จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 146
เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ไม่ใช่เป็นเรื่องซึ่งใครก็ตามที่ไม่ศึกษาโดยละเอียดและเข้าใจโดยผิวเผินจะประมาณเอาเองว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเช่นนั้นๆ โดยที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
สำหรับผู้ที่ไม่อยากให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ ขณะนั้นก็เกิดความไม่พอใจในผู้ที่บริโภคเนื้อสัตว์ ถึงแม้ว่าข้อความในพระไตรปิฎกจะมีว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงห้ามการบริโภคเนื้อสัตว์ ผู้นั้นก็ไม่พอใจที่จะให้พระผู้พระภาค ไม่ทรงห้าม ตามอัธยาศัยของตนเอง
นี่เป็นสิ่งซึ่งถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดจริงๆ ย่อมจะกล่าวตู่ พระผู้มีพระภาคได้
และสำหรับผู้ที่มีศรัทธา แต่ขาดการพิจารณาโดยรอบคอบ ก็กล่าวตู่โดยผิดๆ เป็นต้นว่า ขึ้นชื่อว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นโลกุตตระทั้งพระองค์ พระอาการ ๓๒ มี พระเกสาเป็นต้นของพระองค์ ล้วนเป็นโลกุตตระทั้งนั้น นี่มีความเลื่อมใสศรัทธาจนไม่ได้พิจารณาโดยรอบคอบว่า รูปเป็นโลกุตตระไม่ได้
เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เมื่อได้มีโอกาสเกิดมาได้ฟังพระธรรมแล้ว ต้องเป็นผู้พิจารณาโดยรอบคอบ เพื่อที่จะไม่กล่าวตู่พระธรรมด้วย
สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศล แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะว่าการเป็นมนุษย์สั้นมาก ในยุคนี้สมัยนี้ก็ไม่เกิน ๑๐๐ ปี หรือถ้าจะเกินกว่านั้น ก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก และเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้จริงๆ จะย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย เหมือนกับชาติก่อนที่จะย้อนกลับไปเป็นบุคคลก่อนก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อชาตินี้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้กล่าวคำถึงสรณคมน์ ซึ่งก็เฉพาะในขณะที่มีชีวิตอยู่ในชาตินี้เท่านั้น หลังจากสิ้นชีวิตลงแล้ว ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดที่ไหน จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเพื่ออบรมเจริญปัญญาอีกไหม จะมีโอกาสได้กล่าวคำถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งอีกหรือไม่
มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต อรรถกถาสูตรที่ ๖ อธิกรณวรรคที่ ๒ มีข้อความว่า
พราหมณ์ผู้หนึ่งไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลถามเหตุที่ทำให้เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก และเหตุให้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบแล้ว พราหมณ์มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง กล่าวสรรเสริญพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคว่า
พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญดียิ่ง เพราะให้บรรลุคุณ เพราะให้เกิดศรัทธา เพราะให้เกิดปัญญา เพราะมีอรรถ มีพยัญชนะ เพราะบทตื้น เพราะอรรถลึก เพราะสะดวกหู เพราะถึงใจ เพราะไม่ยกตน เพราะไม่ข่มท่าน เพราะเย็นด้วย พระกรุณา เพราะตรัสด้วยปัญญา เพราะเป็นทางที่น่ารื่นรมย์ เพราะข่มศัตรูได้ เพราะสบายแก่ผู้ฟัง เพราะน่าพิจารณา และเพราะเกื้อกูล
การที่จะกล่าวสรรเสริญพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ต้องแล้วแต่ความรู้สึก ความซาบซึ้งของบุคคลผู้กล่าว ซึ่งพราหมณ์ผู้นั้นได้กล่าวต่อไปว่า
พระโคดมผู้เจริญให้ข้าพระองค์ผู้หันหลังให้พระสัทธรรม ตกอยู่ในอสัทธรรม ออกจากอสัทธรรมได้ เหมือนคนหงายของที่คว่ำ ทรงเปิดคำสอนที่ถูกมิจฉาทิฏฐิปกปิดจำเดิมแต่ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะอันตรธาน เหมือนเปิดของที่ปิด ทรงทำให้แจ้งซึ่งทางสวรรค์และนิพพานแก่ข้าพระองค์ผู้ดำเนินทางชั่วทางผิด เหมือนบอกทางแก่คนหลง ทรงประกาศธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยทรงชูประทีปคือเทศนา กำจัดความมืดคือโมหะที่ปกปิดพระรัตนตรัยนั้นแก่ข้าพระองค์ผู้จมอยู่ในความมืด คือโมหะ ไม่เห็นรูปแห่งพุทธรัตนะเป็นต้น เหมือนคนส่องประทีปน้ำมันในที่มืด เพราะทรงประกาศธรรมโดยปริยายเหล่านี้ เป็นอันทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
