จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 130
เมื่อท่านฟังพระธรรมอยู่ท้ายบริษัทนั้น ความปีติอย่างยิ่งเกิดขึ้นในปฐมยามนั่นเอง ท่านจึงดึงผ้าที่ห่มออกเพื่อจะถวายพระผู้มีพระภาค แต่ความตระหนี่ได้เกิดขึ้นชี้โทษถึง ๑,๐๐๐ ประการว่า ตนและภรรยามีผ้าห่มเพียงพื้นเดียวเท่านั้น ผ้าห่มผืนอื่นไรๆ ก็ไม่มี ก็ธรรมดาว่าไม่ห่มผ้าก็ออกไปข้างนอกไม่ได้ จึงตกลงใจไม่ต้องการถวายโดยประการทั้งปวง
ครั้นเมื่อปฐมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละก็ได้เกิดขึ้นกับพราหมณ์นั้นแม้ในมัชฌิมยาม พราหมณ์คิดเหมือนอย่างนั้น แล้วก็ไม่ถวายเหมือนอย่างนั้น ครั้นเมื่อมัชฌิมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละเกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้นแม้ในปัจฉิม ยามพราหมณ์นั้นก็คิดว่า เป็นไรเป็นกันค่อยรู้กันทีหลัง ดังนี้ แล้วดึงผ้ามาวางแทบพระบาทพระผู้มีพระภาค แล้วงอมือซ้าย เอามือขวาตบลง ๓ ครั้ง แล้วบันลือขึ้น ๓ วาระว่า ชิตัง เม ชิตัง เม ชิตัง เม เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว
สมัยนั้น พระเจ้าพันธุมราชประทับนั่งสดับพระธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์ ได้ส่งคนเข้าไปสอบถามพราหมณ์นั้นว่า ทำไมกล่าวอย่างนั้น พราหมณ์นั้นก็กล่าวว่า คนอื่นนั้นขึ้นช้างและก็มีอาวุธ คือ ถือดาบและโล่หนังเป็นต้นไปรบ ได้ชัยชนะ ย่อมไม่น่าอัศจรรย์ แต่พราหมณ์นั้นได้ย่ำยีจิตตระหนี่แล้วถวายผ้าที่ห่มอยู่แด่พระผู้มีพระภาค เหมือนคนเอาค้อนทุบหัวโคโกงที่ตามมาข้างหลัง ทำให้มันหนีไป ชัยชนะจึงน่าอัศจรรย์
เมื่อพระราชาทรงทราบดังนั้นก็รับสั่งว่า พวกเราไม่รู้สิ่งที่สมควรแก่ พระผู้มีพระภาค แต่พราหมณ์รู้ พระราชารับสั่งให้ส่งผ้านุ่งและผ้าห่มคู่หนึ่งไปพระราชทาน พราหมณ์นั้นก็มีความดำริถูก คือ เมื่อเห็นผ้าคู่นั้นแล้วก็คิดว่า พระราชานี้ไม่พระราชทานอะไรเป็นครั้งแรกแก่เราผู้นั่งนิ่งๆ เมื่อเรากล่าวคุณทั้งหลายของพระบรมศาสดาจึงได้พระราชทาน จะมีประโยชน์อะไรแก่เรากับผ้าคู่ที่อาศัยพระคุณของพระบรมศาสดาเกิดขึ้น ท่านจึงได้ถวายผ้าคู่แม้คู่นั้นแก่พระทศพลเสียเลย
เมื่อพระราชาทรงทราบ ก็รับสั่งให้ส่งผ้าคู่ ๒ ชุดไปพระราชทาน พราหมณ์นั้นก็ได้ถวายผ้าคู่ ๒ ชุดนั้น พระราชาได้ทรงส่งผ้าคู่ ๔ ชุดไปพระราชทาน พราหมณ์ก็ได้ถวายแก่พระผู้มีพระภาคด้วยประการดังนั้น เพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดพระราชาส่งผ้าไปพระราชทานถึง ๓๒ คู่ ลำดับนั้น พราหมณ์คิดว่า
ซึ่งก็เป็นความคิดที่ถูกอีก จะเห็นได้ว่า ท่านสะสมการที่จะดำริถูก จนกระทั่งท่านเป็นเอตทัคคะในการเป็นผู้ทรงคุณ คือ ธุดงค์
เอกสาฎกพราหมณ์คิดว่า การทำดังนี้เป็นเหมือนเพิ่มขึ้นแล้วถึงจะรับเอา ท่านจึงถือเอาผ้า ๒ คู่ คือ เพื่อประโยชน์แก่ตนเองคู่หนึ่ง เพื่อนางพราหมณีคู่หนึ่ง แล้วถวายเฉพาะพระผู้มีพระภาค ๓๐ คู่
จำเดิมแต่นั้น พราหมณ์ก็เป็นผู้สนิทสนมกับพระผู้มีพระภาค
วันหนึ่งพระราชาทรงสดับธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาคในฤดูหนาว ได้พระราชทานผ้ากัมพลแดงสำหรับห่มส่วนพระองค์มีมูลค่าพันหนึ่งกับพราหมณ์ แล้วรับสั่งว่า จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงห่มผ้ากัมพลแดงผืนนี้ฟังธรรม
พราหมณ์นั้นก็มีความดำริชอบอีก ท่านคิดว่า เราจะประโยชน์อะไรกับ ผ้ากัมพลแดงนี้ ที่จะน้อมเข้าไปในกายอันเปื่อยเน่านี้ จึงได้ทำเป็นเพดานเหนือเตียงของพระผู้มีพระภาคในภายในพระคันธกุฎี แล้วก็ไป
อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปพระวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในที่ใกล้ พระบรมศาสดาในพระคันธกุฎี ก็ขณะนั้นพระพุทธรัศมี ๖ สี กระทบที่ผ้ากัมพล ผ้ากัมพลก็บรรเจิดจ้าขึ้น พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็จำได้ จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลผืนนี้ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ให้เอกสาฎกพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
มหาบพิตร พระองค์บูชาพราหมณ์ พราหมณ์บูชาตถาคต
พระราชาทรงเลื่อมใสว่า พราหมณ์รู้สิ่งที่เหมาะที่ควร เราไม่รู้ จึงได้พระราชทานสิ่งที่เป็นของเกื้อกูลแก่มนุษย์ทุกอย่าง อย่างละ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ให้เป็นของประทานชื่อว่าสัพพัฏฐกทาน แล้วทรงตั้งให้พราหมณ์นั้นเป็นปุโรหิต
พราหมณ์นั้นคิดว่า ชื่อว่าของ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ก็เป็น ๖๔ ชนิด จึงตั้ง สลากภัต ๖๔ ที่ ให้ทาน รักษาศีลตลอดชีวิต จุติจากชาตินั้นไปเกิดในสวรรค์ จุติจากสวรรค์ก็เกิดในเรือนของกุฎุมพีในกรุงพาราณสี ในระหว่างกาลของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระผู้มีพระภาคทรง พระนามว่า โกนาคมนะ และพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ
ชีวิตของท่านพระมหากัสสปะก็เป็นชีวิตที่น่าสนใจหลายๆ ตอน
ในเรื่องต่อไป เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นโทษของการกระทำสิ่งที่ไม่สมควร คือ
เมื่อพราหมณ์นั้นเจริญวัยก็ได้แต่งงานมีเหย้าเรือน ครั้นนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาตในเรือนของเขา ในขณะที่ภรรยาและน้องสาวของเขากำลังทะเลาะกัน เมื่อน้องสาวถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็กล่าวมุ่งถึงภรรยาของพี่ชาย โดยตั้งความปรารถนาว่า ขอให้เราห่างไกลหญิงพาลเห็นปานนี้ ๑๐๐ โยชน์ ภรรยาของเขายืนอยู่ที่ลานบ้านได้ยินก็คิดว่า พระรูปนี้จงอย่าได้ฉันอาหารที่นางผู้นี้ถวาย จึงจับบาตรมาเทบิณฑบาตทิ้ง แล้วเอาเปือกตมใส่จนเต็ม น้องสาวจึงกล่าวว่า หญิงพาลเจ้าจงด่า จงบริภาษเราก่อนเถิด การเทภัตตาหารจากบาตรท่านผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมา ๒ อสงไขยเห็นปานนี้ แล้วใส่เปือกตมให้ ไม่สมควรเลย
ครั้งนั้นภรรยาของเขาเกิดความสำนึกขึ้นได้ จึงกล่าวว่า โปรดหยุดก่อนเจ้าข้า แล้วเทเปือกตมออก ล้างบาตร ชโลมด้วยผงเครื่องหอม แล้วได้ใส่ของมีรสอร่อย ๔ อย่างจนเต็มบาตร แล้ววางถวายบาตรอันผุดผ่องด้วยเนยใส มีสีเหมือนกลีบดอกบัวอันราดรดลงข้างบนในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาว่า สรีระของเราจงผุดผ่องเหมือนบิณฑบาตอันผุดผ่องนี้เถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ
ผลกรรมของภรรยาของพราหมณ์ซึ่งเป็นชีวิตชาติหนึ่งของท่านพระมหากัสสปะ ก็ได้ติดตามไปตามควรแก่โอกาสของกรรมนั้นๆ คือ
สามีภรรยานั้นดำรงอยู่ชั่วอายุ แล้วเกิดในสวรรค์ จุติจากสวรรค์ในสมัย พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะในภัทรกัปนี้ อุบาสกผู้นั้นก็เกิดเป็นบุตรเศรษฐี มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในกรุงพาราณสี ฝ่ายภรรยาของเขาเกิดเป็นธิดาเศรษฐีเหมือนกัน เมื่อเจริญวัย พวกญาติได้นำธิดาเศรษฐีมาสู่สกุลของอุบาสกนั้น แต่ด้วยกำลังของกรรมซึ่งมีวิบากอันไม่น่าปรารถนาในชาติก่อน พอนางเข้าไปยังตระกูลของสามี ทั่วทั้งสรีระก็เกิดกลิ่นเหม็น ตั้งแต่ย่างเท้าเข้าไปภายในธรณีประตู เศรษฐีกุมารนั้นก็ส่งนางกลับไป เป็นอย่างนี้ถึง ๗ ครั้ง
