บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 26


    เวลาที่ไม่ให้ จะมีการคิดประการต่างๆ เช่น คิดว่า ไม่เคยสะสมในการให้ เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้จะสะสมการให้ นั่นก็ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งเห็นว่า ที่ขาดแคลนหรือมีของน้อย เพราะไม่ได้ให้ เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ไปแม้มีน้อยก็ต้อง ให้ด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่ง พระมหาสัตว์เมื่อจิตใคร่จะไม่ให้เกิดขึ้นเพราะเสียดายไทยธรรม ย่อมสำเหนียกว่า ดูกร สัตบุรุษ ท่านปรารถนาสัมมาสัมโพธิญาณอย่างสูงสุดประเสริฐกว่าสิ่งทั้งปวงมิใช่หรือ เพราะฉะนั้น ท่านควรให้ไทยธรรมที่พอใจอย่างยิ่ง เพื่อสัมมาสัมโพธิญาณนั้นเท่านั้น พระมหาสัตว์นั้น บริจาค มีมือสะอาด ยินดีในการเสียสละ มีผู้ขอ ยินดีในการแจกจ่ายทาน การผูกใจในทานข้อที่ ๓ ของพระมหาสัตว์เป็นอันถูกขจัดไป ตัดขาดไป ด้วยอาการอย่างนี้

    ถ้าเกิดนึกเสียดาย ก็ระลึกว่า ปรารถนาอะไร ปรารถนาสิ่งนั้น หรือ ปรารถนาการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้มีการให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นการขจัดการไม่ให้ในขณะนั้นได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่ง พระมหาสัตว์เมื่อให้ทาน ย่อมเห็นความสิ้นเปลืองของไทยธรรมในกาลใด ย่อมสำเหนียกว่า สภาพของโภคะทั้งหลายเป็นอย่างนี้ คือ มีความสิ้นไป เสื่อมไปเป็นธรรมดา อีกอย่างหนึ่ง เพราะเราไม่ทำทานเช่นนั้นมาก่อน โภคะทั้งหลายจึงปรากฏความสิ้นไปอย่างนี้ เอาเถิดเราจะพึงให้ทานด้วยไทยธรรมตามที่ได้ น้อยก็ตาม ไพบูลย์ก็ตาม เราจะบรรลุถึงที่สุดแห่งทานบารมีต่อไป พระมหาสัตว์นั้น บริจาค มีมือสะอาด ยินดีในการเสียสละ มีผู้ขอ ยินดีในการแจกจ่ายทาน ให้ทานด้วยของตามที่ได้ การผูกใจในทานข้อที่ ๔ ของพระมหาสัตว์เป็นอันถูกขจัดไป ตัดขาดไป ด้วยอาการอย่างนี้

    บางท่านคิดว่า ให้ไปแล้วทรัพย์สมบัติก็จะหมด แต่ตามความเป็นจริง ทรัพย์สมบัติย่อมหมดไปเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เราจะให้หรือไม่ให้ก็ตาม แล้วแต่กาล ของสมบัตินั้น เมื่อถึงกาลที่จะหมดก็หมด บางคนเสียดายว่า รู้อย่างนี้ให้ทานเสียดีกว่า คือ มีสมบัติมาก แต่ไม่ได้แจกจ่ายให้ไปเพราะเกรงว่าจะหมด และเมื่อเกิด ภัยพิบัติ จะเป็นไฟไหม้ น้ำท่วม โจร พระราชา หรืออะไรก็ตามแต่ บุคคลนั้นก็เกิดความเสียดายว่า รู้อย่างนี้ให้เสียดีกว่า เพราะฉะนั้น การที่จะหมดไปไม่ใช่เป็นเพราะ การให้ แต่ต้องแล้วแต่กรรมที่จะทำให้เมื่อไหร่มีทรัพย์ หรือเสื่อมทรัพย์ ต้องเป็นไป ตามกรรมนั้นๆ

    เรื่องบารมีเป็นเรื่องยาก แม้จะได้ยินได้ฟัง ก็แล้วแต่กำลังของแต่ละบุคคล ที่จะเจริญกุศลถึงระดับใด ขั้นใด เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ สะสมอบรมไปพร้อมกับปัญญา และบารมีอื่นๆ ทั้งหมดก็ต้องอบรมเจริญไปเรื่อยๆ ถ้ารู้ว่ากิเลสยังมากมาย และปัญญาที่จะตัดกิเลสนั้นก็ยาก เพราะว่ากิเลสมากเหลือเกิน

    สำหรับผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล จะมีการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องค่อยๆ ขัดเกลากิเลสไปในแต่ละชาติจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน จึงสามารถมีการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง อบรมเจริญปัญญาพร้อมด้วยบารมีอื่นๆ ซึ่งจะขาดบารมีหนึ่งบารมีใดไม่ได้ เพราะว่าทุกบารมีเกื้อกูลกัน แม้แต่ในเรื่องของสัจจะ ในเรื่องของทาน ถ้าไม่มีสัจจะ ทานบารมีก็สำเร็จไปไม่ได้ และถ้าไม่มีสัจจะ การที่จะรักษาศีลให้สมบูรณ์ก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น สัจจะจึงเป็น บารมีหนึ่งในบารมี ๑๐ ที่เกื้อกูลบารมีอื่นๆ เป็นแกนสำคัญที่ทำให้บารมีอื่นๆ เจริญขึ้น

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อุรควรรค อรรถกถาอาฬวกสูตร มีข้อความอธิบายความหมายของสัจจะว่า

    บทว่า สจฺจํ ความว่า ก็สัจจะศัพท์นี้ ย่อมปรากฏในอรรถหลายประการ คือ ย่อมปรากฏในวาจาสัจจะ … ปรากฏในวิรัติสัจจะ (คือ ความตั้งอยู่ในความจริง คือเว้นทุจริตกรรม) … ปรากฏในทิฏฐิสัจจะ (คือ ความจริงในความเห็นถูก) … พราหมณสัจจะ ปรมัตถสัจจะ อริยสัจจะ

    แสดงให้เห็นว่า มีหลายความหมาย แล้วแต่ที่จะใช้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บุคคลย่อมทดแม้น้ำได้ด้วยสัจจวาจา บัณฑิตทั้งหลายย่อมกำจัดแม้พิษ ได้ด้วยสัจจะ เทพย่อมหลั่งน้ำนมด้วยสัจจะ บัณฑิตทั้งหลายดำรงอยู่ในสัจจะ ย่อมปรารถนาพระนิพพาน รสเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ในแผ่นดิน สัจจะเทียวดีกว่า รสเหล่านั้น สมณะและพราหมณ์ดำรงอยู่ในสัจจะ ย่อมข้ามฝั่งแห่งชาติมรณะได้ ดังนี้

    สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเป็นของจริง ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ คือ กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล นั่นก็คือสัจจะด้วย สัจจะเป็นสิ่งซึ่งสำคัญ และจำเป็นในการดำเนินไปสู่พระนิพพาน อรรถกถา มุนิสูตร มีข้อความที่แสดงว่า บุคคลที่เป็นผู้ตรง มีสัจจะ เมื่อสะสมปัญญามาเห็นอะไรก็เป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดได้

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ได้ยินว่า ธิดาเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ลงจากปราสาทไปสู่โรงทอผ้า ในปราสาทชั้นล่าง เห็นคนทั้งหลายสอดกระสวยอยู่ จึงเกิดความคิดที่เปรียบกับกระสวยว่า กระสวยเป็นธรรมชาติตรง โอหนอ สัตว์ทั้งปวงละความคดทางกาย และทางวาจา พึงเป็นผู้มีจิตตรงเหมือนกระสวย

    นางแม้ขึ้นสู่ปราสาทแล้ว ก็นึกถึงเรื่องนั้นบ่อยๆ ไม่นานอนิจจลักษณะ ก็ปรากฏ และแม้ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะก็ปรากฏ

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระคันธกุฎี ทรงเปล่งแสงสว่างให้ นางเห็น ดุจประทับอยู่ ณ ที่นั้น เมื่อนางยืนประคองอัญชลี พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนา เมื่อจบพระธรรมเทศนา ธิดาเศรษฐีก็ดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล

