บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 40
แต่ท่าน พระเทวทัตไม่ได้ให้ภัตแก่ผม คนอื่นๆ ให้
เป็นการคิดที่ไม่ถูกต้อง เพียงเล็กๆ น้อยๆ คิดว่า เมื่อไม่รับจากท่าน พระเทวทัตโดยตรง รับจากคนอื่นก็เป็นการสมควร แต่ขอให้เห็นโทษภัยแม้แต่การไป สู่สำนักของท่านพระเทวทัตเพียงเพื่อบริโภคภัตตาหาร ซึ่งภิกษุรูปนั้นไม่เห็นว่าเป็นโทษ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เป็นผู้พิจารณาธรรมให้เที่ยงตรงจริงๆ การอบรมเจริญปัญญา ให้ตรงจริงๆ ก็เป็นการยาก
ภิกษุผู้สหายกล่าวว่า
ผู้มีอายุ ท่านพระเทวทัตเป็นเสี้ยนหนามต่อพระพุทธเจ้า เป็นผู้ทุศีล ยัง พระเจ้าอชาตศัตรูให้เลื่อมใส แล้วยังลาภสักการะให้เกิดแก่ตนโดยไม่ชอบธรรม ท่านบวชในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ แล้วบริโภคโภชนะอันเกิดขึ้นแก่ท่านพระเทวทัตโดยไม่ชอบธรรมเลย มาเถอะ เราทั้งหลายจักนำท่านไปยังสำนักพระศาสดา
แล้วพาภิกษุนั้นมายังโรงธรรมสภา
ไม่ทราบว่าในแต่ละภพแต่ละชาติ แต่ละท่านจะมีการพิจารณากาย วาจาของตนเองและของบุคคลอื่นละเอียดลึกสักแค่ไหน เพราะว่าเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ ลึกมาก ถ้าไม่มีการกระทำทางกายหรือวาจาแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ออกมา ก็ยากที่จะสังเกตได้ว่า ใครเป็นผู้ที่นอบน้อมบูชาพระผู้มีพระภาคอย่างจริงใจ เพราะในขณะนั้น มีพระภิกษุเป็นอันมาก แม้ท่านพระเทวทัตด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่สังเกตจากกาย วาจาให้ลึกลงไปจริงๆ ย่อมไม่สามารถจะรู้ได้
เมื่อพระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรภิกษุนั้น ก็ได้ตรัสถามว่า
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพาภิกษุนี้ผู้ไม่ปรารถนา มาแล้วหรือ
ไม่ปรารถนาในที่นี้ ลึกลงไป คือ ไม่ปรารถนาเป็นผู้ตรงต่อกุศลธรรมที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้บวชในสำนักของพระองค์ แล้วบริโภคโภชนะอันเกิดขึ้นแก่ท่านพระเทวทัตโดยไม่ชอบธรรม
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกร ภิกษุ ได้ยินว่า เธอบริโภคโภชนะอันเกิดแก่พระเทวทัตโดยไม่ชอบธรรมจริงหรือ
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระเทวทัตไม่ได้ให้ภัตแก่ข้าพระองค์ คนอื่นๆ ให้แก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จึงบริโภคภัตนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุ เธออย่ากระทำการหลีกเลี่ยงในเรื่องนี้ พระเทวทัตเป็นผู้ไม่มีอาจาระ เป็นผู้ทุศีล เธอบวชในศาสนานี้ แล้วคบหาศาสนาของเราอยู่นั่นแล ยังบริโภคภัตของพระเทวทัตได้อย่างไรเล่า เธอมีปกติคบหาอยู่แม้เป็นนิตยกาล ก็ยังคบหาพวกคนที่เห็นแล้วๆ
คือ เห็นแล้วว่า เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับพระผู้มีพระภาค
เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้แล้ว ได้กล่าวถึงการสะสมในอดีตชาติของภิกษุรูปนั้นเพราะฉะนั้น น่าจะพิจารณาสังเกตชีวิตของแต่ละบุคคลในแต่ละชาติจริงๆ โดยละเอียด และเป็นผู้ต้องตรงต่อกุศลธรรม
การเป็นผู้มีอธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศลเพื่อดับกิเลส ต้องมีสัจจบารมี คือ ความเป็นผู้ที่ตรงและจริงต่อความตั้งใจนั้นด้วย
ขอกล่าวถึงข้อความใน ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก อิตถีวรรค อรรถกถา วิสวันตชาดกที่ ๙ เป็นเรื่องของท่านพระสารีบุตร ที่แสดงความเป็นผู้ตรงต่อความตั้งใจคือสัจจะของท่าน อันเนื่องมาจากความสลดใจของท่านเกี่ยวกับอาหาร
