จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 128


    สังยุตตนิกาย นิทานวรรค คิญชกาวสถสูตร ข้อ ๓๖๑ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระตำหนักที่สร้างด้วยอิฐ ใกล้หมู่บ้านของ พระญาติ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย

    ข้อ ๓๖๓

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร กัจจานะ ธาตุคืออวิชชานี้ เป็นธาตุใหญ่แล ดูกร กัจจานะ สัญญา ที่เลว ทิฏฐิที่เลว วิตกที่เลว เจตนาที่เลว ความปรารถนาที่เลว ความตั้งใจที่เลว บุคคลที่เลว วาจาที่เลว บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยธาตุที่เลว บุคคลที่เลวนั้นย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมแต่งตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก ย่อมทำให้ตื้น ซึ่งธรรมที่เลว เรากล่าวว่า อุปบัติของบุคคลที่เลวนั้น ย่อมเลว

    ผู้ที่เลว คือ ผู้ที่มีอกุศลจิต อกุศลจิตเกิดขึ้นในขณะใด เป็นผู้เลวในขณะนั้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร กัจจานะ สัญญาที่ปานกลาง ทิฏฐิที่ปานกลาง วิตกที่ปานกลาง เจตนาที่ปานกลาง ความปรารถนาที่ปานกลาง ความตั้งใจที่ปานกลาง บุคคลที่ ปานกลาง วาจาที่ปานกลาง บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยธาตุที่ปานกลาง บุคคลที่ ปานกลางนั้นย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมแต่งตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก ย่อมทำให้ตื้นซึ่งธรรมที่ปานกลาง เรากล่าวว่า อุปบัติของบุคคลที่ ปานกลางนั้น เป็นปานกลาง

    ธรรมที่เป็นธรรมปานกลางทั้งหมดซึ่งทำให้เป็นบุคคลที่ปานกลาง คือ โลกียกุศลทั้งหมด เป็นธรรมที่ปานกลาง

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร กัจจานะ สัญญาที่ประณีต ทิฏฐิที่ประณีต วิตกที่ประณีต เจตนาที่ประณีต ความปรารถนาที่ประณีต ความตั้งใจที่ประณีต บุคคลที่ประณีต วาจาที่ประณีต บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยธาตุที่ประณีต บุคคลที่ประณีตนั้นย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมแต่งตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก ย่อมทำให้ตื้นซึ่งธรรมที่ประณีต เรากล่าวว่า อุปบัติของบุคคลที่ประณีตนั้น ย่อมประณีต ฯ

    บุคคลที่ประณีต ได้แก่ โลกุตตรธรรม โลกุตตรกุศล โลกุตตรวิบาก และนิพพาน เป็นธรรมที่ประณีต

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง ย่อมแสดงตามธรรมว่า บุคคลใดจัดเป็นบุคคลเลว คือ บุคคลที่สัญญาที่เลว ทิฏฐิคือความเห็นที่เลว วิตกคือความตรึกหรือความดำริที่เลว เจตนาคือความจงใจหรือความตั้งใจที่เลว ความปรารถนาที่เลว บุคคลที่เลว วาจาที่เลว บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยธาตุที่เลว บุคคลที่เลวนั้นย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมแต่งตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก ย่อมทำให้ตื้นซึ่งธรรมที่เลว

    ถ้าเป็นผู้ที่มีอกุศล มีความเห็นผิด มีข้อปฏิบัติที่ผิด ย่อมบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้นซึ่งธรรมที่เลว เพราะอวิชชา สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร กัจจานะ ธาตุคืออวิชชานี้ เป็นธาตุใหญ่แล

    ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ยากที่จะเข้าใจว่า อวิชชามากมายสักแค่ไหน ขณะที่กำลังเห็นและไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง เพราะว่าอวิชชาปิดบังลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ

    อวิชชา ตรงกันข้ามกับปัญญา ไม่สามารถรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทซึ่งเล็กที่สุดที่อยู่กลางตา เมื่อกระทบแล้ว ก็ปรากฏเป็นโลกที่ กว้างใหญ่ เต็มไปด้วยสัตว์บุคคลต่างๆ