    น่าจะเป็นอย่างนั้น ใช่ไหม ทุกคนปรารถนาเหลือเกิน แต่ต้องมีการสะสม ซึ่งเป็นบารมี เมื่อมีการสะสมที่เป็นบารมีพร้อม แม้เพียงเห็นคนทั้งหลายสอดกระสวยทอผ้า ก็ยังสามารถเกิดความคิดซึ่งต้องมีปัจจัยปรุงแต่งที่จะทำให้คิดอย่างนั้น เพราะว่าทำไมคนอื่นเห็นคนงานในโรงงานทอผ้าก็ไม่เคยคิดอย่างนี้ แต่ผู้ที่สะสมปัญญาและบารมีอื่นๆ มาแล้ว ก็เห็นว่า กระสวยเป็นธรรมชาติตรง สัตว์ทั้งปวง ละความคดทางกายและทางวาจา พึงเป็นผู้มีจิตตรงเหมือนกระสวย

    แม้เห็นแล้วก็ยังนึกถึงบ่อยๆ ถึงการเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม เพราะได้สะสมบารมีพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงเปล่งแสงสว่างให้เห็นและทรงแสดงธรรม ซึ่งเมื่อจบพระธรรมเทศนา ธิดาเศรษฐีดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล ดูง่ายเหลือเกินสำหรับผู้ที่ได้อบรมบารมีมาแล้ว

    การที่จะรู้พระพุทธศาสนาจริงๆ มีหนทางเดียว คือ ต้องศึกษา พระธรรมอย่างละเอียดรอบคอบ โดยที่ไม่ใช่เพียงฟังจากแต่ละบุคคล แต่ต้องศึกษาโดยตรงจากพระไตรปิฎก ผู้ที่ไม่ศึกษาพระธรรมและคิดว่าจะเข้าใจพระธรรมได้โดย ไม่ศึกษา ผู้นั้นเป็นผู้ที่ประมาทพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดง พระธรรมว่า ไม่ต้องศึกษาก็เข้าใจได้

    ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ก็เพราะมีบางท่านบอกว่า ควรจะแสดงธรรมขั้นต้นๆ สำหรับคนทั่วๆ ไป ซึ่งท่านก็ทราบว่า ธรรมระดับนั้นก็แสดงกันอยู่แล้ว แต่ผลคืออะไร เราต้องคิดถึงผลว่า ผลคืออะไร ต้องการผลอะไร ผลคือไม่รู้จริงในพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาค ซึ่งทำให้มีความสับสนและไม่สามารถแยกได้ว่า ข้อความใดถูก ข้อความใดผิดจากสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้วิชาการอย่างอื่นยังต้องศึกษาหลายปี เพราะฉะนั้น ไม่มีข้ออ้างเลยที่จะกล่าวว่า ไม่ต้องศึกษาพระพุทธศาสนา และคิดว่าจะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้

    ถ้าบางท่านเห็นว่า ไม่ต้องกล่าวถึงพระธรรมโดยละเอียด ก็จะเหมือนกับ เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ซึ่งข้อความใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มหาวรรค อภิสมยสังยุต อรรถกถาสุสิมสูตร กล่าวถึงอาการของ ผู้ขโมยพระธรรม ผู้ใคร่ลาภสักการะ และเห็นว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงนั้นนำมาซึ่งลาภ สักการะ บูชา สรรเสริญจากมหาชน ผู้ใคร่ลาภสักการะ พวกนั้น คือ พวกเดียรถีย์ปริพาชก ก็คิดว่า

    ถ้าพวกเราพึงรู้อย่างละหน่อยๆ จากสิ่งที่พระสมณโคดมรู้ เราพึงใส่ลัทธิของตนในคัมภีร์นั้น กล่าวแก่อุปัฏฐากทั้งหลาย ต่อแต่นั้นเราพึงเป็นผู้มีลาภมากกว่าสาวกเหล่านั้น

    สมัยนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าพุทธบริษัทไม่ศึกษาพระธรรม และนำเอาพระธรรมเพียงเล็กน้อยมาเพิ่มเติมความเห็นของตนเองทั้งปริยัติและปฏิบัติ ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเข้าใจจริงๆ ในพระธรรม แต่เหตุใดจึงทำอย่างนั้น แสดงให้เห็นว่า การขโมยพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นเพื่อใช้สอยลาภสักการะ และการยกย่องสรรเสริญก็มี

