บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 11


    พระองค์ทรงแสดงนางอัปสรทั้งหลายแก่นันทกุลบุตร แล้วประทานพระอรหัต ทรงประทานผ้าเก่าแก่พระจุลปันถกะ แล้วประทานพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ทรงประทานดอกปทุมแก่นายช่างทอง แล้วประทานพระอรหัต พระองค์ทรงแนะ สัตว์ทั้งหลายด้วยอุบายต่างๆ อย่างนี้

    พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ

    เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระองค์ตรัสว่า

    ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้นที่ตถาคตเป็นผู้ฉลาดในอุบาย โดยรู้อุบายว่า นี้เป็นดังนี้ แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็เป็นผู้ฉลาดในอุบายเหมือนกัน

    แล้วตรัสเล่าเรื่องความเป็นมาในอดีต

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ชนบทไม่มีเงินใช้ เพราะพระเจ้าพรหมทัตทรงบีบบังคับชาวชนบทขนเอาทรัพย์ไปหมด ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ กาสิกคาม ครั้งเจริญวัยแล้วได้ไปยัง เมืองตักสิลา กล่าวกับอาจารย์ว่า ข้าพเจ้าจักเที่ยวขอเขาโดยธรรม แล้วจักนำเอาทรัพย์มาให้อาจารย์ภายหลัง

    คือ ขอเรียนก่อน แล้วจะนำทรัพย์มาให้ภายหลัง

    แล้วท่านก็เริ่มเรียนศิลปศาสตร์ เมื่อเรียนสำเร็จแล้วก็บอกอาจารย์ว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ กระผมจะไปนำทรัพย์ค่าจ้างสอนมาให้ท่าน

    และได้ออกไปตามชนบท แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทองคำ ๗ ลิ่ม จะเอาไปให้อาจารย์ แต่ในระหว่างทางนั้นได้ลงเรือข้ามแม่น้ำคงคา ขณะที่เรือโคลง ไปมา ทองคำของพระโพธิสัตว์ก็ตกน้ำหมด

    พระโพธิสัตว์คิดว่า เงินเป็นของหายาก เมื่อเราจะเที่ยวแสวงหาทรัพย์ ค่าจ้างสอนตามชนบทก็จะเนิ่นช้า อย่ากระนั้นเลย เราควรนั่งอดอาหารอยู่ที่ ฝั่งแม่น้ำคงคานี่แหละ พระราชาจักทรงทราบความที่เรานั่งอยู่โดยลำดับ ก็จะส่ง พวกอำมาตย์มา เราจะไม่พูดจากับพวกอำมาตย์เหล่านั้น

    เป็นความคิดซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะเดาไม่ออกว่า เรื่องจะเป็นไปอย่างไร แต่ผู้ที่ มีปัญญาก็มีความคิดที่คนอื่นคิดไม่ถึง

    ลำดับนั้นพระราชาก็จะเสด็จมาเอง

    คือ ท่านคิดว่า เราจะไม่พูดจากับพวกอำมาตย์เหล่านั้น และพระราชาก็จะเสด็จมาเอง

    เราก็จะได้ทรัพย์ค่าจ้างสอนในสำนักของพระราชาด้วยอุบายนี้

    เมื่อท่านคิดอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ห่มผ้าสาฎกเฉวียงบ่า เอายัญและสายสิญจน์วงไว้โดยรอบ นั่งอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ประดุจรูปปฏิมาทองคำบนพื้นทราย ซึ่งมี สีดุจแผ่นเงินฉะนั้น

    มหาชนเห็นพระโพธิสัตว์นั่งอดอาหารอยู่ จึงถามว่า ท่าน นั่งทำไม

    พระโพธิสัตว์ไม่ได้กล่าวแก่ใครๆ สักคำเดียว

    วันรุ่งขึ้น ผู้ที่อยู่บ้านใกล้ประตูพระนครได้ฟังว่า พระโพธิสัตว์นั่งอยู่ที่นั้น ก็ได้พากันไปถาม พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้กล่าวอะไรแม้สักคำเดียวกับชนเหล่านั้น

