จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 132


    ทีละเล็กทีละน้อย แม้ว่าไม่สามารถจะดับอกุศลได้ทันทีทันใด เพียงแต่เห็นโทษเล็กๆ น้อยๆ หรือเริ่มมีความรังเกียจบ้าง ก็จะเป็นการสะสมธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลที่ทำให้สามารถดับอกุศลได้ในวันหนึ่ง แต่ต้องเริ่มจากการรู้สึกรังเกียจในอกุศล ไม่ใช่ว่าเพียงไม่ชอบ แต่ต้องรังเกียจจริงๆ

    และสำหรับวันหนึ่งๆ หลายท่านก็มุ่งที่จะเจริญสติปัฏฐาน ลืมพิจารณาชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า ในขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด มีการสะสมอดีตสติปัฏฐานพอที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดโยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคายในชีวิตตามความเป็นจริงของท่านเรื่อยๆ หรือเปล่า เพราะว่าทุกคนไม่ได้คิดเรื่องธรรมตลอดเวลา ไม่ได้คิดเรื่องสติปัฏฐานตลอดเวลา แต่ชีวิตจริงๆ มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ท่านประสบพบเห็น และจำเป็นต้องดำริหรือตรึกหรือพิจารณาในเรื่องนั้นๆ ก็ควรจะพิจารณาว่า การคิดนึกของท่านนั้น เป็นโยนิโสมนสิการหรือว่าเป็นอโยนิโสมนสิการในชีวิตประจำวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการสะสมสติปัฏฐานในอดีตได้ ถ้าเป็นผู้ที่สะสมสติปัฏฐานในอดีต สติจะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งที่จะให้เกิดโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าในเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันควรที่จะได้พิจารณาจริงๆ เพื่อจะได้เจริญกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ได้คิดแต่เพียงว่า จะเจริญสติปัฏฐาน แต่ความคิดนึกในวันหนึ่งๆ จะถูก จะผิดอย่างไรไม่สนใจเลย ซึ่งผู้ที่พิจารณาโดยรอบคอบทุกอย่าง ย่อมเกื้อกูลให้สติ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้องด้วย

    โลภะเป็นสิ่งที่ละยาก เพราะฉะนั้น คงจะยังไม่ปรารถนาเป็นผู้ที่ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ คือ ไม่ติด ไม่พัวพัน ไม่รัก ไม่ชัง ไม่หลงได้

    ขอกล่าวถึงข้อความในชาดกบางชาดก เพื่อแสดงถึงโยนิโสมนสิการและ อโยนิโสมนสิการของผู้ที่สะสมอบรมปัญญาสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในภายหลังว่า ควรพิจารณาเรื่องของโยนิโสมนสิการและอโยนิโสมนสิการในชีวิตประจำวันจริงๆ มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจความมุ่งหมายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงชาดก เพราะว่า ในพระไตรปิฎก มีไหมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแต่เฉพาะเรื่องของสติปัฏฐานเท่านั้น

    เมื่อเป็นผู้ที่ทรงรู้แจ้งการสะสมของจิตตามความเป็นจริง ก็รู้ว่าชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน ไม่ใช่มีแต่การเจริญสติปัฏฐาน แต่มีทุกเรื่องที่ควรจะได้สะสมกุศลโดยการพิจารณาอย่างแยบคาย

    อรรถกถาชาดก เอกนิบาต อรรถกถา มุทุลักขณชาดกที่ ๖ พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าถึงเมื่อครั้งพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ข้อความมีว่า

    ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์มีสมบัติมากตระกูลหนึ่งในแคว้นกาสี เมื่อท่านเรียนจบศิลปะทุกประเภทแล้วได้ออกบวชเป็นฤๅษี อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เป็นผู้ที่ได้อภิญญาสมาบัติ

    กาลครั้งหนึ่ง ท่านออกจากป่าหิมพานต์ เพื่อบริโภคโภชนะที่มีรสเปรี้ยวบ้าง เค็มบ้าง และได้ท่องเที่ยวภิกษาจารอยู่ในกรุงพาราณสีถึงประตูพระราชวัง พระราชาทรงเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน ก็รับสั่งให้นิมนต์มา ได้อาราธนาให้พักอยู่ที่ พระราชอุทยาน และให้ฉันในพระราชวัง ซึ่งท่านก็ได้ถวายโอวาทพวกราชสกุล และ ได้อยู่ในพระราชอุทยานนั้น ๑๖ ปี

    อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จออกไปปราบปรามกบฏชายแดนซึ่งกำเริบ และได้ตรัสให้พระมเหสีพระนามว่า มุทุลักขณา ปรนนิบัติฤๅษีโพธิสัตว์ ซึ่งพระนางก็ทรงเตรียมอาหารถวายพระโพธิสัตว์ตามที่พระราชาทรงสั่งไว้

    อยู่มาวันหนึ่ง พระนางมุทุลักขณาทรงเตรียมอาหารสำหรับพระโพธิสัตว์เสร็จแล้ว ทรงดำริว่า วันนี้พระคุณเจ้าคงช้า จึงได้ทรงสรงสนานด้วยเครื่องหอม และทรงตกแต่งพระองค์ด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ให้ลาดพระยี่ภู่น้อย ณ พื้นท้องพระโรง ประทับเอนพระวรกายรอพระโพธิสัตว์จะมา ซึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์กำหนดเวลาของตนแล้ว ก็ได้ออกจากฌานเหาะไปสู่พระราชวังทันที พระนางมุทุลักขณาทรงสดับเสียง ผ้าเปลือกไม้ก็รับสั่งว่า พระผู้เป็นเจ้ามาแล้ว และรีบเสด็จลุกขึ้น ผ้าที่ทรงเป็นผ้าเนื้อเกลี้ยงก็หลุดลง พอดีพระโพธิสัตว์เข้าทางช่องพระแกล เมื่อพระโพธิสัตว์เห็น ก็ตะลึงดูความงามของพระวรกายของพระนาง กิเลสที่อยู่ภายในของท่านก็กำเริบเป็นเหมือนต้นไม้มียางที่ถูกมีดกรีด

    ทุกคนที่กำลังมีโลภะเกิดขึ้น ขอให้ระลึกว่า แต่ละขณะที่โลภะเกิดขึ้น โลภะสะสมอยู่ในจิตจนชุ่มเหมือนกับต้นไม้มียางที่ถูกมีดกรีดทุกขณะ แต่ไม่เคยมีใครรู้สึกอย่างนี้ใช่ไหม ถ้าไม่ได้ฟังคำอุปมาที่เปรียบเทียบให้เห็นจริงๆ ว่า ลักษณะของโลภะนั้นชุ่มอย่างนั้นจริงๆ

    ทันใดนั้นเองฌานของท่านก็เสื่อม เป็นเหมือนกาปีกหักเสียแล้ว ท่านยืนตะลึง รับอาหารแล้วก็ไม่ได้บริโภค ลงจากปราสาทเดินไปพระราชอุทยาน เข้าไปในบรรณศาลา วางอาหารไว้ไม่บริโภค นอนซมบนกระดานที่นอนถึง ๗ วัน

    นี่คือพระโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอุทาหรณ์ที่เตือนทุกคนในเรื่องความไม่ประมาท แม้เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะได้ตรัสรู้ แต่เมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้ กิเลสที่สะสมมาก็จะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยได้ทุกอย่าง

    ในวันที่ ๗ พระราชาทรงปราบปรามปัจจันตชนบทราบคาบแล้ว เสด็จกลับมา ยังไม่ได้เสด็จไปพระราชนิเวศน์ ด้วยทรงพระดำริว่า จะพบพระฤๅษีก่อน พระราชาจึงเสด็จเลยไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นฤๅษีนอนอยู่ก็ทรงดำริว่า ฤๅษีคงจะไม่สบาย พระราชาจึงรับสั่งให้ทำความสะอาดบรรณศาลา พลางทรงนวดเท้าทั้งสองของฤๅษีแล้วตรัสถามว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่สบายไปหรือ ซึ่งพระฤๅษีก็ทูลว่า ท่านต้องการพระนางมุทุลักขณา พระราชาก็รับสั่งว่า พระองค์ทรงยินดีถวายพระนางมุทุลักขณาแก่พระฤๅษี และทรงพาพระฤๅษีเข้าไปในพระราชวัง ให้พระนางมุทุลักขณาประดับพระองค์งามพร้อมแล้วพระราชทานแก่ฤๅษี แต่เมื่อจะพระราชทานนั้น พระองค์ได้ทรงให้สัญญาลับแก่พระนางมุทุลักขณาว่า ให้พระนางพยายามรักษาพระองค์ให้พ้นจากฤๅษี ซึ่งพระนางก็ทรงรับสัญญานั้น

