บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 33


    ขณะที่มีความกรุณา มีความอาทรห่วงใยใคร่เกื้อกูลผู้ที่กำลังเป็นทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นกรุณาเจตสิก ขณะที่บุคคลอื่นมีความสุข ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ เป็นต้น ขณะนั้นมีความยินดีด้วย ก็เป็นมุทิตาเจตสิก และขณะที่ ระงับโลภะ โทสะ มีความเป็นกลาง เสมอในสัตว์ทั้งปวง ขณะนั้นก็เป็น ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร

    นอกจากอโทสเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ไม่โกรธแล้ว ก็ยังเป็นเบื้องต้นสำหรับ ผู้ที่คิดจะเมตตาต่อบุคคลที่ทำสิ่งที่ขุ่นเคืองใจได้

    ความหมายของเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาที่เป็นพรหมวิหาร ข้อความ ในอรรถกถามีว่า

    เพราะเป็นธรรมที่ไม่มีโทษ และเพราะอรรถว่า ประเสริฐ

    คนที่มีเมตตาจะไม่มีโทษใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นผู้ประเสริฐด้วยในขณะที่มีเมตตาต่อคนอื่น รวมทั้งกรุณา มุทิตา และอุเบกขาด้วย

    เพราะเป็นการปฏิบัติชอบในสัตว์ทั้งหลาย พวกพรหมทั้งหลายมีจิตปราศจากโทษอยู่ฉันใด ผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารเหล่านี้ ย่อมเป็นผู้เสมอกันกับพรหม ดังนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า พรหมวิหาร

    มีเครื่องอยู่ ๔ อย่างนี้ เป็นความสงบเย็นจริงๆ ไม่มีความเดือดร้อน และปราศจากโทษ พรหมวิหารมี ๔ เพราะเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์เป็นต้น คือ ตั้งแต่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

    อนึ่ง ลำดับของพรหมวิหารเหล่านั้นย่อมมีเพราะอาการมีความเกื้อกูลเป็นต้น และพรหมวิหารเหล่านั้น ย่อมเป็นไปในอารมณ์อันหาประมาณมิได้ จึงเรียกว่า อัปปมัญญา

    แสดงให้เห็นว่า เพียงความไม่โกรธนิดหน่อยอย่าเพิ่งพอใจ หรือเพียงความเมตตาต่อบางบุคคลได้ก็อย่าเพิ่งพอใจ เพราะว่ายังไม่พอ ยังมีคนอีกมากที่เมื่อประสบพบเห็นแล้ว บางกาลก็ควรจะเมตตา บางกาลก็ควรจะกรุณา บางกาลก็ควรจะมุทิตา และบางกาลก็ควรจะอุเบกขา โดยหาประมาณมิได้ ไม่จำกัดเฉพาะบางบุคคล ซึ่งแต่ละท่านสามารถพิสูจน์จิตใจของท่านเองได้ว่า ท่านพร้อมที่จะมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากับบุคคลอื่นๆ เพิ่มขึ้นๆ ได้ไหม ถ้าเพิ่มขึ้นได้ก็เป็นทางที่จะทำให้ มีความเป็นอยู่อย่างพรหม

    สำหรับพรหมวิหาร ๔ มีข้ออุปมาว่า เมตตาอุปมาเหมือนลูกที่ยังเล็ก กรุณาอุปมาเหมือนลูกที่ป่วยไข้ มุทิตาอุปมาเหมือนลูกที่กำลังเป็นหนุ่มสาว อุเบกขาอุปมาเหมือนลูกที่กำลังประกอบการงาน

    ลูกที่ยังเล็ก เด็กเล็กๆ ทุกคนก็มีความหวังดีต่อเด็กที่จะให้เจริญเติบโตขึ้นในทางที่ดี เพราะฉะนั้น ความเมตตาต่อเด็ก ไม่ควรมีเฉพาะกับเด็กเท่านั้น ทุกคนก็เสมือนเด็กที่ควรจะเกื้อกูล จึงจะเป็นความรู้สึกที่มีเมตตาจริงๆ กับบุคคลนั้น