    ชนเหล่านั้นเห็นความลำบากของพระโพธิสัตว์ ก็พากันคร่ำครวญหลีกไป

    ถามอะไรก็ไม่บอก นั่งอยู่เฉยๆ อย่างนั้นเอง คนก็สงสาร

    ในวันที่ ๓ ชาวพระนครพากันมา

    ในวันที่ ๔ อิสรชนพากันมาจากในพระนคร

    พวกมียศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ ก็มา

    ในวันที่ ๕ ราชบุรุษพากันมา

    ในวันที่ ๖ พระราชาทรงส่งพวกอำมาตย์มา พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้กล่าวแม้กับชนเหล่านั้น

    ในวันที่ ๗ พระราชาทรงกลัวภัย จึงเสด็จไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์

    เมื่อจะตรัสถาม จึงตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า

    ดูกร พราหมณ์ เราส่งทูตทั้งหลายมาเพื่อท่านผู้เพ่งอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำคงคา ทูตเหล่านั้นถามท่าน ท่านก็ไม่ได้บอกให้แจ่มแจ้ง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับท่านนั้น เป็นความตายของท่านมิใช่หรือ

    ต้องเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตแน่ ไม่อย่างนั้นก็คงจะไม่มานั่งเฉยๆ ไม่พูดจากับใครตลอด ๗ วัน

    พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงทูลว่า

    ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์จะบอกแก่ผู้ที่สามารถจะนำทุกข์ไปได้เท่านั้น ไม่บอกแก่คนอื่น

    แล้วได้กล่าวคาถา ๗ คาถาว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบำรุงรัฐกาสีให้เจริญ ถ้าความทุกข์เกิดขึ้นแก่พระองค์ ผู้ใดไม่พึงเปลื้องทุกข์จากพระองค์ได้ พระองค์อย่าได้ตรัสบอกความทุกข์นั้นแก่ผู้นั้น

    ทุกคนมีความทุกข์ แต่ผู้ที่ฉลาดต้องพิจารณาว่า จะบอกหรือไม่บอกใคร เพราะถ้าคนอื่นช่วยไม่ได้ หรือคนที่จะบอกช่วยไม่ได้ ก็เท่ากับไปยกทุกข์ให้กับคนอื่น คือ พลอยทำให้เขาเป็นทุกข์ลำบากไปด้วยนั่นเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฉลาดต้องรู้ว่า ควรจะบอกกับใคร

    ท่านกล่าวว่า

    ผู้ใดเปลื้องทุกข์ของบุคคลผู้เกิดทุกข์ได้ส่วนเดียวโดยธรรม พึงบอกเล่าแก่ผู้นั้นได้โดยแท้ ข้าแต่พระราชา เสียงของสุนัขจิ้งจอกก็ดี ของนกก็ดี รู้ได้ง่าย เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากยิ่งกว่านั้น

    เคยฟังหรือเคยสังเกตเสียงนก เสียงสัตว์ บ้างไหม ถ้าเข้าไปในป่าจะได้ยินเสียง สัตว์ ถ้าเป็นนกก็จะร้องด้วยเสียงที่เตือนพวกเดียวกันให้รู้ว่า กำลังมีคนแปลกปลอมหรือมีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจภาษานก แต่เสียงนกมีหลายเสียง เสียงซึ่งเตือนพวกเดียวกันก็มี เพราะฉะนั้น เสียงของสัตว์ทั้งหลายรู้ได้ไม่ยาก แต่ เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากยิ่งกว่านั้น

    อนึ่ง ผู้ใดเมื่อก่อนเป็นผู้ใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้

    ผู้ใดถูกถามเนืองๆ ถึงทุกข์ของตน ย่อมบอกในกาลไม่ควร ผู้นั้นย่อมมีแต่ มิตรผู้แสวงหาประโยชน์ แต่ไม่ยินดีร่วมทุกข์ด้วย

    บุคคลผู้รู้กาลอันควร และรู้จักบัณฑิตผู้มีปัญญา มีใจร่วมกันแล้ว พึงบอกความทุกข์ทั้งหลายแก่บุคคลผู้เช่นนั้น นักปราชญ์พึงบอกความทุกข์ร้อนแก่บุคคลอื่น พึงเปล่งวาจาอ่อนหวานมีประโยชน์

    อนึ่ง ถ้าบุคคลอดกลั้นความทุกข์ของตนไม่ได้ ก็พึงรู้ว่า ประเพณีของโลกนี้ จะมีเพื่อถึงความสุขสำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ นักปราชญ์เมื่อเพ่งเล็งหิริและโอตตัปปะ อันเป็นของจริง พึงอดกลั้นความทุกข์ร้อนไว้ผู้เดียวเท่านั้น

