บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 27


    เมื่อกิเลสเหล่าใดรึงรัดแล้ว ปัญญาก็หยั่งไม่ถึง เหมือนคนตกลงไปในห้วงน้ำใหญ่

    เป็นความจริงสำหรับคนทุกยุคทุกสมัย ซึ่งควรจะกลัวกำลังของกิเลสที่สะสมมาในจิตนานแสนนาน เหมือนกับอสรพิษที่ขดอยู่ในข้อง ยังไม่มีโอกาสออกมาแสดงพิษร้ายได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเล่าถึงอดีตชาติของพระองค์ เพื่อที่จะให้ทุกคนเป็นผู้ที่ไม่ประมาท มีสติระลึกถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เมื่อพระราชาได้ทรงสดับคำของดาบสแล้ว จึงตรัสคาถาที่ ๕ ว่า

    ข้าพเจ้าได้ยกย่องท่านแล้วอย่างนี้ว่า หาริตดาบสเป็นพระอรหันต์ สมบูรณ์ด้วยศีล ประพฤติบริสุทธิ์ เป็นบัณฑิต มีปัญญาแท้

    หาริตดาบสได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่ ๖ ต่อจากนั้นว่า

    ข้าแต่มหาบพิตร วิตกอันลามก เป็นไปด้วยการยึดถือนิมิตว่างาม ประกอบด้วยความกำหนัด ย่อมเบียดเบียนแม้ผู้มีปัญญา ผู้ยินดีแล้วในคุณธรรมของฤๅษี

    ข้อความนี้เตือนผู้ที่เข้าใจว่าตนเองมีปัญญาและคิดว่าปลอดภัยแล้วว่า ประมาทไม่ได้เลย เพราะว่าผู้ที่มีปัญญาแม้ยินดีในคุณธรรมของผู้ที่ใฝ่ในธรรมแล้ว ก็ยังสามารถให้อกุศลเบียดเบียนแม้ผู้มีปัญญาได้

    พระราชาเมื่อจะให้หาริตดาบสเกิดอุตสาหะในการละกิเลส จึงตรัสคาถาที่ ๗ ว่า

    ความกำหนัดนี้เกิดขึ้นในกาย เกิดขึ้นมาแล้วเป็นของทำลายวรรณะของท่าน (วรรณะ คือ คำสรรเสริญคุณความดี) ท่านจงละความกำหนัดนั้นเสีย ความเจริญย่อมมีแก่ท่าน ท่านเป็นผู้อันชนหมู่มากยกย่องแล้วว่าเป็นคนมีปัญญา

    พระราชาเตือนสติผู้มีปัญญาที่ขาดสติให้กลับระลึกได้

    คราวนั้นพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้วกลับได้สติ พิจารณาโทษในกามทั้งหลายแล้ว กล่าวคาถาที่ ๘ ว่า

    กามเหล่านั้นทำแต่ความมืดให้ มีทุกข์มาก มีพิษใหญ่หลวง อาตมภาพจักค้นหามูลรากแห่งกามเหล่านั้น จักตัดความกำหนัดพร้อมเครื่องผูกเสีย

    มูลรากแห่งกามนั้น คือ อโยนิโสมนสิการ การพิจารณาใส่ใจโดยไม่แยบคาย

    ดาบสนั้นได้เจริญสมถภาวนาจนได้ฌานอีก เห็นโทษของการอยู่ในที่ไม่สมควร (คือ พระราชอุทยาน) จึงได้กลับไปสู่ป่าให้พ้นจากกลิ่นสตรี และเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ก็เข้าถึงพรหมโลก

    เหตุที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ ณ พระวิหารเชตวัน ก็เนื่องด้วยพระภิกษุรูปหนึ่งเห็นหญิงคนหนึ่งแต่งตัวสวยงามก็เกิดกิเลส ใคร่จะลาสิกขาบท เมื่ออุปัชฌาย์อาจารย์แนะนำก็ไม่พอใจ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม ภิกษุนั้นก็รับว่า จริง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ ธรรมดากิเลสย่อมไม่มีความชื่นบาน เพราะขจัดคุณความดี มีแต่จะให้ตกนรก และกิเลสนั้นทำไมจักไม่ทำให้เธอลำบากเล่า ลมแรงพัดเขาสิเนรุ ทำไมจักไม่พัดใบไม้เก่าๆ ให้กระจัดกระจายได้ แม้พระองค์เองในพระชาติที่เป็นหาริตดาบส ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ดำเนินรอยตามพระโพธิญาณ เพราะอาศัยกิเลสประเภทนี้จึงไม่อาจดำรงสติอยู่ได้ ยังต้องเสื่อมไปจากฌาน

    พระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมทั้งหลาย ก็เพื่อให้เห็นความไม่เป็นประโยชน์ของอกุศล และให้เห็นกำลังของการสะสมอกุศล ซึ่งข้อความที่น่าฟัง น่าพิจารณา คือ ลมแรงพัดเขาสิเนรุ ลมพัดได้ทุกอย่าง แม้แต่เขาสิเนรุ ทำไมจะไม่พัดใบไม้เก่าๆ ให้กระจัดกระจายได้

    ทุกท่านที่มีกิเลสที่ยังไม่ดับ ยังไม่ใช่เขาสิเนรุแน่ ยังคงเป็นเพียงใบไม้เก่าๆ เท่านั้นเอง เบา พร้อมที่ลมจะพัดไปทางไหนก็ไปทางนั้น ไม่ว่าจะเป็นลมโลภะ หรือลมโทสะ หรือลมโมหะ เพราะฉะนั้น ก็จะได้เป็นผู้ไม่ประมาทจริงๆ และจะได้เห็นว่า อกุศลเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ในขณะนั้น ยังจะสะสมเพิ่มกำลังขึ้นเรื่อยๆ

    เมื่อตรัสหริตจชาดกแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงประกาศสัจจธรรม เวลาจบสัจจธรรม ภิกษุผู้นั้นได้ดำรงอยู่ในอรหัตตผล

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นคุณของสัจจธรรม ความจริงซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงสัจจธรรมนั้นได้ เป็นผู้ที่กำลังแสวงหาสัจจธรรม คือ รู้ว่าขณะนี้ทางตา ที่กำลังเห็นนี่ดับ ทางหูก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยชั่วขณะเดียวแล้วดับ ขณะที่กำลังฟังพระธรรมก็เพื่อแสวงหาสัจจธรรม ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เพื่อแสวงหาสัจจธรรมที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นความจริงทุกยุคทุกสมัย ไม่เปลี่ยนเลย เพราะฉะนั้น ทุกท่านต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะ คำจริง วาจาจริง กายจริง ทำตามที่พูด และใจจริงต่อกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะสัจจะทั้งหมดต้องเป็นไปในกุศลธรรม

    ทุกท่านที่ยังมีกิเลสอยู่ พิจารณาดูว่า ท่านยังมีความโกงในตัวของท่านเองบ้างไหม แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ ความโกง คือ ความไม่ตรงต่อความจริง ถึงแม้จะเป็นผู้รู้ มีปัญญา ได้ฟังพระธรรมก็ตาม ก็ยังจะต้องเป็นไปตามกำลังของการแอบแฝงของกิเลส ซึ่งในขณะนั้น มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จึงทำให้สภาพธรรมเป็นอกุศล เป็นความโกงซึ่งไม่ใช่สัจจธรรม

    สัจจะ ความจริงต่อการเจริญกุศลเพื่อเป็นบารมี เพราะว่าทุกอย่างที่จะสำเร็จ ถ้าไม่มีความจริงต่อการที่จะกระทำสิ่งนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ก็ย่อมสำเร็จไม่ได้ แม้ในเรื่องของกุศลทุกประการ ในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของภาวนา ก็ต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะ คือ มีความจริง ไม่คลาดเคลื่อนต่อการ เจริญกุศลทุกๆ ขั้น และแต่ละคนก็รู้เฉพาะตนในเรื่องความจริงของกุศลของแต่ละคน คือ ผู้อื่นไม่สามารถรู้ได้ว่า ท่านมีความจริงใจต่อการเจริญกุศลในขั้นใด และเพียงใด เช่น ในขั้นของทาน ท่านเป็นผู้ที่มีความจริงในการเจริญกุศลขั้นนี้มากน้อยเพียงไหน ก็เป็นเรื่องเฉพาะตน แม้ในเรื่องของศีล ก็เช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อละกิเลส ต้องเห็นกิเลสอย่างละเอียด แม้การกล่าวคำที่ไม่จริงเพียงเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเป็นความเคยชินจะทำให้รู้สึกว่าง่ายต่อการกล่าววาจาที่ไม่จริง และอาจจะคิดว่าวาจาที่ ไม่จริงนั้นไม่เป็นโทษ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเว้น ไม่กล่าว เป็นผู้มีวาจาจริง และกระทำตามวาจาที่ได้กล่าวแล้ว สะสมเป็นอุปนิสัยไปเรื่อยๆ จะทำให้เป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลในขณะที่กล่าววาจาที่ไม่จริง แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมวาจาที่ไม่จริงไปเรื่อยๆ คือ ยังไม่เห็นโทษแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จะทำให้ไม่เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อยในขณะที่กล่าววาจาที่ไม่จริง

