บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 18


    ชื่อเหมือนกัน คือ อุทยคามินี หนทางปฏิบัติเพื่อความเจริญ แต่ความหมายผิดกัน ข้อปฏิบัติผิดกัน หนทางปฏิบัติผิดกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุทยคามินีปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียวเพื่อนิพพาน เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า … ในพระธรรม … ในพระสงฆ์ … ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยะใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธินี้แล คือ อุทยคามินีปฏิปทา ที่เป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

    จบ พราหมณสูตรที่ ๒

    ข้อความสั้น แต่เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตาม ความเป็นจริง คือ หนทางที่จะทำให้คลายกำหนัด เข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

    มีธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะละความยึดมั่น การยึดถือเห็น ในขณะนี้ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล มีหนทางเดียว คือ ปัญญาต้องเกิดพร้อมสติที่ระลึกได้ รู้ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา และ สภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้มีจริงๆ กำลังเห็น ระลึกได้ รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ทำอย่างอื่นเลย ไม่ว่าเมื่อไร ขณะไหน

    ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีความอดทนที่จะค่อยๆ ระลึก และค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ขณะที่กำลังฟัง ในขณะนี้

    เป็นความอดทนอย่างนี้หรือเปล่า อุทยคามินีปฏิปทา หนทางเดียวที่จะทำให้ปัญญาเจริญ เรื่องของความอดทน ต้องเป็นไปในทางกุศลทั้งสิ้น

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา แสดงลักษณะของขันติ เพื่อเมื่อขันติเกิดจะได้รู้ว่านั่นคือขันติ ซึ่งในวันหนึ่งๆ ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้สึกตัว รู้ลักษณะของแม้ความอดทนในขณะที่ กำลังอดทนด้วย

    การอดกลั้นโทษของสัตว์และสังขาร

    ไม่ว่าใครจะมีความประพฤติอย่างไรต่อท่าน หรือแม้แต่เพียงการนึกถึงคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นซึ่งเคยได้ยินได้ฟังแม้นานมาแล้ว จะเป็นการทดสอบว่า ขณะนั้นจิตที่คิดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศล ยังโกรธ ขณะนั้นเป็นผู้ที่ ไม่ได้เจริญขันติหรือความอดทน เพราะฉะนั้น ลักษณะของขันติ ความอดทน คือ การอดกลั้นโทษของสัตว์และสังขาร ไม่ได้นึกถึงการกระทำเก่าก่อนของบุคคล ซึ่งกระทำต่อท่านให้ขุ่นเคืองใจ แต่ถ้านึกก็อาจจะนึกด้วยเมตตาที่บุคคลนั้นไม่รู้ จึงได้กระทำผิดพลาดทั้งทางกาย ทางวาจา

    การตั้งอยู่ในอโทสะ

    ขณะที่ไม่โกรธขณะใด ขณะนั้นเป็นขันติ รับประทานอาหาร มีไหม ความขุ่นเคืองใจ ขันติมีหรือเปล่าในขณะนั้น

    จิตเกิดขึ้นเป็นไปในอาการของอโทสะนั้น เป็นขันติบารมี ขันติบารมีมีความอดทนเป็นลักษณะ มีความอดกลั้นสิ่งที่น่าปรารถนาและ ไม่น่าปรารถนาเป็นรสะ (คือ เป็นกิจ) มีความอดกลั้นหรือความไม่โกรธเป็น ปัจจุปัฏฐาน (คือ เป็นอาการที่ปรากฏ) มีเห็นตามความเป็นจริงเป็นปทัฏฐาน

    รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่น ถ้าท่านเป็นผู้ที่ศึกษา กำลังศึกษา กำลังเข้าใจธรรม แต่คนอื่นยังไม่ได้ศึกษา ยังไม่เข้าใจ หรืออาจจะศึกษาเพียงเล็กน้อยและเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น ท่านจะโกรธคนที่เขาไม่ได้ศึกษาในเมื่อท่านเป็นผู้ที่ เข้าใจธรรม ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควร นี่คือการรู้ตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นปทัฏฐาน ให้มีความอดทน