    นี่คือหน้าที่ของอวิชชา คือ ปกปิดลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ว่า ตามความเป็นจริง มีใครบ้างที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปรากฏเพียงเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ดูเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจดี เข้าใจตรง แต่ว่ารู้จริงๆ อย่างนี้หรือเปล่าว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงของจริงที่กระทบจักขุปสาทและปรากฏ และดับ

    นี่คืออวิชชา เป็นธาตุที่ปกปิดลักษณะของสภาพธรรม ทำให้ไม่เห็น สภาพธรรมตามความเป็นจริง ส่วนวิชชาหรือปัญญานั้นตรงกันข้าม เมื่อใดที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาเจริญขึ้น โดยน้อมพิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏโดยไม่เปลี่ยน สิ่งที่กำลังปรากฏก็กำลังปรากฏอย่างนี้เอง เพียงแต่ปัญญาเริ่มน้อมพิจารณาให้เข้าใจขึ้นจริงๆ ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท จนกระทั่งรู้ว่า เป็นสัจธรรม เป็นความจริง และระลึกบ่อยๆ จนละคลายความยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลที่เที่ยง เพราะเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับทวารอื่น เช่น หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขั้นของการศึกษา และพิจารณา จะทำให้เห็นลักษณะของอวิชชาได้ว่า มีความไม่รู้เป็นลักษณะ มีความมืดของจิตหรือความไม่รู้นั่นเองเป็นลักษณะ เมื่อไม่รู้ก็ต้องมืด เพราะว่าไม่สามารถเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    สำหรับรสะ คือ กิจ ของอวิชชา ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ปฏิจจสมุปปาทวิภังคนิทเทส แสดงว่า มีความหลงพร้อมเป็นรสะ คือ เป็นกิจ แต่ใน อัฏฐสาลินี มีความไม่แทงตลอดเป็นรสะ หรือมีความปกปิดสภาวะของอารมณ์ เป็นรสะ ซึ่งมีความหมายเดียวกัน คือ เมื่อไม่รู้ลักษณะของอารมณ์ เป็นสภาพที่ปกปิดลักษณะของอารมณ์ ไม่ให้เห็นลักษณะของอารมณ์ตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็นความหลงพร้อม ทุกวันๆ ที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางกาย

    สำหรับปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ ใน อัฏฐสาลินี แสดงว่า อสัมมาปฏิปัตติปัจจุปัฏฐาโน อันธการปัจจุปัฏฐาโน วา มีความไม่ปฏิบัติชอบ เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีอันธการ คือ มืดมน เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ

    ความไม่ปฏิบัติชอบนี่ ต้องทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการไม่ปฏิบัติชอบทางกายเกิดขึ้นขณะใด ให้หยั่งลงไปถึงความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมแม้ที่เป็นกุศลหรืออกุศลในขณะนั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นกายทุจริตหรือว่าวจีทุจริตได้ ในขณะที่คิดไม่ดีเป็นอกุศล ขณะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ระลึกได้ย่อมรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพราะอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    สังยุตตนิกาย นิทานวรรค หีนาธิมุตติสูตร ข้อ ๓๖๔ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมคบค้า ย่อมสมาคมกันโดยธาตุเทียว คือ สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้า ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้า ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี

    แม้ในอดีตกาล สัตว์ทั้งหลายก็ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้วโดย ธาตุเทียว คือ สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้วกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้วกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี

    แม้ในอนาคตกาล สัตว์ทั้งหลายก็จักคบค้ากัน จักสมาคมกันโดยธาตุเทียว คือ สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว จักคบค้ากัน จักสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี จักคบค้ากัน จักสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี

    แม้ในปัจจุบันกาล สัตว์ทั้งหลายก็ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันโดยธาตุเทียว คือ สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ฯ

    การคบหาสมาคมเป็นไปตามธาตุ คือ จะพอใจคบกับบุคคลใดก็เป็นไปตามธาตุ ถ้าเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด ก็จะคบหาสมาคมกันกับผู้ที่มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้น การคบหาสมาคมเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้กุศลธรรมเจริญ หรือ อกุศลธรรมเจริญ จะทำให้ความเห็นผิดเจริญ หรือจะทำให้ความเห็นถูกเจริญ จะทำให้ปัญญาเจริญ หรือจะทำให้อวิชชาเจริญ

    สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๓๕๗

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษวางคบหญ้าที่ไฟติดแล้วในป่าหญ้าแห้ง ถ้าหากเขาไม่รีบดับด้วยมือและเท้าไซร้ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ สัตว์มีชีวิตทั้งหลาย บรรดาที่อาศัยหญ้าและไม้อยู่ พึงถึงความพินาศ แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ คนใดคนหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่รีบละ ไม่รีบบรรเทา ไม่รีบทำให้สิ้นสุด ไม่รีบทำให้ไม่มีซึ่งอกุศลสัญญาที่ก่อกวนอันบังเกิดขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์นั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความอึดอัด คับแค้น เร่าร้อนในปัจจุบัน เบื้องหน้าแต่มรณะเพราะกายแตก พึงหวังทุคติได้ ฯ

    เป็นการเตือนให้ทุกคนเร่งรีบละหรือบรรเทาอกุศล อุปมาเหมือนกับคนที่วาง คบหญ้าที่ไฟติดแล้วในป่าหญ้าแห้ง ให้คิดถึงสภาพของอกุศลที่จะเจริญขึ้นเหมือน กองไฟที่จะเจริญขึ้นเมื่อเอาคบไฟที่ติดไฟวางไว้บนหญ้าแห้ง เพราะฉะนั้น ควรศึกษาธรรมเพื่อพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะละคลายความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

    . บุคคลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แบ่งเป็น ๔ จำพวก คือ อุคฆฏิตัญญู วิปัญจิตัญญู เนยยบุคคล และปทปรมะ ผู้ที่เป็น ปทปรมะ รู้แจ้งไม่ได้ หมายความถึงพวกนอกศาสนาด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าใครที่ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินี้ เป็นปทปรมบุคคล

    . แม้แต่พวกเดียรถีย์ พวกนอกศาสนาทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ใครก็ตาม แม้แต่ผู้ฟังพระธรรมมาก ศึกษาพระธรรมมาก พิจารณา พระธรรมมาก แสดงพระธรรมมาก พากเพียรที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินี้ ก็เป็นปทปรมบุคคล

    ผู้ที่เป็นเนยยบุคคล คือ ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม และพิจารณา ศึกษา ใคร่ครวญ อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเวลานานกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินี้ได้ จึงเป็นเนยยบุคคล

    แต่ถึงแม้จะฟัง พิจารณา และเข้าใจ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ฟัง หรือตามที่ได้พิจารณา ตามที่ได้เข้าใจ ก็ยังไม่เป็นเนยยบุคคล เป็นผู้ที่สะสม ในการฟัง ในการพิจารณา มีเหตุมีปัจจัยให้สติระลึกได้ แต่เมื่อยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ไม่ใช่เนยยบุคคล

    เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นสิ่งที่ยากจริงๆ แต่สามารถพิจารณาจนกระทั่งสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และรู้ลักษณะของ สภาพธรรมได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะค่อยๆ เป็นไปทีละเล็กทีละน้อย เช่น ในเรื่องของ ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน และทางใจที่กำลังคิดนึกในขณะนี้ ควรที่สติจะระลึกได้จริงๆ หลังจากที่ได้ฟังมานานในเรื่องของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ที่กำลังได้ยินเสียง ที่กำลังปรากฏทางหู

    เมื่อได้ศึกษาวิถีจิตทางตา วิถีจิตทางใจซึ่งเป็นมโนทวารวิถี และ วิถีจิตทางหูซึ่งเป็นโสตทวารวิถีแล้ว จะเห็นความห่างไกลกันของจักขุวิญญาณซึ่งกำลังเห็น และโสตวิญญาณซึ่งกำลังได้ยิน

