บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 29
พระราชาทรงดำริว่า เราไม่ได้สอบสวนทำลงไป จึงรีบเสด็จไป ณ ที่นั้น ตรัสถามทีปายนดาบสว่า
เพราะเหตุไร พระคุณท่านจึงนั่งพิงหลาวอยู่เล่า
ดาบสทูลว่า
อาตมภาพนั่งคอยรักษาดาบสนี้ มหาราช
พระราชาตรัสถามว่า
พระคุณท่านทราบความที่ดาบสนี้ทำแล้วหรือ จึงได้ทำอย่างนี้
ทีปายนดาบสจึงทูลเรื่องกรรมของมัณฑัพยดาบสให้พระราชาทรงทราบ
ลำดับนั้นทีปายนดาบสกล่าวคำมีอาทิว่า
ธรรมดาพระราชาควรเป็นผู้ใคร่ครวญก่อนทำ คฤหัสถ์เกียจคร้านบริโภคกาม ไม่ดี บรรพชิตไม่สำรวมก็ไม่ดี พระราชาไม่ใคร่ครวญก่อนทำก็ไม่ดี บัณฑิตมักโกรธ ก็ไม่ดี
แล้วแสดงธรรมแก่พระราชา
พระราชาทรงทราบว่า มัณฑัพยดาบสไม่ผิด จึงรับสั่งให้นำหลาวออก พวกราชบุรุษดึงหลาว แต่ไม่สามารถนำออกได้
มัณฑัพยะกล่าวว่า
ข้าแต่มหาราช อาตมภาพได้รับโทษเห็นปานนี้ ก็เพราะโทษของกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน ใครๆ ก็ไม่อาจดึงหลาวออกจากร่างกายของอาตมภาพได้ หากพระองค์มีพระประสงค์จะทรงให้ชีวิตแก่อาตมภาพ ก็ขอได้รับสั่งให้ทำหลาวนี้เสมอกับผิวหนัง แล้วเอาเลื่อยตัดเถิด
พระราชาทรงให้ทำอย่างนั้น หลาวก็ได้อยู่ภายในร่างกายนั่นเอง ไม่เกิดเดือดร้อนอย่างไร นัยว่าในครั้งนั้นมัณฑัพยดาบสเอาเสี้ยนอย่างเล็กเสียบเข้าไปทางผิวหนังของแมลงวัน เสี้ยนนั้นยังอยู่ในร่างของแมลงวันนั่นเอง แมลงวันมิได้ตายด้วยเหตุนั้น แต่ตายด้วยสิ้นอายุของตนเอง เพราะฉะนั้น แม้มัณฑัพยดาบสนี้จึงยังไม่ตายพระราชาทรงไหว้ดาบสแล้วทรงขอขมา ทรงให้ดาบสทั้งสองอยู่ในพระราชอุทยานนั่นเอง ทรงบำรุง ตั้งแต่นั้นดาบสนั้นจึงมีชื่อว่า อาณิมัณฑัพยะ
ดาบสนั้นอาศัยพระราชาอยู่ ณ พระราชอุทยานนั่นเอง ส่วนทีปายนดาบส ชำระแผลของมัณฑัพยดาบสจนหายดีแล้ว จึงกลับไปยังบรรณศาลาของตนซึ่งมัณฑัพยคฤหบดีสร้างให้
พวกพราหมณ์เห็นทีปายนดาบสนั้นเข้าไปยังบรรณศาลา จึงบอกแก่ มัณฑัพยคฤหบดี มัณฑัพยคฤหบดีพร้อมด้วยบุตรภรรยาถือเอาของหอม ดอกไม้ และน้ำผึ้งเป็นต้นเป็นอันมากไปยังบรรณศาลา ไหว้ทีปายนดาบส ล้างเท้า ให้ดื่มน้ำ นั่งฟังเรื่องราวของอาณิมัณฑัพยดาบส
ลำดับนั้นบุตรของมัณฑัพยพราหมณ์ชื่อว่า ยัญญทัตตกุมาร เล่นลูกข่างอยู่ที่ท้ายที่จงกรม ซึ่งมีงูเห่าอาศัยอยู่ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง ลูกข่างที่เด็กโยนลงไปบนพื้นได้ไปตกลงบนหัวของงูเห่าในปล่องจอมปลวก เด็กไม่รู้จึงล้วงมือลงไปในปล่อง งูโกรธเด็กจึงกัดเข้าที่มือ เด็กล้มลง ณ ที่นั้นด้วยกำลังของพิษงู
มารดาบิดารู้ว่าเด็กถูกงูกัด จึงอุ้มเด็กให้เข้าไปนอนลงแทบเท้าของดาบส กล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณท่านได้โปรดใช้ยาหรือมนต์ทำบุตรของกระผม ให้หายโรคเถิด
ทีปายนดาบสกล่าวว่า
เราไม่รู้จักยา เราไม่ใช่หมอ เราเป็นนักบวช
มารดาบิดาของเด็กกล่าวว่า
ถ้าเช่นนั้น ขอพระคุณท่านได้โปรดแผ่เมตตาในกุมารนี้แล้วทำสัจจกิริยาเถิด
ดาบสกล่าวว่า
ดีแล้ว เราจักทำสัจจกิริยา
จึงเอามือวางไว้บนศีรษะของยัญญทัตตะ ได้ทำสัจจกิริยา
สัจจกิริยาที่ทีปายนดาบสกล่าวมีข้อความว่า
เราต้องการบุญ ได้ประพฤติพรหมจรรย์ มีจิตเลื่อมใสอยู่ ๗ วันเท่านั้น ต่อแต่นั้นมาการประพฤติของเราไม่เลื่อมใส ๕๐ ปีเศษ เราไม่ปรารถนาจะประพฤติเสียเลย ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เด็กนี้เถิด พิษจงระงับ ยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่