    เมื่อฤๅษีพาพระนางลงจากพระราชวัง กำลังจะออกประตูใหญ่ พระนางก็ตรัสกับพระฤๅษีว่า ท่านเจ้าคะ เราควรจะได้เรือน แล้วก็ให้ฤๅษีไปกราบทูลขอพระราชทานเรือนสักหลังหนึ่ง พระราชาก็ได้พระราชทานเรือนร้างให้หลังหนึ่ง ซึ่งเรือนร้างนั้นมนุษย์ใช้เป็นที่ถ่ายทุกข์ ฤๅษีพาพระนางไปที่เรือนนั้น แต่พระนางไม่ทรงประสงค์จะเข้าไป พระฤๅษีก็ทูลถามว่า เหตุไรจึงไม่เสด็จเข้าไป พระนางก็รับสั่งว่า เพราะเรือนสกปรก ฤๅษีก็ทูลถามว่า บัดนี้เราควรจะทำอย่างไร พระนางก็รับสั่งว่า ต้องทำความสะอาดเรือนนั้น แล้วก็ให้ฤๅษีไปสู่ราชสำนัก เอาจอบและตะกร้ามา ให้โกยสิ่งสกปรกและขยะไปทิ้ง ให้ขนเอาโคมัยสดมาฉาบไว้ ให้ขนเตียงตั่งมา ทีละอย่าง แกล้งใช้ให้ตักน้ำจนเต็มตุ่ม เตรียมน้ำอาบ ปูที่นอน และทรงจับฤๅษีผู้กำลังนั่งร่วมกันบนที่นอนฉุดให้ก้มลงมาตรงหน้าพลางตรัสว่า ท่านไม่รู้ตัวว่า เป็นสมณะหรือเป็นพราหมณ์เลยหรือเจ้าคะ ฤๅษีก็กลับได้สติในเวลานั้นเอง แต่ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นท่านไม่รู้ตัวเอาเสียเลย

    นี่คือผู้ที่ได้สะสมปัญญามา เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้ระลึกได้ ก็ระลึกได้ และให้เห็นกำลังของกิเลสว่า

    ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย กระทำความไม่รู้ตัวได้ถึงอย่างนี้

    นี่คือลักษณะของโมหเจตสิก ซึ่งเกิดกับอกุศลธรรมทุกประเภท ไม่ว่าในขณะนั้นจะเป็นโลภะ หรือโทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ย่อมทำให้ไม่รู้ตัว ทำให้มืด

    เมื่อฤๅษีกลับได้สติก็คิดว่า ตัณหานี้เมื่อเจริญขึ้น จักไม่ให้เรายกศีรษะขึ้นได้จากอบายทั้ง ๔ เราควรถวายคืนพระเทวีนี้แด่พระราชา แล้วท่านก็กลับเข้าสู่ป่า หิมวันต์ในวันนี้ทีเดียว

    เมื่อท่านถวายคืนพระเทวีแด่พระราชานั้น ท่านกล่าวคาถานี้ ความว่า

    ครั้งเรายังไม่ได้พระนางมุทุลักขณาเทวี เกิดความปรารถนาเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อได้พระนางมุทุลักขณาผู้มีดวงตางามแล้ว ได้เกิดความปรารถนาสิ่งต่างๆ ขึ้นอีก

    ตอนแรกที่ไม่ได้พระนางมุทุลักขณา ก็มีแต่ความอยากได้เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อได้แล้ว โดยที่พระราชาพระราชทานให้ ท่านก็ต้องปรารถนาเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น ปรารถนาเรือน ปรารถนาเครื่องอุปกรณ์ ปรารถนาเครื่องอุปโภค และต่อๆ ไป ไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งทุกคนที่มีความปรารถนาอย่างนี้ก็รู้ว่า เป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาอื่นต่อๆ ไปอีก

