จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 117
กามาสวะทั้งสิ้น ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอนาคามิมรรคนี้
ภวาสวะ อวิชชาสวะทั้งสิ้น ย่อมสิ้นไปด้วยอรหัตตมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอรหัตตมรรคนี้ ฯ
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อกล่าวถึงการดับไปของกุกกุจจะของพระโสดาบันใน อัฏฐสาลินี ย่อมหมายถึงกุกกุจจะส่วนที่ทำให้เกิดในอบายภูมิ เพราะว่าข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีว่า ทิฏฐาสวะทั้งสิ้น (คือ ทุกประเภท) กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่อบาย ย่อมสิ้นไปด้วย โสดาปัตติมรรค
โสตาปัตติมรรคจิตดับทิฏฐาสวะทั้งสิ้น ไม่เหลือเลย และดับกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้ไปสู่อบายด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ได้ดับกามาสวะ ภวาสวะ หรืออวิชชาสวะเลย แต่นอกจากจะดับทิฏฐาสวะทั้งสิ้นแล้ว ยังดับกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้ไปสู่อบายด้วย
สำหรับสกทาคามิมรรค กามาสวะส่วนหยาบ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค
แสดงว่าพระสกทาคามีบุคคล ดับกามาสวะส่วนหยาบ และดับภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้นด้วย
สำหรับพระอนาคามีบุคคล ดับกามาสวะทั้งสิ้น ไม่เกิดอีกเลย ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับ กามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค
และอีก ๒ อาสวะ คือ ภวาสวะและอวิชชาสวะทั้งสิ้น ย่อมสิ้นไปด้วยอรหัตตมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอรหัตตมรรคนี้
แสดงให้เห็นถึงกิเลสทั้งหลายซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำ ย่อมดับไปพร้อมกับมรรคจิต ตามควรแก่ฐานะของอกุศลนั้นๆ
โดยนัยของอกุศลธรรม ๙ กอง กุกกุจจะเป็นอกุศลธรรมประเภทนิวรณ์ ประเภทเดียว ไม่เป็นอาสวะ ไม่เป็นโอฆะ ไม่เป็นโยคะ ไม่เป็นอุปาทาน ไม่เป็น กายคันถะ ไม่เป็นอนุสัย ไม่เป็นสังโยชน์ และไม่เป็นกิเลส ๑๐
และที่จะพิจารณาลักษณะของกุกกุจจะในชีวิตประจำวัน ผู้ที่ยังมีกุกกุจจะอยู่ ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ข้อ ๓๘๗ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงคุณธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งมีเรื่องลักษณะของ กุกกุจจะ ข้อความมีว่า
ชื่อว่าความรำคาญ ในคำว่า ผู้ไม่มีความรำคาญ
พระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่โอ้อวด และไม่มีความรำคาญ เพราะฉะนั้น ข้อความตอนนี้แสดงลักษณะของผู้ไม่มีความรำคาญ
ชื่อว่าความรำคาญ ในคำว่า ผู้ไม่มีความรำคาญ ได้แก่ ความรำคาญมือบ้าง ความรำคาญเท้าบ้าง ความรำคาญทั้งมือและเท้าบ้าง ความสำคัญในสิ่งไม่ควรว่าควร ความสำคัญในสิ่งควรว่าไม่ควร ความสำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ ความสำคัญในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ ความรำคาญ กิริยาที่รำคาญ ความเป็น ผู้รำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความรำคาญ
ขณะนี้กำลังมีอยู่หรือเปล่า เวลาที่ศึกษาพระธรรมต้องย้อนกลับมาที่ขณะนี้ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
อีกอย่างหนึ่ง ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะกระทำและเพราะไม่กระทำ
ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะกระทำและเพราะไม่กระทำอย่างไร
ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นว่า เราทำแต่ กายทุจริต เราไม่ได้ทำกายสุจริต เราทำแต่วจีทุจริต เราไม่ได้ทำวจีสุจริต เราทำแต่ มโนทุจริต เราไม่ได้ทำมโนสุจริต เราทำแต่ปาณาติบาต เราไม่ได้ทำการงดเว้นจากปาณาติบาต เราทำแต่อทินนาทาน เราไม่ได้ทำการงดเว้นจากอทินนาทาน เราทำแต่กาเมสุมิจฉาจาร เราไม่ได้ทำการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เราทำแต่มุสาวาท เราไม่ได้ทำการงดเว้นจากมุสาวาท เราทำแต่ปิสุณาวาจา เราไม่ได้ทำการงดเว้นจาก ปิสุณาวาจา เราทำแต่ผรุสวาจา เราไม่ได้ทำการงดเว้นจากผรุสวาจา เราทำแต่ สัมผัปปลาปะ เราไม่ได้ทำการงดเว้นจากสัมผัปปลาปวาจา เราทำแต่อภิชฌา เราไม่ได้ทำอนภิชฌา เราทำแต่พยาปาท เราไม่ได้ทำอัพยาปาท เราทำแต่มิจฉาทิฏฐิ เราไม่ได้ทำสัมมาทิฏฐิ
ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะกระทำและเพราะไม่กระทำอย่างนี้
อีกอย่างหนึ่ง ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นว่า เราเป็นผู้ไม่กระทำความบริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ เราเป็นผู้ไม่หมั่นประกอบในความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ เราเป็นผู้ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เราไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ เราไม่ได้เจริญสัมมัปธาน ๔ เราไม่ได้เจริญอิทธิบาท ๔ เราไม่ได้เจริญอินทรีย์ ๕ เราไม่ได้เจริญพละ ๕ เราไม่ได้เจริญโพชฌงค์ ๗ เราไม่ได้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เราไม่ได้กำหนดรู้ทุกข์ เราไม่ได้กำหนดละสมุทัย เราไม่ได้ทำให้แจ้งนิโรธ
ความรำคาญนี้อันบุคคลใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ บุคคลนั้นเรียกว่า ไม่มีความรำคาญ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีความรำคาญ
ถ้าความรำคาญเกิดขึ้นจะพิจารณาได้ว่า เป็นไปในลักษณะต่างๆ เหล่านี้เสมอ ความรำคาญมือบ้าง ความรำคาญเท้าบ้าง ก็จัดเป็นความรำคาญอย่างหนึ่งเหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะเอามือวางไว้ที่ไหนอย่างไรดี ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน ก็ไม่รู้ว่าจะเอาเท้าไว้อย่างไรดี ความรำคาญเท้าบ้าง ความรำคาญทั้งมือทั้งและเท้าบ้าง
นี่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะของความรำคาญว่า มีทั้ง ความรำคาญมือ รำคาญเท้า รำคาญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ รำคาญในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ รำคาญตลอดไปจนกระทั่งถึงกายวาจาซึ่งเป็นทุจริต และการไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นต้น นี่คือลักษณะของความรำคาญ ซึ่งจะดับได้ตามควรแก่มรรคจิต
ถ. มรรคจิตที่ละกุกกุจจเจตสิก ทำไมจึงแสดงไว้ต่างกันในอัฏฐสาลินีกับ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค
ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งซึ่งจะต้องศึกษาโดยละเอียด เพราะถ้าอ่านเพียงคัมภีร์เดียว ก็จะเห็นว่า อัฏฐสาลินี แสดงว่าอย่างนั้น และถ้าต่อไปได้พบข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ก็จะเห็นว่าเป็นข้อความที่ต่างกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นข้อความใดๆ ที่ปรากฏในอรรถกถา ควรจะย้อนกลับไปสู่พระบาลี คือ พระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวถึงข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๑๒ ซึ่งแสดงไว้โดยกว้าง เพื่อให้วินิจฉัยว่า พระโสดาบันละธรรมใดบ้าง เพราะว่าอกุศลธรรมบางจำพวกแสดงไว้ตรง แต่บางจำพวกไม่ได้แสดงไว้ตรง
อย่างเช่น ทิฏฐาสวะทั้งสิ้น ก็แสดงไว้ชัดว่าพระโสดาบันบุคคลดับทิฏฐิเจตสิก แต่กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะอันเป็นเหตุให้ไปสู่อบาย ดับได้ด้วยโสดาปัตติมรรค ก็แสดงว่าอกุศลธรรมมีหลายขั้น และมีความละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ส่วนใดซึ่งเป็นส่วนที่พระโสดาบันดับได้พร้อมกับทิฏฐิ ส่วนนั้นก็ดับไม่เกิดอีก แต่ส่วนใดที่ยังดับไม่ได้ ก็ย่อมเกิดอีกได้ เพราะถ้าคิดถึงความรำคาญหรือว่าลักษณะที่รำคาญ อย่างข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ข้อ ๓๘๗ ที่แสดงว่า แม้แต่ความรำคาญมือบ้าง ความรำคาญเท้าบ้าง ก็เป็นลักษณะที่รำคาญ อาการ ที่รำคาญ ซึ่งความรำคาญอย่างนั้นไม่ได้ทำให้ไปสู่อบายภูมิ แต่ถ้าเป็นความรำคาญที่เกิดร่วมกับอกุศลที่มีกำลัง ย่อมสามารถทำให้ไปสู่อบายภูมิได้ พระโสดาบันก็ดับได้
