คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เมื่ออะไรหนอมีอยู่ ชรา และมรณะจึงมี ชรา และมรณะย่อมมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นเพราะกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จึงได้รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติมีอยู่ ชรา และมรณะจึงมี
ดูเป็นธรรมดาจริงๆ ใครบ้างจะไม่รู้ว่า ที่ตายเพราะเกิดขึ้นมาจึงตาย ถ้าไม่เกิด ก็ไม่ตายเท่านั้น แต่ต้องเป็นพระปริวิตกของพระโพธิสัตว์ ซึ่งฟังดูเหมือนไม่ต้องอาศัยปัญญาอะไรมากมายที่จะพิจารณาอย่างนี้ แต่ความจริงความคิดของคน และปัญญา ของคนต่างระดับขั้นกันมาก ในขณะที่คิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม ขณะนั้นถ้าไม่ใช่เป็น ผู้ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จะไม่รู้ว่า ความคิดแม้ขณะนั้นก็เกิดเพราะอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่รู้แม้แต่ว่าความคิดนั้นเกิดเพราะความไม่รู้ มีใครบ้างรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ทุกคนคิด ตั้งแต่เช้ามาคิดตลอด เพราะฉะนั้น ความคิดของทุกคนตั้งแต่เช้ามา คิดเพราะอะไรเป็นปัจจัย เพราะวิชชาหรือเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
แม้แต่ความคิดก็ยังไม่รู้ ตื่นมาคิดตลอดเป็นวันๆ โดยที่ไม่รู้เลยว่า เมื่อไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ความคิดทั้งหมดต้องเนื่องมาจากความไม่รู้ มีอวิชชาเป็นปัจจัยจึงคิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้ระลึกลักษณะปรมัตถธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ซึ่งเกิดแล้วปรากฏ และดับไป ในขณะนั้นไม่คิด ขณะที่มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้น รู้ในสภาพที่เป็นปรมัตถ์ คือ ลักษณะที่แข็งเป็นธรรมอย่างหนึ่ง สภาพที่กำลังรู้แข็งเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุอย่างหนึ่ง ในขณะนั้นไม่ได้คิดเรื่องราวเลย แต่ทุกคนที่คิดทุกวัน เพราะฉะนั้น ก็จะได้ทราบว่า ในขณะนั้นที่คิดเพราะไม่รู้
ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นเพราะกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จึงได้รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติมีอยู่ ชรา และมรณะจึงมี ชรา และมรณะย่อมมีเพราะชาติเป็นปัจจัย ... เมื่ออะไรหนอมีอยู่ ชาติจึงมี
คือ ไม่หยุดอยู่เพียงแค่รู้ว่า เมื่อเกิดจึงต้องตาย หรือที่ตายกันอยู่ทุกวันนี่ ก็เพราะเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ต้องตาย ถ้าคิดเท่านั้นก็ไม่มีปัญญาที่จะดับเหตุของความทุกข์ได้ แต่พระโพธิสัตว์ปริวิตกว่า
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ ชาติจึงมี ชาติย่อมมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย
ทำไมต้องเกิด มีอะไรเป็นปัจจัยจึงต้องเกิด
เมื่อภพมีอยู่ ชาติจึงมี
ภพ คือ กรรมภพ
ชาติย่อมมีเพราะภพเป็นปัจจัย ...
ถ้ากรรมไม่มี การเกิดก็ไม่มี
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ ภพจึงมี ภพย่อมมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย
เมื่ออุปาทานมีอยู่ ภพจึงมี ภพย่อมมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ...
ที่มีกรรม มีการกระทำเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง จะเห็นได้ว่า เพราะยังมีความยึดมั่นอยู่ จึงมีการกระทำกรรมต่างๆ
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ อุปาทานจึงมี อุปาทานย่อมมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย
หาสาเหตุอีกว่า ทำไมจึงมีความยึดมั่นที่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำต่างๆ
เมื่อตัณหามีอยู่ อุปาทานจึงมี อุปาทานย่อมมีเพราะตัณหาเป็นปัจจัย ...