    จะเห็นได้ว่า อกุศลเป็นสิ่งที่เห็นยาก วันนี้มีอกุศลมากตั้งแต่เช้า เห็นบ้างไหม แสดงให้เห็นว่า รู้จักแต่ชื่อ ไม่ว่าจะเป็นธรรมใดๆ ก็ตาม จิต รู้จักแต่ชื่อ เจตสิก รู้จักแต่ชื่อ อกุศลจิตก็รู้จักแต่ชื่อ กุศลจิตก็รู้จักแต่ชื่อ แต่ไม่รู้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังเกิดขึ้นเป็นไป สภาพธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่ฟังเข้าใจได้ แต่ที่จะเห็น ที่จะรู้ ในขณะที่ สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏจริงๆ ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาจากการฟัง และระลึกได้ แม้ในขณะที่พูดไม่จริงแม้เพียงเล็กน้อย หรือไม่ได้ทำตามที่พูดแล้ว ในขณะนั้นสติสัมปชัญญะก็สามารถเกิดระลึกได้ และเห็นว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ซึ่งความจริงแล้วน่าที่จะเห็นอกุศลบ่อยๆ เพราะว่าวันหนึ่งๆ มีอกุศลมาก แต่ที่ไม่เห็น เพราะเป็นผู้หลงลืมสติ สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    การที่จะเป็นผู้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน และเมื่อมีความละเอียดเพิ่มขึ้นเพราะ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมละเอียดเพิ่มขึ้น ปัญญาก็สามารถรู้ลักษณะของอกุศลในขณะที่อกุศลเกิดว่าเป็นอกุศลประเภทไหน ทางไหน ต่างกับสภาพที่เป็นกุศล จึงจะค่อยๆ เจริญธรรมที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้น

    ธรรม ถ้าจะพูดสั้นๆ ง่ายๆ ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เหมือนไม่ยาก แต่ทำไม่ได้แน่ และสำเร็จไม่ได้ด้วย เช่น ถ้ากล่าวว่า ละอกุศลเสีย เท่านี้ ใครทำได้ ในเมื่อยังไม่รู้จักอกุศลเลย และยังไม่เห็นอกุศลในขณะที่อกุศลเกิด

    ข้อความในพระไตรปิฎกแม้สั้น แต่ทุกท่านจะต้องพิจารณาและเข้าใจหนทาง ที่จะทำให้สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้จริง แม้ในคำสั้นๆ ที่ว่า ละอกุศล ก็ต้อง รู้อกุศลในขณะที่อกุศลเกิด เป็นผู้ที่เข้าใจอรรถ ความหมายของการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทไม่ได้

    ผู้ฟัง อกุศลทางวาจาอีก ๓ ประการ รวมอยู่ในสัจจะด้วยหรือเปล่า การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ การพูดส่อเสียด

    ท่านอาจารย์ สัจจะ ต้องหมายความถึงกุศลจิต ซึ่งตรงต่อการที่จะอบรมเจริญกุศล เพื่อเป็นบารมียิ่งขึ้น ไม่คลาดเคลื่อนจากความคิดที่เป็นไปในกุศลว่า จะละเว้น การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจาที่ไม่น่าฟัง เพราะรู้ว่าทำให้คนอื่นเสียใจ แต่บางครั้ง เวลาโกรธก็ลืมสัจจะนั้นเสียแล้ว หรือไม่ตรงต่อการยับยั้งที่จะไม่พูดวาจาที่ไม่น่าฟังนั้น

