จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 145
ผู้ฟัง มีเรื่องหนึ่งในพระสูตร แต่ชื่ออะไรจำไม่ได้ คือ ไม่เคยสร้างความดีเลย แต่ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จไป หันมาเห็นพระพุทธเจ้าก็เกิดพุทธานุสสติ จึงไม่ตกอบาย มีไหม
ท่านอาจารย์ ถ้ากุศลจิตเกิด เป็นกุศลกรรม และเวลาที่กุศลกรรมนั้นให้ผล ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ
ผู้ฟัง ถ้าคนๆ หนึ่งเคยทำแต่ความดีมา แต่ก่อนตายเกิดอกุศลจิต ก็เสร็จกัน สุ. แน่นอน ประมาทไม่ได้เลย อยู่ที่ว่าใกล้จะจุตินั้น ...
ผู้ฟัง สำคัญตรงนี้ล่ะ คือ ก่อนจะตายไม่ค่อยรู้สึกตัว จะบอกอะไรกันก็ไม่ได้ ไร้สาระมากเลยชีวิต
ท่านอาจารย์ เวลาที่ขว้างท่อนไม้ขึ้นไปบนอากาศ ส่วนไหนจะตกลงมา นี่เป็นข้อความในพระสูตรสูตรหนึ่ง
ผู้ฟัง ส่วนที่หนัก ส่วนที่ใหญ่ ที่หนักกว่า
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ส่วนไหนตก บางครั้งจะเป็นส่วนปลาย บางครั้งจะเป็นส่วนต้น บางครั้งจะเป็นส่วนกลาง ฉันใด กรรมที่ทุกคนทำมา เลือกไม่ได้ว่า จะให้กรรมนี้เป็นชนกกรรมทำให้ปฏิสนธิ
ผู้ฟัง การที่เราทำบุญให้ทาน ใส่บาตร ก่อนเราจะตายเราไม่มีสติ ไปคิดเรื่องอะไรที่ไม่ดีขึ้น เราก็เสร็จ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ควรอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล จะไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิอีกเลย แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็มีปัจจัยทำให้เกิดในอบายภูมิได้ ไม่ว่าผู้นั้นจะทำกุศลมามากอย่างไรก็ตาม เช่น พระเจ้าอโศกมหาราช ก็มีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม พระนางมัลลิกา มเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็เกิดในนรก พระนางอุพพรีก็เกิดเป็นหนอน
ผู้ฟัง หนอนตอนพระโพธิสัตว์เรียกมา พูดได้หรือ
ท่านอาจารย์ น่าคิด ใช่ไหม เคยได้ยินเสียงหนอนไหม
ผู้ฟัง ไม่เคย เห็นแต่มันคลานไปคลานมา
ท่านอาจารย์ คงจะเล็กและเบามาก เพราะว่าปัจจัยที่จะให้เกิดเสียงก็ต้องแล้วแต่ ถ้าเป็นของแข็งมากๆ กระทบกันเสียงก็ดัง ถ้าซักผ้าและสะบัดเบาๆ คนที่อยู่ไกลยังเห็นกิริยาอาการของการซักผ้าและการสะบัดผ้า แต่ไม่ได้ยินเสียงของผ้าที่สะบัด เพราะฉะนั้น ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัยว่าจะมีเสียงดังได้มากน้อยแค่ไหน
ผู้ฟัง ผมคิดว่าพระโพธิสัตว์ท่านช่วย คือ ช่วยเป็นสื่อ
ท่านอาจารย์ ข้อนี้น่าคิด และควรที่จะได้พิจารณาว่า มีทางที่จะเป็นไปได้ไหม เพราะว่าในครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เป็นพระดาบสที่ได้อภิญญา ๕ มีจักขุทิพย์ มีโสตทิพย์ และสามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้ ก็ย่อมจะเนรมิตเสียงได้
ธรรมดาของผู้ที่รู้จักกัน หรือว่าเห็นกัน คุ้นเคยกัน ก็ยังสามารถอ่านจิตใจของคนนั้นได้ และถ้าเคยได้ยินเขาพูดอะไรบ่อยๆ แม้ไม่พูดก็อาจจะคิดว่า เดี๋ยวเขาก็จะพูดคำนี้แน่ๆ ก็ได้ ใช่ไหม
