จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 107


    คือ ตราบใดที่ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอยู่ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์หรือโทมนัสขึ้นได้ในวันหนึ่งๆ

    ท่านที่เคยบอกว่าวันหนึ่งๆ ท่านมีโลภะน้อย แต่เมื่อได้พิจารณาเรื่องของโลภะแล้วก็เห็นว่า วันหนึ่งๆ หลีกเลี่ยงโลภะไม่ได้เลย เต็มไปด้วยโลภะมากมายจริงๆ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ก็ควรพิจารณาเรื่องของโทสมูลจิตต่อไปอีกเพื่อจะได้ทราบว่า ที่ท่านเคยเข้าใจว่าไม่ค่อยจะมีโทสะเท่าไร หรือว่าโทสะของท่านวันหนึ่งๆ ไม่มากนัก เป็นความจริงอย่างนั้นหรือไม่

    ท่านที่ยังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ปกติวันหนึ่งๆ ที่ตื่นขึ้น ทันทีที่ตื่นและเห็น หรือว่าคิดนึก ก็เป็นไปด้วยโลภะ เป็นของธรรมดาก็จริง แต่ในบางวัน เวลาที่ตื่นขึ้น ความหมกมุ่น ความกังวล ความห่วงใย ความเดือดร้อนใจหรือว่าความขุ่นข้องหมองใจซึ่งมีอยู่ เพราะเหตุการณ์ในชีวิตอาจจะทำให้ตื่นขึ้นมาด้วยความกังวลในขณะนั้นก็ย่อมเป็นไปได้ เนื่องจากว่า ผู้ที่ยังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จะไม่พ้นไปจากโทสะ ซึ่งเป็นลักษณะของความกังวล

    และการที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นโทสมูลจิต ขณะใดเป็นโลภมูลจิต บางทีการเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วทำให้ยากที่จะบอกได้ว่า ขณะใดเป็นโลภมูลจิต ขณะใดเป็น โทสมูลจิต แต่ถ้าสังเกตความรู้สึกคือเวทนาจะรู้ได้ทันทีว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด

    ขณะที่ตื่นมาแล้วขุ่นข้องหมองใจ เดือดร้อน กังวล ความรู้สึกเป็นอย่างไร ไม่สบาย เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ไม่ต้องถามใคร หรือไม่ต้องให้ใครบอกว่า นี่เป็น โลภมูลจิต หรือนี่โทสมูลจิต แต่สามารถพิจารณาจากความรู้สึกซึ่งเป็นเวทนาเจตสิกได้ คือ ถ้าขณะใดไม่สบายใจ ไม่พอใจแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต

    เวลาที่ตื่นและต้องบริหารร่างกาย ดูแลความสะอาด ตั้งแต่เข้าห้องน้ำ ด้วยโลภมูลจิต แต่โทสมูลจิตติดตามไปบ้างหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่พิจารณาเห็นได้

    ถ้าจะบอกว่าไม่ค่อยมีโทสะ แต่ขอให้พิจารณาจริงๆ แม้แต่ในการที่จะดูแลบริหารร่างกายในวันหนึ่งๆ ว่า มีโทสมูลจิตบ้างไหม ตั้งแต่เข้าห้องน้ำ

    ถ้ากระจกไม่ใส น้ำไม่ไหล ท้องไส้ไม่สะดวก เริ่มแล้วใช่ไหม โทสมูลจิตหรือเปล่า เป็นสิ่งที่ต้องรู้จริงๆ ว่า ไม่พ้นไปจากโลภะบ้าง โทสะบ้าง

    ถึงเวลาแต่งตัว เสร็จธุระเรื่องห้องน้ำแล้ว โลภะบ้าง โทสะบ้าง เพราะบางท่านเสื้อดีๆ ก็ถูกไฟไหม้ ที่ปกบ้าง ที่แขนบ้าง ขณะนั้นทันทีที่เห็นความรู้สึกเป็นอย่างไร อาจจะไม่ถึงกับโกรธมาก เพราะเป็นผู้ที่อบรมเจริญธรรม แต่ความไม่พอใจมีหรือเปล่า ขณะใดที่มีความไม่พอใจหรือความรู้สึกไม่สบายแม้เพียงเล็กน้อย สังเกตได้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของอกุศลจิต และยังจะเรื่องของหน้าตาผมเผ้า ผมสั้นไป ยาวไป ก็เป็นเรื่องของโลภะบ้าง โทสะบ้าง สลับกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าสังเกตจะรู้ว่าขณะใดที่ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นอนิฏฐารมณ์ แม้เพียงฝุ่นนิดเดียว ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้โทมนัสเวทนา ความรู้สึกไม่พอใจและโทสมูลจิตเกิดแล้ว ไม่ต้องถึงกับต้องมีความโกรธอย่างรุนแรง เพียงแต่เริ่มที่จะเห็นความไม่สบายใจ หรือว่าลักษณะของโทสมูลจิตแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ความขุ่นใจต่างๆ

    เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร มีโทสมูลจิตไหม หรือจะมีแต่เฉพาะโลภมูลจิต อาหารร้อนไปมีไหม เย็นไปมีไหม เผ็ดไป เค็มไป เปรี้ยวไป จานบิ่น ช้อนหัก ตู้เย็นไม่สะอาด โทรศัพท์ขัดข้อง

    ขอให้พิจารณาความรู้สึกในขณะนั้นจริงๆ ว่า เริ่มรู้จักลักษณะของโทสมูลจิตละเอียดขึ้นแล้วหรือยัง ตลอดจนกระทั่งกว่าจะถึงที่ทำงาน สำหรับท่านที่ยังทำธุรกิจอยู่ ตั้งแต่ออกจากบ้านไป รถติด ขยะ สุนัขถูกรถทับ หรือเมื่อถึงที่ทำงานแล้ว เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องอัดเทปขัดข้องต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นผู้รู้ลักษณะของจิตว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะไม่ให้เกิดความขุ่นใจเมื่อประสบกับอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจต่างๆ ก็ไม่ได้

    มีท่านผู้หนึ่ง ท่านเคยคิดว่า ท่านฟังเทปธรรมในขณะที่ขับรถไม่ได้ ถ้าจะฟังธรรมก็อยากฟังเวลาที่สะดวกใจจริงๆ ไม่ใช่เวลาที่ขับรถอยู่ในท้องถนน เพราะการฟังธรรมของท่านนั้น ท่านต้องตั้งใจฟัง ท่านคิดว่าประโยชน์จะมีเฉพาะในขณะที่ตั้งใจฟัง

    แต่ความจริงแล้ว แม้จะขับรถก็ฟังธรรมได้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ เพราะแทนที่จะรับฟังเสียงอื่น เช่น อาจจะฟังข่าว หรือว่าฟังเพลง หรืออาจจะได้ยินเสียงรถข้างนอก เพียงเสียงที่ไม่น่าพอใจนิดเดียว โทสมูลจิตก็เกิดแล้วโดยยับยั้งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น แทนที่จะให้จิตเป็นไปกับอารมณ์ต่างๆ ที่ไม่น่าพอใจ ถ้าในขณะนั้นหูได้ยินเสียงของธรรมจะทำให้เกิดประโยชน์ เพราะในขณะนั้นจิตเป็นกุศล อาจจะทำให้ ไม่โกรธเคืองผู้อื่นซึ่งขับรถไม่เป็นไปตามกฎจราจรก็ได้ หรือว่าอาจจะไม่สนใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งคนอื่นคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรจะโกรธหรือว่าควรจะสนใจ เพราะขณะที่ฟังพระธรรม และพิจารณาบ้าง ได้ยินบ้าง แม้จะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่เหมือนใน เวลาอื่น แต่ขณะนั้นจิตก็เป็นกุศล สามารถสงบระงับได้ ถ้ามีเหตุการณ์ที่ไม่น่าพอใจเกิดขึ้น

    เหตุการณ์ที่ไม่น่าพอใจในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่ตาเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจบ้าง หูได้ยินเสียงอื่นบ้าง แทนที่จะใส่ใจสนใจในเรื่องอื่นๆ อย่างมาก ก็เปลี่ยนอารมณ์มาที่เสียงที่มากระทบทางหูซึ่งเป็นธรรม ก็จะทำให้กุศลจิตเกิด

    นี่คือการอบรมเจริญกุศลในชีวิตประจำวันที่จะระงับโทสะ คือ ความขุ่นเคืองใจ ด้วยการอบรมเจริญเมตตา หรือความไม่โกรธ เพราะการที่จะให้จิตสงบระงับถึงขั้นสมถภาวนาที่เป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิต จะต้องไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ไม่คิดนึกอารมณ์อื่น นอกจากอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบทางใจ โดยที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่รับรู้อารมณ์อื่นใดทั้งสิ้น