... พร้อมกับเมื่อเราทำสัจจกิริยา เด็กหวั่นไหวด้วยกำลังพิษไม่รู้สึกตัวได้ฟื้นกายหายโรค ลุกขึ้นได้
อรรถกถาชาดก แสดงว่า
ด้วยสัจจกิริยาของพระมหาสัตว์ พิษได้ตกจากเบื้องบนอกของกุมารแล้วไหลไป ด้วยสัจจกิริยาของบิดา พิษตกจากบนสะเอวของเด็ก ด้วยสัจจกิริยาของมารดา พิษตกจากร่างกายที่เหลือของเด็กแล้วไหลไป
สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
มัณฑัพยคฤหบดีกล่าวสัจจวาจาว่า
บางครั้งเราเห็นแขกมาเรือนก็ไม่ยินดีจะให้ อนึ่ง สมณพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต ก็ไม่รู้ความที่เราไม่รัก เราไม่ปรารถนาจะให้ ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี แก่เจ้า พิษจงระงับ ขอยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่เถิด
นางพราหมณีมารดาของยัญญทัตตกุมารก็ได้กล่าวสัจจวาจาว่า
ดูก่อน พ่อยัญญทัตตะ อสรพิษมีพิษร้ายออกจากปล่องได้เห็นเจ้า วันนี้ความพิเศษไรๆ ไม่มีแก่เรา เพราะความไม่รักในอสรพิษนั้นและในบิดาของเจ้า ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เจ้า พิษจงระงับ ยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่เถิด
พระโพธิสัตว์เมื่อเด็กหายจากโรคแล้ว จึงให้บิดาของเด็กนั้นตั้งอยู่ในความเชื่อกรรมและผลของกรรมว่า ชื่อว่าผู้ให้ทาน ควรเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมแล้วพึงให้ ดังนี้
พระโพธิสัตว์เองก็ทรงบรรเทาความไม่ยินดีในพรหมจรรย์ แล้วยังฌานและอภิญญาให้เกิด ครั้นสิ้นอายุก็ไปเกิดในพรหมโลก
มัณฑัพยคฤหบดีในครั้งนั้น ได้เป็นท่านพระอานนท์เถระในครั้งนี้ ภริยาของมัณฑัพยะนั้น คือ นางวิสาขามิคารมาตา บุตร คือ พระราหุลเถระ อาณิมัณฑัพยะผู้ถูกเสียบหลาว คือ พระสารีบุตรเถระ กัณหทีปายนะ คือ พระโลกนาถ
ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังสงสัยเรื่องสัจจกิริยาไหมว่าจะมีผลอย่างนี้จริง ซึ่งที่เป็น อย่างนี้ได้ก็เพราะว่าเป็นผลของกุศล ข้อสำคัญที่สุด คือ ก่อนที่จะกระทำสัจจกิริยา ผู้นั้นต้องระลึกถึงคุณของสัจจะ ต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ เห็นคุณของสัจจะ และ เป็นผู้ที่บำเพ็ญสัจจบารมี ไม่ใช่ว่าใครก็ตามตกทุกข์ได้ยากก็จะใช้สัจจกิริยา โดยไม่รู้ว่าสัจจะคืออะไร และไม่เข้าใจด้วยว่าสัจจะมีคุณอย่างไร เพียงแต่ได้ฟังว่า ถ้ากล่าว สัจจกิริยาแล้วผลจะเป็นไปตามความปรารถนา แต่จะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่ากำลังของกุศลต้องขึ้นอยู่กับกำลังของความรู้การเห็นประโยชน์ของสัจจะด้วย และต้องเป็นผู้บำเพ็ญสัจจะด้วย มิฉะนั้นแล้วบางท่านเวลามีปัญหาก็อาจจะลองทำอย่างท่าน ทีปายนดาบส แต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ขึ้นอยู่กับกำลังของกุศลในขณะนั้น
ผู้ฟัง พระโพธิสัตว์ก็ดี หรือบิดามารดาของบุตรที่กล่าวคำสัตย์ กล่าว สัจจวาจาด้วยความจริงใจ และเชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ จะต่างกับอธิษฐาน ที่เป็นความมั่นคงอย่างไร
ท่านอาจารย์ สัจจะเป็นความจริง ความจริงซึ่งคนอื่นไม่รู้ อย่างทีปายนดาบสมีความยินดีในพรหมจรรย์เพียง ๗ วัน แต่อีก ๕๐ ปีเศษ ไม่มีความยินดีในพรหมจรรย์เลย ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้เลย