    สำหรับความเศร้าหมองของขันติ หรือความเศร้าหมองของบารมีอื่นๆ ก็มี คือ การที่ทุกท่านจะเจริญบารมี ไม่ได้หมายความว่ากุศลจิตจะเกิดจนกระทั่งมีกำลัง และอกุศลจิตจะไม่เกิดเลย เพราะฉะนั้น บางครั้งก็มีปัจจัยที่ทำให้กุศลจิตเกิดมาก มีความอดกลั้น มีความอดทน แต่ในบางครั้งจะสังเกตได้ว่า แม้ความอดกลั้น หรือความอดทนนั้นก็เศร้าหมอง ไม่ผ่องใสเท่าที่ควรจะเป็น

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีข้อความว่า

    ความเศร้าหมองแห่งขันติบารมี เพราะกำหนดตนและผู้อื่น

    ความอดทนบางท่านมีจำกัด คือ เฉพาะกับบางบุคคล หรือบางทีท่านก็มีการเปรียบเทียบ มีการนึกถึงคนอื่นกับตัวท่าน ขณะนั้นทำให้ไม่อดทน เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความอดทนเพิ่มขึ้นๆ และบางกาลเกิดไม่อดทน ขณะนั้นให้ทราบว่า ความเศร้าหมองแห่งขันติบารมี เพราะกำหนดตนและผู้อื่น

    ความลูบคลำด้วยตัณหาเป็นต้น เป็นความเศร้าหมองแห่งบารมีทั้งหลาย โดยไม่ต่างกัน

    บารมีมีถึง ๑๐ เพราะฉะนั้น บารมีทั้ง ๑๐ จะเศร้าหมองในขณะที่เกิดโลภะ ความยินดี ความติดข้อง

    แต่โดยความต่างกัน ทรงแสดงไว้ว่า

    แต่โดยความต่างกัน เป็นความเศร้าหมองแห่งทานบารมี เพราะกำหนด ไทยธรรมและปฏิคาหก

    บางทีเวลาที่ให้ เลือกผู้รับ และเลือกไทยธรรม อาจจะเป็นด้วยฉันทาคติ ด้วยความรัก หรือด้วยภยาคติ ด้วยความกลัว หรือด้วยความชัง หรือด้วยความหลง ในขณะนั้นก็เป็นความเศร้าหมองแห่งทานบารมี ซึ่งทานบารมีควรจะเป็นไปใน บุคคลทั้งปวงโดยไม่ต่างกัน แต่ขณะใดที่เกิดมีความต่างกันโดยกำหนดไทยธรรมและปฏิคาหกคือผู้รับ ในขณะนั้นให้สังเกตลักษณะของทานบารมีว่า เศร้าหมองไม่ผ่องใสเท่าที่ควร

    นี่คือความละเอียดในชีวิตประจำวัน ในสังสารวัฏฏ์ ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติกว่าบารมีทั้งหลายจะสมบูรณ์ได้

    สำหรับศีลบารมี

    เป็นความเศร้าหมองแห่งศีลบารมี เพราะกำหนดบุคคลและกาลเวลา

    บางทีก็เว้นได้เฉพาะบางบุคคล เช่น ผู้ที่เคารพ มารดาบิดา เป็นต้น มีการแสดงความนอบน้อมทางกาย ทางวาจา เป็นศีลที่ดี แต่สำหรับบุคคลอื่นก็ ไม่ทำอย่างนั้น หรืออาจจะกำหนดกาลเวลา เช่น วันพระ หรือวันที่รักษาศีล ขณะนั้นรู้สึกว่าสมบูรณ์ดี แต่นอกจากนั้นไม่สมบูรณ์ ขณะนั้นก็เป็นความเศร้าหมองของ ศีลบารมี

    ความเศร้าหมองแห่งเนกขัมมบารมี เพราะกำหนดความยินดีและความไม่ยินดีในการเข้าไประงับกิเลสนั้นในกามภพ

    ความเศร้าหมองของปัญญาบารมี เพราะกำหนดว่า เรา ของเรา ดังนี้

    ปัญญาของเรา เพียงเท่านี้ก็เศร้าหมองเสียแล้ว เพราะขณะนั้นมีความติดข้องในแม้ปัญญาของเรา