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ ทรงปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนได้เริ่มก่อพระเจดีย์สูงโยชน์หนึ่งด้วยอิฐทองสีแดง ทั้งหนา ทั้งแน่น มีราคาก้อนละหนึ่งแสน เศรษฐีธิดาเห็นผลกรรมของตนที่ถูกส่งตัวกลับถึง ๗ ครั้ง ก็ให้ยุบเครื่องประดับ แล้วให้ทำเป็นอิฐทองยาว ๑ ศอก กว้าง ๑ คืบ สูง ๔ นิ้ว ถือก้อนหรดาลและมโนศิลา และดอกบัว ๘ กำ ไปยังสถานที่สร้างพระเจดีย์ ขณะนั้นแถวก้อนอิฐแถวหนึ่งก่อมาต่อกันขาดอิฐแผ่นต่อเชื่อม นางก็ได้ให้อิฐทองก้อนนั้นแก่ช่าง ซึ่งช่างก็ได้ให้นางวางและต่ออิฐนั้นเอง และนางก็ได้บูชาด้วยดอกบัว ๘ กำ ตั้งความปรารถนาว่า ในที่ที่เราเกิด กลิ่นจันทน์จงฟุ้งออกจากตัว กลิ่นดอกบัวจงฟุ้งออกจากปาก แล้วนางก็ได้ไหว้พระเจดีย์ กระทำประทักษิณ แล้วกลับไป
อยู่ต่อมา เศรษฐีบุตรเกิดระลึกถึงเศรษฐีธิดา ก็ได้ให้คนไปนำนางกลับไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในครั้งนั้นพร้อมกับที่นางเข้าไปในเรือน กลิ่นจันทร์และกลิ่นดอกบัวขาบก็ฟุ้งไปทั่วเรือน
แสดงให้เห็นผลของกรรมต่างๆ ก่อนที่ท่านทั้งสองจะได้อบรมบารมีจนกระทั่งสามารถดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดม
และแสดงให้เห็นถึงอวิชชาว่า เกิดขึ้นขณะใดเป็นเหตุให้มีความดำริผิด มีความคิดผิด เป็นอโยนิโสมนสิการ แต่ขณะใดที่วิชชาเกิดขึ้น จะทำให้ความดำริถูก วาจาถูก การกระทำถูก อาชีพถูก ความเพียรถูก การระลึกถูก ความรู้ถูก และการหลุดพ้นถูกต้องด้วย
เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาเห็นโทษของอวิชชาว่า โมหเจตสิกเป็น อกุศลธรรม โดยประเภทแล้ว เป็น ๗ ประเภท คือ เป็นอาสวะ โอฆะ โยคะ นิวรณ์ สังโยชน์ อนุสัย และกิเลส เว้นไม่เป็นคันถะ และอุปาทาน
สำหรับอาสวะ คือ สภาพของอกุศลธรรมซึ่งไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ อยู่เรื่อยๆ หมักดองสะสมและไหลไปสู่อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะใดที่สติไม่เกิด ขณะนั้นไม่เป็นกุศล รู้ได้เลยว่าขณะนั้นต้องเป็นไปเพราะโมหะ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จึงเป็นอาสวะ
เมื่อเป็นอาสวะ ก็เป็นโอฆะ ทำให้จมอยู่ในห้วงน้ำ ทั้งข้างบน ข้างล่าง ข้างซ้าย ข้างขวา รอบตัว เต็มไปด้วยความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งพิสูจน์ได้ ในขณะนี้เอง ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส ทางใจที่กำลังคิดนึก ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะใดที่สติไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นโมหะเป็นอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะ เป็นนิวรณ์ เป็นสังโยชน์ เป็นอนุสัย เป็นกิเลส แต่ไม่เป็นคันถะ คือ ไม่ผูกไว้ และไม่เป็นอุปาทาน คือ ไม่ยึดมั่น เพราะเหตุว่าไม่รู้
ธรรมดาที่จะยึดมั่นสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องรู้ในสิ่งนั้น เป็นความรู้ผิด และมีความ ชอบใจในความเห็นผิดนั้นจึงยึดถือ แต่ถ้าเป็นความไม่รู้ ก็ไม่สามารถยึดถือหรือติดได้
มีจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเขียนมาถึงคุณดวงเดือน มีข้อความว่า
เลขที่ ๒๙/๑ บางคล้า แปลงยาว อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
๑ มีนาคม ๒๕๒๘
เรียน คุณดวงเดือน บารมีธรรม