ข้อความมีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภท่าน พระสารีบุตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ธิรัตถุ ตัง วิสัง วันตัง ดังนี้
ได้ยินว่า ในคราวที่ท่านพระสารีบุตรเถระขบฉันของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้ง พวกมนุษย์พากันนำของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งเป็นจำนวนมากมาสู่วิหารเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ ของที่เหลือจากที่ภิกษุสงฆ์รับเอาไว้ยังมีมาก แต่พวกมนุษย์พากันพูดว่า พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรับไว้ เพื่อภิกษุที่ไปในบ้านด้วยเถิด
คือ ภิกษุบางรูปไม่อยู่ในที่นั้น ท่านออกไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาตบ้าง
ขณะนั้น ภิกษุหนุ่มซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของท่านพระสารีบุตรไปในบ้าน พวกภิกษุก็รับส่วนของเธอไว้ แต่ว่าเมื่อภิกษุนั้นยังไม่กลับ และเป็นเวลาสายมากแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ถวายของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งนั้นแด่ท่านพระสารีบุตร เมื่อท่านพระสารีบุตรฉันแล้ว ภิกษุหนุ่มรูปนั้นจึงได้ไปถึง
ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะภิกษุรูปนั้นว่า
ผู้มีอายุ ฉันบริโภคของเคี้ยวที่เก็บไว้เพื่อเธอหมดแล้ว
ภิกษุนั้นกล่าวว่า
ข้าแต่พระคุณเจ้า ธรรมดาของอร่อย ใครจะไม่ชอบเล่า ขอรับ
ความสลดใจเกิดขึ้นแก่พระมหาเถระเจ้า ท่านจึงอธิษฐานไว้ว่า ตั้งแต่บัดนี้ไป จักไม่ฉันของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้ง
ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาเหตุการณ์ในครั้งนั้น ถ้าท่านเป็นภิกษุรูปนั้นท่านจะรู้สึกอย่างไร และจะกล่าวคำอย่างนั้นกับท่านพระสารีบุตรไหม หรือท่านจะรู้สึกอย่างไร แม้ท่านไม่ใช่ภิกษุรูปนั้น แต่ได้ยินภิกษุรูปนั้นกล่าวกับท่านพระสารีบุตรอย่างนั้น ซึ่งแสดงถึงสภาพของจิตที่ขาดความเคารพ เป็นจิตที่ประกอบด้วยอกุศลธรรม จึงสามารถกล่าวคำอย่างนั้นต่อท่านพระสารีบุตรได้ และเมื่อท่านพระสารีบุตรได้ยิน ท่านก็รู้ซึ้งถึงสภาพของอกุศลจิตของคนที่กล่าวคำอย่างนั้น ทำให้ท่านเกิดความสลดใจ และไม่อยากให้บุคคลที่ยังมีกิเลสมากอย่างนั้นเกิดอกุศลต่อๆ ไปอีก ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงอธิษฐานไม่ฉันของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้ง
ข่าวว่า ตั้งแต่บัดนั้น ท่านพระสารีบุตรเถระเจ้าไม่เคยฉันอาหารที่ชื่อว่า ของเคี้ยวทำด้วยแป้งเลย ความที่ท่านไม่ฉันของเคี้ยวทำด้วยแป้งเกิดแพร่หลายไปในหมู่ภิกษุ ภิกษุทั้งหลายนั่งในธรรมสภาพูดกันถึงเรื่องนั้น
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสถามว่า
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรเล่า
เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรแม้จะเสียชีวิต ก็ไม่ยอมรับสิ่งที่ตนทิ้งเสียครั้งหนึ่งอีกทีเดียว
แล้วได้ตรัสเรื่องในอดีตชาติของท่านพระสารีบุตร
ท่านได้สะสมที่จะเป็นผู้มีสัจจบารมี ตรงกับความตั้งใจมั่นของท่าน
เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าพิจารณาโดยรอบคอบจริงๆ กับผู้ที่สามารถพิจารณารู้ว่าตนเองมีอกุศลมากเท่าไร จะทำให้ไม่ประมาทจริงๆ เพราะว่าเพียงประมาทนิดเดียว การพิจารณาสภาพธรรมไม่ตรงตามเหตุและผล จะเป็นเหตุให้ห่างไกลต่อการเป็นผู้ตรงต่อข้อปฏิบัติที่ถูกต้องในการที่จะขัดเกลากิเลส
