จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 118


    ในวันนี้จะยังไม่กล่าวถึงเรื่องของโมหมูลจิต แต่จะขอกล่าวถึงอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ซึ่งจำแนกออกเป็น ๙ จำพวก เพื่อจะได้เห็นลักษณะของสภาพกิจการงาน ของอกุศลเจตสิกทั้ง ๑๔ ดวงว่าต่างกันอย่างไร

    อกุศลธรรมจำพวกที่ ๑ อาสวะ ได้แก่ เจตสิกเพียง ๓ ดวง คือ โลภเจตสิก เป็น กามาสวะ เกิดกับโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง นอกจากนั้น โลภเจตสิกที่เกิดกับ โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ เป็น ภวาสวะ

    ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เป็น ทิฏฐาสวะ

    โมหเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง เป็น อวิชชาสวะ

    ธรรมอื่น คือ อกุศลเจตสิกนอกจากนี้ ไม่ใช่อาสวะ คือ ไม่ใช่ธรรมที่หมักดองไว้นาน หรือว่าไหลไป หลากไปอยู่ตลอดเวลาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    อกุศลธรรมจำพวกที่ ๒ คือ โอฆะ ๔

    อกุศลธรรมที่ชื่อว่าโอฆะ ด้วยอรรถว่า เพราะทำผู้มีกิเลสให้ดิ่งลง คือ ให้จมลงในวัฏฏะ

    แสดงให้เห็นว่า อกุศลจิตที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งๆ ไม่ได้ทำให้พ้นไปจากอกุศลธรรมเลย ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ไม่สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมใดๆ แต่เป็นสภาพธรรมที่ทำให้ดิ่งลง คือ ให้จมลงในวัฏฏะ

    โอฆะ ๔ ได้แก่ โอฆะคือกาม ๑ โอฆะคือภพ ๑ โอฆะคือทิฏฐิ ๑ โอฆะคืออวิชชา ๑

    โดยสภาพธรรมแล้วเหมือนกับอาสวะ แต่อาสวะเป็นสภาพธรรมที่หมักดองสะสมไว้นาน และหลากไป ไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่สภาพธรรมเหล่านี้เองเวลาที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ดิ่งลง คือ จมลงในวัฏฏะ

    อกุศลธรรมจำพวกที่ ๓ คือ โยคะ ๔

    อกุศลธรรมที่ชื่อว่าโยคะ ด้วยอรรถว่า เพราะประกอบบุคคลผู้มีกิเลสไว้ในวัฏฏะ ได้แก่ โยคะคือกาม ๑ โยคะคือภพ ๑ โยคะคือทิฏฐิ ๑ โยคะคืออวิชชา ๑

    เหมือนกันกับอาสวะและโอฆะนั่นเอง แต่ที่เป็นโยคะเพราะว่าประกอบ ตรึงสัตว์นั้นไว้ในวัฏฏะ อุปมาเหมือนกับคนจมน้ำ ล้อมรอบไปด้วยน้ำทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องซ้าย เบื้องขวา เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรม ๔ อย่างนี้เกิดขึ้น คือ เป็นอาสวะไหลไป หลากไป เป็นโอฆะทำให้จมลง และเป็นโยคะที่ประกอบไว้ในวัฏฏะ เพราะล้อมรอบทั้งข้างบน ข้างล่าง ข้างซ้าย ข้างขวา

    อกุศลธรรมจำพวกที่ ๔ คือ อุปาทาน ๔

    อกุศลธรรมที่ชื่อว่าอุปาทาน ด้วยอรรถว่า ยึดมั่น ได้แก่ กามุปาทาน ยึดมั่นกาม ๑ ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นทิฏฐิ ๑ สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นข้อปฏิบัติผิด ๑ อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นอัตตา ๑

    ข้อสังเกต อุปาทาน ๔ ไม่มีภพคืออุปาทาน แต่ความจริงไม่ใช่ว่าไม่มี มี แต่รวมอยู่ในกามุปาทานนั่นเอง เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมจำพวกใดซึ่งไม่แยกกามกับภพ มีเพียงกามอย่างเดียว อกุศลธรรมนั้นย่อมรวมภพไว้ในกามด้วย

