บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 31
พระองค์จึงตรัสถึงเหตุที่ไม่เสด็จกลับ และความพอใจในบรรพชา ตลอดถึงเรื่องราวของพระองค์ในภพที่ล่วงไปแล้วมีภัยในนรกเป็นต้น
แม้เมื่อสารถีนั้นประสงค์จะบวชเพราะธรรมกถานั้น และเพื่อการปฏิบัตินั้น พระองค์จึงตรัสคาถานี้ว่า
ดูกร สารถี ท่านจงนำรถกลับไป แล้วเป็นคนไม่มีหนี้กลับมา เพราะบรรพชาเป็นของคนไม่มีหนี้ ข้อนี้ฤๅษีทั้งหลายสรรเสริญแล้ว
แล้วทรงส่งสารถีกลับไปทูลแด่พระราชา
สารถีนำรถและเครื่องอาภรณ์ไปเฝ้าพระราชา ทูลความนั้นให้ทรงทราบพระราชาเสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยจตุรงคเสนา นางสนม ชาวพระนคร และชาวชนบท เพื่อไปหาพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์ถือเพศเป็นดาบส นั่งบนเครื่องลาดทำด้วยไม้ ยังสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิด ประทับนั่งในอาศรมด้วยความสุขในการบรรพชา
แม้พระเจ้ากาสีเสด็จไปหาพระโพธิสัตว์ แล้วทรงเชื้อเชิญพระโพธิสัตว์ ให้ครองราชสมบัติ เตมิยบัณฑิตทรงปฏิเสธ ทรงแสดงธรรมให้พระราชาเกิดสังเวช ในความเป็นของไม่เที่ยง ในโทษของกามอันเป็นของต่ำช้าด้วยอาการหลายอย่าง
พระราชาทรงสลดพระทัย และทรงผนวช พร้อมด้วยพระนางจันทาเทวี และอำมาตย์บริวารเป็นอันมาก บุคคลทั้งหมดนั้นเมื่อสิ้นชีวิตก็เกิดในพรหมโลก
ข้อความตอนท้ายมีว่า
เทพธิดาผู้สิงสถิต ณ เศวตฉัตรในครั้งนั้น ได้เป็นนางอุบลวรรณาในครั้งนี้ สารถี คือ พระสารีบุตรเถระ พระมารดาและพระบิดา คือ ตระกูลมหาราช บริษัททั้งหลาย คือ พุทธบริษัท เตมิยบัณฑิต คือ พระโลกนาถ
อธิษฐานบารมีของพระโพธิสัตว์นั้น ถึงที่สุดในจริยานี้
คือ เป็นอธิษฐานปรมัตถบารมี
แสดงให้เห็นว่า ในแต่ละชาติ ชาติไหนใครจะสะสมบารมีไหนอย่างอุกฤษฏ์ แม้อธิษฐานบารมี ความตั้งใจมั่นในกุศล ก็เป็นไปในชาติหนึ่งๆ ตามกรรมที่ได้สะสมให้เกิดเป็นบุคคลนั้นๆ ในชาตินั้น ซึ่งท่านผู้ฟังก็เป็นผู้ที่กำลังเจริญบารมีแน่นอน แต่บารมีไหน ก็จะต้องตรวจสอบว่า มีความมั่นคงในบารมีใด หรือยังขาดการเห็นประโยชน์ในบารมีใดบ้าง
ขอต่อบารมีที่เหลือ สำหรับอธิษฐานบารมี ความมั่นคงในการเจริญกุศล เพื่ออบรมเจริญปัญญาขัดเกลาละคลายกิเลสนั้น บางท่านก็น้อยมาก จะเห็นได้ว่า ไม่มั่นคงพอ ทั้งๆ ที่รู้ว่ากุศลเป็นสิ่งที่ดี ควรจะมีมากๆ ควรจะเจริญ ควรจะสะสม และควรมีความมั่นคงขึ้นด้วย แต่แม้กระนั้นก็จะเห็นได้ว่า ยากที่จะมั่นคง เพราะว่า ทุกคนมีอกุศลมากมายพร้อมที่จะทำให้กุศลรวนเร กลับกลอก ไม่มั่นคง เพราะว่าจิตใจเปลี่ยนแปลง เกิดดับรวดเร็ว ถ้าอกุศลน้อยลง ความมั่นคงของอธิษฐานบารมี ก็จะมากขึ้น
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเคยปรารภว่า ท่านเห็นการเกิด การตาย การเวียนว่าย ตายเกิด การเปลี่ยนแปลง การที่จะต้องมีชีวิตที่เพียงเล็กน้อยและก็มากด้วยอกุศล และจะต้องเกิดอีกไม่รู้จบ ท่านก็มีความรู้สึกไม่อยากเกิดอีกต่อไป อยากพ้นจากสังสารวัฏฏ์ นี่คือกาลครั้งหนึ่ง ซึ่งมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ได้
ทุกท่านก็อาจจะพิจารณา แม้ว่าบางท่านอายุยังน้อย แต่ก็คงมีบางครั้งที่ มีความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของการสะสมที่จะทำให้รู้สึกว่า ชีวิตจริงๆ น่าเบื่อ น่าหน่าย เพราะว่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนกันทุกวัน เห็นแล้วก็คิดนึก แล้วก็ ชอบ ไม่ชอบ ผูกพัน ติดข้อง โกรธเคือง เปลี่ยนไปทุกวัน ทุกเรื่อง และเมื่อจากโลกนี้ไปแล้วก็จบ ไม่มีอะไรเหลือ