พูดถึงเรื่องของความอดทนมามาก ทั้งเรื่องในพระไตรปิฎกและในอรรถกถาชาดกต่างๆ ซึ่งจะต้องถึงที่สุดของความอดทน คือ การอบรมเจริญบารมีทั้งหลาย แม้ขันติบารมี ก็จะถึงความสมบูรณ์ ถึงที่สุดของการอบรมนั้นได้ สำหรับ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลาย ก็ได้บรรลุความเป็นพระอริยบุคคล ทั้งขั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์
นี่คือผลของการอบรมสะสมขันติบารมี
ถ้าท่านผู้ฟังมีขันติเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย พร้อมทั้ง การฟังธรรม การอบรมเจริญปัญญา และบารมีประการอื่นๆ ย่อมจะถึงที่สุดวันหนึ่ง ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะว่าเหตุทั้งหลายย่อมนำมาซึ่งผล เมื่อเหตุมีคือบารมีทั้งหลายอบรมเจริญพร้อม การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ย่อมมีได้
สำหรับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และได้ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว มีพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ นอกจากพระธรรมที่เป็นศาสดาแล้ว ในโลกนี้ยังมีสถานที่ ซึ่งเป็นสังเวชนียสถาน เป็นสถานที่ที่พุทธบริษัทจะระลึกถึงพระผู้มีพระภาคด้วยจิต ที่เป็นกุศล เพราะว่าได้เข้าใจธรรม คือ ธรรมทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป
ทุกคนต้องจากโลกนี้ไป และบางท่านที่บางขณะระลึกถึงความตาย ก็อาจจะระลึกว่า จะไม่เห็นโลกนี้อีกต่อไป เมื่อตายแล้วจะไม่เห็นโลกนี้อีก โลกนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในแต่ละวันๆ ผู้นั้นไม่สามารถรู้เห็นอีกต่อไปได้ เมื่อจากโลกนี้ ไปแล้วก็ไปสู่โลกอื่น เป็นบุคคลอื่นทันที
ถ้าจะกล่าวถึงโลกที่เราอยู่ในขณะนี้ว่า มีอะไรบ้างที่ควรค่าแก่การเห็น เพราะว่าการเห็น ไม่ว่าจะเกิดในที่หนึ่งที่ใด ในภพภูมิใด จะเป็นในสวรรค์ หรือ ในมนุษย์ การเห็นก็เหมือนกัน คือ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา การเห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส ทุกภพทุกชาติเหมือนกัน แต่สำหรับผู้ที่เกิดในโลกมนุษย์ในยุคนี้ ในกัปนี้ ในสมัยนี้ มีสถานที่ที่จะทำให้เมื่อเห็นแล้วเกิดกุศล ระลึกถึงพระคุณ ซึ่งโลกอื่นแม้สวรรค์ก็ไม่มี คือ สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ได้แก่ สถานที่ประสูติของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สถานที่ทรงตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สถานที่ทรงแสดงพระปฐมเทศนา และสถานที่ ทรงดับขันธปรินิพพาน ซึ่งในสวรรค์หรือในพรหมโลกก็ไม่มีสถานที่เหล่านี้ แต่ต้อง เป็นผู้ที่มีปัญญา จึงจะเห็นความเป็นสังเวชนิยะของสถานที่เหล่านั้นได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญา แม้จะยืนอยู่ที่ประตูของพระวิหารเชตวัน ก็ไม่สามารถรู้คุณของสถานที่ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงประทับเป็นเวลานาน และทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้พุทธบริษัทได้พ้นทุกข์ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ก็ไม่ควรที่จะเพียงไปเห็นเท่านั้น แต่ควรมีกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่จะพิจารณาเพื่อเห็นความเป็น สังเวชนิยะของสถานที่เหล่านั้น เช่น สถานที่ประสูติ