    สำหรับกามุปาทาน ใครละได้ ในที่นี้ไม่แยกกามกับภพ เมื่อไม่แยก ก็รวมความยินดีในภพในกามุปาทานด้วย เพราะฉะนั้น กามุปาทานต้องละด้วยอรหัตตมรรค แต่ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นทิฏฐิ สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นข้อปฏิบัติที่ผิด และอัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นอัตตานั้น ละได้ด้วยโสตาปัตติมรรค เพราะว่าได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก

    เพราะฉะนั้น สำหรับอุปาทาน มีเจตสิก ๒ ดวงเท่านั้น คือ โลภเจตสิกและ ทิฏฐิเจตสิก

    โลภเจตสิกเป็นทั้งกามุปาทานที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และความยินดีในภพด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องละด้วยอรหัตตมรรค

    ไม่ว่าจะเป็นธรรมหมวดใดทั้งสิ้น ถ้าไม่แยกกามกับภพ หมายความว่ารวมภพไว้ในกามและต้องละด้วยอรหัตตมรรค แต่ถ้าแยก อนาคามิมรรคละความยินดีพอใจในกาม แต่อรหัตตมรรคละความยินดีพอใจในภพ

    . ทิฏฐุปาทานและสีลัพพตุปาทาน ต่างกันอย่างไร เพราะถ้าเห็นผิดก็ต้องปฏิบัติผิดแน่ และถ้าปฏิบัติผิดก็ต้องเห็นผิดแน่

    ท่านอาจารย์ บางคนไม่ได้ปฏิบัติอะไร มีแต่เพียงความเห็นว่า ตายแล้วสูญไปเลย ก็สนุกสนานรื่นเริงไปวันหนึ่งๆ แต่ถ้ามีความเข้าใจข้อปฏิบัติผิดคิดว่าเป็นข้อปฏิบัติถูก ขณะนั้นเป็นสีลัพพตุปาทาน เป็นการยึดมั่นในข้อปฏิบัติที่ผิด

    . ถ้ามีแต่ความยึดมั่นในความเห็นผิด อาจจะไม่มีความยึดมั่นใน ข้อปฏิบัติผิดก็ได้ ถ้าไม่ได้ปฏิบัติอะไร ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเห็นผิดว่า ตายแล้วสูญ ก็สนุกสนานรื่นเริงไป ไม่ได้ปฏิบัติอะไร ก็มีแต่ทิฏฐุปาทาน

    . อวิชชารวมอยู่ในกามุปาทานด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่รวม

    . อวิชชาไปไหน

    ท่านอาจารย์ เป็นอาสวะ

    เพราะฉะนั้น อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง แยกเป็นจำพวกต่างๆ เป็นอกุศลธรรม ๙ จำพวก บางประเภทเป็นอาสวะ บางประเภทเป็นโอฆะ บางประเภทเป็นโยคะ

    อวิชชาเป็นอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะ แต่ไม่เป็นอุปาทาน

    โดยมากในบางพระสูตรจะไม่กล่าวไว้ทั้ง ๙ กอง จะเว้นไม่กล่าวบางจำพวก แต่รวมทั้งหมดแล้วมี ๙ แล้วแต่ว่าจะลำดับอย่างไร แต่ถ้าลำดับตามข้อต่างๆ ในพระสูตร บางสูตรคันถะจะเป็นจำพวกที่ ๕

    . อรหัตตผลจิตจะเกิดอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ อรหัตตมรรคจิตเกิดขึ้นขณะเดียวและไม่เกิดอีกเลย มรรคจิตทั้ง ๔ ดวงในสังสารวัฏฏ์จะไม่เกิดซ้ำ ส่วนผลจิตจะเกิดอีกได้ถ้าผู้นั้นได้ฌานสมาบัติ คือ จะเกิดอีกหลังจากที่มรรควิถีจิตดับแล้ว โดยเกิดดับสืบต่อกันเป็นผลสมาบัติ

