จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 134
นี่คือความวิจิตรของสภาพธรรมที่เป็นปัจจุบันส่วนกว้าง
อีกอย่างหนึ่ง ตรัสสุขเวทนาว่าชั้นสูง ตรัสทุกขเวทนาว่าชั้นต่ำ ตรัส อทุกขมสุขเวทนาว่าชั้นกลางส่วนกว้าง
สุขเวทนา ใครไม่ชอบบ้าง เมื่อชอบ เมื่อพอใจ เมื่อปรารถนา ก็เป็นชั้นสูง คือ เป็นสิ่งซึ่งปรารถนาต้องการ ส่วนทุกขเวทนานั้นใครๆ ก็ไม่ชอบ ไม่ปรารถนา ก็เป็น ชั้นต่ำ แต่อทุกขมสุขเวทนานั้น คือ ชั้นกลางส่วนกว้าง เพราะว่าตามปกติมีมากกว่าสุขเวทนาและทุกขเวทนา
ทางตาที่กำลังเห็น อุเบกขาเวทนาเกิดกับจักขุวิญญาณ เกิดกับสัมปฏิจฉันนะ เกิดกับปัญจทวาราวัชชนะ เกิดกับโวฏฐัพพนะ และอกุศลประเภทที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาก็มี แสดงให้เห็นว่า อุเบกขาเวทนาเป็นธรรมที่มีเป็นปกติ และมีมากกว่าเวทนาอื่นๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นชั้นกลางส่วนกว้าง
ตรัสกุศลธรรมว่าชั้นสูง ตรัสอกุศลธรรมว่าชั้นต่ำ ตรัสอัพยากตธรรมว่า ชั้นกลางส่วนกว้าง
เพราะว่ากุศลธรรมย่อมนำสุขมาให้ จึงเป็นธรรมชั้นสูง อกุศลธรรมย่อมนำทุกข์มาให้ จึงเป็นธรรมชั้นต่ำ อัพยากตธรรม คือ วิบากจิตและกิริยาจิต ซึ่งเป็นไปตามกรรม เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม มีกรรมเป็นปัจจัยชั่วขณะหนึ่งๆ อย่างมาก อย่างในวันนี้ ตลอดเวลา ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ล้วนแล้วแต่เป็นวิบากจิตและกิริยาจิตซึ่งเป็นอัพยากตธรรม เป็นธรรมชั้นกลางส่วนกว้าง
นี่เป็นสิ่งซึ่งสติจะต้องระลึก ไม่ใช่เพียงแต่รู้ ทุกขณะซึ่งเป็นของจริง เป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ผู้ที่รู้ธรรมอย่างนี้ได้จึงจะเป็นผู้ที่ข้ามตัณหา อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ตรัสเทวโลกว่าชั้นสูง ตรัสอบายโลกว่าชั้นต่ำ ตรัสมนุษยโลกว่าชั้นกลางส่วนกว้าง ตรัสอรูปธาตุว่าชั้นสูง ตรัสกามธาตุว่าชั้นต่ำ ตรัสรูปธาตุว่าชั้นกลางส่วนกว้าง ตรัสส่วนเบื้องบนตลอดถึงพื้นเท้าว่าชั้นสูง ตรัสส่วนเบื้องต่ำตลอดถึงปลายผมว่าชั้นต่ำ ตรัสส่วนกลางว่าชั้นกลางส่วนกว้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลางส่วนกว้าง
พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา โธตกมาณพนั่งประนมอัญชลีนมัสการ พระผู้มีพระภาค ประกาศว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ฉะนี้แล
จบ โธตกมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๕
ดูเป็นธรรมดาๆ ทุกอย่างที่ทรงแสดง ไม่ผิด จริง ประกอบด้วยเหตุผล แต่เป็นสิ่งที่ต้องประจักษ์แจ้ง
สำหรับข้อความตอนต้น ข้อ ๒๑๓ ซึ่งโธตกมาณพกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าพระองค์ย่อมเห็นพระองค์ผู้เป็นเทพ ผู้ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เที่ยวอยู่ในมนุษยโลก ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระสมันตจักษุ ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์นั้น ข้าแต่พระสักกะ ขอพระองค์จงปลดเปลื้องข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลาย
โธตกมาณพรู้ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์เดียวจะเป็นผู้ที่ทำให้ความสงสัยของท่านหมดลงได้ จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคตามความศรัทธาของท่านว่า ท่านเห็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเทพ ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เป็นผู้มีพระสมันตจักษุ และเรียกพระองค์ว่า พระสักกะ นี่ก็เป็นคุณนามต่างๆ ของพระผู้มีพระภาค
ข้อ ๒๑๔
เทพ ในอุทเทสว่า ปัสสามหัง เทวมนุสสโลเก ดังนี้ มี ๓ คือ สมมติเทพ ๑ อุปปัติเทพ ๑ วิสุทธิเทพ ๑
สมมติเทพเป็นไฉน พระราชา พระราชกุมาร และพระเทวี เรียกว่า สมมติเทพ