ถ้าเป็นผู้ที่มีความละเอียด และสะสมการเป็นผู้ที่มีสติระลึกลักษณะของ สภาพธรรม ย่อมสามารถสังเกตโดยละเอียด จากสิ่งที่เห็นทางตาก็สามารถล่วงรู้ไปถึงใจแม้ที่กำลังคิดของคนนั้น ปิดบังไม่ได้ คนฉลาดสามารถอ่านจิตใจของคนอื่นได้พอสมควร โดยที่ยังไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์ หรือว่าไม่ใช่อภิญญา ไม่ใช่จักขุทิพย์ โสตทิพย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นจักขุทิพย์ หรือโสตทิพย์ รู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ ก็สามารถรู้ได้ว่า พระนางอุพพรีเกิดเป็นหนอน และการที่จะให้หนอนออกมาจาก ก้อนโคมัย ถ้าเป็นคนธรรมดาก็อาจจะเขี่ย มีวิธีใช่ไหม ก็เอาหนอนออกมาได้เหมือนกัน แต่ว่าโดยอธิษฐาน และผู้ที่สามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้ สามารถเนรมิตรูปได้ด้วย เพราะฉะนั้น ก็จะมีรูป อาจจะเป็นรูปธาตุไฟที่ร้อนหรืออะไรก็ได้ที่ทำให้หนอนนั้นออกมา และเมื่อออกมาแล้ว ยังสามารถให้หนอนนั้นเข้าใจ หรือรู้สิ่งที่ พระดาบสหรือพระโพธิสัตว์นั้นพูดกับตนก็ได้ เพราะว่ามีโสตปสาท และถ้าจิตใจของหนอนเป็นอย่างไร พระโพธิสัตว์ก็ยังสามารถแปลสภาพของเสียงนั้นออกมาเป็นภาษาที่ พระเจ้าอัสสกะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น เทวดาจะพูดกับคนไทยได้ไหม
ผู้ฟัง ผมคิดว่าคงจะได้ เพราะว่าเทวดามีฤทธิ์
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้จิต ใช่ไหม เรื่องของใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แม้ไม่พูด แต่ใจเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล มีโลภะ มีความคิด มีความต้องการอย่างไรที่ผู้อื่นสามารถจะล่วงรู้ได้ แม้ไม่ต้องใช้เสียง เมื่อคนอื่นเข้าใจสภาพของจิตคนนั้นแล้ว ก็สามารถเนรมิตเสียงซึ่งเหมือนกับใจของคนที่พูดได้
ผู้ฟัง ทำไมสมัยพุทธกาล ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกาต่างๆ ฟังพระธรรมแล้ว บรรลุกันมากมาย ผมสงสัยว่า สมัยนี้คงมีแต่ปทปรมบุคคลกับเนยยบุคคล จะมี อุคฆฏิตัญญูและวิปัญจิตัญญูหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่มี
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เราก็แย่
ท่านอาจารย์ แย่แล้วทำอย่างไร ข้อสำคัญที่สุด ถ้ารู้ภาวะของตัวเองว่าแย่แล้ว จะ ทำอย่างไร อย่าปล่อยให้แย่อยู่เฉยๆ
ผู้ฟัง มีข่าวว่าภิกษุรูปนั้นเป็นอรหันต์ เป็นอริยบุคคล แต่ในภาพต่างๆ ในหนังสือธรรมต่างๆ ผมเห็นภิกษุรูปนั้นยังสูบบุหรี่ คาบบุหรี่ ผมสงสัยว่า ทำไม พระอริยบุคคลจึงเสพติด ที่จริงเราไม่สามารถรู้ได้ใช่ไหมว่า ใครเป็นอริยะ หรือไม่เป็น
ท่านอาจารย์ เป็นการดีหรือเปล่าที่จะเชื่อโดยง่าย เวลามีใครบอกว่า คนนั้นเป็น พระอรหันต์ หรือว่าคนนี้เป็นพระอรหันต์
ผู้ฟัง แต่พูดกันมาก
ท่านอาจารย์ ก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อ ทุกคนมีสิทธิที่จะพูดได้ เราก็มีสิทธิที่จะพิจารณา และรู้หรือยังว่าพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง หมดกิเลส
ท่านอาจารย์ และหนทางที่จะหมดกิเลสเป็นอย่างไร รู้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ทราบ ก็ตัดสินไม่ได้ จะตัดสินได้เมื่อเป็นผู้ที่รู้หนทางที่ทำให้หมดกิเลส
ผู้ฟัง ในสมัยพุทธกาลเวลาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงชาดกจบลง มีภิกษุบรรลุเป็นพระอริยบุคคลเสมอ สงสัยว่า ขณะที่ปัญญาในมรรคจิตเกิด เกิดพร้อมกับสติปัฏฐานหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ แน่นอน ต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ
ผู้ฟัง ปัญญาในโลกุตตรมรรคจิตเกิดพร้อมกับสติปัฏฐานที่ท่านขณะกำลังเจริญหรือเปล่า หรือว่าเกิดเพราะสติปัฏฐานที่เคยเจริญแล้วเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิด
ท่านอาจารย์ คำถามนี้คงจะหมายความว่า เวลาที่โลกุตตรจิตเกิดมีนิพพานเป็นอารมณ์ สติในขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า คำตอบ คือ เป็น