    . ถ้าไม่ได้ฌาน จะไม่มีทางเกิดได้อีก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หลังจากมรรควิถีดับแล้ว ผลจิตก็ไม่เกิดอีก

    . พระอรหันต์จำเป็นหรือไม่ที่ต้องบวชเป็นพระภิกษุ

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างคฤหัสถ์ได้ สุดวิสัยที่จะอยู่ร่วมกับคฤหัสถ์ได้อีกต่อไป บางคนยังไม่ต้องเป็นถึงพระอรหันต์ ก็ยังอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว ใช่ไหม

    . หมายความว่า ไม่เข้าใจกัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คุณธรรมต่างกันแสนไกล

    ได้กล่าวถึงเรื่องของอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท จำแนกออกเป็น ๙ จำพวก เพื่อจะได้เห็นลักษณะหน้าที่การงานต่างๆ ของอกุศลเจตสิกเหล่านั้น และจะได้เห็นความวิจิตรของอกุศลเจตสิกที่เกิดกับจิตประเภทต่างๆ ซึ่งพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ สามารถดับกิเลสได้ตามขั้นของอกุศลธรรมด้วยอริยมรรคนั้นๆ

    การศึกษาเรื่องของอกุศลจิต ๑๒ ดวง และอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ซึ่งจำแนกออกเป็นอกุศลธรรม ๙ จำพวกนี้ ควรจะน้อมมาพิจารณาสภาพธรรมที่ตนเองเพื่อให้เข้าใจชัด และเพื่ออบรมเจริญปัญญาที่จะดับอกุศลธรรมจำพวกนั้นๆ ได้เป็นสมุจเฉทโดยถูกต้อง เพราะว่ากิเลสนั้นละยากและละเอียดจริงๆ

    ถ้าไม่แสดงอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งมีทั้งอย่างละเอียดจนกระทั่งอย่างที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ ก็ย่อมไม่รู้ว่า การละอกุศลธรรมแต่ละประเภทนั้น เป็นเรื่องที่ยากจริงๆ

    อย่างโลภเจตสิก ซึ่งทุกคนรู้จักดี เพราะว่าเป็นสภาพที่ติดใจ ต้องการ พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ มีตั้งแต่เป็นอาสวะที่หมักดอง และไหลไปตามทวารต่างๆ ทั้ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอกุศลธรรมจำพวกอาสวะ โอฆะ โยคะ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะสังเกตได้ว่าการที่มีความต้องการ มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะตามปกติจริงๆ ในชีวิตประจำวัน จะทำให้เกิดการติด การยึดมั่นที่เป็นอุปาทาน คือ กามุปาทาน ซึ่งทุกคนก็ยอมรับว่า ยากเหลือเกินที่จะละความยึดติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้

    ถ้าใครเข้าใจว่าละได้ง่ายๆ เพียงแต่ปล่อยวาง และคิดว่าไม่ได้พอใจในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ติด ไม่ข้อง เป็นผู้ที่ละวางแล้ว โดยที่ปัญญายังไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็แสดงว่า ผู้นั้นไม่ได้รู้ลักษณะของความติดหรือ ความพอใจที่สะสมมานานและมีอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งนอกจากจะเป็นอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะแล้ว ยังเป็นอุปาทานด้วย

    ซึ่งในชีวิตประจำวันจะเห็นได้จริงๆ ว่า วันหนึ่งๆ คงจะมีเวลาเพื่อที่จะศึกษาธรรม อ่าน ฟัง พิจารณา หรือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ้าง แต่เมื่อเทียบขณะที่สนใจธรรม อ่านธรรม พิจารณาธรรม ศึกษาธรรม สนทนาธรรม หรือขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ กับขณะอื่นๆ จะเห็นได้ว่า น้อยเหลือเกิน เพราะขณะที่กำลังสนทนาธรรม หรือกำลังคิดถึงเรื่องธรรม กำลังพิจารณาธรรม ก็เพียงชั่วครู่ชั่วยาม เดี๋ยวเดียวจริงๆ เรื่องอื่นซึ่งเป็นเรื่องของรูป เรื่องของเสียง เรื่องของกลิ่น เรื่องของรส เรื่องของโผฏฐัพพะ เรื่องของความยินดีพอใจในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุขต่างๆ ก็เข้ามาทันที