    ด้วยเหตุนี้ทุกท่านจึงต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อพระธรรม และมีความจริงใจต่อการศึกษาพระธรรม เพื่อเข้าใจพระธรรม และละคลายขัดเกลาอกุศลของตนเอง เพราะว่าทุกคนที่ศึกษาพระธรรมย่อมรู้ว่า ตนเองมีอกุศล ถ้าไม่มีอกุศลคงจะไม่ศึกษาพระธรรมเป็นแน่ แต่อกุศลที่คิดว่ารู้แล้ว ความจริงละเอียดมากกว่านั้นมาก ซึ่งถ้า ไม่พิจารณาโดยรอบคอบ อาจจะไม่เห็นความละเอียด เช่น ดิฉันได้ฟังทางวิทยุ ถ้าพิจารณาเผินๆ เพียงบางประการก็ดูจะเป็นความจริง คือ ท่านผู้นั้นกล่าวว่า คนเราย่อมมีทั้งดีและชั่ว บางคนตอนแรกเป็นคนดี แต่ตอนหลังบั้นปลายของชีวิตก็ชั่ว ส่วนบางคนนั้นตอนแรกเป็นคนชั่ว แต่ตอนหลังบั้นปลายของชีวิตก็กลับเป็นคนดีได้ เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้นก็กล่าวว่า ตามลัทธิศาสนานั้นก็ตัดสินกันตอนจะตายว่า ก่อนจะตายนั้นคนนั้นเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่ว คือ หมายความว่าสามารถกลับตัว ได้ไหม แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นเข้าใจว่า ความดีและความชั่วจบลงตอนตาย

    แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ตราบใดที่ยังมีเหตุมีปัจจัย ผลก็ยังต้องเกิด ต้องมีตราบนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นคนดีตอนตายแล้วก็ไม่ต้องเกิดอีก ถ้าท่านผู้นั้นมีทั้งดี และชั่วอยู่ในใจ แต่ยังไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา คนอื่นจะรู้ได้ไหม เพราะฉะนั้น ไม่พอที่จะกล่าวสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงเผินและก็รับฟัง และก็คิดว่าถูก แต่ต้องพิจารณาละเอียดกว่านั้นมาก

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า เมื่อท่านได้รับฟังพระธรรมแล้ว เวลาที่อกุศลจิตเกิดกับท่าน แม้แต่ใจที่จะน้อมไปไม่ให้คิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่ทำให้โกรธบุคคลนั้นก็ยังทำไม่ได้ คือ ฟังและเข้าใจทุกอย่างว่า ไม่ควรคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่ควรคิดถึงความไม่ดีที่ คนนั้นได้กระทำต่อตนไปแล้ว ทั้งๆ ที่คิดอย่างนี้ แต่ที่จะไม่ให้ใจขุ่นเคืองนั้น ไม่ได้ และที่จะไม่ให้ไม่คิด ก็ไม่ได้เหมือนกัน

    แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่า แม้แต่ความจำ แม้แต่การที่วิตกจะตรึกนึกถึงเรื่องเก่าๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และแม้ใน ขณะนั้นเองที่กำลังคิดถึงเรื่องเก่าที่ทำให้ขุ่นใจในบุคคลนั้น ท่านก็รู้สึกว่า จิตใจของท่านเร่าร้อน เป็นทุกข์ ไม่สบายเลย และท่านก็ยังคิดขึ้นได้ว่า เพียงกุศลจิตเกิดในขณะนั้น ย่อมสงบความทุกข์เร่าร้อนในขณะนั้นได้ แต่แม้กระนั้นกุศลก็ไม่เกิด และ การที่จะไม่ให้คิดอย่างนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เพียงกุศลจิตเกิดและไม่คิดถึงเรื่องนั้น ความสงบจากความทุกข์ก็จะเกิดได้

    ท่านยังคิดต่อไปอีกว่า ถ้าเพียงกุศลจิตเกิด และขณะที่ความทุกข์เร่าร้อนนั้น สงบไปแม้ชั่วครู่ ก็ยังสบายอย่างนั้น ถ้ากิเลสดับหมดไม่เหลือเลยสักประเภทเดียว ความสุขความสงบจะสักเพียงไหน แต่แม้อย่างนั้น ขณะนั้นก็ยังไม่สามารถเป็น อย่างนั้นได้ แสดงให้เห็นว่า กว่าจะรู้ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ย่อมยากกว่าการที่เพียงแต่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลและถ้าอกุศลนั้น สงบลง กุศลจิตเกิดก็จะมีความสงบ

