กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงขับไล่พระประชวรนั้นด้วยความเพียร แล้วทรงดำรงชีวิตสังขารอยู่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหายจากพระประชวรแล้ว ทรงหายจากความไข้ไม่นาน ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ในร่มแห่งวิหาร
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นพระผู้มีพระภาคทรงอดทน ข้าพระองค์เห็นพระผู้มีพระภาคทรงยังอัตภาพให้เป็นไป กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ ข้าพระองค์ เพราะความประชวรของพระผู้มีพระภาค แต่ข้าพระองค์มาเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธพจน์อันใดอันหนึ่ง จักยังไม่เสด็จปรินิพพานก่อน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ก็บัดนี้ ภิกษุสงฆ์จะยังมาหวังอะไรในเราเล่า ธรรมอันเราแสดงแล้วกระทำไม่ให้มีในภายใน ไม่ให้มีในภายนอก กำมืออาจารย์ในธรรมทั้งหลาย มิได้มีแก่ตถาคต ผู้ใดพึงมีความดำริฉะนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์ยังมีตัวเราเป็นที่เชิดชู ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอันใดอันหนึ่งแน่นอน
ดูกร อานนท์ ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่เชิดชู ดังนี้ ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวคำอันใดอันหนึ่งทำไมอีกเล่า บัดนี้เราก็แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้ก็เพราะการซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ฉันใด กายของตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังเป็นไปได้ ก็คล้ายกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมแล้วด้วยไม้ไผ่ ฉะนั้น
ดูกร อานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่กระทำไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด
ดูกร อานนท์ ก็ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย ดูกร อานนท์ ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล
ดูกร อานนท์ ก็ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี ในเวลาที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ภิกษุเหล่านั้นจักเป็นผู้เลิศ
พระผู้มีพระภาคตรัสให้เจริญฌานหรือเปล่า แม้แต่เมื่อทรงพระประชวร และท่านพระอานนท์ได้ไปเฝ้ากราบทูลว่า เวลาที่ท่านเห็นพระผู้มีพระภาคทรงอดทน ยังอัตภาพให้เป็นไป กายของท่านพระอานนท์ประหนึ่งจะงอมระงมไป เป็นชีวิต ประจำวันของท่านพระอานนท์ ซึ่งยังมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลที่ยังมีอยู่ เช่น ความทุกข์ ความโศกเศร้าต่างๆ แต่พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสให้ท่านพระอานนท์ ภิกษุทั้งหลาย และพุทธบริษัททั้งหลาย อย่าได้หวังอะไรในพระผู้มีพระภาค เพราะธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว กระทำไม่ให้มีในภายใน ไม่ให้มีในภายนอก กำมืออาจารย์ในธรรมทั้งหลายมิได้มีแก่ตถาคต
ทรงแสดงธรรมทั้งหมดแล้ว ควรที่ภิกษุทั้งหลายจะมีตนเองเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง ซึ่งก็ได้แก่การเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง ด้วยการพิจารณากายในกาย พิจารณาเวทนาในเวทนา พิจารณาจิตในจิต พิจารณาธรรมในธรรม
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 838
นาที 6.00
สำหรับข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า ดูกร อานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่กระทำไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก
ท่านผู้ฟังจะได้ยินคำว่า เจโตวิมุตติ และ เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต
เจโตวิมุตติทั้งหมด เป็นเรื่องของฌานจิต ซึ่งสำหรับพระผู้มีพระภาค ท่านผู้ฟังจะเห็นปัจจัยที่ทรงสั่งสมมาประกอบพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เป็นผู้เลิศแม้ในเรื่องของฌานสมาบัติ และอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ยิ่งกว่าบุคคลอื่นใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สำหรับพระผู้มีพระภาค ย่อมทรงมีเหตุปัจจัยที่จะให้เข้าเจโตวิมุตติอันไม่มีนิมิต คือ ขณะที่มีนิพพานเป็นอารมณ์นั้นย่อมไม่มีนิมิตของสังขารทั้งหลายปรากฏพร้อมกับฌานจิตขั้นต่างๆ
สำหรับเจโตสมาธินั้น ได้แก่ ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และปราศจากความยึดถือในนิมิตของสิ่งที่ปรากฏนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
จะเห็นได้ว่า เมื่อพระผู้พระภาคทรงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ ก็ย่อมมีเหตุปัจจัยที่จะให้ความสงบขั้นต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นฌานสมาบัติ และผลสมาบัติ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่กระทำไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก แต่ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมมีเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด
ทั้งๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงประกอบพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ ทั้งฌานจิตที่เป็นฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ และนิโรธสมาบัติ แต่ก็ไม่ได้ทรงโอวาทให้ภิกษุกระทำอย่างอื่นนอกจากตรัสต่อไปว่า เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ซึ่งหมายความถึง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง
ตามข้อความที่ว่า ก็ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ
ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น จึงเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง
ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม นี่แหละคือ ธรรมที่เป็นเกาะ ธรรมเป็นที่พึ่ง ได้แก่ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ๔
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 838
นาที 9.30
ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อุตติยสูตร ข้อ ๗๕๐ สาวัตถีนิทาน มีข้อความว่า
ครั้งนั้น ท่านพระอุตติยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุตติยะ เพราะฉะนั้น เธอจงชำระเบื้องต้นในกุศลธรรมให้บริสุทธิ์เสียก่อน ก็อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรม คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี และความเห็นอันตรง.