ผมได้ติดตามศึกษาพระพุทธศาสนาจากคำบรรยายของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มานานพอควร มีความรู้ความเข้าใจในคำแนะแนวการเจริญ สติปัฏฐาน และฝึกหัดทำตาม จนบัดนี้เริ่มมีสติเกิดขึ้น สามารถระลึกรู้ลักษณะของรูป ของนามที่เกิดอยู่ตามปกติประจำได้บ้างเป็นบางขณะ แต่ยังหลงลืมสติอยู่เกือบเหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตามการมีสติเกิดขึ้นได้บ้างอย่างนี้แม้น้อย ผมก็รู้สึกดีใจมาก ที่เรียนรู้มาถูกทางแล้ว รู้สึกสำนึกในพระคุณของอาจารย์สุจินต์ที่ท่านมีความรู้แล้ว ได้ประโยชน์จากความรู้แล้ว ยังมีเมตตากรุณาเผยแพร่ให้ผู้อื่นรู้ทั่วกันด้วย ผมอยากจะเขียนจดหมายคุยกับท่าน แต่นึกเกรงใจว่าจะเป็นการรบกวนท่าน วันนี้จึงเขียนมาคุยให้คุณรับฟังแทนท่าน และพร้อมจดหมายนี้ ผมได้ส่งเงินมาให้คุณทางธนาณัติ เป็นเงิน ๕๐๐ บาท เพื่อร่วมกุศลในการเผยแพร่พระธรรมทางวิทยุ บริจาคในนามของคุณจุมพล คุณสมหวัง เขียวขจี
ขออำนาจของพระรัตนตรัยได้โปรดคุ้มครองอาจารย์สุจินต์ และคุณดวงเดือน ให้ประสบแต่ความสุขความเจริญทุกประการ มีอายุยิ่งยืนนาน เพื่อประโยชน์สุขแก่ ชนทั้งหลายไม่มีมีประมาณ
โดยความเคารพและนับถืออย่างยิ่ง
ท่านอาจารย์ ท่านฟังและได้อบรม จนบัดนี้เริ่มมีสติเกิดขึ้น สามารถระลึกรู้ลักษณะของรูปของนามที่เกิดอยู่ตามปกติประจำได้บ้างเป็นบางขณะ
นี่เป็นการถูกต้องจริงๆ คือ จะให้สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ได้อย่างมากๆ ติดต่อกันได้ไหม ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจจริงๆ แต่ถ้าเป็นเพียง ผู้เริ่ม สติจะระลึกลักษณะของรูปธรรมบ้าง หรือนามธรรมบ้างเพียงบางขณะ นี่เป็น สิ่งที่ถูกต้อง
แต่ยังหลงลืมสติอยู่เกือบเหมือนเดิม
นี่ก็เป็นความจริง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ตรง การอบรมเจริญปัญญาที่จะละอวิชชาต้องเป็นความรู้ และรู้ตามความเป็นจริงว่า เมื่ออวิชชามีมากในสังสารวัฏฏ์ การได้ฟัง ได้เข้าใจหนทางข้อปฏิบัติ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สติเกิดระลึกได้บ้าง
เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้นี้ ท่านรู้ตามความเป็นจริงว่า การที่จะละความไม่รู้นั้น ไม่ใช่ละได้รวดเร็ว ท่านจึงเขียนมามีข้อความว่า
ผมก็รู้สึกดีใจมากที่เรียนรู้มาถูกทางแล้ว แม้ว่าสติจะเกิดบ้างบางขณะ แต่ยังหลงลืมสติอยู่เกือบเหมือนเดิม
เป็นผู้ที่เห็นความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด เพราะว่าสติเกิดบ้างแล้ว นี่เป็นการเริ่มต้นจริงๆ ถ้าเข้าใจถูกอย่างนี้จะไม่มีทางหลงผิดไปแสวงหาทางอื่นที่คิดว่าเป็นทางลัดหรือเป็นทางที่ง่าย เป็นทางที่จะดับกิเลสได้เร็ว เพราะว่าต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดยังคิดว่าจะมีหนทางอื่น ก็เป็นสิ่งซึ่งจะต้องพิจารณาจริงๆ ด้วยเหตุผลว่า ถ้าไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้ว จะละอวิชชาได้ไหม
การทำกุศลอื่นๆ ซึ่งในชีวิตประจำวันขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด บางขณะก็เป็นอกุศล บางขณะก็เป็นกุศล แม้ว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐานก็เป็นกุศลที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง หรือเป็นไปในขณะที่ระลึกถึงประโยชน์ของความสงบ แทนที่จะให้เป็นอกุศล คือ โทสะ ความผูกโกรธหรือความขุ่นเคืองใจ หรือโลภะอย่างแรง ขณะนั้นย่อมเป็นกุศลที่วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ ตราบใดที่ยังไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาเพื่อละอวิชชา
มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พรรณนาวรรคที่ ๓ สูตรที่ ๒ มีข้อความว่า