    แต่ทุกคน ชีวิตจริงๆ ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ต้องคิดนึกถึงสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่ได้กลิ่น สิ่งที่ลิ้มรส สิ่งที่กระทบสัมผัสอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หลีกเลี่ยงชั่วครั้งชั่วคราว ชั่วขณะ โดยไม่อบรมเจริญความสงบ หรือไม่อบรมเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน เพราะทุกคนยังต้องเห็นอยู่เรื่อยๆ ทุกชาติไป ไม่มีทางที่จะดับการเห็นได้ ไม่ว่าจะไปสู่ภพภูมิไหนก็ตาม ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ เมื่อยังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการเกิด มีชีวิตอยู่ในกามภูมิ

    เป็นเรื่องที่ควรอบรมการที่จะไม่โกรธในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในเพศของบรรพชิตหรือว่าในเพศของคฤหัสถ์ เพราะชีวิตของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตย่อมเหมือนกัน ต้องมีการบริหารร่างกายเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตก็เกิดได้ ไม่ว่าจะในวัดหรือนอกวัด ในวัดก็ต้องมีการเช็ดปัดกวาดถู ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยไม่สกปรก สะอาดดี จะต้องเช็ดไหม จะต้องปัด จะต้องกวาด จะต้องถูไหม

    และขณะใดที่จะเช็ด ก่อนจะเช็ด จิตเป็นอะไร ในขณะเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจที่จะต้องเช็ด เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความขุ่นเคืองเล็กน้อย ถ้าผู้ใดรู้ก็จะเห็นโทษ และอบรมกุศลเพื่อขัดเกลาแม้อกุศลเพียงเล็กๆ น้อยๆ

    สำหรับนอกวัด พระภิกษุก็เช่นเดียวกับคฤหัสถ์ที่จะต้องเห็นอนิฏฐารมณ์ต่างๆ แม้ว่าท่านเป็นผู้ที่สละเพศฆราวาสแล้ว เช่น ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต พรรณนาอภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร แสดงถึงการละคลายความสำคัญตนของภิกษุเมื่อสละเพศฆราวาสแล้ว มีข้อความว่า

    คำว่า ปรปฏิพัทธา เม ชีวิกา ความว่า บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ความว่า ก็เมื่อบรรพชิตพิจารณาอย่างนี้ว่า การเลี้ยงชีวิตด้วยปัจจัย ๔ ของเราเนื่องในผู้อื่นทั้งหลาย เพราะต้องเนื่องด้วยผู้อื่น ดังนี้ อิริยาบถย่อมสมควรแก่สมณะ การเลี้ยงชีพย่อมบริสุทธิ์ และเป็นผู้บิณฑบาต อันบุคคลถวายด้วยความเคารพ ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าบริโภคโดยมิได้พิจารณาใน ปัจจัย ๔

    ชีวิตที่จะเป็นประโยชน์ พิจารณาแม้อิริยาบถที่สมควร ชีวิตที่ต่างกันของคฤหัสถ์กับบรรพชิต คฤหัสถ์แม้แต่อากัปกิริยาอาการอิริยาบถต่างๆ ก็เป็นไปตามกำลังของโลภะ โทสะ จะแสดงอาการของโลภะอย่างไรก็ได้ จะแสดงอาการของโทสะอย่างไรก็ได้ แต่สำหรับบรรพชิตที่ท่านพิจารณาอย่างนี้ว่า การเลี้ยงชีวิตด้วยปัจจัย ๔ ของเราเนื่องในผู้อื่นทั้งหลาย เพราะต้องเนื่องด้วยผู้อื่น ดังนี้ อิริยาบถย่อมสมควรแก่สมณะ ต้องเป็นผู้ที่กุศลจิตเกิด เป็นผู้ละเอียดที่จะพิจารณาแม้อิริยาบถของตน เพราะแม้ชีวิตของท่านก็ต้องอาศัยผู้อื่น เพราะฉะนั้น อิริยาบถจะต้องสมควรแก่ ความเลื่อมใสด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คำว่า อัญโญ เม อากัปโป กรณีโย แปลว่า อากัปกิริยาอย่างอื่นที่เราควรทำ มีอยู่ ความว่า บุคคลใดนำเอาความรู้สึกในอกของความเป็นคฤหัสถ์มาแล้วเชิดคอไว้ เป็นผู้ย่างก้าวไปโดยไม่มีที่กำหนด ด้วยท่วงท่าที่สง่างาม ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีอากัปปะในการเดิน อากัปปะอื่นจากอากัปปะนั่นแหละที่เรา (บรรพชิต) ควรทำ คือ ควรพิจารณาว่า เราพึงเป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ มีตาทอดลงมองดูเพียงชั่วแอก เดินไป เหมือนอย่างการย่างก้าวไปของนายนันทมิตรผู้ขับเกวียนบรรทุกน้ำ เดินไปบนพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ ฉะนั้น