ถ้าจะให้ข้อความใน อัฏฐสาลินี สอดคล้องกับข้อความใน สัมโมหวิโนทนี จะต้องอาศัยพระไตรปิฎกเทียบเคียง
ถ. คำว่า ดับส่วนหยาบได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ส่วนซึ่งจะไปสู่อบายภูมิ
ถ. ในกรณีที่กุกกุจจเจตสิกดับไปแล้ว ต้องดับไปพร้อมกับโทสมูลจิต ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เช่นเดียวกับโลภมูลจิตของพระอนาคามีบุคคลที่ยังมีโลภมูลจิต ทิฏฐิวิปปยุตต์ ซึ่งเป็นไปในความยินดีในขันธ์ในภพที่ยังไม่ดับ แสดงให้เห็นว่า โลภมูลจิต โดยประเภทมี ๘ ดวงจริง แยกเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง พระโสดาบันดับแล้ว แต่โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ซึ่งไม่ประกอบด้วยทิฏฐิเจตสิก พระสกทาคามีดับส่วนหยาบ พระอนาคามีดับส่วนที่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พระอรหันต์ดับส่วนที่ยินดีพอใจในภพในขันธ์ นี่สำหรับโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาอกุศลธรรมจำพวกอื่นๆ โดย นัยเดียวกันด้วย
ถ. โดยสรุป อกุศลธรรมใดทำให้ไปสู่อบายภูมิ พระโสดาบันละได้หมด
ท่านอาจารย์ ใช่ นอกจากนั้น ถ้าข้อความใดตรงกันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าข้อความใดซึ่งต่างกัน ก็ควรจะวินิจฉัยโดยนัยนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ควรจะต้องพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะว่าการศึกษาพระธรรมทั้งหมด อย่าให้เป็นเพียงสิ่งซึ่งอยู่ในตำรา หรือว่าทำให้เกิดความข้องใจที่จะตัดสิน โดยที่ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพที่กำลังใคร่ครวญหรือว่ากำลังสงสัยกำลังเคลือบแคลง เพราะว่าหนทางเดียวที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ไม่ใช่โดยการคิดค้น สิ่งซึ่งไม่สามารถเข้าใจได้โดยปัญญาของตนเอง แต่จะดับกิเลสได้โดยสติระลึกลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น การศึกษาปริยัติธรรมทั้งหมด ต้องเพื่อจุดประสงค์ คือ ให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นจะหลงเพลินไปกับการคิดค้น และแสวงหาสิ่งซึ่งอาจจะตัดสินไม่ได้ พร้อมกันนั้นสติก็ไม่ระลึกลักษณะสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏ
อย่างข้อความใน คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ ที่กล่าวถึงพระโสดาบันที่เป็น เอกพิชีบุคคล มีข้อความว่า
อนึ่ง พระโสดาบันบางองค์มีอัชฌาสัยในวัฏฏะ เป็นผู้ยินดีในวัฏฏะ ย่อมท่องเที่ยวไปในวัฏฏะบ่อยๆ นั่นเทียว ปรากฏอยู่ ก็ชนเหล่านี้มีประมาณเท่านี้ คืออนาถบิณฑิกเศรษฐี ๑ วิสาขาอุบาสิกา ๑ จูลรถเทวบุตร ๑ มหารถเทวบุตร ๑ อเนกวรรณเทวบุตร ๑ ท้าวสักกเทวราช ๑ นาคทัตตเทวบุตร ๑
ทั้งหมดนี้มีอัธยาศัยในวัฏฏะ มีความยินดีในวัฏฏะ เกิดในเทวโลก ๖ ชั้น ตั้งแต่ต้น ชำระจิตให้สะอาดในเทวโลกนั่นแหละ แล้วจึงตั้งอยู่ในอกนิฏฐภพ จึงจักปรินิพพาน ชนเหล่านี้ พระองค์มิได้ทรงถือเอาในที่นี้
นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงพระโสดาบันจำพวกอื่นๆ อีก ซึ่งไม่ได้มุ่งหมายในที่นี้ เพราะฉะนั้น ข้อความต้องสอดคล้องกันด้วย อย่างพระโสดาบันจะไม่เกิดเกินกว่า ๗ ชาติ แต่ข้อความที่ว่า พระโสดาบันบางองค์มีอัชฌาสัยในวัฏฏะ เป็นผู้ยินดีในวัฏฏะ ย่อมท่องเที่ยวไปในวัฏฏะบ่อยๆ นั่นเทียว ปรากฏอยู่ ฯ
