จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 1962


    เพราะฉะนั้น ถ้ามีคำถามว่า ปฏิสนธิไม่มีอารมณ์ มีไหม มี ได้แก่ รูปปฏิสนธิเป็นอสัญญสัตตาพรหม แต่ถ้าถามว่า ปฏิสนธิจิตไม่มีอารมณ์ มีไหม ไม่มี เพราะถ้าเป็นจิต ต้องรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทหนึ่งประเภทใดทั้งสิ้น

    ถ้าถามสั้นๆ ว่า ปฏิสนธิไม่มีอารมณ์มีไหม ตอบว่า มี คือ รูปปฏิสนธิของ อสัญญสัตตาพรหมบุคคล แต่ถ้าถามว่า ปฏิสนธิจิตไม่มีอารมณ์มีไหม ต้องตอบว่า ไม่มี เพราะไม่ว่าจิตประเภทใดก็ตาม เกิดขึ้นในภพภูมิใดก็ตาม ต้องรู้อารมณ์ ต้องมีอารมณ์ทั้งนั้น

    สำหรับการรับผลของกรรมของแต่ละท่าน มีรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิโดยที่ไม่รู้เลยว่า เมื่อเกิดมากรรมนั้นทำให้กัมมชรูปคือรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เกิดร่วมด้วย จนกระทั่งแม้ในขณะนี้ที่ตื่นขึ้นมาก็มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วกรรมนั่นเองเป็นสมุฏฐาน เป็นปัจจัยให้มีจักขุปสาท การเห็นในขณะนี้จึงเกิดขึ้นเป็นวิบากจิตรับผลของกรรม แล้วแต่ว่าจะเห็นสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ไม่ดี ในขณะที่ได้ยินเสียง ทั้งๆ ที่มีกรรมที่ได้กระทำแล้ว และกรรมนั้นเองเป็นปัจจัยทำให้โสตปสาทเกิดขึ้น ก็ยังไม่ได้พิจารณารู้ว่า ในขณะที่กำลังได้ยินนี้ ก็เพราะกรรมนั่นเองเป็นปัจจัยทำให้โสตปสาทเกิด ทำให้กระทบกับเสียง ทำให้โสตวิญญาณซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดขึ้นได้ยิน

    นี่คือชีวิตประจำวันซึ่งควรที่จะได้ทราบว่า การรับผลของกรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นั้น ปราศจากรูปไม่ได้เลย และกรรมทำให้รูปเกิดตั้งแต่ปฏิสนธิ ซึ่งต่างกันไปตามกำเนิดต่างๆ ในภูมิต่างๆ เพราะว่ากำเนิดมี ๔ ได้แก่ อัณฑชะกำเนิด เกิดในไข่ ๑ ชลาพุชะกำเนิด เกิดในครรภ์ ในท้องของมารดา ๑ สังเสทชะกำเนิด เกิดในที่ชื้นแฉะ ๑ โอปปาติกะกำเนิด คือ เกิดผุดขึ้นเป็นตัว ไม่ต้องเกิดในไข่หรือไม่ต้องเกิดในครรภ์ ที่จะต้องค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น

    สำหรับดิรัจฉาน ปิตติวิสัยคือพวกเปรต และมนุษย์ ได้กำเนิดทั้ง ๔ ส่วนผู้ที่เกิดในนรก หรือเกิดเป็นเทพ เป็นโอปปาติกะกำเนิด

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กรรมให้ผล ทำให้เกิดขึ้นในภพภูมิต่างๆ กัน รูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตต้องต่างกันตามภพภูมิด้วย เช่น ถ้าเป็นโอปปาติกะกำเนิด คือ เกิดในนรก หรือเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ ในกามสุคติภูมิ จะมีกลุ่มของรูปเกิดทันที ๗ กลุ่ม คือ จักขุทสกะ ได้แก่ กลุ่มของรูปซึ่งมีจักขุปสาท เพราะฉะนั้น ต้องมี มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๔ ชีวิตินทริยรูป ๑ และจักขุปสาทรูป ๑ รวมเป็น ๑๐ รูปด้วยกันในกลุ่มนั้น ซึ่งเกิดพร้อมกันกับปฏิสนธิ

