บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 17
ข้อความต่อไป
มีคำถามว่า เพราะเหตุไรบาตรและจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์จึงไม่เกิดแก่ ท่านปุกกุสาติ
ตอบว่า เพราะความที่บริขาร ๘ อย่าง อันกุลบุตรไม่เคยให้ทานแล้วในกาลก่อน
นี่สำหรับคนทั่วไป
แต่ว่ากุลบุตรนี้ มีทานเคยถวายแล้ว มีอภินิหารได้กระทำแล้ว จึงไม่ควรกล่าวว่า เพราะความที่ทานไม่เคยให้แล้ว ก็บาตรและจีวรอันสำเร็จแต่ฤทธิ์ ย่อมเกิดแก่สาวกทั้งหลายผู้มีภพสุดท้ายเท่านั้น ส่วนกุลบุตรนี้ยังมีปฏิสนธิอีก
คือ ต้องบรรลุถึงความเป็นอรหันต์ แต่ท่านปุกกุสาติบรรลุคุณธรรมเป็น พระอนาคามีบุคคล ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์
และอีกประการหนึ่ง ก็เพราะว่าอายุของกุลบุตรนี้สิ้นแล้ว
คือ ถึงเวลาที่ท่านจะต้องสิ้นชีวิต เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านไม่ได้บาตรและจีวรอันสำเร็จแต่ฤทธิ์ แต่จริงๆ แล้วการที่บาตรและจีวรจะสำเร็จแต่ฤทธิ์นั้น ย่อมมีแก่สาวกทั้งหลายผู้มีภพสุดท้ายคือเป็นพระอรหันต์เท่านั้น
มหาพรหมผู้อนาคามีชั้นสุทธาวาส ก็เป็นราวกะมาสู่ศาลาช่างหม้อแล้วนั่งอยู่
คือ ต่อจากนั้นไม่นานเลย ท่านก็จะปฏิสนธิเป็นพรหมในชั้นอวิหาภูมิ ซึ่งเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาส
สำหรับพรหมในชั้นสุทธาวาส ต้องเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอนาคามี และได้ปัญจมฌานเท่านั้น ถ้าไม่ได้ปัญจมฌาน ไม่สามารถปฏิสนธิ ในสุทธาวาสภูมิได้ เพราะฉะนั้น ท่านปุกกุสาติก่อนจะสิ้นชีวิต ใกล้ต่อการจะเป็น รูปพรหมในสุทธาวาสภูมิ จึงมีข้อความในอรรถกถาว่า มหาพรหมผู้อนาคามี ชั้นสุทธาวาส ก็เป็นราวกะมาสู่ศาลาช่างหม้อแล้วนั่งอยู่ คือ อีกไม่นานก็จะเปลี่ยนสภาพจากท่านปุกกุสาติเป็นรูปพรหมชั้นสุทธาวาสภูมิ
ท่านผู้ฟังจะมีชีวิตอีกกี่ปี ซึ่งทุกคนก็จะต้องอดทนในการเจริญกุศลที่เป็นบารมี ถ้าไม่มีความอดทน กุศลก็เจริญไม่ได้ บารมีก็เต็มเปี่ยมไม่ได้
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา นิทานกถาวรรณนา มีข้อความว่า
ปัญญาบารมีที่ส่งเสริมเพิ่มเติมด้วยบารมีทั้งหลายมีทานบารมีเป็นต้น ของพระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายแม้เหล่านี้ ย่อมตั้งท้อง ถึงความสุกงอม ยังพระพุทธญาณให้บริบูรณ์โดยลำดับฉันใด ปัญญาบารมีที่ส่งเสริมเพิ่มเติมด้วย บารมีทั้งหลายมีทานบารมีเป็นต้นของพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตั้งท้อง ถึงความสุกงอม ยังพระปัจเจกโพธิญาณและ สาวกโพธิญาณให้บริบูรณ์ตามสมควรโดยลำดับ
แสดงให้เห็นถึงความอดทนต่อไป ไม่ใช่ความอยากที่จะรู้แจ้ง ต้องอดทน เจริญปัญญาโดยไม่หวังผล คือ ไม่คิดว่าชาตินี้ขอให้ได้บรรลุนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ควรที่จะหวังผลเลย หวังไม่ได้ เพราะว่าต้องเป็นการอบรมเจริญบารมีไปเรื่อยๆ
ข้อความต่อไปมีว่า
ก็ความอดทนอย่างยิ่งในการบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เพื่อปัจเจกโพธิญาณหรือสาวกโพธิญาณ นี้ชื่อว่าวิริยะ ความอดทนต่อความโกรธนั้นใด นี้ชื่อว่าขันติ การให้ทาน การสมาทานศีล เป็นต้น และการไม่กล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความ เป็นจริงอันใด นี้ชื่อว่าสัจจะ การอธิษฐานใจที่ไม่หวั่นไหวแน่วแน่อันให้สำเร็จประโยชน์ในที่ทั่วไปนั่นแหละ ชื่อว่าอธิษฐาน การมุ่งประโยชน์ในหมู่สัตว์อันเป็นพื้นฐานของความเป็นไปแห่งทานและศีลเป็นต้น นี้ชื่อว่าเมตตา การวางเฉยในประการที่ ไม่เหมาะสมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว ชื่อว่าอุเบกขา ดังนั้น เมื่อทาน ศีล ภาวนา และศีล สมาธิ ปัญญามีอยู่ บารมีทั้งหลายมีวิริยบารมีเป็นต้น ย่อมชื่อว่า สำเร็จแล้วทีเดียว ด้วยอาการอย่างนี้
