คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อจินติตสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน ฯ
จบ สูตรที่ ๗
ข้อความต่อไปใน มหาสีหนาทสูตร มีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่า กล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็นความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ย่อมทรงสดับเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล และใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์
ไม่เป็นปัญหาเลยหรับพระผู้มีพระภาคที่จะได้ฟังเสียงทิพย์ที่ไกล และใกล้
ผู้ฟัง ขณะที่มีผู้แซ่ซ้องสาธุ ทำไมพระพุทธองค์ต้องเข้าผลสมาบัติ
ท่านอาจารย์ ปกติพระองค์เป็นผู้ที่ทรงชำนาญยิ่งในฌานสมาบัติ เพราะฉะนั้น จิตย่อมน้อมไปสู่สมาบัติเป็นประจำ เวลาที่แสดงธรรม ในขณะนั้นเป็นกิจที่ทรงอนุเคราะห์พุทธบริษัทเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลก เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ได้กระทำประโยชน์แก่สัตว์โลก จิตของพระองค์ก็ย่อมน้อมไปสู่ความสงบคือผลสมาบัติ หรือสมาบัติต่างๆ เป็นปกติ
เพราะเหตุว่า ปกติจิตของบุคคลธรรมดามีภวังค์คั่น ซึ่งไม่สามารถที่จะนับได้ว่ามีภวังค์คั่นเท่าไร ขณะที่เห็น จักขุทวารวิถีจิตดับไปแล้ว จะมีภวังค์เกิดดับคั่นก่อนที่จะถึง มโนทวารวิถี และเมื่อมโนทวารวิถีจิตดับไปแล้ว ก็มีภวังค์เกิดดับมากก่อนที่จะเป็นวิถีจิตที่รู้อารมณ์อื่นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ แต่จิตของพระผู้มีพระภาคเวลาที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ คือ ปาฏิหาริย์เป็นคู่ มีไฟกับน้ำทั่วพระวรกาย ในขณะนั้นจิตของพระผู้มีพระภาคมีภวังคจิตคั่นเพียง ๒ ขณะจิตเท่านั้น เป็นความรวดเร็วอย่างมาก
สำหรับการแสดงถึงความรวดเร็วของภวังคจิตของพระผู้มีพระภาค ในอรรถกถา แสดงว่า คนธรรมดาพูดคำหนึ่ง ท่านพระอานนท์พูดได้ ๘ คำ ท่านพระอานนท์พูดได้คำหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสได้ ๑๒๘ คำ
เพราะฉะนั้น พุทธวิสัยเป็นสิ่งที่บุคคลไม่ควรคิด เป็นเพราะเหตุว่าการที่จะได้ตรัสรู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีมากเหลือเกินที่จะถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะทั้งปวง พร้อมทั้งปัญญาที่มีกำลัง และพระสัพพัญญุตญาณ
ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า
สำหรับผู้ที่บำเพ็ญบารมีที่จะถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ยังต่างกันเป็น ๓ ประเภท บางพระองค์เป็นผู้ที่มีปัญญากล้า เป็นปัญญาธิกสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งหลังจากที่ได้ทรงรับพยากรณ์จากพระผู้มีพระภาคพระองค์หนึ่งแล้ว จะต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป แต่สำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีปัญญาปานกลาง แต่มีศรัทธามาก เป็นพระสัทธาธิกสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากที่ได้รับพยากรณ์แล้วต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๘ อสงไขยแสนกัป และสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีปัญญาน้อยกว่าพระสัทธาธิกสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นผู้ที่มีความเพียรมากในการอบรมบำเพ็ญบารมีเป็นพระวิริยาธิกพุทธเจ้า ซึ่งต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขยแสนกัป หลังจากที่ได้รับพยากรณ์แล้วจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
สำหรับพระปัญญาธิกสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปหลังจากที่ได้รับพยากรณ์ ก่อนที่จะได้รับพยากรณ์ นึกปรารถนาการที่จะเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระทัยโดยที่ว่ายังไม่เอ่ยออกมาได้ เพราะว่าการที่จะ ให้จิตตั้งมั่นคงปรารถนาในการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่จริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นบุคคลพิเศษ เลิศกว่าเทวดา และพรหมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่นึกจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะต้องนึก และพากเพียรทำความดีจนกว่าจิตจะมั่นคงถึงกับจะเอ่ยออกไปได้ว่าปรารถนาในการที่จะได้บรรลุเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
สำหรับการบำเพ็ญความดี และนึกปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยที่ยังไม่สามารถเอ่ยออกมาได้นั้น ถึง ๗ อสงไขย และเวลาที่ออกพระโอษฐ์ปรารถนาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว กว่าจะได้รับพยากรณ์จากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ก็นับได้ถึง ๙ อสงไขย และจำเดิมแต่ได้รับพยากรณ์แล้ว กว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็นับได้ ๔ อสงไขยแสนกัป
รวมความว่า ตั้งแต่คิดจนกระทั่งสำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น คือ ๒๐ อสงไขยแสนกัป สำหรับพระปัญญาธิกพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ไม่แปลกเลยสำหรับพระบารมี และพุทธานุภาพต่างๆ ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดผู้จะปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสำเร็จ
คงจะมีหลายคนที่คิดปรารถนาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่สามารถสำเร็จได้ มีมาก เพราะเหตุว่าการที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ต้องพร้อมด้วยเหตุ ผลจึงจะเกิดได้
สำหรับการที่จะตั้งความปรารถนาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องมี อัฏฐธรรมสโมธาน ๘ ประการ คือ มีเหตุที่จะให้สามารถปรารถนาแล้วสำเร็จได้
อัฏฐธรรมสโมธาน ๘ ประการ คือ
มนุสสัตตัง ความเป็นมนุษย์ประการหนึ่ง หมายความว่าต้องปรารถนาในขณะที่เป็นมนุษย์ ถ้าในขณะนั้นเป็นพระอินทร์ หรือพรหม หรืออสูร ภูมิอื่นๆ ปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีทางเป็นไปได้ แม้ในขณะที่ตั้งความปรารถนา ก็ต้องเป็นมนุษย์ประการหนึ่ง
ลิงคสัมปัตติ ต้องบริบูรณ์ด้วยบุรุษเพศประการหนึ่ง คือ ต้องปรารถนาความเป็นบุรุษด้วย ถ้าใครยังพอใจในความเป็นสตรี ผู้นั้นไม่สามารถที่จะเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
เหตุ คือ มีอรหัตตูปนิสัย ควรจะได้สำเร็จพระอรหันต์ หมายความว่า ในขณะที่ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นบุคคลที่มีปัญญามากในขณะนั้น พร้อมที่จะบรรลุความเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้นได้
ถ้าเป็นบุคคลที่ไม่ฉลาด เห็นใครปรารถนาจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรารถนาบ้าง อย่างนั้นไม่มีทางที่จะสำเร็จได้ แต่บุคคลที่ปรารถนา และจะสำเร็จ บุคคลนั้นต้องมีปัญญาในขณะที่ปรารถนานั้นถึงขั้นที่สามารถจะบรรลุความเป็น พระอรหันต์ในชาตินั้นได้ คือ ถ้าไม่ปรารถนาความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์
สัตถารทัสสนัง ได้พบสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประการหนึ่ง คือ ถ้าตั้งความปรารถนาเฉยๆ โดยที่ไม่ได้พบ ไม่ได้เฝ้า ไม่ได้กระทำกุศลแด่พระผู้มีพระภาค และไม่ได้ตั้งความปรารถนาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ไม่สำเร็จ
สำหรับการที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หรืออัครสาวก หรือสาวกนั้น ไม่ต้องตั้งความปรารถนาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค แต่การที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้น จะต้องตั้งความปรารถนาในที่เฉพาะ พระพักตร์พระผู้มีพระภาค โดยได้เฝ้า และก็กระทำกุศล
ปัพพัชชา ทรงบรรพชาเพศประการหนึ่ง คือ ถ้ายังเป็นฆราวาสอยู่ และปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่สำเร็จ เพราะว่าคุณธรรมสภาพของจิตนั้น ไม่ถึงการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เพียงความปรารถนา