    นี่คือความต่างกันของผู้ที่เพียรที่จะอบรม หรือว่าขัดเกลา เจริญกุศล และอากัปกิริยาการเดินของบรรพชิตก็ต่างกับคฤหัสถ์ เพราะว่า บุคคลใดนำเอาความรู้สึกในอกของความเป็นคฤหัสถ์มาแล้วเชิดคอไว้ เป็นผู้ย่างก้าวไปโดยไม่มีที่กำหนด ด้วยท่วงท่าที่สง่างาม ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีอากัปปะในการเดิน นี่คือท่าเดินของคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นที่พอใจของคฤหัสถ์ แต่สำหรับบรรพชิตแล้ว อากัปปะอื่นจากอากัปปะนั่นแหละ ที่เรา (บรรพชิต) ควรทำ คือ เป็นผู้สงบเสงี่ยมในการเดิน และเป็นผู้ที่ระมัดระวังใน การเดิน จะเดินเชิดคอให้งามสง่าอย่างคฤหัสถ์ก็ไม่ได้ ไม่ใช่อากัปกิริยาของบรรพชิต

    แต่แม้กระนั้นชีวิตของบรรพชิตที่สงบอย่างนี้ ก็ยังได้รับอนิฏฐารมณ์ต่างๆ เพราะบางคนก็ด่า บริภาษ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด และบางคนก็เรียกท่านว่า คนถ่อยบ้าง หรือสมณะโล้นบ้าง

    เพราะฉะนั้น การเกิดโทสมูลจิตของผู้ที่มีความเห็นผิด แม้เห็นอากัปกิริยาที่เหมาะสม แต่เมื่อสะสมความโกรธก็ไม่พอใจในอากัปกิริยาอาการอย่างนั้นได้ หรือสำหรับผู้ที่บวชเป็นบรรพชิตเอง แม้ว่าจะเป็นผู้ที่สงบเสงี่ยมด้วยกาย ด้วยวาจา ละเพศของคฤหัสถ์แล้ว แต่ยังได้รับอนิฏฐารมณ์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับท่านว่า จะสามารถ ระงับความไม่พอใจ ความรู้สึกไม่สบายใจในขณะนั้นได้หรือไม่ เพราะท่านเป็นผู้ที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา

    แสดงให้เห็นว่า ทุกคนไม่ว่าจะมีกายวาจาอย่างไร ก็ต้องมีการประสบกับอนิฏฐารมณ์ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่พอใจได้ ฉะนั้น ควรพิจารณาว่า เป็นผู้ที่โกรธ มากไหมในวันหนึ่งๆ เหมือนกับที่ว่าเป็นผู้ที่โลภบ่อยไหมในวันหนึ่งๆ


    . ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งนอนหลับไป การระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นโทสะ เป็นโลภะ เกิดอกุศลจิต โดยไม่มีตัวไม่มีตน เป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่

    . ถ้าระลึกรู้ว่า ขณะนั้นจิตเกิดอกุศล แต่ยังเป็นตัวเป็นตนอยู่ เรายังโกรธ เรายังโลภ เรายังหลงอยู่ สติที่ระลึกรู้นั้น ถือว่าเป็นสติไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่โกรธ เป็นขณะที่เป็นอกุศล แต่ขณะที่ระลึกลักษณะที่โกรธ และพิจารณาอาการโกรธว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ใครทั้งสิ้น ไม่มีอะไรปรากฏในขณะนั้นนอกจากอาการโกรธ ถ้าสติระลึกที่ลักษณะขณะที่โกรธจริงๆ แต่เพราะสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก รวมทั้งสติที่เกิดขึ้นก็ดับไปอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นเป็นขณะที่หลงลืมสติก็ได้ หรือเป็นขณะที่คิดนึกเรื่องของความโกรธก็ได้ เพราะฉะนั้น มีกุศลหลายขั้น คือ ขั้นคิด ขั้นพิจารณา แต่ยังมีความเป็นตัวตนอยู่ กับขั้นที่ปรุงแต่งเป็นสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเห็นในสภาพที่ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต้องสลับกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ จะมีแต่สติปัฏฐานอย่างเดียวโดยตลอด ต้องเป็นสติพละ เพราะได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมามาก พอที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ตลอดทั้ง ๖ ทวาร