อุปปัติเทพเป็นไฉน เทวดาชาวจาตุมหาราชิกา เทวดาชาวดาวดึงส์ เทวดาชาวยามา เทวดาชาวดุสิตา เทวดาชาวนิมมานรดี เทวดาชาวปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม และเทวดาในชั้นที่สูงกว่า เรียกว่า อุปปัติเทพ
วิสุทธิเทพเป็นไฉน พระอรหันตขีณาสพสาวกของพระตถาคต และ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เรียกว่า วิสุทธิเทพ
พระผู้มีพระภาคเป็นเทพ ยิ่งกว่าสมมติเทพ ยิ่งกว่าอุปปัติเทพ และยิ่งกว่า วิสุทธิเทพทั้งหลาย คือ เป็นอติเทพ เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เป็นสีหะยิ่งกว่าสีหะ เป็นนาคยิ่งกว่านาค เป็นเจ้าคณะยิ่งกว่าเจ้าคณะ เป็นมุนียิ่งกว่ามุนี เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา
ข้อ ๒๑๕
คำว่า อกิญจนัง ในอุทเทศว่า อกิญจนัง พราหมณึง อริยมานัง ดังนี้ ความว่า ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต เป็นเครื่องกังวล เครื่องกังวลเหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว จึงชื่อว่าไม่มีเครื่องกังวล
คำว่า พราหมณัง ความว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะทรงลอยธรรม ๗ ประการแล้ว คือ ทรงลอยสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทรงลอยธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลอันลามก อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป
ข้อ ๒๑๖ อธิบายความหมายของสมันตจักษุ มีข้อความว่า
พระสัพพัญญุตญาณ เรียกว่า สมันตจักษุ ในบทว่า สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรงเข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้น
พระตถาคตพระองค์นั้น ไม่ทรงเห็นอะไรๆ น้อยหนึ่งในโลกนี้ อนึ่ง ไม่ทรงรู้อะไรๆ ที่ไม่ทรงรู้แล้ว ไม่มีเลย
ต้องฟังจนถึงประโยคสุดท้ายที่ว่า ไม่มีเลย
พระตถาคตทรงรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง ธรรมชาติใดที่ควรแนะนำมีอยู่ พระตถาคตทรงรู้ยิ่งซึ่งธรรมชาตินั้นแล้ว เพราะฉะนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่ามีพระสมันตจักษุ
ข้อ ๒๑๗ มีคำอธิบายว่า
คำว่า สักกะ ในอุทเทศว่า ปมุญจ มัง สักก กถังกถาหิ ดังนี้ ความว่า พระผู้มีพระภาคทรงผนวชจากศากยสกุล แม้เพราะเหตุนี้ จึงชื่อว่าสักกะ
อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก นับว่ามีทรัพย์ แม้เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงชื่อว่าสักกะ
พระองค์มีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือ สติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์คือพละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน
พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก นับว่ามีทรัพย์ ด้วยรัตนทรัพย์หลายอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงชื่อว่าสักกะ อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเป็น ผู้อาจ ผู้องอาจ อาจหาญ มีความสามารถ ผู้กล้า ผู้แกล้วกล้า ผู้ก้าวหน้า ผู้ไม่ขลาด ผู้ไม่หวาดเสียว ผู้ไม่สะดุ้ง ผู้ไม่หนี ละความกลัวความขลาดเสียแล้ว ปราศจากความเป็นผู้มีขนลุกขนพอง แม้เพราะเหตุนี้ จึงชื่อว่าสักกะ
ถ. ที่อาจารย์บรรยายถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราระลึกถึงพระพุทธคุณ ที่เราเรียนมาก็ยังน้อยไป ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ มีมากกว่านั้น ใช่ไหม
ถ. ใช่
ท่านอาจารย์ เป็นไปตามความเข้าใจของแต่ละคน ถ้าไม่ใช่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถเข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อะไร แต่เมื่อเจริญสติปัฏฐานก็รู้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ความเกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ. เพราะฉะนั้น การระลึกถึงพระพุทธคุณของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน
ท่านอาจารย์ ไม่เท่ากัน ปัจจุบันเป็นชั้นกลางส่วนกว้าง อย่าลืม ความคิดนึกของแต่ละคน