    ข้อความที่ว่า อนึ่ง ถ้าบุคคลอดกลั้นความทุกข์ของตนไม่ได้ ก็พึงรู้ว่า ประเพณีของโลกนี้จะมีเพื่อถึงความสุขสำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ โลกธรรมมี ๘ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ เพราะฉะนั้น ประเพณีของโลกนี้จะมีเพื่อถึงความสุขสำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ คือ เราแต่ละคนจะมีแต่ความสุขอย่างเดียวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีความทุกข์ก็ขอให้ระลึกว่า ไม่ใช่เราคนเดียว และเราก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะความสุขอย่างเดียวเท่านั้น ทุกคนในโลกต้องมีทั้งสุขและทุกข์ด้วย

    พระโพธิสัตว์ครั้นแสดงธรรมถวายพระราชาด้วยคาถา ๗ คาถาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงความที่ตนแสวงหาทรัพย์เพื่ออาจารย์ ได้กล่าวคาถา ๔ คาถาว่า

    ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระองค์ต้องการหาทรัพย์ให้อาจารย์ จึงเที่ยวไป ทั่วแว่นแคว้นนิคมและราชธานีทั้งหลาย ขอกับคฤหบดี ราชบุรุษ และ พราหมณ์มหาศาล ได้ทองคำ ๗ ลิ่ม ทองคำ ๗ ลิ่มของข้าพระองค์นั้นหายเสียแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงเศร้าโศกมาก

    ข้าแต่พระมหาราช บุรุษผู้เป็นทูตของพระองค์เหล่านั้น ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่า ไม่สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์จากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึง ไม่บอกแก่บุรุษเหล่านั้น

    ข้าแต่พระมหาราช ส่วนพระองค์ ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่า พระองค์สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์จากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ

    พระราชาผู้บำรุงรัฐกาสีใหญ่ มีพระหฤทัยเลื่อมใส ได้พระราชทานทองคำ ๑๔ แท่งแก่พระโพธิสัตว์นั้น

    พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทแก่พระราชาแล้ว ให้ทรัพย์แก่อาจารย์ บำเพ็ญกุศล มีทานเป็นต้น แม้พระราชาก็ดำรงอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์ ครองราชย์สมบัติ โดยธรรม แล้วชนทั้ง ๒ ก็ไปตามยถากรรม

    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่ตถาคตเป็นผู้ฉลาดในอุบาย แม้ในกาลก่อนตถาคตก็เป็นผู้ฉลาดในอุบายเหมือนกัน

    แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ อาจารย์ได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนมาณพ คือเราตถาคตนั่นแล

    สังสารวัฏฏ์ยาวนานเหลือเกินกว่าที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็ผลัดกันเป็น ครูอาจารย์ เพราะในชาตินั้นท่านพระสารีบุตรเป็นอาจารย์ และพระผู้มีพระภาคเป็นมาณพ ส่วนท่านพระอานนท์เป็นพระราชา เพราะฉะนั้น ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน ก็ผลัดกันเป็นครูอาจารย์บ้าง แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่รู้ธรรมหรือเข้าใจธรรมก็ไม่ใช่ว่า จะรู้ทางโลกไปเสียทุกอย่าง หรือผู้ที่เฉลียวฉลาดในทางโลกก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้ที่รู้ธรรมเท่าทางโลก

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตรงต่อตัวเองย่อมรู้ว่า ไม่ควรเป็นผู้ทะนงตนหรือสำคัญตน แต่ควรเป็นผู้ที่อ่อนน้อมและสะสมการกระทำทุกอย่างที่ถูกที่ควร เพื่อละคลายอกุศล

    ผู้ฟัง ก่อนอื่นผมขอกราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาท่านอาจารย์ด้วย ที่พูดเรื่องความกังวลใจ ที่คุณนิภัทรถามว่า ทำอย่างไรลักษณะอย่างนี้จึงจะหายไป ผมเข้าใจว่า ถ้าได้ศึกษาเรื่อยๆ สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นก็สามารถรู้ได้ว่า ขณะใด เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ก็อาจจะช่วยเหลือได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ

    ท่านอาจารย์ สำหรับเรื่องของทานหรือเรื่องของกุศลที่จะมีอานิสงส์มากก็คงจะทราบได้ว่า ขณะที่กุศลจิตเกิดเป็นขณะหนึ่ง และขณะที่อกุศลจิตเกิดก่อนหรือหลังกุศลนั้น ก็ต่างกับขณะที่เป็นกุศล