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ ตัณหาจึงมี ตัณหาย่อมมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย
เคยคิดไหม โลภะมีมากทุกวันๆ โลภะในขณะนี้มีเพราะอะไรเป็นปัจจัย ท่านที่คล่องปฏิจจสมุปบาทตอบได้แน่ว่า ที่ตัณหามีเพราะอะไรเป็นปัจจัย แต่ท่านที่ยัง ไม่คล่องก็คงจะต้องนึก ซึ่งก็เป็นโอกาสที่จะพิจารณาความจริงว่า เพราะอะไรมี ตัณหาความติดข้อง ความเพลิดเพลิน ความต้องการจึงมี
เมื่อเวทนามีอยู่ ตัณหาจึงมี ตัณหาย่อมมีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย ...
มีความรู้สึกที่เป็นสุข จึงได้มีความพอใจขวนขวายต้องการ หรือแม้ความรู้สึก ที่เป็นทุกข์ ถ้าไม่มีปัญญาเกิดขึ้นย่อมมีความอยากที่จะพ้นทุกข์ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ เวทนาจึงมี เวทนาย่อมมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย
เมื่อผัสสะมีอยู่ เวทนาจึงมี เวทนาย่อมมีเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ...
บางคนก็ไปท่องเลย เพราะอยากจะให้คล่อง ซึ่งความจริงไม่ใช่เรื่องท่อง แต่จะต้องพิจารณาจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้นในขณะที่กำลังประสบกับไม่ว่าจะเป็นเวทนาอะไรก็ตาม หรือขณะที่มีความยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ย่อมมีการระลึกได้ ในขณะนั้น ไม่ใช่ไปท่องยาวเป็นปฏิจจสมุปบาทในขณะที่ความรู้สึกพอใจติดข้องเกิดขึ้น แต่สามารถพิจารณาระลึกได้จริงๆ ว่า ขณะนี้ที่กำลังพอใจเพราะอะไร
เมื่อผัสสะมีอยู่ เวทนาจึงมี เวทนาย่อมมีเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ...
ในขณะนั้นพอใจอะไร พอใจสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็รู้ได้ว่าเพราะเห็น ถ้าไม่เห็น ความรู้สึกพอใจจะมีได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ความรู้สึกพอใจติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตาเพราะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะมีจักขุสัมผัสสะทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น จึงเป็นปัจจัยให้มีความรู้สึกเป็นสุข ยินดีพอใจติดข้องเกิดขึ้น
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ ผัสสะจึงมี ผัสสะย่อมมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย
เมื่อสฬายตนะมีอยู่ ผัสสะจึงมี ผัสสะย่อมมีเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ...
เพราะตา เพราะหู เพราะจมูก เพราะลิ้น เพราะกาย เพราะใจ เพราะฉะนั้น ก็กลับมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นแหล่งเกิดของสภาพธรรมทุกวันๆ ไม่ว่าจะเป็นขณะใดทั้งสิ้น จะไม่พ้นไปจากเหตุปัจจัยทั้งหมด
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ สฬายตนะจึงมี สฬายตนะมีย่อมเพราะอะไรเป็นปัจจัย
เมื่อนามรูปมีอยู่ สฬายตนะจึงมี สฬายตนะย่อมมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย ...
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ นามรูปจึงมี นามรูปย่อมมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย
เมื่อวิญญาณมีอยู่ นามรูปจึงมี นามรูปย่อมมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ...
เท้าความไปถึงปฏิสนธิ คือ เพราะเกิดมาจึงต้องมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ต้องกระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อกระทบแล้วก็มีความรู้สึก เมื่อมีความรู้สึกแล้วก็ทำให้เกิดความติดข้อง เมื่อมีความติดข้องก็มีความยึดมั่น เมื่อมีความยึดมั่นก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมต่างๆ เมื่อมีกรรม ก็ต้องมีการเกิด เมื่อเกิดแล้วก็ต้องชรา และสิ้นชีวิตลง
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ วิญญาณจึงมี วิญญาณย่อมมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย
เมื่อสังขารมีอยู่ วิญญาณจึงมี วิญญาณย่อมมีเพราะสังขารเป็นปัจจัย ...
