จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 113
แต่ถ้ามีอกุศลเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น อิสสาเจตสิก หรือมัจฉริยเจตสิก หรือกุกกุจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะเพิ่มขึ้นอีก ๑ ดวง เป็น ๑๘ ดวง
สำหรับสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑ เจตสิกเหล่านี้ต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต มหัคคตจิต หรือโลกุตตรจิต จะต้องมี สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตดวงที่ ๑ ต้อง มีสัพพจิตตสาธารณเจตสิกทั้ง ๗ เกิดร่วมด้วย
สำหรับปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง คือ เจตสิกซึ่งเว้นไม่เกิดกับจิตบางดวง ตามควร ได้แก่ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ ฉันทเจตสิก ๑
ปกิณณกเจตสิกทั้งหมดมี ๖ ดวง แต่เกิดกับโทสมูลจิตได้เพียง ๕ ดวงเท่านั้น คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ และฉันทเจตสิก ๑ เว้นปีติ เพราะปีติต้องเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา จะไม่เกิดร่วมกับโทมนัสเวทนาเลย
อัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกที่สามารถเกิดกับจิตได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นชาติกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ไม่ว่าจะเป็นภูมิใดก็ตาม อัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดมี ๑๓ ดวง เว้นไม่เกิดกับโทสมูลจิตเพียง ๑ ดวง คือ ปีติเจตสิก เพราะฉะนั้น อัญญสมานาเจตสิกจึงเกิดกับโทสมูลจิตได้ ๑๒ ดวง
อกุศลสาธารณะเจตสิก ๔ คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑ ต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็น โลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต
เพราะฉะนั้น โทสมูลจิต มีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๒ ดวง และมี อกุศลสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง เป็น ๑๖ ดวง นอกจากนั้นยังมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ โทสเจตสิก ๑ ดวง รวมเป็น ๑๗ ดวง ถ้าอิสสา หรือมัจฉริยะ หรือกุกกุจจะไม่เกิดร่วมด้วย
นี่เป็นขณะหนึ่งๆ ซึ่งโทมนัสเวทนาเกิดร่วมกับโทสมูลจิต
ถ้าเป็นโทสมูลจิตดวงที่ ๒ ที่เป็นสสังขาริก ก็มีถีนเจตสิกและมิทธเจตสิก เกิดร่วมอีก รวมเป็น ๑๙ ดวง หรือ ๒๐ ดวง ถ้ามีอิสสา หรือมัจฉริยะ หรือกุกกุจจะเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่โทสมูลจิตที่เป็นสสังขาริกเกิดขึ้น จะต้องมีถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ ไม่ต้องมีถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้แม้เป็นสสังขาริก
ถ. โสกะ ปริเทวะ อุปายาสะ เป็นอกุศลเจตสิกดวงไหนบ้าง
ท่านอาจารย์ ที่กล่าวถึงเมื่อกี้ คือ โทสมูลจิต ต้องมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๒ ดวง เว้นปีติ และต้องมีอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง เกิดร่วมด้วย รวมเป็น ๑๖ ดวง และมีอกุศลเจตสิก คือ โทสเจตสิกอีก ๑ ดวง เกิดร่วมด้วย จึงเป็น ๑๗ ดวง ถ้าไม่มีอิสสา หรือมัจฉริยะ หรือกุกกุจจะ ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตได้เท่านั้น
ถ. ยังไม่เข้าใจว่า โสกะ ปริเทวะ อุปยาสะนั้น เป็นอกุศลเจตสิกดวงไหน
ท่านอาจารย์ ดวงเดียวหรือ
ถ. ดวงไหนบ้าง
ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงความรู้สึกเสียใจ ขณะนั้นเป็นโทมนัสเวทนา เป็น เวทนาเจตสิก ถ้ากล่าวถึงความไม่สบายใจในขณะที่ร้องไห้คร่ำครวญ ทุกข์โศก ไม่มีใครรู้สึกสบายใจเลยในขณะนั้น ก็ต้องเป็นโทสเจตสิก
