บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 39


    ในขณะที่ มีชีวิตเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยในแต่ละชาติ

    แต่เรื่องในชาดกทั้งหมด ก็เป็นความจริงในยุคนี้สมัยนี้ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อ คือ ชื่อในชาดกนั้นเป็นอย่างหนึ่ง แต่ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูปนั่นเอง และชื่อในปัจจุบัน ชีวิตจริงๆ ของทุกท่านในขณะนี้ก็คือ จิต เจตสิก รูป ก็เป็นเพียงชื่อเท่านั้นที่เปลี่ยนจากชาดกมาเป็นแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่ให้ทราบว่า โลภะก็เป็นโลภะ โทสะ ก็เป็นโทสะ อกุศลก็เป็นอกุศล กุศลก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น จากเรื่องชีวิตของแต่ละบุคคลในครั้งอดีต ย่อมเตือนให้ทุกท่านระลึกถึงสภาพจิตของท่านได้และขัดเกลายิ่งขึ้น

    อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องชาดกซึ่งแสดงให้เห็นว่า การติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทำให้ยากที่จะทำอะไรบ้าง เช่น ยากที่จะสละวัตถุให้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น นั่นก็ยากแล้ว แต่สิ่งที่ยากกว่าการให้ก็ยังมีอีก มีใครคิดได้ไหมว่า อะไรเป็นสิ่งที่ยากกว่าการให้

    เรื่องของการสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะให้ ก็ยากที่จะเอ่ยหรือ ที่จะกระทำ แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นก็ยังมี อะไรที่ยากกว่านั้น ซึ่งบางท่านหลังจากที่ได้ฟังชาดกนี้แล้ว อาจจะกล่าวว่า คิดไม่ถึงว่าจะเป็นอย่างนั้น

    อรรถกถา สัตตกนิบาตชาดก อรรถกถาทสัณณกชาดกที่ ๖ มีข้อความว่า

    ในสมัยที่พระโพธิสัตว์เป็นเสนกบัณฑิตอำมาตย์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เป็นอายุรบัณฑิตอำมาตย์ และท่านพระสารีบุตรเป็นปุกกุสบัณฑิต ของพระเจ้าพรหมทัต

    ครั้งนั้น บุตรของราชปุโรหิตได้มาเฝ้าพระราชา เมื่อเห็นอัครมเหสีของพระราชา ก็มีจิตปฏิพัทธ์ นอนอดอาหาร เมื่อพระราชาทรงทราบก็ทรงมอบพระอัครมเหสีให้ ๗ วัน แล้วให้นำมาส่งคืน แต่ปรากฏว่าบุตรของราชปุโรหิตและพระมเหสีต่างมีจิต รักใคร่กัน และพากันหนีไปเมืองอื่น

    ฟังดูเป็นนิยายน้ำเน่าสำหรับยุคนี้สมัยนี้ แต่เป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้น เรื่องเน่าคงไม่มี ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ ในอดีตชาติ และเป็นเรื่องจริง ชีวิต ของท่านพระอานนท์ ชีวิตของพระผู้มีพระภาค ชีวิตของท่านพระสารีบุตร ของท่านพระมหาโมคคัลลานะ และของบุคคลอื่นๆ ในครั้งนั้น ซึ่งผู้ที่ยัง ไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ไม่ไปไหน นอกจากมีสังสารวัฏฏ์สืบต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็น บุคคลนั้นบ้าง บุคคลนี้บ้าง จนกระทั่งถึงสมัยปัจจุบัน อาจจะเป็นท่านผู้ฟังที่นี่ ใครคนหนึ่งคนใดก็ได้ แล้วก็จำเรื่องของตัวเองในอดีตไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่าเป็นใคร ที่ไหน

    พระราชาทรงโศกเศร้าจนประชวรหนัก หมอหลวงทั้งหลายก็ไม่สามารถ รักษาได้ พระโพธิสัตว์รู้ว่า พระราชาไม่ทรงมีโรคอะไร นอกจากเสียพระทัยที่ไม่ทรงเห็นพระมเหสี จึงคิดอุบายแก้ไข โดยจัดแสดงการกลืนดาบให้พระราชาทอดพระเนตร เมื่อพระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นชายคนหนึ่งกลืนดาบแก้วที่คมกริบยาว ๓๓ นิ้ว จึงตรัสถามอายุรบัณฑิตว่า สิ่งที่ทำยากกว่าการกลืนดาบนี้มีไหม