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ สังขารจึงมี สังขารย่อมมีเพราะอะไรเป็นปัจจัย
เมื่ออวิชชามีอยู่ สังขารจึงมี สังขารย่อมมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ...
ในขณะนี้ยังมีอวิชชาอยู่ เพราะฉะนั้น ยังมีปัจจัยของสังขาร ยังมีปัจจัยของวิญญาณ ยังมีปัจจัยของการเกิด ยังมีปัจจัยของการตาย ที่จะต้องวนเวียนไป นานมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ ชาตินี้เป็นส่วนหนึ่ง และต่อไปอีกนานเป็นแสนโกฏิกัปป์ ตราบใดที่ยังไม่พ้นจากทุกข์ คือ ไม่สามารถออกจากสังสารวัฏฏ์ได้
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปฏิปทาสูตร ข้อ ๑๙ และ ข้อ ๒๐ พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ตั้งแต่อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร และตลอดไปทั้งหมดซึ่งเป็นสังสารวัฏฏ์นั้น เป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะว่าไม่ใช่หนทางที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความละเอียดจริงๆ ของหนทางผิดซึ่งทุกคนกำลังเดินอยู่ คือ หนทางที่ทำให้เกิดแล้วก็ตาย เกิดแล้วก็ตาย นั่นคือหนทางผิด เป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะว่าไม่ใช่หนทางที่จะทำให้สิ้นสุดการเกิด และการตาย
ข้อความต่อไปใน อภิสมยสังยุต พุทธวรรค
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้บังเกิดขึ้น แก่เราในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ฝ่ายข้างเกิด ฝ่ายข้างเกิด ดังนี้
ข้อ ๒๗
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เมื่ออะไรหนอไม่มี ชรา และมรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับชรา และมรณะจึงดับ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นเพราะกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จึงได้รู้ด้วยปัญญาว่า เมื่อชาติไม่มี ชรา และมรณะจึงไม่มี เพราะชาติดับชรา และมรณะจึงดับ ...
เมื่ออะไรหนอไม่มี ชาติจึงไม่มี เพราะอะไรดับชาติจึงดับ
เมื่อภพไม่มี ชาติจึงไม่มี เพราะภพดับชาติจึงดับ ...
เมื่ออะไรหนอไม่มี ภพจึงไม่มี เพราะอะไรดับภพจึงดับ
เมื่ออุปาทานไม่มี ภพจึงไม่มี เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ ...
เมื่ออะไรหนอไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เพราะอะไรดับอุปาทานจึงดับ
เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ ...
เมื่ออะไรหนอไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เพราะอะไรดับตัณหาจึงดับ
เมื่อเวทนาไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ ...
เมื่ออะไรหนอไม่มี เวทนาจึงไม่มี เพราะอะไรดับเวทนาจึงดับ
เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาจึงไม่มี เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ ...
ข้อความต่อไปโดยนัยเดียวกัน
... เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ...
... เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ...
... เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ...
... เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ...
... เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ …
... เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ดังพรรณนามาฉะนี้ ...
