จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 115
ก็สังเกตจิตใจของตนเองที่เป็นพ่อค้าซึ่งเคยมีลูกค้ามากว่า รู้สึกอย่างไร
ถ้ารู้สึกมีมุทิตาจิต ก็ยินดีด้วยในลาภของคนอื่น เราได้มากแล้ว เราทำมาก่อนเขานาน และลูกค้าเราก็มั่นคง หรือต่อไปก็อาจจะมีเพิ่มขึ้นตามความสามารถของเรา สำหรับร้านอื่นเมื่อมีลูกค้ามากขึ้นก็ดี อย่าให้มีแต่เราคนเดียว
ข้อสำคัญที่สุดของมัจฉริยะ คือ ไม่มีการเอื้อเฟื้อ และทนไม่ได้จริงๆ ถ้าคนอื่นจะมีฐานะหรือมีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนตน
ถ. ลาภมัจฉริยะ เห็นคนอื่นเขาได้ ทนไม่ได้ เป็นริษยาด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ต้องพิจารณาว่า ลักษณะของริษยานั้น มีสมบัติของผู้อื่นเป็นปทัฏฐาน แต่มัจฉริยะมีสมบัติของตนเป็นปทัฏฐาน ข้อความของมัจฉริยะกับอิสสาดูคล้ายกัน ต้องเพ่งเล็งถึงปทัฏฐานที่เกิดว่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด
ถ้าคนอื่นยังไม่ได้ลาภ ยศ สักการะใดๆ ท่านอาจจะมีความรู้สึกสงสาร เพราะว่าท่านได้แล้ว ท่านมีมากแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่คนอื่นยังไม่ได้ ก็สงสาร แต่ถ้าคนนั้นเกิดได้อย่างดี ให้พิจารณาดูจิตใจว่า สงสารเหมือนที่เคย หรือไม่ค่อยจะพอใจแล้ว เขาเกิดจะดีขึ้นๆ จนกระทั่งอาจจะดีกว่า ซึ่งท่านเคยดีเป็นที่นิยมนับถืออยู่ เป็นผู้ที่ได้ลาภสักการะมาก เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาว่า มีสมบัติของตนเอง หรือว่ามีสมบัติของคนอื่นเป็นปทัฏฐาน เพราะว่าลักษณะคล้ายกันมาก
คนที่ยังมีอิสสาและมัจฉริยะ คือ ผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้วดับทั้งอิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก และกุกกุจจเจตสิก แต่ยังมีโทสเจตสิกเกิด ห้ามไม่ได้ที่จะไม่พอใจเมื่อประสบกับอนิฏฐารมณ์ แต่ไม่มีกิเลสบริวารซึ่งเป็นอิสสา เป็นมัจฉริยะ หรือเป็นกุกกุจจะ
ขอกล่าวถึงลักษณะของอิสสาและมัจฉริยะเพื่อเทียบเคียงกัน
ที่ชื่อว่าอิสสา ด้วยอรรถว่า ริษยา อิสสานั้นมีการริษยาสมบัติของผู้อื่น เป็นลักษณะ (ปรสัมปัตตีนัง อุสสุยนลักขณา)
ภาวะแห่งความตระหนี่ ชื่อว่ามัจฉริยะ มัจฉริยะนั้นมีการซ่อนหรือปกปิดสมบัติของตนที่ได้แล้วหรือที่ควรจะได้เป็นลักษณะ (ลัทธานัง วา ลภิตัพพานัง วา อัตตโน สัมปัตตีนัง นิคูหณลักขณัง)
คิดถึงแต่สมบัติของตน เวลาที่มีสมบัติและไม่ต้องการให้คนอื่นได้ร่วมใช้สอยบริโภค หรือมีเหมือนกับตน ขณะนั้นเป็นลักษณะของมัจฉริยะ
เพราะฉะนั้น บางขณะนั้นเป็นมัจฉริยะ บางขณะนั้นเป็นริษยาได้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะคิดถึงสมบัติของตนหรือว่าคิดถึงสมบัติของคนอื่น เพราะมีความรักตนมาก สังเกตดูจากคนที่ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนที่มีความหวงแหนทุกสิ่งทุกอย่างที่จะให้ตนเอง ผู้เดียวเท่านั้นดีเด่นด้วยประการต่างๆ จะมีลักษณะอาการของริษยาและมัจฉริยะปรากฏให้เห็นได้ เมื่อมีความรักตนมาก ก็ไม่อยากจะให้คนอื่นเหมือนตน และมีความสำคัญตนด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่คนอื่นมี ก็เกิดความเดือดร้อนใจ กระสับกระส่าย นั่นคือลักษณะของริษยา แต่ก่อนที่คนนั้นจะมี เมื่อคิดถึงแต่สมบัติของตน ขณะนั้นก็เป็นอาการของมัจฉริยะ