เมื่อพราหมณ์ชื่นชมพระเทศนาอย่างนี้แล้ว เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยประกาศการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
พระดำรัสของพระโคดมผู้เจริญดียิ่ง เพราะให้บรรลุคุณ เพราะให้เกิดศรัทธา เพราะให้เกิดปัญญา เพราะมีอรรถ มีพยัญชนะ เพราะบทตื้น เพราะอรรถลึก
บทตื้น คือ เป็นสิ่งธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เป็นของจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โลภะ โทสะ โมหะ เมตตา อิสสา มัจฉริยะ สภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นสิ่งซึ่งบางท่านกล่าวว่า รู้แล้ว รู้หมดแล้ว พูดแต่เรื่องที่รู้แล้ว แต่ความจริง ไม่ได้พิจารณาในอรรถที่ลึกของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยการตรัสรู้ของพระองค์
ข้อความต่อไป อธิบายสรณคมน์ ๒ ประเภท คือ
โลกียสรณคมน์ ๑ โลกุตตรสรณคมน์ ๑
สำหรับโลกุตตรสรณคมน์ เป็นสรณคมน์ของพระอริยบุคคลผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ ในขณะมรรคจิต โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ ด้วยกิจตัดขาดกิเลส
เพราะฉะนั้น การถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะของ แต่ละบุคคลย่อมต่างกัน สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล เป็นโลกียสรณคมน์ ซึ่งหวั่นไหวและขาดได้ ไม่เหมือนกับโลกุตตรสรณคมน์ของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลซึ่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะมรรคจิต โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยกิจตัดขาดกิเลส
ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ จะถึงนิพพานได้ไหม จะสามารถดับกิเลสได้ไหม ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ทุกท่านเป็นผู้ที่ถึงโลกุตตรสรณคมน์ เป็นผู้ไม่หวั่นไหว เพราะว่าได้ประจักษ์แจ้ง อริยสัจธรรม ๔ ด้วยตนเอง และตัดขาดกิเลสได้ในขณะที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะแห่งมรรคจิต
สำหรับโลกียสรณคมน์ มีได้ในขณะที่มีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ เพราะว่า
สรณคมน์นั้น โดยอรรถ ได้แก่ การได้ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสัมมาทิฏฐิที่มีศรัทธาเป็นมูล
นี่ต้องเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำว่า มีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ มีพระธรรมเป็นสรณะ หรือมีพระสงฆ์เป็นสรณะ แต่ไม่มีสัมมาทิฏฐิที่มีศรัทธาเป็นมูล
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มเห็นพระคุณของพระรัตนตรัย ต้องน้อมประพฤติปฏิบัติตามจริงๆ ไม่ใช่เพียงกล่าวคำ แต่ละเลยโดยที่ว่า ตอนเช้าก็กล่าว ตอนเย็นก็กล่าว แต่พระธรรมแสดงว่าอย่างไรบ้างในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ ก็ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดรอบคอบ
ข้อความต่อไป อธิบายสรณคมน์ว่า
สรณคมน์นั้นเป็นไปโดยอาการ ๔ คือ โดยการมอบตน ๑ โดยความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า ๑ โดยเข้าถึงความเป็นศิษย์ ๑ โดยการนอบน้อม ๑
ใน ๔ อย่างนั้น ที่ชื่อว่าการมอบตน ได้แก่ การสละตนถวายแด่พระรัตนตรัยอย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอมอบถวายตนแด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์
ที่ชื่อว่าความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า ได้แก่ ความเป็นผู้มี พระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้าอย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้ามีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นเบื้องหน้า ขอท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ ดังนี้