ทุกท่านที่เป็นผู้เจริญกุศล และต้องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็เป็นหนทางที่ต้องสะสมบารมีครบถ้วนทุกประการ ถ้าเป็นผู้ที่สะสม สัจจบารมี และบารมีอื่นๆ มีกำลัง และรู้ประโยชน์เห็นคุณของสัจจะ เมื่อมีกาลที่จะ ใช้สัจจบารมี ก็ย่อมเป็นไปได้ แต่คงจะไม่ใช่สำหรับทุกคน ต้องแล้วแต่กำลังของ กุศลนั้นๆ ด้วย
ผู้ฟัง ที่พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ท่านยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์เพียง ๗ วัน ทั้งๆ ที่บวชมาแล้วถึง ๕๐ ปี เป็นคำพูดที่จริงก็จริง แต่ตนเองไม่เคยกล่าวกับใคร คิดว่า ไม่จำเป็นต้องกล่าวก็ได้ เพราะกล่าวไปแล้ว บุคคลอื่นไม่เข้าใจ อาจจะ ไม่ศรัทธาท่าน หรือไม่บำรุงเลี้ยงดูด้วยการให้ทานเป็นต้น และบิดาของเด็กนั้นก็ กล่าวว่า ไม่ยินดีในการให้ทานกับสมณะที่มาเยี่ยมเยียนเป็นต้น ซึ่งก็ไม่เคยพูดออกมา แต่ในใจคิดทุกครั้ง ทั้งๆ ที่พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นสมณะก็อยู่ใกล้ๆ สมณะได้ยิน อาจจะไม่สบายใจ ฝ่ายมารดาของบุตรนั้นก็กล่าวว่า รังเกียจบิดาเหมือนกับพิษงูที่ กัดลูก บิดาก็อยู่ใกล้ๆ แต่คำสัตย์เหล่านั้นก็ช่วยให้เด็กนั้นหาย ดูเหมือนการกล่าวนั้นเป็นประโยชน์ เป็นคุณ ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายว่า เป็นการกล่าวที่สมควรหรือ ไม่สมควรอย่างไร
ท่านอาจารย์ ผู้ที่กล่าวต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของสัจจะ เห็นคุณของสัจจะ และเป็นผู้เคารพในสัจจะ จึงกล่าวสัจจะ เพราะรู้ว่าพึ่งอื่นยิ่งกว่าสัจจะไม่มี ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในการเห็นประโยชน์ของสัจจะ และต้องเป็นผู้มีกายวาจาที่จริง เป็นสัจจะที่ สะสมมาแล้วด้วย เพราะว่าบางคนกล่าวคำไม่จริงง่ายมากเหลือเกิน เกือบจะเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็แสดงว่าผู้นั้นไม่เห็นคุณของสัจจะ คือ คิดว่าคำพูดที่ไม่จริงนั้นเล็กน้อยเหลือเกิน จึงพูดได้ง่ายๆ เพราะว่าไม่เห็นโทษ แม้แต่ความคิดในใจที่จะ กล่าวออกมาก็ยังไม่ตรง โดยที่ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ทำไมจึงไม่กล่าวสิ่งที่จริง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่เห็นโทษ ก็จะไม่เห็นโทษไปตลอด และไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ตรง สิ่งที่ไม่จริง ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องกล่าวเลย
ผู้ฟัง แสดงว่าบุคคลทั้ง ๓ นั้น รวมทั้งพระโพธิสัตว์ด้วย ได้กล่าวสิ่งที่ตัวเองปกปิดซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สบายใจไว้ในใจ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าปกปิดหรือเปล่า เพราะว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกล่าว ถ้าใครมีความรู้สึกอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเที่ยวป่าวประกาศให้คนอื่นฟังว่าเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อจิตใจเป็นอย่างไร ความจริงเป็นอย่างไร ก็กล่าวถึงสัจจะ ความจริงใจที่มีตลอดมาให้คนอื่นได้รับทราบว่า แม้จะอยู่ในเพศของสมณะ แต่ ใจจริงแล้วไม่ได้ยินดีในเพศสมณะเลยตลอดเวลาทั้ง ๕๐ ปีเศษ