    นี่เป็นเพียงการเปรียบเทียบให้เห็นลักษณะของเมตตาว่า เหมือนกับผู้ที่มีความรู้สึกต่อบุตรคนเล็กที่ต้องการให้เจริญเติบโตขึ้น คือ เกื้อกูลต่อบุตรคนเล็กฉันใด ก็เกื้อกูลต่อบุคคลอื่นฉันนั้น

    สำหรับกรุณา อุปมาเหมือนกับบุตรที่ป่วยไข้ ผู้ที่มีบุตร และบุตรป่วยไข้ คงจะทราบว่า ต้องพยายามบำบัดให้บุตรหายป่วยจากความทรมาน จากโรคภัย ต่างๆ ฉันใด เวลาที่เห็นคนอื่นทั่วไปหมดแม้ไม่ใช่บุตร ก็มีความหวังดีที่จะให้ บุคคลนั้นพ้นจากทุกข์ นั่นคือกรุณา ซึ่งควรจะหาประมาณมิได้ คือ ไม่ได้จำกัด แต่เฉพาะบางบุคคลเท่านั้น

    สำหรับมุทิตา คือ ความพลอยยินดีด้วย อุปมาเหมือนมารดาบิดาที่มีบุตรกำลังเป็นหนุ่มสาว ก็หวังที่จะให้บุตรที่เป็นหนุ่มสาวนั้นมีความสมบูรณ์ เป็นหนุ่ม เป็นสาวนานๆ เป็นที่ชื่นชมยินดีในความเจริญเต็มที่ของบุตรนั้น

    สำหรับอุเบกขา อุปมาเหมือนบุตรที่กำลังประกอบการงาน ซึ่งมารดาบิดา ก็หมดธุระ ไม่ต้องขวนขวายในกิจธุระทุกอย่างให้แก่ลูกที่ประกอบกิจการงานแล้ว

    เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนมีจิตอย่างนี้ แสดงว่าได้ขัดเกลากิเลสและได้อบรม เจริญปัญญาที่จะรู้ว่า สิ่งใดมีประโยชน์ และสิ่งใดมีโทษ เพราะบางคนแม้ได้ยินคำว่า พรหมวิหาร รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่มีเมตตาได้ไหม มีกรุณาได้ไหม มีมุทิตาได้ไหม มีอุเบกขาได้ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นถึงจิรกาลภาวนาว่า ต้องเป็นเรื่องของการขัดเกลา ต้องเป็นเรื่องของการอบรม ด้วยเหตุนี้เมตตาจึงเป็นบารมี ซึ่งควรจะได้พิจารณาว่า เพราะเหตุใดเมตตาและอุเบกขาจึงเป็นบารมี แต่กรุณาและมุทิตาไม่เป็นบารมีด้วย


    เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่จะคิดพิจารณาได้ เพราะว่าในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ เห็นสัตว์ที่มีทุกข์น้อยกว่าสัตว์ที่ไม่มีทุกข์ ที่ห้องนี้ วันนี้ มีบุคคลที่มีทุกข์หรือเปล่า หรือไม่ใช่บุคคลที่กำลังมีทุกข์ เพราะสำหรับคนที่ปัญญายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่เห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นทุกข์เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เป็นสภาพที่เป็นทุกขอริยสัจจ์ เป็นทุกข์จริงๆ แต่ทุกข์ขั้นนี้ยังไม่มีใครเห็น เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่เห็นสัตว์บุคคล ซึ่งไม่ได้เป็นทุกข์ ก็ควรจะมีเมตตา ด้วยเหตุนี้เมตตาและอุเบกขาจึงเป็นบารมี

    สำหรับกรุณาและมุทิตาไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้เวลาที่เห็นสัตว์บุคคลส่วนใหญ่ก็ควรจะมีเมตตา และสำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญามา ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือบุคคลอื่นได้ ขณะนั้นก็เป็นผู้ที่มีความเสมอทั้งบุคคลที่เป็นคนดี และบุคคลที่มีความประพฤติที่ไม่ดีก็ตาม บุคคลนั้นก็สามารถเป็นกลาง สม่ำเสมอได้ นั่นก็เป็นอุเบกขาบารมี

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงลักษณะของพรหมวิหาร ๔ ว่า

    เมตตา

    มีความเป็นไปโดยอาการเกื้อกูลเป็นลักษณะ

    มีการนำเข้าไปซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลเป็นรส คือ เป็นกิจ