    นอกจากจักขุทสกะ ซึ่งเป็นกลุ่มของจักขุปสาทที่มีรูปรวมกัน ๑๐ รูปแล้ว ก็มีโสตทสกะ กลุ่มของโสตปสาทที่มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป มีฆานทสกะซึ่งเป็นกลุ่มของฆานปสาทที่มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป มีชิวหาทสกะ คือ กลุ่มของชิวหาปสาทที่มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป มีกายทสกะซึ่งเป็นกลุ่มของรูปที่มีกายปสาทรวมกันทั้งหมด ๑๐ รูป และมีภาวทสกะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ แล้วแต่ว่าจะเป็นอิตถีภาวะ เป็นเพศหญิง หรือว่าเป็นปุริสภาวะ เป็นเพศชาย ๑ รูป ไม่ใช่ว่าในคนหนึ่งมีทั้ง ๒ รูป แต่ถ้าเป็น พวกบัณเฑาะว์หรือพวกกระเทย จะไม่มีภาวรูปเลย เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าถ้าขาด สิ่งหนึ่งสิ่งใดไป ก็ตัดกลุ่มนั้นออกไป นอกจากนั้น ยังมีวัตถุทสกะอีก ๑ กลุ่ม ที่มี ๑๐ รูปเช่นเดียวกัน

    รูปทุกกลุ่มจะปราศจากมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ได้ และเมื่อมีมหาภูตรูป ๔ แล้ว จะต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา เป็นอุปาทายรูป ๔ รูป ฉะนั้น อย่างน้อยที่สุดต้องมี ๘ รูป แต่สำหรับรูปที่เกิดจากกรรมทุกกลุ่ม หรือทุกรูป จะต้องมีชีวิตินทรียรูปเกิดร่วมด้วยอีก ๑ รูป ถ้าเป็นจักขุทสกะก็เพิ่ม จักขุปสาทอีก ๑ ถ้าเป็นโสตทสกะก็เพิ่มโสตปสาทอีก ๑ ถ้าเป็นฆานทสกะ ก็เพิ่มฆานปสาทอีก ๑ ถ้าเป็นชิวหาทสกะก็เพิ่มชิวหาปสาทอีก ๑ ถ้าเป็นกายทสกะ ก็เพิ่มกายปสาทอีก ๑ ถ้าเป็นภาวทสกะก็เพิ่มภาวรูปอีก ๑

    และสำหรับวัตถุทสกะ เป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของปฏิสนธิจิต เพราะว่าในภูมิที่มี ขันธ์ ๕ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด จะปราศจากรูปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น วัตถุทสกะ เป็นที่เกิดของจิตและเจตสิกทุกดวง เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง เพราะว่า ทวิปัญจวิญญาณต้องเกิดที่ปสาทรูป ๕ คือ ถ้าเป็นจักขุวิญญาณต้องเกิดที่ จักขุปสาทรูป ถ้าเป็นโสตวิญญาณก็ต้องเกิดที่โสตปสาทรูป

    ในอรรถกถาและในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า วัตถุทสกะ เพราะว่าในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น กลุ่มของรูปเล็กมาก เพราะฉะนั้น ยังไม่ปรากฏเป็นรูปร่างของหัวใจเลย แต่แม้กระนั้น รูปกลุ่มนั้นก็เป็นที่อาศัยเกิดของจิต นี่เป็นขณะปฏิสนธิ ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น วิบากจิตเกิดพร้อมกับกัมมชรูป แล้วแต่ว่าจะเป็นในกำเนิดไหน ถ้าเป็นโอปปาติกะกำเนิด เกิดเป็นตัวขึ้นมาทันที ก็พร้อมด้วยกลุ่มของรูปที่เป็นตา เป็นหู เป็นจมูก เป็นลิ้น เป็นกาย เป็นภาวะ และเป็นวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของจิต แต่ก็ต้องเว้น ถ้าตาบอดก็ต้องเอาจักขุทสกะออก ถ้าหูหนวกก็ไม่มีโสตทสกะ ถ้าไม่ได้กลิ่นก็ไม่มีฆานะ ถ้าไม่มีเพศ คือ เป็นกระเทย ก็ไม่มีภาวทสกะ แต่อย่างต่ำที่สุดต้องมี ๓๐ รูป คือ กายทสกะ ๑ วัตถุทสกะ ๑ และชิวหาทสกะ ๑

    สำหรับอสัญญสัตตาพรหม ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย คือ ไม่มีปสาทใดๆ และไม่มีภาวะ ไม่มีวัตถุทสกะ เพราะว่าไม่มีจิตเกิดเลย เพราะฉะนั้น อสัญญสัตตาพรหม มีเพียงชีวิตนวกกลาป คือ มีมหาภูตรูป ๔ รูป มีอุปาทายรูป ๔ รูป และมีชีวิตินทรีย์ เนื่องจากเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม ทำให้รูปของอสัญญสัตตาพรหมไม่ใช่ต้นไม้ใบหญ้า เพราะเป็นผลของปัญจมฌานในปฏิสนธิขณะ