    ทุกคนยังเป็นผู้พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่มีใครปฏิเสธเลย ชีวิตจริงๆ ต้องเป็นอย่างนั้น จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงขั้นบรรลุ เป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะถึงแม้เป็นพระโสดาบันบุคคล หรือพระสกทาคามีบุคคล รู้แจ้งอริยสัจจธรรมและดับกิเลสเป็นลำดับไป แต่ยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ก็ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่อบรมเจริญปัญญาหรือบารมีต่างๆ เพื่อจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อกุศลธรรมก็ยังมีกำลังที่จะทำให้เกิดอกุศลจิตต้องการผลซึ่งเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดีหลังจากที่ทำกุศลแล้ว

    แต่ผู้ที่มีปัญญาจะพิจารณาให้ลึกซึ้งกว่านั้นอีกว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นเหตุที่ดีแน่นอนที่จะทำให้ผลที่ดีเกิด ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ แต่ความติด ความปรารถนา ความต้องการ ที่จะหลงเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า สิ่งที่เป็นบารมีคือขณะที่เป็นกุศล และถ้าอกุศลเกิดภายหลังก็ให้ทราบว่า บารมีคือส่วนในขณะที่เป็นไปกับปัญญาที่รู้ประโยชน์ของกุศล แต่ขณะที่อกุศลเกิด จะเป็นบารมีไม่ได้ เพราะว่าบารมีหมายความถึงธรรมซึ่งทำให้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน

    และการที่จะถึงพระนิพพานได้ คือ การดับกิเลส เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นกุศลโดยที่ไม่หวังผล ขณะนั้นเป็นบารมีได้ แต่ขณะใดที่เกิดความหวัง ความต้องการในผล การหวังหรือการต้องการนั้นไม่ใช่บารมี ซึ่งไม่จำเป็นต้องหวังหรือต้องการ เพราะเมื่อมีเหตุที่ดีแล้ว ผลที่ดีก็ต้องเกิด ถ้ามีการปลูกต้นไม้ผล มีการใส่ปุ๋ย มีการรดน้ำพรวนดิน ถึงเวลาที่จะให้ดอกผลเกิด จะมีใครไปยับยั้งไม่ให้ดอกผลเกิดก็ไม่ได้ กุศลก็เหมือนกัน เมื่อมีเหตุปัจจัยถึงกาลที่จะให้ผล ก็ต้องให้ผล

    เพราะฉะนั้น การที่จะขัดเกลากิเลส การที่จะอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และพิจารณารู้สภาพธรรมที่เป็นอกุศลและกุศลให้ตรงตามลักษณะของกุศลและอกุศลนั้นยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง ผมฟังแล้วก็พอเข้าใจว่า การที่จะให้เป็นบารมีนั้น คือ ไม่หวังผล แต่ถึงแม้จะฟังแล้ว เข้าใจแล้ว บางคราวก็ยังหวังว่า การทำทานหรือรักษาศีล ในภพต่อๆ ไปก็คงจะมีทรัพย์หรือรูปร่างที่อุดมสมบูรณ์ ยังอดไม่ได้ที่จะหวังอย่างนั้น แต่ก็เป็นการดีที่ตอกย้ำเตือนผม เป็นเครื่องเตือนใจให้สติพอระลึกรู้ได้บ้าง

    ท่านอาจารย์ เวลาอื่นที่ไม่ใช่เวลาทำกุศล ก็หวังอยากจะให้ปัญญาเกิด ใช่ไหม เวลานี้หรือเวลาอื่นซึ่งไม่ได้ทำกุศล เช่น ทานกุศล ก็หวังที่จะให้ปัญญาเกิด คงไม่มีใครปฏิเสธ หรือคงไม่มีใครบอกว่า ไม่ต้องการปัญญา

    ทุกคนหวังที่จะให้มีปัญญามากๆ แต่เวลาทำกุศล ก็ไม่ได้หวังปัญญา กลับไปหวังอย่างอื่น ใช่ไหม หวังทรัพย์สมบัติ หวังรูปสมบัติ หวังอะไรต่างๆ แต่เวลาอื่นทำไมอยากจะให้ปัญญาเกิดมากๆ อยากจะให้มีปัญญาคมกล้า แต่ตอนทำกุศลเสร็จ ไม่ได้หวังปัญญา หวังอย่างอื่น