    แสดงให้เห็นว่า สัจจะต้องเป็นบารมี ซึ่งเป็นบริวารของปัญญา ถ้าปราศจากปัญญาแล้ว ต่อให้มีความคิด ความพยายามสักเท่าไร ก็ไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะว่ากิเลสยังมีกำลังมาก ด้วยเหตุนี้จึงต้องพากเพียรที่จะรู้ว่า สัจจะนั้นต้องตรงและจริงใจต่อการบำเพ็ญกุศลไม่คลาดเคลื่อนไป แต่กาลใดที่คลาดเคลื่อนไป กาลนั้นก็รู้ว่ายังไม่สมบูรณ์ เมื่อมีสติพร้อมด้วยสัมปชัญญะ สติที่รู้ว่าขณะนั้นพลาดพลั้ง ก็จะเป็นปัจจัยทำให้สำรวมระวังต่อไปได้ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีจุดหมายเสียเลยและคิดว่า สัจจะไม่สำคัญในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถ้าคิดอย่างนั้น ไม่ถูก เพราะว่าสัจจะ เป็นความจริงที่ประเสริฐ อริยสัจจะเป็นความจริงที่ทำให้ผู้ที่ประจักษ์สัจจธรรมนั้น เป็นพระอริยบุคคล ขณะนี้ทุกคนก็พยายามที่จะฟังและเข้าใจสัจจธรรม เรื่องอื่นไม่มีประโยชน์ในชีวิตเท่ากับเรื่องจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงขวนขวายพากเพียรที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และพยายามทุกทางที่จะบำเพ็ญกุศลอื่นๆ เพื่อให้ ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ฟัง ได้เข้าใจแล้ว เพราะรู้อยู่ว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่กิเลสมาก และอวิชชาที่หุ้มห่อไว้ทำให้ไม่เห็นการเกิดดับของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยสัจจะเป็นบารมีหนึ่งที่จะทำให้เป็นผู้ที่ตรงทั้งกาย ทั้งวาจา และใจ ในการเจริญกุศลทุกขั้น แม้ในขั้นของทาน ในขั้นของศีล ในขั้นของภาวนา มิฉะนั้นแล้วจะทำให้เป็น ผู้ที่ถูกอกุศลพัดพาไป ไม่ตรงต่อสภาพธรรม เพราะกำลังของอกุศลนั้นๆ

    ผู้ฟัง ที่ฟังวันนี้ คือ ทาน ศีล ภาวนา และศีล สมาธิ ภาวนา ๓ อย่างนี้ ไตรสิกขา ต่างกันตรงไหนหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่เป็นบรรพชิต ไม่มีวัตถุทานที่จะให้บุคคลอื่น แต่ก็มีอภัยทานและธรรมทาน ท่านเป็นผู้หนักในศีล สมาธิ ภาวนา สำหรับคฤหัสถ์ก็มีทาน ศีล ภาวนา ก็เป็นกุศลที่รวมทุกประการอยู่แล้ว เพราะว่าศีลก็เป็นมหาทาน จะโดยนัยของทาน ศีล ภาวนาก็ได้ หรือโดยนัยของศีล สมาธิ ปัญญาก็ได้

    พระ ได้สนทนากับเพื่อนภิกษุเกี่ยวกับการพูดสิ่งที่ไม่จริง ท่านมีความเห็นว่า คำพูดใดที่ทำให้คนอื่นสบายใจ แม้ไม่ได้กระทำสิ่งนั้นจริงๆ แต่ได้กล่าวคำนั้นออกไป เจตนาเพื่อให้คนอื่นสบายใจ เช่น มารดายากจนไม่สามารถหาอาหารให้บุตรได้ ในขณะนั้นบุตรควรจะฉลาด ไม่ให้มารดาเสียใจ ก็บอกว่ากินอิ่มแล้ว ท่านแสดงว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นทำให้คนอื่นเกิดกุศลจิต และตัวเองก็พูดด้วยกุศลจิต เพราะว่า กลัวมารดาหาอาหารให้ไม่ได้จะเป็นทุกข์ แม้ตัวเองยังไม่ได้กินมา แต่อาตมาคิดว่า ควรพูดถึงหลักธรรมที่ว่า ควรพูดสิ่งที่เป็นจริง แต่ไม่สามารถอธิบายให้เขาเข้าใจได้ว่า ขณะนั้นคำพูดที่ไม่บิดเบือนนั้นเป็นกุศลแล้ว แต่ท่านก็กล่าวว่า กุศลนั้นก็ยังไม่มีกำลังเท่ากับกุศลที่พูดให้คนอื่นสบายใจ และเขาก็เกิดกุศล อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบาย ขณะใดที่กล่าวแล้วไม่หักรานประโยชน์ แต่เป็นคำพูดที่ไม่จริง ก็มีโทษใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่จริง เว้นไม่กล่าวน่าจะสะดวกกว่า คือ รู้ว่าอะไรไม่จริงก็ไม่กล่าว และกล่าวเรื่องอื่น ซึ่งก็ทำให้คนอื่นสบายใจได้เหมือนกัน แม้เป็นเรื่องจริง บางเรื่อง ก็ยังไม่ควรกล่าว ถ้าไม่เป็นประโยชน์จริงๆ