    ความเศร้าหมองของวิริยบารมี เพราะกำหนดด้วยความหดหู่และความฟุ้งซ่าน

    ความเศร้าหมองของขันติบารมี เพราะกำหนดตนและผู้อื่น

    ความเศร้าหมองของสัจจบารมี ด้วยการว่าเห็นในสิ่งที่ไม่ได้เห็นเป็นต้น

    ความเศร้าหมองของอธิษฐานบารมี เพราะกำหนดด้วยโทษและคุณ ในโพธิสมภาร และฝ่ายตรงกันข้ามกับโพธิสมภาร

    ความเศร้าหมองของเมตตาบารมี เพราะกำหนดด้วยประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์

    ความเศร้าหมองของอุเบกขาบารมี เพราะกำหนดด้วยสิ่งที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา

    บางทีสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็อุเบกขาได้ แต่พอถึงสิ่งที่น่าปรารถนา อุเบกขาไม่ได้เสียแล้ว เป็นความละเอียดจริงๆ ยิ่งเข้าใจความละเอียดของพระธรรมมากเท่าไร การที่ท่านจะน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมก็จะเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น โดยที่แต่ก่อนนี้ท่านอาจจะคิดว่า ท่านทำไม่ได้ บารมีทั้ง ๑๐ นี่ สุดวิสัยจริงๆ แต่ขอให้คิดว่า ถ้าเริ่ม และค่อยๆ เห็นประโยชน์ ค่อยๆ อบรมไป ทุกบารมีจะ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เมื่อนั้นก็จะเห็นได้ว่า การฟังและการศึกษาพระธรรมมีประโยชน์ อย่างใหญ่หลวง เพราะทำให้เกิดผล คือ การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมได้ ซึ่งก่อนนั้นคิดว่า ทำไม่ได้

    สำหรับความสำคัญของขันติบารมี พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทไว้ใน โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะได้ยินคำว่า โอวาทปาติโมกข์ บ่อยๆ

    โอวาทปาติโมกข์ คือ โอวาท หรือคำสั่งสอนซึ่งเป็นหลักสำคัญ

    ปาติโมกขะ แปลว่า เป็นประธาน หรือเป็นหลักสำคัญ ซึ่งในสมัยแรก หลังจากพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ใน ๒๐ พรรษาแรกนั้น พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงบัญญัติพระวินัยหรือสิกขาบท เป็นข้อๆ ให้ภิกษุปฏิบัติตาม พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์เพื่อเตือนสติ ภิกษุทั้งหลายเป็นครั้งแรกในวันเพ็ญมาฆะ เดือน ๓ คือ ๙ เดือนหลังจากที่ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์กับพระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งไปประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย และทุกรูปไม่ใช่เป็นสุกขวิปัสสกะ แต่เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยคุณวิเศษ เช่น ปฏิสัมภิทา นอกจากนั้นทุกรูปยังเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา หลังจากนั้นได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์จนกระทั่งทรงบัญญัติสิกขาบทเป็นพระวินัย เป็นอาณาปาติโมกข์ เพราะฉะนั้น ปาติโมกข์ มี ๒ อย่าง คือ โอวาทปาติโมกข์ และอาณาปาติโมกข์

    โอวาทปาติโมกข์เป็นหลักคำสอนที่สำคัญ หรือคำสั่งสอนอันเป็นหลักสำคัญ ส่วนอาณาปาติโมกข์เป็นพระวินัยบัญญัติที่เป็นหลักสำคัญให้ภิกษุประพฤติปฏิบัติตาม หลังจากที่ไม่ได้สวดโอวาทปาติโมกข์แล้ว ก็ทรงให้ภิกษุสวดอาณาปาติโมกข์ ทุกกึ่งเดือน เป็นการเตือนสติให้พระภิกษุทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทบัญญัติ

    สำหรับโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นพระโอวาท คำสั่งสอนอันเป็นหลักสำคัญ มี ๓ คาถา กับอีกกึ่งคาถา ตามข้อความใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร

    คาถาที่ ๑ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติ คือ ความอดทนเป็นตบะอย่างยอดยิ่ง นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยอดยิ่ง น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