แต่สติปัฏฐานมีหลายขั้น สติปัฏฐานที่เป็นการอบรมเจริญปัญญาในขณะที่ยังไม่รู้แจ้งนิพพาน สติปัฏฐานนั้นระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และเวลาที่วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นเกิด ก็ต้องเป็นสติปัฏฐาน เพราะว่ามีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสติ
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจความหมายของสติปัฏฐานว่า สิ่งที่สติระลึกรู้ เพราะว่าสติต้องเป็นสภาพที่ระลึกรู้ ในขณะที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นโลกุตตรจิต สติในขณะนั้นก็ระลึกรู้ที่ลักษณะของนิพพาน เพราะไม่ว่าสติจะเกิดขณะใด สตินั้น ต้องเป็นสภาพที่ระลึกรู้ ที่เป็นสัมมาสติ
ถ, สตินั้นต้องระลึกรู้ลักษณะของนิพพานว่า ไม่มีตัวตนด้วย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน แต่ไม่ได้หมายความถึงในขั้นที่กำลังอบรมเจริญ แต่สติปัฏฐานนั้นเป็นขั้นที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน
ถ. และในขณะผลจิต สติที่เกิดนั้นจะเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เหมือนกัน มิฉะนั้นแล้ว ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นสติอะไร
ถ. มรรคจิตปหานกิเลสแล้ว ในขณะผลจิตก็ไม่มีกิจที่จะต้องทำแล้ว ทำไมต้องมีสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ แม้ไม่มีกิจต้องทำ แต่ปัฏฐาน คือ ที่ตั้งที่สติระลึกรู้ ในความหมายนั้น เพราะฉะนั้น อย่าติดที่ศัพท์ เพราะถ้าติดที่ศัพท์จะย้อนกลับไปว่า มิฉะนั้นแล้วสติในขณะนั้นเป็นสติอะไร ใช่ไหม เพราะสติขั้นสูงสุด คือ สติปัฏฐาน ซึ่งระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏชัดตามความเป็นจริง
ถ. แต่ทำกิจคนละอย่าง
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ในขณะที่กำลังเจริญอบรมอยู่ แต่เป็นในขณะที่กำลังประจักษ์แจ้งลักษณะสภาพของนิพพาน
ท่านที่เป็นทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ เพราะว่าญาติพี่น้อง ภรรยาสามี บุตรธิดาตายจากไป ก็ลืมคิดถึงชาติก่อนว่า เมื่อท่านจากมาสู่โลกนี้ บางคนอาจจะกำลัง เศร้าโศกเสียใจถึงท่าน โดยที่ท่านก็ไม่รู้เลยได้ใช่ไหม ท่านมาเกิดเป็นบุคคลใหม่ใน โลกนี้แล้ว โดยที่ไม่รู้ว่า ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ผู้ที่ท่านจากมานั้น อาจจะยังคงมีชีวิตอยู่ และเศร้าโศกเสียใจถึงท่านอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ได้ โดยที่ท่านไม่รู้ตัวเลย ฉันใด ผู้ที่จากท่านไปสู่โลกอื่น เป็นบุคคลอื่น ก็ฉันนั้น ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เคยมีความสัมพันธ์กับบุคคลใด และบุคคลนั้นๆ ก็กำลังเศร้าโศกเสียใจระลึกถึงท่าน เพราะว่าการมีชีวิตอยู่ในแต่ละภพแต่ละชาตินั้นตามกำลังของกรรมว่า จะมากน้อยเพียงไร และเมื่อสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น ก็ไม่กลับไปสู่สภาพของความเป็นบุคคลนั้นอีกเลย จะเป็นบุคคลใหม่ตามกรรมแต่ละกรรมไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น สำหรับในชาตินี้ เป็นบุคคลนี้ ได้เป็นมนุษย์ มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็ต้องไม่ประมาท เพราะถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล จะเกิดในอบายภูมิได้ แล้วแต่ว่าจะเกิดในนรก หรือว่าเกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นดิรัจฉาน