    . การเจริญกุศลในชีวิตประจำวันให้มากขึ้นๆ จะเป็นปัจจัยทำให้ สติปัฏฐานเกิดขึ้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ การฟังพระธรรม และเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง

    . เนื่องจากผมยังไม่ได้เรียนพระอภิธรรม เพียงแต่ทราบว่า โทสมูลจิต คือ ความขุ่นข้อง ความโศกเศร้า ความไม่สบายใจ ความหงุดหงิด ส่วนโลภะ คือความอยาก ความต้องการ การที่ผมรู้แค่นี้ โดยไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียด ถือว่าเป็นการเข้าใจถูกไหม

    ท่านอาจารย์ พระอภิธรรม คือ ธรรมส่วนละเอียด ซึ่งไม่พ้นจากนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา คือ การศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่สติระลึก ถ้าเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ยังไม่ต้องขยายไปถึงพระอภิธรรมให้ละเอียดขึ้นไปอีก เพราะในขั้นต้นของการปฏิบัติที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น จะต้องระลึกและศึกษาลักษณะของนามธรรมว่า ต่างกับลักษณะของรูปธรรม ยังไม่ต้องไปถึงความละเอียดใดๆ ยิ่งขึ้นในพระอภิธรรม

    . ในขั้นต้นผมทราบอย่างคร่าวๆ ว่า สีเป็นรูป จากการอ่านหนังสือ หรือสภาพที่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นสี คือ นามธรรม หรือความรู้สึกโกรธ เป็นนามธรรม จากความเข้าใจง่ายๆ อย่างนี้ เพียงพอที่จะน้อมใจมาพิจารณาเรื่องโลภะ โทสะ หรือเรื่องนามธรรม รูปธรรม ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมดีจริงๆ พยายามให้ซึ้งลงไปว่า นามธรรมที่เป็นธาตุรู้อาการรู้คืออย่างไร เพียงแต่สนใจจริงๆ ในลักษณะที่เป็นนามธรรม และหมั่นระลึกถึงธรรมในเรื่องของนามธรรมที่ได้ฟัง ในเรื่องของรูปธรรม ที่ได้ฟัง เช่น ในขณะที่เห็นในขณะนี้ ถ้าสติสามารถระลึกและศึกษาเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นคือ การที่จะรู้อภิธรรมซึ่งจะละเอียดขึ้น เพราะลักษณะของนามธรรมมีหลายอย่าง ไม่ใช่มีอย่างเดียว

    ทางตา นามธรรมมี รูปธรรมปรากฏ คือ สีสันวัณณะต่างๆ ทางหู นามธรรมได้ยิน ทางใจ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น แม้ความรู้สึก ถ้าขณะนี้ยืนอยู่ และมีศพตั้งอยู่ ศพไม่โกรธ ใช่ไหม แต่ลักษณะโกรธที่กำลังโกรธเป็นลักษณะสภาพของนามธรรม เพราะศพมีรูป แต่ไม่มีนาม แต่ไม่จำเป็นต้องเทียบเคียงถึงอย่างนั้น

    ถ้ายังนึกไม่ออกจริงๆ ว่า นามธรรมเป็นอย่างไร ก็ค่อยๆ คิดไป พิจารณาไป จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งต่างจากรูป นี่เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นขั้นต้น

    ความโกรธ คนที่ตายแล้วไม่มี ศพไม่มี หิว ศพไม่มี เพราะฉะนั้น ลักษณะใดที่ศพไม่มี ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม โดยที่ไม่มีรูปร่างเลย เพราะฉะนั้น เวลาที่นามธรรมชนิดใดชนิดหนึ่งกำลังมี ก็น้อมไปศึกษาลักษณะที่กำลังมีนั้นว่า เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้

