บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 19


    ผู้ฟัง ถ้าเราจะไปบางลำพู แต่ไม่รู้จะไปทางไหน เมื่อไรจะถึง

    ท่านอาจารย์ ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก

    ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร ท่านผู้ฟังอาจจะเคยศึกษามาแล้วในอดีต นี่เป็นของที่ต้องเคยแน่ๆ จะมากน้อยสักเท่าไรไม่ทราบ แต่ข้อความในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงพระสาวกทั้งหลายซึ่งท่านได้เป็นพหูสูต เป็นผู้ที่ฟังมาก บางท่านก็ ๗ คัมภีร์ หรือพระไตรปิฎก ๗ รอบ ๗ ชาติมาแล้วที่เป็นอาจารย์สอน แต่เมื่อเกิดแล้ว จำได้ไหม

    ประโยชน์แท้จริงของการศึกษาพระธรรมทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาคืออะไร เราจะมานั่งค้นคว้าเรื่องนี้ เรื่องตทาลัมพนะ เรื่องชวนะ หรือว่าประโยชน์จริงๆ คืออะไร เพราะว่าพระสาวกทั้งหลายท่านก็เคยมาก่อนเรา และอย่างมากด้วย แต่เวลาที่ท่านเกิดอีกก็ลืมหมด

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ คือ ให้เข้าใจพระธรรมทันทีที่ได้ฟังว่า หมายความถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเมื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม หมายความว่าไม่สงสัย ในลักษณะของธรรม เพราะรู้ว่าเป็นสภาพที่มีจริงๆ เมื่อทรงแสดงเรื่องทางตา ที่กำลังเห็น บุคคลนั้นสามารถเข้าใจได้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนซึ่งเป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนดับกิเลสเป็นสมุจเฉท นั่นคือประโยชน์ เพราะฉะนั้น การเรียน การฟัง แต่ละชาติ ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาอย่างมากมาย เพื่อประกอบความรู้ เพื่อเป็นพหูสูต เป็นผู้ที่ฟังมาก ให้ถึงความเป็นอนัตตาของธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือประโยชน์ ที่สูงที่สุด

    และรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของสภาพธรรมประกอบกัน กับการฟังและที่กำลังปรากฏ ไม่แยกกัน

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ เรื่องของขันติ หลายท่านคงจะคิดว่า ยากเหลือเกินที่จะมีขันติอย่างที่ ได้ฟัง อย่างที่ได้อ่านจากพระไตรปิฎก เพราะเป็นเรื่องของความอดทน ความอดกลั้นทุกทาง ทุกสถานการณ์ด้วย แต่เมื่อระลึกถึงอดีตชาติของท่านพระสาวกทั้งหลาย จะเห็นได้ว่า ก่อนที่ท่านจะมีความอดทนถึงอย่างนั้น ท่านก็เป็นผู้ที่มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ มีอกุศลมากมายเหมือนอย่างทุกท่านที่นี่ แต่ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีปัญญา และเห็นคุณของความอดทน เห็นคุณของกุศลทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านก็มีความอดทนที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการ จนในที่สุดบารมีทั้งหลายก็ถึงที่สุดด้วยการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    เรื่องของบารมีเป็นเรื่องที่จบเมื่อสมบูรณ์ แต่ก่อนที่จะถึงความสมบูรณ์ ก่อน ที่จะจบลงได้ ต้องอบรมไป และอดทนไปแต่ละชาติ ซึ่งเป็นจิรกาลภาวนา เพราะว่าต้องอาศัยกาลเวลาในการอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส

    เมื่อเห็นกิเลสมากเท่าไรก็รู้ว่า จะต้องอาศัยกาลเวลานานมากทีเดียวกว่าที่จะขัดเกลากิเลสนั้นๆ ได้ โดยไม่ขาดการฟังพระธรรม และไม่ขาดการที่จะพิจารณาตนเอง เพราะว่าพระธรรมที่ได้ฟังทั้งหมดเป็นการอบรมเจริญปัญญาและการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น