ถ. ในส่วนของอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ก็มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีโทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ เรียนถามว่า โสกะ ปริเทวะ จะเป็นดวงไหน
ท่านอาจารย์ ไม่เป็นอิสสา ได้ไหม ไม่เป็นมัจฉริยะ ได้ไหม
สำหรับจิตที่เป็นอกุศล ต้องประกอบด้วยอกุศลเจตสิก แต่ไม่ได้หมายความว่า มีแต่เฉพาะอกุศลเจตสิกเท่านั้น ต้องมีอัญญสมานาเจตสิกด้วยเป็นพื้น ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง
สำหรับอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวงนั้น ได้กล่าวถึงแล้ว ๙ ดวง ในเรื่องของโลภมูลจิต ได้แก่ อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑ และโลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ มานะเจตสิก ๑ ถีนเจตสิก ๑ มิทธเจตสิก ๑ รวมเป็น ๙ เจตสิก
อกุศลเจตสิกทั้งหมดในสังสารวัฏฏ์ จะเป็นกี่ภพ กี่ชาติ กี่ภูมิ ที่ไหนก็ตาม จะมีอกุศลเจตสิกเพียง ๑๔ ดวงเท่านั้น ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว ๙ เจตสิก ในเรื่องของ โลภมูลจิต เหลืออีกเพียง ๕ ดวงเท่านั้น ซึ่งก็เกิดกับโทสมูลจิต ๔ ดวง และเกิดกับ โมหมูลจิต ๑ ดวง
สำหรับอกุศลเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต เป็นโทจตุกะ ได้แก่ โทสเจตสิก ๑ อิสสาเจตสิก ๑ มัจฉริยเจตสิก ๑ และกุกกุจจเจตสิก ๑ เป็นอกุศลเจตสิกซึ่งจะไม่เกิดกับโลภมูลจิตและโมหมูลจิต จะเกิดกับโทสมูลจิตเท่านั้น
สำหรับอกุศลเจตสิกอีก ๑ ดวงนั้น ไม่เกิดกับโลภมูลจิตและโทสมูลจิต แต่เกิดกับโมหมูลจิต คือ วิจิกิจฉาเจตสิก
เพราะฉะนั้น เวลาที่โศกเศร้าเสียใจจะต้องพิจารณาว่า ในขณะนั้นมี โทสเจตสิกเกิดแน่นอน แต่ว่ามีอิสสาเจตสิกเกิดไหม มีมัจฉริยเจตสิกเกิดไหม มีกุกกุจจเจตสิกเกิดไหม ซึ่งก็จะต้องทราบถึงอกุศลเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต แต่ที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ โทสเจตสิก ที่จะกล่าวต่อไป คือ อิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก และกุกกุจจเจตสิก
อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ พระบาลีนิทเทสอิสสาสังโยชน์ มีข้อความว่า
อิสสาสังโยชน์เป็นไฉน
ภาษาบาลีใช้คำว่า อิสสา แต่ภาษาไทยใช้คำว่า ริษยา ความริษยา คือลักษณะของอิสสาเจตสิก ได้แก่
การริษยา กิริยาที่ริษยา ความริษยา การเกียดกัน กิริยาที่เกียดกัน ความเกียดกันในลาภสักการะ การทำความเคารพ การนับถือ การไหว้ การบูชาของคนอื่นอันใด นี้เรียกว่า อิสสาสังโยชน์ ซึ่งมีการขึ้งเคียดสมบัติของคนอื่นเป็นลักษณะว่า จะประโยชน์อะไรด้วยสิ่งนี้ แก่คนเหล่านี้ในลาภเป็นต้นของคนเหล่าอื่นอันใด
ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ท่านไม่เคยริษยาใครเลย แต่ถ้าได้ฟังลักษณะของอิสสา และพิจารณาจิตใจของตัวเองจริงๆ สติอาจจะระลึกได้บ้างว่า ขณะไหนเป็นความริษยา อาจจะไม่รุนแรง เพียงนิดเดียวที่เกิดขึ้นก็ทำให้เห็นว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอิสสาเจตสิก
ความอิสสาหรือริษยาจะเกิดได้เมื่อมีลาภเป็นต้นของคนอื่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะว่าลักษณะของความริษยานั้น เป็นการขึ้งเคียดสมบัติของคนอื่น ไม่พอใจที่คนอื่นมีสมบัติอย่างนั้นๆ
แสดงให้เห็นถึงอกุศลที่มีมากมายหลายประเภท ทั้งโลภะ มานะ ความสำคัญตน จนกระทั่งความสำคัญตนมีมากจนไม่อยากที่จะให้คนอื่นดีกว่า นั่นคือลักษณะของความริษยา และขณะใดที่ความริษยาเกิดขึ้น จะสังเกตได้ว่าขณะนั้นสบายไม่ใจ
ขณะใดที่ไม่สบายใจ ขณะนั้นเป็นลักษณะหนึ่งของโทสมูลจิต และถ้าขณะนั้นมีสมบัติของคนอื่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ขณะนั้นเป็นลักษณะของความอิสสา