ดูกร อุตติยะ เมื่อใดแล ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็นของเธอจักตรง เมื่อนั้น เธอพึงอาศัยศีล ตั้งมั่นในศีลแล้ว เจริญสติปัฏฐาน ๔ …
เข้าใจว่าอย่างไรตอนนี้ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ควรพิจารณาโดยรอบคอบ โดยถี่ถ้วนจริงๆ
ถ. ตามพยัญชนะที่อาจารย์กล่าวมา ก็หมายความว่า ก่อนที่จะเจริญ สติปัฏฐาน จะต้องชำระศีลให้ดี และทำความเห็นให้ตรงก่อน อย่างนั้นหรือ
สุ. ถ้าฟังแล้วคิดอย่างนี้ จะต้องทราบว่า ทำอย่างไรศีลจึงจะดี จะชำระด้วยวิธีไหน
ที่ว่าศีลดีนี้ หรือชำระศีลให้บริสุทธิ์นี้ ท่านผู้ฟังลองคิดดูว่า ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะ ศีลนั้นจะชำระให้ดี ให้บริสุทธิ์ได้ไหม และต้องประกอบด้วยความเห็นอันตรงด้วย
สำหรับผู้ที่ขาดสติ ย่อมล่วงศีล แต่ว่าเมื่อนึกได้ขณะใด เป็นสติ เป็นกุศลธรรมที่ระลึกได้ และถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน การระลึกในศีลที่ขาดไปหรือว่าในขณะที่ล่วงศีล ย่อมมีได้รวดเร็วกว่าผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่แม้ว่าเป็นผู้ที่มีสติปัฏฐาน ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้ล่วงศีลตาม พระวินัยบัญญัติได้ แต่ว่าผู้ใดจะรู้ได้อย่างรวดเร็วว่าตนเองล่วง และเห็นตามความเป็นจริงด้วยว่า ได้ล่วงศีลข้อใดไปแล้วตามความเป็นจริง ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีปกติมีสติ
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมทำให้รู้ได้ชัดในขณะที่ศีลไม่บริสุทธิ์ แม้ในขณะที่อกุศลจิตกำลังเกิดขึ้น ในขณะนั้น ไม่ใช่ในภายหลัง แต่ว่าสำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะระลึกถึงการขาดศีลก็ต่อเมื่อได้ล่วงศีลไปแล้วเป็นเวลานาน แต่สำหรับผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ในขณะที่อกุศลจิตกำลังเกิดขึ้นปรากฏ สติที่ระลึกรู้ในขณะนั้น ย่อมชัด ย่อมละเอียด และย่อมเป็นปัจจัยให้ศีลนั้นบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น
และไม่ใช่ว่าเมื่อศีลนั้น มีสติที่ระลึกรู้ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ในขณะนั้นตรงตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่มีความเห็นอันตรงแล้ว ผู้นั้นจะหยุดเจริญสติปัฏฐาน เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อใดแล ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็นของเธอจักตรง อย่าลืม ต้องทั้งสองอย่าง คือ ทั้งศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็นของเธอจักตรง ซึ่งความเห็นจะตรงไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน เมื่อนั้น เธอพึงอาศัยศีล ตั้งมั่นในศีลแล้ว เจริญสติปัฏฐาน ๔ เพราะฉะนั้น ไม่มีการหยุดที่จะเจริญสติปัฏฐานเลย
ข้อความต่อไปมีว่า
สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน
ดูกร อุตติยะ เธอจงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย เมื่อใดเธออาศัยศีล ตั้งมั่นในศีลแล้วจักเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอจักไปพ้นฝั่งแห่งบ่วงมาร
ท่านผู้ฟัง ฟังดูรู้สึกว่า ซ้ำๆ อยู่เรื่อยๆ แต่ความหมาย ควรที่ท่านจะมั่นคงยิ่งขึ้นในอรรถที่ได้ยินได้ฟัง เช่น มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ขณะนี้สัมปชัญญะมีไหม สัมปชัญญะมีอย่างไร มีสัมปชัญญะ มีสติในขณะนี้ เพื่อกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย
ไม่ได้หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ลักษณะสภาพของจิต ถ้าเป็นอกุศลจิตเกิดปรากฏ ไม่ได้หวังจะให้เปลี่ยนเป็นความสงบ นั่นจึงจะกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย เพราะความตาย มรณานุสสติ ไม่มีใครทราบจริงๆ ว่าจะมาถึงเมื่อไร สมมติว่า ท่านจะตายเดี๋ยวนี้ ซึ่งมีหลายท่านพยายามเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับขณะที่จะจุติว่าจะทำอย่างไร แต่ถ้าขณะนี้เองจะต้องตาย ท่านจะสงบ หรือท่านจะเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ้าท่านยังต้องการจะสงบ ก็ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะมรณานุสสติไม่มีใครทราบว่าเมื่อไร เพราะฉะนั้น ถ้าระลึกถึงความตายบ่อยๆ เนืองๆ จริงๆ ไม่ใช่เพื่อให้เศร้าโศก แต่เพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นจุดประสงค์ที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมทั้งหมด เพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดนึกอยากจะสงบ ขณะนั้นลืมมรณสติแล้วใช่ไหม คิดว่ายังมีชีวิตอยู่อีกนาน เมื่อไรสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของกาย ก็รอไว้ทีหลัง ขณะนี้สงบเสียก่อน แต่ว่าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงโอวาทให้ภิกษุทั้งหลายไม่เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน แม้เมื่อพระองค์ทรงพระประชวร ท่านพระอานนท์ไปเฝ้า ก็ทรงเตือนให้ภิกษุทั้งหลาย มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง คือ เจริญสติปัฏฐาน
ถ้าทุกคนระลึกถึงความตายอย่างถูกต้องจริงๆ จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมบ่อยๆ ถ้าคิดถึงความตาย ท่านอยากจะทำอะไรเวลานี้ อาจจะรีบไปทำกิจธุระทางโลกให้เสร็จ หรือว่าจะทำอะไร เพราะถึงแม้ว่าจะระลึกถึงความตาย ท่านก็ยังคิดว่ายังไม่เร็วถึงอย่างนี้ ไม่ใช่ในขณะนี้ หรือว่าไม่ใช่ในขณะต่อไป แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ระลึกถึงความตายซึ่งจะเกิดขึ้นในวันนี้ หรือว่าตอนเย็นนี้ หรือว่าชั่วขณะที่รับประทานอาหารเคี้ยวคำข้าว ๔ – ๕ คำ หรือว่าขณะที่กลืนกิน เป็นต้น คือ หมายความถึงว่าความตายนั้นอาจจะเกิดขึ้นในขณะไหนก็ได้ ซึ่งถ้าระลึกอย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด
ข้อความต่อไปในพระสูตรนี้มีว่า
ครั้งนั้น ท่านพระอุตติยะชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ท่าน พระอุตติยะหลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี และท่านพระอุตติยะเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
สำหรับท่าน พระอุตติยะท่านจะไปไหน ท่านก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น ท่านไม่ต้องกลับบ้าน ท่านไม่ต้องไปตลาด ที่ของท่านอยู่ที่ไหน ท่านก็ไปสู่ที่นั่น นั่นเป็นเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล แต่พระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสว่า ให้ไปเสียก่อน และจึงจะเจริญสติปัฏฐาน แม้ขณะที่ทรงโอวาทพระอุตติยะก็ไม่ได้บอกว่า ให้ไปแล้วเจริญ แต่ให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
อาจจะเป็นไปได้ไหม ที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะสิ้นชีวิตลงที่นี่
มรณานุสสติ จุดประสงค์ คือ เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเมื่อระลึกถึงความตาย อย่ารอ หรือว่าอย่าคิดที่จะไปที่อื่น แล้วแต่ว่าตัวท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม กำจัดอภิชฌา ไม่ได้นึกถึงข้างหน้าเลย สภาพธรรมกำลังปรากฏ ข้อสำคัญที่สุด ทำอย่างไรจึงจะละความหวัง ความพอใจในสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่ต้องการให้เกิด
ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ แทนที่จะหวัง หรือพอใจในสภาพธรรมอื่นที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทันที ไม่ต้องหวังสภาพธรรมอื่นที่ยังไม่ปรากฏ มีทางเดียว คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที มิฉะนั้นแล้วจะไม่ชื่อว่ากำจัดอภิชฌา ยังมีอภิชฌาติดตามอยู่ เรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ตัวเลย
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 839
นาที 21.00
ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส อชิตมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๙๘
เพื่อท่านผู้ฟังจะได้รู้ลักษณะของสติ
ท่านจะต้องเริ่มด้วยการรู้ลักษณะของสติ การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้โดยไม่รู้อะไร แต่ว่าเมื่อเป็นปัญญาจริงๆ ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และก็เพิ่มขึ้น ทั่วขึ้น ละเอียดขึ้น อุปการะเกื้อกูลให้ปัญญานั้นคมกล้าขึ้นจริงๆ เพราะฉะนั้น แม้แต่ลักษณะของสติ สำหรับท่านที่ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ควรที่จะได้ทราบ เพื่อที่ว่าเมื่อรู้ลักษณะของสติแล้ว เวลาที่สติเกิดขึ้น ก็สามารถที่จะระลึกรู้ในสภาพที่เป็นสตินั้นว่า เป็นลักษณะสภาพธรรมชนิดหนึ่ง
บทว่า สโต ในอุเทศว่า สโต ภิกขุ ปริพฺพเช
บทว่า สโต ในอุเทศว่า สโต ภิกขุ ปริพฺพเช
ความว่า ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ๑ มีสติเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย ๑ มีสติเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ๑ มีสติเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ๑
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมีหลายขั้น มีหลายระดับตามอัธยาศัยของผู้ฟัง สำหรับผู้ที่เข้าใจลักษณะของสติปัฏฐานแล้ว และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ย่อมสามารถที่จะเข้าใจข้อความที่ว่า มีสติเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย มีสติเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย มีสติเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต มีสติเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย
แต่ถ้าท่านผู้ใดยังไม่เข้าใจชัดเจน ก็จะต้องฟัง และพิจารณา น้อมไปที่จะเข้าใจจนกว่าสติจะเกิดขึ้นเมื่อไร ก็จะหมดความสงสัยในสติปัฏฐานทั้ง ๔ แต่แม้กระนั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงสติประการอื่นๆ ด้วย คือ
ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ มีสติเพราะเว้นความเป็นผู้ไม่มี สติ ๑
ต้องเป็นผู้ที่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐาน และรู้ว่าขณะที่มีสตินั้น เพราะเว้นความเป็นผู้ไม่มีสติ
เพราะนำธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความทำสติ ๑
คือ รู้ว่าสภาพธรรมใดเป็นที่ตั้ง เป็นอารมณ์ของสติ
ท่านผู้ฟังเห็น ได้ยิน สนทนา จนกระทั่งคิดถึงเวลาที่ใกล้จะตายมีคนมาบอก ดูเป็นชีวิตประจำวัน แต่ชีวิตประจำวันแต่ละขณะ เป็นธรรมที่เป็นที่ตั้งของสติ ใช่หรือไม่ใช่ นี่จะต้องมีความเข้าใจชัดเจน สภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึก สนทนา หรือว่ามีชีวิตประจำวันอย่างไร ถ้ารู้ว่าธรรมนั้นเป็นที่ตั้งของสติ สติก็ย่อมจะเกิด และเป็นผู้ที่มีสติได้
แต่ถ้าท่านผู้ใดไม่มีการฟังเรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันว่า มีลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของสติ จะไม่มีสติเลยตลอดวัน ไม่รู้ด้วยว่า ธรรมอะไรเป็นที่ตั้งของสติ อย่างเช่น กำลังเห็นอย่างนี้ ก็ไม่ทราบว่าธรรมอะไรเป็นที่ตั้งของสติ ก็เห็นเป็นคน เห็นเป็นวัตถุ เห็นเป็นสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมจะไม่มีความรู้ความเข้าใจว่า ธรรมในขณะที่เห็นอย่างไรจึงจะเป็นธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของสติ
จะเอาคนมาเป็นที่ตั้งของสติได้ไหม จะเอาวัตถุ จะเอาสิ่งของต่างๆ เหมือนอย่างที่เคยเห็นทุกวันๆ มาเป็นที่ตั้งของสติได้ไหม แต่ว่า ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ มีสติเพราะเว้นความเป็นผู้ไม่มีสติ ๑ เพราะนำธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความทำสติ ๑ เพราะละธรรมเป็นข้าศึกแก่สติ ๑ เพราะไม่หลงลืมธรรมอันเป็นนิมิตแห่งสติ ๑
ทั้งหมดนี้ ถ้าพิจารณาก็จะเป็นปัจจัยให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ
มีสติเพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ๑ เพราะถึงความชำนาญด้วยสติ ๑ เพราะความเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ๑ เพราะไม่กลับลงจากสติ ๑
เป็นขณะที่กำลังเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นขั้นๆ ทีเดียว เช่น มีสติเพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ในขณะนี้ประกอบด้วยสติหรือเปล่า ผู้ใดกำลังประกอบด้วยสติ ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ
เห็นไหมว่า เป็นเรื่องของการอบรมจริงๆ
ท่านผู้ฟังที่ใจร้อน วันนี้ก็นั่งเสียใจว่า ไม่ค่อยมีสติ อาทิตย์หนึ่งแล้วสติก็ยังไม่เกิด แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องทุกข์ร้อนเลย เพราะ ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้อื่นอีก คือ ... เพราะถึงความชำนาญด้วยสติ ๑ เวลาที่ยังไม่ชำนาญ กับเวลาที่ชำนาญ ต่างกันมาก ไม่ว่าท่านจะทำอะไร ทุกอย่างใช่ไหม ขณะที่เริ่มทำกับขณะที่ชำนาญแล้ว ย่อมต่างกัน เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่อบรมพากเพียรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็จะเริ่มด้วยขณะเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่เป็นผู้ที่เห็นคุณจริงๆ ว่า ถ้าขณะนั้นสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาเจริญไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่สติเกิด เห็นคุณ เป็นขณะที่ปัญญาจะอบรมเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเป็นผู้ที่ชำนาญ
และเวลาที่เป็นผู้ที่ชำนาญแล้ว จะไม่หวั่นไหวเลย กำลังดูโทรทัศน์ กำลังสนทนาสนุกสนานเพลิดเพลินกับมิตรสหาย กำลังอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ กำลังคิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็แล้วแต่ ความเป็นผู้ชำนาญ เพราะถึงความชำนาญด้วยสติ สติย่อมเกิดขึ้นในขณะนั้นโดยไม่หวั่นไหว มีใจเด็ดเดี่ยวที่จะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพที่คิด ที่กำลังรู้เรื่อง ที่กำลังได้ยิน หรือที่กำลังเห็น หรือที่กำลังสงบในขณะนั้น และละความต้องการ แม้จะเป็นลักษณะที่สงบ แต่ถ้ายินดี ขณะนั้นย่อมไม่ละ หรือว่าเมื่อปัญญารู้แล้วเกิดความต้องการขึ้น ขณะนั้นก็ย่อมไม่ละ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมเห็นบ่วงของมาร คือ ขณะใดที่มีความยินดีพอใจเกิดแทรกคั่นขึ้น ขณะนั้นติดบ่วงอีกแล้ว ไม่สามารถที่จะพ้นไปจากบ่วงของความยินดี ของความต้องการ ของความพอใจ ไม่ได้ละอภิชฌา และโทมนัสในขณะนั้น
การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ต้องอบรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชำนาญ และเมื่อเป็นผู้ที่ถึงความชำนาญ ย่อมมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีสติเพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ๑
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)