    แสดงให้เห็นว่า โลภะต้องการทุกอย่างโดยที่ไม่ได้คิดถึงเหตุว่า เหตุที่จะให้ ผลนั้นๆ เกิด เช่น ปัญญา จะเกิดเพราะโลภะ หรือความหวัง หรือความต้องการไม่ได้ แต่ต้องเกิดเพราะกรรม

    สำหรับปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ ฉันทเจตสิก ๑ ในบรรดา ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวงนั้น วิริยเจตสิกเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่เมื่อเจริญขึ้นทาง ฝ่ายกุศลแล้วจะเป็นวิริยบารมี เป็นบริวารของปัญญาที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ วิริยเจตสิกนั้นเกิดเป็นประจำ ยกเว้นอเหตุกจิตเพียง ๑๖ ดวงเท่านั้นที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น วิริยะที่กำลังเกิดในขณะนี้เป็นทางฝ่ายกุศลหรือฝ่ายอกุศล ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศล ไม่เป็นบารมีเลย ซึ่งทุกท่านก็พอจะสังเกตเห็นวิริยะที่เป็นไปในโลภะเป็นส่วนใหญ่ได้

    เวลาที่มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา ปรารถนาที่จะเห็น ขณะนั้นมีวิริยะ ที่จะสร้างสิ่งสวยงามที่ปรารถนาจะดูให้เกิดขึ้น นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งวิริยะเป็นปกิณณกเจตสิกเกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ แต่เมื่อเกิดกับอกุศลจิต เป็นประจำมานานแสนนานแล้ว ก็ควรจะเห็นประโยชน์ของวิริยบารมีว่า แทนที่จะเพียรในทางอกุศล ก็ควรเพียรเพื่อที่จะให้วิริยะนั้นเป็นวิริยบารมี เพราะฉะนั้น ก็ควร ที่จะพิจารณาลักษณะของวิริยเจตสิกซึ่งกำลังเกิดอยู่ในขณะนี้ด้วย

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า

    วิริยะมีอุตสาหะเป็นลักษณะ

    มีการอุปถัมภ์สหชาตธรรมทั้งหลายเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    มีความไม่ท้อแท้ใจเป็นปัจจุปัฏฐาน

    มีความสลดใจเป็นปทัฏฐาน

    ถ้าจะดูวิริยะที่พอจะเห็นได้ คือ ในขณะที่ขยันหมั่นเพียร ซึ่งตรงกันข้าม กับขณะที่เกียจคร้าน แต่โดยอภิธรรมคือธรรมที่ละเอียดที่ทรงแสดงไว้ถึงเจตสิกที่ เกิดกับจิต จะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่กำลังเกียจคร้านก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เป็นวิริยะในทางเกียจคร้าน เป็นไปได้ไหม

    ไม่มีใครอยากจะขยันเท่าไร ขี้เกียจสบายกว่า จริงหรือไม่จริง เพราะฉะนั้น แม้ในขณะที่กำลังเกียจคร้านก็มีวิริยะที่จะเกียจคร้านต่อไปอีก แสดงให้เห็นว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่ควรต้องพิจารณาแม้แต่ลักษณะ รสะ คือ กิจ ปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ และปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิด

    สำหรับลักษณะของวิริยเจตสิกอีกประการหนึ่ง ซึ่งหลายท่านอาจจะไม่ได้พิจารณา ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีว่า

    ความเป็นผู้กล้าหาญ คือ การกระทำของคนกล้าหาญ และความไม่ย่อหย่อน นั้นเป็นลักษณะของวิริยเจตสิก

    มี ๒ คน คนหนึ่งกล้า คนหนึ่งขลาด แต่โดยอภิธรรม แม้คนขลาดก็ต้องมีวิริยะที่จะขลาด แต่คนกล้าจะแสดงให้เห็นถึงลักษณะของวิริยะชัดเจนว่า ต้องเป็นผู้มี ความเพียรที่จะทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จ ไม่ว่าจะมีอุปสรรค หรือมีอันตรายอย่างไรก็ตาม ความกล้าหาญนั้นเป็นลักษณะของวิริยเจตสิก ซึ่งถ้าเป็นไปในทางฝ่ายกุศล วิริยะนั้น ก็จะถึงฐานะของความเป็นอินทริยะ คือ เป็นวิริยินทรีย์ เมื่อเกิดร่วมกับศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา และเมื่อเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นสัมมาวายามะ เป็นความเพียรชอบที่จะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ในขณะนี้ตามความเป็นจริง และเมื่อมีปัญญาเพิ่มขึ้น วิริยะนั้นก็เป็นวิริยพละ มีกำลัง ไม่หวั่นไหวที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทุกเหตุการณ์ ไม่มีการคิดว่า ขณะนี้จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายวิริยินทรีย์เพื่อให้ทุกท่านได้ตรวจสอบลักษณะของวิริยเจตสิก ซึ่งมีข้อความว่า