    และทันใดนั้นเอง ฤๅษีก็ทำฌานที่เสื่อมให้บังเกิดขึ้น นั่งในอากาศ แสดงธรรม ถวายโอวาทแด่พระราชา แล้วไปสู่ป่าหิมพานต์ทางอากาศทันที ไม่มาสู่ประเทศที่ ชื่อว่าเป็นถิ่นของมนุษย์อีกเลย แต่เจริญพรหมวิหาร ไม่เสื่อมจากฌาน บังเกิดในพรหมโลกแล้ว

    พระผู้มีพระภาคครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เมื่อจบสัจจะ ภิกษุผู้เป็นเหตุให้ตรัสชาดกนี้บรรลุพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ในครั้งนี้ มุทุลักขณาได้มาเป็นอุบลวรรณา ส่วนฤๅษีได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล

    จบ อรรถกถามุทุลักขณชาดกที่ ๖

    เวลาที่ฟังสัจธรรมแล้ว รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม หรือฟังแล้วมีบัญญัติเป็นอารมณ์ สติปัญญาไม่สามารถเกิดได้ ถ้าคิดอย่างนี้ จะไม่ตรงกับความจริงและไม่ตรงกับข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศสัจธรรมจบ ภิกษุผู้เป็นเหตุให้ตรัสชาดกนี้บรรลุพระอรหันต์ และคนอื่นๆ ที่ฟัง สติก็สามารถที่จะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้

    เพราะฉะนั้น จากเรื่องนี้ เป็นคติเตือนใจให้ทุกคนได้พิจารณาชีวิตของแต่ละท่านในวันหนึ่งๆ ในแต่ละเหตุการณ์ว่า เป็นโยนิโสมนสิการ หรือเป็นอโยนิโสมนสิการ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก อย่าละเลย และคิดว่า จะเพียงแต่เจริญสติปัฏฐานเท่านั้น

    การพูด การทำ ทุกอย่างแม้การคิด ถ้าเป็นผู้ที่สะสมเหตุปัจจัยมา ย่อมจะพิจารณาได้ว่า ขณะนี้ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร ถ้าพิจารณาอย่างนี้บ่อยๆ ก็หมายความว่า สะสมเหตุปัจจัยที่จะเกิดกุศล ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ไม่ใช่เรา แต่เป็นโยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย

    ขณะใดที่อกุศลเกิด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใดทั้งสิ้น จะเป็นทางกาย หรือทางวาจา หรือแม้แต่การคิดในใจ ขณะนั้นคืออโยนิโสมนสิการ ซึ่งจะสะสมสืบต่อไปในสังสารวัฏฏ์ทำให้มีการคิด การพูด การกระทำต่างๆ ต่อไปอีกในอนาคตข้างหน้า

    ขอกล่าวถึงโทษของอกุศลกรรมของพระอรหันต์เถระท่านหนึ่ง คือ ท่านพระโลสกติสสเถระ เพื่อให้ท่านผู้ฟังรังเกียจในอกุศลที่อาจจะเกิดมีขึ้นกับท่าน ในลักษณะอาการต่างๆ กัน ซึ่งควรจะได้เห็นว่า อกุศลทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถทำให้ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแต่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เกิดอโยนิโสมนสิการ ในลักษณะอาการต่างๆ กันได้

    เอกนิบาตชาดก อรรถกถาอัตถกามวรรคที่ ๕ อรรถกถาโลสกชาดกที่ ๑ มีข้อความว่า

    ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระโลสกติสสเถระ และได้ตรัสประวัติของท่าน

    ซึ่งประวัติโดยย่อของท่านมีว่า

    ท่านพระโลสกติสสเถระเป็นบุตรของชาวประมงคนหนึ่งในแคว้นโกศล เป็นผู้ทำลายวงศ์ตระกูลของตน เพราะว่าตั้งแต่ท่านเกิดมาในครรภ์มารดานั้น ครอบครัวของท่านก็ประสบภัยพิบัติเรื่อยมา บ้านเรือนถูกไฟไหม้ถึง ๗ ครั้ง

    คนสมัยนี้มีไหม อาจจะมีก็ได้ เป็นชีวิตธรรมดา แล้วแต่ว่ากรรมของใครจะให้ผลอย่างไร เมื่อไร