    จะเห็นได้ว่า การเป็นผู้ที่อดทนอบรมเจริญบารมีทั้งหลาย ย่อมถึงการสิ้นสุด ไม่เป็นโมฆะ ต้องมีผลบริบูรณ์สุกงอมของการที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาติหนึ่ง เช่น บารมีทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งบรรลุถึง ความสมบูรณ์สุกงอมที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ โคนต้น พระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา ซึ่งพุทธบริษัทผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายก็ใคร่ที่จะได้นมัสการสังเวชนียสถานซึ่งเป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุดในสังสารวัฏฏ์

    และเมื่อได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน และพุทธสถานต่างๆ นั้น ก็ควรที่จะมี โยนิโสมนสิการพิจารณาธรรมทั้งหลายด้วย แต่ก่อนที่จะถึงการมนสิการเมื่อได้ไปนมัสการสังเวชนียสถานและพุทธสถานต่างๆ ขอกล่าวถึงความอดทนในชาติต่างๆ ของพระสาวก เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาเห็นว่า แม้แต่ในเรื่องธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความอดทน

    ขอกล่าวถึงข้อความใน อรรถกถา กัสสปมันทิยชาดกที่ ๒

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน พระองค์ทรงปรารภ ภิกษุแก่รูปหนึ่ง จึงได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อปิ กสฺสป มนฺทิย ดังนี้

    ได้ยินว่า ในพระนครสาวัตถี มีกุลบุตรผู้หนึ่งเห็นโทษในกามทั้งหลาย จึงบวชในสำนักพระผู้มีพระภาค ซึ่งไม่นานท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    ต่อมาเมื่อมารดาของท่านสิ้นชีวิตลง ภิกษุนั้นจึงให้บิดาและน้องชายบวช และให้อยู่ในพระวิหารเชตวัน ในวันใกล้พรรษา ภิกษุทั้ง ๓ รูปได้ไปจำพรรษาอยู่ที่อาวาสที่หมู่บ้านหนึ่งที่มีปัจจัยหาง่ายสะดวก เมื่อออกพรรษาแล้วจะกลับไปยัง พระวิหารเชตวันตามเดิม ภิกษุหนุ่มได้สั่งสามเณรผู้น้อง ให้ภิกษุผู้เป็นพระแก่พักก่อนแล้วค่อยพามา ส่วนตัวท่านจะล่วงหน้าไปจัดเตรียมที่พักที่พระวิหารเชตวันก่อน

    พระเถระแก่ค่อยๆ เดินมา สามเณรก็ทำราวกับว่า เอาศีรษะรุนพระเถระแก่ อยู่บ่อยๆ ให้เดินไปๆ พระเถระก็หวนกลับไปตั้งต้นเดินใหม่ เป็นอย่างนี้จน พระอาทิตย์ตก กว่าจะไปถึงพระเชตวันก็มืดแล้ว

    ภิกษุหนุ่มผู้พี่คอยอยู่จนค่ำ ได้ถือคบเพลิงไปคอยรับ เมื่อถามถึงเหตุที่มาช้า ภิกษุแก่ผู้เป็นบิดาก็ได้เล่าให้ฟัง วันนั้นภิกษุหนุ่มรูปนั้นไม่ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค

    วันรุ่งขึ้นเมื่อภิกษุนั้นได้ไปยังที่อุปัฏฐาก เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ภิกษุนั้นมาถึงเมื่อวันก่อน แต่ไม่ได้มากระทำพุทธอุปัฏฐากเพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงติเตียนภิกษุแก่ และตรัสเล่าว่า แม้ในชาติก่อนๆ ภิกษุแก่นั้นก็ได้ทำอย่างนั้น

    ท่านผู้ฟังมีความเห็นว่าอย่างไร ใครถูกติ ไม่ใช่สามเณรที่เป็นลูกคนเล็ก แต่ภิกษุแก่ผู้เป็นบิดาถูกติ คิดดู ความอดทนควรจะเป็นของใคร