    พระ ในพระวินัยที่พระองค์ทรงแสดงเรื่องมุสาวาท ทรงแสดงองค์ของมุสาวาท ขณะที่โกหก พูดสิ่งที่ไม่จริง เป็นอาบัติปาจิตตีย์แม้ไม่หักรานประโยชน์ผู้อื่น แต่สำหรับคฤหัสถ์มีองค์แสดงไว้ว่า หักรานประโยชน์ผู้อื่นจึงจะล่วงกรรมบถ เพราะฉะนั้น พระภิกษุย่อมต้องขัดเกลามากกว่า ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สำหรับพระภิกษุต้องมีศีลคือพระวินัยบัญญัติ ซึ่งคฤหัสถ์ไม่จำเป็นต้องทำตามเพราะว่าเป็นคฤหัสถ์ แต่สำหรับบรรพชิตต้องกระทำตามพระวินัยบัญญัติ ต้องเป็นผู้รักษาศีลครบถ้วน แสดงให้เห็นว่า กำลังของอกุศลต้องมี ประกอบกับเจตนาที่เป็นทุจริตกรรม จึงจะเป็นการล่วงศีลที่เป็นอกุศลกรรมบถ

    ผู้ฟัง ผมเคยฟังท่านอาจารย์ทางวิทยุ จะสับสนหรือเปล่าไม่ทราบ จำได้ว่า คำบรรยายของท่านอาจารย์กล่าวว่า สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าจะตรัสหรือไม่ตรัส มีองค์ประกอบหลายอย่าง แต่โดยสรุปแล้ว ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ เป็นความจริง และผู้ฟังชอบ ก็จะตรัส

    ท่านอาจารย์ ผู้ฟังชอบ คงจะไม่สำคัญ

    ผู้ฟัง หรือเป็นความจริง มีประโยชน์ แม้ผู้ฟังไม่ชอบ ก็ตรัส ถ้าไม่จริง ไม่มีประโยชน์ ชอบหรือไม่ชอบไม่เกี่ยว

    ท่านอาจารย์ เรื่องไม่จริง ตัดออกไปได้เลย

    ผู้ฟัง สำคัญคือ เรื่องจริงและมีประโยชน์

    ท่านอาจารย์ ต้องคำนึงถึงประโยชน์

    ผู้ฟัง อย่างนี้ไม่ทราบว่าจะเป็นของพระภิกษุ หรือของชาวบ้านควรจะยึดถือ

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงวินัยของพระภิกษุ หมายความว่าถ้าท่านกระทำผิด ท่านต้องอาบัติ มีโทษ จะอย่างเล็กน้อยที่สุดคือทุพภาสิตหรือทุกกฏก็แล้วแต่ แต่เป็นโทษสำหรับพระภิกษุ ซึ่งเป็นเพศที่ต่างจากคฤหัสถ์ สำหรับคฤหัสถ์ เพศบอกแล้วว่า เป็นคฤหัสถ์ แต่ถ้าคฤหัสถ์จะประพฤติด้วยก็ได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นของบรรพชิตแล้ว คฤหัสถ์ก็อย่าทำเสียเลย ไม่ใช่อย่างนั้น คฤหัสถ์ทุกท่านควรที่เจริญขึ้นในกุศลด้วย ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งที่ดีงามสำหรับบรรพชิตปฏิบัติ และคฤหัสถ์ผู้นั้นรู้ว่า ถ้ากระทำตามก็เป็นสิ่งที่ดี ก็ควรจะกระทำตามด้วย ไม่ใช่หวงแหนไว้สำหรับบรรพชิตเท่านั้น แต่สำหรับบรรพชิตถ้าไม่กระทำตามต้องอาบัติ หมายความว่าเป็นการ กระทำผิด ละเมิดต่อพระวินัยบัญญัติ

    ในเรื่องของสัจจะ ต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณ เห็นประโยชน์ของสัจจะ จึงจะทำให้เป็นผู้ที่มีสัจจะยิ่งขึ้น นอกจากทุกท่านจะพิจารณาสัจจะของท่านเองแล้ว ควรที่จะได้ทราบสัจจะของพระผู้มีพระภาคในสมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้บำเพ็ญสัจจบารมี