    ถูกพระราชาปรับสินไหม ๗ ครั้ง ครั้งนั้นมารดาบิดาของท่านเลี้ยงชีพมาโดยแร้นแค้น พอท้องแก่ก็คลอด ณ ที่แห่งหนึ่ง แต่ธรรมดาท่านผู้เป็นสัตว์เกิดมาในภพสุดท้าย คือ ผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์นั้น ใครไม่อาจทำลายได้เพราะมีอุปนิสัยแห่งอรหัตตผล คือ การสะสมกุศลธรรมทั้งหลายที่จะเป็นพระอรหันต์ รุ่งเรืองอยู่ในใจ เหมือนดวงประทีปภายในหม้อ ฉะนั้น

    มารดาได้เลี้ยงท่านมาจนถึงในเวลาที่ท่านวิ่งเที่ยวไปมาได้ ก็ได้เอากะโล่ดินเผาใบหนึ่งใส่มือให้ และเสือกไสด้วยคำว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจงไปสู่เรือนหลังนั้นเถิด แล้วก็หลบหนีไป

    ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็อยู่อย่างเดียวดาย เที่ยวหากินไปตามประสา หลับนอน ณ ที่แห่งหนึ่ง ไม่ได้อาบน้ำ ไม่ได้ปรนนิบัติร่างกาย ดูเหมือนปีศาจคลุกฝุ่น เลี้ยงชีวิตมาได้โดยลำบาก ท่านเจริญเติบโตจนอายุครบ ๗ ขวบโดยลำดับ เลือกเม็ดข้าวกิน ทีละเม็ดเหมือนกา ในที่สำหรับเทน้ำล้างหม้อใกล้ประตูเรือนแห่งหนึ่ง

    ความทุกข์ยากเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ว่าในอดีต หรือในอนาคต หรือแม้ ในสมัยนี้ ก็มีผู้ที่มีความยากลำบาก ถ้าเทียบกับท่านพระโลสกติสสเถระจะเห็นได้ว่า ตอนเป็นเด็กอายุ ๗ ขวบ ท่านถึงกับเลือกเม็ดข้าวกินทีละเม็ดเหมือนกา ในที่สำหรับ เทน้ำล้างหม้อใกล้ประตูเรือนแห่งหนึ่ง

    ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในเมืองสาวัตถี เห็นท่านแล้วรำพึงว่า เด็กคนนี้น่าสงสารนัก เป็นชาวบ้านไหนหนอ ท่านพระสารีบุตรแผ่เมตตาจิตไปในท่านเพิ่มยิ่งขึ้น และรียกให้มาหา ถามถึงพ่อแม่ เมื่อได้ทราบว่าพ่อแม่ทิ้งไป ก็ถามว่า ท่านจักบวชไหม ท่านก็ตอบว่า อยากบวช ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้ให้ของเคี้ยวของบริโภคแก่ท่าน แล้วพาไปวิหาร อาบน้ำให้เอง ให้บรรพชา จนอายุครบจึงให้อุปสมบท ในตอนแก่ท่านมีชื่อว่าโลสกติสสเถระ เป็นพระไม่มีบุญ มีลาภน้อย

    เล่ากันว่า แม้ในคราวอสทิสทาน ท่านก็ไม่เคยได้ฉันเต็มท้อง ได้ขบฉันเพียงพอจะสืบต่อชีวิตไปได้เท่านั้น เพราะเมื่อใครใส่บาตรท่านเพียงข้าวต้มกระบวยเดียว บาตรก็ปรากฏเหมือนเต็มเสมอขอบแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นคนทั้งหลายก็สำคัญว่า บาตรของภิกษุรูปนี้เต็มแล้ว เลยถวายองค์หลังๆ

    อสทิสทาน คือ ทานที่ไม่มีใครเหมือน เป็นทานที่มโหฬารยิ่ง

    ในสมัยต่อมา ท่านเจริญวิปัสสนา แม้จะดำรงอยู่ในพระอรหันต์อันเป็นผลชั้นเลิศ ก็ยังคงมีลาภน้อย ครั้นเมื่ออายุสังขารของท่านร่วงโรยทรุดโทรมลงโดยลำดับ ก็ถึงวันเป็นที่ปรินิพพาน