    โดยสมัยนั้น (คือ สมัยก่อน ในชาติก่อนๆ โน้น) พระผู้มีพระภาคทรงเป็น พระโพธิสัตว์ บวชเป็นฤๅษีในหิมวันตประเทศ ภิกษุแก่รูปนั้นในชาตินั้นได้เป็นบิดา ของพระโพธิสัตว์ และมีพฤติกรรมคล้ายกับชาตินี้ คือ ในฤดูฝนก็ออกจาก หิมวันตประเทศไปสู่ชายแดนเมือง และกลับไปสู่หิมวันตประเทศเมื่อมีผลไม้บริบูรณ์ ในหิมวันตประเทศนั้น

    ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ให้ดาบสทั้ง ๒ เก็บบริขารแล้ว ให้บิดาอาบน้ำ ทำการ ล้างเท้า ทาเท้า และนวดหลัง ตั้งกระเบื้องถ่านไฟ แล้วเข้าไปนั่งใกล้บิดาผู้ระงับความอิดโรยแล้ว จึงกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านบิดา ธรรมดาเด็กหนุ่มทั้งหลายเช่นกับภาชนะดิน ย่อมแตกได้โดยครู่เดียวเท่านั้น

    คือ ไม่มีความอดทนเลย พวกคนหนุ่มๆ ทั้งหลายจะเห็นได้ว่า เป็นวัยซึ่งขาดความอดทน

    ตั้งแต่เวลาที่แตกครั้งเดียว ย่อมไม่อาจต่อกันได้อีก เด็กหนุ่มเหล่านั้นด่าอยู่ก็ดี บริภาษอยู่ก็ดี ผู้ใหญ่ควรจะอดทน เมื่อจะโอวาทบิดา จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะ เด็กหนุ่มจะด่า แช่ง หรือจะตีก็ตาม ด้วยความเป็น เด็กหนุ่ม บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมอดทนความผิดที่พวกเด็กทำแล้วทั้งหมดนั้นได้

    อยากจะเป็นผู้ใหญ่ หรืออยากจะเป็นเด็ก ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อการกระทำของเด็กหนุ่มทั้งหลาย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ถ้าแม้สัตบุรุษทั้งหลายวิวาทกัน ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว ส่วนคนพาลทั้งหลายย่อมแตกกันเหมือนภาชนะดิน เขาย่อมไม่ถึงความสงบเวรกันได้เลย

    ถ้าจะดับกิเลส อยากจะรู้แจ้งอริยสัจจ์ อยากจะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม แต่ไม่พิจารณาธรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสให้เป็น ผู้ที่มีความอดทน จะถึงไหม แม้เพียงข้อความที่พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ถ้าแม้สัตบุรุษทั้งหลายวิวาทกัน ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว

    ที่จะไม่ให้มีใครโกรธกันเลย ไม่ขัดใจกันเลย เป็นไปได้ไหม แม้ในระหว่างสัตบุรุษก็คงจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ขุ่นข้องหมองใจกันบ้าง แต่ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว นี่คือผู้ที่เป็นบัณฑิต ผู้ที่เห็นว่า แล้วก็ตาย คือ ทุกคนที่เกิดมาจะรักจะชังกันมากสักเท่าไร แล้วก็ตาย ลืมหมดทุกอย่างในชาตินี้ แต่ระหว่างที่ยังไม่ตาย ยังไม่ลืม ก็จำไว้ แต่จะจำโดยฐานะของบัณฑิต หรือจะจำโดยฐานะของคนพาล

    ถ้าโดยฐานะของบัณฑิต แม้ไม่ลืมเรื่องนั้น แต่สามารถอภัยให้ได้ และแม้ วิวาทกัน ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว

    สังเกตดูในระหว่างบัณฑิต มีการอภัยให้กัน มีการเป็นมิตรสหายกันอีกได้ มีการเกื้อกูลกันต่อไปได้ นั่นคือผู้ที่เข้าใจธรรม

    ส่วนคนพาลทั้งหลายย่อมแตกกันเหมือนภาชนะดิน เขาย่อมไม่ถึงความสงบเวรกันได้เลย

    แม้แต่เพียงธรรมสั้นๆ ก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่จะขัดเกลากิเลส