นั่นก็เป็นการสะสม ซึ่งบางครั้งบางขณะก็มีความรู้สึกอย่างนี้ แต่ไม่นาน และไม่บ่อย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ อะไรปรากฏให้เห็นมาก กุศล หรืออกุศล ไม่มั่นคงในการฟังพระธรรม ทั้งๆ ที่ท่านฟังแล้วท่านก็เห็นประโยชน์ แต่บางวันก็เหมือนกับว่าท่านรู้แล้ว ท่านเคยฟังแล้ว ท่านเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้ท่านก็จะตื่นสาย หรือท่านจะทำธุระอื่น แสดงให้เห็นว่า ประมาทไม่ได้ แม้แต่การอบรมเจริญปัญญาเพื่อให้เป็นอธิษฐานบารมี มีความมั่นคงในการเจริญกุศล เพราะว่าทุกคนคิดทุกวันตามสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วแต่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังพระธรรม ก็จะคิดเรื่องธรรม จะพิจารณา จะเพิ่มความเข้าใจขึ้น และถ้าฟังบ่อยๆ ฟังเป็นประจำ วันหนึ่งๆ ก็มีโอกาสที่จะคิดถึงเรื่องธรรม ซึ่งปกติแล้วนอกจากเวลาฟังธรรมก็มักจะคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าวันหนึ่งๆ มีโอกาสฟังมาก ก็จะทำให้คิดถึงเรื่องของธรรมมาก และถ้าฟังจนกระทั่งเป็นอุปนิสัย เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม ก็อาจจะคิดเรื่องธรรมแทนที่จะคิดเรื่องอื่นก็ได้ แสดงให้เห็นถึงกำลังของการสะสม ซึ่งไม่ควรประมาทเลย แม้แต่ในเรื่องของความมั่นคงซึ่งเป็นอธิษฐานบารมี
และสำหรับอธิษฐานบารมีนั้น ควรรู้ให้ละเอียดขึ้น แทนที่จะรู้กว้างๆ ว่า ควรที่จะมีอธิษฐานบารมี มีความมั่นคงในการเจริญกุศล แต่กุศลอะไร มั่นคงในอะไร มิฉะนั้นแล้วก็ยังผิวเผิน ยังไม่ทราบว่า จะมั่นคงตรงไหนดี
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา แสดงอธิษฐานธรรม ๔ อย่าง คือ
สัจจาธิษฐาน ๑ จาคาธิษฐาน ๑ อุปสมาธิษฐาน ๑ ปัญญาธิษฐาน ๑
ซึ่งอธิษฐานธรรมทั้ง ๔ นี้ รวมบารมีอื่นๆ ไว้ทั้งหมด คือ
อธิษฐานธรรมที่ ๑ สัจจาธิษฐาน
เป็นความจริง ความมั่นคงในสัจจะ ในความจริง ซึ่งทุกท่านพิสูจน์สำรวจตัวเองได้ว่า ท่านเป็นที่ผู้มั่นคงในความจริงแค่ไหน เป็นผู้ที่ซื่อตรงและมั่นคงต่อ ความจริงและความตรงมากหรือน้อย เพราะบางท่านอาจจะรู้ตัวเองเลยว่า ไม่ค่อยจะมั่นคงนักในเรื่องของสัจจะ ซึ่งก็จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดและเห็นโทษของกายวาจา ที่ไม่จริง แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จะต้องรู้ว่า ขณะใดที่ผิดพลาดไปจากความจริง ขณะนั้นเป็นไปตามกำลังของกิเลสที่สะสมมา
ถ้าสังเกตตัวเอง พิจารณาตัวเอง เห็นโทษของอกุศลซึ่งสะสมมาที่จะทำให้ขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นไปในอกุศลอย่างนั้นๆ ก็เป็นทางที่จะทำให้เห็นโทษของความ ไม่จริง และจะเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในความจริงขึ้น เพราะสำหรับผู้ที่ไม่มีกิเลสนั้น จะไม่พูดเท็จ หรือเมื่อคิดแล้ว พูดแล้วว่าจะทำ ผู้ที่มีความมั่นคงในสัจจะก็ทำตาม ที่พูด แต่ผู้ที่ไม่มั่นคง แม้คิดแล้ว พูดแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำตามที่พูดไว้ เพราะกำลังของกิเลสอกุศลเกิดขึ้น ทำให้จิตใจไม่ตรง และไม่มั่นคงในขณะนั้น