    ข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก กปิลราชจริยา มีว่า

    ในกาลเมื่อเราเป็นพระยาวานร อยู่ ณ ซอกเขาใกล้ฝั่งแม่น้ำ ในกาลนั้น เราถูกจระเข้เบียดเบียนไปไม่ได้ เรายืนอยู่ ณ โอกาสใด เราโดดจากฝั่งนี้ไปยังฝั่งโน้น จระเข้เป็นสัตว์ดุร้ายน่ากลัวอยู่ ณ โอกาสนั้น จระเข้นั้นกล่าวกับเราว่า มาเถิด แม้เราก็กล่าวกับจระเข้นั้นว่า จะมา เรากระโดดลงเหยียบศีรษะจระเข้นั้น แล้วกระโดดไปยืนอยู่ฝั่งโน้น เรามิได้ทำตามคำของจระเข้ที่กล่าวหลอกลวงนั้นหามิได้ ผู้เสมอด้วยคำสัตย์ของเราไม่มี นี้เป็นสัจจบารมีของเราฉะนี้แล

    แม้ว่าพระโพธิสัตว์ได้สะสมบารมีมา บางพระชาติก็เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน บางพระชาติก็เกิดเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นฤๅษี เป็นดาบสต่างๆ ซึ่งจะได้เห็นบารมีทั้งหลายที่อบรมมาว่า แม้ในพระชาติที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังมีการคิดมนสิการ เป็นไปทางฝ่ายกุศลตามกำลังของการเกิดในภพภูมินั้นๆ เช่น ในพระชาติที่เป็น พระยาวานร

    ข้อความใน อรรถกถา มีว่า

    ได้ยินว่า ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์ (ซึ่งเป็นพระยาวานร มีกำลังดุจช้างสาร) มิได้ดูแลฝูง เที่ยวไปผู้เดียว กลางแม่น้ำนั้นมีเกาะอยู่เกาะหนึ่ง สมบูรณ์ด้วยผลไม้ มีขนุนและมะม่วงเป็นต้น พระโพธิสัตว์ผู้สมบูรณ์ด้วยกำลังเร็ว กระโดดจากฝั่งนี้ของแม่น้ำไปถึงแผ่นหินแผ่นหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเกาะและแม่น้ำ และกระโดดจากแผ่นหินนั้นไปถึงเกาะนั้น พระยาวานรไปกินผลไม้ที่เกาะนั้น และตอนเย็นก็กลับโดยวิธีนั้น เป็นประจำ

    ในกาลนั้น มีจระเข้ตัวหนึ่งพร้อมด้วยนางจระเข้อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำนั้น นางจระเข้เห็นพระโพธิสัตว์ไปๆ มาๆ อยู่ เกิดแพ้ท้องอยากกินเนื้อหัวใจของ พระโพธิสัตว์ จึงบอกกะนายจระเข้ว่า อยากกินเนื้อหัวใจลิงนั้น นายจระเข้ก็ไป นอนรอพระโพธิสัตว์บนหลังแผ่นหิน ระหว่างเกาะกับฝั่งของแม่น้ำนั้น

    พระโพธิสัตว์เที่ยวหาอาหารที่เกาะนั้นตลอดวัน ตอนเย็นก็ยืนมองดูแผ่นหิน และคิดว่า วันนี้หินแผ่นนี้สูงกว่าเดิมเพราะอะไรหนอ

    ธรรมดาพระมหาสัตว์สังเกตขอบของน้ำและขอบของแผ่นหินไว้เป็นอย่างดี ดังนั้น พระโพธิสัตว์จึงดำริว่า วันนี้น้ำก็ยังไม่ลด ทำไมแผ่นหินนี้จึงปรากฏใหญ่มาก จระเข้คงจะนอนบนก้อนหินเพื่อจะจับเราเป็นแน่

    พระยาวานรคิดว่า เราจักทดลองจระเข้นั้นก่อน จึงยืนอยู่อย่างนั้น แล้วทำเป็นพูดกับแผ่นหิน เรียกหิน หินก็ไม่ตอบถึง ๓ ครั้ง พระโพธิสัตว์จึงพูดอีกว่า เจ้าหินทำไมวันนี้ไม่ตอบเราเล่า

    จระเข้คิดว่า วันอื่นๆ หินคงตอบพระยาวานร แต่วันนี้หินไม่ตอบเพราะเราครอบไว้ จระเข้จึงตอบว่า ว่าอย่างไรพระยาวานร

    พระยาวานรถามว่า เจ้าเป็นใคร

    จระเข้ตอบว่า เราเป็นจระเข้

    พระยาวานรถามว่า เจ้ามานอนที่นี่ทำไม

    จระเข้ตอบว่า ต้องการหัวใจท่าน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    1 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