    มีการกำจัดความโกรธ ความอาฆาตเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

    มีการเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นที่น่ายินดีคือไม่เป็นศัตรูเป็นปทัฏฐาน

    เมตตามีการสงบระงับความพยาบาทเป็นสมบัติ มีการเกิดสิเนหาเป็นวิบัติ

    นี่เป็นสิ่งที่จะพิจารณาได้ว่า กุศลและอกุศลใกล้ชิดกันมาก เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจึงจะสามารถรู้ได้ว่า เจริญกุศลหรือ มีอกุศลเกิดขึ้น

    กรุณา

    มีความเป็นไปโดยอาการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์เป็นลักษณะ

    มีความกำจัดทุกข์ของบุคคลอื่นเป็นรส คือ เป็นกิจ

    มีความไม่เบียดเบียนเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ อาการปรากฏ

    มีความเห็นสัตว์ที่ถูกครอบงำเป็นผู้น่าสงสารเป็นปทัฏฐาน

    กรุณามีความสงบระงับวิหิงสาเป็นสมบัติ มีการเกิดความโศกเป็นวิบัติ

    มุทิตา

    มีความพลอยยินดีเป็นลักษณะ

    มีความไม่ริษยาเป็นรส

    มีการกำจัดความไม่ยินดีเป็นปัจจุปัฏฐาน

    มีการเห็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลายเป็นปทัฏฐาน

    มุทิตามีการไม่สงบระงับความไม่ยินดีเป็นสมบัติ มีการเกิดความร่าเริงเป็นวิบัติ

    ใกล้กันมาก เวลาที่ยินดีกับลาภ ยศ สรรเสริญสุขของคนอื่น ถ้าเกิดรื่นเริงมาก ยินดีมาก ขณะนั้นก็เป็นโลภะ ไม่ใช่มุทิตา

    อุเบกขา

    มีความเป็นไปโดยอาการเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลายเป็นลักษณะ

    มีการเห็นความเสมอกันในสัตว์ทั้งหลายเป็นรส

    มีการเข้าไปสงบระงับความยินร้ายและความยินดีเป็นปัจจุปัฏฐาน

    มีการเห็นความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตนเป็นปทัฏฐาน

    คือ มีความเห็นว่า สัตว์เหล่านี้จะมีความสุข หรือจะพ้นจากความทุกข์ หรือ จะไม่เสื่อมจากสมบัติตามความพอใจของใครๆ ไม่ได้เลย นอกจากเป็นไปตามกรรมของตนเองทั้งสิ้น

    อุเบกขามีความสงบความยินดีและยินร้ายเป็นสมบัติ ความเกิดขึ้นแห่ง อัญญาณุเบกขาซึ่งอาศัยเรือนเป็นวิบัติ

    อัญญาณุเบกขา คือ ความไม่รู้ ได้แก่ โมหะ เพราะไม่ได้พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงไม่สามารถรู้ในเรื่องของกรรม ในเรื่องเหตุที่จะทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

    สำหรับอุเบกขาอาศัยเรือน เรือนก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทุกคนเวลาที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วเฉยๆ ไม่มีความรู้สึกยินดียินร้าย ก็อย่าเข้าใจว่า ในขณะนั้นเป็นกุศล เพราะเป็นอุเบกขาอาศัยเรือน ในขณะนั้นไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นไม่ได้ชนะกิเลสอะไรเลย เพราะไม่ได้เป็นผู้ฟัง ไม่ได้เป็นผู้เข้าใจ ไม่ได้เป็นผู้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง ไม่เกิดปัญญา เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นข้าศึกใกล้ของอุเบกขาพรหมวิหาร เพราะว่าไม่ได้พิจารณาในคุณและโทษ หรือในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    นี่ก็เป็นเรื่องของพรหมวิหารในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ธรรมดาพรหมวิหารต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ แต่จะมั่นคงได้ ต้องเห็นให้ลึกซึ้งกว่านั้น เช่น เห็นถึงการเกิดดับ ซึ่งเป็นสภาพของความทุกข์จริงๆ จึงจะสามารถเป็นปัจจัยให้กับเมตตาซึ่งมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ได้อย่างมั่นคง ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ตามปกติของคนที่ไม่มีปัญญาถึงระดับนั้น เวลาที่เห็นสัตว์บุคคลทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะมีความรัก หรือมีความชัง หรือมีความรังเกียจ หรือมีความ ชื่นชม แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความเป็นมิตร เพราะว่าเมตตาหมายถึงสภาพที่เป็นมิตร จะไม่มีความรังเกียจ ไม่มีช่องว่าง มีตนเสมอกับบุคคลนั้น ซึ่งในขณะนั้นเป็นปัญญาระดับที่เห็นประโยชน์ของการเกื้อกูลต่อสัตว์ ต่อบุคคลนั้น โดยที่ขณะนั้นไม่ได้พิจารณาว่า แท้ที่จริงแล้วทุกคนเกิดมามีแต่ความทุกข์ จะมีความสุขก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ที่สั้นมาก เพราะว่าความสุขนั้นก็ไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น คนที่หลงทางหรือไม่รู้เลยว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม เมื่อไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ก็จะอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติ อยู่ในโลกของการติดข้องในความ เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่มีโอกาสที่จะรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เพราะไม่เคยแม้แต่จะได้ยินได้ฟังเรื่องของปรมัตถธรรม