จิตที่เป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่าวัฏฏะ
ภูมิ ๓ ได้แก่ กามภูมิ ๑ รูปภูมิ ๑ อรูปภูมิ ๑
กามภูมิ คือ ขณะใดที่จิตเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึกในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ นั่นเอง ในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็เป็นจิตที่เป็นไปในกามภูมิ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันของทุกคน น้อยนักซึ่งจิตจะเป็นไปในรูปภูมิหรืออรูปภูมิ ซึ่งเป็นการอบรมเจริญความสงบ คือ กุศลจิตที่มั่นคงขึ้นจนกระทั่งเป็นฌานจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ เป็นรูปภูมิ และในขณะที่ความสงบนั้นมั่นคงขึ้นจนกระทั่งไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จิตในขณะนั้นก็เป็นอรูปภูมิ เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่าวัฏฏะ
กรรมที่เป็นไปเพื่อการได้วัฏฏะ ชื่อว่าวัฏฏปาท โลกุตตรธรรม ๙ ประการ ชื่อว่าวิวัฏฏะ ส่วนกรรมอันเป็นไปเพื่อการได้วิวัฏฏะนั้น ชื่อว่าวิวัฏฏปาท
เป็นชีวิตตามความเป็นจริงนั่นเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การกิเลสได้ในวันหนึ่งๆ จะต้องอบรมอย่างอดทนจริงๆ พากเพียรจริงๆ เพราะสติจะเกิดได้วันหนึ่งๆ ก็เป็นเพียงบางขณะ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาถึงลักษณะของจิตที่บังเกิดขึ้นที่เป็นไปในวัฏฏะว่า
จิตย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศมาก ความว่า จิตใดเมื่อให้สมบัติในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ความเป็นใหญ่ในมารและพรหมก็ดี เมื่อให้ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ความเศร้าโศก การปริเทวนา ความทุกข์ ความโทมนัส ความแห้งผากแห่งใจบ่อยๆ และขันธ์ ธาตุ อายตนะ และวัฏฏะในปฏิจจสมุปปาท ชื่อว่าย่อมให้กองทุกข์ทั้งสิ้น
เห็นโทษของจิตหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นจิตในภูมิไหนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เป็นไปในการเห็นชั่วนิดเดียว เปลี่ยนเป็นจิตที่ได้ยินแล้ว เปลี่ยนเป็นจิตที่คิดนึกแล้ว จิตที่เกิดขึ้นดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจิตนั้นจะให้สมบัติในเทวดาและมนุษย์ ให้ความเป็นใหญ่ในมารและพรหมก็ดี แต่เมื่อจิตนั้นให้ชาติ ให้ชรา ให้พยาธิ ให้มรณะ ให้ความเศร้าโศก ให้การปริเทวนา ให้ความทุกข์ ความโทมนัส ความแห้งผากแห่งใจบ่อยๆ และขันธ์ ธาตุ อายตนะ และวัฏฏะในปฏิจจสมุปปาท ชื่อว่า ย่อมให้กองทุกข์ทั้งสิ้น
เพราะเหตุนั้น จิตนั้นชื่อว่าย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์อันใหญ่
เห็นโทษของจิตในวันหนึ่งๆ ไหมว่านำมาซึ่งอะไร นอกจากความทุกข์ตั้งแต่ชาติ จนกระทั่งถึงความแห้งผากแห่งใจบ่อยๆ
อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ กถาขยายความเรื่องวิบากใน อัพยากตบท ข้อ ๕๐๕ มีข้อความว่า
กุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓ คือ ในกามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ย่อมก่อวัฏฏะ ทำให้วัฏฏะเจริญด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ ฉะนั้น ในกุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓ นั้น จึงตรัสไว้ว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว ส่วนวิบากฝ่ายโลกุตตระ แม้ถูกกุศลฝ่ายโลกุตตระนั้นสั่งสมไว้แล้ว ก็ย่อมคลายสะสม ทั้งตนเองก็ไม่ก่อด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ ด้วยเหตุนี้ในวิบากฝ่ายโลกุตตระจึงมิได้ตรัสว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว แต่ตรัสว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้เจริญไว้แล้ว