    สำหรับผู้ที่เกิดในครรภ์ เช่น มนุษย์ เป็นต้น ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุต อินทกสูตรที่ ๑ ข้อ ๘๐๓ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    รูปนี้เป็นกลละก่อน จากกลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ จากเปสิเกิดเป็นฆนะ จากฆนะเกิดเป็น ๕ ปุ่ม (ปัญจสาขา) ต่อจากนั้นมีผม ขน และเล็บ (เป็นต้น) เกิดขึ้น มารดาของสัตว์ในครรภ์บริโภคข้าวน้ำโภชนาหารอย่างใด สัตว์ผู้อยู่ในครรภ์มารดา ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารอย่างนั้นในครรภ์นั้น ฯ

    หลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว รูปจะค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น เพราะว่าสำหรับผู้ที่เกิดในครรภ์ยังไม่มีจักขุ ยังไม่มีโสตะ จะมีกลุ่มของรูปเพียง ๓ กลุ่ม คือ กายทสกะ ภาวทสกะ และวัตถุทสกะคือกลุ่มของรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะฉะนั้น จะต้องเปลี่ยนสภาพจากกลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเป็นเปสิ จาก เปสิเป็นฆนะ จากฆนะเป็นปัญจสาขา ต่อจากนั้นก็จะมีผม ขน เล็บ เป็นต้น เกิดขึ้น

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    ชื่อทั้งหลาย เช่น ชื่อว่าติสสะหรือว่าปุสสะ ย่อมไม่พร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณ

    มีใครตั้งชื่อของคนที่เพิ่งเกิดคือปฏิสนธิจิตเกิดบ้างไหม รูปเล็กมาก ยังไม่ปรากฏเป็นตัวที่จะเรียกชื่ออย่างหนึ่งอย่างใดเลย

    โดยที่แท้ กลละมีประมาณเท่าหยาดน้ำมันงาซึ่งตั้งอยู่ที่ปลายเส้นด้ายที่ทำด้วยเส้นขนสัตว์ ๓ เส้น ท่านกล่าวหมายความว่า หยาดแห่งน้ำมันงา เนยใส ใส ไม่ขุ่นมัว ฉันใด เขาเรียกกันว่า กลละ มีสีคล้ายกัน ฉันนั้น

    นี่คือข้อความใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อินทกสูตร แต่ใน สัมโมหวิโนทนี ขันธวิภังค์ กล่าวถึงความปรากฏของคัพภเสยยกสัตว์ มีข้อความว่า

    คัพภเสยยกสัตว์ย่อมมีขันธ์ ๕ ปรากฏพร้อมกัน ไม่หลังไม่ก่อนกัน ในปฏิสนธิขณะ

    คือ ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดจะมีรูปเกิดร่วมด้วย รวมแล้วเป็น ๕ ขันธ์ คือ นามขันธ์ ๔ ได้แก่ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ และรูปขันธ์อีก ๑ รวม ๕ ขันธ์ พร้อมกัน

    ท่านกล่าวไว้ว่า สันตติแห่งรูปที่เรียกว่า กลละ อันปรากฏในขณะนั้น เป็นของนิดหน่อยพอที่แมลงวันตัวน้อยจะพึงดื่มได้ด้วยความพยายามครั้งเดียวเท่านั้น แล้วกล่าวอีกว่า นี่ยังมากเกินไป เป็นเพียงหยาดที่ไหลออกตั้งอยู่ปลายของเข็มละเอียดที่เขาจุ่มลงในน้ำมันแล้วยกขึ้น แม้หยาดน้ำมันนั้นท่านก็ปฏิเสธแล้ว (คือ ยังมากไป) แล้วกล่าวต่อไปว่า เมื่อเขาจับผมเส้นหนึ่งยกขึ้นจากน้ำมันเป็นเพียงหยาดที่ไหลออกตั้งอยู่ตรงปลายผมเส้นนั้น แม้หยาดนั้นท่านก็ปฏิเสธ กล่าวต่อไปว่า เมื่อผ่าผมของมนุษย์ชาวชนบทนี้เป็น ๘ ส่วน ผมของชาวอุตตรกุรุทวีปจะมีประมาณเท่าส่วนเดียวจากผมที่ผ่านั้น เป็นเพียงหยาดที่ตั้งอยู่ตรงปลายผมของมนุษย์ชาว อุตตรกุรุทวีปนั้นที่เขายกขึ้นจากน้ำมันงาใส แม้หยาดนั้นท่านก็ปฏิเสธแล้ว กล่าวต่อไปว่า นี่ยังมากไป ธรรมดาขนแกะที่มีกำเนิดในหิมวันตประเทศเป็น ของละเอียด กลละนั้นเป็นเพียงหยาดที่ไหลออกตั้งอยู่ตรงปลายอันหนึ่งของขนแกะนั้น อันเขาจุ่มในน้ำมันงาใสแล้วยกขึ้น ดังนี้