    เนื่องจากยังมีความเป็นตัวตน ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนทั่ว เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถระงับแม้แต่ความเร่าร้อน ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะนึกถึงเรื่องเก่าๆ ที่ทำให้ไม่สบายใจได้

    นี่คือชีวิตตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นสัจจธรรม เป็นความจริงสำหรับทุกท่านที่จะรู้จักตนเองว่า ท่านมีกุศลประเภทใด และมีอกุศลประเภทใด เพราะบางท่านมักจะนึกถึงเรื่องเก่าๆ และไม่อภัย และก็เป็นอย่างนี้บ่อยๆ บังคับตัวเองก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีทางเดียว คือ อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้จริงๆ ไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากการประจักษ์แจ้งปรมัตถสัจจะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลสักลักษณะเดียว

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา อุรควรรค สุตตนิบาต อรรถกถาอาฬวกสูตร มีข้อความว่า

    บทว่า สจฺเจน ความว่า บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงอย่างนี้ คือ ผู้พูดคำสัตย์ พูดคำจริง ย่อมได้ชื่อเสียง ด้วยสัจจะบ้าง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวกย่อมได้ชื่อเสียง ด้วยปรมัตถสัจจะบ้าง

    เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่สามารถรู้สภาพธรรมทุกอย่างได้ตามความ เป็นจริง แต่ต้องอาศัยการฟังพระธรรม การพิจารณาพระธรรม การเป็นผู้ที่ละเอียดและการเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเป็นลำดับขั้นด้วย

    ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมและมีพระธรรมเป็นสรณะแล้วในชาตินี้ แต่ยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ เป็นผู้ที่กำลังดำเนินหนทางอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ แต่ละภพแต่ละชาติก็ต้องดำเนินตามรอยของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คือ สะสมบารมีต่างๆ

    ท่านที่บอกว่า อยากจะปฏิบัติธรรม ซึ่งมีหลายท่านทีเดียว มิตรสหายของผู้ที่สนใจในธรรมด้วยกันก็อาจจะได้ยินบางท่านบอกว่า อยากจะปฏิบัติธรรม แต่สนใจเรื่องของการปฏิบัติธรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าการปฏิบัติธรรม คือ การละอกุศล ละโลภะ โทสะ โมหะ

    ถ้ากำลังโลภ อยากจะละความโลภในขณะนั้นไหม หรืออยากจะปฏิบัติธรรม โดยไม่เข้าใจว่า ปฏิบัติธรรม คือ ละโลภะในขณะที่โลภะกำลังเกิด นั่นคือปฏิบัติธรรม เมื่อไม่เข้าใจอย่างนี้ ขณะที่กำลังมีโลภะ ไม่ได้ต้องการที่จะละโลภะ แต่อยากจะปฏิบัติธรรม แสดงให้เห็นว่า เพราะไม่เข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการละโลภะ ละโทสะ ละโมหะ

    ขณะที่กำลังโกรธ และยังโกรธกันอยู่มาก ท่านที่ฟังธรรมแล้วนี่แหละ ยังเป็น ผู้ที่สะสมความโกรธบ้าง สะสมความโลภบ้าง ขณะที่โกรธ อยากจะละ ความโกรธในขณะนั้นไหม หรือว่าอยากจะปฏิบัติธรรม

    นี่เป็นสิ่งที่จะทำให้มีความละเอียดในการพิจารณา ซึ่งจะเกื้อกูลในขณะนั้นว่า ถ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องรอเวลาอื่น ขณะที่กำลังโกรธนั่นเอง ละความโกรธ เป็นความไม่โกรธ ขณะนั้นเป็นการปฏิบัติธรรม กำลังริษยา กำลังตระหนี่ หรือ อกุศลใดๆ ก็ตามในขณะนั้นซึ่งกำลังเกิด อยากจะปฏิบัติธรรมไหม ถ้าอยาก คือ ละอกุศลในขณะนั้นเท่านั้น