ยากไหม เพียงอยากไม่พอ ต้องพร้อมด้วยเหตุ คือ บารมี
สำหรับขันติบารมี ซึ่งเป็นการอบรมความอดทน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความตอนหนึ่งที่เตือนให้ระลึกถึง ขันติของตนเองว่า
อนึ่ง ผู้มีปัญญาเท่านั้นเป็นผู้มีความอดกลั้นต่อความเสียหายที่ผู้อื่นกระทำ ผู้มีปัญญาทราม ไม่เป็นผู้อดกลั้น
กาย วาจาที่ไม่ดีของคนอื่น ขณะใดที่สามารถอดกลั้น อดทน ไม่โกรธ ไม่ขุ่นเคือง ขณะนั้นให้ทราบว่า เพราะขันติ และถ้ามีบ่อยๆ ก็จะเป็นความไม่ยาก ไม่ลำบากต่อการที่จะกระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หรือว่ากายวาจาที่ไม่ดีของคนอื่น
ความเสียหายที่ผู้อื่นนำไปให้แก่ผู้ปราศจากปัญญา ย่อมเพิ่มพูนความ เป็นปฏิปักษ์ของความอดทน แต่ความเสียหายเหล่านั้นของผู้มีปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งขันตินั้น ด้วยเพิ่มพูนความสมบูรณ์แห่งขันติ
ในที่นี้มี ๒ บุคคล ผู้มีปัญญากับผู้ทรามปัญญา ถ้าเป็นผู้มีปัญญา ไม่ว่า ความเสียหายใดๆ ที่คนอื่นกระทำกับท่าน ย่อมเพิ่มพูนความมั่นคง ความสมบูรณ์แห่งขันติ แต่ถ้าเป็นผู้ทรามปัญญา ความเสียหายที่ผู้อื่นนำไปให้แก่ผู้ปราศจากปัญญา ย่อมเพิ่มพูนความเป็นปฏิปักษ์ของความอดทน
ต่อไปนี้ไม่เดือดร้อน ใครทำอะไรให้ ก็เป็นแบบฝึกหัด เป็นการทดลองพิสูจน์ว่า ท่านมีขันติ มีความอดทน เพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้ามีขันติ มีความอดทนเพิ่มขึ้น ก็จะรู้ได้ว่า เพิ่มขึ้นอีกๆ และเป็นบารมีด้วย แต่กายวาจาที่ไม่ดีของคนอื่น ความเสียหายที่ผู้อื่นนำไปให้ผู้ปราศจากปัญญา ย่อมเพิ่มพูนความเป็นปฏิปักษ์ของความอดทน ทันทีนั้นเลยที่ได้ยิน ดูปฏิกิริยาหรือการตอบโต้ของท่านต่อบุคคลซึ่งกระทำความเสียหายให้แก่ท่าน เพื่อจะได้ทราบว่า ท่านเป็นผู้ที่ปราศจากปัญญา หรือเป็น ผู้ที่มีปัญญา
สำหรับความเพียรที่ควรกระทำ วิริยเจตสิกเกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาเรื่องความเพียรที่เป็นกุศล ที่ควรกระทำด้วย
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อาตัปปสูตร ข้อ ๔๘๙
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเพียรพึงกระทำโดยสถาน ๓ สถาน ๓ คืออะไร คือ ความเพียรพึงกระทำเพื่อยังธรรมที่เป็นบาปอกุศลอันยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ๑ เพื่อยังธรรมที่เป็นกุศลอันยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๑ เพื่ออดกลั้นเวทนาที่เกิดในกาย อันเป็นทุกข์กล้าแข็งเผ็ดร้อนข่มขื่นไม่เจริญใจพอจะคร่าชีวิตได้ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุทำความเพียรเพื่อยังธรรมที่เป็นบาปอกุศล อันยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพื่อยังธรรมที่เป็นกุศลอันยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่ออดกลั้นเวทนาที่เกิดในกายอันเป็นทุกข์กล้าแข็งเผ็ดร้อนข่มขื่นไม่เจริญใจพอจะคร่าชีวิตได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญา มีสติ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ
จบ อาตัปปสูตรที่ ๑๐
ข้อความสั้นมาก แต่ทำให้ระลึกได้ถึงความเพียรที่พึงกระทำโดยสถาน ๓ ซึ่งจะต้องเพิ่มขันติ ความอดทนขึ้น
ข้อความในอรรถกถามีว่า
บทว่า อธิวาสนาย ได้แก่ เพื่อต้องการยับยั้ง คือ เพื่อต้องการอดทน ได้แก่ เพื่อต้องการอดกลั้น
ความอดทนทุกประการในความเป็นอยู่ ในสถานการณ์ต่างๆ เป็นเครื่อง พิสูจน์ถึงขันติ ความอดทน
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อักขมสูตร ข้อ ๘๕