ผู้ฟัง เท่ากับว่า ขณะนั้นเชื่อสัจจะ และพึ่งสัจจะ รู้ว่ากุศลจิตที่เป็นสัจจะ เป็นที่พึ่งได้ เขาจึงกล่าว
ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่เคารพในสัจจะ เห็นคุณของสัจจะ และเห็นประโยชน์ที่จะต้อง มีสัจจะเป็นบารมีด้วย
ผู้ฟัง แต่ในขณะนั้นไม่ใช่กล่าววาจานั้นเพื่อเป็นที่พึ่ง และไม่ได้มุ่งหมายที่จะพูดกับใครด้วยคำพูดเหล่านี้หรือปกปิดเอาไว้
ท่านอาจารย์ เพราะรู้ว่าสัจจะเป็นที่พึ่งของแม้พระโพธิสัตว์ ซึ่งบำเพ็ญบารมี ถ้าปราศจากสัจจะแล้ว แม้นั่งที่โพธิบัลลังก์ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่เพราะได้อบรมบารมีมาทั้งหมด คุณของสัจจะมี ประโยชน์ของสัจจะมี การที่จะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นคุณของสัจจะอย่างนี้ จึงระลึกถึงความจริงซึ่งเป็นสัจจะที่มีอยู่ และก็กล่าวสัจจวาจา คือ ความจริงแท้ๆ ที่เป็นความประพฤติของท่าน เป็นสภาพจิตของท่าน
ผู้ฟัง แสดงว่าเป็นผู้ที่สะสมสัจจะและความจริงใจที่จะรู้ว่า จริงต่อตัวเอง ทำสิ่งใดมาก็กล้ากล่าวสิ่งนั้นได้
ท่านอาจารย์ ทุกท่านพิสูจน์ได้ว่า เป็นผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของสัจจวาจาหรือ ความจริงแค่ไหน ถ้ายังคงเป็นผู้ที่ไม่เพียรที่จะมีสัจจะ แสดงว่าผู้นั้นไม่เห็นประโยชน์ของสัจจะ ไม่เคารพในสัจจะด้วย
ผู้ฟัง เข้าใจแล้ว
ท่านอาจารย์ เพื่อที่จะให้เห็นชีวิตของพระโพธิสัตว์ ซึ่งกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม พระองค์ต้องอบรมเจริญพระบารมีในทุกภพทุกชาติ และบารมีที่พระองค์ได้อบรม สะสมมา แม้สัจจะ ความจริง ในอดีตกาลที่ผ่านมาแล้ว ก็คงจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้ พุทธบริษัทในครั้งนี้ได้พิจารณาถึงชีวิตประจำวันของท่านเองซึ่งเป็นผู้ที่กำลังฟัง พระสัทธรรมเพื่ออบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
สำหรับชีวิตตามความเป็นจริงในวันหนึ่งๆ จะมีการสะสมบารมีไปมากน้อยอย่างไร ก็เทียบเคียงกับเรื่องในอดีต
การสะสมกุศลบารมี ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดความคิดในทางที่เป็นกุศล แม้ในยามที่มีอันตรายคับขัน สำหรับสัจจบารมีที่ทุกท่านได้ยินบ่อยๆ คือ สัจจบารมีของนกคุ่ม ก็ขอกล่าวถึงชีวิตของพระโพธิสัตว์ในพระชาติที่เป็นลูกนกคุ่ม ซึ่งข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก วัฏฏกโปตกจริยา ข้อ ๒๙ พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าว่า
อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นลูกนกคุ่ม ขนยังไม่งอก ยังอ่อนเป็นดังชิ้นเนื้อ อยู่ในรัง ในมคธชนบท ในกาลนั้น มารดาเอาจะงอยปากคาบเหยื่อมาเลี้ยงเรา เราเป็นอยู่ด้วยผัสสะของมารดา กำลังกายของเรายังไม่มี