ยังไม่หมดความสงสัยในนามธรรมและรูปธรรม ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ยังมีวิจิกิจฉา ซึ่งเป็นโมหมูลจิตดวงหนึ่งในโมหมูลจิต ๒ ดวง
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นแสงสว่างที่ทำให้ทุกท่านรู้จักตนเองดียิ่งขึ้น ซึ่งต้องเป็นผู้ที่พิจารณาโดยละเอียด จึงจะได้รับประโยชน์จากพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง แม้แต่การรู้เรื่องของโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ คือ อกุศลจิตซึ่งไม่ได้เกิดร่วมกับโลภเจตสิก โทสเจตสิก แต่แม้กระนั้นก็ยังเป็นอกุศลจิต
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มหาวรรค ข้อ ๑๙๖ ข้อความตอนท้าย มีว่า
ณ กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี พระผู้มีพระภาคตรัสกับ เจ้าลิจฉวีพระนามว่า สาฬหะและอภัย ผู้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับว่า ...
... อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ดูกร สาฬหะ นักรบผู้ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้ ฉันใด อริยสาวกผู้มี สัมมาวิมุตติ ก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมทำลายกองอวิชชาอันใหญ่ เสียได้ ฯ
ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน หรือไม่ได้ฟังธรรมโดยละเอียด จะไม่ทราบเลยว่า กองอวิชชาอันใหญ่ ใหญ่มากมายแค่ไหน ทั้งทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โธตกมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๒๒๓ เมื่อโธตกมาณพกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์โปรดทรงพระกรุณาตรัสสอนธรรมอันสงัดที่ข้าพระองค์พึงรู้ได้ ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ เป็นผู้สงบอยู่ในที่นี้นี่แหละ ไม่อาศัยแล้วพึงเที่ยวไป
ข้อความที่น่าพิจารณาและต้องพิจารณาโดยละเอียด คือ ขอพระองค์โปรดทรงพระกรุณาตรัสสอนธรรมอันสงัดที่ข้าพระองค์พึงรู้ได้
บางคนคิดว่า ต้องเป็นเรื่องของความสงบ เรื่องของสมาธิ เพราะว่า โธตกมาณพกราบทูลถามอย่างนั้น แต่โธตกมาณพก็กราบทูลต่อไปว่า ข้าพระองค์ ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ เป็นผู้สงบอยู่ในที่นี้นี่แหละไม่อาศัยแล้วพึงเที่ยวไป
ไม่อาศัย คือ ไม่ต้องอาศัยคำบอกเล่าของคนอื่นอีกต่อไป เพราะว่าเป็นผู้ที่ปัญญาเกิด สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ได้ด้วยตนเอง
ข้อ ๒๒๘ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกร โธตกะ เราจักบอกความสงบในธรรมที่เราเห็นแล้วอันประจักษ์แก่ตน แก่ท่าน ที่บุคคลได้ทราบแล้วเป็นผู้มีสติเที่ยวไป พึงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้
ถ้าเป็นความสงบในพระพุทธศาสนา ต้องเป็นความสงบจากอกุศลธรรมทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญญา ไม่รู้เรื่องของอวิชชา ยังมีความสงสัยอยู่และจะสงบ ฉะนั้น ถ้าเป็นความสงบในคำสอนของพระผู้มีพระภาค ต้องเป็นความสงบในธรรม
ข้อ ๒๒๙ อธิบายความหมายของคำว่า ความสงบ
คำว่า เราจักบอกความสงบ ... แก่ท่าน ความว่า เราจักบอก คือ จักเล่า ... จักประกาศซึ่งความสงบราคะ ความสงบโทสะ ความสงบโมหะ ความสงบ เข้าไปสงบ ความเข้าไปสงบวิเศษ ความดับ ความระงับซึ่งความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความหัวดื้อ ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง (คือ อกุศลเจตนาทั้งปวง) เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเราจักบอกความสงบ ... แก่ท่าน
ธรรมสำหรับพิจารณาตนเอง ถ้าใครต้องการความสงบขณะไหน พิจารณาได้เลยว่า อยากสงบจากอะไร
อยากสงบจากโลภะไหม อยากสงบจากโทสะ อยากสงบจากความโกรธ อยากสงบจากความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความหัวดื้อ ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความเมา ความประมาทหรือเปล่า นี่คือธรรมสำหรับแต่ละท่านจริงๆ ที่จะพิจารณา