ถ้าเห็นดิรัจฉานเกิดใหม่จะรู้ไหมว่า เคยเป็นใครที่เรารู้จัก เป็นไปได้ไหม ก็ย่อมเป็นได้ เพราะฉะนั้น จะทำให้เรามีเมตตาจิตกับสัตว์ดิรัจฉานได้เพิ่มขึ้น เพราะว่าอาจจะเคยเป็นผู้มีอุปการคุณในชาติหนึ่งชาติใดก็เป็นได้ แทนที่จะคิดเบียดเบียนหรือประทุษร้าย ก็จะรู้ได้ว่า แต่ละชีวิตเป็นไปตามกรรม แล้วแต่ว่ากรรมจะทำให้ดำรงอยู่ในภพนั้นนานเท่าไร
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เวฬุทวารวรรคที่ ๑ ราชาสูตร ข้อ ๑๔๑๑
มีข้อความว่า
พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิเสวยราชสมบัติเป็นอิสราธิบดีในทวีป ทั้ง ๔ สวรรคตแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ... ถึงอย่างนั้น ท้าวเธอก็ยังไม่พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน จากปิตติวิสัย จากอบาย ทุคติ วินิบาต
... อริยสาวกเยียวยาอัตภาพอยู่ด้วยคำข้าวที่แสวงหามาด้วยปลีแข้ง นุ่งห่มผ้าที่เศร้าหมอง ... ถึงอย่างนั้น เธอก็พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน จากปิตติวิสัย และจากอบาย ทุคติ วินิบาต
เพราะฉะนั้น การได้ทวีปทั้ง ๔ คือ ไม่ว่าจะเป็นสมบัติใดๆ มากมายสักเท่าไร ก็ตาม ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออกไปแล้ว ๑๖ หน ของการได้ธรรม ๔ ประการ คือ ธรรมของพระอริยบุคคล ได้แก่ ความเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ และในศีลของพระอริยสาวก
เวลาที่จะจุติจริงๆ น่ากลัวตรงที่ไม่รู้คติที่ไปเลยว่า จะไปสู่ภพไหน ภูมิไหน เพราะว่าทุกคนยังคงมีอกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ภยวรรคที่ ๓ ภยสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๒๑ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภัยของอกุศล ๔ ประการ คือ
อัตตานุวาทภัย ภัยเกิดแต่การติเตียนตนเอง ๑ ปรานุวาทภัย ภัยเกิดแต่ ผู้อื่นติเตียน ๑ ทัณฑภัย ภัยเกิดแต่อาญา ๑ ทุคติภัย ภัยเกิดแต่ทุคติ ๑
นี่คือภัยต่างๆ ของอกุศลกรรมที่ได้กระทำ นอกจากจะติเตียนตนเอง คือ เมื่อได้กระทำอกุศลกรรมแล้ว บางคนระลึกขึ้นมาจิตใจก็เป็นทุกข์เศร้าหมองมาก ที่ได้เผลอทำอกุศลกรรม เพราะในขณะที่ทำอกุศลกรรมต้องเป็นในขณะที่ไม่รู้สึกตัว ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่กุศลในขณะนั้น ปราศจากการระลึกที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น เมื่อได้กระทำแล้ว เวลาระลึกขึ้นได้ก็ทำให้จิตใจเศร้าหมอง นอกจากจะติเตียนตนเอง มีความทุกข์เพราะการกระทำของตนเองแล้ว ก็ยังเป็นที่ ติเตียนของคนอื่นด้วย จึงทำให้ผู้ที่ได้รับการติเตียนต้องเป็นทุกข์แน่นอน และถ้าเป็นอกุศลกรรมที่มีกำลัง ทำให้ได้รับภัยคืออาญา ก็เป็นความทุกข์ เป็นโทษ เป็นภัยของอกุศลกรรมนั้น
และประการสำคัญที่สุด ซึ่งใครก็ช่วยไม่ได้เลย คือ ทุคติภัย ภัยเกิดแต่ทุคติ คือ การไปเกิดในอบายภูมิ
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ วัตถูปมสูตร ข้อ ๙๑ – ๙๒
มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่เศร้าหมองมลทินจับ ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นใส่ลงในน้ำย้อมใดๆ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้านั้นพึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมไม่ดี มีสีมัวหมอง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะผ้าเป็นของไม่บริสุทธิ์ ฉันใด เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น
... เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติก็เป็นอันหวังได้ ฉันนั้น
โดยนัยที่ตรงกันข้าม