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้บังเกิดขึ้น แก่เราในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ฝ่ายข้างดับ ฝ่ายข้างดับ ดังนี้
จบ มหาศักยมุนีโคตมสูตรที่ ๑๐
จบ พุทธวรรคที่ ๑
ซึ่งข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปฏิปทาสูตร ข้อ ๒๑ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า เป็นสัมมาปฏิปทา การดับอกุศลทั้งหมด การดับอวิชชาเท่านั้น ที่เป็นสัมมาปฏิปทา นอกจากนั้นเป็นมิจฉาปฏิปทาทั้งนั้น
นี่เป็นธรรมส่วนละเอียดจริงๆ ที่จะรู้ว่า ทุกวันที่มีชีวิตอยู่ ปฏิปทา คือ ทางดำเนินของชีวิตของแต่ละคนเป็นมิจฉาหรือเป็นสัมมาขณะใด
ขณะที่เห็นแล้วก็ชอบ และมีความยึดมั่น มีการกระทำกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้มีการเกิดอีก มีการแก่อีก มีการตายอีก ทั้งหมดเป็นมิจฉาปฏิปทา แต่ขณะใดซึ่งเป็นทางดับ ทางที่จะดับทั้งหมดเป็นสัมมาปฏิปทา
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ทุกท่านก็รู้ได้ด้วยตัวเองว่า ขณะใดเป็นสัมมาปฏิปทา ขณะใดเป็นมิจฉาปฏิปทา และในวันหนึ่งๆ สัมมาปฏิปทามากหรือน้อย ถ้า มิจฉาปฏิปทายังมากกว่า การที่จะดับสังสารวัฏฏ์ก็ต้องนานกว่า ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะ ของแต่ละบุคคลที่จะรู้ได้ด้วยปัญญาของตนเองจริงๆ
ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรเลยก็จะไปรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคล และดับ ปัจจยาการทั้งหมดเหล่านี้ได้ แม้แต่เพียงความคิดชั่วขณะก็ยังต้องรู้ว่า ในขณะนั้น เป็นมิจฉาปฏิปทา หรือสัมมาปฏิปทา
ถ. ปฏิจจสมุปปาทฝ่ายนิโรธ คือ ฝ่ายดับ เป็นสัมมาปฏิปทา ยังไม่ถึงขั้นเป็นมรรค ใช่ไหม
สุ. ต้องถึง จึงจะดับได้ ไม่อย่างนั้นจะดับได้อย่างไร
ถ. รวมตลอดเป็นวิปัสสนาญาณจนถึงมรรคเลย
สุ. จนดับได้ ไม่ใช่นิดๆ หน่อยๆ แต่จนถึงดับได้ ดับนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เวลานี้ทุกอย่างก็เกิดแล้วเพราะปัจจัย แต่เมื่อไม่รู้ปัจจัยเพราะมีอวิชชา จึงไม่สามารถเห็นปัจจัยเหล่านั้นได้ตามความเป็นจริง ก็ดับไม่ได้
ถ. สัมมาปฏิปทา ในทีนี้ก็เหมือนกับอริยมรรคองค์ ๘ ใช่ไหม
สุ. และหนทางปฏิบัติที่เริ่มปฏิบัติด้วย ในขณะที่คิด และสติระลึก และก็รู้ ในสภาพที่คิดว่า เป็นนามธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นต้องเป็นฝ่ายดับ เพราะจะทำให้สามารถดับอวิชชาได้ ไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่จะดับอวิชชาได้เลยถ้าขณะนี้สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ปฏิจจสมุปบาททั้งหมดเป็นมิจฉาปฏิปทา ซึ่งท่านที่สนใจในการปฏิบัติธรรม ควรที่จะพิจารณาศึกษาให้ละเอียด ให้เข้าใจจริงๆ ว่า อะไรเป็นการปฏิบัติถูก เป็นสัมมาปฏิบัติ และอะไรเป็นการปฏิบัติผิดซึ่งเป็นมิจฉาปฏิบัติ
บางท่านเข้าใจว่า เพียงไปสู่สำนักที่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็ไปปฏิบัติสิ่งซึ่งเข้าใจว่าจะทำให้หมดกิเลสโดยที่ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ท่านเข้าใจว่า นั่นเป็นมิจฉาปฏิปทา แต่ข้อความในพระไตรปิฎกก็ยังละเอียดกว่านั้นอีก
ข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปฏิปทาสูตร มีว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจักแสดงมิจฉาปฏิปทา และสัมมาปฏิปทา พวกเธอจงฟังปฏิปทาทั้ง ๒ นั้น จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาปฏิปทาเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่ามิจฉาปฏิปทา