ตัตเถว อนภิรติรสา ริษยามีความไม่ยินดีในสมบัติของผู้อื่นนั้นนั่นแหละ เป็นรสะ
ตาสังเยว ปเรหิ สาธารณภาวะ อักขมนรสัง มัจฉริยะมีความไม่พอใจความที่สมบัติของตนเหล่านั้นแหละเป็นของสาธารณะด้วยคนเหล่าอื่นเป็นรสะ
อย่างคนที่หวงรถ ชอบที่จะใช้สอยตามลำพังคนเดียว ไม่ให้คนอื่นได้ร่วมโดยสารไปด้วย และถ้าคนอื่นจะมีรถใหญ่สวยหรูเขาก็ไม่เดือดร้อน เขาเดือดร้อนเฉพาะกรณีที่คนอื่นจะมาใช้สิ่งที่เขายึดถือว่าเป็นของเขา ขณะนั้นเป็นมัจฉริยะ ใครอื่นจะมีดีกว่าอย่างไรก็ตามแต่เขาไม่เดือดร้อน ขณะนั้นก็ไม่มีริษยา
ตโต วิมุขภาวปัจจุปัฏฐานา อิสสามีความเบือนหน้าจากสมบัติของผู้อื่นนั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน
ไม่สามารถชื่นชมยินดีด้วยเลยกับสมบัติของคนอื่น อาการคือไม่อยากเห็น ไม่อยากดู อาการที่เบือนหน้าจากสมบัติของคนอื่นเป็นปัจจุปัฏฐานของอิสสา
สังโกจนปัจจุปัฏฐาน มัจฉริยะมีความสยิ้วหน้าเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีความ ขี้เหนียวเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ
สยิ้วหน้า คือ ใครจะมาแตะต้องสักนิดหนึ่ง อาการของหน้าก็ปรากฏลักษณะที่ไม่พอใจ เพียงแต่จะมาแตะต้องสิ่งของของตน ยังไม่ทันจะใช้เลย จับก็ไม่ได้ นั่นคือลักษณะของมัจฉริยะ หรือมีความขี้เหนียวเป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการที่ปรากฏ
ปรสัมปัตติปทัฏฐานา อิสสามีสมบัติของผู้อื่นเป็นปทัฏฐาน
อัตตโน สัมปัตติปทัฏฐานัง มัจฉริยะมีสมบัติของตนเป็นปทัฏฐาน
ขณะที่ไม่สบายใจ จะเป็นเพราะริษยาบ้าง จะเป็นเพราะมัจฉริยะบ้าง ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดกับโลภมูลจิตเลย เพราะว่าขณะนั้นเป็นโทมนัสเวทนา เป็นความรู้สึกไม่สบายใจ เป็นความเดือดร้อนใจ
ถ้าเป็นโลภมูลจิต ต้องเป็นขณะที่กำลังร่าเริงสนุกสนาน ยินดี ชอบใจ พอใจในวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่สิ่งของของตนเองก็อาจจะดูด้วยความชื่นชมยินดีหลายครั้งไม่จบ ดูแล้วดูอีก เก็บไปแล้วก็เอาออกมาดูอีก นั่นคือลักษณะของความชื่นชมยินดีซึ่งเป็นโลภมูลจิต ไม่ใช่ริษยา ไม่ใช่อิสสา และไม่ใช่มัจฉริยะ แต่เป็นโลภเจตสิก
เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาตัวเอง โลภะมีแน่ๆ และอิสสามีมากไหม มัจฉริยะมีบ้างหรือเปล่า และเป็นไปในมัจฉริยะอย่างไร แต่ทั้งหมดเป็นสภาพธรรมที่ควรจะ ต้องละ โดยเฉพาะอิสสาและมัจฉริยะเป็นสิ่งซึ่งพระโสดาบันบุคคลดับได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ควรจะต้องเห็นโทษของธรรมซึ่งพระโสดาบันดับได้ว่า ต้องเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายและน่ารังเกียจ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ประทุษร้ายจิตใจของ ผู้ริษยาและผู้ตระหนี่เอง
สำหรับผลของลาภมัจฉริยะ คือ
ด้วยความตระหนี่ลาภ ในลาภอันเป็นของสงฆ์หรือของคณะก็ตระหนี่แล้ว ใช้สอยเหมือนดังใช้สอยส่วนบุคคล
คือ ของส่วนกลางก็ยึดถือเป็นของตน ใช้เฉพาะตน ไม่ให้ผู้อื่นร่วมใช้สอยด้วย
ก็จะบังเกิดเป็นยักษ์บ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นงูเหลือมใหญ่บ้าง อีกนัยหนึ่ง ด้วยความตระหนี่ลาภ จะบังเกิดในนรกคูถ
ไม่มีใครเห็นนรกพวกนี้ แต่ก็มี แล้วแต่เหตุ คือ กรรมที่จะทำให้เกิดในที่นั้นๆ
มัจฉริยะต่อไป คือ