ในฤดูร้อนทุกๆ ปี มีไฟป่าไหม้ลุกลามมา ไฟไหม้ป่าเป็นทางดำลุกลามมา ใกล้เรา ไฟไหม้ป่าลุกลามใหญ่หลวง เสียงสนั่นอื้ออึง ไฟไหม้ลุกลามมาโดยลำดับ เข้ามาใกล้จวนจะถึงเรา มารดาบิดาของเราสะดุ้ง ใจหวาดหวั่น เพราะกลัวไฟที่ ไหม้มาโดยเร็ว จึงทิ้งเราไว้ในรัง หนีเอาตัวรอดไปได้ เราเหยียดเท้าและกางปีกออก รู้ว่ากำลังกายของเราไม่มี เรานั้นไปไม่ได้ อยู่ในรังนั่นเอง จึงคิดอย่างนี้ในกาลนั้นว่าเมื่อก่อนเราสะดุ้งหวาดหวั่น พึงเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในระหว่างปีกของมารดาบิดา บัดนี้มารดาบิดาทิ้งเราหนีไปเสียแล้ว วันนี้ เราจะทำอย่างไร ศีลคุณ ความสัตย์ พระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยความสัตย์ เอ็นดูกรุณามีอยู่ในโลก ด้วยความสัตย์นั้น เราจักกระทำสัจจกิริยาอันสูงสุด เราคำนึงถึงกำลังพระธรรม ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้พิชิตมารอันมีในก่อน ได้กระทำสัจจกิริยา แสดงกำลังความสัตย์ว่า
ปีกของเรามีอยู่ แต่ยังบินไม่ได้ เท้าของเรามีอยู่ แต่ยังเดินไม่ได้ มารดาบิดาก็พากันบินออกไปแล้ว แน่ะไฟ จงกลับไป (จงดับเสีย)
พร้อมกับเมื่อเราทำสัจจกิริยา ไฟที่ลุกรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง เว้นไว้ ๑๖ กรีส ไฟดับ ณ ที่นั้น เหมือนจุ่มลงในน้ำ
ผู้เสมอด้วยความสัตย์ของเราไม่มี นี้เป็นสัจจบารมีของเรา ฉะนี้แล
จบ วัฏฏกโปตกจริยาที่ ๙
เวลาที่ประสบภัยอันตราย จิตขณะนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศลแล้วแต่กำลังของการสะสม หลายท่านคงจะขอ ขอให้พ้นภัย ขออย่าให้ได้รับอันตรายต่างๆ แต่จะเป็นกุศลจิตที่ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย หรือแม้แต่กุศลจิตที่คิดถึงผู้มีคุณ เช่น มารดาบิดาหรือเปล่าในขณะนั้น แสดงให้เห็นว่า การที่จะคิดนึกอย่างไรในยามที่มีภัยอันตราย แล้วแต่การสะสม และสำหรับนกคุ่มตัวนี้ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ต้องต่างจากนกธรรมดา
เรื่องของกุศลจิต เรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก เป็นเรื่องที่รู้ยาก ไม่มีใครสามารถรู้ถึงวิบากในขณะนี้ ซึ่งกำลังมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะได้ และสำหรับกุศลจิตซึ่งเป็นกุศลกรรม แม้ในขณะที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ หรือระลึกถึงคุณของ ผู้มีคุณนั้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งแล้วแต่ว่าจะมีกำลังที่จะทำให้วิบากประเภทใดเกิดขึ้น
ข้อความใน อรรถกถา มีว่า
จริงอยู่ในกาลนั้น พระมหาสัตว์ได้มีร่างกายใหญ่ประมาณเท่าตะกร้อลูกใหญ่ มารดาบิดาไม่สามารถจะพาลูกนกนั้นไปได้ด้วยวิธีใดๆ และเพราะความรักตนครอบงำ จึงทิ้งบุตรหนีไป
ขณะที่ไฟป่าใกล้เข้ามานั้น พระมหาสัตว์มิได้หลงลืมสิ่งที่ควรทำ ยืนคิดอย่างนี้ว่า ในโลกนี้คุณของศีลยังมีอยู่ คุณของสัจจะยังมีอยู่ ธรรมดาพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต บำเพ็ญบารมี นั่ง ณ พื้นโพธิมณฑล ตรัสรู้แล้ว ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัศนะ ประกอบด้วยสัจจะความเอ็นดู กรุณาและขันติ บำเพ็ญเมตตาในสรรพสัตว์ยังมีอยู่ พระธรรมอันพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเหล่านั้นแทงตลอดแล้ว เป็นคุณอันประเสริฐโดยส่วนเดียวยังมีอยู่
อนึ่ง ความสัตย์อย่างนี้แม้ในเราก็ยังมีอยู่ สภาวธรรมอย่างหนึ่งยังมีอยู่ ย่อมปรากฏ เพราะฉะนั้น เราควรระลึกถึงพระพุทธเจ้าในอดีต และคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าเหล่านั้นแทงตลอดแล้ว ถือเอาสภาวธรรมอันเป็นสัจจะซึ่งมีอยู่ในตน แล้วทำสัจจกิริยาให้ไฟกลับไป แล้วทำความสวัสดีแก่ตนเองและแก่สัตว์ที่เหลือ ซึ่งอยู่ ณ ที่นี้ ในวันนี้