ท่านผู้หนึ่งท่านก็คิดถึงทหารชายแดนที่ต้องตรากตรำลำบาก และมีมิตรสหายที่ช่วยกันถักผ้าพันคอไหมพรมให้พวกทหารชายแดน ท่านก็คิดที่จะช่วย และก็พูดว่า จะช่วยถักด้วย แต่ใครๆ ก็ถักกันไปหมดแล้ว ส่งไปให้ทหารชายแดนแล้ว แต่ท่านก็ ยังไม่ได้ถักเลย แสดงให้เห็นว่า แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่าคิดว่าเรื่องเล็ก เพราะว่า เรื่องเล็กๆ รวมกันก็ต้องเป็นเรื่องใหญ่ แล้ววันไหนจะเป็นผู้ที่ตรงต่อความคิด คำพูด และมีความมั่นคงในกุศลเพิ่มขึ้น
เช่น ในเรื่องของการนัดหมาย บางท่านอาจจะคิดว่าไม่สำคัญเลย ผิดนัดก็ได้ ไม่เป็นไร นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการสะสมทางฝ่ายอกุศลซึ่งทำให้เป็น ผู้ที่ไม่ตรงต่อวาจาหรือคำสัญญา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ทุกชาติ และก็ไม่รู้เลยว่าเพราะอะไร ซึ่งก็เพราะว่าไม่เห็นความสำคัญของความจริงหรือสัจจวาจา และจะทำให้เป็นผู้ที่ ไม่ตรงต่อการแสวงหาความจริงซึ่งเป็นอริยสัจจธรรมด้วย
สำหรับผู้ที่รักษาสัจจวาจา แม้เป็นเด็กเล็กๆ ก็จะเห็นได้ว่า บางคนทำตามที่พูดจริงๆ เมื่อพูดแล้วก็ทำ และเมื่อโตขึ้นก็จะยิ่งเป็นผู้รังเกียจโวหารคือคำพูดที่ไม่เป็นอริยะ คือ คำพูดที่ไม่จริง
สำหรับผู้ที่รักษาสัจจวาจา แม้เวลาที่มีอันตรายถึงชีวิต ก็คงรักษาไว้ คือ รักษาคำพูดที่ไม่ผิดความจริงโดยประการทั้งปวง
นี่คือสัจจาธิษฐาน ซึ่งถ้าจะรู้ว่า จะมั่นคงในกุศลธรรมอะไรบ้างที่จะทำให้ถึง ฝั่ง คือ พระนิพพาน ก็จะขาดสัจจาธิษฐาน ความมั่นคงในสัจจะ ในความจริงไม่ได้
อธิษฐานธรรมที่ ๒ จาคาธิษฐาน
การสละกิเลส ซึ่งไม่ใช่เพียงสละวัตถุเป็นทานเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น เพราะนั่นเป็นประโยชน์บุคคลอื่น แต่นี่เป็นจาคะ เป็นการสละ เป็นประโยชน์ตน เพราะว่าเมื่อสละวัตถุเพื่อบุคคลอื่นแล้ว ก็ยังจะต้องพิจารณาถึงกายวาจาของตน ซึ่งควรจะเป็นกุศลด้วย มิฉะนั้นก็เพียงแต่สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น แต่ไม่ได้พิจารณาที่จะสละกิเลสของตนเพื่อขัดเกลาตนเอง เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง
สำหรับทานบารมี ก็คงไม่มีกันทุกวัน ซึ่งทำให้บางท่านวิตกกังวลและก็คิดเรื่องทานบารมีว่า เมื่อไม่มีทานบารมีทุกวัน ก็ควรจะมีทุกวัน หรือว่าอย่างไร
คือ คนที่ช่างคิด ช่างกังวล ก็อดไม่ได้ แม้แต่ในเรื่องของทานบารมีรู้ว่า เป็นประโยชน์ แต่เมื่อเห็นว่าไม่สามารถมีทานบารมีได้ทุกวัน ก็เกิดความกังวล เป็นห่วงขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องนั่งคิดหรือมัวห่วงกังวลเรื่องไม่มีทานกุศล เพราะว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลแล้วที่ห่วง ที่ต้องการ ไม่ใช่เป็นเรื่องการสละ ไม่ใช่เป็นเรื่อง การละความติดข้องในทาน ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลส
เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่โอกาส เมื่อมีเหตุการณ์ใดที่ควรจะให้ ก็ให้ เพื่อให้เป็นอุปนิสัย แต่ไม่ใช่ไปกังวลเรื่องอยากจะมีทานกุศลทุกๆ วัน
และสำหรับในเรื่องของจาคะ การสละกิเลส ควรพิจารณาแม้ในเรื่องการให้ คือ ไม่ให้เพื่อหวังผลตอบแทน เพราะว่าบารมีทุกบารมี มีโลภะเป็นปฏิปักษ์ มีโลภะเป็นข้าศึก ถ้ามีโลภะ มีความผูกพัน หรือมีการหวังผลใดๆ ตอบแทน ขณะนั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อการเจริญบารมี
เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาว่า เมื่อให้ควรจะให้อย่างไรที่จะเป็นการขัดเกลากิเลส คือ เป็นจาคาธิษฐานด้วย นอกจากจะไม่หวังผลตอบแทนแล้ว ก็ควรจะไม่ให้ด้วยความเบื่อหน่าย เพราะบางคนให้จริง แต่สังเกตพิจารณาชีวิตประจำวันที่ให้ บางกาลก็ให้ด้วยความเบื่อหน่าย ไม่ใช่ให้ด้วยความเบิกบานใจ หรือไม่ใช่ให้ด้วยความเอื้อเฟื้อหรือมีความสนใจที่จะให้ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของการที่จะต้องขัดเกลากิเลส หรือเมื่อเห็นคนอื่นให้ก็พอใจ มีความเบิกบานปีติในการให้ของคนอื่นด้วย และให้อภัยแก่คนอื่นในฐานะที่ไม่ควรจะเป็นโทษภัยกับบุคคลนั้น
แสดงให้เห็นว่า เรื่องของการให้ไม่ควรจะคิดแต่เฉพาะเรื่องของวัตถุ แต่ควรจะพิจารณาให้ละเอียดว่า เมื่อเป็นผู้ให้ทานวัตถุแล้ว ก็ควรเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ในขณะที่ให้ ให้ด้วยความอนุเคราะห์ และไม่เบียดเบียนด้วย
นี่เป็นเรื่องของการสละกิเลสในขณะที่ให้ทาน บางคนให้ แต่ให้อย่างไม่สุขนัก ก็จะได้มีความรู้สึกตัวว่า ควรจะให้ด้วยความสุขหรือเบิกบาน ดีกว่าให้ด้วยความ ไม่สุขนัก เพราะเมื่อจะให้ ก็ให้ด้วยความสุขดีกว่า ซึ่งในขณะนั้นจะทำให้ขัดเกลาจิตใจของตนเองด้วย
ผู้ฟัง เรื่องอธิษฐานบารมี ท่านอาจารย์อธิบายเรื่องความมั่นคงก็เข้าใจ แต่ภาษาชาวบ้าน อธิษฐานตัวนี้ ผิดจากนี้ไปโดยสิ้นเชิง หรือว่าโยงใยกันอยู่
ท่านอาจารย์ อย่างบางท่านที่ให้ทานแล้วอธิษฐานขอผลของทานให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ก็หมายความว่าผู้นั้นมีความต้องการอย่างมั่นคงจึงขอให้เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่ขออย่างอื่น ทำไมอธิษฐานเฉพาะอย่าง ก็หมายความว่าต้องการสิ่งนั้น อย่างมั่นคง
ผู้ฟัง แล้วดีหรือไม่ดี
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นไปในกุศล เป็นสิ่งที่ควร
ผู้ฟัง ถ้าอธิษฐานขอให้เป็นพระราชินี
ท่านอาจารย์ โลภะหรือเปล่า
ผู้ฟัง แม้ไม่รู้ ก็ได้นี่
ท่านอาจารย์ ได้ แล้วเป็นโลภะหรือเปล่า
ผู้ฟัง ได้ก็ดี
ท่านอาจารย์ ถ้าให้หมดกิเลส
ผู้ฟัง ไม่หมดแน่
ท่านอาจารย์ เพื่อวันหนึ่งจะได้มีโอกาสบรรลุถึงการดับกิเลส ให้มีโอกาสเกิดปัญญา ให้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ให้มีโอกาสละคลายกิเลสได้มากๆ ถ้าอธิษฐานบารมีแล้วต้องเป็นไปในกุศลซึ่งจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง ขอถามตรงๆ เลย เพราะผมยังไม่ถึงกับจะตัดกิเลส ทำบุญอย่างดีเลย และอธิษฐานให้ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ ออกจากนิโรธสมาบัติ ก็อธิษฐานให้เป็นพระราชินี และกุศลอันนี้ก็ได้เป็น
ท่านอาจารย์ ใคร
ผู้ฟัง ผมก็จำไม่ได้ ... ที่ถวายน้ำผึ้งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วอธิษฐาน
ท่านอาจารย์ แล้วตอนไหนเป็นกุศล
ผู้ฟัง กุศลตอนถวาย
ท่านอาจารย์ ตอนไหนเป็นอกุศล
ผู้ฟัง อกุศลอย่างละเอียด ก็ตอนอธิษฐานจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ท่านอาจารย์ กุศลต้องเป็นกุศล อกุศลต้องเป็นอกุศล
ผู้ฟัง สรุปพูดกับชาวบ้าน จะสอนเขาอย่างไรดี หรือให้หลุดพ้นอย่างเดียวดี
