสชิได้ดวงตาเห็นธรรมในวันแรม ๔ ค่ำ และในวันแรม ๕ ค่ำ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ บรรลุธรรม สิ้นอาสวะ เป็นพระอรหันต์
จะเห็นได้ว่า ที่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมในวันอุโบสถ คือ วันอาสาฬหะ วันเพ็ญเดือน ๘ ซึ่งเป็นวันแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น
ในวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม ๑ ค่ำ ท่านพระวัปปะเป็นพระโสดาบัน ได้บรรลุธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรม
ในวันแรม ๒ ค่ำ ท่านพระภัททิยะได้ดวงตาเห็นธรรม
ในวันแรม ๓ ค่ำ ท่านพระมหานามะได้ดวงตาเห็นธรรม
ในวันแรม ๔ ค่ำ ท่านพระอัสสชิได้ดวงตาเห็นธรรม
โดยนัยนี้ จะต้องมีปัญจวัคคีย์ที่ไม่ได้ดวงตาเห็นธรรมไปบิณฑบาตด้วยเพราะว่าจำเดิมแต่วันปาติบท คือ วันแรม ๑ ค่ำ พระผู้มีพระภาคมิได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาต แต่พระปัญจวัคคีย์ไปบิณฑบาต ๓ รูป และฟังโอวาท ๒ รูป สลับกัน จนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อได้ฟังอนัตตลักขณสูตรเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาค
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)