จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 116
ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้เลย แต่ก็ยังเป็นปัจจัยให้โทสมูลจิตเกิด ทำให้เกิดวจีทุจริตอย่างนั้นได้
สำหรับผู้ที่ตระหนี่ ก็จะเกิดในสกุลคนยากจน เพราะเหตุจากความตระหนี่ของตน จะหาท่อนผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก แต่สำหรับผู้ที่ปราศจากความตระหนี่ ก็ตรงกันข้าม คือ เกิดในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานโดยไม่ยาก นอกจากนั้น ยังพึงมีอำนาจแผ่ไปใน โภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหาสะสมไว้ เพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่ตระหนี่ ใครๆ จึงอยากให้คนที่ ไม่ตระหนี่ เนื่องจากคนที่ไม่ตระหนี่ย่อมให้สิ่งอื่นกับคนอื่น คนที่เห็นความไม่ตระหนี่ของบุคคลนั้น ไม่ว่าเขาจะสะสมทรัพย์สมบัติอย่างไรมา เขาก็พอใจที่จะให้กับคนที่ไม่ตระหนี่
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ตระหนี่ มีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์แม้ของผู้อื่นที่หาสะสมมา บันเทิงใจอยู่ ด้วยความไม่ตระหนี่ของตน มีแต่ความสบายใจที่ไม่ตระหนี่ ไม่เดือดร้อนเลย ไม่ว่าคนอื่นจะได้ลาภหรือว่ามีผู้กล่าวสรรเสริญในคุณความดี
ถ. คนตระหนี่กับคนขี้เหนียว ก็เหมือนกัน และการขี้เหนียวนี่ไม่ใช่หวงไม่ให้คนอื่น แต่ตัวเองจะใช้จ่ายก็ประหยัดมาก การที่หวงสำหรับตัวเอง กินก็ของเลวๆ ใช้ก็ของเลวๆ อย่างนี้เป็นมัจฉริยะด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เป็น และเป็นอย่างมากด้วย เพราะแม้แต่ตัวเองก็ยังไม่ยอมใช้ อย่าว่าแต่คนอื่นจะมาแตะเลย
ถ. ถ้าเขาไปต่างจังหวัด ฐานะการเงินของเขาน่าจะนั่งรถไฟชั้นสอง นอน ตู้นอนด้วยก็ได้ แต่เขาเป็นคนขี้เหนียวซื้อตั๋วชั้น ๓ อดหลับอดนอน แต่ไม่เห็นเขาจะมีความทุกข์ใจอะไร ถ้าลูกหลานซื้อตั๋วชั้น ๒ ซื้อตู้นอนให้เขา เขากลับไม่สบายใจ รู้สึกเสียดายเงินที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เขาได้รับความสะดวกสบายได้หลับได้นอน แต่เขากลับไม่สบายใจเพราะความขี้เหนียวของเขา ถ้าไปนั่งชั้นสาม อดหลับอดนอน แต่เขารู้สึกสบายใจ
ท่านอาจารย์ เขาไม่อยากให้ทรัพย์ของเขาสาธารณะไปกับค่ารถไฟ
ถ. ใช่ แต่ตอนเขาขี้เหนียว เขาสบายใจ
ท่านอาจารย์ ตอนที่ไม่อยากนั้น เป็นตระหนี่ แต่ไม่ได้หมายความว่ามัจฉริยะจะเกิดอยู่ตลอดเวลา ขณะที่พอใจขณะใดเป็นโลภะ กำลังนั่งชั้น ๓ สบายใจ นั่นเป็นโลภะ แต่ถ้าเกิดไม่สบายใจขณะใด ขณะนั้นเป็นโทสะ คือ ถ้าใครจะให้เขาไปนั่งชั้น ๒ และเอาทรัพย์ของเขาไปสาธารณะกับค่ารถไฟ เขาก็ไม่มีความสุข
ผู้ฟัง แต่ตอนที่เขานั่งรถไฟชั้น ๒ ไม่สบายใจ ไม่สบายใจเพราะอะไร
ท่านอาจารย์ มัจฉริยะ ไม่อยากจะให้ทรัพย์ของเขาต้องเสียไปกับค่ารถไฟ เป็นทรัพย์ของเขา ต้องเอาไปให้คนอื่นเป็นค่ารถไฟเพิ่มขึ้น
ถ. ตอนที่นั่งชั้นสองไม่สบายใจ เป็นมัจฉริยะ
ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่สบายใจ ต้องเป็นโทสมูลจิต พอใจเป็นโลภมูลจิต ขณะที่ใดที่เป็นโลภมูลจิต ขณะใดที่เป็นโทสมูลจิต สังเกตได้จากความรู้สึก ถ้าสบายใจนั่งชั้น ๓ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ถ้าไม่สบายใจนั่งชั้น ๒ เป็นโทสมูลจิต เป็นเรื่องสภาพของจิต
ขุททกนิกาย มหานิทเทส คุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒ ข้อ ๔๒ มีข้อความว่า
คำว่า สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมอันไม่เสมอ มีความว่า คำว่า ตกต่ำ คือ แม้สัตว์ผู้ไปต่ำ ชื่อว่าผู้ตกต่ำ แม้ผู้มีความตระหนี่ ก็ชื่อว่าผู้ตกต่ำ ผู้ไม่เชื่อถือคำ ถ้อยคำ เทศนา คำสอนของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ชื่อว่าผู้ตกต่ำ
ผู้ไปต่ำ ชื่อว่าผู้ตกต่ำอย่างไร สัตว์ผู้ไปต่ำ คือ สัตว์ที่ไปสู่นรก ไปสู่ดิรัจฉานกำเนิด ไปสู่เปรตวิสัย ชื่อว่าไปต่ำ ผู้ไปต่ำอย่างนี้ จึงชื่อว่าผู้ตกต่ำ
ทุกท่านจะไปต่ำ หรือจะไปไม่ต่ำ ก็พิจารณาได้จากข้อความที่กล่าวนี้
เพราะฉะนั้น ท่านที่ตระหนี่ เป็นผู้ที่ไปต่ำ เป็นผู้ที่ตกต่ำ เพราะว่าเป็นผู้ที่ ไม่เชื่อถือคำ ถ้อยคำ เทศนา คำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงให้ละกิเลส ทุกประเภท น่าคิดว่า ทำไมพระโสดาบันละอิสสาและมัจฉริยะได้เป็นสมุจเฉท เพราะว่าวิปัสสนาญาณทุกๆ ญาณ ยกเว้นสัจจานุโลมิกญาณ เป็นกัมมัสสกตาญาณ
การเป็นผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ด้วยความจงใจ หรือต้องการที่จะรู้เฉพาะสภาพธรรมบางอย่าง หรือไม่คิดว่าจะต้องสร้าง สภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดขึ้นก่อนจึงจะรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีกัมมัสสกตาญาณ ผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น จึงเป็นผู้ที่มีกัมมัสสกตาญาณ
ขณะนี้กำลังเห็น ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงบังคับบัญชาได้ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ด้วยการศึกษาทราบว่า เป็นจักขุวิญญาณ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพที่เห็นจะรู้ได้เลยว่าบังคับบัญชาไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดี เสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงเล็ก เสียงใหญ่ เสียงเบา เสียงดังอย่างไรก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้
ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส แม้ทางใจที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดและเห็นว่าบังคับบัญชาไม่ได้ จะทำให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เกิดปรากฏที่เป็นวิบาก การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัสทั้งหมด ล้วนเป็นผลของกรรมทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณทุกญาณ ยกเว้นสัจจานุโลมิกญาณ เป็นกัมมัสสกตาญาณทั้งหมด นี่เป็นเหตุที่พระโสดาบันทั้งหลายมีความรู้ชัดจริงๆ ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกรรม ไม่ว่าใครจะเห็นสิ่งใด ได้ยินสิ่งใด ได้กลิ่นสิ่งใด ลิ้มรสสิ่งใด กระทบสัมผัสสิ่งใด ไม่ว่าจะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข ก็เป็นเพราะกรรมของแต่ละคนที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีบุคคลอื่นบุคคลใดสามารถเปลี่ยนแปลงกรรมของบุคคลนั้นๆ ได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในกัมมัสสกตาญาณ
เวลาที่ท่านผู้ฟังยังไม่ได้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ก็รู้ว่า กุศลกรรมมี อกุศลกรรมมี กุศลกรรมได้แก่อะไรบ้าง อกุศลกรรมได้แก่อะไรบ้าง และก็รู้ว่าอกุศลกรรมจะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก กุศลกรรมจะเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก
ดูเหมือนว่าเข้าใจเรื่องกรรม ถ้ามีคนถามว่า กรรมมีไหม ท่านก็จะตอบว่ามี เพราะว่าท่านศึกษาท่านก็ทราบ ท่านได้เห็น ได้รู้กายสุจริต วจีสุจริต และกายทุจริต วจีทุจริตที่มีปรากฏอยู่ในโลกก็จำแนกออกได้ว่า เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ดูเสมือนว่าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจเรื่องกรรม มีความเชื่อมั่นในเรื่องของกรรม
แต่ขณะนี้เป็นผลของกรรมหรือเปล่า ถ้าสติปัฏฐานไม่ระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย การเข้าใจเรื่องกรรมก็ยังเป็นเรื่องที่กว้างเกินไป คือ กล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดและรู้ว่าเหตุการณ์นั้นเรื่องนั้นเป็นกุศลกรรมหรือเป็นอกุศลกรรม แต่ก็ไม่เท่ากับขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ถ้าเป็นสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายจริงๆ การรู้เรื่องของกรรมจะละเอียดขึ้น ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์กว้างๆ เท่านั้น แต่สามารถรู้ถึงลักษณะของสภาพธรรมว่า ขณะใดเป็นผลของกรรมที่ กำลังเห็น กำลังได้ยิน และขณะใดเป็นกรรม คือ เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต สามารถรู้ความต่างกันของกรรมและผลของกรรมได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน จึงจะทำให้รู้แน่ว่า กรรมมี และผลของกรรมมี
ไม่ใช่เพียงแต่เข้าใจว่า มี แต่ว่าขณะนี้ผลของกรรมเป็นสภาพธรรมอะไร ถ้าเข้าใจเรื่องผลของกรรมจริงๆ คือ สติระลึก และรู้ว่าทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส นั่นเป็นผลของกรรม
ถ. อาการปวดท้องและเป็นไข้ ซึ่งธรรมดาน่าจะหายภายใน ๒ อาทิตย์ แต่สภาพนี้เป็นบ่อยๆ แสดงว่าเป็นวิบากกรรมที่ทำไว้มาก ใช่ไหม ทั้งๆ ที่มีการรักษา แต่ก็ไม่หาย
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นเรื่องยาว แต่สภาพธรรม ถ้าสติเกิดระลึกที่ลักษณะของเจ็บหรือปวดขณะนั้น ลักษณะนั้นแน่นอนที่สุด เป็นทุกขกายวิญญาณซึ่งเป็นวิบาก ไม่มีใครต้องการให้ทุกขเวทนานั้นเกิดแน่นอน แต่ไม่มีอะไรที่จะยับยั้งทุกขเวทนานั้นได้ เพราะฉะนั้น ก็ทราบได้ว่าขณะนั้นเป็นวิบาก
ถ. ไม่ได้เป็นตลอดเวลา ...