สำหรับผู้ที่เจริญกุศลเพื่อสงบจากอกุศลทั้งหลาย เช่น เมื่อเป็นผู้ที่สงบจากราคะ คือ ไม่ได้มีความติดอย่างมากมายในสิ่งต่างๆ ย่อมจะเป็นผู้ที่สงบจากโทสะ โดยเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของเมตตา และเป็นผู้ที่เจริญเมตตา ซึ่งสติจะต้องระลึกได้ในขณะที่กำลังโกรธ และจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นผู้ที่ต้องการความสงบไหม
ถ้าสติไม่เกิด ระลึกไม่ได้ ก็ไม่ต้องการที่จะสงบจากความโกรธในขณะนั้น ความโกรธก็ยังคงมีฉันทะ คือ พอใจ ที่จะโกรธต่อไปอีก จนกว่าจะระลึกรู้ว่า ความโกรธไม่มีประโยชน์เลย แต่ว่าก่อนที่จะรู้อย่างนั้น ฉันทะ ความพอใจที่จะโกรธ ยังไม่ต้องการสงบจากความโกรธ จะทำให้ความโกรธนั้นมีกำลังต่อไป
แต่ถ้าผู้ใดสงบจากราคะ จะทำให้มีกุศลสืบเนื่องต่อไปถึงสงบจากโทสะ เป็นผู้ที่เจริญเมตตา ไม่ผูกโกรธ ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ถือตัว หรือดูหมิ่นท่านด้วย
เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้รู้ว่า ความสงสัยในสภาพธรรมที่เป็นอริยสัจธรรมของ แต่ละท่านเองนั้น ยังมีอยู่มากน้อยต่างกันเพียงใด ขอกล่าวถึงข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคควรรคที่ ๔ วรรคที่ ๑ อรรถกถาสูตรที่ ๑ ซึ่งมีข้อความโดยย่อว่า
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ปราบพวกเดียรถีย์ ณ โคนต้นคัณฑามพฤกษ์ คือ ไม้มะม่วงหอม ทรงพระดำริว่า พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลาย ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์แล้วเข้าจำพรรษา ณ ที่ไหนหนอ ก็ทรงทราบว่า ณ ภพดาวดึงส์ พระองค์จึงเสด็จสู่ภพดาวดึงส์ ประทับนั่งบนบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกเทวราช แล้วทรงแสดงพระอภิธรรมปิฎก โปรดพระพุทธมารดาและ เทพดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เมื่อมหาชนไม่เห็นพระผู้มีพระภาค ก็ได้เข้าไปถามท่านพระอนุรุทธะซึ่งเป็นเอตทัคคะทางจักษุทิพย์ว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่ไหน ท่านพระอนุรุทธะ ได้ตอบว่า พระผู้มีพระภาคทรงเข้าจำพรรษาในภพดาวดึงส์ เริ่มทรงแสดงพระอภิธรรม มหาชนก็ได้ถามว่า เมื่อไรพระผู้มีพระภาคจะเสด็จมา ท่านพระอนุรุทธะก็ได้ให้มหาชนเหล่านั้นไปถามท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วกราบทูลว่า มหาชนประสงค์จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วอยากทราบวันที่ พระผู้มีพระภาคจะเสด็จมา ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ไปบอกมหาชนว่า ตั้งแต่นี้ล่วงไป ๓ เดือน มหาชนเหล่านั้นจะเห็นพระองค์ที่ประตูเมืองสังกัสสะ
ในระหว่าง ๓ เดือนนั้น มหาชนตั้งค่ายพักอยู่ที่ประตูเมืองสังกัสสะ และท่านพระสารีบุตรเถระได้แสดงพระอภิธรรมตามที่ได้รับฟังจากพระผู้มีพระภาคต่อ พุทธบริษัท และท่านจุลลอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้ถวายข้าวยาคูและภัตแก่บริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์ ตลอด ๓ เดือน
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์แล้ว ทรงแสดงอาการ เพื่อเสด็จกลับมนุษยโลก ท้าวสักกเทวราชตรัสให้วิสสุกัมมเทพบุตรเนรมิตบันไดเพื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จลง ซึ่งวิสสุกัมมเทพบุตรก็ได้เนรมิตบันไดทองข้างหนึ่ง บันไดเงินข้างหนึ่ง แล้วเนรมิตบันไดแก้วมณีไว้ตรงกลาง พระผู้มีพระภาคประทับยืนบนบันไดแก้วมณี ทรงอธิษฐานว่า ขอมหาชนจงเห็นเรา ทรงอธิษฐานด้วยอานุภาพของพระองค์ว่า ขอมหาชนจงเห็นอเวจีมหานรก และทรงทราบว่ามหาชนเกิดความสลดใจเพราะเห็นนรก จึงทรงแสดงเทวโลก
ลำดับนั้น เมื่อพระองค์เสด็จลง ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสักกเทวราชทรงรับบาตร ท้าวสุยามเทวราชพัดด้วยวาลวีชนีอันเป็นทิพย์ ปัญจสิขคันธัพพเทพบุตร บรรเลงพิณสีเหลืองดังผลมะตูม ให้เคลิบเคลิ้มด้วยมุจฉนาเสียงประสาน ๕๐ ถ้วน ลงนำเสด็จ
ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนบนแผ่นดิน มหาชนอธิษฐานว่า ข้าพระองค์จักถวายบังคมก่อนๆ พร้อมกับการเหยียบมหาปฐพีของพระผู้มีพระภาค ทั้งมหาชน ทั้งพระอสีติมหาสาวก ไม่ทันได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระเท่านั้น ทันถวายบังคม
นี่เป็นเหตุการณ์ในครั้งนั้นที่แสดงให้เห็นถึงปัญญาของท่านพระสารีบุตรว่า เป็นผู้ที่เลิศในทางปัญญา เป็นเหตุให้แม้การถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทันทีที่พระองค์เหยียบมหาปฐพี ท่านก็สามารถกระทำได้ก่อนมหาชนและพระอสีติมหาสาวกอื่นๆ
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงเริ่มปุถุชนปัญจกปัญหา คือ ปัญหามีปุถุชนเป็นที่ ๕ ในระหว่างบริษัท ๑๒ โยชน์ ด้วยพระพุทธประสงค์ว่า มหาชนจงรู้อานุภาพปัญญาของพระเถระ คือ ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร
ในระหว่างที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระอภิธรรมบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงพระอภิธรรมที่ได้รับฟังจากพระผู้มีพระภาคกับมหาชน ซึ่งคอยการเสด็จกลับอยู่ที่เมืองสังกัสสะ เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จลงมาแล้ว ก็ได้ทรงเริ่ม ปุถุชนปัญจกปัญหา คือ ปัญหามีปุถุชนเป็นที่ ๕ เพื่อให้มหาชนได้เห็นอานุภาพปัญญาของท่านพระสารีบุตร
ข้อความต่อไปมีว่า
ครั้งแรกตรัสถามปุถุชนด้วยพุทธประสงค์ว่า โลกียมหาชนจักกำหนดได้ ชนเหล่าใดๆ กำหนดได้ ชนเหล่านั้นๆ ก็ตอบได้
เป็นการแสดงลำดับของปัญญาขั้นต่างๆ ตั้งแต่ขั้นการฟัง ถ้าไม่เคยได้ฟัง พระธรรมเลย แม้แต่นามธรรมกับรูปธรรม หรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า หมายความถึงสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่มีจริง ที่เกิดกับแต่ละท่าน และเมื่อได้ฟังก็ทำให้เริ่มเข้าใจธรรมที่มีจริงๆ ในขั้นของการฟัง ในขั้นของการพิจารณา เพราะฉะนั้น การตอบปัญหาของแต่ละท่าน ก็ต้องแล้วแต่ว่าท่านเหล่านั้นได้พิจารณาและได้อบรมเจริญปัญญาในขั้นไหน
ครั้งที่ ๒ ตรัสถามปัญหาในโสตาปัตติมรรค ล่วงวิสัยปุถุชน ปุถุชนทั้งหลาย ก็นิ่ง พระโสดาบันเท่านั้นตอบได้
ลำดับนั้นจึงตรัสถามปัญหาในสกทาคามิมรรค ล่วงวิสัยพระโสดาบัน พระโสดาบันก็นิ่ง พระสกทาคามิบุคคลเท่านั้นตอบได้
ตรัสถามปัญหาในอนาคามิมรรค ล่วงวิสัยแม้ของพระสกทาคามิบุคคลเหล่านั้น พระสกทาคามิบุคคลก็นิ่ง พระอนาคามิบุคคลเท่านั้นตอบได้
ตรัสถามปัญหาในอรหัตตมรรค ล่วงวิสัยของพระอนาคามิบุคคลแม้เหล่านั้น พระอนาคามีก็นิ่ง พระอรหันต์เท่านั้นตอบได้
ตั้งแต่เงื่อนปัญหาเบื้องต่ำกว่านั้น ตรัสถามพระสาวกผู้รู้ยิ่ง พระสาวกเหล่านั้นตั้งอยู่ในวิสัยแห่งปฏิสัมภิทาของตนๆ ก็ตอบได้ ลำดับนั้นจึงตรัสถาม พระมหาโมคคัลลานเถระ พระสาวกนอกนั้นก็นิ่งเสีย พระเถระเท่านั้นตอบได้ ทรงล่วงวิสัยของพระเถระแม้นั้น ตรัสถามปัญหาในวิสัยของพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะก็นิ่งเสีย พระสารีบุตรเถระเท่านั้นตอบได้ ทรงล่วงวิสัยแม้ของพระเถระ ตรัสถามปัญหาในพุทธวิสัย พระธรรมเสนาบดีแม้นึกอยู่ก็ไม่สามารถจะเห็น มองดูไปรอบๆ คือ ทิศใหญ่ ๔ คือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศน้อยทั้ง ๔ ก็ไม่สามารถจะกำหนดฐานที่เกิดปัญหาได้
พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พระเถระลำบากใจ ทรงดำริว่า สารีบุตรลำบากใจ จำเราจักแสดงแนวทางแก่เธอ จึงตรัสว่า เธอจงรอก่อนสารีบุตร แล้วตรัสบอกว่าปัญหานั้นเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า ด้วยพระพุทธดำรัสว่า ปัญหานี้มิใช่วิสัยของเธอ เป็นวิสัยของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้มียศ แล้วตรัสว่า สารีบุตรเธอจงเห็นภูตกายนี้
ท่านพระเถระรู้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสบอกการกำหนดกายอันประกอบด้วย มหาภูตรูป ๔ แล้วทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์รู้แล้ว ข้าแต่พระสุคตเจ้า ข้าพระองค์รู้แล้ว
เกิดการสนทนากันขึ้นในที่นี้ดังนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ชื่อว่าพระสารีบุตร มีปัญญามากหนอ ตอบปัญหาที่คนทั้งปวงไม่รู้ และตั้งอยู่ในนัยที่พระพุทธเจ้าประทานแล้ว ตอบปัญหาในพุทธวิสัยได้ ดังนั้น ปัญญานุภาพของพระเถระจึงขจรไปท่วมฐานะทั้งปวง
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 101
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 102
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 103
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 104
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 105
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 106
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 107
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 108
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 109
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 110
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 111
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 112
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 113
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 114
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 115
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 116
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 117
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 118
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 119
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 120
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 121
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 122
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 123
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 124
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 125
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 126
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 127
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 128
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 129
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 130
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 131
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 132
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 133
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 134
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 135
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 136
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 137
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 138
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 139
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 140
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 141
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 142
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 143
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 144
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 145
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 146
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1960
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1961
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1962
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1963