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่เป็น ที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน คือ ภิกษุผู้เถระเป็นผู้ไม่อดทน ต่อรูปารมณ์ ๑ เป็นผู้ไม่อดทนต่อสัททารมณ์ ๑ เป็นผู้ไม่อดทนต่อคันธารมณ์ ๑ เป็นผู้ไม่อดทนต่อรสารมณ์ ๑ เป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพารมณ์ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อม ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์
ฝ่ายตรงกันข้าม คือ ผู้ที่อดทนต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ฉะนั้น ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ และ ไม่ใช่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่พระภิกษุเท่านั้น แต่สำหรับพุทธบริษัท ทั้งหมดด้วย ซึ่งเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา
แสดงให้เห็นว่า ความจริงย่อมเป็นความจริง คือ ผู้ที่จะเป็นที่รัก ที่พอใจ ที่เคารพ ที่ยกย่อง ต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
บางคนไม่ได้พิจารณาเรื่องของความอดทน และไม่ได้สะสมความอดทน เพราะฉะนั้น จะเห็นอันตรายของคนที่ทนไม่ได้ เพราะคนนั้นจะทนไม่ได้แม้ความสุขของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องของตัวเองเลย ตัวเองก็มีความสุข ไม่มีความเดือดร้อน แต่ผู้ที่ ไม่อดทนและมีความไม่อดทนอย่างมากที่เคยสะสมมาแล้ว จะทำให้เป็นผู้ที่ทนไม่ได้ แม้ในความสุขของคนอื่น
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต มัจฉริยสูตร ข้อ ๑๑๕ มีข้อความว่า
บทว่า อาวาสมัจฉรินี เห็นผู้อื่นอยู่ในอาวาสนั้น ทนไม่ได้
ต้องพิจารณาตนเองว่า เคยมีความคิด ความรู้สึกแม้เพียงเล็กน้อยอย่างนี้ บ้างไหม เวลาที่เห็นอาวาสที่อยู่ที่อาศัยของคนอื่น บางทีมีการพูดถึง มีการวิพากษ์วิจารณ์ โดยที่ในขณะนั้นไม่ได้พิจารณาจิตว่า จิตที่กล่าวถึงอาวาสที่อยู่ที่อาศัย บ้านเรือนของคนอื่นเป็นจิตประเภทใด ทนได้หรือเปล่าต่อการที่จะเห็นรูปารมณ์ สิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าทนไม่ได้ในการเห็นผู้อื่นอยู่ในที่อยู่อาศัยนั้น ก็จะมีคำพูดที่แสดง ให้เห็นถึงความทนไม่ได้ ในขณะที่เห็นแม้เพียงที่อยู่ของคนอื่น
กุลมัจฉรินี เห็นผู้อื่นเข้าไปหาตระกูลนั้น ทนไม่ได้
มีญาติสนิทมิตรสหาย มีบริวาร มีพวกเพื่อนฝูงซึ่งติดต่อคบหาสมาคมกับ สกุลใด และท่านมีความรู้สึกไม่พอใจ ทนไม่ได้ ไม่ใช่พวกพ้อง ไม่ใช่พรรคพวก ขณะนั้นให้เห็นว่า เป็นผู้ที่ไม่ได้อดทนต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ลาภมัจฉรินี เห็นลาภเกิดแก่ผู้อื่น ทนไม่ได้
วัณณมัจฉรินี เห็นเขากล่าวคุณความดีของคนอื่น ทนไม่ได้
ธัมมมัจฉรินี ไม่ปรารถนาจะให้ปริยัติธรรมแก่ผู้อื่น
คือ ไม่เกื้อกูลให้คนอื่นมีความรู้มีความเข้าใจมากๆ เพราะอาจจะเกรงว่า คนอื่นจะเก่งกว่า
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งท่านได้ฟังพระธรรม และท่านก็มีโอกาสเกื้อกูลธรรมแก่คนอื่น แต่ในตอนต้นๆ ท่านไม่กล่าวธรรมที่จะทำให้คนอื่นมีความเข้าใจมาก เพราะท่านเกรงว่าคนนั้นจะเข้าใจมากกว่าท่าน ต่อมาภายหลังท่านมีความเข้าใจธรรมมากขึ้นว่า เป็นเรื่องของการละ เป็นเรื่องของการขัดเกลา เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้น ก็ได้เล่าให้ฟังถึงในตอนต้นที่ไม่อยากให้คนอื่นเก่งกว่า แต่ภายหลังก็เห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดาซึ่งทุกคนสะสมมาอย่างไร จะมีความรู้ความสามารถอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ แต่ละท่านจะต้องกระทำกิจ คือ การขัดเกลากิเลสของตนเอง แสดงให้เห็นถึงความอดทน ที่จะต้องมีสติเกิดขึ้นระลึกเป็นไปในกุศล จึงจะสามารถอดทนได้ และควรที่จะได้ทราบว่า ข้อความในพระไตรปิฎกกล่าวถึง คุณของขันติ และโทษของอขันติ คือ ความไม่มีขันติ อย่างไร
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมอขันติสูตร ข้อ ๒๑๕