ท่านอาจารย์ นั่นก็เป็นเรื่องคิดอีก ยาวไปอีกว่า ตลอดเวลาหรือไม่ตลอดเวลา แต่ที่จะรู้แน่ คือ เฉพาะขณะที่ความปวดหรือความเจ็บปรากฏ และสติระลึก ขณะนั้นเป็นสิ่งที่บังคับไม่ให้เกิดไม่ได้เลย เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั้น เป็นอารมณ์ของวิบากจิต ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบากะ เพราะฉะนั้น ก็เชื่อมั่นในเรื่องของกรรมและผลของกรรม
ถ. ขณะที่เป็นอย่างนี้ และเราระลึกว่า เราคงเคยทำอะไรไว้ ผลของกรรมจึงเป็นอย่างนี้ ถูกต้องไหม
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องคิด ไม่ใช่เรื่องการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ถ้า รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน คือ เข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม สมกับที่เรียนอภิธรรมหรือปรมัตถธรรม เพราะว่ากำลังมีลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏ ให้ศึกษา ให้รู้ชัดว่า นี่คือสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
สำหรับมัจฉริยะที่ทำให้เกิดในนรกได้ ก็เนื่องจากกระทำอกุศลกรรมแม้ด้วยกายหรือด้วยวาจา ด้วยการกีดกันลาภของบุคคลอื่น คือ เวลาที่บุคคลอื่นกำลังจะให้ทาน ก็อาจจะขัดขวางด้วยความตระหนี่ ไม่พอใจที่จะให้บุคคลนั้นได้ คิดว่าท่านควรจะเป็นผู้เดียวที่ได้ ถ้าเป็นการกระทำอย่างนั้น ย่อมทำอันตรายสวรรค์ของทายก เพราะว่า เขากำลังจะให้ แต่กีดกันไม่ให้เขาให้ และทำอันตรายแก่ลาภของปฏิคาหกผู้ซึ่งกำลังจะได้รับก็พลอยไม่ได้รับ นอกจากนั้น ยังทำลายตัวเอง เพราะว่าขณะนั้นเป็นเจตนาที่ ไม่ต้องการให้คนอื่นได้รับลาภ จึงเป็นเหตุที่จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ ถ้ากรรมนั้นสำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถครบองค์
สำหรับเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตได้อีกดวงหนึ่ง คือ กุกกุจจเจตสิก
ใน อัฏฐสาลินี ข้อ ๑๑๖๖ และ ๗๕๒ มีข้อความว่า
กุกกุจจะเป็นไฉน
คือ ความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ความสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ความสำคัญว่ามีโทษในของที่ไม่มีโทษ ความสำคัญว่าไม่มีโทษในของที่มีโทษ
กุกกุจจะ คือ การรำคาญ กุกกุจจายนา คือ กิริยาที่รำคาญ กุกกุจจายิตัตตัง ความรำคาญ เจตโส วิปปฏิสาโร คือ ความเดือดร้อนใจ มโนวิเลโข ความยุ่งใจ ซึ่งมีลักษณะเช่นว่านี้อันใด นี้เรียกว่า กุกกุจจะ
อธิบายนิทเทสกุกกุจจะ มีข้อความว่า
เวลาที่เกิดระลึกได้แล้วก็เดือดร้อนอยู่เนืองๆ อย่างนี้ว่า เราทำชั่วเสียแล้ว ดังนี้ กุกกุจจะนี้ย่อมเกิดด้วยอำนาจความเดือดร้อนเนืองๆ ในภายหลัง
ด้วยเหตุนี้ เพื่อจะทรงแสดงกุกกุจจะนั้นโดยมูล จึงตรัสพระพุทธพจน์ว่า ความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร เมื่อได้ทำผิดไปแล้ว ก็ย่อมจะทำให้เกิดความเดือดร้อนใจภายหลัง
สำหรับลักษณะของกุกกุจจะ ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า
กรรมที่ทำไปอันบัณฑิตเกลียดชื่อว่ากุกตะ ภาวะแห่งกุกตะนั้นชื่อว่ากุกกุจจะ กุกกุจจะนั้น ปัจฉานุตาปนลักขณัง มีความเดือดร้อนใจในภายหลังเป็นลักษณะ กตากตานุโสจนรสัง มีความเศร้าโศกเนืองๆ ถึงกรรมที่ทำแล้วและยังไม่ได้กระทำ เป็นรสะ วิปปฏิสารปัจจุปัฏฐานัง มีวิปฏิสาร คือ ความร้อนใจเป็นปัจจุปัฏฐาน กตากตปทัฏฐานัง มีกรรมชั่วที่ทำแล้วและกรรมดีที่ยังไม่ทำเป็นปทัฏฐาน บัณฑิตพึงเห็นเหมือนอย่างความเป็นทาส
คนที่เป็นทาส ต้องคิดใช่ไหมว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง และมีอะไรบ้างที่ยังไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้น เวลาที่กุกกุจจะเกิด จะคิดถึงสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นอกุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว และคิดถึง กุศลกรรมที่ยังไม่ได้ทำ จึงเกิดความเดือดร้อนใจขึ้นว่า ยังไม่ได้ทำกุศลกรรมนั้น นี่เป็นลักษณะของกุกกุจจเจตสิก
ข้อความต่อไป แสดงนิวรณ์ตามลำดับกิเลสและลำดับมรรค ข้อความมีว่า
กุกกุจจะและวิจิกิจฉาอันโสดาปัตติมรรคย่อมละได้
เวลาที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุกกุจจะ ก็รู้ว่าเป็นแต่เพียง สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ความเดือดร้อนใจในระหว่างที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะละคลาย และลดน้อยลงจนกระทั่งเมื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ดับได้เป็นสมุจเฉท แต่ยังมีโทสมูลจิตเกิด เมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่พอใจ
แสดงให้เห็นว่า อารมณ์มีอิทธิพลมาก ถ้าจิตใจผูกพันฝังแน่นใน กามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทำให้เกิดเป็นกามบุคคลในกามภูมิ เวลาที่ประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้ความชอบใจเกิดขึ้น เวลาที่กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นปัจจัยให้โทสมูลจิตซึ่งยังไม่ได้ดับเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น เป็นการยากที่จะอบรมจนกระทั่งแม้ประสบอารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ แต่โทสมูลจิต ก็เกิดน้อยลงๆ