และสำหรับการบรรพชานั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นพระภิกษุในพระศาสนา ถึงแม้ว่าจะเป็นการบรรพชานอกพระศาสนา เช่น พวกดาบส ซึ่งเป็นธรรมวาที กรรมวาที ก็สามารถที่จะตั้งความปรารถนาได้ ที่ท่านผู้ฟังเคยทราบ สุเมธดาบสในครั้งนั้น คือ พระชาติหนึ่งของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ซึ่งได้ตั้งความปรารถนา และได้รับพยากรณ์จากพระทีปังกรอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
คุณสัมปัตติ คือ ได้คุณสมบัติ มีฌาน เป็นต้น ถ้าปัญญาไม่ถึงขั้นที่สามารถจะมีความสงบของจิตถึงขั้นฌานสมาบัติ อภิญญาสมาบัติแล้ว ความปรารถนาย่อม ไม่สำเร็จ
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคในพระชาติก่อนๆ นั้น ก็เป็นผู้ที่พร้อมด้วยพระคุณสมบัติ คือ ฌานสมาบัติ และอภิญญาสมาบัติมากมายแม้ในอดีตชาติ ซ้ำแล้วซ้ำอีก วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ที่มีพระชาติต่างๆ ทั้งสวรรค์ขั้นต่างๆ พรหมโลกขั้นต่างๆ เว้นสุธาวาส ซึ่งเป็นภูมิของพระอนาคามีบุคคลผู้ได้ปัญจมฌาน แต่ว่าสำหรับในภูมิอื่น ก่อนที่จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องทรงคุณสมาบัติ คือ ฌานสมาบัติ อภิญญาสมาบัติ ซ้ำแล้วซ้ำอีก มากมายหลายชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความชำนาญ ความคล่องแคล่ว ความประณีต ความละเอียดของจิตที่ได้สะสมมาในเรื่องของฌานสมาบัติมากมายหลายพระชาติเช่นนี้ เมื่อได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เหตุทั้งหลายที่ได้กระทำแล้วในอดีตก็พร้อมที่จะให้ผล คือ เป็นผู้ที่ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ ไม่มีผู้ใดเทียบเท่าพระองค์ได้
นอกจากนั้น อัฏฐธรรมสโมธาน ประการที่ ๗ คือ อธิกาโร ให้ทานอันยิ่ง มีชีวิตบริจาค เป็นต้น
และประการสุดท้าย คือ ฉันทตา มีความปรารถนาซึ่งพระโพธิญาณกล้าหาญ รวมเป็น อัฏฐธัมมสโมธาน ๘ ประการ
บางท่านปรารถนาแล้วอาจจะเลิก เพราะเห็นว่าจะต้องอบรมบำเพ็ญพระบารมีไม่รู้จักจบสิ้น มากมายเหลือเกินกว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้จริง จึงจะต้องมี ฉันทตา มีความปรารถนาซึ่งพระโพธิญาณ กล้าหาญจริงๆ ไม่ย่อท้อ แม้ว่าจะมีผู้ถามว่า สามารถที่จะทนอยู่ในนรกถึง ๔ อสงไขยแสนกัปได้ไหม ก็ต้องได้ สามารถที่จะลุยถ่านเพลิงทั่วจักรวาล ฝ่าหนามทั่วจักรวาล ๔ อสงไขยแสนกัปได้ไหม ก็ต้องได้ มิฉะนั้น ความปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมไม่สำเร็จ
นอกจากนั้น ในระหว่างที่เป็นพระโพธิสัตว์นั้น ก็จะต้องประกอบด้วย พุทธภูมิธรรม ๔ ประการ คือ มีความเพียรอันมั่น ๑ มีปัญญาเชี่ยวชาญหาญกล้า ๑ มีความตั้งใจมั่น คือ พระอธิษฐานอันมั่นมิได้หวั่นไหว ๑ มีหิตจริยาคือเมตตาแก่สัตว์ ๑
จะเห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมาก ตั้งแต่เริ่มบำเพ็ญบารมีเพื่อที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อประกอบด้วย พุทธภูมิธรรม ๔ ประการ แล้ว ยังต้องประกอบด้วย อัชฌาสัยถึง ๖ ประการ คือ
เนกขัมมัชฌาสโย มีพระอัธยาศัยพอพระทัยที่จะออกทรงบรรพชา ๑
ปวิเวกัชฌาสโย พอพระทัยที่จะออกจากหมู่ จากคณะ และอยู่ในที่อันสงบสงัด ๑
อโลภัชฌาสโย พอพระทัยที่จะจำแนกแจกทาน ๑
อโทสัชฌาสโย พอพระทัยที่จะเจริญเมตตาแก่สัตว์ทั้งปวง ๑
อโมหัชฌาสโย พอพระทัยในกิจที่จะพิจารณาซึ่งคุณ และโทษ บุญ และบาป และเจริญซึ่งพระอัปปมาทธรรม ๑
นิสสรณัชฌาสโย พอพระทัยที่จะยกตนออกจากภพ มิได้ยินดีที่จะเวียนอยู่ในภพ ๑
รวมเป็นอัชฌาสัย ๖ ประการ ที่จะต้องประพฤติเป็นไปเพื่อที่จะให้ พระโพธิญาณถึงความแก่กล้า