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ผู้ไม่อดทนย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก ย่อมเป็นผู้ มากด้วยเวร ย่อมเป็นผู้มากด้วยโทษ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้แล
เป็นความจริงที่ว่า ผู้ไม่อดทนย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคน เป็นอันมาก ย่อมเป็นผู้มากด้วยเวร
เวลาที่กระทบสิ่งที่ไม่พอใจและหงุดหงิด ขณะนั้นให้ทราบว่า จะต้องเป็นอุปนิสัยที่สะสมทำให้มีความขุ่นใจ ไม่พอใจอยู่บ่อยๆ เนืองๆ มากกว่าคนที่อดทน เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นผู้ที่มากด้วยโทษ เพราะเมื่อเป็นอกุศลของตนเอง ตนเอง ก็ต้องเป็นผู้ได้รับโทษจากอกุศลของตน คนอื่นจะทำโทษให้กับบุคคลนั้นไม่ได้เลย นอกจากกิเลสของตนเอง และ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ
เวลาที่ไม่อดทนมากๆ ลืมตัวด้วยความโกรธ และถ้าเป็นบ่อยๆ จะทำให้ แม้ในขณะที่ใกล้จะสิ้นชีวิต หากเกิดมีความโกรธ ความเจ็บ ความปวด ความ ไม่พอใจอย่างรุนแรง ขณะนั้นย่อมไม่อดทน เพราะไม่ได้อบรมที่จะเป็นผู้ที่มีความอดทน และเมื่อไม่อดทนก็ต้องเป็นไปตามอกุศลในขณะนั้น จึงเป็นผู้ที่หลงกระทำกาละ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทุกคนก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่จะไปสู่ที่ไหน ถ้าใกล้จะจุติ จิตเศร้าหมอง ขณะนั้นก็ไม่มีใครสามารถช่วยได้จริงๆ เมื่อจิตใกล้จะจุติเป็นจิตที่เศร้าหมอง ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งเป็นโทษเป็นภัยน่ากลัวมากกว่าโลกนี้มากมายเหลือเกิน
คนที่อยู่ในโลกนี้ ขณะนี้เข้าใจว่ามีปัญหามาก ปัญหาในเรื่องของความเป็นอยู่ ปัญหาในเรื่องของเศรษฐกิจ ความทุกข์ยาก ปัญหาเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย ปัญหาชีวิตในครอบครัว เข้าใจว่ามีปัญหามากแล้ว แต่ให้ทราบว่า ถ้าเกิด ในอบายจะต้องได้รับภัย ความเจ็บ ความปวด ความทรมานมากกว่าโลกนี้มากทีเดียว
นี่ก็เป็นโทษของความไม่อดทน ซึ่งสำหรับโทษของความไม่อดทนในอีก สูตรหนึ่ง คือ ทุติยอขันติสูตร ข้อ ๒๑๖ มีข้อความคล้ายๆ กัน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ผู้ไม่อดทนย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก ๑ ย่อมเป็นผู้โหดร้าย ๑ ย่อมเป็นผู้เดือดร้อน ๑ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ ๑ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑ โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้แล
ถ้าพิจารณาจากชีวิตประจำวันจริงๆ จะเห็นได้ว่า ความทุกข์ทั้งหมดเกิดจากความไม่อดทน มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า คนร่วมบ้านของท่านเวลาที่อาหารไม่อร่อย โกรธเกรี้ยว แสดงให้เห็นถึงขณะนั้นไม่อดทน เพียงอาหารไม่อร่อย ยังไม่ได้เดือดร้อน ยังไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย ยังไม่ได้มีทุกข์เรื่องอื่นๆ เลย แต่แม้กระนั้นเพียงอาหารไม่อร่อยก็ไม่อดทน โวยวาย บ่นว่า เอ็ดตะโร
เปรียบเทียบดูว่า ถ้าเป็นผู้ที่อดทน อาหารไม่อร่อยก็เป็นเรื่องแสนจะธรรมดา จะให้อาหารอร่อยได้อย่างไรทุกมื้อ บางมื้ออาจจะเป็นอาหารที่ไม่อร่อยก็ได้ ไม่ถูกปากคนนี้ แต่อาจจะถูกปากคนนั้น แต่ถ้าตนเองรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย ก็แก้ไขโดยดี มีกายวาจาที่ประกอบด้วยเมตตา ปรุงใหม่ ช่วยกันเติมนั่นนิดนี่หน่อยให้รสชาติดีขึ้น ทุกคนก็สบายใจ แทนที่จะบ่น โวยวาย เกรี้ยวกราด และเวลาที่สติเกิดจะรู้ได้ว่า เพียงอดทนนิดเดียว จะทำให้ทุกอย่างดี ทุกคนมีความสุข ไม่เดือดร้อน
ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นมารยาทสากลจริงๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน เพราะฉะนั้น ควรที่จะเริ่มฝึกหัด คือ เป็นผู้ที่มีความอดทน อธิวาสนขันติ อดทนต่อความเป็นอยู่ ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ทุกประการ และจะเห็นได้ว่า ทำไมผู้ที่ไม่อดทนจึงได้เป็นผู้ที่มากด้วยเวร และเป็นผู้ที่หลงกระทำกาละ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะถ้าอดทนไม่ได้ในบางสถานการณ์ จะทำให้มีการวิวาท มีการทุบตีชกต่อย เบียดเบียนฆ่าฟัน ซึ่งทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่ได้เกิดจากอะไรอื่นเลยนอกจากการไม่อดทน หรือแม้แต่การทุจริตต่างๆ ในขณะนั้นก็เพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่อดทนต่อโลภะและโทสะ
และบางท่านที่ไม่อดทน เพราะว่ามีสิ่งที่ไม่น่าพอใจกับมิตรสหายเพื่อนร่วมงาน ในขณะนั้นผู้นั้นก็ลืมคิดถึงประโยชน์ของตนเอง เพียงแต่คำว่า ประโยชน์ของตนเอง ขอให้ใคร่ครวญว่า ประโยชน์ของตนเองนั้นคืออะไร ประโยชน์จริงๆ ไม่ว่าท่านจะอยู่ ที่ไหน จะทำกิจการงานอะไรทั้งสิ้น ประโยชน์ของตนเองนั้นคืออะไร
ก็คือการพิจารณารู้ว่า ขณะใดไม่ใช่แก้ไขคนอื่น หรือไม่ใช่ต้องการให้คนอื่นอดทน แต่ขณะที่ตัวท่านเองเริ่มที่จะอดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นคือขณะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เจริญในกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทาน เรื่องศีล หรือแม้แต่ความเมตตา เพราะฉะนั้น บารมีทั้งหลายต้องมีความอดทนเป็น สิ่งสำคัญ แม้แต่ในเรื่องของทาน หรือในเรื่องของบารมีอื่นๆ
ความอดทนเป็นสิ่งที่ละเอียด ซึ่งทุกท่านที่ศึกษาธรรมก็เป็นผู้ที่อดทนต่อ การที่จะฟังและพิจารณาให้เข้าใจธรรมโดยฉลาด โดยแยบคาย ไม่ใช่เป็นผู้ที่เพียงแต่ฟังและคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ความจริงอาจจะมีการหลงผิด หรือมีความเข้าใจผิด บางประการได้ เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น การฟังธรรม จะต้องมีความอดทนเพิ่มขึ้น คือ พิจารณาในเหตุในผลที่ถูกต้องจนกระทั่งสามารถ เห็นประโยชน์และเจริญกุศลยิ่งขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็เพียงฟังและไม่พิจารณาด้วย ความแยบคาย ซึ่งจะทำให้ประพฤติผิด ปฏิบัติผิดได้
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พราหมณสูตร ข้อ ๑๔๘๒
พระผู้มีพระภาคทรงเตือนให้รู้ว่า ความอดทนที่ถูกและความอดทนที่ผิดคืออย่างไร
สาวัตถีนิทาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติปฏิปทา ชื่ออุทยคามินี
คือ ปฏิปทาหรือหนทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความเจริญ
พวกเขาย่อมชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า ดูก่อน บุรุษผู้เจริญ มาเถิดท่าน ท่านจงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ แล้วเดินบ่ายหน้าไปทางทิศปราจีน ท่านอย่าเว้นบ่อ เหว ตอ ที่มีหนาม หลุมเต็มด้วยคูถ บ่อโสโครกใกล้บ้าน ท่านพึงตกไปในที่ใด พึงรอความตายในที่นั้น ด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อแตกกายตายไป ท่านจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
คำสอนอย่างนี้ก็มี สอนให้อดทน แต่ให้ดูประโยชน์ว่า ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ความอดทนนั้นไม่มีประโยชน์เลย จะมีประโยชน์อะไรในการอดทนเดินไป ทิศหนึ่งและไม่ว่าอะไรจะขวางหน้า บ่อ เหว ตอที่มีหนาม เต็มไปด้วยคูถ บ่อโสโครกใกล้บ้าน ถ้าพึงตกไปในที่ใด พึงรอความตายในที่นั้น ให้อดทนทำไมอย่างนี้ มีประโยชน์อะไร แสดงให้เห็นว่า คำสอนที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีเหตุผล
อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยอริยวสสูตร ข้อ ๒๐ มีข้อความว่า