    กาลใดที่มีการสนทนาธรรมกันอย่างนี้ บรรดาผู้ที่สนทนาธรรมกันจะเกิดความรู้สึกสงสารบุคคลอื่นจริงๆ ที่เกิดมาแล้วก็มองเห็นอยู่ทุกวัน แต่คนหนึ่งสามารถ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ส่วนอีกคนหนึ่งไม่แม้แต่จะฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่มีความสุขสมบูรณ์ในทางวัตถุ แต่ก็ต้องจากโลกนี้ไป และสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมายาวนานแสนโกฏิกัปป์ ก็หมดไปทีละขณะๆ จนกว่าจะถึงอีกแสนโกฏิกัปป์ด้วยความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    คนที่เข้าใจธรรมและมีศรัทธาที่จะอบรมเจริญปัญญา ในระหว่างที่สนทนาธรรมเรื่องของธรรม ก็อาจจะมีความรู้สึกกรุณาในบุคคลอื่น แต่ถ้าในโอกาสอื่น ทั่วๆ ไป เครื่องที่จะกันโทษ คือ ความผูกโกรธ หรือความพยาบาท หรือความไม่พอใจ ก็คือ มีความเป็นมิตรกับบุคคลนั้น ในขณะที่ไม่คิดถึงเรื่องสภาพนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดดับ

    ผู้ฟัง การศึกษาเรื่องนามธรรมและรูปธรรมจนค่อยๆ รู้ลักษณะ จะเป็นปัจจัยอย่างดีในการที่ชีวิตดำเนินไป แม้กระทั่งเมตตาก็จะมีกำลัง เนื่องจากไม่ยึดถือในสัตว์ บุคคล ตัวตนว่ามีจริง เที่ยงแท้แน่นอน ซึ่งความใกล้เคียงกันระหว่างกุศลกับอกุศลขณะที่เจริญเมตตาใกล้เคียงกันมากในการที่จะเกิดความติดหรือพอใจ แทนที่จะเป็นมิตรจริงๆ ก็เพราะคิดว่ามีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน ตามที่สะสมมา ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นต้องเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงจะเข้าใจอย่างนี้ แต่วันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล หลังจากที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็นึกถึงเรื่องราวที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่เป็นกุศล คือ มีความเป็นมิตรแทนอกุศล แล้วแต่ว่าจะเป็นพรหมวิหารใดใน ๔ พรหมวิหาร ถ้าคนนั้นปกติแข็งแรงดี ก็ไม่ควรที่จะชิงชัง โกรธเคือง หรืออาจจะมีความผูกพัน ซึ่งถ้าเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นอกุศล และกุศลจริงๆ คือ เมตตา ความเป็นเพื่อนที่จะเกื้อกูล ก็จะเปลี่ยนสภาพของอกุศลเป็นกุศลได้

    ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในฐานะที่กำลังเป็นทุกข์เดือดร้อน ก็มีความเห็นใจ มีความต้องการที่จะให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นกรุณา

    ผู้ฟัง และรู้ยิ่งกว่านั้นอีก คือ รู้ว่าทุกขณะมีทุกข์ เนื่องจากสภาพของนามธรรมและรูปธรรมก็กำลังเป็นทุกข์อยู่