ที่ชื่อว่าเข้าถึงความเป็นศิษย์ ได้แก่ การเข้าถึงความเป็นศิษย์อย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าเป็นอันเตวาสิกของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม ของพระสงฆ์ ขอท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้
ที่ชื่อว่าทำความนอบน้อม ได้แก่ ทำความเคารพอย่างยิ่งในพระพุทธเจ้า เป็นต้นอย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอกระทำอภิวาท การลุกขึ้นรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แด่วัตถุ ๓ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเท่านั้น ขอท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ ดังนี้
เมื่อทำอาการ ๔ อย่างนี้แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นอันรับสรณคมน์แล้วทีเดียว
สำหรับการนอบน้อมนั้น มี ๔ อย่าง คือ ด้วยอำนาจญาติ ๑ ภัย ๑ อาจารย์ ๑ ทักขิเนยยบุคคล ๑
ใน ๔ อย่างนี้ สรณคมน์ย่อมมีได้ด้วยการทำความนอบน้อมแก่ ทักขิเนยยบุคคล มิใช่มีด้วย ๓ อย่างนอกนี้
คือ ไม่ใช่เพราะด้วยอำนาจญาติ ด้วยอำนาจภัย หรือว่าด้วยอำนาจที่เป็น ครูอาจารย์ อย่างพวกเจ้าศากยะหรือพวกเจ้าโกลิยะก็ตามที่ไหว้พระผู้มีพระภาค ด้วยคิดว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระญาติของเรา ดังนี้ ไม่ใช่สรณคมน์
อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดที่ไหว้ด้วยความกลัวว่า พระสมณโคดมเป็นผู้ที่พระราชาบูชา มีอานุภาพมาก เมื่อเราไม่ไหว้จะทำความพินาศให้ ดังนี้ ก็ไม่ใช่สรณคมน์ ส่วนผู้ใดที่เคยเล่าเรียนฟังคำสอนใดๆ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคสมัยที่พระองค์เป็น พระโพธิสัตว์ และถึงแม้ว่าพระองค์ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ฟังพระธรรม แต่ถึงอย่างนั้นก็ไหว้เพียงด้วยคิดว่า ท่านผู้นี้เคยเป็นอาจารย์ของเรา หรือว่าเป็นเพียงอาจารย์เท่านั้น ดังนี้ ก็ไม่ใช่สรณคมน์ แต่ผู้ใดไหว้ด้วยคิดว่า ผู้นี้เป็นอัครทักขิเนยยบุคคลในโลก ดังนี้ เป็นสรณคมน์
สำหรับการไหว้ของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย โดยธรรมเนียมประเพณี ก็ไม่ทำให้การถึงสรณคมน์ขาด เพราะว่าการไหว้บุคคลอื่นของผู้ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาไหว้ได้หลายนัย คือ ไหว้ด้วยคิดว่าผู้นี้เป็นญาติของเรา คือ ไหว้ญาติย่อมไหว้ได้ หรือถึงจะไหว้เดียรถีย์ คือ ผู้ที่มีความเห็นผิด ไม่ใช่เป็นพุทธศาสนิกชน สรณคมน์ก็ไม่ขาด เพราะว่าตามมรรยาทหรือตามธรรมเนียม หรือเมื่อเป็นญาติ แม้ว่ามีความเห็นผิด ก็ไหว้ได้
บางครั้งการไหว้ด้วยความกลัวภัย เช่น การไหว้พระราชา หรือไหว้บุคคลอื่น เพราะว่ากลัวภัย ไหว้ขอชีวิตต่างๆ อย่างนั้น สรณคมน์ก็ไม่ขาด
การไหว้ครูอาจารย์ที่สอนศิลปะวิทยาอย่างหนึ่งอย่างใดให้ด้วยคิดว่า ผู้นั้นเป็นครูอาจารย์ สรณคมน์ก็ไม่ขาด
ในสรณคมน์ ๒ อย่างนั้น โลกียสรณคมน์ย่อมเศร้าหมองโดยไม่รู้ โดยสงสัย หรือว่าโดยรู้ผิดเป็นต้นในพระรัตนตรัย ย่อมไม่มีผลรุ่งโรจน์ ไม่มีผลแผ่ไพศาล ส่วน โลกุตตรสรณคมน์นั้น ไม่มีเศร้าหมอง
เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทในสมัยนี้ที่มีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ อาจจะไม่รู้ว่า การมีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะของท่านนั้น เศร้าหมองหรือไม่ ถ้าไม่ได้พิจารณาธรรมโดยละเอียด ไม่เข้าใจพระธรรม หรือเข้าใจพระธรรมผิด สรณคมน์ย่อมเศร้าหมอง เพราะว่าไม่ใช่การถึงสรณคมน์จริงๆ เช่น ถ้ายังเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงดับขันธ์ปรินิพพาน ยังประทับอยู่ที่หนึ่งที่ใด ซึ่งบางครั้งที่มีการถวายทาน ก็มีการถวายทานโดยมีพระผู้มีพระภาคเสด็จมารับทานที่ถวายด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ สรณคมน์นั้นก็เศร้าหมองโดยไม่รู้ โดยสงสัย และโดยรู้ผิด ย่อมไม่มี ผลรุ่งโรจน์ ไม่มีผลแผ่ไพศาล เพราะว่าไม่ทำให้ถึงโลกุตตรสรณคมน์ได้
นอกจากนั้น โลกียสรณคมน์ยังมี ๒ ชนิด คือ ชนิดมีโทษ ๑ ชนิดไม่มีโทษ ๑
นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ของแต่ละคน ซึ่งถ้าได้พิจารณาจะเข้าใจสภาพธรรมละเอียดขึ้นด้วยความเข้าใจพระธรรมนั่นเอง ถ้าเข้าใจพระธรรมละเอียด สรณคมน์ก็ย่อมเป็นสรณคมน์ที่ไม่มีโทษ แต่ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด ก็เป็นสรณคมน์ชนิดที่มีโทษ