การเกิดเป็นของธรรมดา เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น และทุกคนก็ได้เกิดมาแล้ว นานแล้วด้วยในแสนโกฏิกัปป์ และเมื่อตายแล้ว ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้น การเกิดโดยทั่วๆ ไป เป็นของธรรมดาที่ตายแล้วต้องเกิดอีก แต่สำหรับ ผู้ที่เกิดแล้วและเป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ย่อมไม่ใช่ของธรรมดา กว่าที่ชีวิตจะอบรม เจริญปัญญาบารมี เกิดแล้วเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์มานานแสนนานจนถึงการเกิด ครั้งสุดท้าย เพราะฉะนั้น ที่เกิดครั้งสุดท้ายย่อมเป็นที่ที่ควรจะได้น้อมระลึกถึงพระคุณที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป และสถานที่นั้น เป็นที่เกิดซึ่งจะไม่มีการเกิดอีกต่อไป ที่ประสูติครั้งสุดท้าย คือ ลุมพินีวัน ท่านที่จะได้ไปนมัสการที่นั่น ก็จะได้น้อมระลึกถึงพระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญ ๔ อสงไขยแสนกัป
อีกที่หนึ่ง คือ สถานที่ที่ทรงตรัสรู้ในอดีต คือ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ถ้าท่านผู้ฟังจะน้อมระลึกถึงสถานที่ที่ทรงตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา พระโพธิสัตว์ ผู้ทรงเป็นปุถุชนเพราะว่ากิเลสทั้งหลายยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เมื่อได้ย่างพระบาท ไปประทับอยู่ ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในวันนั้นทรงสามารถสิ้นสุดความเป็นปุถุชนดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าได้ไปถึงสถานที่นั้นแล้ว ถ้าน้อมระลึกถึงรอยเท้าในอดีต จะมากมายสัก แค่ไหน ก่อนที่พระองค์จะประทับนั่ง และเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว หลังจากที่ได้ทรง แสดงธรรมจนกระทั่งปรินิพพานแล้ว ผู้ที่ได้ไปนมัสการยังสังเวชนียสถาน คือ สถานที่ตรัสรู้ ทุกก้าวย่างให้ทราบว่า มีรอยเท้าของผู้อื่นซึ่งได้ผ่านไปนมัสการในอดีต จนถึงปัจจุบันนับไม่ถ้วน และยังจะต่อๆ ไปอีก เพราะว่าเป็นสถานที่ซึ่งไม่ใช่ที่ธรรมดา แต่เป็นที่ที่ทำให้บุคคลผู้หนึ่งซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้บำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป สิ้นสภาพความเป็นปุถุชน และได้ตรัสรู้เป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
อีกแห่งหนึ่ง คือ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนาที่สารนาถ เป็นการที่ ทรงถึงพร้อมด้วยสัตตูปการะ คือ การอุปการะแก่สัตว์โลก เป็นการเทศนาครั้งแรก
และสถานที่ดับขันธปรินิพพานที่กุสินารา ณ ที่นั้นทุกท่านคงจะระลึกถึงที่ ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับขันธ์แล้วจะไม่มีการเกิดอีกเลย ทุกคนที่เกิดแล้วก็ตาย เกิดแล้วก็ตาย ที่ตายของแต่ละคนย่อมเป็นของธรรมดา เพราะเมื่อตายแล้วก็เกิดอีก แต่ที่ดับขันธปรินิพพาน คือ ที่ที่จะไม่เกิดอีกเลยของ ผู้ที่ได้ทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป
สำหรับประเทศอินเดีย ถ้าได้ท่องเที่ยวไปสถานที่ต่างๆ ก็จะได้น้อมระลึกถึงแดนของพระอรหันต์และพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระอริยะทั้งหลาย เป็นที่ที่จะทำให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยได้ทุกแห่ง
สำหรับพระบรมสารีริกธาตุซึ่งทุกท่านจะมีโอกาสได้นมัสการ ต่อไปก็จะไม่เหลืออะไรเลย