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ และคนนั้นเองก็ไม่ได้คิดถึงอย่างนั้นด้วยตลอดเวลา ถ้าขณะใดที่ไม่ได้สนทนาธรรม ขณะใดที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นก็ เป็นการนึกถึงสัตว์บุคคลหลังจากที่มีการเห็น เพราะฉะนั้น พรหมวิหารก็เป็นความสงบในชีวิตประจำวัน

    มีบางท่านเห็นบุคคลบางคนทำสิ่งที่ไม่ดีต่อโลก ก็มีความเดือดร้อนใจว่า เมื่อไหร่บุคคลนั้นจะได้รับผลของกรรม เมื่อมีผู้ทักท้วงว่า เมตตาหรือเปล่าในขณะนั้น ท่านก็บอกว่า อยากเห็นผลของกรรม เพราะรู้ว่าเมื่อมีการกระทำแล้วต้องให้ผล เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่จะเห็นผลของกรรม แต่ผู้นั้นควรจะพิจารณาจิตว่า ขณะที่ คิดอย่างนั้นจิตเป็นอะไร เป็นเมตตาหรือเปล่า เป็นกรุณาหรือเปล่า เป็นมุทิตา หรือเปล่า เป็นอุเบกขาหรือเปล่า

    ถ้าไม่พิจารณาและคิดว่า อยากเห็นผลของกรรมที่คนนั้นจะต้องได้รับ และเวลาที่คนนั้นได้รับผลของกรรม ทุกคนก็สงสาร เท่าที่ฟังมา ไม่ว่าใครที่ได้รับ ความเดือดร้อน มีความเป็นอยู่ที่คับแค้น หรือมีความทุกข์ยากในชีวิต คนอื่นก็ สงสารทั้งนั้น แต่เวลาที่เขากำลังทำอกุศลกรรม ลืมคิดว่า ต้องเกิดความเห็นใจ และมีความเมตตาด้วย ถ้าไม่เป็นเพื่อนกับคนนั้น ใครจะเป็นเพื่อนกับเขา มีทางใด ที่จะทำให้คนนั้นพ้นจากการกระทำหรือความคิดที่เป็นอกุศล

    ถ้าเป็นเพื่อนจริงๆ สำหรับคนนั้น ก็มีทางที่จะช่วยจากอกุศลให้เป็นกุศลได้ ซึ่งควรจะทำอย่างยิ่ง ไม่ใช่ปล่อยให้เมื่อไรจะเห็นผลของกรรม คือ คอยที่จะดูผลของกรรมและอ้างว่า เพราะรู้ว่ากรรมนั้นจะให้ผล แต่เมื่อกรรมนั้นให้ผลจริงๆ คนนั้นก็จะสงสาร แต่สงสารช้าไป คือ ควรจะมีจิตเมตตาตั้งแต่ขณะที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ทำอกุศลกรรม

    นี่เป็นเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิต เพราะฉะนั้น กุศลต้องเป็นกุศล และอกุศลต้องเป็นอกุศล ซึ่งผู้ที่ตรงต่อธรรมจะเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลยิ่งขึ้นได้ เพราะรู้ทันอย่างรวดเร็วว่า ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ก็สามารถมีความเมตตาต่อบุคคลที่เป็นฝ่ายศัตรู ได้อย่างเร็ว

    ท่านผู้ฟังเห็นด้วยไหม หรือมีใครที่จะคอยดูผลของอกุศลกรรมของใครอีก

    สำหรับเมตตาก็ได้กล่าวถึงมากแล้ว ขอผ่านไปถึงบารมีสุดท้าย ซึ่งเป็นสุดยอดของบารมีทั้งหลาย คือ อุเบกขาบารมี ความเป็นผู้วางเฉย ไม่หวั่นไหวในสัตว์ ในสังขารทั้งหลาย และในโลกธรรมทั้งหลาย ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ซึ่งถ้าเป็นได้ สบายจริงๆ สงบจริงๆ ไม่หวั่นไหวเลย เนื่องจากปัจจุบันที่มีความทุกข์ ก็เพราะหวั่นไหว แต่ถ้ามีใจที่มั่นคงในเรื่องของกรรมจะเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวได้ และสำหรับผู้ที่เจริญอุเบกขาบารมีนั้น ไม่สนใจในโทษผิดของผู้นั้น