พระมหาสัตว์ได้นอนทำสัจจกิริยาว่า หากความที่เรามีปีก ความที่เหยียดปีกบินไปในอากาศไม่ได้ ความที่เรามีเท้า ความที่เรายกเท้าเดินไปไม่ได้ และความที่มารดาบิดาทิ้งเราไว้ในรังแล้วหนีไป เป็นความสัตย์จริง แน่ะไฟ ด้วยความสัตย์นี้ ขอท่านจงหลีกไปเสียจากที่นี้
พร้อมด้วยสัจจกิริยาของพระมหาสัตว์นั้น ไฟได้หลีกไปในที่ประมาณ ๑๖ กรีส และเมื่อไฟหลีกไปก็มิได้ไหม้กลับเข้าป่าไป ดับ ณ ที่นั้น ดุจคบเพลิงที่จุ่มลงไปในน้ำ ฉะนั้น
ก็สัจจกิริยาของพระโพธิสัตว์นั้น มีการระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นเบื้องต้น ในสมัยนั้น ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ผู้เสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี
... ด้วยเหตุนี้พระมหาสัตว์ ด้วยอำนาจสัจจกิริยา จึงทำความปลอดภัยให้แก่ตนและแก่สัตว์ทั้งหลายผู้อยู่ในที่นั้น เมื่อสิ้นอายุก็ได้ไปตามยถากรรม
มารดาบิดาในครั้งนั้น ได้เป็นมารดาบิดาในครั้งนี้ ส่วนพระยานกคุ่ม คือ พระโลกนาถ
ผู้ฟัง ในอรรถกถาที่บอกว่า ไม่ทั่วไปกับบุคคลอื่น คือ ไม่ใช่ว่าใครๆ นึกจะทำสัจจกิริยาได้ การระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต เวลานี้เราเป็น ผู้สดับฟังธรรมของพระพุทธองค์ เราก็อาจจะระลึกได้ แต่กำลังของการระลึกคงไม่เท่าของพระโพธิสัตว์อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ใครอย่าเอาเรื่องสัจจกิริยาเป็นเรื่องเล่นๆ
ท่านอาจารย์ แต่ก็เป็นผู้ระลึกถึงกุศล เวลาที่มีอันตรายที่พึ่งจริงๆ ไม่มีอื่นนอกจากกุศลธรรม ถ้าใครกำลังตกอยู่ในอันตรายและระลึกถึงพระธรรม จิตในขณะนั้นย่อม เป็นกุศล จะไม่มีความหวาดกลัวหรือหวั่นเกรงภัย เพราะสิ่งใดจะเกิด สิ่งนั้นก็ต้องเกิด และถ้าเกิดในขณะที่ผู้นั้นสามารถมีกุศลจิต ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยด้วยความมั่นคง คือ เป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก จิตในขณะนั้นผ่องใสเป็นกุศล ก็ต้องเป็นสิ่งที่ดี
และสิ่งที่ประเสริฐกว่านั้น คือ สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ระลึกถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นสัจจธรรม เป็นความจริง แต่ยังรู้ในลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมของสภาพธรรม ในขณะนั้นด้วย เพราะว่าแม้ในขณะนี้เองก็มีปรมัตถธรรม ไม่มีสักขณะเดียวที่จะ ขาดปรมัตถธรรม เพียงแต่ว่ากำลังฟังเรื่อง กำลังคิดนึกตามเรื่องที่ได้ฟัง กำลังเห็น กำลังได้ยิน แต่ก็จะมีขณะที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมได้ แม้เพียงชั่วเล็กน้อยสลับกับทางใจที่คิดนึก ซึ่งก็เป็นเพียงชั่วขณะที่คิดขณะเดียว และขณะที่เห็นก็ไม่ใช่ ขณะที่คิด เพราะฉะนั้น ทุกขณะเป็นปรมัตถธรรมที่ระลึกได้ทั้งหมด
ผู้ฟัง ตอนที่พูดถึงสัจจกิริยาที่บอกว่า ลูกนกคุ่มระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าและกระทำสัจจวาจา โดยบอกความจริงทั้งนั้นว่า ปีกก็ยังไม่แข็งแรง เท้าก็ยัง ไม่แข็งแรง และขอให้สัจจวาจานี้ทำให้รอดพ้น ตรงนี้เข้าใจ ไม่ใช่พูดสัจจวาจา ความจริงเท่านั้น ต้องระลึกถึงคุณพระพุทธด้วย เป็นเรื่องสำคัญ ๒ จุด แต่ตอนหลังที่ท่านอาจารย์อธิบายว่า ตอนนั้นสติปัฏฐานระลึกรู้ด้วย ตรงนี้ไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ มิได้ สำหรับทุกท่านในขณะนี้ ไม่ใช่สำหรับนกคุ่ม นกคุ่มจบไปแล้ว เรื่องของนกก็เรื่องของนก แต่ให้เห็นนกที่เป็นพระโพธิสัตว์ว่า ต่างกับนกอื่น