    อายุรบัณฑิตในครั้งนั้น ซึ่งในชาติสุดท้ายเป็นท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลว่าการพูดว่าเราจะให้นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่านั้น

    คิดดู ให้ไปกลืนดาบคมกริบยาว ๓๓ นิ้ว ยังง่ายกว่าการที่จะพูดว่า จะให้ นี่คือการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งแสนยากจริงๆ ที่จะสละได้ ให้ทำอะไรก็ยังง่ายกว่าการพูดว่าจะให้ ด้วยความโลภ ติดข้อง จึงทำให้พูดไม่ได้

    เป็นความจริงไหม ทุกท่านพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน วันนี้พูดคำนี้บ้างหรือยัง หรือว่าปีหนึ่ง เดือนหนึ่งจะพูดสักกี่ครั้ง

    พระราชาทรงสดับคำของอายุรบัณฑิตแล้ว ก็ทรงพิจารณาพระองค์

    นี่คือบัณฑิต ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังสิ่งใดทั้งหมด เมื่อฟังแล้วพิจารณาตน

    พระราชาทรงสดับคำของอายุรบัณฑิตแล้ว ก็ทรงพิจารณาพระองค์ว่า พระองค์ได้ตรัสออกไปแล้วว่า จะให้พระมเหสีแก่บุตรของราชปุโรหิต พระองค์ก็ ทรงสามารถกระทำกรรมที่ทำได้ยากแล้ว

    คือ สามารถเอ่ยปากตรัสให้พระมเหสีแก่บุตรของราชปุโรหิต แสดงว่าพระองค์ทรงกระทำสิ่งที่ยาก

    ความเศร้าโศกในพระราชหฤทัยก็เบาบางไปแล้วหน่อยหนึ่ง

    เพราะว่าเป็นผู้ที่ได้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก

    พระองค์ทรงดำริว่า แต่กรรมอย่างอื่นที่ทำได้ยากกว่าการพูดว่า เราจะให้ของสิ่งนี้แก่ผู้อื่นนั้น ยังมีอยู่หรือไม่หนอ

    พูดก็ยาก แต่อะไรจะยากกว่าพูด

    พระราชาจึงตรัสถามปุกกุสบัณฑิตว่า

    สิ่งที่ทำได้ยากกว่าการบอกว่าเราจะให้นั้นยังมีอยู่หรือ

    มีอะไรที่ทำได้ยากกว่านั้นอีก

    ลำดับนั้นปุกกุสบัณฑิต เมื่อจะทูลแก้ปัญหาถวาย จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า

    คนทั้งหลายไม่รักษาคำที่พูดไว้ คำที่พูดออกไปนั้นก็ไม่มีผล และผู้ใดให้ปฏิญญาไว้แล้ว ก็บั่นทอนความโลภได้ การบั่นทอนความโลภของผู้นั้นนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบและการให้ปฏิญญานั้น

    นี่เป็นเรื่องของสัจจะ ความจริงใจ ความตรงต่อความคิดหรือคำที่ได้กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อพูดแล้วว่าจะให้ สิ่งที่ยากกว่าก็คือให้จริงๆ ไม่ใช่ว่าพูดแล้ว แต่ให้ไม่ได้ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า อะไรยากกว่า เวลาที่มีศรัทธาเกิดขึ้นก็พูดให้ได้ แต่พูดแล้วไม่ให้ก็มี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ผู้ที่พูดแล้ว และก็ให้ ย่อมทำสิ่งที่ยาก คือ ไม่เพียงแต่พูด แต่มีสัจจะ มีความจริงใจ สามารถกระทำตามที่ได้พูดแล้วด้วย

    เหตุอย่างอื่นทุกอย่างเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด

    ความจริงก็เป็นความจริงทุกกาลสมัย แม้ในสมัยโน้นจนถึงสมัยนี้

    เมื่อพระราชาทรงสดับคำนั้นแล้วก็ทรงพิจารณาว่า พระองค์ตรัสไปแล้วว่า จะให้พระเทวีแก่บุตรของปุโรหิต และพระองค์ก็ได้ให้พระเทวีตามที่ตรัสแล้ว พระองค์จึงได้ทรงกระทำกรรมที่ทำได้ยากแล้วหนอ ความเศร้าโศกก็เบาบางลงกว่าเดิม