    อรรถกถาใช้คำว่า ในโทษผิดของผู้นั้น หมายความว่าผู้ที่เจริญอุเบกขาบารมี ไม่สนใจในโทษผิดของผู้นั้น เป็นผู้วางเฉย ไม่เดือดร้อน เพราะรู้ว่าทุกคนมีกรรม เป็นของของตน ซึ่งบางท่านอาจจะคิดสมน้ำหน้า แต่ผู้ที่มีอุเบกขาบารมีจะไม่เป็น อย่างนั้นเลย และสามารถเข้าใจรู้ในความเป็นปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

    ขอกล่าวถึงอุเบกขาปรมัตถบารมีในพระชาติที่พระโพธิสัตว์ทรงเป็น โลมหังสบัณฑิต ซึ่งใน อรรถกถา จริยาปิฎก อรรถกถามหาโลมหังสจริยาที่ ๑๕ มีข้อความว่า

    ได้ยินว่า ในครั้งนั้นพระมหาสัตว์บังเกิดในตระกูลมีโภคะใหญ่ สำเร็จศิลปะ ทุกแขนงในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์

    เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว แม้พวกญาติขอร้องให้ครอบครองทรัพย์สมบัติ เป็นผู้เกิดความสังเวชในภาวะทั้งปวงด้วยมนสิการถึงความเป็นของไม่เที่ยง ได้อสุภสัญญาในกาย ไม่ยึดถือกิเลสอันทำให้มีความกังวลในการครองเรือน ... ประสงค์ละกองโภคะใหญ่ออกบวช จึงคิดต่อไปว่า หากเราบวชจักเป็นผู้ไม่ปรากฏ ด้วยการยกย่องทางคุณธรรม

    นี่เป็นสิ่งที่น่าคิด

    พระมหาสัตว์รังเกียจลาภและสักการะ ไม่เข้าไปบวช ตรึกถึงตนว่า เราเพียงพอเพื่อไม่เป็นผู้ผิดปกติในลาภและเสื่อมลาภเป็นต้น

    คือ ผู้ที่บวชเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องทางคุณธรรม แต่พระมหาสัตว์รังเกียจ ลาภและสักการะที่จะเกิดจากการบวช เพราะฉะนั้น ท่านก็มีความคิดว่า แม้ไม่บวชท่านก็สามารถมีความประพฤติที่ทำให้บุคคลอื่นยกย่องได้ โดยเป็นผู้ที่ไม่ผิดปกติในลาภและเสื่อมลาภเป็นต้น

    นี่เป็นความคิดซึ่งเป็นความไม่หวั่นไหวจริงๆ เพราะแต่ละท่านก็ยังเป็นผู้ที่ติด ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ เพราะฉะนั้น สำหรับเพศที่ต่างกัน คือ บรรพชิตกับคฤหัสถ์ เพศบรรพชิตย่อมได้ลาภสักการะมากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ โดยคุณธรรมของการเป็นบรรพชิต แต่ผู้ที่รังเกียจลาภสักการะ ไม่ต้องการติดในลาภสักการะ ท่านก็มีความเห็นว่า ท่านสามารถดำรงชีวิตอยู่โดยเป็นผู้ที่ไม่ผิดปกติใน ลาภสักการะในเพศคฤหัสถ์ได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    จึงคิดว่า เราบำเพ็ญปฏิปทามีความอดทนคำเย้ยหยันของผู้อื่นเป็นต้น อย่างวิเศษ จักยังอุเบกขาบารมีให้ถึงที่สุดได้ จึงออกจากเรือนด้วยผ้าผืนที่นุ่งอยู่ นั่นแหละ เป็นผู้ประพฤติขัดเขลากิเลสอย่างยิ่ง หมดกำลังก็ทำเป็นมีกำลัง ไม่โง่ ก็ทำเป็นโง่ ถูกคนอื่นเยาะเย้ย เย้ยหยันด้วยรูปร่างอันไร้จิตใจ เที่ยวไปในหมู่บ้าน นิคม และราชธานีโดยอยู่เพียงคืนเดียวเท่านั้น ในที่ใดได้รับการเย้ยหยันมาก ก็อยู่ในที่นั้นนาน เมื่อผ้าที่นุ่งเก่า แม้ผ้านั้นจะเก่าจนเป็นผ้าขี้ริ้วก็ไม่รับผ้าที่ใครๆ ให้ เที่ยวไปเพียงปกปิดอวัยวะอันยังหิริให้กำเริบเท่านั้น