สำหรับสรณคมน์ขนิดมีโทษ ย่อมมีได้ด้วยการมอบตนในศาสดาอื่นเป็นต้น
เปลี่ยนใจไม่นับถือพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งอาจจะมีได้ ในวันหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มั่นคงในเหตุผล ในสภาพธรรมจริงๆ
อีกอย่างหนึ่ง คือ โลกียสรณคมน์ชนิดไม่มีโทษ ย่อมมีได้ คือ ย่อมสิ้นสุดลงด้วยการตาย
ขณะนี้เป็นมนุษย์ มีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะชั่วในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อตายแล้ว ไม่สามารถรู้ได้ว่า จะมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะอีกหรือไม่ เพราะฉะนั้น การสิ้นสุดหรือการขาดสรณคมน์ด้วยความตาย เป็นสรณคมน์ที่ขาดโดยไม่มีโทษ เพราะว่าไม่มีผล ไม่มีวิบาก
ทุกคนยังปลอดภัย เพราะว่ายังเป็นมนุษย์อยู่ แต่กาลข้างหน้า อาจจะช้าหรือเร็วเพียงใดก็ไม่ทราบ ที่จะต้องเปลี่ยนสภาพจากความเป็นบุคคลนี้ ซึ่งควรที่จะขวนขวายในการเจริญกุศลจริงๆ เพราะถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมทำให้เกิดในอบายภูมิ จะขาดการเจริญกุศลอย่างที่มนุษย์สามารถจะเจริญได้
สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ เวลาที่จุติ คือ สิ้นชีวิตแล้ว ไปสู่อบายภูมิได้ทั้ง ๔ คือ จะเกิดในนรกก็ได้ เกิดเป็นเปรตก็ได้ เป็นอสุรกายก็ได้ เป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ได้ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม และสามารถไปสู่สวรรค์ได้ทั้ง ๖ ชั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรมใด ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิต และไม่เสื่อม คือ ฌานจิตเกิดก่อนจุติ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดในรูปพรหมได้ ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญฌานจิตถึงขั้นอรูปพรหม ก็ยังสามารถเกิดในภูมิซึ่งไม่มีรูปเลย มีแต่นามธรรมเท่านั้น
แต่ถ้าสามารถอบรมเจริญปัญญา ดับกิเลสได้หมดถึงความเป็นพระอรหันต์ จะไม่มีการเกิดอีกเลย ไม่ว่าในที่ไหนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถและกรรมของแต่ละบุคคล ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคลก็ยังเกิดในอบายภูมิได้ เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม
ถ. เรื่องสรณคมน์ ปุถุชนธรรมดาอย่างผมรู้สึกว่า จะขาดอยู่เป็นประจำ เพราะว่าปกติในชีวิตประจำวันของปุถุชนที่ยังมีกิเลสหนาอยู่ ที่จะนึกถึงพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ วันๆ หนึ่งแทบจะไม่มี ส่วนใหญ่นึกถึงแต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่เป็นกามคุณกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่นึกถึงสิ่งที่เป็นอกุศล ขณะนั้นสรณคมน์คงจะไม่มี
ท่านอาจารย์ คนละขณะจิต แต่ยังเป็นผู้ที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เพราะไม่ใช่ว่าเมื่อถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้วกิเลสจะดับได้ทันที แต่การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะแสดงว่า เป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามเพื่อถึงโลกุตตรสรณคมน์
ถ. วันหนึ่งๆ ไม่ค่อยจะได้นึกถึง
ท่านอาจารย์ แต่ก็ยังไม่ได้ถึงศาสดาอื่นเป็นสรณะ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ยังไม่ขาด
ถ. ถือว่ายังไม่ขาด
ท่านอาจารย์ ยังไม่ขาด ต่อเมื่อใดรู้สึกว่า เจริญสติปัฏฐานไม่เห็นว่าได้ผลอะไรเลย หรือการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนี้จะมีประโยชน์อะไร รู้สึกว่ายากเหลือเกิน ผลไม่เห็น สู้นับถืออย่างอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น เมื่อใดที่มอบตนแก่ศาสดาอื่น เมื่อนั้นชื่อว่าสรณคมน์ขาด แต่ถ้าตราบใดยังเป็นผู้เห็นพระคุณของพระรัตนตรัย และน้อมประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะไม่ใช่ว่าเมื่อถึงสรณคมน์แล้วกิเลสขาดหมด แต่ต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วยความรอบคอบจริงๆ ด้วยการไม่มีบุคคลอื่นเป็นศาสดา