    นี่คือผู้ที่พิจารณาตนเอง และเห็นว่าพระองค์สามารถสละ คือ ตรัสแล้วและ ได้กระทำตามพระวาจาที่ได้ตรัสแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นความสามารถของพระองค์ ยิ่งกว่าการกลืนดาบที่คมกริบยาว ๓๓ นิ้ว

    ลำดับนั้น พระองค์ได้มีพระปริวิตกว่า คนอื่นที่ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดกว่า เสนกบัณฑิตไม่มี เราจักถามปัญหานี้กะเสนกบัณฑิต

    ซึ่งในพระชาติสุดท้ายก็เป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    พระองค์จึงตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า

    สิ่งที่ทำได้ยากกว่าการให้สิ่งของนั้นมีอยู่หรือ

    พูดว่าให้ แล้วก็ให้ จะมีอะไรที่ยากกว่าการให้สิ่งของนั้น

    เสนกบัณฑิตเมื่อจะทูลแก้ปัญหาถวายพระองค์ จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ว่า

    คนควรให้ทาน จะน้อยหรือมากก็ไม่ว่า แต่ผู้ใดครั้นให้แล้ว ไม่เดือดร้อนใจ ในภายหลัง (คือ ไม่เสียดาย ไม่เศร้าโศก) การไม่เดือดร้อนใจนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ ยากกว่าการกลืนดาบ ยากกว่าการพูดว่าจะให้สิ่งของ และยากกว่าการให้สิ่งของ ที่รักนั้น เหตุอย่างอื่นทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้

    จริงไหม พูดว่าจะให้ พูดแล้วและให้ด้วย แต่ให้แล้วเสียดาย จะทำอย่างไรกับโลภะซึ่งติดตามการให้ได้ ทั้งๆ ที่ให้ไปแล้วก็ยังเสียใจ เศร้าโศก หรือเสียดาย ในภายหลัง

    เมื่อพระราชาทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว ก็ทรงพิจารณาจิตของพระองค์ ซึ่งเมื่อให้พระเทวีแก่บุตรของปุโรหิตไปแล้วก็เศร้าโศก ซึ่งไม่สมควรเลย และ ทรงพิจารณาว่า หากพระเทวีพึงมีความเสน่หาในพระองค์ ก็คงไม่ทอดทิ้งอิสริยยศนี้หนีไป แต่เมื่อพระเทวีไม่มีความเสน่หาในพระองค์หนีไป จะมีประโยชน์อะไรที่ทรงเศร้าโศก

    เมื่อพระองค์ทรงมีพระดำริดังนี้ ความเศร้าโศกทั้งหมดก็หายไป เหมือนหยดน้ำที่กลิ้งตกจากใบบัวฉะนั้น ในทันใดนั้นพระองค์ทรงไร้พระโรค ทรงพระเกษมสำราญ เมื่อจะทรงสดุดีพระโพธิสัตว์ จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า

    อายุรบัณฑิตแก้ปัญหาแล้ว และปุกกุสบัณฑิตก็แก้ปัญหาแล้ว ส่วน เสนกบัณฑิตครอบปัญหาหมดทุกข้อว่า คนให้ทานแล้ว ไม่ควรเดือดร้อนใจภายหลัง อย่างที่เสนกบัณฑิตพูด

    ก็พระราชาครั้นทรงทำการสดุดีแล้ว ทรงพอพระราชหฤทัยแล้ว ได้พระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่เสนกบัณฑิตนั้น

    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ทรงประกาศสัจจธรรมทั้งหลายแล้ว ทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจจธรรม ภิกษุผู้ใคร่ลาสิกขาเพราะการยั่วยวนของภรรยาเก่า ซึ่งในอดีตกาลครั้งนั้นเป็นพระเจ้าพรหมทัต ก็ได้บรรลุโสตาปัตติผล อายุรบัณฑิตได้เป็นพระมหาโมคคัลลานเถระ ปุกกุสบัณฑิตได้เป็นพระสารีบุตรเถระ ส่วนเสนกบัณฑิตได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล

    ชาติหนึ่งนี่มีเรื่องมากหลายเรื่อง เรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง ถ้าเป็นบัณฑิตก็พิจารณาเพื่อที่จะขัดเกลาและสะสมกุศล เพราะถ้าไม่สะสมกุศลจริงๆ ไม่มีทางเลย ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ขณะนี้สภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กำลังเกิดดับ ต้องประจักษ์แจ้งได้จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพียงแต่ฟังและเข้าใจ และสติเกิดเพียงเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่มีกำลังที่จะละ การยึดถือสภาพธรรมที่เคยติดเคยถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ถ้าไม่มีปัญญาที่สะสมมาจริงๆ พร้อมบารมีอื่น ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ได้

    แม้แต่ในชาดกนี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นความสำคัญของการไม่เสียดาย เพราะว่าขณะที่เสียดายแสดงให้เห็นถึงเยื่อใยการติดในวัตถุที่สละที่เป็นเพียงวัตถุสิ่งภายนอก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีใครสามารถยึดครองเป็นเจ้าของได้ตลอดไป เพียงชั่วขณะที่ตาเห็นและเกิดความพอใจ แต่ขณะอื่นเมื่อไม่เห็น ก็เป็นเรื่องอื่นไปแล้ว

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า เยื่อใยความเสียดายที่ยังมีอยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ให้ไปแล้ว เวลาที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมก็ยังเสียดาย คิดดู เสียดายที่จะทิ้งไป เสียดายที่จะละไป เสียดายที่จะไม่มีตัวตน เสียดายที่ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา อีกต่อไป เพราะฉะนั้น กำลังของกุศลและกำลังของปัญญาต้องมีมากที่จะเป็นผู้ที่ มีชีวิตอย่างจิรกาลภาวนา คือ สะสมอบรมเจริญกุศล ซึ่งใช้กาลเวลาที่ยาวนานที่จะ รู้สภาพจิตของตนและสามารถรู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ถ้ายังคงมีความเสียดายแม้เล็กน้อย ก็ให้คิดว่า เวลาที่สติปัฏฐานเกิดแล้วจะต้องเสียดายแน่ๆ ในนามรูปที่กำลังปรากฏ ไม่ยอมที่จะทิ้งที่จะละว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    นี่เป็นเหตุที่วิปัสสนาญาณต้องมีมากมายหลายขั้น เพราะถึงแม้จะประจักษ์ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้วก็จริง แต่ยังเสียดายที่จะทิ้งไป ความติดข้องในความเป็นตัวตน ในสภาพธรรมมีมาก นี่เป็นแต่เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เห็นว่า ความเสียดายแม้เพียงในวัตถุก็ยังมีได้ เพราะฉะนั้น ในความเป็นตัวตนก็ต้องมีมากอยู่

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีประสบการณ์ในชีวิตที่จะเล่าให้ฟังบ้างหรือเปลา เหตุการณ์จริงๆ ความรู้สึกจริงๆ อกุศลจริงๆ ที่เกิดกับท่าน

    อย่างการสนใจธรรม เริ่มฟังธรรม เริ่มศึกษา เริ่มพิจารณาโดยละเอียด อาจจะเห็นว่าวันนั้นสติปัฏฐานไม่ได้เกิด แต่มีความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น และถ้าฟังทุกวัน พิจารณาบ่อยๆ จะเห็นได้ว่า สติปัฏฐานเริ่มเกิดแล้ว และถึงแม้ว่าขณะที่สติปัฏฐานเริ่มเกิด ยังไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม แต่การฟังและการพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมเป็นปัจจัยให้เริ่มน้อมไปที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมนั้นทีละเล็กทีละน้อย และการผสมผสานของกุศลทั้งหลายที่ได้กระทำ ย่อมเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งทำให้เมื่อสติระลึก ปัญญาเริ่มพิจารณา สภาพธรรมได้ตรงถูกต้อง ปัญญาจึงค่อยๆ เจริญขึ้น