เวลาที่เห็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูงได้ดีมีสุข รู้สึกอย่างไร ยินดีด้วยหรือเปล่า หรือว่าเฉยๆ หรือไม่อยากให้เขาได้
บางครั้งความริษยาก็ถึงกับคิดว่า เมื่อไรทรัพย์สมบัติของคนอื่นจึงจะหมดไป ไม่มีความสุขเลยในขณะที่คนอื่นได้สมบัติต่างๆ นั่นเป็นลักษณะของความริษยา เพราะฉะนั้น พิจารณาได้ในขณะที่ความโศกความเสียใจเกิดขึ้นว่า ขณะนั้นมี อิสสาเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า
ในอรรถกถาอธิบายความหมายของคำว่า ลาภสักการะ เป็นต้น มีข้อความว่า
คำว่า ลาภ ได้แก่ การได้เฉพาะซึ่งปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น
นี่สำหรับบรรพชิต แสดงว่า แม้บรรพชิตเอง ซึ่งยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ที่ดับอิสสาและมัจฉริยะได้แล้ว ก็อาจจะมีการริษยาได้เวลาที่บุคคลอื่นได้ลาภ มีจีวรอย่างดีเป็นต้น
คำว่า สักการะ ได้แก่ การได้เฉพาะซึ่งปัจจัยเหล่านั้นแหละที่ดี อันเขากระทำแล้ว
การได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเล็กๆ น้อยๆ จากญาติมิตรสหายเพื่อนฝูงเป็นลาภ แต่ถ้าได้สักการะ หมายความว่าสิ่งนั้นอันเขากระทำดีแล้วจึงได้ให้ นั่นคือสักการะ
คำว่า การทำความเคารพ ได้แก่ กิริยาที่เคารพ คือ การกระทำให้เป็นภาระ
การเคารพ คือ เมื่อเคารพบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็อาจจะช่วยเหลือดูแลเกื้อกูลบุคคลนั้นด้วยความเคารพ เป็นการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นการต้อนรับ หาน้ำ หรือว่าที่นั่ง ความสะดวกต่างๆ ให้ นั่นคือกิริยาที่เคารพ
คำว่า การนับถือ ได้แก่ การกระทำให้เป็นที่รักด้วยใจ
ถ้านับถือใคร ตั้งบุคคลนั้นไว้เป็นที่รัก หมายความว่านับถือจริงๆ ไม่เป็นที่ชัง ไม่เป็นที่ดูหมิ่นด้วยประการใดๆ นั่นจึงเป็นการนับถือ
คำว่า การไหว้ ได้แก่ การไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์
คำว่า การบูชา ได้แก่ การบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น
การบูชาไม่เหมือนกับลาภ คือ ลาภเป็นเครื่องใช้ที่จะบริโภคใช้สอยต่างๆ ได้ แต่ดอกไม้ของหอมที่นำมาบูชาพวกนี้ ใช้สอยอะไรไม่ได้
ที่ชื่อว่าการริษยา เกี่ยวกับการเกียดกัน อาการที่เกียดกัน ชื่อว่ากิริยาที่ริษยา คำว่าเกียดกันเป็นต้น เป็นไวพจน์ของการริษยา ก็ลักษณะขึ้งเคียดของริษยานี้
เวลาที่กล่าวถึงริษยาจะมีคำว่า ความขึ้งเคียด ลักษณะที่ขึ้งเคียด ซึ่งหมายความถึงความไม่เป็นสุข ความไม่พอใจเวลาที่คนอื่นได้ดีมีสุข เช่น ได้ลาภ เป็นต้น
ก็ลักษณะขึ้งเคียดของริษยานี้ บัณฑิตพึงแสดงโดยคฤหัสถ์บ้าง โดยบรรพชิตบ้าง จริงอยู่ คฤหัสถ์บางคนอาศัยหน้าที่การงานที่ชายพึงทำของตนด้วยอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอาชีพทั้งหลายมีการทำนาและการค้าขายเป็นต้น ย่อมได้ ยานบ้าง พาหนะบ้าง รัตนะบ้างที่ดีๆ อีกคนหนึ่งไม่มีความต้องการให้เขาได้ลาภ ย่อมไม่ยินดีด้วยลาภนั้น คิดแต่ว่า เมื่อไรหนอเจ้าคนนี้จึงจะเสื่อมจากสมบัตินี้ เป็นคนตกยากเที่ยวไป เมื่อเขาเสื่อมจากสมบัตินั้นด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมชอบใจ
นี่คือลักษณะอาการของการริษยา ซึ่งจะต้องระลึกถึงสภาพจิตของตนเองว่า มีบ้างไหม กับญาติ กับมิตรสหาย กับคนที่ร่วมงาน
สำหรับบรรพชิต
เวลาที่เห็นบรรพชิตรูปอื่นได้ลาภ เกิดขึ้นเพราะอาศัยการศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น ก็ตาม ก็คิดว่า เมื่อไรหนอท่านรูปนี้จะเสื่อมจากลาภเป็นต้น เวลาที่เห็นบรรพชิตรูปนั้นเสื่อมแล้วด้วยเหตุอย่างหนึ่ง ย่อมชอบใจ พึงทราบว่า ริษยามีลักษณะขึ้งเคียดสมบัติของคนอื่นอย่างนี้
เวลาที่เห็นคนอื่นริษยาก็รู้ ใช่ไหม บางคนก็กล่าวว่า รู้ว่าใครกำลังริษยา แต่เวลาที่ตนเองริษยาจะรู้สึกบ้างไหมว่า ขณะนั้นเป็นความริษยาแล้ว