ถ. การที่เรานับถือพระรัตนตรัย แต่เราไม่ได้นึกถึง เพราะว่าโดยปกติเราเพลิดเพลินไปตามอารมณ์ คือ มีอกุศลจิตเกิดตลอดเวลา ก็ถือว่าไตรสรณคมน์ ยังไม่ขาด
ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่จะต้องพิจารณา คือ ยังนับถืออยู่หรือเปล่า ถ้ายังนับถืออยู่ ยังไม่มีบุคคลอื่นเป็นสรณะ ก็ยังเป็นผู้ที่มีไตรสรณคมน์
ถ. ก็ยังกราบไหว้อยู่ ไหว้พระสวดมนต์ทุกเช้า ทุกเย็น แต่เวลาไหว้โดยมากจิตไม่ค่อยได้น้อมไปในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณสักเท่าไร จิตจะฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่นๆ มากกว่า อย่างนี้ก็ยังถือว่าไม่ขาด
ท่านอาจารย์ ผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์มีหลายประเภทจริงๆ บางท่านได้ฟังพระธรรม แต่ ไม่เชื่อ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเชื่อ ก็ยังชื่อว่าถึงไตรสรณคมน์ แม้ว่าวันหนึ่งๆ จะมีกิเลสมากก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่มีศาสดาอื่นเป็นสรณะ ก็ยังถือว่าเป็นผู้ที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะคมน์
ถ. ตราบใดที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตนนับถือศาสดาอื่น ก็ยังถือว่ามีสรณคมน์อยู่
ท่านอาจารย์ และต้องไม่หมิ่นพระผู้มีพระภาคด้วย คิดว่าเหมือนคนธรรมดาๆ สอนเรื่องธรรมดาๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีความหมายของคำว่า เป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย
ถ. การถึงไตรสรณคมน์ ผมคิดว่าเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ในข้อ ๓ ภาวนามัย
ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เป็นข้อทิฏฐุชุกรรม
ผู้ฟัง ผมอยากทราบ คำว่า ดิรัจฉานคาถา
ท่านอาจารย์ คือพูดเรื่องซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำให้กุศลเจริญขึ้น ที่จะทำให้รู้แจ้ง อริยสัจธรรม
ถ. ผมนึกว่าเป็นคาถาที่ท่องกัน
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เป็นการพูดถึงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ วันหนึ่งๆ พูดบ้างหรือเปล่า
ถ. บ่อย
ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้องแล้ว ถูกต้องในข้อที่ว่า รู้ว่าดิรัจฉานกถาคืออะไร
ถ. แต่ผมไม่ทราบคำนี้เวลาที่เขาเรียกเป็นบาลี
ท่านอาจารย์ คือคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นปัจจัยให้กุศลหรือปัญญาเจริญขึ้น
ถ. ผมฟังวิทยุเมื่อคืนนี้ที่อาจารย์บอกว่า พันปีแรกมีพระอรหันต์ปฏิสัมภิทา พันปีที่สองมีพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ และตอนนี้พันปีที่สาม ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สมัยของพระอรหันต์แล้ว เป็นสมัยของพระอนาคามีบุคคล
ถ. ที่ไปลือกันว่าเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มีใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สำคัญที่ข้อปฏิบัติด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะพระอรหันต์ ถ้ามีคนบอกว่า คนนั้นเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ คนนั้นเป็นพระสกทาคามี หรือว่าคนนั้นเป็นพระอนาคามี จะเชื่อไหม ถ้าเขาบอกว่า สมัยนี้ไม่ใช่สมัยของ พระอรหันต์ ถ้าอย่างนั้นคนนี้เป็นพระอนาคามีบุคคล คนนั้นเป็นพระสกทาคามีบุคคล คนนั้นเป็นพระโสดาบันบุคคล จะเชื่อไหม ถ้ามีคนบอกอย่างนั้น
ถ. คงไม่ค่อยเชื่อ
ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องเชื่อ เพราะถ้ายังไม่รู้หนทางปฏิบัติที่จะทำให้เป็น พระอริยบุคคลจะเชื่อได้อย่างไร ใช่ไหม ถ้ารู้หนทางปฏิบัติที่จะทำให้เป็น พระอริยบุคคลแล้วก็พิจารณาได้ว่า สมัยนี้ยังจะมีพระอนาคามีบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระโสดาบันบุคคลไหม
ถ. ในทางปฏิบัติ สำหรับในไทยของพวกเรา เราควรศึกษาลัทธินิกายของเถรวาท หรือศึกษานิกายของมหายาน อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ เป็นชื่อทั้งนั้น ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นมหายานหรือเถรวาทก็คือชื่อ เพราะฉะนั้น คำสอนจริงๆ สอนเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าสอนเรื่องจิตซึ่ง เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่ตัวตน ถูกหรือผิด สอนเรื่องเจตสิก สภาพธรรมซึ่งเกิดกับจิต เช่น โลภะบ้าง โทสะบ้าง ซึ่งมีจริง ถูกหรือผิด สอนเรื่องรูปซึ่งเป็นอนัตตา มีลักษณะที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายแต่ละรูป ถูกหรือผิด โดยที่ไม่ต้องใช้ชื่อว่า เถรวาทหรือมหายาน
ถ. หมายความว่า ทางไหนก็ได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าเอาชื่อออก อย่างเช่น พูดถึงเรื่องการเห็นไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย จะต้องกล่าวว่า นี่เป็นเถรวาท หรือว่า นี่เป็นมหายานไหม
พูดถึงเรื่องการเห็น ในขณะที่กำลังเห็น ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าเถรวาทหรือมหายาน เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรม คือรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง และทรงตรัสรู้สภาพของปรมัตถธรรมทั้ง ๔ คือ ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป ทั้งนิพพาน ทั้ง ๓ ปิฎกเป็นเรื่องของสภาพธรรมทั้งนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า เถรวาทหรือมหายาน ถ้าเป็นเรื่องนี้
แต่ถ้าเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะใช้ชื่อว่าอะไรก็แล้วแต่ ควรศึกษาไหม ในเมื่อไม่ได้พูดถึงสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏเพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมที่จะรู้ว่าเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้ของพระองค์ คือ การฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงและที่กำลังปรากฏ จนเพิ่มความเข้าใจขึ้น จนถึงขั้นที่สามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้
สำหรับอกุศลจิตซึ่งมี ๑๒ ดวง เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ได้แก่
จักขุวิญญาณที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง
โสตวิญญาณที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง
ฆานวิญญาณที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง
ชิวหาวิญญาณที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง
กายวิญญาณที่เกิดร่วมกับทุกขเวทนา ๑ ดวง
สัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง
สันตีรณจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง
สำหรับอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง เกิดได้ทุกภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีเหตุปัจจัยที่จะให้อกุศลวิบากดวงหนึ่งดวงใดเกิดขึ้นเมื่อไร อกุศลวิบากดวงนั้นก็เกิดขึ้น โดยเป็นผลของอกุศลกรรม
ถ้าพิจารณาโดยเวทนาที่เกิดร่วมกับอกุศลวิบาก ๗ ดวงนี้ จะเห็นได้ว่า อกุศลวิบากที่เป็นทุกข์จริงๆ ที่ทำให้เกิดทุกขเวทนานั้น ได้แก่ กายวิญญาณ ๑ ดวงเท่านั้น เพราะว่าในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดเห็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่ใช่ทุกขเวทนา
ในขณะที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ได้ยินกันบ่อยๆ ใช่ไหม เสียงดัง เสียงซึ่ง ไม่เพราะหู ในขณะนั้น ถ้าไม่มีอกุศลกรรมเป็นปัจจัย อกุศลวิบากก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้นไม่ได้ แต่เมื่ออกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ไม่ดี โสตวิญญาณเกิดกับอุเบกขาเวทนาก็ไม่น่าจะเป็นทุกข์ ใช่ไหม เสียงที่ไม่ดีเกิดขึ้นปรากฏเท่านั้นเอง เวทนาที่กำลังได้ยินเสียงนั้นก็เป็นอุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น ผลของอกุศลกรรม เพียงทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ไม่ดี
ทางจมูก เวลาที่ได้กลิ่นไม่ดี ฆานวิญญาณเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ทางลิ้น เวลาที่ลิ้มรสที่ไม่ดี ชิวหาวิญญาณเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่น่าที่จะเป็นทุกข์เดือดร้อนเลยถ้าไม่มีกิเลส เพราะถ้าเป็นพระอรหันต์ที่ดับกิเลสหมด จะไม่เดือดร้อนหวั่นไหวกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่กระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ จักขุวิญญาณเกิดกับอุเบกขาเวทนาก็เดือดร้อน ไม่ชอบในสิ่งที่เห็น โสตวิญญาณเกิดกับอุเบกขาเวทนา ได้ยินเสียงซึ่งไม่น่าพอใจ เมื่อยังมีกิเลสก็เดือดร้อนไม่พอใจ
เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า อกุศลวิบากที่ให้ผลเป็นทุกข์จริงๆ ที่เกิดร่วมกับทุกขเวทนานั้น มีเพียงดวงเดียว คือ กายวิญญาณอกุศลวิบากเท่านั้น
ถ. อกุศลวิบากจิต เดือดร้อนทางกายเท่านั้น เนื่องจากทางกายกระทบกับมหาภูตรูปซึ่งเป็นสิ่งที่แข็งกว่า
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 101
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 102
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 103
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 104
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 105
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 106
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 107
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 108
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 109
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 110
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 111
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 112
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 113
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 114
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 115
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 116
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 117
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 118
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 119
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 120
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 121
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 122
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 123
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 124
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 125
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 126
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 127
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 128
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 129
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 130
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 131
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 132
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 133
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 134
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 135
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 136
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 137
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 138
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 139
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 140
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 141
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 142
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 143
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 144
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 145
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 146
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1960
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1961
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1962
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1963