    ข้อความต่อไป พระโพธิสัตว์กล่าวว่า

    ผู้ใดรู้โทษที่ตนล่วงเกินแล้ว และรู้การแสดงโทษ คนทั้งสองนั้นย่อม พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น ความสนิทสนมของเขาย่อมไม่เสื่อมคลาย

    ต้องรู้จักโทษที่ตนเองล่วงเกินคนอื่น และรู้การแสดงโทษ คือ ไม่ใช่เพียงแต่รู้ แต่ไม่แสดงโทษ ถ้ารู้แล้วไม่แสดงโทษจะสังเกตได้ว่า ใจยังขุ่นข้อง บางครั้งอาจจะ นึกถึงและยังมีความขุ่นข้องอยู่แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าผู้ใดที่ล่วงเกินแล้ว และแสดงโทษแล้ว คนทั้งสองนั้นย่อมพร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น หมดเรื่อง เข้าใจกันชัดเจน ไม่มีปัญหาอะไรอีก ความสนิทสนมของเขาย่อมไม่เสื่อมคลาย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้ใดเมื่อคนเหล่าอื่นล่วงเกินแล้ว ตนเองสามารถเชื่อมให้สนิทสนมได้ ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐยิ่ง เป็นผู้นำภาระไป เป็นผู้ทรงธุระไว้

    หมายความว่า ถ้าบุคคลอื่นล่วงเกิน และตนสามารถเชื่อมให้สนิทสนมได้ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐยิ่ง

    ไม่ว่าใครก็ตามที่มีเรื่องที่ขุ่นเคืองใจต่อกัน ห่างเหินกัน หรือไม่สนิทสนมกัน แต่บุคคลนั้นสามารถเชื่อมให้สนิทได้ ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐยิ่ง เป็นผู้นำภาระไป เป็นผู้ทรงธุระไว้

    ท่านผู้ฟังเห็นไหมว่า ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ จึงจะสามารถพิจารณาเห็นประโยชน์ที่แท้จริงว่าควรจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่ทรามปัญญา แม้พระโพธิสัตว์ จะกล่าวว่าอย่างนี้ หรือพระผู้มีพระภาคจะตรัสว่าอย่างไร บุคคลนั้นก็เห็นตรงกันข้าม หรือยังไม่อาจที่จะคล้อยตามว่า ควรที่จะกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ผู้ใดเมื่อคนอื่นล่วงเกิน คือ ถูกโทษครอบงำ กระทำความผิด เมื่อคนเหล่านั้นแม้ไม่ขอขมาโทษ ตนเองสามารถทำความสนิทสนม คือ เชื่อมมิตรภาพอย่างนี้ว่า ท่านมาเถิด จงเรียนอุเทศ จงฟังอรรถกถา จงหมั่นประกอบภาวนา เพราะเหตุไร ท่านถึงเหินห่าง ผู้นี้คือผู้เห็นปานนี้ เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา เป็นผู้ประเสริฐยิ่ง ย่อมถึงการนับว่า ผู้นำภาระ และว่า ผู้ทรงธุระไว้ เพราะนำภาระและธุระของมิตรไป

    ใครจะเป็นเพื่อนที่แท้จริง พิจารณาดู ทุกคนอยากมีเพื่อนแท้ แต่ขณะเดียวกันท่านก็เป็นเพื่อนแท้ของคนอื่น ซึ่งท่านจะมีธุระของเพื่อนแท้ คือ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่กระทำเพื่อความไม่ขุ่นเคือง ไม่ขุ่นข้อง และท่านทำ ไม่ใช่ทอดธุระ ไม่ใช่ว่า ไม่ใช่ธุระอะไรของท่าน นั่นคือผู้ที่ประเสริฐ

    พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทแก่ดาบสบิดาอย่างนี้

    จำเดิมแต่นั้น ดาบสผู้บิดาก็ได้เป็นผู้ฝึกตน ทรมานตนได้ดีแล้ว

    แต่เฉพาะชาตินั้น ใช่ไหม เพราะในชาตินี้ท่านก็กลับทำอย่างเดิม คือ เมื่อบุตรของท่านเอาศีรษะรุนหลัง ท่านก็โกรธ ไม่อดทน และท่านก็กลับไปตั้งต้นใหม่ เดินใหม่ กว่าจะถึงพระเชตวันก็มืดค่ำ

    แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครสามารถบังคับธรรมได้เลย ไม่ว่าอกุศลธรรมหรือ กุศลธรรม บางกาลกุศลธรรมก็มีปัจจัยที่จะเกิดมาก บางกาลอกุศลที่ยังไม่ได้ดับ ก็มีปัจจัยที่จะเกิด เพราะฉะนั้น แม้ว่าในชาติหนึ่งจะเป็นผู้ที่ได้พยายามอบรมตน ฝึกตน ขัดเกลากิเลส แต่เมื่อกิเลสยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ยังมีเชื้อที่จะทำให้เกิดขึ้น ก็ทำให้มีการกระทำซึ่งเป็นไปตามกำลังของกิเลสนั้นๆ

    ท่านที่ได้รับฟังธรรมมาโดยตลอด คงจะเห็นความลึกซึ้งของธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ซึ่งยากต่อการที่จะเข้าใจและประจักษ์ลักษณะของ สภาพธรรมตามที่พระอริยบุคคลทั้งหลายได้ประจักษ์แจ้งแล้ว แต่ให้เห็นลักษณะของความอดทนที่เป็นกุศลในชีวิตประจำวัน เพราะว่าไม่ได้อดทนที่จะไปหาอกุศลอย่างอื่นด้วยโลภะ แต่อดทนที่จะรู้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นสิ่งที่ยาก แต่สามารถค่อยๆ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งข้างหน้า ก็จะได้รับผลของความอดทนซึ่งเป็นตบะอย่างยิ่ง ด้วยการสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเช่นพระอริยบุคคลทั้งหลาย

    สำหรับผู้มีปัญญาจะพิจารณาชีวิตของตนเองในชาติหนึ่งๆ ได้ว่า ทุกสถานการณ์ต้องมีความอดทนอย่างมาก อดทนที่จะไม่เศร้าโศก อดทนที่จะ ไม่ขุ่นเคืองใจ เสียใจ น้อยใจในการกระทำหรือในคำพูดของบุคคลอื่น ในทุกสถานการณ์ แม้ในเรื่องของความเป็นความตายของชีวิต

    สำหรับเรื่องสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงในเรื่องของขันติบารมี คือ ขันติวาทีชาดก ซึ่งได้เคยกล่าวถึงแล้ว แต่ขอกล่าวถึงอีกเพื่อให้ระลึกได้บ่อยๆ เรื่องความไม่โกรธ เพื่อให้พิจารณาบ่อยๆ ว่า ผู้มีปัญญาควรโกรธหรือไม่ควรโกรธ เพราะว่าเรื่องของความอดทนจะเห็นได้ชัดเวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ซึ่งขณะนั้นควรที่จะระลึกได้ว่า ขณะนั้นไม่อดทนเลยจึงโกรธ เพราะฉะนั้น ถ้าใคร่ที่จะบำเพ็ญขันติบารมี ก็ควรมีสติระลึกได้ในทุกสถานการณ์

    ขอกล่าวถึงเรื่องขันติวาทีชาดกอีกครั้งหนึ่ง

    อรรถกถาขันติวาทีชาดกที่ ๓

    พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มักโกรธรูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้

    ถ้าท่านผู้ฟังอยู่ที่พระวิหารเชตวัน รู้จักตัวเองพอที่จะรู้ว่าเป็นคนมักโกรธ หรือเปล่า ภิกษุรูปนั้นเป็นคนมักโกรธจึงเป็นเหตุให้พระศาสดาทรงปรารภ เพราะฉะนั้น ถ้าใครเป็นผู้มักโกรธ ก็เหมือนกับว่าเป็นเหตุที่จะทำให้พระศาสดาทรงปรารภ เพื่อทรงโอวาท

    พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุนั้นว่า

    เธอบวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ไม่โกรธ เพราะเหตุไรจึงกระทำความโกรธเล่า โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อเครื่องประหารตั้งพันตกลงบนร่างกาย เมื่อถูกเขาตัดมือ เท้า หู และจมูก ก็ยังไม่กระทำความโกรธแก่คนอื่น

    แล้วทรงเล่าเรื่องในอดีต ดังนี้

    ยังไม่เคยมีใครตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู ตัดจมูกท่านผู้ฟัง แต่ถ้ามีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ ขอให้ระลึกถึงขันติวาทีชาดก

    พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าว่า

    ในอดีตกาล พระเจ้ากาสีพระนามว่ากลาปุ ทรงครองราชย์สมบัติอยู่ใน พระนครพาราณสี ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ เป็นมาณพชื่อว่ากุณฑลกุมาร

    เจริญวัยแล้ว ได้เล่าเรียนศิลปะทุกอย่างในนครตักกศิลา แล้วรวบรวมทรัพย์สมบัติตั้งตัว เมื่อบิดามารดาล่วงลับไป จึงมองดูกองทรัพย์แล้วคิดว่า ญาติทั้งหลายของเราทำทรัพย์ให้เกิดขึ้นแล้วไม่ถือเอาไปเลย แต่เราควรจะถือเอาทรัพย์นั้นไป จึงจัดแจงทรัพย์ทั้งหมด ให้ทรัพย์แก่คนที่ควรให้เป็นทาน แล้วเข้าไปยังป่าหิมพานต์ บวช ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยผลาผลไม้อยู่เป็นเวลาช้านาน เพื่อต้องการจะเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว จึงไปยังถิ่นมนุษย์ ถึงพระนครพาราณสีโดยลำดับ แล้วอยู่ในพระราชอุทยาน

    วันรุ่งขึ้น เที่ยวภิกขาจารไปในนคร ถึงประตูนิเวศน์ของเสนาบดีท่านหนึ่ง เสนาบดีเลื่อมใสในอิริยาบถของพระโพธิสัตว์นั้น จึงให้เข้าไปยังเรือนโดยลำดับ ให้บริโภคโภชนะที่เขาจัดไว้เพื่อตน ให้รับปฏิญญาแล้วให้อยู่ในพระราชอุทยานนั้นนั่นเอง

    อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ากลาปุทรงมึนเมาน้ำจัณฑ์ มีนางนักสนมห้อมล้อม เสด็จไปยังพระราชอุทยาน ให้ลาดพระที่บรรทมบนแผ่นศิลา แล้วบรรทมเหนือตักของหญิงที่ทรงโปรดคนหนึ่ง หญิงนักฟ้อนทั้งหลายผู้ฉลาดในการขับร้อง การประโคม และการฟ้อนรำ ก็ประกอบการขับร้องเป็นต้น พระเจ้ากลาปุก็ทรงบรรทมหลับไป

    หญิงนักฟ้อนเหล่านั้นเห็นพระราชาทรงบรรทมหลับไปแล้ว จึงทิ้งเครื่องดนตรี มีพิณเป็นต้นไว้ในที่นั้นๆ เอง และออกไปเดินเที่ยวในพระราชอุทยาน

    ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์นั่งอยู่ ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุขในบรรพชา อยู่ ณ โคนต้นสาละมีดอกบานสะพรั่งในพระราชอุทยานนั้น หญิงเหล่านั้นเห็น พระโพธิสัตว์จึงเข้าไปไหว้ นั่งล้อม และขอให้พระโพธิสัตว์กล่าวธรรม พระโพธิสัตว์ จึงกล่าวธรรมแก่หญิงเหล่านั้น

    ครั้งนั้น หญิงคนนั้นขยับตัว ทำให้พระราชาตื่นบรรทม พระราชาไม่เห็น หญิงพวกนั้นจึงตรัสถาม หญิงคนโปรดนั้นก็กราบทูลว่า หญิงเหล่านั้นไปนั่งล้อม ดาบสรูปหนึ่ง พระราชาทรงกริ้วรีบเสด็จไปด้วยตั้งพระทัยว่า จักตัดหัวของชฎิลโกงนั้น