ถ. ถ้ารำพึงกับตนเองว่า เมื่อไรหนอจะดีอย่างเขาบ้าง เป็นการริษยาไหม
ท่านอาจารย์ ริษยา ต้องเวลาที่เห็นคนอื่นได้ดีมีสุข และเราไม่สบายใจที่เขาได้ ไม่อยากให้คนนั้นได้
ถ. เรารำพึงว่า เมื่อไรเราจะได้อย่างเขา เป็นอิสสาไหม
ท่านอาจารย์ เมื่อไรได้อย่างเขา เป็นการคิดถึงตัวเอง ถ้าเขาได้ก็ดีใจด้วยที่เขาได้ เป็นเรื่องของตัวเองไม่ใช่ริษยา ถ้าเป็นเรื่องของคนอื่น สมบัติของคนอื่น และ ไม่อยากให้คนอื่นได้อย่างนั้น จึงเป็นริษยา
ถ. เพราะมีโลภะ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เวลาที่รักตัวเองมาก ไม่อยากแม้แต่จะให้คนอื่นได้ดี เพราะเกรงว่า คนอื่นจะได้ดีกว่า นั่นคือลักษณะของความริษยา อยากให้ตัวเองดีที่สุดอยู่คนเดียว และเวลาที่คนอื่นดีขึ้นก็ไม่พอใจ ขณะนั้นเป็นความริษยา
เพราะฉะนั้น จะรู้ตัวเองได้ว่ามีความริษยาหรือไม่ ก็เวลาที่เห็นคนอื่นได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดสังเกตจิตใจว่า ขณะนั้นรู้สึกอย่างไร
ถ. ถ้าเราอยากจะดีอย่างเขาบ้าง จะเป็นผลเสียไหม
ท่านอาจารย์ ไม่เป็นผลเสีย และไม่ใช่ริษยา ถ้าอยากเป็นคนดี จะเสียได้อย่างไร ถ้าจะได้ลาภ ลาภนั้นควรจะมาจากความดี เพราะฉะนั้น ถ้าอยากดี และอยากได้ผลของความดี ขณะนั้นไม่ใช่ริษยา
ถ. การริษยาขึ้งเคียด ใจคิดวูบขึ้นมาก็อยากจะกำจัด ก็พยายามคิดถึง วิถีจิตที่เกิดขึ้น ๓ วาระ คือ มโนทวาราวัชชนจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ คิดทันไหม
ถ. กราบเรียนถาม เพื่อไปฝึกหัด
ท่านอาจารย์ ที่จริง ก่อนที่จะละกิเลสอื่นใดทั้งหมดทั้งสิ้น ต้องละการยึดถือ สภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลก่อน ถ้ายังมีความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่ ก็ยังมีความริษยาได้ และริษยาต้องเกิดกับโทสมูลจิต เพราะว่าเป็นสภาพที่ไม่สบายใจ ตรงกันข้ามกับลักษณะที่กำลังสนุกสนาน ร่าเริงยินดี
ถ. เมื่อเรียนธรรมแล้วก็อยากเข้าใจสิ่งที่สงสัย คือ สงสัยว่า วิถีจิต ๑๗ ขณะ เวลาที่เกิดวูบขึ้นมา วิถีจิตเกิดกี่ดวง ซึ่งอาจารย์หลายท่านบอกว่า ลัดนิ้วมือเดียวเกิดเป็นหมื่นดวงแสนดวง เพราะฉะนั้น วินาทีหนึ่งอาจเกิดเป็นพันดวง ริษยา ขึ้งเคียดวูบขึ้นมานี่ จิตเกิดกี่ดวง
ท่านอาจารย์ การรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน กับการคิดว่าเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไหนจะดีกว่ากัน
ถ. ปฏิบัติตามคำของอาจารย์อยู่แล้ว แต่เวลามาเรียนก็อยากจะรู้ว่า ๑ วินาที วิถีจิตเกิดกี่ขณะ
ท่านอาจารย์ ทำไมชอบจำนวนมากๆ แต่ประโยชน์อยู่ที่การระลึกลักษณะของ สภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่งยากที่จะแยกออกจากกันได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเลยว่าขณะนั้นกี่หมื่นกี่แสนแล้ว แต่ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และศึกษาในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
บางท่านอาจจะพอใจในจำนวน แต่ขอเรียนว่า ถ้าสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมและสามารถรู้ได้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ย่อมมีประโยชน์กว่า
เรื่องของความริษยา เป็นธรรมที่เป็นอันตรายมาก เพราะไม่สามารถแม้จะยินดีกับความสุขของคนอื่นได้ เป็นความรักตน สำคัญตนอย่างยิ่ง ซึ่งทนไม่ได้ต่อสมบัติของคนอื่น แต่น่าจะคิดว่า คนอื่นได้สมบัติ ทำไมตัวเองจะต้องเดือดร้อน ใครได้สมบัติอะไร ก็ตามบุญตามกรรมของคนนั้น เดือดร้อนทำไม แต่คนที่สะสมความริษยาก็จะเกิดสภาพธรรมที่ทนไม่ได้ต่อสมบัติของคนอื่น
ริษยาเป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต แต่เกิดกับโลภมูลจิตและโมหมูลจิตไม่ได้