    ท่านพระสารีบุตรคำนึงอยู่ ก็รู้ถึงการปรินิพพานของท่าน จึงดำริว่า วันนี้ พระโลสกติสสเถระนี้จักปรินิพพาน ในวันนี้เราควรให้อาหารแก่เธอจนพอ เมื่อท่านคิดอย่างนี้แล้ว ก็พาท่านพระโลสกติสสเถระเข้าไปสู่เมืองสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต เพราะเหตุที่ท่านพระสารีบุตรพาท่านพระโลสกติสสเถระไปด้วย ท่านพระสารีบุตรเลยไม่ได้แม้เพียงการยกมือไหว้ในเมืองสาวัตถีอันมีผู้คนมากมาย

    พระเถระจึงกล่าวว่า อาวุโส เธอจงไปนั่งคอยอยู่ที่โรงฉันเถิด ดังนี้ แล้วส่งท่านกลับ พอพระเถระมาจากที่นั้นเท่านั้น พวกมนุษย์ก็พูดกันว่า พระผู้เป็นเจ้ามาแล้ว และนิมนต์พระสารีบุตรให้นั่งเหนืออาสนะ ให้ฉันภัตตาหาร พระเถระก็ส่งอาหารที่ได้แล้วนั้นให้คนเหล่านั้นไป โดยกล่าวกับคนเหล่านั้นว่า พวกเธอจงให้ภัตนี้แก่พระโลสกติสสเถระ แต่คนที่รับภัตนั้นไปก็ลืมพระโลสกติสสเถระ พากันกินเสียหมด

    เมื่อท่านพระสารีบุตรเดินไปถึงวิหาร ท่านพระโลสกติสสเถระได้ไปนมัสการท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรถามว่า อาวุโส คุณได้อาหารแล้วหรือ ท่านตอบว่า ไม่ได้ดอกครับ พระเถระถึงความสลดใจ เมื่อท่านดูเวลาก็เห็นว่า ยังไม่ล่วงเลยกาลที่จะบริโภค ท่านก็ให้พระโลสกติสสเถระนั่งรอในโรงฉัน แล้วได้ไปสู่พระราชวังของ พระเจ้าโกศล พระราชารับสั่งให้รับบาตรของพระเถระ ทรงพิจารณาว่า ขณะมิใช่กาลแห่งภัต แต่ก็รับสั่งให้ถวายของหวาน ๔ อย่าง จนเต็มบาตร

    ท่านพระสารีบุตรรับบาตรและกลับไปวิหาร เรียกท่านพระโลสกติสสเถระมาและให้ฉันของหวาน ๔ อย่างนี้ โดยที่ท่านถือบาตรยืนอยู่ ให้ท่านพระโลสกติสสเถระนั่งฉัน

    ท่านพระโลสกติสสเถระมีความยำเกรงในท่านพระสารีบุตร เห็นว่าท่านคงจะลำบากในการที่จะยืนถือบาตรและให้ท่านนั่งฉัน เพราะฉะนั้น ท่านก็ไม่ฉัน แต่ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับท่านว่า

    ท่านผู้มีอายุติสสะ ผมจะยืนถือบาตรไว้ คุณจงนั่งฉัน ถ้าผมปล่อยบาตรจากมือ บาตรต้องไม่มีอะไร

    ลำดับนั้น ท่านพระโลสกติสสเถระ เมื่อท่านพระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกยืนถือบาตรไว้ให้ จึงนั่งฉันของหวาน ๔ อย่าง ของหวาน ๔ อย่างนั้นไม่ถึงความหมดสิ้นด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ของท่านพระสารีบุตร ท่านพระโลสกติสสเถระฉันจนเต็ม ความต้องการในเวลานั้น

    ในวันนั้นเอง ท่านก็ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ พระผู้มีพระภาคประทับในสำนักของท่าน ทรงรับสั่งให้กระทำการปลงสรีระ เก็บเอาธาตุทั้งหลาย ก่อพระเจดีย์บรรจุไว้

    ในเวลานั้น ภิกษุทั้งหลายก็ประชุมกันในธรรมสภา นั่งสนทนากันว่า น่าอัศจรรย์จริง ท่านพระโลสกติสสเถระมีบุญน้อย มีลาภน้อย อันผู้มีบุญน้อย มีลาภน้อยเห็นปานดังนี้ บรรลุอริยธรรมได้อย่างไร