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า โลภะละยากจริงๆ และความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะซึ่งเป็นกามุปาทาน ก็ทำให้เกิดความยึดมั่น พอใจ ต้องการที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมาเพื่อตน เพราะฉะนั้น ก็มีความสำคัญในตน เมื่อมีความยินดีพอใจสะสมติดแน่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เกิดความยึดมั่นว่า เป็นตัวตน เป็นเราขึ้น

    เมื่อมีความยึดมั่นในตัวตนซึ่งเป็นอัตตวาทุปาทาน ก็พอใจที่จะให้ตัวตนนั้นมีความสุข ไม่มีใครต้องการให้ตัวตนนี้เดือดร้อนเป็นทุกข์เลย เพราะฉะนั้น ก็พยายามแสวงหาทางที่จะพ้นทุกข์ต่างๆ และถ้าไม่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมให้ละเอียดรอบคอบก็อาจจะทำให้คิดว่า มีวิธีอื่นที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้โดยไม่ต้องอบรมเจริญปัญญา คือ เป็นไปในเรื่องของการถือมงคลตื่นข่าวต่างๆ ด้วยอำนาจของความพอใจที่จะแสวงหาความสุขให้แก่ตนนั่นเอง ทำให้เกิดทิฏฐุปาทาน คือ การยึดมั่นในความเห็นผิดต่างๆ

    นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าเป็นผู้ไม่มีความยึดมั่นในความเห็นผิดอื่น เป็นผู้ฟัง พระธรรม มีความเข้าใจในพระธรรม ต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อดับกิเลส แต่ถ้าการศึกษาและการพิจารณาไม่ละเอียดรอบคอบ ก็เป็นเหตุทำให้เข้าใจข้อปฏิบัติคลาดเคลื่อน และปฏิบัติผิดจากเหตุและผล เป็นสีลัพพตุปาทานได้ เช่น คิดว่า ถ้าไม่บริโภคเนื้อสัตว์จะทำให้ดับกิเลสได้ นี่เป็นความเข้าใจผิดที่ไม่ได้ศึกษาเหตุและผลตามความเป็นจริงว่า ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่เจริญ ไม่มีอะไรที่จะดับกิเลสได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเพียงว่า การไม่บริโภคเนื้อสัตว์จะทำให้ดับกิเลส และ ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ โดยคิดว่ากิเลสจะลดน้อยลงไปเพราะการไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ก็เป็นสีลัพพตุปาทาน เป็นการเข้าใจข้อปฏิบัติที่ผิด ทำให้ไม่สามารถอบรมเจริญข้อปฏิบัติที่ถูกได้

    มีท่านผู้ฟังที่ขอเวลาสนทนาด้วย และขอข้อปฏิบัติที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ในชีวิตประจำวันซึ่งสอดคล้องกับการไม่บริโภคเนื้อสัตว์ด้วย นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ เพราะว่าการไม่บริโภคเนื้อสัตว์มีประโยชน์สำหรับสุขภาพร่างกาย ก็จริง แต่ก็มีผู้ที่เคยไม่บริโภคเนื้อสัตว์ และภายหลังก็บริโภคเนื้อสัตว์ เพราะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและลำบาก ไม่ใช่เป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย

    ถ้าเป็นผู้ที่เห็นว่าการไม่บริโภคเนื้อสัตว์มีประโยชน์กับสุขภาพร่างกาย แต่ว่าแล้วแต่เหตุการณ์ คือ ไม่ทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อนวุ่นวาย เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องบริโภคสิ่งอื่นก็สามารถบริโภคได้ โดยที่ไม่ยึดถือว่าจำเป็นต้องไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ก็จะ เป็นทางสายกลางได้