ท่านอาจารย์ เวลาที่พระผู้มีพระภาคได้รับนิมนต์ไปเสวยภัตตาหาร หรือพระภิกษุทั้งหลาย พระสาวกทั้งหลาย เมื่อฉันภัตตาหารแล้ว ท่านอนุโมทนาโดยการแสดงเหตุและผล เมื่อเหตุเป็นกุศล ผลที่ได้รับก็ต้องเป็นกุศลวิบาก แสดงสัจจะ คือ ความจริงโดยเหตุและโดยผล
เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงธรรมกับใคร ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือใครก็ตาม ก็ให้เขาเข้าใจให้ถูกในเรื่องของเหตุที่เป็นกุศลว่าจะต้องนำมาซึ่งผลคือกุศลวิบากแน่นอน และถ้าเขาทำอกุศล แม้ว่าเขาจะขอร้องหรืออธิษฐานสักเท่าไร ย่อมไม่ได้ตามความปรารถนา แต่เมื่อกุศลเป็นเหตุมี ผลคือกุศลวิบากย่อมมี แม้ไม่ขอก็ต้องมี แล้วทำไมต้องขออีก ในเมื่อมีเหตุ ผลก็ต้องมี จะเอาผลไปทิ้งไว้ที่ไหน
ผู้ฟัง ผลมี แต่ไม่ตรงกับที่ต้องการ
ท่านอาจารย์ บางคนอาจจะคิดว่า น้อยไป ใช่ไหม
ผู้ฟัง ไม่ใช่น้อย แต่ไม่ตรง
ท่านอาจารย์ ตรงอย่างไร
ผู้ฟัง ตรง คือ อยากให้เป็นอย่างนี้ แต่เป็นอย่างโน้น
ท่านอาจารย์ น้อยไปหรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าไม่ตรงก็น้อย
ท่านอาจารย์ ผลที่ต้องการนั้นใหญ่ไหม
ผู้ฟัง ใหญ่ เป็นพระราชินีนี่ใหญ่มาก
ท่านอาจารย์ และเหตุใหญ่ไหม ต้องทำเหตุให้เสมอกับผลที่จะได้รับด้วย และ ในขณะเดียวกันต้องรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล สัจจธรรมจริงๆ คือ เมื่อกุศลซึ่งเป็นเหตุมี ผลคือกุศลวิบากต้องมีแน่นอน จะขอหรือไม่ขอก็ตามแต่ เพราะฉะนั้น ทำไมจะต้องมีอกุศลด้วยในเมื่อจะได้รับกุศลวิบากนั้นอยู่แล้ว เพราะว่า มีเหตุคือกุศลแล้ว
ผู้ฟัง ก็จะได้ไม่ตรงกับที่ต้องการ
ท่านอาจารย์ นั่นแหละ คืออะไร
ผู้ฟัง โลภะ เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ถึงฝั่ง ก็เวียนว่ายไป
ผู้ฟัง สรุปแล้ว ผมฟังอาจารย์ จะให้ถึงฝั่ง ทั้งหมดเป็นกุศลได้อย่างเดียว คือ ตั้งใจอธิษฐานด้วยความมั่นคงเพื่อความหลุดพ้นเท่านั้น นอกเหนือจากนี้เป็นโลภะ เป็นอกุศล ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ และต้องทราบด้วยว่า บารมีทุกบารมี มีโลภะเป็นปฏิปักษ์
ผู้ฟัง อย่างให้เจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แบบนี้คงโลภะแน่
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้เจริญด้วย เจริญอยู่แล้ว เพราะเหตุมีแล้ว ไม่ต้องไปให้ ให้ได้อย่างไร คุณชินวุฒิจะให้คนอื่นได้ไหม
ผู้ฟัง ตรงนี้เข้าใจ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นไม่ได้ให้ เพียงแต่แสดงเหตุและผลเท่านั้นเองว่า เมื่อเหตุที่ดีมี ผลที่ดีก็มี และผลที่ดีก็คืออย่างนั้นๆ
ผู้ฟัง ตอนท้ายที่พระอวยพร ให้ผลแห่งกุศลนั้นเป็นไปตามที่ปรารถนา เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ตอนจบนี่เป็นอกุศลหรือกุศล
ท่านอาจารย์ แสดงผลของกุศลว่า ผลของกุศลย่อมนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ
ผู้ฟัง ตามที่อธิษฐานหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ทุกคนก็ต้องการสิ่งที่ดีทั้งนั้น ไม่เห็นมีใครต้องการสิ่งที่ไม่ดี
ผู้ฟัง เป็นอกุศล ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทุกคนยังมี จนกว่าจะถึงฝั่ง
ผู้ฟัง สรุปรวมความว่า การอธิษฐานของชาวบ้าน ถ้าจะเป็นกุศลต้องถึงฝั่งอย่างเดียว ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เรื่องที่เป็นไปในกุศลทั้งหมด ขอให้เกิดปัญญา ขอให้มีความเห็นถูก ขอให้ได้ฟังพระสัทธรรม ขอให้เกิดในประเทศที่มีพระสัทธรรม หรือแม้แต่ขอให้ พระสัทธรรมจงรุ่งเรือง ความคิดอย่างนั้นก็เป็นกุศล มีทางใดที่จะช่วยกันทำให้ พระสัทธรรมรุ่งเรือง นั่นคือเจตนาของผู้ที่ทำกุศลก็ได้