นี่คือความต่างกันของขณะจิต คือ จิตที่เป็นเหตุดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้ วิบากจิตซึ่งเป็นผลเกิด ไม่มีทางที่จะสิ้นสุดเลยในสังสารวัฏฏ์ แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศล หรือว่าเป็นผลของอกุศล สังสารวัฏฏ์จะยังมีต่อไปอีกมากถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เหตุในอดีตก็ได้กระทำไว้แล้วมากที่จะทำให้เกิดวิบากจิตแต่ละขณะในชาตินี้ และในชาติต่อๆ ไป นอกจากนั้น ในปัจจุบันชาตินี้ ยังมีเหตุปัจจุบันทำให้เกิดวิบากคือผลในอนาคตโดยไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า กุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓ ย่อมก่อวัฏฏะ ทำให้วัฏฏะเจริญด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ ฉะนั้น กุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓ นั้น จึงตรัสไว้ว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว
ทุกท่านที่มีความสุขในปัจจุบันชาตินี้ ระลึกถึงอดีตกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วไม่ได้ก็จริง แต่ขณะใดที่เป็นกุศลวิบาก มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่ดี ขณะนั้นสามารถพิจารณาได้ว่า ต้องเป็นผลของกุศลเหตุที่ได้กระทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว คือ ไม่สูญหาย เมื่อเหตุได้กระทำไว้แล้ว สะสมไว้แล้ว ก็เป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้น
ส่วนวิบากฝ่ายโลกุตตระ คือ ผลของมรรคจิตซึ่งรู้แจ้งนิพพาน เมื่อดับไปแล้ว โลกุตตรวิบาก คือ ผลจิต ไม่ทำกิจปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ไม่เป็นเหตุให้เกิดวัฏฏะ ทั้งตนเองก็ไม่ก่อด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ ด้วยเหตุนี้ ในวิบากฝ่ายโลกุตตระ พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ตรัสว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว แต่ตรัสว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้เจริญไว้แล้ว
เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็สั่งสมกรรม แต่ในขณะใดที่ สติปัฏฐานเกิด เจริญเหตุที่จะให้พ้นจากการสะสม แล้วแต่ว่าสังสารวัฏฏ์ของใครจะยังอยู่อีกมาก หรือยาวสั้นมากกว่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับการสั่งสมที่ได้สะสมไว้ หรือการเจริญเหตุที่จะดับละคลายการสะสมนั้นๆ
ถ. สวดมนต์ตอนเช้า มรณัง ปิ ทุกขัง ท่านหมายถึงอะไร
ท่านอาจารย์ ความตายเป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นวัตถุเป็นที่ตั้งของความโศก ไม่มีใครต้องการที่จะตาย
ใน สัมโมหวิโนทนี แสดงว่า
ที่ว่า ความตายเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าเป็นวัตถุแห่งทุกข์ เพราะเหตุว่าเป็นที่ตั้งของทุกข์
มีใครที่อยากตาย มีใครชอบความตายบ่อยๆ
เมื่อเกิดมาแล้วทุกคนไม่อยากตาย และรู้สึกว่าเป็นทุกข์จริงๆ ที่จะต้องตาย บางคนถามว่า ทำไมต้องตาย คำถามนี้แสดงว่า ไม่อยากตาย เมื่อไม่อยากตายก็หมายความว่า ความตายเป็นที่ตั้งของความทุกข์ แม้เพียงคิดถึง เพียงแต่คิดว่าจะตายเท่านั้นก็เป็นทุกข์เสียแล้ว แม้ว่าความตายเป็นเพียงจิตขณะเดียวซึ่งเกิดขึ้นกระทำ จุติกิจ คือ เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ แต่ก่อนที่จะตาย ไม่อยากตาย
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 101
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 102
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 103
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 104
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 105
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 106
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 107
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 108
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 109
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 110
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 111
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 112
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 113
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 114
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 115
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 116
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 117
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 118
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 119
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 120
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 121
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 122
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 123
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 124
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 125
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 126
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 127
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 128
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 129
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 130
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 131
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 132
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 133
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 134
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 135
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 136
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 137
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 138
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 139
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 140
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 141
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 142
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 143
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 144
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 145
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 146
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1960
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1961
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1962
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1963