๔. วรรณมัจฉริยะ
ที่ชื่อว่าวรรณะ ได้แก่ ผิวพรรณแห่งสรีระบ้าง การสรรเสริญความดีบ้าง ในวรรณะทั้งสองนั้น บุคคลผู้ตระหนี่ผิวพรรณแห่งสรีระ เมื่อเขาพูดว่า คนอื่น น่าเลื่อมใส มีรูปงาม ดังนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ปรารถนาจะกล่าวถึงผิวพรรณแห่งสรีระนั้น ผู้ที่ตระหนี่ในการสรรเสริญความดี ย่อมไม่เป็นผู้ประสงค์จะกล่าวสรรเสริญ โดยศีลคุณ โดยธุดงค์คุณ โดยปฏิปทาคุณ โดยอาจารคุณ
นี่คือการตระหนี่วรรณะ ซึ่งมี ๒ อย่าง ได้แก่ ผิวพรรณแห่งสรีระ คือ ความสวยงาม บางคนหวงความสวย กลัวว่าคนอื่นจะสวยกว่า ซึ่งแน่นอนที่สุด ไม่มีใครสวยที่สุดคนเดียวในโลก ต้องมีความสวยหลายๆ แบบ หลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้น คนที่มีความตระหนี่ในความสวยงามของตน ไม่อยากที่จะให้คนอื่นสวย ก็เป็นผู้ที่มีวรรณมัจฉริยะ แม้แต่ความสวยงามซึ่งเป็นรูปกายภายนอกก็ยังหวง ต้องการที่จะให้เป็นของตนผู้เดียว เวลาที่คนสวยอื่นเดินผ่านไปหรือมีใครชม ผู้นั้น ทนไม่ได้จริงๆ ไม่สามารถที่จะเอ่ยปากแม้จะชม หรือว่าชื่นชมยินดีด้วยกับความงามแห่งสรีระของคนอื่น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นสภาพของจิตมีมัจฉริยะถึงขั้นนั้น คือ ไม่สามารถแม้แต่จะชมเพียงความสวยงามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้
อีกความหมายหนึ่งของวรรณะ คือ การสรรเสริญคุณความดี บางคน ตระหนี่ในการสรรเสริญความดี ไม่เป็นผู้ประสงค์จะกล่าวสรรเสริญโดยศีลคุณ โดยธุดงค์คุณ โดยปฏิปทาคุณ โดยอาจารคุณ
อาจาระ เป็นกิริยาอาการความประพฤติที่ควรจะชม หรือกล่าวสรรเสริญ แต่ ผู้นั้นก็ไม่สามารถจริงๆ ที่จะกล่าวชมคนอื่นได้ คนอื่นผิดหมด ขณะนั้นเป็นอย่างไร มัจฉริยะตัวใหญ่ไหม ถ้าถูกคนเดียว คนอื่นผิดทั้งนั้น
การที่คนหนึ่งคนใดจะมีความเห็นถูกบ้าง เห็นผิดบ้าง ก็เป็นไปตามการสะสม ซึ่งคนอื่นไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงได้ แต่สามารถเกื้อกูลได้ โดยการอ้างเหตุผลอธิบายเหตุผล ชี้แจงเหตุผล ไม่ใช่ตนเองเท่านั้นที่คนอื่นควรจะชมว่าเป็นคนเก่ง หรือเป็นคนดีต่างๆ แต่คนอื่นก็ควรที่จะมีคุณความดีอย่างนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สามารถจะกล่าวสรรเสริญคุณความดีของบุคคลอื่นได้ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่ขณะใดที่ไม่สามารถแม้จะกล่าวชมความดีของคนอื่นได้ หรือสรรเสริญความดีของคนอื่นได้ ขณะนั้นถ้าสติเกิดขึ้นทันทีจะรู้ลักษณะของมัจฉริยะว่า เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถกล่าวชมคุณความดีของคนอื่นได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะของวรรณมัจฉริยะ คือ ย่อมทนไม่ได้เมื่อคนอื่นมีคุณที่คนอื่นสรรเสริญ
ถ. ขณะที่ทนไม่ได้นั้น มีคุณของคนอื่นเป็นอารมณ์ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ คุณของตน ต้องการให้ตนคนเดียว ถ้าเป็นมัจฉริยะ ทนไม่ได้เพราะควรจะเป็นของเราเท่านั้น ไม่ควรจะเป็นของคนอื่น
ถ. ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต
ท่านอาจารย์ ต้องเกิดกับโทสมูลจิต เพราะว่าขณะนั้นไม่สบายใจ ไม่ใช่ขณะที่กำลังเพลิดเพลินยินดีด้วยความร่าเริง เพราะฉะนั้น ลักษณะสภาพของจิตที่กำลังไม่สบายใจ ขณะนั้นต้องเป็นโทสมูลจิต ประทุษร้ายตนเองผู้ตระหนี่