ผู้ฟัง อย่างท่านสุเมธดาบสท่านคิดว่า ถ้าจะเป็นพระอรหันต์สาวกก็ กระทำได้ แต่ก็ได้ขอเป็นพระพุทธเจ้า ขออย่างนี้เป็นกุศลหรืออกุศล
ท่านอาจารย์ เป็นพระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นโดยง่าย ต้องเป็นผู้ที่มีความอดทน มีบารมี ที่ยิ่งใหญ่จริงๆ มิฉะนั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ ต้องเป็นผู้ที่เสียสละอย่างมาก สำหรับผู้ที่เป็นสาวก อย่างบำเพ็ญบารมีเป็นมหาสาวกก็หนึ่งแสนกัป แต่ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างน้อยที่สุดต้อง ๔ อสงไขยแสนกัป
เพราะฉะนั้น ใครจะเป็นเพียงสาวกซึ่งน้อยกว่าแสนกัปก็ได้ ถ้าไม่ถึงมหาสาวก หรือใครพร้อมที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะต้องบำเพ็ญบารมี อย่างละเอียด อย่างมาก อย่างพิเศษ อย่างเกินกว่าบุคคลทั้งหลายแล้ว ก็ต้องบำเพ็ญถึง ๔ อสงไขยแสนกัป
ผู้ฟัง ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล
ท่านอาจารย์ คิดดู ถ้าจะช่วยคนอื่น เป็นกุศลหรืออกุศล
ถ้าเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยที่ไม่ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็สามารถดับกิเลสได้ แต่ไม่สามารถพร้อมด้วย พระญาณต่างๆ ซึ่งในกาลสมบัติมีบุคคลอีกมากมายหลายแสนหลายโกฏิ นับไม่ถ้วนที่พระองค์สามารถให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์ได้ และแม้ว่าพระผู้มีพระภาค ได้ทรงตรัสรู้ถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ซึ่งเป็นเวลานานมากแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่พระธรรมคือคำสอนของพระองค์ยังดำรงอยู่ ก็ยังมีผู้ที่สามารถศึกษา สามารถเข้าใจ สามารถที่จะไม่หลงผิด สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญปัญญารู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้ ตราบใดที่พระสัทธรรมยังไม่อันตรธาน
แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณา ซึ่งบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สามารถกระทำได้ เพราะฉะนั้น จะเป็นกุศล หรือไม่ใช่กุศล ถ้ามีความกรุณา ถึงอย่างนี้ที่จะช่วยคนอื่น
ผู้ฟัง ไม่สามารถจะเดา
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเดา เพียงเท่านี้ก็เห็นพระมหากรุณาแล้วว่า ต้องเป็น พระมหากรุณามากจริงๆ เวลานี้บางคนอาจจะกรุณาเพียงท่านที่กำลังลำบาก เจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์ยาก แต่แม้ผู้ที่ไม่ลำบาก ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ทุกข์ยาก สำหรับ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงมีพระมหากรุณาที่จะให้บุคคลนั้นพ้นจากการเกิด พ้นจากการติด พ้นจากความทุกข์ใจที่เร่าร้อน
ผู้ฟัง ตอนนั้นท่านสุเมธดาบสยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์ แต่ทราบว่ามีการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีพระพุทธเจ้า คือ พระทีปังกรพุทธเจ้าด้วย