    เมื่อพระราชาเสด็จไปประทับยืนในสำนักของพระโพธิสัตว์แล้ว ตรัสถามว่า

    สมณะ เจ้ามีวาทะว่ากระไร

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า

    มหาบพิตร อาตมามีขันติวาทะ กล่าวยกย่องขันติ

    พระราชาตรัสถามว่า

    ที่ชื่อว่าขันตินั้น คืออะไร

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า

    คือ ความไม่โกรธในเมื่อเขาด่าอยู่ ประหารอยู่ เย้ยหยันอยู่

    พระราชาตรัสว่า

    ประเดี๋ยวเราจักเห็นความมีขันติของเจ้า

    แล้วรับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตผู้ฆ่าโจรมา แล้วรับสั่งให้เพชฌฆาตนั้น ฉุดพระโพธิสัตว์ให้ล้มลงที่พื้น แล้วให้เอาแซ่หนามเฆี่ยนสองพันครั้งในข้างทั้งสี่ คือ ข้างหน้า ข้างหลัง และด้านข้างทั้งสองด้าน เพชฌฆาตก็กระทำตามรับสั่งนั้น ผิวของพระโพธิสัตว์ขาด หนังขาด เนื้อขาด โลหิตไหล

    พระราชาตรัสถามอีกว่า

    เจ้ามีวาทะว่ากระไร

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า

    มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีในระหว่างหนังของอาตมา ขันติไม่ได้มีในระหว่างหนังของอาตมา มหาบพิตร ก็ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัย ซึ่งพระองค์ไม่อาจแลเห็น

    เพชฌฆาตทูลถามอีกว่า

    ข้าพระองค์จะทำอย่างไร

    พระราชาตรัสว่า

    จงตัดมือทั้งสองข้างของดาบสโกงผู้นี้

    เพชฌฆาตนั้นจับขวานตัดมือทั้งสองข้างแค่ข้อมือ ทีนั้นพระราชาตรัสกับเพชฌฆาตนั้นว่า จงตัดเท้าทั้งสองข้าง เพชฌฆาตก็ตัดเท้าทั้งสองข้าง โลหิตไหลออกจากปลายมือและปลายเท้า เหมือนรดน้ำครั่งไหลออกจากหม้อทะลุฉะนั้น พระราชาตรัสถามอีกว่า

    เจ้ามีวาทะว่ากระไร

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า

    มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีอยู่ที่ ปลายมือปลายเท้าของอาตมา ขันตินั้นไม่มีอยู่ที่นี้ เพราะขันติของอาตมาตั้งอยู่ เฉพาะภายในหทัยอันเป็นสถานที่ลึกซึ้ง

    พระราชาตรัสว่า

    จงตัดหูและจมูกของดาบสนี้

    เพชฌฆาตก็ตัดหูและจมูก ทั่วทั้งร่างกายมีแต่โลหิต

    พระราชาตรัสถามอีกว่า

    เจ้ามีวาทะกระไร

    พระโพธิสัตว์ทูลว่า

    มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ แต่พระองค์ได้สำคัญว่า ขันติตั้งอยู่เฉพาะที่ปลายหู ปลายจมูก ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัยอันลึก

    พระราชาตรัสว่า

    เจ้าชฎิลโกง เจ้าเท่านั้นจงนั่งยกเชิดชูขันติของเจ้าเถิด

    แล้วเอาพระบาทกระทืบยอดอก แล้วเสด็จหลีกไป

    เมื่อพระราชาเสด็จไปแล้ว เสนาบดีเช็ดโลหิตจากร่างกายของพระโพธิสัตว์ แล้วเก็บรวบรวมปลายมือ ปลายเท้า ปลายหู และปลายจมูกไว้ที่ชายผ้าสาฎก ค่อยๆ ประคองให้พระโพธิสัตว์นั่งลงแล้วไหว้ ได้นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วกล่าวว่า

    ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านจะโกรธ ควรโกรธพระราชาผู้ทำผิดในท่าน ไม่ควรโกรธผู้อื่น

    เมื่อจะอ้อนวอนจึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    30 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