ถ. โทสะนี่ประทุษร้ายต่ออารมณ์ ไม่ใช่หรือ
ท่านอาจารย์ โทสะเกิด ประทุษร้ายใคร ต้องตัวเองก่อน ใช่ไหม
ถ. โทสะ ไม่พอใจ ไม่ปรารถนาในอารมณ์
ท่านอาจารย์ เป็นสภาพที่ไม่ยินดี ไม่ต้องการ
ถ. ขณะนั้นมีคุณของตัวเองเป็นอารมณ์
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องการให้คนอื่นเหมือนตน เพราะมีมัจฉริยะว่า ควรเป็นของตนเท่านั้น ไม่ควรเป็นของคนอื่น
ลักษณะของริษยากับมัจฉริยะคล้ายคลึงกันมาก เพราะฉะนั้น ก็เกิดดับสลับกันได้ คนที่ยังมีความสำคัญตน ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ก็มีทั้งริษยา มีทั้งมัจฉริยะ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นริษยาหรือมัจฉริยะ ซึ่งเกิดสลับกันได้
ความดีนี่น่าชม แต่มัจฉริยะชมไม่ได้ ทนไม่ได้ ในขณะนั้นเป็นลักษณะอาการของมัจฉริยะก็ได้ หรือเป็นลักษณะของริษยาก็ได้ ถ้าคิดว่าคนอื่นกำลังจะมีชื่อเสียง มีคนนับถือสักการะมาก เป็นสมบัติของเขา ใช่ไหม ก็ไม่พอใจที่จะให้เขาได้รับสมบัติอย่างนั้น แต่ถ้าคิดถึงตนว่า ควรจะเป็นของเราเท่านั้น คนอื่นไม่ควรจะเหมือนเรา ขณะนั้นก็เป็นมัจฉริยะ
ผลของวรรณมัจฉริยะ ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า
ด้วยความตระหนี่ผิวพรรณแห่งสรีระ และการสรรเสริญคุณความดี และ ด้วยความตระหนี่ปริยัติธรรม (รวมธรรมมัจฉริยะด้วย) เขาย่อมจะพิจารณาผิวพรรณหรือสรรเสริญคุณความดีของตนเท่านั้น ในผิวพรรณหรือคุณความดีของคนอื่นก็จะกล่าวในข้อเสียนั้นๆ ว่า ผู้นี้จะสวยงามอย่างไร หรือจะมีคุณความดีอย่างไร
เคยได้ยินคำอย่างนี้บ้างไหม เวลาที่มีใครชมใคร อีกคนก็บอกว่า ไม่สวย ไม่ดี ซึ่งขณะนั้นควรพิจารณาว่า เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดขึ้นทำให้ไม่สามารถจะทนได้แม้แต่การร่วมกล่าวคำชมด้วย ถ้าผู้นั้นเป็นคนที่ควรจะชมจริงๆ แต่คำพูดที่ออกมากลับเป็นว่า คนนี้จะสวยงามอย่างไร หรือว่าจะมีคุณความดีอย่างไร
มัจฉริยะที่ ๕ คือ
ธรรมมัจฉริยะ
คำว่า ธรรม ได้แก่ ปริยัติธรรมและปฏิเวธธรรม ในธรรมทั้ง ๒ ประการนั้น พระอริยสาวกทั้งหลายย่อมไม่ตระหนี่ปฏิเวธธรรม ย่อมปรารถนาการที่โลกพร้อมทั้งเทวดาได้แทงตลอดในธรรมที่ตนแทงตลอดแล้ว อนึ่ง ย่อมปรารถนาว่า ขอคนอื่นจงรู้ปฏิเวธนั้น ก็ชื่อว่าธรรมมัจฉริยะย่อมมีได้เฉพาะในธรรมอันเป็นตันติภาษา บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมอันเป็นตันติภาษา ย่อมรู้คัณฐะคือพระบาลีหรือกถามรรคคือ คำประพันธ์อรรถกถาแห่งบาลีที่ยังลี้ลับอันใด ย่อมเป็นผู้ไม่ประสงค์จะให้ผู้อื่นรู้คัณฐะหรือกถามรรคนั้น แต่ผู้ใดพิจารณาบุคคล ไม่ให้ด้วยการอนุเคราะห์ธรรม หรือพิจารณาธรรม ไม่ให้ด้วยการอนุเคราะห์ บุคคลผู้นี้ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตระหนี่ธรรม
แสดงให้เห็นว่า พระโสดาบันบุคคลดับมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท ไม่มีการตระหนี่ว่า ให้ท่านเองเป็นผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเท่านั้น แต่ท่านย่อมปรารถนาให้บุคคลอื่นๆ ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย เพราะว่ายากแสนยากที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่เป็นสิ่งที่ควรจะหวงเลย ใครก็ตามที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ย่อมควรแก่การที่จะยินดีด้วย
