โสภณธรรม ครั้งที่ 010
ตอนที่ ๑๐
มีการคิดใคร่ที่จะทำประโยชน์แก่ท่าน แม้ด้วยกายและวาจา ขณะนั้นก็เป็นสติ
เพราะฉะนั้น อาการของสติในวันหนึ่งๆ ก็มีต่างๆ แล้วแต่ว่าขณะใดเป็นสติ ขณะนั้นจึงจะเป็นกุศลจิต ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่มารดาบิดา อาจจะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย หรือผู้มีพระคุณก็ได้ ไม่ว่าจะเห็นใครระลึกถึงในทางที่จะให้เป็นกุศล ย่อมดีกว่าระลึกถึงในทางที่จะให้เกิดอกุศลจิต ถ้าบางทีอาจจะมีการกระทำของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งไม่เป็นที่พอใจ แต่ดูแล้วหน้าก็คล้ายๆ ญาติพี่น้องหรือผู้มีพระคุณ ก็อาจจะอภัยให้ได้ เหมือนๆ กับจะเป็นญาติ อย่างนั้นก็ได้ คือ เรื่องของการคิดนึกที่จะเกิดขึ้น ไม่มีใครที่สามารถจะบังคับบัญชาได้จริงๆ เพราะเหตุว่าความคิดย่อมวิจิตรแต่ละขณะ บางขณะสติเกิดคิดดี ขณะใดที่สติไม่เกิดก็คิดตรงกันข้าม ขึ้นอยู่กับว่าสติจะระลึกได้มากน้อยแค่ไหน
๗. วิสภาคนิมิตตโตสติ ระลึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส ที่มีลักษณะต่างๆ กัน ของพืชผักผลไม้ต่างๆ
จะเป็นกุศลได้ไหม ทุกคนนี้ต้องบริโภคอยู่ตลอดเวลา แล้วก่อนที่จะบริโภคก็มีการปรุงอาหาร มีพืช ผัก ผลไม้ต่างๆ นานาชนิด ระลึกอย่างไรจึงจะเป็นกุศล แม้ว่าเป็นผักชนิดเดียวกัน รสอาจจะต่างกัน ความใหม่ ความเก่า ความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงแม้ของพืชผักผลไม้ อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่มีผลไม้ หรือพืชผัก หรือพืชพรรณที่สด รูปร่างสีสันวรรณะที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้สติเกิดระลึกได้ถึงเหตุปัจจัยนั้นๆ ซึ่งทำให้สภาพของพืชผักผลไม้นั้นต่างกัน แม้ว่าจะเป็นผลไม้ชนิดเดียวกัน รสหวานไม่เท่ากัน เพราะเหตุว่าปัจจัยต่างกัน
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ สติจะเกิดได้ ถ้าได้รู้อาการของสติว่า แม้แต่การที่จะเห็นสิ่งต่างๆ เช่น พืชผัก ผลไม้ อาหาร ก็เป็นธรรมทั้งหมด สามารถที่จะเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้สภาพของพืชผักผลไม้ต่างๆ นั้น มีรส มีกลิ่น มีสีต่างๆ กันได้
เวลาถวายทาน พิจารณาอย่างนี้หรือเปล่า ของเสียๆ ไม่ดี ไม่งาม ก็คัดออกทิ้งไป นี่ ก็เป็นการที่แม้ในขณะนั้น สติก็ยังเกิดพิจารณาได้ตลอดในเรื่องของธรรม แต่ถ้าไม่พิจารณา ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงกุศลชั่วขณะที่คัดสิ่งของที่เป็นไทยธรรมที่ไม่ดีออก
๘. กถาภิญญาณโต สติ ได้แก่ สติที่เกิดเมื่อคนอื่นกล่าวเตือนจึงระลึกได้
เช่น ในขณะที่ฟังพระธรรม วันหนึ่งๆ ก็หลงลืมสติไป แต่ว่าขณะใดที่ได้ฟังพระธรรมในเรื่องของสติ ในเรื่องของโสภณธรรม ขณะนั้นก็มีการระลึกได้ ก็เป็นกถาภิญญาณโตสติ สติเมื่อคนอื่นกล่าวเตือนจึงระลึกได้
เพราะฉะนั้น ท่านที่เป็นกัลยาณมิตร ถ้ามิตรสหายของท่านกำลังเป็นอกุศล ขณะนั้นก็เป็นโอกาสดีที่จะกล่าวธรรม เพราะเหตุว่าถ้าท่านเตือนเองย่อมจะไม่ได้ผล เท่ากับการแสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว แต่ว่าก็ต้องขึ้นอยู่กับกาลเทศะและเหตุการณ์ในขณะนั้น แต่ให้ทราบว่าคำพูดของบางท่านสะกิดใจจริงๆ บางทีฟังแล้วระลึกได้ทันที แต่ถ้าในขณะนั้นคนนั้นไม่กล่าววาจาอย่างนั้น บุคคลนั้นก็ยังคงมีอกุศลต่อไปอีกนานทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องของความโกรธ หรือว่าในเรื่องของความตระหนี่ ความริษยา ในเรื่องของอกุศลทั้งหลาย ถ้าได้มีธรรมที่ระลึกได้ในขณะนั้น แล้วกล่าวขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังมีอกุศลจิต
๙. ลักขณโตสติ ได้แก่ สติที่ระลึกได้เมื่อเห็นเครื่องหมายที่ทำไว้
แสดงว่าความจำไม่มั่นคง ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาอย่างยอดยิ่ง เช่น ปัญญาของท่านพระอานนท์ เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ต้องจำแล้วก็จด แล้วอาจจะมีเครื่องหมายต่างๆ สำคัญมาก เครื่องหมาย ๒ อัน ๓ อัน อะไรอย่างนั้น
นี่ก็เป็นเรื่องที่จะเตือนให้ระลึกได้ เมื่อเห็นเครื่องหมายต่างๆ หรือแม้แต่รูปถ่าย มีการเขียนไว้ข้างหลังว่า เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ก็ยังทำให้ระลึกได้ถึงกุศลที่บุคคลนั้นได้กระทำในวันนั้น แล้วก็อาจจะมีการระลึกต่อไปถึงเรื่องของบุคคลนั้นในทางธรรมได้ ถ้าเป็นผู้ที่ต้องอพยพแล้วก็พลัดบ้านเมือง ก็อาจจะคิดถึงความไม่เที่ยง การที่ต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วแต่ละชีวิตก็ไม่แน่นอน มีทั้งสุข มีทั้งทุกข์ ซึ่งแต่ละบุคคลเลือกไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้แต่รูปถ่ายซึ่งมีคำเขียนไว้ก็ยังเป็นเครื่องหมายที่ทำให้เกิดระลึกได้ถึงธรรม เวลาที่ทำบุญให้ทาน มีอาหารหลายอย่าง บางท่านยังต้องใส่ถึงสีต่างๆ กัน เพื่อกันลืม ใช่ไหม พวกนี้ก็ล้วนแต่เป็นสติที่ระลึกได้เมื่อเห็นเครื่องหมายที่ได้ทำไว้
๑๐. สรณโตสติ เตือนให้ระลึกถึงสิ่งที่ได้กระทำแล้ว
ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านก็คงพอที่จะระลึกถึงกุศลที่ได้กระทำแล้ว แล้วก็เกิดความปลาบปลื้ม แต่ถ้าระลึกถึงอกุศลก็จะต้องรู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะกระทำอีก ถ้าเป็นคนที่โกรธง่ายๆ โกรธมากๆ โกรธรุนแรง และเคยมีกายวาจาที่ไม่งาม ถ้าระลึกขึ้นมาได้ เห็นความน่ารังเกียจ แล้วก็คิดว่า จะไม่เป็นอย่างนั้นอีก ขณะนั้นก็เป็นสรณโตสติ คือ สติที่เตือนให้ระลึกถึงสิ่งที่ได้กระทำแล้ว
๑๑. มุทธโตสติ ระลึกได้เมื่อเห็นสิ่งที่จดไว้
นอกจากเครื่องหมายอันนี้ ก็เป็นข้อความต่างๆ เวลาที่ทุกท่านอ่านพระไตรปิฎก ก็คงจะมีสมุดกันคนละเล่ม ซึ่งเก็บข้อความซึ่งต้องการที่จะระลึกถึงบ่อยๆ ให้ทราบว่า ข้อความนั้นอยู่ที่ไหนในพระไตรปิฎก
๑๒. คณนาโตสติ สติที่ระลึกได้เมื่อนับ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีองค์ธรรม ตั้งแต่ ๑ – ๒ – ๓ – ๔ – ๕ มิฉะนั้นก็หลงลืมใช่ไหม ขาดข้อหนึ่งข้อใดไป เช่น เหตุให้เกิดกุศลมีเท่าไร เหตุให้เกิดทิฏฐิมีเท่าไร เหล่านี้เป็นต้น ก็เป็นคณนาโตสติ ระลึกได้เมื่อนับ มัจฉริยะมีเท่าไร ถ้าไม่นับก็คงยาก ใช่ไหม แต่ถ้านับก็รู้ว่า มัจฉริยะมี ๕ ความตระหนี่ ๕ ประการ
๑๓. ธารณโตสติ ได้แก่ สติที่ทรงจำไว้มาก ระลึกได้มาก
อันนี้ก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละท่าน บางท่านก็มีความจำดี มีสติดีมั่นคง เป็นเหตุทำให้ระลึกได้มาก
๑๔. ภาวนาโตสติ สติในการเจริญภาวนา ในการอบรมสภาพธรรมที่เป็นกุศล
๑๕. โปตฺถกนิพนฺธนโตสติ สติที่ระลึกถึงภาระผูกพันที่จะต้องกระทำ