    แต่ไม่ใช่หมายความว่า เมื่อมีผู้ที่สนใจจะไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่สมควร และคิดว่าการเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ควรบริโภคเนื้อสัตว์ด้วย นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าการที่จะดับกิเลสได้ต้องเพราะปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    บางท่านเมื่อได้อ่านพระสูตรที่ว่า การเจริญอานาปานสติมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เช่น ข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อานาปานสังยุต เอกธรรมวรรคที่ ๑ ข้อ ๑๓๐๕ – ๑๓๔๗ ก็พยายามจะเจริญอานาปานสติ

    นี่เป็นเรื่องที่ผ่านพระสูตรบางตอน และพยายามจริงๆ ที่จะได้ผล เพราะว่า อานาปานสติมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แต่ต้องเข้าใจว่าการที่อานาปานสติจะมีผลมาก มีอานิสงส์มากนั้น สำหรับผู้ที่สติระลึกลักษณะของลมหายใจและปัญญารู้ชัดเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น เวลานี้กำลังเห็น กำลังได้ยิน สติระลึกที่ลมหายใจหรือเปล่า อานาปานสติที่จะมีผลมาก มีอานิสงส์มากนั้น สำหรับผู้ที่สติระลึกลักษณะของ ลมหายใจ ไม่ใช่ผู้ที่เจาะจงตั้งใจที่จะจดจ้องที่ลมหายใจ แต่ต้องเป็นผู้ที่สติระลึกที่ ลมหายใจและปัญญารู้ชัด

    ข้อความในพระไตรปิฎก ไม่ได้แสดงแต่ผลมากอานิสงส์มากของอานาปานสติ ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อนุรุทธสังยุต รโหคตวรรคที่ ๑ ข้อ ๑๒๕๓ – ๑๒๙๙ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นข้อความก่อนอานาปานสังยุต แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่รอบคอบ เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติระลึกที่ลมหายใจ ปัญญาต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จึงจะมีอานิสงส์มาก มีผลมากได้

    สำหรับผู้ที่ไม่ได้เจาะจงทำอานาปานสติสมาธิ แต่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ย่อมจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดอยู่ตลอดเวลาที่จะสังเกตพิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นสัมมาสติหรือเปล่า เพราะตามที่มีท่านผู้ฟังถามว่า ก่อนนอนควรจะเจริญสติไหม หรือว่าเมื่อตื่นนอนควรจะเจริญสติไหม ถ้าไม่ลืมข้อความที่ว่า ควรมีสติทุกเมื่อ จะไม่มีข้อสงสัยเลยว่าก่อนนอนควรจะเจริญสติไหม หรือว่าตื่นนอนแล้วควรจะเจริญสติไหม เพราะท่านผู้นั้นคงจะคิดว่า ควรที่จะให้สัมมาสติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเอง แต่ขอให้ทราบว่า ในตอนเริ่มแรกที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ความเป็นตัวตน ความเป็นสัตว์บุคคลยังมีมาก เพราะฉะนั้น แม้ว่าในขณะนั้นเป็นสติที่เกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ความเป็นตัวตนยังมีอยู่จึงดูเสมือนว่า เราทำสติ หรือว่าเราเจริญสติ จนกว่าปัญญาจะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏค่อยๆ เพิ่มขึ้น และค่อยๆ ละคลายความเป็นเราที่กำลังเจริญสติออก จึงจะเป็นสติเจริญขึ้น

    นี่เป็นความละเอียดที่จะต้องสังเกตอยู่ตลอดเวลาว่า ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ย่อมทำกิจละ แต่ถ้าปัญญานั้นยังไม่พอ ก็ต้องอบรมเจริญสติ โดยการระลึกอยู่เสมอว่า ควรมีสติทุกเมื่อ