    พระบรมศาสดาเสด็จไปธรรมสภา มีพระดำรัสถามว่า

    ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้พวกเธอประชุมกันด้วยเรื่องอะไรเล่า

    เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ภิกษุทั้งหลาย โลสกติสสะผู้นี้ได้ประกอบกรรม คือ ความเป็นผู้มีลาภน้อย และความเป็นผู้ได้อริยธรรมของตนด้วยตนเอง เนื่องด้วยครั้งก่อน เธอกระทำอันตรายลาภของผู้อื่นจึงเป็นผู้มีลาภน้อย แต่เป็นผู้บรรลุอริยธรรมได้ด้วยผลที่บำเพ็ญวิปัสสนา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่าอดีตชาติของท่านพระโลสกติสสะเถระ

    ข้อความบางตอนมีว่า

    ในอดีตกาล ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ มีภิกษุรูปหนึ่ง อาศัยกุฎุมพีผู้หนึ่งอยู่ในอาวาสประจำหมู่บ้าน เป็นผู้เรียบร้อย มีศีล หมั่นบำเพ็ญวิปัสสนา

    คือ ยามปกติเป็นผู้เรียบร้อย มีศีล หมั่นบำเพ็ญวิปัสสนา

    ครั้งนั้น มีพระขีณาสพองค์หนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มาถึงบ้านที่อยู่ของกุฎุมพีผู้อุปัฏฐากภิกษุนั้น กุฎุมพีเลื่อมใสในอิริยาบถของพระอรหันต์ จึงรับบาตร นิมนต์เข้าสู่เรือน ให้ฉันภัตตาหารโดยเคารพ สดับพระธรรมกถาเล็กน้อย ไหว้พระเถระ แล้วนิมนต์พระคุณเจ้าให้ไปสู่วิหารใกล้บ้านของตน พระเถระจึงไปสู่วิหาร นมัสการ พระเถระเจ้าอาวาส

    พระอรหันต์ยังไหว้เจ้าอาวาสซึ่งยังมีกิเลส ตามพระวินัย

    ทักถามกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ภิกษุเจ้าอาวาสก็ทำปฏิสันถารกับท่าน แล้วถามว่า

    ผู้มีอายุ คุณได้รับภัตตาหารแล้วหรือ

    พระอรหันต์ท่านตอบว่า ได้แล้วครับ

    เจ้าอาวาสถามว่า คุณได้ที่ไหนเล่า

    พระอรหันต์ท่านก็ตอบว่า ได้ที่เรือนกุฎุมพีใกล้ๆ วิหารนี้แหละ

    ครั้นบอกอย่างนี้แล้ว ก็ถามถึงเสนาสนะ คือ ที่อยู่ของท่าน แล้วจัดแจงปัด กวาด เก็บบาตรจีวรไว้เรียบร้อย แล้วพักอยู่ด้วยความสุขในพลสมาบัติ เวลาเย็น กุฎุมพีให้คนถือเอาพวงดอกไม้และน้ำมันเติมประทีปไปวิหาร นมัสการพระเถระ เจ้าอาวาส แล้วถามว่า

    พระคุณเจ้าผู้เจริญ มีพระเถระอาคันตุกะมาพักรูปหนึ่งมิใช่หรือ

    เจ้าอาวาสตอบว่า จ้ะ มีมาพัก

    คฤหบดีถามว่า เดี๋ยวนี้ท่านพักอยู่ที่ไหนขอรับ

    เจ้าอาวาสตอบว่า ที่เสนาสนะโน้น

    กุฎุมพีก็ไปสู่สำนักของพระอรหันต์อาคันตุกะ นั่ง ณ ที่สมควร ฟังธรรมกถาจนถึงค่ำ จึงบูชาพระเจดีย์และต้นโพธิ์ จุดประทีปสว่างไสว แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งสองให้รับบาตรในวันรุ่งขึ้น แล้วกลับไป

    กุฎุมพีถูกหรือผิดในการที่เลื่อมใสผู้ที่ควรเลื่อมใส

    แต่ ฝ่ายพระเถระผู้เป็นเจ้าอาวาสคิดว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 20
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