ในเวลาใกล้จะตาย ก่อนที่จุติจิตจะเกิดจริงๆ ยังอาจจะเปลี่ยนจากจิตที่ เศร้าหมอง ถ้ามีเวลาพอ หมายความว่า ถ้าไม่ใช่การตายอย่างปัจจุบันทันทีซึ่งไม่รู้ตัว
ขุททกนิกาย ปัญจกนิบาตชาดก อัฑฒวรรค ทีฆีติโกสลชาดก ข้อ ๘๐๕ - ๘๐๗
มีข้อความว่า
ข้าแต่พระราชา เว้นสุจริต และวาจาสุภาษิตเสีย เหตุอย่างอื่นจะป้องกันได้ ในเวลาใกล้มรณกาล ไม่มีเลย ทรัพย์นอกนี้ก็เหมือนกันแหละ
เวลาที่ใกล้ตายจริงๆ เว้นสุจริตและวาจาสุภาษิตเสีย เหตุอย่างอื่นจะป้องกันได้ในเวลาใกล้มรณกาล ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยกุศลจิตและวาจาสุภาษิต ซึ่งจะเกื้อกูลได้ ถ้ากรรมนั้นไม่ใช่เป็นอนันตริยกรรมที่เป็นอกุศล ที่จะต้องให้ผลสืบต่อจากชาตินี้ทันที
ข้อความต่อไปมีว่า
ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา คนนี้ได้ฆ่าเรา คนนี้ได้ชนะเรา คนนี้ได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา คนนี้ได้ฆ่าเรา คนนี้ได้ชนะเรา คนนี้ได้ลักของของเรา เวรของ ชนเหล่านั้นย่อมสงบ
ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า
จบ ทีฆีติโกสลชาดกที่ ๑
เรื่องความโกรธ หรือความผูกโกรธเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งขณะที่เกิดขึ้นผู้โกรธย่อม ไม่รู้ตัวว่า เป็นจิตเศร้าหมองที่ทำให้เกิดในอบายภูมิได้ ถ้าไม่ละเว้นความผูกโกรธ หรือยังมีความคิดว่า คนนี้ได้ด่าเรา คนนี้ได้ฆ่าเรา คนนี้ได้ชนะเรา แม้แต่เพียงคนนี้ ได้ชนะเรา เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เมื่อไรจะเห็นโทษจริงๆ ว่า ไม่ควรคิดอย่างนี้แม้กับใครๆ เลย เพราะว่าเป็นโทษสำหรับตัวเอง และโทษนี้ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็ทำให้เกิดในอบายภูมิได้ นอกจากจิตใจเศร้าหมองเพราะโทสะ เพราะความโกรธ ยังเศร้าหมองเพราะโลภะ เศร้าหมองเพราะโมหะ จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล จึงจะไม่เกิดในอบายภูมิอีกเลยได้
มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย พรรณนาอฐานบาลี มีเรื่อง ของพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งได้อนุเคราะห์ผู้ที่เป็นบิดาของท่านในมรณาสันนกาล
ข้อความมีว่า
ในเขลวิหารที่เชิงเขาชื่อว่าโสณะ มีพระธรรมกถึกรูปหนึ่งนามว่า โสณเถระ ท่านเห็นว่าบิดาของท่านแก่แล้ว ก็ไม่อยากให้บิดาของท่านถึงความพินาศ คือ ไปสู่อบายภูมิเมื่อตาย ท่านจึงได้ให้บิดาบวชเมื่อแก่ เมื่อภิกษุผู้เป็นบิดาป่วยและนอนอยู่นั้น ภูมินรกก็ปรากฏ เห็นเป็นสุนัขตัวใหญ่จากเชิงเขาตรงจะมากัดกิน ซึ่งภิกษุผู้เป็นบิดาก็ได้บอกพระโสณเถระห้ามไม่ให้สุนัขกัด
พระโสณเถระก็คิดว่า ท่านควรจะเป็นที่พึ่งของบิดาของท่าน อย่าให้บิดาของท่านต้องเกิดในนรกเลย ท่านก็เอาดอกไม้มาให้ภิกษุผู้เป็นบิดาน้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ซึ่งในกาลนั้นเทวโลกก็ปรากฏ ทั้งสวนนันทวัน สวนจิตรลดาวัน สวนมิสกวัน และวิมานทั้งหลาย และนักฟ้อนรำก็มาแวดล้อมภิกษุผู้เป็นบิดา ซึ่งเมื่อเห็นอย่างนั้นเป็นคตินิมิต ภิกษุผู้เป็นบิดาก็บอกให้พระโสณะหลีกไปเพราะว่าเทพธิดาทั้งหลายมา พระโสณเถระท่านก็ทราบว่า สวรรค์ปรากฏแล้วแก่ผู้ที่เป็นบิดา
เพราะฉะนั้น สำหรับมรณกาล คือ ยังไม่ใช่ขณะที่จิตเกิดก่อนจุติจริงๆ ไม่ใช่ชวนวิถีสุดท้ายก่อนจุติ ยังสามารถเกื้อกูลให้กุศลจิตเกิดได้ เป็นมรณาสันนกรรม คือกรรมที่ได้กระทำใกล้จะตาย ในเมื่อไม่มีกรรมอื่นที่มีกำลังกว่าที่จะให้ผล กรรมนี้ก็ให้ผลได้
ไม่ทราบว่ามีท่านผู้ใดสังเกตจิตใจของท่านบ้างหรือเปล่า เวลาที่ศรัทธาเกิดชั่วคราว และไม่นานเลย ศรัทธานั้นก็หมดไป
สำหรับศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยการพิจารณาไตร่ตรองโดยรอบคอบนั้น ทำให้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคได้
อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต พาลวรรคที่ ๓ ข้อ ๒๖๘
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ย่อมกล่าวตู่ตถาคต ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนเจ้าโทสะซึ่งมีโทษอยู่ภายใน ๑ คนที่เชื่อโดยถือผิด ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ ย่อมกล่าวตู่ตถาคต ฯ
การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคย่อมมีได้ ถ้าไม่พิจารณาพระธรรมโดยละเอียดลึกซึ้งจริงๆ เพราะแม้ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนก็ยังเข้าใจพระธรรมผิดได้ ขณะใดที่ เข้าใจผิด คิดผิด ปฏิบัติผิด คิดว่าคำสอนที่ไม่ถูกต้องนั้นเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นผู้ที่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
มโนรถปูรณี อรรถกถา อธิบายว่า
บทว่า อัพภาจิกขันติ ได้แก่ กล่าวตู่ คือ กล่าวด้วยเรื่องไม่จริง
บทว่า โทสันตโร แปลว่า มีโทสะตั้งอยู่ในภายใน
จริงอยู่ คนเช่นนี้ย่อมกล่าวตู่พระตถาคต เช่น สุนักขัตตลิจฉวีกล่าวว่า อุตตริมนุสสธรรมของพระผู้มีพระภาคหามีไม่
บทว่า สัทโธ วา ทุคคหิเตน ความว่า หรือว่าผู้ที่มีศรัทธาที่เว้นจากญาณ ถือผิดๆ กล่าวตู่พระตถาคตโดยนัยเป็นต้นว่า ขึ้นชื่อว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นโลกุตตระ ทั้งพระองค์ พระอาการ ๓๒ มีพระเกสาเป็นต้นของพระองค์ ล้วนเป็นโลกุตตระทั้งนั้น ดังนี้
นี่เป็นการกล่าวตู่ด้วยโทสะประการหนึ่ง และด้วยศรัทธาซึ่งเว้นจากญาณ คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและพูดในสิ่งที่ไม่จริง เช่น สุนักขัตตลิจฉวีกล่าวว่า อุตตริมนุสสธรรมของพระผู้มีพระภาคหามีไม่
เมื่อสุนักขัตตลิจฉวีไม่ใช่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมไม่สามารถรู้ได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นธรรมที่เป็นตามที่ทรงแสดงจริงๆ เช่น สังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เมื่อ ไม่สามารถประจักษ์ได้ก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่มีอุตตริมนุสสธรรม คือ ธรรมที่เหนือมนุษย์ธรรมดาที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม
หรือในยุคนี้สมัยนี้อาจจะมีท่านที่เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่พระปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้น คิดว่าพระองค์คงจะเหมือนคนธรรมดาๆ คำสอนก็สอนง่ายๆ ธรรมดาๆ ให้มีศีล และ ให้งดเว้นจากทุจริต ให้กระทำความดี โดยไม่ต้องอบรมเจริญปัญญาอะไรให้ยิ่งกว่านั้น
บางท่านอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า พระผู้มีพระภาคสอนไม่ให้กินเนื้อสัตว์ โดยลืมพิจารณาว่า ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์นั้นติดในรสแค่ไหน ไม่ได้สำคัญที่เนื้อสัตว์ แต่สำคัญที่ความพอใจในรส เพราะว่ามีท่านที่พอใจในการที่จะไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่ชวนกันไปแสวงหาอาหารเจที่อร่อยๆ
เพราะฉะนั้น การที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมเพื่อดับกิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ไม่ใช่เป็นเรื่องซึ่งใครก็ตามที่ไม่ศึกษาโดยละเอียดและเข้าใจโดยผิวเผิน
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 101
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 102
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 103
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 104
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 105
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 106
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 107
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 108
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 109
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 110
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 111
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 112
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 113
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 114
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 115
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 116
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 117
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 118
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 119
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 120
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 121
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 122
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 123
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 124
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 125
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 126
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 127
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 128
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 129
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 130
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 131
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 132
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 133
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 134
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 135
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 136
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 137
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 138
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 139
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 140
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 141
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 142
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 143
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 144
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 145
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 146
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1960
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1961
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1962
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1963