แต่ลองพิจารณาดูจริงๆ ขณะนี้ท่านวิสาขามิคารมาตาอยู่ในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี และท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ท่านไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปสู่ชั้นจาตุมหาราชิกาและชั้นดาวดึงส์เลย เพราะฉะนั้น ที่ว่าเกิดในเทวโลกบ่อยๆ ก็เป็นไปได้ที่ว่า ชำระจิตให้สะอาดในเทวโลกนั้นแหละ และภพสุดท้ายจึงตั้งอยู่ในอกนิฏฐภพ คือ สุทธาวาสชั้นสูงสุด ซึ่งเป็นภูมิของพระอนาคามีที่ได้ ปัญจมฌาน แต่เทียบดู ท่านก็จะเกิด และก็เกิด และก็เกิด ๗ ชาติ ก็ย่อมจะอยู่ในอกนิฏฐภพได้ เพราะว่าขณะนี้ท่านวิสาขามิคารมาตาก็อยู่ในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
ถ้าอยู่ในชั้นนิมมานรดี ยังอยากไปอยู่ในชั้นจาตุมหาราชิกาไหม แต่ว่า ภูมิสูงขึ้นไปย่อมเป็นที่ปรารถนาเป็นที่ยินดีได้ เช่น พรหมโลก เพราะฉะนั้น ท่านก็ชำระจิตให้สะอาดในเทวโลกนั้นแหละ และเกิดในพรหมโลก ถึงปัญจมฌานก็เกิด ในสุทธาวาสภูมิ จนกระทั่งภพสุดท้ายก็อยู่ในอกนิฏฐภพได้
เพราะฉะนั้น การศึกษาพระไตรปิฎก บางแห่งจะมีข้อความที่ยกเว้นเฉพาะ สัตว์บุคคลบางประเภทบางจำพวก เช่น มนุษย์ มีกำเนิดโดยเป็นโอปปาติกะกำเนิดได้ คือ เกิดเป็นตัวครบได้ทันที ไม่ต้องอยู่ในครรภ์ก็มี แต่ไม่ใช่ในสมัยนี้ เป็นสมัยปฐมกัป ตอนที่เริ่มมีโลกขึ้นใหม่ๆ ในขณะนั้นจะไม่มีสัตว์ที่เกิดในครรภ์ เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาเทียบเคียงโดยกาลสมัย และโดยการยกเว้นเป็นแต่ละบุคคลด้วย ตามที่ได้แสดงไว้ว่า กำเนิดมนุษย์ไม่ได้มีแต่เฉพาะในครรภ์เท่านั้น แต่ยุคนี้สมัยนี้ก็เป็น อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ในสมัยปฐมกัป
ถ. เท่าที่จำได้ พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ส่วนพระสกทาคามีก็ละได้ ๓ นี้ และทำราคะ โทสะ โมหะให้ เบาบางลง ไม่ทราบว่าทำอะไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีว่า กามาสวะส่วนหยาบ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค
คือ ความยินดี พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะส่วนหยาบ พระสกทาคามีก็ละด้วย
สำหรับอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ต้องจำแนกออกเป็น ๙ จำพวก และแสดงว่า แต่ละจำพวก มรรคใดละกิเลสใดบ้าง อกุศลธรรมใดบ้าง
ถ้าโดยนัยของสังโยชน์ ๑๐ พระโสดาบันบุคคลละสักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ แต่อย่าลืมว่าจะต้องละกิเลสอื่นๆ อกุศลธรรมอื่นๆ อันเป็นเหตุให้ไปสู่อบายด้วย เพราะข้อความโดยตรงใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา แสดงไว้กว้าง ไม่ได้จำแนกออกเป็นอกุศลจำพวกต่างๆ แต่แสดงไว้ว่า ทิฏฐาสวะทั้งสิ้น ทั้งหมดเลย พร้อมทั้งกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้ไปสู่อบาย ย่อมสิ้นไปด้วยโสตาปัตติมรรค เพราะฉะนั้น ก็ใช้ข้อความนี้กับอกุศลธรรมจำพวกอื่นๆ ได้ แม้ว่าจะไม่ใช่ประเภทของอาสวะ แต่ต้องเป็นโดย นัยเดียวกัน
สำหรับพระสกทาคามีดับกามาสวะส่วนหยาบ และภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะส่วนหยาบนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค
ข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค แสดงไว้กว้าง ซึ่งจะใช้ประกอบวินิจฉัยในการที่มรรคจิตจะดับอกุศลธรรมจำพวกอื่นๆ ได้
ถ. อาจารย์ช่วยอธิบายกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะส่วนหยาบ ความหมายเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ แม้ว่าจะไม่ใช่ส่วนที่ไปสู่อบาย แต่ก็ยังหยาบ มองเห็นได้ว่าเป็นความรุนแรงของความต้องการที่เป็นไปกับโลภะ อาจจะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แต่ไม่ใช่ ทุจริตกรรม มีไหม ความประพฤติที่ไม่สมควรต่างๆ ที่เกิดเพราะความยินดีพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอย่างหยาบ ไม่ถึงขั้นทำทุจริตกรรม แต่เป็นที่รังเกียจของทุกคนที่รู้ นั่นเป็นกามาสวะส่วนหยาบ ซึ่งสิ้นไปด้วยสกทามิมรรค