การที่มีโอกาสได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ในขณะนั้นย่อมเป็นอนุสสติ ที่จะให้น้อมระลึกถึงสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์ เมื่อพระบรมสารีริกธาตุ ทุกองค์ยังรวมกัน ประกอบด้วยเนื้อ เอ็น เลือด และพระอวัยวะส่วนต่างๆ ซึ่งในกาลที่อวัยวะและพระบรมสารีริกธาตุยังรวมกันเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลกเป็นอันมาก ไม่มีผู้ใดเสมอ
การระลึกถึงพุทธกิจของพระองค์นั้น จะทำให้เป็นพุทธานุสสติที่จะเห็น การบำเพ็ญพระบารมีก่อนที่จะทรงตรัสรู้ และหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรง พระมหากรุณาแสดงธรรมเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์เป็นอันมาก เพราะฉะนั้น การได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ก็แล้วแต่ว่าจิตของใครจะน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณในสมัยใด
ขอกล่าวถึงพุทธกิจอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านผู้ฟังน้อมระลึกถึงในสมัยที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน
ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อรรถกถาอุรุควรรค อรรถกถา กสิภารทวาชสูตร มีข้อความว่า
ปุเรภัตกิจ
คือ กิจก่อนภัต
กิจของมนุษย์ในโลกนี้เหมือนกันทั้งนั้น ไม่มีต่างกันเลย แต่ผู้ที่ยังมีกิเลสก็มีกิจแบบมีกิเลส ส่วนผู้ที่หมดกิเลสก็ต้องมีกิจอย่างผู้ที่หมดกิเลส
ในตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงกระทำการบริกรรมพระวรกาย มีการล้าง พระพักตร์เป็นต้น เพื่อทรงอนุเคราะห์ผู้อุปัฏฐากและเพื่อให้พระวรกายผาสุก
เกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ก็ต้องบริหารร่างกาย
พระองค์ทรงพักอยู่บนอาสนะอันสงัดจนถึงเวลาเสด็จบิณฑบาต ซึ่งบางครั้งเสด็จพระองค์เดียว บางครั้งมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม เมื่อมีผู้อาราธนาให้รับภัตตาหาร ในเรือน ก็เสด็จไปยังเรือนนั้น
เมื่อกระทำภัตกิจแล้ว ทรงตรวจดูอุปนิสัยของบริษัทนั้นๆ แล้วทรงแสดง พระธรรมโดยประการที่บางพวกตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ บางพวกตั้งอยู่ในศีล ๕ บางพวกตั้งอยู่ในโสตาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล บางพวกบวช และภายหลังตั้งอยู่ในอรหัตตผล ครั้นทรงอนุเคราะห์อย่างนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จไปสู่พระวิหาร
ในตอนเช้าก็เป็นพุทธกิจที่ได้ทรงกระทำเป็นประจำ
เมื่อเสด็จไปสู่ที่ประทับที่พระวิหารแล้ว ทรงรอพระภิกษุทั้งหลายกระทำ ภัตกิจเสร็จ แล้วเสด็จไปยังพระคันธกุฎี ทรงล้างพระบาท ประทับยืน ณ แท่นประทับหน้ามุขพระคันธกุฎี ทรงโอวาทภิกษุที่มาแวดล้อม ณ ที่นั้นว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้ามีได้ยาก การเกิดเป็นมนุษย์มีได้ยาก การถึงพร้อมด้วยศรัทธามีได้ยาก การบรรพชามีได้ยาก การฟังธรรมมีได้ยากในโลก
จากนั้นภิกษุทั้งหลายถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ทูลถามกัมมัฏฐาน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามควรแก่อุปนิสัยของภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเหล่านั้นกลับไปสู่ที่พักแล้ว พระองค์เสด็จเข้าไปสู่พระคันธกุฎี ถ้าทรงพระประสงค์ ทรงมีพระสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์ชั่วครู่โดยปรัศว์เบื้องขวา ครั้นมีพระวรกายสำราญแล้ว เสด็จลุกขึ้นทรงตรวจดูโลก