เป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าไม่เป็นไปในเรื่องของกุศล ก็ต้องเป็นไปในเรื่องโลภะในชีวิตประจำวัน มีอะไรที่จะต้องทำในวันนี้บ้าง ในขณะนั้นก็เป็นวิตกเจตสิก แต่ถ้าระลึกถึงภาระผูกพันที่จะต้องกระทำในเรื่องของกุศล เช่นการไม่เอาเปรียบผู้อื่น มีข้อผูกพันสิ่งใดที่จะต้องทำต่อบุคคลนั้น ก็ระลึกได้ แล้วกระทำ ขณะนั้นก็เป็นกุศล
มีข้อผูกพันว่าจะทำอะไรบ้างที่เป็นกุศล นึกออกไหม บางท่านอาจจะปวารณาไว้ นั่นคือข้อผูกพันในเรื่องของกุศล แต่ลืม เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติที่ระลึกได้
๑๖. อุปนิกเขปนโตสติ เห็นทรัพย์ก็ระลึกได้
ทุกคนเห็นทรัพย์ แต่ว่าระลึกเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องแล้วแต่สติในขณะนั้น ถ้าระลึกเป็นไปในกุศลในขณะที่เห็นทรัพย์ ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ได้แก่ ทาน การให้ การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น บางคนตั้งใจจะบริจาคเงินในการกุศล แต่ลืม พอเห็นจึงได้ระลึกได้ นี่ก็เป็นเหตุหนึ่ง ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของสติ
๑๗. อนุภูตโตสติ ระลึกถึงรูปที่เคยเห็น ระลึกถึงเสียงที่เคยได้ยิน ถึงกลิ่น ถึงรส ถึงโผฏฐัพพะที่เคยกระทบ ระลึกถึงสภาพธรรมที่ปรากฏ และระลึกถึงสภาพธรรมที่เคยปรากฏตามความเป็นจริง
ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมใดรูปธรรมใด ขณะนั้นก็ระลึกถึงลักษณะของสภาพนามธรรมนั้นรูปธรรมนั้น ในขณะนั้นก็เป็นอนุภูตโตสติ
ผู้ฟัง ต้องท่องไว้ไหม ๑๗ ประการนี้
ท่านอาจารย์ ถ้าอยากจะจำ ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล บางท่านอาจจะมีฉันทะในการท่อง ท่านก็ท่อง บางท่านท่องเก่งมาก หรือแม้แต่บางท่านก็ท่องมหาสติปัฏฐานสูตรได้ มากกว่า ๑๗ อีก
ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าจะไม่ท่อง ก็เป็นสิ่งที่เคยผ่านในชีวิตประจำวันหลายอย่าง อย่างที่ผมเคยทำกับตัวเอง ถ้าหลงลืมสติบ่อยๆ หลายๆ วัน ผมก็เขียนไว้ในกระดาษเลยว่า ระลึกรู้นามรูปทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วผมก็แปะไว้ที่พวงมาลัยรถข้างๆ พอผมมานั่งที่รถทีไร ก็เตือนสติได้เหมือนกัน หรือไม่ก็แปะไว้ที่โต๊ะทำงาน แต่นานๆ มันก็ชิน
ท่านอาจารย์ ก็เป็นการดี ที่ได้รู้จักตัวของตัวเองตามความเป็นจริง ประโยชน์ของพระธรรมวินัย คือ ทำให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง รู้จักสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับท่านตรงตามความเป็นจริงว่าไม่มีตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมต่างๆ ลักษณะของจิตต่างๆ ลักษณะของเจตสิกต่างๆ ลักษณะของรูปต่างๆ ที่เกิดประชุมรวมกันแล้วยึดถือว่าเป็นตัวตน เมื่อใดสติเกิด เมื่อนั้นก็จะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง
เรื่องของสติ เป็นเรื่องที่ “จำปรารถนาในที่ทั้งปวง” จริงๆ และแม้ในขณะที่ฟังพระธรรมนี้เอง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาธรรมของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมมา อย่างท่านพระปิงคิยเถระ ในโสฬสมาณวกปัญหานิทเทส ท่านได้เล่าให้พราหมณ์พาวรี ผู้เป็นลุงของท่านฟังว่า เพียงได้ฟังพระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระวักลิละศรัทธา ท่านก็เกิดปีติโสมนัส เพียงเท่านี้เอง พระผู้มีพระภาคตรัสกับปิงคิยพราหมณ์ว่า พระองค์ตรัสให้ท่านพระวักลิละศรัทธา