แต่สำหรับพระอนาคามีบุคคล ไม่มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้อย่างละเอียด เพราะว่ากามาสวะทั้งสิ้น ทั้งหมด ทุกอย่าง และภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค แต่ว่าสำหรับความยินดีพอใจในภพและอวิชชาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยอรหัตตมรรค
การวินิจฉัยเรื่องของอกุศล จะต้องอาศัยข้อความในพระไตรปิฎก อย่างในเรื่องของความตระหนี่ ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส คุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒ ข้อ ๔๒ แสดงลักษณะของความตระหนี่ว่า
ผู้มีความตระหนี่ชื่อว่าผู้ตกต่ำอย่างไร ความตระหนี่ ๕ ประการ คือ ความตระหนี่ที่อยู่ ความตระหนี่สกุล ความตระหนี่ลาภ ความตระหนี่วรรณะ ความตระหนี่ธรรม ความตระหนี่เห็นปานนี้ อาการตระหนี่ ความเป็นผู้ประพฤติตระหนี่ ความเป็นผู้ปรารถนาต่างๆ ความเหนียวแน่น ความเป็นผู้มีจิตหดหู่ เจ็บร้อนในการให้ ความที่จิตอันใครๆ ไม่เชื่อถือได้ในการให้ นี้เรียกว่าความตระหนี่
อีกอย่างหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความตระหนี่อายตนะก็ดี นี้เรียกว่าความตระหนี่ ความมุ่งจะเอาก็เรียกว่าความตระหนี่ นี้ชื่อว่า ความตระหนี่ ชนผู้ประกอบด้วยความตระหนี่ ไม่รู้จักถ้อยคำที่ยาจกกล่าว ประมาทอยู่แล้ว ผู้มีความตระหนี่อย่างนี้ ชื่อว่าผู้ตกต่ำ
ผู้ตกต่ำ คือ ผู้ที่ไปต่ำ คือ ไปสู่นรกบ้าง ดิรัจฉานกำเนิดบ้าง เปรตวิสัยบ้าง
พิจารณาลักษณะของความตระหนี่ได้ในวันหนึ่งๆ ว่า ผู้ที่ประพฤติตระหนี่ เหนียวแน่น เป็นผู้ที่มีจิตหดหู่ เจ็บร้อนในการให้ ไม่มีความสุขเลยในการที่จะให้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือ ความที่จิตอันใครๆ ไม่เชื่อถือได้ในการให้ เพราะบอกว่าจะให้ แต่ ก็ไม่ให้ นั่นเป็นลักษณะของความตระหนี่
บางคนกล่าวว่า ให้ช่วยติดต่อกับพระภิกษุรูปหนึ่งเพื่อที่จะถวายปัจจัยท่าน เป็นประจำ แต่ว่าศรัทธาทั้งหลาย แม้เพียงก้าวเดียวก็เปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณายับยั้งชั่งใจพอสมควรเพื่อที่จะดูศรัทธาของผู้นั้นว่า มั่นคงจริงหรือเปล่า เพราะว่าเมื่อได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนั้นอีกเลย เพราะฉะนั้น การเป็น ผู้ติดต่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด จะต้องพิจารณาจิตของผู้ที่ให้ว่า เป็นผู้ที่ตระหนี่หรือไม่ ต้องเป็นผู้ที่รอบคอบ เพราะถ้าคนอื่นขอให้รับภาระติดต่อ แต่ ไม่บริจาคเลย ก็เกิดผลเสีย เนื่องจากได้ติดต่อกราบเรียนท่านไว้แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะติดต่อจนกว่าจะแน่ใจจริงๆ ว่า ผู้นั้นมีศรัทธาที่มั่นคง
ถ. เวลาที่ขอทานมาขอ อยากจะให้ แต่เมื่อเห็นสภาพของเขาแล้วก็ไม่ให้ อย่างนี้จะเป็นตระหนี่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เพราะอะไรจึงไม่ให้
ถ. เพราะว่าเขายังมีความสามารถที่จะประกอบอาชีพได้ แต่มาขอทาน ในขณะนั้นเกิดความตระหนี่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ แล้วแต่จิต คือ ไม่ใช่จะต้องให้เสมอไป ต้องมีเหตุผลแม้แต่ในการให้ อย่างเรื่องที่มีผู้ขอให้ติดต่อกับพระภิกษุเพื่อจะถวายปัจจัย ถ้าเป็นผู้ที่รีบร้อนทำอย่างนั้นโดยไม่พิจารณาก่อน ก็เกิดผลเสีย
บางคนอาจจะคิดว่า ทำไมไม่ไปกราบเรียนพระภิกษุรูปนั้น ดูเสมือนเป็นการ กีดกันลาภของบุคคลอื่น แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาก่อนและ จึงกระทำ แต่คนอื่นดูก็เสมือนกับว่า มีผู้ขอร้องให้ติดต่อแต่กลับไม่ติดต่อ ดูราวกับเป็นผู้ตระหนี่ลาภของบุคคลอื่น แต่ความจริงต้องเป็นไปตามเหตุผล ฉันใด การที่จะให้หรือไม่ให้ก็ย่อมเป็นไปตามเหตุผลได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องให้ทุกครั้ง ถ้าให้แล้ว ไม่เป็นประโยชน์ หรือทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรที่จะให้ แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะให้กับบุคคลที่สามารถจะเป็นประโยชน์แก่เขาได้
ถ. คือพิจารณาก่อนว่า ควรให้หรือไม่ควรให้
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
อกุศลเจตสิกทั้งหมดมี ๑๔ ดวง ได้กล่าวถึงแล้ว ๑๓ ดวง ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง คือ วิจิกิจฉาเจตสิก ซึ่งเกิดกับโมหมูลจิต
ในวันนี้จะยังไม่กล่าวถึงเรื่องของโมหมูลจิต แต่จะขอกล่าวถึงอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ซึ่งจำแนกออกเป็น ๙ จำพวก
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 101
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 102
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 103
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 104
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 105
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 106
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 107
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 108
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 109
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 110
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 111
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 112
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 113
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 114
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 115
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 116
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 117
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 118
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 119
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 120
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 121
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 122
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 123
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 124
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 125
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 126
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 127
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 128
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 129
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 130
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 131
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 132
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 133
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 134
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 135
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 136
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 137
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 138
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 139
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 140
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 141
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 142
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 143
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 144
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 145
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 146
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1960
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1961
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1962
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1963