เพราะฉะนั้น ธรรมมัจฉริยะ หมายเฉพาะปริยัติธรรม คือ ผู้ที่ยังมีความ หวงแหนไม่ต้องการที่จะให้คนอื่นรู้ปริยัติธรรม เพราะว่าคำประพันธ์หรืออรรถกถาหรือบาลีที่ยังลี้ลับอันใด คือ บุคคลนั้นเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจได้ แต่ไม่อธิบาย ไม่ชี้แจงให้บุคคลอื่นได้เข้าใจด้วย ขณะนั้นชื่อว่าธรรมมัจฉริยะ แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่สมควรแก่การที่จะชี้แจงธรรม เพราะจะทำให้เกิดความทะนงตน ทำให้เกิดความโอ้อวด และทำลายศรัทธาของพุทธบริษัท ซึ่งย่อมเป็นโทษภัย ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้วไม่ชี้แจง ไม่แสดงธรรมส่วนละเอียดนั้น ก็ไม่ชื่อว่าธรรมมัจฉริยะ
ธรรมมัจฉริยะ เป็นความรู้สึกที่ไม่อยากให้คนอื่นเก่งเท่า ทนไม่ได้ที่จะให้คนอื่นได้มีการศึกษาพระปริยัติธรรม หรือว่ามีความรู้ มีความสามารถเท่ากับตน เพราะฉะนั้น ถ้ามีความรู้ มีความสามารถ และผู้ที่จะรับคำชี้แจงไม่เป็นโทษ ก็ควรช่วยกันให้บุคคลอื่นได้มีความรู้มีความสามารถมากๆ เพราะยิ่งมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมากๆ ก็ยิ่งดี
สำหรับผลของธรรมมัจฉริยะ คือ
ย่อมจะเป็นผู้มีผิวพรรณทรามและเป็นใบ้น้ำลาย อีกนัยหนึ่ง ด้วยความตระหนี่ธรรม จะบังเกิดในนรกถ่านเพลิง
ถ. พระโสดาบันละมัจฉริยะได้เป็นสมุจเฉท แต่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขา เมื่อลูกหรือหลานตาย ก็ปล่อยโฮออกมาทันทีด้วยความโศกเศร้าเสียใจ เป็นอันว่า พระโสดาบันยังละไม่ได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ พระโสดาบันบุคคลละโทสมูลจิตไม่ได้ แต่ละอิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะได้
ถ. การที่ท่านทั้งสองร้องห่มร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้ว ไม่ใช่เพราะความเสียดายหรือ
ท่านอาจารย์ ความเสียใจที่ต้องพลัดพรากจากผู้เป็นที่รัก ไม่ใช่มัจฉริยะ ถ้าท่าน เป็นเศรษฐี และท่านก็ไม่อยากให้คนอื่นเป็นเศรษฐีเหมือนท่าน นี่คือมัจฉริยะ
ถ. แต่ลูกหลานก็เป็นของท่าน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ลูกหลาน คือ ผู้เป็นที่รัก เมื่อพลัดพรากจากผู้เป็นที่รัก ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องโศกเศร้าเสียใจ
ถ. อาวาสมัจฉริยะ หมายถึงที่อยู่ที่อาศัย ที่ท่านบอกว่า เก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ เหมือนเก็บในนรก คำว่า นรก ในที่นี้หมายถึงอะไร ใครได้ ใครรับ
ท่านอาจารย์ นรกเป็นอบายภูมิภูมิหนึ่ง เพราะว่าอกุศลกรรมที่เป็นเหตุมี เพราะฉะนั้น เมื่ออกุศลกรรมบถใดครบองค์ ก็สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดใน อบายภูมิหนึ่งอบายภูมิใดได้ คือ เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งทุกคนก็มองเห็นว่า ไม่ใช่มีแต่มนุษย์เท่านั้นในโลกนี้ สัตว์ดิรัจฉานก็มี ซึ่งการปฏิสนธิเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็เป็นผลของกรรม แต่ต่างกับกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น ดิรัจฉานเป็น ภูมิหนึ่งในอบายภูมิ ๔ นอกจากนั้น ก็มีเปรต มีอสุรกาย และมีนรกด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้ามีมัจฉริยะที่ถึงกับทำให้กระทำอกุศลกรรมบถครบองค์ ก็ย่อมเป็นปัจจัยทำให้เกิดในอบายภูมิหนึ่งอบายภูมิใดได้ ไม่อย่างนั้นผลของกรรมก็ต้องไม่มี เมื่อผลของกรรมไม่มี ก็จะทำอกุศลกรรมกันเท่าไรก็ได้ แต่เพราะว่ากรรม เป็นเหตุให้เกิดผลตามควรแก่กรรมนั้นๆ คือ ถ้าเป็นกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิด กุศลวิบาก ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความ ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต อาทิตตวรรคที่ ๕ มัจฉริยสูตรที่ ๙ ข้อ ๑๔๘
เทวดาทูลถามว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ วิบากของคนพวกนั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขาจะเป็นเช่นไร ฯ ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จึงจะรู้ความข้อนั้น ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือยมโลก ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ ก็เกิดในสกุลคนยากจน ซึ่งจะหาท่อนผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก คนพาลเหล่านั้นต้องประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้นสมความปรารถนา นั่นเป็นผลในภพนี้ และภพหน้าก็ยังเป็นทุคติอีกด้วย ฯ
เทวดาทูลถามว่า
ก็ข้อนี้ข้าพระองค์เข้าใจชัดอย่างนี้ (แต่) จะทูลถามข้ออื่นกะพระโคดม ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า วิบากของชนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขาจะเป็นเช่นไร ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จึงจะรู้ความข้อนั้น ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า ชนเหล่านี้ย่อมปรากฏในสวรรค์อันเป็นที่อุบัติ หากถึงความเป็นมนุษย์ย่อมเกิดในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานโดยไม่ยาก พึงมีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหาสะสมไว้ บันเทิงใจอยู่ นั่นเป็นวิบากในภพนี้ ทั้งภพหน้าก็เป็นสุคติ ฯ
มีข้อความบางตอนที่ควรจะได้พิจารณา คือ ผู้ที่มีความตระหนี่เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา หมายถึงเมื่อตระหนี่แล้วจะไม่อยู่เฉยๆ เวลาที่ความตระหนี่มีกำลังขึ้น จะทำให้เกิดการกีดกันด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง เช่น เวลาที่เห็นพระภิกษุไปบิณฑบาต ความตระหนี่อาจจะทำให้ถึงกับกล่าววาจาว่า มาขออะไรตั้งแต่เช้า เป็นไปได้ไหมอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า อกุศลจิตซึ่งไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่ถ้ามีความตระหนี่มาก มีกำลังรุนแรง วาจาก็กล่าวออกไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้ เพราะวาจาเกิดจากจิต ถ้าจิตเป็นกุศล วาจาก็เป็นกุศล จิตเป็นอกุศล วาจาก็เป็นอกุศล
ท่านผู้ฟังที่ไม่เคยกล่าววาจาอย่างนี้ ก็รู้ได้ว่าท่านไม่เคยมีอกุศลจิตอย่างนี้ แต่ถ้าได้ยินใครกล่าววาจาอย่างนี้ ก็สะท้อนถึงสภาพจิตของบุคคลนั้นได้ว่า จิตในขณะนั้นเป็นอกุศลที่มีกำลัง ซึ่งดีแต่ว่าเขา ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้เลย
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 101
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 102
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 103
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 104
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 105
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 106
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 107
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 108
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 109
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 110
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 111
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 112
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 113
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 114
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 115
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 116
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 117
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 118
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 119
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 120
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 121
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 122
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 123
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 124
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 125
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 126
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 127
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 128
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 129
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 130
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 131
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 132
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 133
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 134
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 135
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 136
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 137
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 138
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 139
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 140
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 141
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 142
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 143
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 144
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 145
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 146
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1960
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1961
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1962
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1963