    แต่ทางฝ่ายอกุศลก็มีมาก ประมาทไม่ได้เลย เพราะว่าสำหรับรูปธรรม เช่น การเพาะปลูกต้นมะม่วงหวาน เวลาที่ปลูกใกล้ชิดกับต้นสะเดาขม ยังทำให้รสของมะม่วงนั้นเปลี่ยนไปได้ทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งไม่มีใครสังเกตเลย ทุกคนอาจจะเชื่อมั่นว่า เมื่อเป็นมะม่วงหวาน มีเชื้อของรสนั้น ก็ต้องเป็นรสนั้นตลอดเวลา แต่อาศัยการเสพ การคุ้นเคย สิ่งแวดล้อม การสะสมทีละเล็กทีละน้อย ทำให้รสของมะม่วงเปลี่ยนไปได้ ฉันใด คนที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลส ถ้ามีการคบหาสมาคม หรือมีความประมาทในอกุศล อาจจะไม่รู้สึกว่า การพิจารณาธรรมเริ่มไม่ตรง มีความโน้มเอียงไปสู่ทางผิดโดยไม่รู้สึกตัวเลย เพราะการโน้มเอียงไปสู่ความเห็นผิดไม่ปรากฏในชาตินั้นก็ได้ คือ การคบหาสมาคมแต่ละชาติๆ มีโอกาสเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งทำให้ความ โน้มเอียงไปในความเห็นผิดปรากฏขึ้นในชาติหนึ่งชาติใดซึ่งไม่ใช่ในปัจจุบันชาตินี้ก็ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ควรประมาทในเรื่องของอกุศล และจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ย่อมเป็นประโยชน์ในทุกทางที่จะให้ท่านได้พิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ เพราะถ้าต้องการเจริญปัญญา เจริญกุศล ต้องไม่ประมาทที่จะรู้จักอกุศลของตนเองด้วย มิฉะนั้นแล้ว คงไม่ต้องมีทั้งอธิษฐานบารมีและสัจจบารมี

    อธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญกุศลเพื่อดับกิเลส เพราะเห็นโทษของอกุศล ถ้ายังไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง คิดว่าตัวเองดีแล้ว หรือดีกว่าคนอีกหลายคน จะมีความพอใจในความดีของตนเอง ทั้งๆ ที่ความไม่ดีมีมาก ไม่ว่าจะบริโภคอาหาร จะกำลังสนุกสนาน จะกำลังทำกิจการงานต่างๆ ก็เต็มไปด้วยอกุศลในขณะที่กุศลไม่เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง คิดว่า เป็นผู้ที่ดีแล้ว ก็จะไม่เจริญกุศล และไม่รู้ตัวด้วยว่า อกุศลกำลังชักจูงทำให้โน้มเอียงขึ้นทุกที

    สำหรับผู้ที่มีอธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญปัญญา ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท และยังต้องมีสัจจบารมี คือ การเป็นผู้จริง เป็นผู้ตรงต่อความตั้งใจมั่นนั้น มิฉะนั้นแล้ว ตั้งใจว่าจะศึกษา ตั้งใจที่จะทำกุศล แต่ถ้าไม่มีสัจจบารมี ย่อมหวั่นไหวและพ่ายแพ้ต่ออกุศล เพราะว่าวันหลังก็ได้ หรือเมื่อไรก็ได้ ก็จะเป็นผู้ที่ห่างไกลจากการเจริญกุศลที่จะดับกิเลส

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า การรู้จักตัวเองและอบรมเจริญกุศลต้อง เป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ไม่ประมาท

    ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก กุรุงควรรค อรรถกถา มหิฬามุขชาดก มีข้อความที่กล่าวถึงการโน้มเอียงไปตามสิ่งแวดล้อม ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงย่อมไม่รู้ว่า การกระทำสิ่งใดควรและไม่ควร และจะเป็นเหตุให้ค่อยๆ โน้มเอียงไปในทางอกุศลอย่างไรบ้าง

    ข้อความมีว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน ทรงปรารภท่าน พระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โปราณโจราน วโจ นิสัมมะ ดังนี้

    เรื่องมีว่า เมื่อท่านพระเทวทัตทำให้อชาตศัตรูกุมารเลื่อมใสแล้ว ยังลาภสักการะให้เกิดขึ้น อชาตศัตรูกุมารได้สร้างวิหารที่ตำบลคยาสีสะเพื่อท่านพระเทวทัต แล้วได้ถวายโภชนะข้าวสาลีมีกลิ่นหอม ซึ่งเก็บไว้ ๓ ปี วันละ ๕๐๐ สำรับ โดยรสเลิศต่างๆ เพราะอาศัยลาภสักการะ บริวารของท่านพระเทวทัตจึงเพิ่มขึ้น ท่าน พระเทวทัตพร้อมทั้งบริวารก็อยู่ในวิหารนั่นแหละ