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง ขอให้พิจารณาให้เข้าจริงๆ ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาห่างหรือต่างกับเสียงและได้ยินที่กำลังได้ยินทางหู ในขั้นของความเข้าใจ และในขั้นที่กำลังระลึกขณะนี้ อาจจะระลึกทางตา และอาจจะระลึกทางหู จะเห็นได้ว่า คนละขณะจริงๆ พร้อมกันไม่ได้ เมื่อระลึกทางตานิดหนึ่ง ก็ผ่านไป และระลึก ทางหู ก็ยังเห็นได้ว่าห่างกันจริงๆ เพราะว่าไม่สามารถจะให้ต่อเนื่องกันได้

    แต่แม้อย่างนั้น ในระหว่างจักขุทวารวิถีและโสตทวารวิถี มีภวังคจิตเกิดคั่น หลังจากที่จักขุทวารวิถีจิตดับ เมื่อภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตยังเกิดคั่นอีกหลายวาระโดยที่มีภวังคจิตคั่น และจึงจะเป็นโสตทวารวิถีได้

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องวิถีจิต เพื่อให้เข้าใจว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเสมือนพร้อมกัน แท้จริงแล้วเป็นสภาพธรรมที่เกิดต่างขณะกันมาก ซึ่งสติสามารถระลึกจนกว่าจะแยกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเสมือนพร้อมกันนี้ออกได้

    . สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ทั้ง ๖ ทาง อาจารย์ได้พูดมามากแล้ว ฟังก็มาก อ่านก็มาก แต่ผู้ที่ยังไม่ได้ประจักษ์ คงจะพูดไม่ได้เหมือนอย่างผู้ที่ประจักษ์ อาการรู้ สภาพรู้ ธาตุรู้นี้ อาจารย์ช่วยให้ข้อสังเกตหรืออะไรซึ่งคงจะไม่ใช่เป็นวิธี เพื่อที่จะให้ชัดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ถ้าสติไม่ระลึก ไม่สามารถแยกจากสิ่งที่เป็นรูปที่กำลังปรากฏได้ เช่น ทางตาในขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแน่นอน และย่อมมีธาตุรู้ สภาพรู้ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาแน่นอน

    โดยการศึกษารู้จริงๆ ว่าเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อไรจะรู้จริงๆ ว่าเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ต้องเพราะสติเกิด ไม่หลงลืมที่จะน้อมพิจารณาว่า ขณะนี้มีสภาพรู้ จริงๆ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง เมื่อเป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่รูปร่างสัณฐานต่างๆ จึงเป็นแต่เพียงอาการรู้หรือลักษณะรู้เท่านั้นเอง ต้องระลึกไปเรื่อยๆ เท่านั้น และจะเห็นได้ว่า ที่ไม่สามารถรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือสภาพรู้ที่กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา ต่างกับขณะที่กำลังได้ยินเสียง เพราะว่ามีมโนทวารวิถีจิต และภวังคจิตคั่นอยู่มากหลายวาระ

    ทุกคนศึกษาเรื่องมโนทวารวิถีก็เข้าใจว่า เมื่อจักขุทวารวิถีดับ ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดรับรู้รูปารมณ์หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาต่อวาระหนึ่ง ภวังคจิตเกิดคั่น และมโนทวารวิถีจิตก็เกิดอีกเพื่อจะรู้ถึงรูปร่างลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาว่าเป็นสิ่งใด แสดงให้เห็นว่า มีจิตหลายขณะที่เป็นมโนทวารวิถีซึ่งดูเสมือนหลบซ่อนอยู่ เพราะไม่ปรากฏทางตาเลย ในเมื่อทางตาก็เห็นติดต่อกันไป และทางหูก็ยังได้ยินสลับกันไปด้วย เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีจึงดูเสมือนว่าหลบซ่อนอยู่ แต่ที่จะรู้ว่า ขณะที่เห็นต่างกับขณะที่ได้ยิน และขณะที่เป็นทางทวารอื่น เช่น ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสจริงๆ ก็ต่อเมื่อมโนทวารวิถีปรากฏ จึงแสดงว่า ลักษณะของรูปที่ปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกลักษณะของนามธรรมจนกระทั่งรู้ในสภาพที่เป็น นามธรรม มโนทวารวิถีจึงรู้ลักษณะของนามธรรมนั้น และปรากฏลักษณะของ มโนทวารวิถีได้ เพราะว่านามธรรมไม่สามารถรู้ได้ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย

    เวลาที่กระทบสัมผัส มีลักษณะที่แข็งหรืออ่อนเป็นสิ่งที่ปรากฏทางกาย แต่สภาพรู้ไม่ใช่แข็งหรืออ่อน เพราะฉะนั้น การประจักษ์ลักษณะของธาตุรู้หรือเข้าใจลักษณะอาการของธาตุรู้ หรือธาตุรู้จะปรากฏได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อเป็นวิถีทางมโนทวาร

    มโนทวารวิถีปรากฏเมื่อไร ลักษณะของธาตุรู้ก็ปรากฏเมื่อนั้น เพราะการที่จะรู้ธาตุรู้ได้ ต้องเป็นโดยทางมโนทวารวิถี

    . ที่อาจารย์พูด ทำให้เพิ่มความเข้าใจ สภาพรู้ คือ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ ทางตา คำพูดนี้ทำให้เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น ถ้าได้ฟังมากขึ้นในเรื่องอย่างนี้ คงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยอย่างที่อาจารย์ว่า ต้องอบรมอีก อบรมไปเรื่อยๆ ที่พูดแต่ละครั้งก็เพิ่มความเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ประจักษ์แล้ว

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นการอบรมด้วยความอดทนจริงๆ และต้องรู้ว่า ไม่พ้นจาก ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัสในขณะนี้ ทางใจที่กำลังคิดนึก ไม่ว่าจะเป็นพระธรรม ทั้ง ๓ ปิฎก หรืออรรถกถาก็ตาม ก็เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกและศึกษา รู้ลักษณะของ สิ่งที่กำลังปรากฏ

    แม้แต่ในการที่จะศึกษาเรื่องของอกุศลจิต ๑๒ ดวง โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร ก็จะต้องเพื่อให้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ว่า เพื่อให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และรู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ที่ว่า อานาปานสติสมาธิ สติปัฏฐาน ๔ ที่เจริญดีแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์ ทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ อานาปานสติสมาธิที่ว่านี้ จะต่างกับอานาปานสติในมหาสติปัฏฐานอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอานาปานสติสมาธิซึ่งเป็นสมถภาวนาอย่างเดียว สามารถทำให้บรรลุถึงอัปปนาสมาธิขั้นปัญจมฌานได้ แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ และละคลายความเป็นตัวตน

    เพราะว่าผู้ที่อบรมเจริญอานาปานสติสมาธิโดยนัยของสมถภาวนา มีความเป็นเราที่ได้ถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน ไม่สามารถเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าโดยนัยนั้น ไม่ได้มีอานิสงส์มาก ไม่ได้มีผลมากเหมือนกับเป็นผู้ที่มีปกติเจริญ สติปัฏฐาน แม้สติระลึกที่ลมหายใจ ก็ยังสามารถประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของลมหายใจได้

    . แต่ในที่นั้นใช้ศัพท์ว่า อานาปานสติสมาธิที่เจริญให้มากแล้ว ทำให้มากแล้ว

    ท่านอาจารย์ เจริญให้มากแล้ว ทำให้มากแล้ว โดยสติปัฏฐาน

    . ไม่ใช่สมาธิล้วนๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาประเภทใดก็ตาม ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ทำให้มีอานิสงส์มากหรือมีผลมาก เพราะว่าไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมต้องสอดคล้องและเกื้อกูลกันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในพระไตรปิฎก

    นี่เป็นสิ่งที่ยาก และยิ่งทำให้เห็นอวิชชาว่ามากมายจริงๆ แม้แต่การเข้าใจหนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าเพียงฟังอย่างนี้และปฏิบัติอย่างนี้ โดยไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ย่อมไม่สามารถดับอวิชชาได้

    . คำว่า เจริญให้มาก ในที่นี้หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ บ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าจะมีกำลัง ถ้าสติระลึกครั้งแรกแล้ว ก็อาจจะหลงลืมสติไปอีกนานหลายวันหลายเดือนก็ได้ อย่างนั้นก็ยังไม่บ่อย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 20
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