ผู้ฟัง ถ้าเป็นไปในกุศลก็หมายความว่า ที่อาจารย์เติมประโยคขึ้นมาว่า เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แต่ที่ผมถามนั้น อยากเป็นพระพุทธเจ้า ท่านปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคล คิดว่าในขณะนั้นท่านสุเมธดาบสยังไม่ถึงขั้น ปหานสักกายทิฏฐิได้ ผมคิดว่าเป็นเช่นนั้น
ท่านอาจารย์ แต่ต้องเป็นความละเอียด เพราะว่าความอยากของคนมีมาก คนที่ไม่มีปัญญาอยากง่ายมาก เห็นอะไรก็อยาก เพียงได้ยินคำว่า นิพพาน ก็อยาก ได้ยินว่า ปฏิบัติ ก็อยาก แต่คนที่มีปัญญาแล้วมีฉันทะ ต้องมีการไตร่ตรอง ต้องมีการเห็นประโยชน์ ต้องมีการเสียสละ ต้องเป็นผู้ที่มีฉันทะยิ่งใหญ่จริงๆ
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 01
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 02
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 03
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 04
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 05
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 06
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 07
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 08
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 09
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 10
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 11
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 12
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 13
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 14
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 15
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 16
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 17
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 18
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 19
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 20
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 21
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 22
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 23
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 24
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 25
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 26
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 27
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 28
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 29
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 30
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 31
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 32
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 33
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 34
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 35
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 36
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 37
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 38
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 39
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 40