ถ. ดับเป็นสมุจเฉท หมายความว่า ถ้าเจอเหตุปัจจัยอีก สามารถดับได้ ไม่เกิดขึ้นอีก ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่เกิดอีกเลย ดับอนุสัยกิเลส ไม่มีแม้แต่กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เจตสิกประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นทำกิจการงานได้
เวลานี้ไม่มีโทสะ เพราะว่าโทสะดับแล้ว และยังไม่ได้เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าดับโทสะแล้ว เพียงแต่ว่าโทสะที่เกิดดับไปแล้วเท่านั้นเอง แต่เมื่อมีปัจจัยโทสะก็ต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่มีทางที่จะดับกิเลสใดๆ ได้
ถ้าวันนี้โทสะเกิดน้อย และคิดว่าโทสะไม่เกิดแล้ว ต่อไปคงจะดับเป็นสมุจเฉท เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าปัญญาไม่ได้เกิด
ในคราวก่อนได้กล่าวถึงอกุศลธรรมที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท จากข้อความใน อัฏฐสาลินี ทุกนิกเขปกถา ข้อ ๑๑๗๖ แสดงนิวรณ์ตามลำดับกิเลสและตามลำดับมรรค
ว่าตามลำดับกิเลส
กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ อันอนาคามิมรรคย่อมละได้ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจนิวรณ์ อันอรหัตตมรรคย่อมละได้ กุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ อัน โสตาปัตติมรรคย่อมละได้ อวิชชานิวรณ์ อันอรหัตตมรรคย่อมละได้
ถ้าว่าตามลำดับมรรค
โสตาปัตติมรรคละกุกกุจจะและวิจิกิจฉา อนาคามิมรรคละกามฉันทะ และพยาปาทะ อรหัตตมรรคละถีนมิทธะ อุทธัจจะ และอวิชชา
นี่เป็นข้อความใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ ทุกนิกเขปกถา ข้อ ๑๑๗๖ แต่ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สติปัฏฐานวิภังค์ นิวรณบรรพ และใน วิสุทธิมรรค ญาณทัสสนวิสุทธินิทเทส มีข้อความว่า
กามฉันทนิวรณ์ไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตตมรรค พยาปาทนิวรณ์ไม่เกิดต่อไปด้วยอนาคามิมรรค ถีนมิทธนิวรณ์ไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตตมรรค อุทธัจจะไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตตมรรค กุกกุจจะไม่เกิดต่อไปด้วยอนาคามิมรรค วิจิกิจฉาไม่เกิดต่อไปด้วย โสตาปัตติมรรค
การศึกษาพระธรรม จะต้องศึกษาโดยตลอด สำหรับเรื่องของการดับกิเลส มีข้อที่ต่างกัน คือ กุกกุจจนิวรณ์ใน อัฏฐสาลินี แสดงว่า โสตาปัตติมรรคละกุกกุจจะและวิจิกิจฉา แต่ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สติปัฏฐานวิภังค์ นิวรณบรรพ และใน วิสุทธิมรรค แสดงว่า กุกกุจจะไม่เกิดต่อไปด้วยอนาคามิมรรค
นี่เป็นข้อความที่ต่างกันของ อัฏฐสาลินี และ สติปัฏฐานวิภังค์ ซึ่งต้องพิจารณาในเหตุผล
แม้ว่าอกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง แต่จำแนกเป็นอกุศลธรรม ๙ จำพวก คือ
๑. อาสวะ ๔ ๖. นิวรณ์ ๕
๒. โอฆะ ๔ ๗. อนุสัย ๗
๓. โยคะ ๔ ๘. สังโยชน์ ๑๐
๔. อุปาทาน ๔ ๙. กิเลส ๑๐
๕. กายคันถะ ๔
สำหรับอาสวะ ๔ ธรรมอื่นนอกจากอาสวะ ๔ นี้ ไม่ใช่อาสวะ ซึ่งข้อความใน พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ จตุกกนิทเทส ข้อ ๙๖๑ แสดงอาสวะ ๔ คือ กามาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ ทิฏฐาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑
อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายอาสวโคจฉกะ มีข้อความว่า
ธรรมชื่อว่าอาสวะ โดยอรรถว่า ไหลไปทั่ว ไหลไป คือ หลากไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าอาสวะ เพราะเมื่อว่าโดยธรรม ก็ไหลไปได้กระทั่งถึงโคตรภู เมื่อว่าโดยโอกาส ก็ไหลไปได้กระทั่งถึงภวัคคพรหม คือ อรูปพรหม
ชื่อว่าอาสวะ เพราะเป็นสภาพที่หมักดองเอาไว้นาน อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อาสวะ เพราะอรรถว่า พอกพูน คือ ก่อสังสารทุกข์อันยืดยาว ธรรมอื่นนอกจาก อาสวะ ๔ นี้ ไม่ชื่อว่าอาสวะธรรม
ถึงแม้ว่าอกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง แต่โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง เป็นกามาสวะ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง เป็นภวาสวะ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง เป็นทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ได้แก่ โมหเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง รวมเป็นโลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ และโมหเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นอาสวะ ๔
แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่อกุศลเจตสิกทุกประเภทเป็นอาสวะ แต่เฉพาะโลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก และโมหเจตสิก เป็นอาสวะ
สำหรับอาสวะ ๔ นั้น กามาสวะ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งไหลไป คล้อยไปตามอารมณ์ที่ปรากฏทุกขณะ ผู้ที่จะดับกามาสวะได้ คือ อนาคามิมรรคจิต ต้องบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามี จึงดับกามสวะได้