นี่แสดงถึงความละเอียดจริงๆ และให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ขณะใดที่ กุศลจิตเกิดบ้างในวันหนึ่งๆ คือ ขณะที่เพิ่งเริ่มจะฟื้น คือ เพิ่งเริ่มรู้สึกตัว เพื่อที่จะได้อบรมเจริญกุศลให้ถึงการเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงโดยละวิปลาสตามลำดับ คือ ละทิฏฐิวิปลาสก่อน จากนั้นละจิตตวิปลาสกับสัญญาวิปลาสที่เห็นว่างามในสิ่งที่ ไม่งามเมื่อเป็นพระอนาคามีบุคคล และละวิปลาสที่เห็นสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ว่า เป็นสุข เมื่อเป็นพระอรหันต์
ฟังดูเหมือนไม่ยากที่จะละ สำหรับท่านที่ได้อบรมเจริญเหตุมาพอที่จะละได้ แต่ถ้านึกถึงท่านซึ่งยังไม่ได้เจริญเหตุพอที่จะให้ปัญญารู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรม ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และไม่งาม ก็จะเห็นได้ว่า ยังห่างไกลอีกมากทีเดียว เพราะวันหนึ่งๆ เป็นผู้สลบ และรู้สึกตัวฟื้นขึ้นบ้างชั่วขณะที่เป็นกุศลเล็กๆ น้อยๆ และสลบต่อไปอีก เป็นอย่างนี้ทุกวันในสังสารวัฏฏ์ จนกว่ากุศลจะเจริญและอบรมเจริญปัญญาจนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
เพราะฉะนั้น แต่ละท่านเป็นผู้ที่พิจารณาตนเองจริงๆ เพื่อจะได้รู้ว่า ความคิดของท่านเป็นไปในการอบรมเจริญกุศลขั้นไหน ระดับใด เพราะสำหรับผู้ที่ไม่มีการฟังพระธรรม และไม่มีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งแม้แต่เพียงความคิดที่ว่าจะเจริญกุศล ซึ่งบางคนไม่มีเลย ไม่มีการฟังธรรม มีแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน สลบตลอดเวลา และกุศลอาจจะมีเพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรมจาก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ และมีการพิจารณา มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็มีความคิดที่จะเจริญกุศล
ถ้าตั้งแต่เกิดมาจนเดี๋ยวนี้ ไม่ได้คิดเรื่องเจริญกุศลเท่าที่จะเจริญได้เป็นบารมี ก็ให้ทราบว่า เพราะไม่มีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งแม้เพียงความคิด ยังไม่ได้ทำ เพียงแต่จะคิดขึ้นในวันหนึ่งๆ ว่าจะเจริญกุศล เช่น จะสงเคราะห์คนอื่น บางท่านก็อาจจะ ไม่คิดเลย หรืออาจมีความเห็นผิดว่า สงเคราะห์คนอื่นทำไมให้เหนื่อยยาก อาจจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของจิตที่สะสมมาในแต่ละวัน หรือบางท่านก็ยังไม่เคยคิดที่จะอภัย แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมอยู่นั่นเอง แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ที่จะต้องปรุงแต่งต่อไป ที่จะดัดจิตและปรับจิตให้ตรงต่อการที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้น คือ เริ่มคิด แม้อภัย ไม่หมั่นไส้คนอื่น