    แต่การละอกุศลเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้อย่างใจคิดหรือหวัง วันนี้หรือแต่ก่อนนี้ ก็อาจจะมีหลายท่านที่ตั้งปณิธานหรือมีความตั้งใจที่จะละอกุศล แต่ถึงเวลาจริงๆ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แม้พระโพธิสัตว์ซึ่งแต่ละชาติได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ก็ยังต้องเป็นไปตามกำลังของอกุศลที่ยังไม่ได้ดับ

    ขอกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ซึ่งท่านได้บำเพ็ญบารมีเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม คือ รู้ความจริงของปรมัตถธรรมทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้น ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งสัจจธรรม และเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของสัจจะ คือ ความจริง

    สภาพธรรมที่เป็นสัจจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความจริงของจิตเป็นอย่างไร ความจริงของเจตสิกเป็นอย่างไร ความจริงของรูปซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอย่างไร ความจริงของนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ต่างกับจิต เจตสิก รูปอย่างไร ผู้ที่แสวงหาความจริงต้องการประจักษ์แจ้งความจริง ผู้นั้นต้อง เห็นประโยชน์ของสัจจะคือความจริงที่จะต้องอบรมไปทุกขั้น ตั้งแต่ขั้นของวาจาจริง

    ข้อความโดยย่อใน อรรถกถา นวกนิบาตชาดก อรรถกถาหริตจชาดก ที่ ๕ มีว่า

    ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี

    พระเจ้าพรหมทัตในครั้งนั้น คือ ท่านพระอานนท์ในชาติสุดท้ายนี้

    ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ และเพราะท่านมีผิวงามดังทองมารดาบิดาจึงตั้งชื่อว่า หาริตกุมาร เมื่อเจริญวัยและเรียนจบจาก เมืองตักศิลาแล้ว ท่านก็พิจารณาเห็นว่า ทรัพย์สมบัติที่มารดาบิดาแสวงหามานั้น ยังปรากฏอยู่ แต่มารดาบิดาผู้แสวงหาทรัพย์นั้นล่วงลับไปแล้ว หาปรากฏไม่

    ทุกท่านที่มีสมบัติมากๆ ก็จะรู้ว่า จากไปแต่ตัว ทรัพย์สมบัติยังเหลืออยู่ ส่วนตัวผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัตินั้นต้องจากไป

    เมื่อท่านพิจารณาเห็นว่า ท่านเองก็ต้องเป็นอย่างนั้น ท่านจึงบริจาคทรัพย์ ให้ทาน และไปบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่าหิมวันต์ บำเพ็ญฌานจนได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ เมื่อต้องการเสพอาหารที่มีรสเค็ม รสเปรี้ยว ก็ออกจากป่าไปยังพระนครพาราณสี บรรลุถึงพระลานหลวง พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็น มีพระทัยเลื่อมใส และให้สร้างที่พักในพระราชอุทยานถวาย มีผู้คอยปรนนิบัติ พระดาบส ได้ฉันอยู่ในพระราชวังตลอดมา ๑๒ ปี

    ต่อมาภายหลัง พระเจ้าพาราณสีเสด็จไปปราบชายแดนที่ก่อความไม่สงบ และมอบหมายให้พระราชเทวีถวายภัตตาหารแก่พระดาบส ซึ่งพระเทวีก็ได้ทรงอังคาสพระดาบสด้วยพระองค์เอง

    วันหนึ่งพระเทวีทรงตบแต่งโภชนะไว้เรียบร้อยแล้ว และพระดาบสยังช้าอยู่ พระนางจึงสรงสนานด้วยน้ำหอม ทรงนุ่งพระภูษาเลี่ยนเนื้อละเอียด ทรงให้เปิด พระบัญชรและประทับบนเตียง ให้ลมพัดต้องพระวรกาย เมื่อพระดาบสเหาะมาถึงพระบัญชร พระเทวีได้ยินเสียงผ้าคากรองของพระดาบสก็เสด็จลุกขึ้นโดยเร็ว พระภูษาเลื่อนหลุดหล่นลง ทันใดที่พระดาบสเห็นเช่นนั้น กิเลสซึ่งหมักดองอยู่หลายแสนโกฏิปี มีอาการดังอสรพิษที่นอนขดอยู่ในข้องก็กำเริบขึ้น ทำฌานให้อันตรธานไป พระดาบสไม่สามารถดำรงสติไว้ได้ จึงเข้าไปจับพระหัตถ์พระเทวีและประพฤติผิดร่วมกัน