ภวาสวะ คือ ความพอใจในรูปภพ อรูปภพ ความติดใจในฌาน ซึ่งอรหัตตมรรคจิตดับได้ ความพอใจอันเกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ อันโสตาปัตติมรรคดับได้
ทิฏฐาสวะ คือ ความเห็นผิดจากความเป็นจริงของสภาพธรรมทั้งปวง โสตาปัตติมรรคจิตดับได้
อวิชชาสวะ คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง อรหัตตมรรคละได้
เรื่องของอาสวะ ๔ ไม่มีปัญหา เพราะมีข้อความที่ชัดเจนว่า มรรคจิตใดดับ อาสวะใด
สำหรับพระสูตรบางแห่ง ไม่มีทิฏฐาสวะ มีแต่กามาสวะ ภวาสวะ และ อวิชชาสวะ ที่เป็นอย่างนี้สำหรับผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ซึ่งจะอบรมเจริญปัญญา เพื่อดับอาสวะขั้นต่อไป
การดับกิเลสตามข้อความในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๑๒ มีว่า
คำว่า อาสวา ความว่า อาสวะเหล่านั้นเป็นไฉน
อาสวะเหล่านั้น คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ฯ
อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไป ณ ที่ไหน ทิฏฐาสวะทั้งสิ้น กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่อบาย ย่อมสิ้นไปด้วยโสดาปัตติมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งโสดาปัตติมรรคนี้
กามาสวะส่วนหยาบ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้นย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งสกทาคามิมรรคนี้
กามาสวะทั้งสิ้น ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 101
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 102
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 103
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 104
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 105
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 106
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 107
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 108
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 109
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 110
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 111
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 112
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 113
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 114
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 115
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 116
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 117
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 118
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 119
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 120
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 121
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 122
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 123
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 124
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 125
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 126
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 127
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 128
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 129
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 130
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 131
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 132
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 133
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 134
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 135
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 136
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 137
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 138
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 139
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 140
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 141
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 142
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 143
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 144
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 145
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 146
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1960
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1961
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1962
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1963