    ถ้าระลึกถึงพระธรรมที่ว่า ควรมีสติทุกเมื่อ ก็จะเป็นผู้ที่สะสมสติ โดยที่ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะนิ่ง จะคิด จะหยิบหนังสือ จะบริโภคอาหาร หรือจะทำอะไรก็ตาม สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งแต่ก่อนนี้สติคงจะไม่เกิดถ้าไม่รู้ว่าสติปัฏฐานมีลักษณะอย่างไร คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ แม้ว่าปัญญายังรู้ไม่ชัด จะไปฝืนให้ปัญญารู้ชัดทันทีก็ไม่ได้ แต่จะรู้ว่าที่ปัญญาจะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมขึ้น ก็ในขณะที่ สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ทางตาเห็น ทางหูกำลังได้ยิน ทางจมูกอาจจะมีกลิ่นปรากฏหรือไม่มี ทางลิ้น ทางกายกระทบสิ่งที่สัมผัส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ทางใจกำลังคิดนึก ควรมีสติทุกเมื่อ ขณะนี้อาจจะเป็นปัจจัยทำให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ปัญญายังไม่รู้ชัด เป็นเรื่องของปัญญาซึ่งจะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น อย่ากังวล และควรจะรู้ว่า ขณะนั้นสติเกิดชั่วขณะหนึ่งและสติก็ต้องดับ สติจะระลึกที่สิ่งที่อ่อน หรือที่แข็ง หรือที่เย็น หรือระลึกที่ริมฝีปากที่กำลังกระทบกัน หรือที่เสียง หรือที่สภาพรู้ อะไรๆ ก็ได้ ระลึกก่อน แม้ว่าปัญญายังไม่รู้ชัด แต่ให้เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นขณะที่สติเกิด และการศึกษาลักษณะของสภาพธรรม ต้องเจริญขึ้นทีละน้อยในขณะที่สติระลึก คือ เพิ่มการรู้ลักษณะของสภาพรู้ หรือสิ่งที่ปรากฏซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ แยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมออก ตลอดไปในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกี่ชาติก็ตาม จนกว่าลักษณะของนามธรรมจะปรากฏทางมโนทวาร ลักษณะของรูปธรรมจะปรากฏทางมโนทวาร โดยจะต้องสังเกตว่า ต้องมีการละคลายด้วย อย่ามีการจดจ้องต้องการที่จะทำอยู่ตลอดเวลา

    นี่คือสิ่งซึ่งละเอียดที่จะต้องพิจารณา เพราะบางคนถามว่า ถ้าหาปัจจัยให้สติเกิด เช่น สนทนาธรรมกับสหายธรรมในเรื่องของอภิธรรมบ้าง ในเรื่องของการเจริญ สติปัฏฐานบ้าง ก็รู้ว่าขณะนั้นย่อมเป็นปัจจัยให้ปัญญาเจริญขึ้น เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้ระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรม จะโดยขั้นการฟังหรือว่าโดยขั้นการคิด หรือจะโดยขั้นที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็แล้วแต่ จะมิใช่เหมือนกับเป็นการจงใจหรือ นี่เป็นความคิดซึ่งคิดว่าจะมีความจงใจแอบแฝงอยู่ จะไม่เป็นสัมมาสติ

    แต่ต้องพิจารณาว่า ใครก็ตามที่จะอ่านพระไตรปิฎก หยิบหนังสือขึ้นมาและ คิดว่าเพื่อให้สติเกิดในขณะที่กำลังอ่าน ขณะนั้นผิด แต่ถ้าอ่านเพื่อที่จะเข้าใจและรู้ว่าจะเป็นปัจจัยเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิด สติอาจจะเกิดหลังจากที่อ่านจบปิดหนังสือและเอาหนังสือไปเก็บ หรืออาจจะหลังจากนั้นอีกนานก็ได้ หรือแม้แต่ในขณะที่กำลังอ่านนั้นเองก็อาจจะระลึกได้ว่า ทางตาที่กำลังเห็น ต่างกับทางใจที่กำลังคิดคำที่กำลังอ่าน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจุดประสงค์จงใจที่จะให้สติเกิดในขณะนั้นในขณะนี้ ย่อมเป็นสัมมาสติ แต่ถ้าอ่านเพราะคิดว่าเพื่อให้สติเกิดในขณะที่กำลังอ่าน ขณะนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะว่ามีความต้องการ มีความจงใจ มีความตั้งใจ ไม่เห็นว่า สติเป็นอนัตตา

    แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้เหตุปัจจัยว่าปัญญาจะเจริญได้อย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 20
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