    ก็กลละนี้เป็นของใส ไม่ขุ่นมัว บริสุทธิ์ เสมอด้วยหยาดน้ำมันงาใส สมจริงแม้ดังคำที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ว่า หยาดน้ำมันงา ใสดังเนยใส ไม่ขุ่นมัว ฉันใด รูปมีส่วนเปรียบด้วยสีเหมือนฉันนั้นท่านกล่าวว่า กลละ ดังนี้

    ผ่านไปหมดแล้วลักษณะของกลละตอนปฏิสนธิ เพราะว่ารูปทุกรูปมีอายุที่ สั้นมาก เพียงการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ และก็เปลี่ยนสภาพจากปฏิสนธิ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า กลลา โหติ อัมพุทัง

    ในบาลีใช้คำว่า อัพพุทัง แต่ในอรรถกถาทั้งหมดใช้ อัมพุทัง หรืออัมพุทา

    ความว่า เมื่อกลละนั้นล่วงไป ๗ วัน ก็มีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ จึงชื่อว่าอัมพุทะ ชื่อว่ากลละก็หายไป สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นกลละอยู่ ๗ วัน ครั้นแก่ข้นขึ้น เปลี่ยนภาวะนั้นเกิดเป็นอัมพุทะ

    นี่คือสังสารวัฏฏ์ ในระหว่างที่อยู่ในครรภ์มารดา จะต้องมีสภาพที่เกิดดับ เปลี่ยนไป เจริญขึ้น จากกลละเป็นอัมพุทะ

    บทว่า อัมพุทา ชายเต เปสิ

    ความว่า เมื่ออัมพุทะนั้นล่วงไป ๗ วัน ก็เกิดเป็นเปสิ คล้ายดีบุกเหลว เปสินั้นพึงแสดงด้วยเม็ดพริกไทย จริงอยู่ เด็กชาวบ้านถือเอาพริกไทยสุกทำเป็นห่อไว้ที่ชายผ้า ขยำเอาแต่ส่วนที่ดีใส่ลงในกระเบื้องตากแดด เม็ดพริกไทยนั้นแห้งย่อมหลุดตกเปลือกทั้งหมด เปสิมีรูปร่างอย่างนี้ ชื่อว่าอัมพุทะก็หายไป สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นอัมพุทะอยู่ ๗ วัน แก่ข้นขึ้น เปลี่ยนภาวะนั้นเกิดเป็นเปสิ

    บทว่า เปสิ นิพพัตตติ ฆโน

    ความว่า เมื่อเปสินั้นล่วงไป ๗ วัน ก้อนเนื้อชื่อฆนะ มีสัณฐานเท่าไข่ไก่เกิดขึ้น ชื่อว่าเปสิก็หายไป สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นเปสิอยู่ ๗ วัน ครั้นแก่ข้นขึ้น เปลี่ยนภาวะนั้นเกิดเป็นฆนะ สัณฐานแห่งฆนะเกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งกรรม เหมือนไข่ไก่ เกิดเป็นก้อนกลมโดยรอบ

    บทว่า ฆนา จ สาขา ชายันติ

    ความว่า ในสัปดาห์ที่ ๕ เกิดปุ่มขึ้น ๕ แห่ง เพื่อเป็นมือและเท้าอย่างละ ๒ และเป็นศีรษะ ๑ ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า จากฆนะเกิดเป็น ๕ ปุ่ม ต่อแต่นั้นไป ทรงย่อพระเทศนาผ่านสัปดาห์ที่ ๖ ที่ ๗ เป็นต้น เมื่อจะทรงแสดง เอาเวลาที่ผ่านไป ๔๒ สัปดาห์ จึงตรัสว่า ผม เป็นต้น

    นี่สำหรับมนุษย์ แต่ถ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ต่างกันไปตามประเภทและชนิด ของสัตว์นั้นๆ คือ ไม่ใช่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเหมือนอย่างของมนุษย์

    ในบทเหล่านั้น บทว่า เกสา โลมา นขาปิ จ

    ความว่า ผมเป็นต้นเหล่านี้ ย่อมเกิดใน ๔๒ สัปดาห์

    บทว่า เตน โส ตัตถ ยาเปติ

    ความว่า จริงอยู่ สายสะดือตั้งขึ้นจากสะดือของเด็กนั้น ติดเป็นอันเดียวกับแผ่นท้องของมารดา สายสะดือนั้นเป็นรูเหมือนก้านบัว รสอาหาร (โอชา) แล่นไปตามสายสะดือนั้น ทำรูปซึ่งมีอาหารเป็นสมุฏฐานให้เกิดขึ้น เด็กนั้นย่อมเป็นอยู่ ๑๐ เดือน ด้วยประการฉะนี้