เพราะฉะนั้น ท่านที่จะไม่บำเพ็ญบารมีที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ควรที่จะสะสมคุณบารมีต่างๆ เหล่านี้ เล็กๆ น้อยๆ มากขึ้นๆ เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงคุณธรรมที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะเป็นคุณธรรมที่ทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะว่าเป็นการพากเพียรที่จะขัดเกลากิเลส อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งรู้ยากจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ง่ายเลย
นาที 17:57
ข้อความต่อไปใน มหาสีหนาทสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็นความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นย่อมทรงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
ถ้าท่านผู้ฟังสังเกตพยัญชนะตอนนี้จะทราบว่า เป็นจิตตานุปัสสนา เรื่องของจิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ประมวลอยู่ในพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงว่า เป็นจิตตานุปัสสนา
การที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต จะไม่พ้นไปจากจิตตามที่กล่าวมาแล้ว เช่น จิตมีราคะ คือ โลภะ ความยินดีพอใจ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมเป็นปกติตามความเป็นจริง
วันหนึ่งมีโลภะมากแค่ไหน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รู้ไหม นี่คือจุดที่สำคัญที่สุด การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ได้รู้อื่นที่นอกไปจากจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ ขณะใดที่เป็นโลภะ ก็รู้ในขณะนั้นว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ ทางตาในขณะที่กำลังเห็น เพียงเห็น รู้ว่าเป็นสภาพรู้ทางตาเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย น้อมไปรู้ว่าเป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้น คือ จิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
เพราะฉะนั้น การรู้สภาพธรรมต้องตามปกติตามความเป็นจริงทุกอย่าง และสำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นทุกประการ ทุกประเภท ไม่ว่าจิตของบุคคลนั้นจะเป็นจิตที่มีราคะ หรือปราศจากราคะ มีโทสะ หรือปราศจากโทสะ มีโมหะ หรือปราศจากโมหะ เป็นจิตที่หดหู่ หรือเป็นจิตที่ฟุ้งซ่าน เป็นจิตที่เป็นมหรคต คือ เป็นมหัคคตจิต หรือเป็นจิตที่ไม่เป็นมหัคคตจิต เป็นจิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าเป็นจิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ได้แก่ กามาวจรจิต ตามปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน เป็นจิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตที่ยิ่งกว่ากามาวจร คือ รูปฌานจิต และอรูปฌานจิต เป็นจิตที่ต่างไปยิ่งกว่ากามาวจรซึ่งเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตคิดนึกเรื่องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางใจ ตามธรรมดา
จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ สมาธิในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง
จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น สำหรับบุคคลที่กำลังเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่จิตหลุดพ้น ขณะนั้นหมายความถึงกำลังประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามขั้นของวิปัสสนาญาณ หลุดพ้นเป็นขณะๆ เป็น ตทังควิมุตติ ในขณะที่กำลังประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งยังไม่ใช่การหลุดพ้นด้วยมรรคญาณหรือว่าโลกุตตรจิต แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคทรงทราบตลอดหมด ไม่ว่าจิตของบุคคลนั้นจะเป็นโลกุตตรมรรค โลกุตตรผลขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร ตถาคตประกอบด้วยกำลังเหล่าใด ย่อมปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก ย่อมบันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป กำลังเหล่านั้นของตถาคต ๑๐ ประการเหล่านี้แล ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกร สารีบุตร ตถาคตย่อมรู้ฐานะในโลกนี้โดยเป็นฐานะ และรู้เหตุมิใช่ฐานะโดยเป็นเหตุมิใช่ฐานะตามความเป็นจริง ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ฐานะโดยเป็นฐานะ และรู้เหตุมิใช่ฐานะโดยเป็นเหตุมิใช่ฐานะตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป
พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ธรรมใดเป็นเหตุ ธรรมใดเป็นผล ถ้ายังไม่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียดจะไม่ทราบว่า ธรรมที่เป็นเหตุ และธรรมที่เป็นผลนั้น ทรงแสดงไว้โดยละเอียดในปฏิจจสมุปปาทธรรม คือ ธรรมซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น โลภะเป็นเหตุ โทสะเป็นเหตุ โมหะเป็นเหตุให้เกิดผลอะไร ทรงแสดงไว้โดยละเอียดในเรื่องของสภาพธรรมทั้งจิต เจตสิก รูป และนิพพาน
เพราะฉะนั้น นี่เป็นพุทธวิสัยของพระผู้มีพระภาคที่ทรงรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมที่เป็นเหตุนั้นเป็นเหตุ ธรรมที่เป็นผลเกิดจากเหตุอย่างไร ก็เป็นผลที่เกิดจากเหตุนั้นอย่างนั้น
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วิบากของกรรมสมาทาน (คือ กรรมที่ได้กระทำแล้ว) ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริง
ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้วิบากของกรรมสมาทานที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป
มีใครรู้วิบากของท่านเองบ้างไหม ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ ได้ยินขณะนี้ โดยการศึกษาทราบว่า เป็นวิบากจิตซึ่งเกิดเพราะกรรมในอดีต แต่ไม่ทราบว่า กรรมอะไรในอดีตเป็นปัจจัยให้ผลในขณะนี้ ในปัจจุบันนี้เกิดขึ้น แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบโดยละเอียด โดยตลอด ไม่ว่าสัตว์โลกจะมีจำนวนมากสักเท่าไร ได้กระทำกรรมมาแล้วมากมายสักเท่าไรในสังสารวัฏฏ์ พระผู้มีพระภาคก็มีพระพุทธวิสัยที่จะทรงพยากรณ์ได้ว่า ในขณะนั้นผลคือวิบากนั้นเกิดจากกรรมอะไร และสำหรับในอนาคต ท่านผู้ฟังก็ย่อมจะไม่ทราบว่า กุศลกรรม และอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วแม้ในชาติก่อน และในชาตินี้จะทำให้เกิดผลอะไรขึ้นในอนาคต แต่พระผู้มีพระภาคทรงมีพุทธวิสัยที่จะทรงพยากรณ์ได้
สำหรับทศพลญาณ คือ ญาณที่มีกำลังของพระผู้มีพระภาคประการต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ไปสู่ภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ไปสู่ภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป
พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงปฏิปทา คือ หนทาง ว่าหนทางนี้นำไปสู่นรก นำไปสู่สวรรค์ นำไปสู่นิพพาน ซึ่งไม่มีกิจที่บุคคลอื่นจะต้องแสดงหนทางแก่พระผู้มีพระภาคเลย มีใครจะแสดงกับพระผู้พระภาคไหมว่า ทางนี้ไปไหน แม้แต่ทางที่จะไปสู่บ้านนั้นเมืองนี้ก็ตาม
และแม้ข้อปฏิบัติ คือ ปฏิปทา ซึ่งเป็นทางนำไปสู่นรก พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงโดยละเอียด หรือทางที่จะนำไปสู่สวรรค์ ทางที่จะนำไปสู่นิพพาน ก็ทรงแสดงโดยละเอียด เพราะฉะนั้น เพียงหนทางที่จะนำไปสู่ที่ต่างๆ พระผู้มีพระภาคย่อมไม่มีกิจที่บุคคลอื่นจะต้องแสดงแก่พระองค์
บางท่านสงสัยว่า พระผู้มีพระภาคทรงขับรถยนต์ได้ไหม เล่นเปียโนได้ไหม พระผู้มีพระภาคทรงแทงตลอดในลักษณะของธาตุทั้งปวงตามความเป็นจริง ไม่ใช่มีแต่รูปธาตุ ถึงแม้อรูปธาตุหรือนิพพาธาตุ พระผู้มีพระภาคก็เป็นผู้ที่ทรงประจักษ์แจ้งในลักษณะของธาตุทั้งหลาย ซึ่งเป็นทศพลญาณประการต่อไป ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งโลกมีธาตุมิใช่อย่างเดียว และมีธาตุต่างๆ ตามความเป็นจริง ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งโลกมีธาตุมิใช่อย่างเดียว และมีธาตุต่างๆ ตามความเป็นความจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)