    คาถาที่ ๒ สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งสิ้น กุสลสฺสูปสมฺปทา การยังกุศลให้ถึงพร้อม คือ ทำความดีทุกอย่าง สจิตฺตปริโยทปนํ การยังจิตของตนให้ผ่องแผ้ว เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    คาถาที่ ๓ กึ่ง อนูปวาโท อนูปฆาโต การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย

    ปาติโมกเข จ สํวโร ความสำรวมระมัดระวังในพระปาติโมกข์

    มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ การบริโภคพอประมาณ

    ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อยู่ในสถานที่สงัด

    อธิจิตฺเต จ อาโยโค อบรมจิตให้สงบ คือ ประกอบความเพียรในอธิจิต

    อตํ พุทธาน สาสนํ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    นี่คือโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะได้ยินบ่อยๆ

    สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค อรรถกถา มหาปทานสูตร มีคำอธิบายว่า

    คาถาที่ ๑

    บทว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ความว่า ขันติคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง

    คงไม่มีใครไม่เห็นคุณหรือประโยชน์ของขันติ หลังจากที่ได้ฟังเรื่องของขันติ มามากว่า ทุกอย่างที่เป็นกุศลจะเจริญได้เพราะขันติ และโทษทั้งหลายที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ใจจนถึงกายวาจาเพราะไม่อดทน คือ อขันติ

    อธิวาสนขันติ คือ ความอดกลั้นต่อสถานการณ์ความเป็นอยู่ทุกอย่างในชีวิต เป็นตบะอย่างสูงสุด

    บทว่า นิพฺพานํ ปรมํ ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่งโดยอาการทั้งปวง

    ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่านิพพาน เพราะว่าธรรมอื่นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเพียงชั่วขณะเล็กน้อย สั้นมาก และก็ดับ เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรเลยที่จะยั่งยืน ไม่ว่า โลกจะดำรงมาแล้วนานเท่าไร จะดำรงอยู่ต่อไปนานเท่าไร สภาพธรรมจริงๆ คือ ชั่วขณะจิตที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป จะมีสาระอะไร กับสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง คือ สูงสุด เพราะเป็นธรรมที่ดับกิเลส ไม่เกิดอีกเลย

    บทว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี ความว่า ผู้ใดเข้าไปทำร้าย รบกวน และเบียดเบียนผู้อื่น เพราะเว้นจากอธิวาสนขันติ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

    ยาก การที่จะเป็นบรรพชิต จะต้องเป็นผู้ที่สงบใจ กาย วาจา เพราะถ้ายังคงทำร้ายหรือเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพราะเว้นจากอธิวาสนขันติ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าบรรพชิต

    บทว่า ปรูปฆาตี คือ ทำลายศีล เพราะศีลท่านกล่าวว่า ปรํ โดยอรรถว่า สูงสุด อธิบายว่า ก็ผู้ใดเป็นสมณะเบียดเบียนสัตว์อื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เข้าไปทำร้ายผู้อื่น คือ ทำร้ายศีลของตนให้พินาศ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

    ที่จะเป็นบรรพชิตก็เพราะศีล ขณะใดที่ล่วงศีล ทำศีลของตนให้พินาศ ขณะนั้นผู้นั้นไม่ชื่อว่าบรรพชิต

    สำหรับคฤหัสถ์ ประพฤติปฏิบัติตามเพื่อขัดเกลากิเลสได้ ถ้าท่านเป็นผู้ มีความละเอียดที่จะพิจารณากายวาจาของท่านว่า กายวาจาของท่านกระทบกระเทือน เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นหรือเปล่า ผรุสวาจา คำหยาบคาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ศึกษาธรรมก็เว้น ไม่ค่อยจะได้ยินใครกล่าวผรุสวาจา แต่คำอื่นที่แม้ไม่ใช่ผรุสวาจา แต่ทำร้ายจิตใจของคนอื่นมีไหม ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แม้แต่คำที่เย่อหยิ่ง มีไหม คำพูดที่ยกตนโดยที่อาจจะไม่รู้ตัวเลย หรือคำที่ใช้เรียกผู้อื่นก็ตามแต่ ถ้าคำนั้นเป็นคำที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึก ไม่สบายใจ และผู้พูดพูดคำนั้นด้วยความเย่อหยิ่ง แม้ไม่ใช่คำหยาบ แต่ขณะนั้นรู้ได้ว่า คำนั้นทำร้ายคนอื่น เป็นเรื่องที่ละเอียดมากที่จะต้องพิจารณาขัดเกลากิเลสของตนเอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดเข้าไปทำร้ายผู้อื่นเพราะไม่มีอธิวาสนขันติ