สำหรับโทจตุกะ มีโทสเจตสิก ๑ อิสสาเจตสิก ๑ มัจฉริยเจตสิก ๑ และ กุกกุจจเจตสิก ๑ ถ้าริษยาหรืออิสสาเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น เจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตก็เพิ่มขึ้นอีก แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกครั้งที่โทสมูลจิตเกิดต้องมีอิสสาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
สำหรับมัจฉริยเจตสิก ได้แก่ ความตระหนี่ หรือความหวงแหน
พึงทราบความที่ความตระหนี่นั้น มีการซ่อนสมบัติของตนเป็นลักษณะบ้าง มีการถือเอาเป็นสมบัติของตนเป็นลักษณะบ้าง เกี่ยวกับความเป็นไปว่า ความอัศจรรย์นี้จงเป็นของเราเท่านั้น อย่าเป็นของคนอื่นเลย ดังนี้
นี่คือลักษณะของมัจฉริยเจตสิก ซึ่งเกิดได้เฉพาะกับโทสมูลจิตเท่านั้น เวลาที่เกิดความตระหนี่ ความหวงแหน อยากจะให้สมบัติเป็นของตนคนเดียว ไม่อยากให้สาธารณะเป็นของคนอื่นด้วยเลย ขณะนั้นสังเกตความรู้สึกว่า สบายใจไหม
เรื่องของอกุศลจิตทั้งหมดสามารถรู้ได้โดยเวทนาว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตประเภทไหน เป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นโทสมูลจิต
อย่างมัจฉริยะ ความตระหนี่ เวลาที่เกิดตระหนี่ขึ้น สบายใจไหม คิดถึงเวทนา ความรู้สึกในขณะนั้น เมื่อเป็นความไม่สบายใจ ต้องเป็นโทสมูลจิต ไม่ใช่โลภมูลจิต
ถ. เวลาไปซื้อของ คนขายบอกราคามารู้สึกว่าแพง ก็ไม่ซื้อ เดินออกมาตอนนั้นรู้สึกไม่สบายใจ เป็นมัจฉริยะหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เป็นโทสมูลจิต
ริษยามีสมบัติของคนอื่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิด แต่มัจฉริยะต้องมีสมบัติของตน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ไม่อยากให้คนอื่นเป็นอย่างนั้นบ้าง หรือว่าไม่อยากจะให้สาธารณะทั่วไปกับคนอื่น
สำหรับมัจฉริยะมี ๕ อย่าง คือ อาวาสมัจฉริยะ กุลมัจฉริยะ ลาภมัจฉริยะ วรรณมัจฉริยะ และธรรมมัจฉริยะ เพื่อเป็นเครื่องพิจารณาว่า แต่ละบุคคลมีมัจฉริยะในเรื่องใดและในขณะใด เพราะว่ามัจฉริยะย่อมเป็นไปในมัจฉริยะ ๕ นี้ คือ
๑. อาวาสมัจฉริยะ ที่ชื่อว่าที่อยู่อาศัย ได้แก่ อารามทั้งหมดบ้าง บริเวณบ้าง ห้องน้อยบ้าง ที่พักผ่อนกลางวันและที่พักผ่อนกลางคืนเป็นต้นบ้าง ผู้ที่อยู่ใน ที่อยู่อาศัยเหล่านั้น ย่อมอยู่สบาย ย่อมได้ปัจจัยทั้งหลาย ภิกษุรูปหนึ่งย่อมไม่ปรารถนาการที่ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรมาในที่อยู่อาศัยนั้น แม้มาแล้วย่อมคิดว่า ขอให้ไปเสียเร็วๆ ดังนี้ นี้ชื่อว่าอาวาสมัจฉริยะ (ตระหนี่ที่อยู่อาศัย) แต่สำหรับภิกษุผู้ไม่ปรารถนาการที่พวกก่อการทะเลาะเป็นต้นอยู่ในที่อยู่อาศัยนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นอาวาสมัจฉริยะ
ท่านผู้ฟังเคยตระหนี่ที่อยู่บ้างหรือเปล่า
ที่อยู่ แม้แต่ที่นั่ง ที่นอน ในรถประจำทางก็ได้ ที่ไหนก็ได้ที่ท่านอยู่สบาย และคนอื่นจะใช้สถานที่นั้น ท่านก็เกิดความไม่พอใจ ในขณะนั้นเป็นอาวาสมัจฉริยะ เพราะว่าในขณะนั้นยึดถือเหมือนกับว่าเป็นสมบัติของตน และเกิดการไม่สบายขึ้น ถ้าคนอื่นจะใช้สอยสิ่งซึ่งยึดถือว่าเป็นของเรา
สำหรับคฤหัสถ์ อาจจะมีความร้ายกาจถึงกับคิดว่า เราอยู่สบายอย่างนี้ ดีเลิศอย่างนี้ ไม่อยากให้คนอื่นเหมือนเรา นั่นก็เป็นลักษณะหนึ่งของอาวาสมัจฉริยะได้
ความริษยาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีเพียงเล็กน้อย บางคนมีมากถึงกับว่า แม้สมบัติที่เป็นของตนนี้ก็อย่าให้คนอื่นเสมอเหมือนตนได้ นั่นเป็นลักษณะหนึ่งของมัจฉริยะ
น่ากลัวไหมอย่างนี้ มีกำลังแรงจนกระทั่งแม้คนอื่นจะมีก็ไม่อยากจะให้เหมือนกัน หรือว่าไม่อยากให้มีเสมอเหมือนกัน เพราะถือว่านั่นเป็นส่วนหรือเป็นสมบัติของตน
พระโสดาบันดับมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย
ถ, พระโสดาบันละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส …
ท่านอาจารย์ และอิสสา มัจฉริยะด้วย โดยนัยของสังโยชน์
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 101
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 102
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 103
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 104
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 105
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 106
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 107
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 108
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 109
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 110
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 111
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 112
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 113
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 114
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 115
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 116
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 117
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 118
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 119
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 120
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 121
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 122
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 123
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 124
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 125
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 126
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 127
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 128
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 129
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 130
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 131
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 132
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 133
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 134
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 135
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 136
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 137
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 138
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 139
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 140
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 141
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 142
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 143
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 144
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 145
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 146
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1960
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1961
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1962
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1963