ท่านผู้ฟังก็จะได้ทราบว่า ชีวิตประจำวันทุกท่านเป็นมิจฉาปฏิปทาหรือ สัมมาปฏิปทา ที่เป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขาร คือเจตนาที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะไม่ให้ มีสังขารคือเจตนาที่เป็นกุศล และอกุศลก็เป็นไปไม่ได้
เมื่ออวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร มีกรรมที่เป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรม ที่จะไม่ให้มีวิญญาณ คือ ปฏิสนธิ การเกิดอีก ก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว ปฏิสนธิจิตเกิด ก็จะต้องมีเจตสิก และรูปเกิดพร้อมกัน เมื่อมีนามรูปคือเจตสิก และรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ก็มีการเจริญเติบโต มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ เป็นสฬายตนะ เมื่อมีตาที่จะไม่ให้กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วเห็น ก็เป็นไปไม่ได้
นี่คือชีวิตของทุกคน ซึ่งมีเหตุมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น แม้แต่การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก
เมื่อมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ก็ต้องมีผัสสะ คือ การกระทบกับอารมณ์ต่างๆ และเมื่อกระทบกับอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ที่จะไม่ให้มีเวทนา ความรู้สึกดีใจ เสียใจ สบายใจ ไม่สบายใจ หรือเฉยๆ ก็เป็นไปไม่ได้
นี่คือสภาพธรรมตามความเป็นจริงทุกขณะว่า เมื่อมีผัสสะแล้วก็มีเวทนา มีความรู้สึก ซึ่งเมื่อมีความรู้สึกเกิดขึ้นเป็นสุขบ้าง เฉยๆ บ้าง หรือเป็นทุกข์บ้าง ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ความพอใจในความรู้สึกนั้นๆ ทำให้เกิดความต้องการ ที่จะให้เกิดความรู้สึกที่น่าพอใจนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะว่ามีความยินดี มีความติดข้องในเวทนานั้น
เมื่อมีตัณหาคือมีความติดข้องแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้มีอุปาทาน ความยึดมั่น เมื่อมีความยึดมั่น ก็เป็นเหตุให้เกิดการกระทำต่างๆ ซึ่งเป็นกรรมภพ และเมื่อมี กรรมภพก็ต้องมีชาติคือการเกิด และเมื่อมีการเกิด จะพ้นไปจากชรา และมรณะ เป็นไปไม่ได้เลย
ด้วยเหตุนี้ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่ามิจฉาปฏิปทา ไม่ต้องมีใครทำอะไรเลย เป็นอยู่แล้ว มิจฉาปฏิปทา เพราะว่าเป็นธรรมที่ทำให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น จะเป็นสัมมาปฏิปทาไม่ได้
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาปฏิปทาเป็นไฉน เพราะอวิชชานั่นแหละดับ ด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับนามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับสฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับเพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่าสัมมาปฏิปทา
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ในสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมา จิตเกิด และก็ดับทีละขณะ เคลื่อนไป ไม่มีอยู่นิ่งเลย ที่จิตจะเกิดแล้วไม่ดับไม่มี ก็เคลื่อนไปๆ ทุกขณะ เป็นปฏิปทา เป็นหนทาง ซึ่งทุกท่านในขณะนี้ก็ทราบความละเอียดแล้วว่า เป็นมิจฉาปฏิปทา หรือสัมมาปฏิปทา
ข้อความใน อรรถกถา ปฏิปทาสูตรที่ ๓ มีว่า
บทว่า มิจฺฉาปฏิปทํ ความว่า นี้เป็นปฏิปทา ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์