คำว่า ปัจเจกสัจจะ คือ ความเห็นผิดเฉพาะแต่ละบุคคล
ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า ปัจเจก บ่อยๆ เช่น พระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ในทีนี้ เป็นปัจเจกสัจจะ ไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง สัจจะในที่นี้เป็นความคิดของคนที่เห็นผิด และคิดว่า สิ่งนั้นจริง สิ่งนั้นถูก เพราะฉะนั้น ปัจเจกสัจจะเป็นความเห็นผิดเฉพาะ แต่ละบุคคล ซึ่งคำสอนของพราหมณ์ผู้นี้แสดงให้เห็นถึงความเห็นผิดของพราหมณ์ ผู้นั้น
พราหมณสูตร ข้อ ๑๔๘๓ พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อบัญญัติของพราหมณ์ทั้งหลายนั้น เป็นทางดำเนินของคนพาล เป็นทางดำเนินของคนหลง ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ส่วนในอริยวินัย เราก็บัญญัติปฏิปทาชื่ออุทยคามินี ที่เป็นไปเพื่อความหน่าย โดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ชื่อเหมือนกัน คือ อุทยคามินี
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 01
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 02
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 03
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 04
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 05
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 06
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 07
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 08
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 09
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 10
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 11
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 12
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 13
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 14
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 15
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 16
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 17
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 18
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 19
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 20
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 21
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 22
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 23
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 24
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 25
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 26
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 27
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 28
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 29
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 30
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 31
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 32
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 33
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 34
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 35
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 36
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 37
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 38
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 39
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 40