    นี่คืออุเบกขาปรมัตถบารมี ซึ่งทำได้ยาก เป็นผู้ที่มีทรัพย์สมบัติมากแต่ก็ ไม่ติดในทรัพย์สมบัติ และต้องการบำเพ็ญอุเบกขาบารมี อดทนต่อคำเย้ยหยันของ คนอื่น โดยออกจากเรือนด้วยผ้านุ่งผืนที่นุ่งอยู่ หมดกำลังก็ทำเป็นมีกำลัง คือ เป็นผู้ที่ ไม่ท้อถอย มีความอดทน ไม่โง่ก็ทำเป็นโง่ ไม่เดือดร้อน ใครจะว่าอะไรก็ไม่แปลก มีความไม่หวั่นไหว

    ถูกคนอื่นเยาะเย้ย เย้ยหยันด้วยรูปร่างอันไร้จิตใจ

    ทุกคนเป็นผู้ที่มีความพอใจในรูปร่าง ในการแต่งกาย ในการได้รับคำนิยมหรือคำชมจากคนอื่น มีการแต่งตัวสวยน่าดู แต่สำหรับพระโพธิสัตว์ในพระชาตินั้น ไม่ว่าใครจะเย้ยหยันด้วยการแต่งกายของท่าน ก็สามารอดทนได้ ไม่หวั่นไหว

    เมื่อกาลผ่านไปอย่างนี้ เขาได้ไปถึงบ้านและนิคมแห่งหนึ่ง

    ณ ที่นั้น เด็กชาวบ้าน นิสัยเกเรชอบตีรันฟันแทง บางคนก็เป็นบุตรหลาน และทาสเป็นต้นของพวกราชวัลลภ ... เป็นคนนิสัยร้ายกาจ ปากจัด พูดจาสามหาว เที่ยวเล่นตลอดเวลา ...

    เด็กชาวบ้านเหล่านั้น เห็นชายและหญิงที่เป็นคนแก่เข็ญใจ ก็เอาฝุ่นละอองโปรยไปบนหลัง และทำกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมน่าติเตียน หรือหัวเราะใส่คนที่กำลังดู

    พระมหาบุรุษเห็นพวกเด็กเกเรเหล่านั้นเที่ยวไปในนิคมนั้น จึงคิดว่า บัดนี้ เราได้อุบายเครื่องบำเพ็ญอุเบกขาบารมีแล้ว จึงอยู่ ณ ที่นั้น พวกเด็กเกเรเห็น พระมหาบุรุษนั้น จึงเริ่มที่จะทำความไม่เหมาะสม

    พระมหาสัตว์ลุกขึ้นเดินไปทำคล้ายกับทนไม่ได้ และทำคล้ายกลัวเด็กพวกนั้น พวกเด็กเหล่านั้นก็ตามพระโพธิสัตว์ไป พระโพธิสัตว์เมื่อถูกพวกเด็กตามไป จึงไปป่าช้าด้วยเห็นว่า ที่ในป่าช้านี้คงไม่มีใครขัดขวางการกระทำของพวกเด็กๆ เหล่านั้น ท่านเอาโครงกระดูกทำเป็นหมอนหนุนแล้วนอน พวกเด็กเหล่านั้นก็ทำความ ไม่เหมาะสมหลายอย่าง มีการถ่มน้ำลายเป็นต้น แล้วก็กลับไป ทำอย่างนี้ทุกวัน

    พวกที่เป็นวิญญูชน (คือ คนที่มีปัญญา) เห็นเด็กๆ ทำอย่างนั้นก็ห้าม แล้วบอกว่า ท่านผู้นี้มีอานุภาพมาก มีตบะเป็นมหาโยคี พวกที่มีปัญญาเหล่านั้น จึงพากันกระทำสักการสัมมานะอย่างมากมาย

    ฝ่ายพระมหาสัตว์เป็นเช่นเดียวเสมอกัน คือ เป็นกลางในทุกอย่าง ดังที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    3 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