    . ขณะที่เข้าใจสภาพรู้ใหม่ๆ เราต้องน้อมใจตามไปไหมว่า กำลังมีความรู้สึกอย่างไร เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าโดยชื่อไม่ยาก ใช่ไหม บอกได้หมดเลยทุกทวารว่า อะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม นั่นโดยชื่อ

    ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ จะรู้ว่า การเข้าใจสภาพธรรมโดยชื่อ ไม่พอ แต่การเข้าใจสภาพธรรมโดยชื่อ คือ โดยการศึกษา จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ตามที่เคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆ อย่างเรื่องเห็น หรือเรื่องได้ยิน ได้ยินบ่อยๆ ไม่พอ โดยชื่อ ต้องในขณะนี้ที่สติจะระลึกและศึกษาลักษณะของนามธรรมที่เห็น นามธรรมที่ได้ยิน นั่นคือสติระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ค่อยๆ อบรมไปจริงๆ เพราะการรู้แล้วกับการที่ยังอบรมอยู่ต้องต่างกัน ใช่ไหม

    แต่ส่วนมากจะข้องใจ เพราะคิดถึงลักษณะของปัญญาที่รู้แล้ว เนื่องจาก ผู้ที่รู้แล้วเป็นผู้ที่ทรงแสดงสภาพธรรมเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม แต่ผู้ที่ยังไม่รู้ ก็ข้องใจนักหนาจริงๆ ว่า ผู้ที่รู้แล้วจะรู้ลักษณะของนามธรรมได้อย่างไร จะรู้ลักษณะของรูปธรรมได้อย่างไร เช่น ในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้จะรู้ได้อย่างไรว่า นามธรรมเป็นธาตุรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ใครทั้งสิ้น ไม่ใช่วัตถุใดๆ เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏกับผู้ที่มีจักขุปสาทเท่านั้นเอง

    ก็ต้องฟังไปเรื่อยๆ และระลึกได้บ่อยๆ ในขณะที่ระลึกได้ ก็น้อมไปที่จะเข้าใจให้ตรงในลักษณะอาการของสภาพรู้ ธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ เป็นหนทางเดียว ไม่มีหนทางอื่น

    บางท่านซึ่งไม่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญปัญญาเลย ท่านคิดว่า ทำวิธีไหนก็ได้ ทำสมาธิก่อนและปัญญาจะเกิดขึ้นเอง รู้แจ่มแจ้งขึ้นมาเอง หรือเมื่อทำสมาธิแล้ว ก็จะยกขึ้นสู่การรู้แจ้งสิ่งที่ปัญญารู้ ซึ่งถ้ากล่าวอย่างนั้น แสดงว่า ไม่รู้เลยว่าปัญญา รู้อะไร

    ปัญญารู้เห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ตามความเป็นจริง ปัญญารู้ได้ยินที่กำลังได้ยินในขณะนี้ตามความเป็นจริง ถ้าสติไม่ระลึกก่อน และปัญญาไม่น้อมไปศึกษาพิจารณาจนค่อยๆ รู้ขึ้น เมื่อไรจึงจะรู้

    การทำสมาธิ โดยที่ไม่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และหวังว่าจะรู้เห็นที่กำลังเห็นได้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย

    การที่จะรู้สภาพธรรมของเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ได้ ต้องเมื่อสติระลึกขณะที่กำลังเห็นตามปกติ เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยตามควร

    การสะสมของปัจจัย เป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้ เหมือนอย่างผู้ที่ สติระลึกแล้ว ผลยังไม่เกิดสักทีหนึ่ง คือ ยังไม่ประจักษ์ชัดในลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่งท่านผู้นั้นลืมคิดไปว่า ถ้าท่านเห็นด้ามมีดที่ยังไม่สึก และทำอย่างไรด้ามมีดนั้นจะสึก ถ้าจับเพียงครั้งเดียว สองครั้ง ด้ามมีดก็ไม่สึกไปได้ ก็เหมือนกับการที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้าง แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้ปัญญาประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเพียงประการเดียว ที่จะต้องเข้าใจให้ตรง และสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นสัจธรรม

    . อาจารย์กล่าวว่า การอบรมเจริญปัญญา ให้สติระลึกรู้ในขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ และให้พิจารณาว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ขอให้อาจารย์ช่วยแนะนำว่า ควรจะระลึกอย่างไร หรือพิจารณาอย่างไรในขณะที่เห็น จึงจะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ศพไม่เห็นนั่นแหละ ซากศพไม่เห็น แต่เห็นมี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 20
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