    คำนี้เคยได้ยินบ่อยๆ ต่อไปนี้คงชินกับความหมายของอธิวาสนขันติแล้ว ขันติความอดทนในความเป็นอยู่ เพราะฉะนั้น ก็ทุกสถานการณ์ ทุกเหตุการณ์

    อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดเข้าไปทำร้ายผู้อื่นเพราะไม่มีอธิวาสนขันติ ฆ่าสัตว์อื่น โดยที่สุดแม้เหลือบและยุง ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต เพราะเหตุไร เพราะยังเว้นมลทินไม่ได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะเว้นมลทินของตนได้ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า บรรพชิต ดังนี้

    นี่คือลักษณะของบรรพชิต เป็นบรรพชิตยาก แต่ถ้าผู้ใดใคร่จะประพฤติปฏิบัติตามบรรพชิต ก็ค่อยๆ ประพฤติปฏิบัติตามได้

    พึงทราบในคาถาที่ ๒

    บทว่า สพฺพปาปสฺส ได้แก่ อกุศลทุกชนิด

    อกุศลเล็กอกุศลน้อยอย่างไร ถ้ารู้ว่าเป็นอกุศล เว้นได้ก็ควรที่จะเว้น

    บทว่า อกรณํ คือ ไม่ให้เกิดขึ้น

    บทว่า กุสลสฺส ได้แก่ กุศลอันมีในภูมิ ๔

    บทว่า อุปสมฺปทา คือ ได้เฉพาะ

    บทว่า สจิตฺตปริโยทปนํ คือ ยังจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ก็บทนั้นย่อมมีได้โดยความเป็นพระอรหันต์ ด้วยประการดังนี้ บรรพชิตควรละบาปทั้งปวงด้วยศีลสังวร ยังกุศลให้ถึงพร้อมด้วยสมถะและวิปัสสนาทั้งหลาย ยังจิตให้ผ่องแผ้วด้วยอรหัตตผล นี้เป็นคำสอน คือ เป็นโอวาท คือ เป็นคำตักเตือนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    ทั้งหมดเริ่มจาก ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง

    ต่อไปเป็นคาถาที่ ๓

    บทว่า อนูปวาโท คือ ไม่เข้าไปกล่าวร้ายแก่ใครๆ ด้วยวาจา

    ยากหรือง่าย พิจารณาดูชีวิตประจำวัน ไม่เข้าไปกล่าวร้ายแก่ใครๆ ด้วยวาจา พูดเรื่องร้ายของคนอื่นรวมอยู่ด้วยไหม พิจารณาจริงๆ จะรู้จิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นธรรมพูดได้ ถ้ามีกุศลจิต เพราะฉะนั้น แม้ว่าเป็น เรื่องเดียวกัน คำพูดอย่างเดียวกัน ต้องพิจารณาจิตที่กล่าวว่า กล่าวด้วยกุศลหรือกล่าวด้วยอกุศล ถ้าเพื่อประโยชน์แก่การเข้าใจสภาพธรรมก็กล่าวได้ เพราะในขณะนั้นไม่มีจิตที่มุ่งจะเข้าไปกล่าวร้ายด้วยวาจาแก่บุคคลนั้น

    บทว่า อนูปฆาโต คือ ไม่ทำร้ายด้วยกาย

    บทว่า ปาติโมกฺเข แยกศัพท์เป็น ป อติ โมกฺขํ แปลว่า การพ้นทั่วยิ่ง คือ ศีลสูงสุด ย่อมรักษาด้วยความวิเศษคือสุคติ และย่อมให้พ้นจากภัยคือทุคติ หรือ ย่อมรักษาสุคติ ย่อมให้พ้นทุคติ เพราะฉะนั้น ศีลนั้นท่านเรียกว่า ปาติโมกข์