นี่คือพุทธกิจในตอนเช้า ตอนกลางวัน และตอนกลางคืน จะแบ่งตอนกลางวันออกเป็น ๓ ยาม และตอนกลางคืน ๓ ยาม ยามละ ๔ ชั่วโมง
จะเห็นได้ว่า ทรงพระมหากรุณาที่แสดงพระธรรม แม้ว่าเสด็จไปเสวยภัตตาหาร กระทำภัตกิจในเรือนซึ่งมีผู้อาราธนา เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จก็ตรวจดูอุปนิสัย ของบริษัทในที่นั้นแล้วทรงแสดงธรรม และเมื่อกลับมาถึงพระวิหารแล้ว ก็ยังทรงรอให้พระภิกษุซึ่งฉันที่โรงกลมทำภัตกิจเสร็จ เมื่อเสด็จไปยังพระคันธกุฎี ก็ไม่ได้เข้าสู่ พระคันธกุฎีทีเดียว แต่ยังประทับยืนทรงโอวาทและให้โอกาสแก่ภิกษุทั้งหลายทูลถามปัญหาต่างๆ ภายหลังจึงได้เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี
ชนทั้งหลายในคามนิคมนั้น ในปุเรภัต ถวายทาน ในปัจฉาภัต ถือเอาดอกไม้และของหอมเป็นต้นไปสู่พระวิหาร ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม อันสมควรแก่กาล สมควรแก่ประมาณ ครั้นทรงรู้กาลแล้ว ทรงส่งบริษัทกลับ ต่อจากนั้นถ้ามีพระประสงค์จะชำระพระวรกาย ก็เสด็จลุกจากพระพุทธอาสน์ เสด็จไปสู่โอกาสที่มีผู้อุปัฏฐากตระเตรียมน้ำไว้ เสด็จเข้าสู่โรงอาบน้ำ ทรงชำระ พระวรกายแล้ว เสด็จไปในเรือนบริเวณพระคันธกุฎี ประทับนั่งพระองค์เดียวเท่านั้น ทรงหลีกเร้นชั่วครู่
ก็เหมือนชีวิตของทุกคนในโลกนี้ ตอนบ่ายๆ หลังจากที่ทรงแสดงธรรมกับผู้ที่ ไปเฝ้า เช่น ชาวบ้านในเขตที่พระองค์ประทับ ซึ่งตอนเช้าท่านเหล่านั้นได้ถวายทาน ตอนบ่ายก็มาเฝ้าเพื่อจะฟังพระธรรม และเมื่อฟังพระธรรมสมควรแก่เวลาแล้ว กลับไปแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงชำระพระวรกาย และเสด็จเข้าสู่บริเวณพระคันธกุฎี ยังไม่ได้เข้าไปในพระคันธกุฎี ประทับนั่งพระองค์เดียวเท่านั้น ทรงหลีกเร้นชั่วครู่
เป็นชีวิตที่มีประโยชน์มาก เมื่อกระดูกทุกชิ้นทุกองค์ยังรวมกันอยู่พร้อมทั้ง พระอวัยวะ ก็ได้กระทำพุทธกิจต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สัตว์โลก
ลำดับนั้น ภิกษุมาจากที่นั้นๆ มาสู่ที่ประทับนั่ง บางพวกทูลถามปัญหา บางพวกทูลขอกัมมัฏฐาน บางพวกทูลขอฟังธรรม พระผู้มีพระภาคทรงยังความประสงค์ของภิกษุเหล่านั้นให้สำเร็จจนถึงปฐมยาม
คือ ตั้งแต่ ๖ โมงเย็น ถึง ๔ ทุ่ม
ในมัชฌิมยาม เทวดาในหมื่นโลกธาตุทั้งหลาย เมื่อได้โอกาสก็เข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาค ทูลถามปัญหา จนถึงปัจฉิมยาม
คนอื่นจะทำได้อย่างนี้ไหม ทั้งวัน
ต่อจากนั้นทรงกระทำปัจฉิมยามให้เป็น ๔ ส่วน
ส่วนที่ ๑ ทรงจงกรม
เพราะว่าประทับนั่งมานานมากตลอดทั้งวัน
ส่วนที่ ๒ เสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงมีพระสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์โดยปรัศว์เบื้องขวา
เพียงชั่วโมงเดียว เพราะว่าปัจฉิมยามแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน
ส่วนที่ ๓ ทรงยังเวลาให้ล่วงไปด้วยผลสมาบัติ
ส่วนที่ ๔ ทรงเข้าพระมหากรุณาสมาบัติ ตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อเสด็จไปโปรดผู้มีอุปนิสัยควรแก่การบรรลุมรรคผล
นี่เป็นปัจฉาภัตกิจระหว่างที่ยังไม่ปรินิพพาน จะเห็นได้ว่า ชีวิตของพระองค์ เป็นชีวิตที่เกื้อกูลต่อสัตว์โลก และสำหรับชีวิตของทุกท่านในขณะนี้ซึ่งกระดูกทุกชิ้น ยังรวมกัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อ ยังไม่กระจัดกระจาย ก็ควรที่จะทำประโยชน์ ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้มากที่สุดที่จะมากได้ เพื่อเป็นการประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้
บางท่านกลัวว่าจะนอนน้อยไป ใช่ไหม แต่ตามความเป็นจริง ถ้าตื่น มีโอกาสที่ปัญญาจะเจริญได้ ถ้าสัญญาความจำมั่นคงในเรื่องนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมและอบรมเจริญปัญญา ได้มากกว่าในขณะที่จะนอนหลับ
เพราะฉะนั้น บางวันอาจจะง่วงมากและหลับมาก และบางวันอาจจะนอน ไม่หลับ แต่ถ้าใครนอนไม่หลับ อย่าเดือดร้อน ถือว่าเป็นโอกาสพิเศษซึ่งเป็นกุศล ดีกว่าเป็นภวังคจิต เพราะขณะที่นอนหลับสนิทไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญญาไม่สามารถเจริญที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 01
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 02
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 03
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 04
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 05
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 06
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 07
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 08
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 09
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 10
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 11
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 12
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 13
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 14
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 15
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 16
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 17
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 18
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 19
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 20
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 21
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 22
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 23
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 24
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 25
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 26
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 27
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 28
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 29
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 30
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 31
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 32
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 33
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 34
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 35
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 36
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 37
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 38
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 39
- บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 40