ความคิดมีหรือยัง ถ้ายังไม่แม้แต่จะคิด ก็แสดงให้เห็นว่า เพียงแต่จะคิดก็ยัง ไม่มีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้เพียงคิด แล้วเรื่องการเจริญกุศลจริงๆ จะยาก สักแค่ไหน หรือบางท่านก็ยังไม่คิดที่จะลดคลายมานะ ความสำคัญตน นี่ก็แสดง ให้เห็นอีกว่า เพราะอะไร ทำไมบางคนคิด บางคนทำ แต่บางคนไม่คิดและไม่ทำ ก็เพราะว่าบุคคลที่ไม่คิด แม้เพียงจะคิดก็ไม่คิด ไม่มีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้เกิดคิดที่จะเห็นโทษของมานะและลดคลายมานะ หรือบางคนก็เจริญกุศลด้านอื่น แต่ยังไม่มีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้คิดที่จะอบรมเจริญปัญญา
แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของจิตซึ่งละเอียดมาก
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 01
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 02
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 03
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 04
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 05
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 06
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 07
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 08
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 09
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 10
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 11
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 12
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 13
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 14
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 15
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 16
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 17
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 18
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 19
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 20
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 21
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 22
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 23
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 24
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 25
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 26
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 27
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 28
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 29
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 30
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 31
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 32
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 33
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 34
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 35
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 36
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 37
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 38
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 39
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 40