    ถ้าใครรักษาปาติโมกข์ศีล จะทำให้คนนั้นพ้นจากทุคติและไปสู่สุคติได้

    บทว่า มตฺตญฺญุตา คือ รู้ประมาณด้วยสามารถการรับและการบริโภค

    ชีวิตประจำวัน เวลารับประทานอาหาร พิจารณาได้ อดทนไหม รู้ประมาณด้วยสามารถการรับและการบริโภค บางท่านเวลาบริโภค ลืมว่าอิ่มแล้ว เพราะว่าอาหารอร่อย เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุด คือ ที่จะรู้ประมาณด้วยสามารถการรับและการบริโภคในขณะนั้น จะเป็นไปได้ก็เพราะขันติ ความอดทนต่อรสที่อร่อยที่จะ ไม่บริโภคต่อไป เพราะว่าอิ่มแล้ว

    บทว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ความว่า เว้นการเบียดเสียดที่นอนและที่นั่ง ในบทนั้นพึงทราบว่า เป็นผู้ที่สันโดษในปัจจัย ๔ ด้วยปัจจัย ๒ เท่านั้น

    สำหรับปัจจัย ๔ ก็มีที่อยู่ เสื้อผ้า อาหาร ยารักษาโรค

    บทว่า เอตํพุทธาน สาสนํ ความว่า การไม่เข้าไปว่าร้าย ไม่เข้าไปทำร้ายผู้อื่น การสำรวมในปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการรับและการบริโภค การเสพเสนาสนะอันสงัด เพราะความเป็นผู้ชำนาญในสมาบัติ ๘ นี้เป็นคำสอน เป็นโอวาท เป็นคำเตือนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    ข้อความในอรรถกถา เป็นการทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

    . ผมก็ขาดความอดทนที่จะให้เรื่องขันติผ่านไป จึงไม่ยอมให้เรื่องขันติผ่านไป เพราะในชีวิตประจำวัน ขันติกับผมสู้กันมานาน หลายๆ เรื่อง แต่ที่ อาจารย์ยกมาทั้งหมดที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ ผมว่าเป็นขันติอย่างเยี่ยมๆ ทั้งนั้น ขันติพื้นๆ ผมยังไปไม่รอดเลย ที่เป็นอย่างเยี่ยมๆ ผมจะไปถึงหรือ

    ท่านอาจารย์ ก่อนจะถึงเยี่ยม ก็ต้องผ่านขั้นต้นมาก่อน

    . ขั้นต้นยังไปไม่รอด

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เจริญ ทุกอย่างที่คิดว่าทำไม่ได้ เวลาที่อบรมแล้วย่อมได้ ภายหลังย่อมทำได้ แต่ก่อนจะทำได้ หรือกว่าจะทำได้ ต้องใช้เวลานาน