    จะเห็นได้ว่า ท่านพระเทวทัตเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพระผู้มีพระภาค แม้ว่า ท่านพระเทวทัตเองจะรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การสะสมอกุศลในอดีตชาติของท่านพระเทวทัต ค่อยๆ ผสมผสานทำให้มีความรู้สึกที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับพระผู้มีพระภาค แม้ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเป็นธรรมที่ทรงแสดงด้วยพระมหากรุณาเกื้อกูลต่อสัตว์โลกโดยละเอียด แต่ท่านพระเทวทัตก็ยังคิดว่า ท่านเองเทียมเท่าพระผู้มีพระภาคได้

    นี่เป็นอันตรายซึ่งมองไม่เห็นเลยว่า การสะสมทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็ทำให้สามารถมีความคิดอย่างนั้นได้

    สมัยนั้น มีสหาย ๒ คนผู้เป็นชาวเมืองราชคฤห์ ในสหาย ๒ คนนั้น คนหนึ่งบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค คนหนึ่งบวชในสำนักของท่านพระเทวทัต

    มีเหตุปัจจัยที่ต่างกัน

    สหายทั้งสองนั้นย่อมพบปะกันเสมอ อยู่มาวันหนึ่งภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่าน พระเทวทัตก็กล่าวกะภิกษุสหายว่า

    ผู้มีอายุ ท่านจะเที่ยวบิณฑบาตมีเหงื่อไหลอยู่ทุกวันๆ ทำไม ท่านนั่งในวิหารที่ตำบลคยาสีสะเท่านั้น จะได้บริโภคโภชนะดีด้วยรสเลิศต่างๆ ข้าวปายาสเห็นปานนี้ไม่มีในวิหารนี้ ท่านจะมัวเสวยทุกข์อยู่ทำไม ประโยชน์อะไรแก่ท่าน การมายัง คยาสีสะแต่เช้าตรู่แล้วดื่มข้าวยาคูพร้อมด้วยแกงอ่อม เคี้ยวของควรเคี้ยว ๑๘ ชนิด แล้วบริโภคโภชนะดีด้วยรสเลิศต่างๆ ไม่ควรหรือ

    เพียงเท่านี้ท่านผู้ฟังอาจจะไม่เห็นโทษ แต่พระผู้มีพระภาคทรงเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยต่อการที่ภิกษุซึ่งบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคจะไปฉันอาหารในสำนักของท่านพระเทวทัต และการชักชวนของศิษย์ของท่านพระเทวทัตจะเห็นความโน้มเอียงผิดที่เริ่มเกิด ซึ่งเป็นความคิดที่เห็นว่า การประพฤติเช่นนั้น คือ การไม่บิณฑบาต เป็นการสมควร เพราะฉะนั้น เป็นความเห็นที่ผิดจากความประพฤติที่สมควรของ สมณวิสัย

    ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด เพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านี้ จะไม่รู้ว่า เป็นการสะสมของกิเลสต่อไปอีกทุกๆ ขณะ ซึ่งจะทำให้ไกลจากการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าขาดการพิจารณาให้ตรงกับเหตุและผลจริงๆ แม้แต่ในเรื่องที่คิดว่า เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย

    ภิกษุสหายนั้นถูกพูดบ่อยๆ เข้า ก็เป็นผู้ประสงค์จะไป

    ทีแรกยังไม่ไป แต่ถูกชวนเข้าบ่อยๆ ในที่สุดก็ไป

    จำเดิมแต่นั้นจึงไปยังคยาสีสะ บริโภคแล้วมายังพระเวฬุวันต่อเมื่อเวลาสาย ภิกษุนั้นไม่อาจปกปิดไว้ได้ตลอดไป ไม่ช้านักข่าวก็ปรากฏว่า ภิกษุนั้นไปคยาสีสะบริโภคภัตที่เขาอุปัฏฐากท่านพระเทวทัต

    ลำดับนั้น สหายทั้งหลายพากันถามภิกษุนั้นว่า

    ผู้มีอายุ ได้ยินว่า ท่านบริโภคภัตที่เขาอุปัฏฐากท่านพระเทวทัตจริงหรือ

    ภิกษุนั้นกล่าวว่า ใครกล่าวอย่างนั้น

    สหายเหล่านั้นกล่าวว่า คนโน้น และคนโน้นกล่าว

    ภิกษุนั้นกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ผมไปยังคยาสีสะบริโภคจริง แต่ท่านพระเทวทัตไม่ได้ให้ภัตแก่ผม คนอื่นๆ ให้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 2
    3 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