    ตั้งแต่นั้นมา การกระทำนั้นได้แพร่สะพัดไปทั่วพระนคร พวกอำมาตย์ได้ส่งหนังสือไปกราบทูลพระเจ้าพาราณสี พระเจ้าพาราณสีมิได้ทรงเชื่อ โดยทรงพระดำริว่า พวกอำมาตย์ประสงค์จะทำลายพระองค์จึงได้กล่าวอย่างนั้น

    เมื่อพระราชาทรงปราบชายแดนให้สงบลงแล้ว ก็เสด็จกลับพระนครพาราณสี และได้ตรัสถามพระเทวีว่า ข่าวเรื่องการประพฤติผิดของพระดาบสและพระเทวีนั้น จริงหรือ พระเทวีกราบทูลว่า จริง พระราชายังมิได้ทรงเชื่อแม้ว่าพระเทวีจะกราบทูลว่า จริง พระองค์จึงเสด็จไปยังพระราชอุทยาน เมื่อนมัสการพระดาบสและประทับ ณ นั่งที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ก็ได้ตรัสถามพระดาบสด้วยคาถาที่ ๑ ว่า

    ข้าแต่มหาพรหม ได้ยินเขาพูดกันว่า พระหาริตดาบสบริโภคกาม คำนี้ ไม่เป็นจริงกระมัง ท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่แลหรือ

    พระดาบสคิดว่า เมื่อเราทูลว่าเราไม่ได้บริโภคกาม พระราชานี้ก็จะทรงเชื่อเราเท่านั้น แต่ว่าในโลกนี้ ขึ้นชื่อว่าที่พึ่งที่เช่นกับความสัตย์ไม่มี เพราะว่าผู้ที่ทิ้งความสัตย์เสียแล้ว ย่อมไม่สามารถจะนั่งที่โพธิบัลลังก์บรรลุพระโพธิญาณได้ เราควรกล่าวแต่คำสัตย์เท่านั้น

    จริงอยู่ ปาณาติบาตก็ดี อทินนาทานก็ดี กาเมสุมิจฉาจารก็ดี สุราปานะก็ดี ย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ได้บ้างในฐานะบางอย่าง แต่มุสาวาทที่กล่าวให้คลาดเคลื่อน หักประโยชน์เสีย ย่อมไม่มีแก่พระโพธิสัตว์เลย ฉะนั้น เมื่อพระดาบสจะกล่าว ความสัตย์ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า

    ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์ได้ทรงสดับถ้อยคำมาแล้วอย่างใด ถ้อยคำนั้นเป็นจริงอย่างนั้น อาตมภาพเป็นผู้หมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง เดินทางผิดแล้ว

    พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสคาถาที่ ๓ ว่า

    ปัญญาที่ละเอียด คิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นเครื่องบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นแล้วของท่าน มีไว้เพื่อประโยชน์อะไร ท่านไม่อาจบรรเทาความคิดที่แปลกได้

    คำอธิบายข้อความนี้มีว่า

    ธรรมดาเภสัชย่อมเป็นที่พึ่งของคนไข้ น้ำดื่มเป็นที่พึ่งของคนกระหายน้ำ ก็ปัญญาที่ละเอียด คิดสิ่งที่ดีคือที่เป็นประโยชน์ เป็นเครื่องบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นแล้วของท่าน มีไว้เพื่อประโยชน์อะไร ทำไมจึงไม่อาจใช้ปัญญานั้นบรรเทาความคิด ที่ผิดปกตินั้นได้

    ลำดับนั้น หาริตดาบสเมื่อจะแสดงกำลังของกิเลสแก่พระราชา จึงได้กล่าวคาถาที่ ๔ ว่า

    ข้าแต่มหาบพิตร กิเลส ๔ อย่างเหล่านี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มทะ (คือ ความมัวเมา) เป็นของมีกำลังกล้า หยาบคายในโลก เมื่อกิเลสเหล่าใดรึงรัดแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    31 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