    ข้อความที่ทรงแสดง ทรงแสดงให้เห็นถึงการที่รูปเจริญเติบโตขึ้นแต่ละขณะนั้น จะประกอบด้วยรูปที่เกิดจากสมุฏฐานอะไรบ้าง เช่น ในปฏิสนธิขณะ ขณะที่ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ขณะที่เป็นอุปาทขณะนั้น จะไม่มีรูปที่เกิดจากสมุฏฐานอื่นเลย นอกจากรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต

    ปฏิสนธิจิตมี ๓ ขณะย่อย คือ อนุขณะ ได้แก่ อุปาทขณะ ๑ ฐีติขณะ ๑ ภังคขณะ ๑ ในขณะที่เป็นอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตนั้น กัมมชรูปเกิดพร้อมกับ อุปาทขณะ รูปอื่นยังไม่เกิด ถ้าเป็นในครรภ์ จะมีเพียงกลุ่มของรูป ๓ กลุ่ม คือ กายทสกะ ภาวทสกะ และวัตถุทสกะ แต่ถ้าเป็นกะเทยก็ลดลง คือ มีกายทสกะ และวัตถุทสกะ ไม่มีภาวทสกะ เพราะฉะนั้น อย่างต่ำจะมีกลุ่มของรูป ๒๐ รูป คือ ๒ กลุ่ม หรือ ๓๐ รูป คือ ๓ กลุ่ม ในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต

    และในฐีติขณะของปฏิสนธินั่นเอง ก็มีกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐานเพิ่มขึ้น

    สำหรับกัมมชรูปซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม เกิดทุกขณะของจิต ทั้งใน อุปาทขณะของจิต ในฐีติขณะของจิต และในภังคขณะของจิต แต่ถ้าเป็นอุตุชรูป จะเริ่มเกิดตั้งแต่ฐีติขณะของปฏิสนธิจิต

    สำหรับจิตตชรูป จะเริ่มเกิดขึ้นในขณะอุปาทขณะของปฐมภวังค์ คือ เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว จิตขณะต่อไปเป็นภวังคจิตขณะแรก ชื่อว่าปฐมภวังค์ ใน อุปาทขณะของปฐมภวังค์ จิตตชรูปเกิด

    จิตตชรูปจะเกิดทุกขณะจิตในอุปาทขณะ เว้นทวิปัญจวิญญาณ ไม่มีกำลังพอที่จะเป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปเกิด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะนอนหลับก็มีจิตตชรูปเกิด เพราะว่าไม่ใช่ทวิปัญจวิญญาณ ฉะนั้น เมื่อจิตเกิด ในอุปาทขณะ ของจิตจะต้องมีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย

    ที่ทรงแสดงเรื่องของทารกในครรภ์ของมารดา เพื่อให้เห็นว่า ขณะใด อาหารชรูปคือรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานเกิด และเมื่อเจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว รูปที่เกิดเพราะกรรมมีอยู่ทุกขณะ ทุกวันๆ นี้ ถ้าไม่พิจารณาจะไม่รู้ว่ากรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปนี้เกิดโดยที่คนอื่นไม่สามารถทำได้เลย ไม่มีใครทำให้จักขุปสาทเกิดได้ ไม่มีใครทำให้โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท หรือวัตถุทสกะ เกิดได้

    เพราะฉะนั้น กรรมก็เหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินที่มอบอสรพิษ คือ มหาภูตรูปให้ ๔ ตัว สำหรับผู้ที่ยังมีสังสารวัฏฏ์อยู่ จะต้องเลี้ยงดูบำรุงรักษางูพิษทั้ง ๔ ตัวนั้น ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเครื่องประดับ

    ทุกคนลองคิดถึงมหาภูตรูปของตัวเองซึ่งมีมาตั้งแต่เกิด เคยคิดไหมว่า เป็นเครื่องประดับ

    ตา หู จมูก ลิ้น กาย พยายามที่จะให้มหาภูตรูปสวยงาม และพร้อมกันนั้นก็ทั้งรักใคร่หวงแหนเป็นที่สุด นี่คือความเข้าใจผิดในมหาภูตรูปทั้ง ๔

    และเมื่อมีร่างกายเจริญเติบโตขึ้นแล้วจะมีผลอย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 20
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