    ผู้ฟัง เรื่องเกี่ยวกับขันติ ความอดทน ท่านอาจารย์อธิบายมามากทีเดียว ให้เห็นโทษของขันติที่มีมากมาย ควรจะเจริญขันติให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ขอถามว่า จะให้เจริญอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขันติ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ ก่อนอื่นผมขออนุญาตเล่าอะไรสักนิด เพราะเวลาฟังท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องขันติ อดนึกถึงเวลาที่ผมเป็นหนุ่มๆ ไม่ได้ ตอนผมเป็นนักเรียนนายร้อย ไปอยู่ป่าที่เพชรบูรณ์ ระหว่างสงครามโลกครั้ง ๒ ต้องไปอยู่ป่าจริงๆ ต้องทำงาน ทุกอย่างด้วยตัวเอง เขาให้เอามีดไปคนละเล่ม มีดเล่มเดียวนี้สร้างบ้านสร้างเรือน สร้างโรงเรียนที่ผมอยู่เอง เริ่มตั้งแต่ถางป่า ถางป่าเสร็จแล้วต้องตัดไม่ไผ่ ทำทุกอย่าง ลงเสา ตั้งเสา ... แม้แต่มุงแฝก แต่ตอนหลังไปจ้างเขามุง เราก็เครียดกันมาก อยากกลับบ้าน ประเด็นของผม คือ เครียดเหลือกำลังจริงๆ เหนื่อยเหน็ดและเกลียดผู้กองที่สุด ขออนุญาตเอ่ยชื่อ ที่เอ่ยครั้งแรกเหมือนเกลียด แต่ตอนหลังรักท่านเหลือเกิน ตอนเป็นผู้กอง ท่านชื่อร้อยเอกจำรูญ วีณะคุปต์ ตอนหลังท่านมียศถึง พลโท ตอนหลังเรารักท่านมาก เพราะท่านเคี่ยวเข็ญเรามาก มากเสียจนเราเดือดร้อน เราพูดกันจนเข้าหูท่านว่า ทารุณโหดร้าย ใช้เราเยี่ยงทาส เราต้องเดิน ๘ กม. เข้าไปในป่าตั้งแต่ตีห้า รับอาหารใส่กระป๋องอาหาร อาหารนั้นเป็นเนื้อเอ็นแท้ๆ ต้องเอามีดถูหลายๆ หนจึงจะได้กิน เวลาโมงครึ่งจึงจะเอาข้าวมาให้ เราก็งัดเอาเนื้อเอ็น มากิน เขาเรียกชื่อให้เพราะว่าเนื้ออบ ก่อนอาหารนั้นต้องตัดไม้ก่อน จนเราเรียกว่า ออเดิร์ฟ ตัดไม้ร้อนๆ และไม้นี้ต้องกลมๆ แก่ๆ ยาวๆ ใหญ่ๆ เคาะดังก๊งๆ ถ้าดังก๊อกๆ ไม่เอา ใช้ไม่ได้ เป็นไม้อ่อน เราเดือดร้อนจนกระทั่งเข้าหูท่าน ท่านบอกเรา ๒ คำ คำแรกที่บอก คือ ที่ฝึกนี้ฝึกให้อดทน อดทนที่สำคัญที่สุด คือ อดทนต่อความไม่พอใจ

    พวกเราชอบใจคำนี้ ซาบซึ้งเลย ชอบใจเพราะว่าท่านรู้จักหลอกเรา เราก็พูดกันเล่นเลยว่า อดทนต่อความไม่พอใจ เมื่อมาศึกษาธรรมกับท่านอาจารย์ ผมจึงเห็นอดทนต่อความไม่พอใจเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนหน้านั้นก็ได้เห็น นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ท่านบอก

    อีกคำหนึ่งที่ท่านบอกไว้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านบอกว่า We work for merit. เราก็พูดเป็นภาษาฝรั่งกันบ้าง และตลกกันในใจ ความจริง ตอนหลังเราได้สำนึกคุณประโยชน์ของความอดทนต่อความไม่พอใจ

    คำง่ายๆ อดทนต่อความไม่พอใจ ได้ประโยชน์มาก ผมอยากฟังท่านอาจารย์ อาจจะมีคำคมของพระพุทธเจ้า หลังจากศึกษารู้ลักษณะของขันติ ความอดทน ในบารมีทั้ง ๑๐ อาศัยขันติแทรกอยู่ทั้งนั้น จนสุดท้ายสรุปว่า เราต้องเจริญขันติให้มาก ก็คงหนีไม่พ้นสติปัฏฐาน คือ พิจารณาให้เห็นว่า เป็นรูป เป็นนาม และก็จบ

    ท่านอาจารย์ และก็จบ ตรงนี้หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง ผมก็ไม่รู้ ก็อาจารย์จบตรงนั้น ผมก็เลยนึกว่า เอ๊ะ จบอย่างนั้นหรือ ผมจึงอยากจะทราบว่า บอกวิธีเจริญให้ง่ายกว่านี้ได้ไหม เจริญขันติ เจริญอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถึงจะจบ

    ผู้ฟัง มิได้ จบไม่ได้ จบหมายถึงแสนกัป

    ท่านอาจารย์ วันหนึ่งต้องจบ บารมีทั้งหมดวันหนึ่งต้องจบ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีผล ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นโมฆะ แต่ยังไม่ถึง ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าเราจะไปบางลำพู แต่ไม่รู้จะไปทางไหน เมื่อไรจะถึง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    30 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