    ความเป็นไปแห่งความกล้า ชื่อวิริยะ หรือการกระทำของคนกล้า เป็นวิริยะ

    ท่านผู้ฟังกล้าหรือขลาด นี่เป็นการที่จะทดสอบ วันหนึ่งๆ มีความกล้าอะไรบ้างหรือเปล่า กล้าที่จะพูดในสิ่งที่ถูก หรือกล้าที่จะเป็นผู้ที่สุจริตโดยไม่กลัวต่อความเดือดร้อน ความลำบาก ความขัดสน ความยากจนหรือเปล่า นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงลักษณะของวิริยะ หรือบางท่านก็กล้าที่จะแสดงเหตุและผลของธรรมโดยที่ไม่เกรงว่า จะไม่เป็นที่รักของคนพาล หรืออาจจะมีคนที่เข้าใจเจตนานั้นผิดก็ได้ แต่ ธรรมก็คือธรรม ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่กล้า จะเห็นการกระทำที่กล้าได้ ทุกอย่าง ทั้งในทางโลกและในทางธรรม

    อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิริยะ เพราะให้ดำเนินไป คือ ให้เป็นไปด้วยวิธีคือนัย ได้แก่ อุบาย (หมายถึงความฉลาด)

    วิริยะนั้นแล ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะอรรถว่า เป็นอธิบดี โดยครอบงำ ความเกียจคร้านได้

    อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะการประคอง

    วิริยะกำลังเกิดกับทุกท่าน แต่ถ้าพระธรรมไม่ทรงแสดงไว้ไม่มีทางที่จะรู้จักลักษณะของวิริยะโดยนัยประการต่างๆ ได้ แม้แต่ว่า ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะการประคอง ขณะใดที่กุศลจิตเกิด หรือท่านกำลังทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความขยันอดทน ให้ทราบว่า มีวิริยเจตสิกซึ่งกำลังประคองอยู่ในขณะนั้น กิจการงานนั้นจึงกระทำไปโดยที่ไม่ท้อถอยได้

    วิริยะนั่นแลเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่าวิริยินทรีย์ ก็วิริยะนั้นมีการอุปถัมภ์ค้ำจุน เป็นลักษณะ และมีการประคองเป็นลักษณะ ผู้อบรมเจริญปัญญา ผู้ได้รับ ความอุปถัมภ์ด้วยการอุปถัมภ์คือวิริยะ ย่อมไม่เสื่อม คือ ไม่เสื่อมรอบจากกุศลธรรมทั้งหลาย เช่นเดียวกับเรือนเก่าย่อมทรงอยู่ได้เพราะมีเครื่องค้ำจุน คือ เสาที่เอา เข้ามาใส่ ฉะนั้น

    ขณะนี้ถ้าใครเบื่อ ใครขี้เกียจ ใครง่วง ใครท้อถอย ให้ทราบได้ว่า เหมือน เรือนเก่าซึ่งกำลังผุพัง เพราะไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ หรือดำรงอยู่ หรือดำเนินไปใน กุศลทั้งหลายได้ เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะอุปถัมภ์ค้ำจุน และมีการประคองเช่นเดียวกับเรือนเก่าที่ต้องเอาเสาเข้ามาใส่ จึงประคองให้เรือนนั้น ให้ตั้งอยู่ได้

    ในเบื้องแรก พึงทราบความที่วิริยะนั้นมีการค้ำจุนเป็นลักษณะ

    ท่านทรงแสดงอุปมาหลายอย่างเพื่อให้เข้าใจลักษณะสภาพของวิริยเจตสิก ซึ่งกำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้

    เหมือนอย่างว่า เมื่อกองทัพน้อยกับกองทัพใหญ่ทำสงครามกัน กองทัพน้อยถอยร่น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    26 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