จะเกิดแล้วเกิดอีก เกิดอีกเกิดแล้ว ก็ไม่พ้นจากการเกิด เพราะฉะนั้น ก็ไม่พ้นจากการตาย ไม่พ้นจากทุกข์
ถามว่า ก็เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีปุญญาภิสังขารบ้าง อเนญชาภิสังขารบ้าง มิใช่หรือ อภิสังขารทั้งสองนั้น เป็นมิจฉาปฏิปทาได้อย่างไร
สำหรับอปุญญาภิสังขาร ไม่มีใครสงสัย เพราะว่าเป็นอกุศลกรรม แต่สงสัย ปุญญาภิสังขารซึ่งเป็นกามาวจรกุศล และรูปาวจรกุศล กับอเนญชาภิสังขารซึ่งเป็น อรูปาวจรกุศลจิต คือ ผู้ที่อบรมเจริญความสงบของจิตจนกระทั่งบรรลุฌานขั้น อรูปฌาน ไม่หวั่นไหว เพราะว่าไม่มีรูปเป็นอารมณ์
แก้ว่า เพราะถือวัฏฏะเป็นสำคัญ สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งบุคคลปรารถนาวัฏฏะ กล่าวคือภพ ๓ ปฏิบัติ โดยที่สุดอภิญญา ๕ หรือสมาบัติ ๘ สิ่งทั้งหมดเป็นไปในฝ่ายวัฏฏะ จัดเป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะถือวัฏฏะเป็นสำคัญ
ส่วนสัมมาปฏิปทานั้น ข้อความในอรรถกถามีว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันบุคคลปรารถนาวิวัฏฏะคือพระนิพพาน ปฏิบัติ โดยที่สุด ถวายทานเพียงข้าวยาคูกระบวยหนึ่งก็ดี เพียงถวายใบไม้กำมือหนึ่งก็ดี สิ่งทั้งหมดนั้นจัดเป็นสัมมาปฏิปทาโดยแท้ เพราะเป็นฝ่ายวิวัฏฏะ
... คำว่า ปฏิปทานี้ เป็นชื่อของมรรค ๔ พร้อมด้วยวิปัสสนา เพราะท่านแสดงปฏิปทาโดยผลว่านำไปสู่อะไร
คือ ถ้าเป็นมิจฉาปฏิปทาก็นำไปสู่กองทุกข์ การเกิด การตาย แต่ถ้าเป็น สัมมาปฏิปทาก็นำไปสู่การดับทุกข์ทั้งหมด
สำหรับผู้ที่ปรารถนาวิวัฏฏะ คือ พระนิพพาน ไกลมาก เพราะฉะนั้น ที่จะ รู้แจ้งพระนิพพานได้ ก็คืออบรมเจริญปัญญาละคลายอกุศลธรรมคืออวิชชา และความติดข้องที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งการที่จะ ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ไม่ง่ายเลย เพราะ ต้องในขณะที่ทางตากำลังเห็น และรู้ความจริงว่า ปรมัตถธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นจึงจะเป็นหนทางละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และยังจะมีอกุศลอื่นอีกมากมาย ซึ่งดูเหมือนว่าละไม่ยากเท่ากับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เช่น ความผูกโกรธ หรือการไม่อภัย
ท่านผู้ฟังคิดว่า ง่ายกว่าการละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนหรือเปล่า เพราะว่าบางคนสละวัตถุง่าย ไม่ยากเลย มีฉันทะสะสมมาเป็นผู้ที่มีทานุปนิสัย พร้อมที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น แต่แม้กระนั้นการที่จะละการยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตนต้องยากกว่า เพราะว่าเป็นเรื่องของปัญญา หรือบางท่านก็อาจจะเป็นผู้ที่มีจิตใจดี มีเมตตากรุณา แต่ถึงอย่างนั้นการละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลก็ยาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่ละเอียด และลึกมาก สละอื่น ก็ยังสละได้ แต่จะให้สละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ถ้าไม่ใช่ปัญญา ที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ขณะนั้นไม่สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้
เรื่องของการอบรมเจริญกุศล เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ก็จะต้องประกอบพร้อมกันไปทุกอย่างเท่าที่สามารถจะเกิดได้ มิฉะนั้นก็จะเป็นผู้ที่หนาแน่น ด้วยอกุศล และยากจริงๆ ที่จะละคลายอกุศลนั้นได้
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)