ขณะนี้ท่านผู้ฟังได้ฟังอย่างนี้ ใช่ไหม แต่ท่านพระปิงคิยพราหมณ์ในขณะนั้นเกิดปีติโสมนัส เพราะรู้ว่าถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ถ้าปัญญาไม่เกิด ละศรัทธาไม่ได้
ละศรัทธาในที่นี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ละศรัทธาที่เป็นตัวตน ที่เป็นเรา ที่ยึดถือศรัทธานั้นว่าเป็นเรา คือ การฟังพระธรรมต้องฟังให้ละเอียดจริงๆ ว่าบุคคลไหนตรัสกับใคร และผู้ฟังเป็นใคร และแม้ว่าจะไม่กล่าวพยัญชนะโดยครบถ้วน แต่ความหมายก็ครบถ้วนในข้อความที่กล่าวที่ตรัส เพราะเหตุว่าศรัทธาเป็นโสภณธรรม สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน ก็ยึดถือศรัทธานั้นว่าเป็นเรา เวลาที่ศรัทธาเกิดก็ผ่องใส เลื่อมใส แต่ว่าในขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของศรัทธาว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นศรัทธาเจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แล้วศรัทธาที่ว่าผ่องใส เสื่อมใสนี้ ก็ยังเล็กน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับศรัทธาของพระอริยบุคคล แล้วก็เปรียบเทียบได้เป็นขั้นๆ จนกระทั่งถึงศรัทธาของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงขึ้น เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นพระอรหันต์
เพราะฉะนั้น ถ้าใครให้ละศรัทธา ก็ต้องเข้าใจว่าให้ละศรัทธาที่ยึดถือว่าเป็นเรา ซึ่งจะละได้ก็ด้วยสติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของศรัทธาที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนี้ถ้าศรัทธาเกิด ปัญญาจะต้องเกิดพร้อมสติที่ระลึกลักษณะของศรัทธา แล้วจึงจะรู้ว่าไม่ใช่เรา มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีหนทางเลย พระผู้มีพระภาคจะตรัสกับท่านพระวักลิ แล้วปิงคิยพราหมณ์ได้ฟังเกิดปีติโสมนัส แต่สำหรับตัวท่านเอง ท่านก็ต้องเป็นผู้ตรงว่าในขณะนี้ศรัทธาเกิดหรือเปล่า ถ้าศรัทธาเกิด จะละอย่างไร ต้องรู้วิธีด้วย เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้วิธี แม้พระผู้มีพระภาคตรัสให้ละศรัทธาก็ละไม่ได้
นี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า “สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง” โดยเฉพาะในเรื่องของการฟังธรรม ซึ่งเรื่องของธรรม เป็นเรื่องชีวิตประจำวันตั้งแต่ในครั้งอดีตตลอดเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ตลอดไปจนกระทั่งถึงอนาคต
ขอกล่าวถึงข้อความในขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค อชิตมาณวกปัญหานิทเทส ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่แสดงให้เห็นขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติของบุคคลแม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน
ครั้งนั้น พราหมณ์พาวรีเป็นผู้เรียนจบมนต์ ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีกังวล ออกจากพระนครโกศลอันน่ารื่นรมย์ ไปสู่ทักขิณาปถชนบท และอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี อันเป็นพรมแดนแว่นระหว่างแคว้นอัสสกะและแว่นแคว้นมุฬกะ ท่านเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วย การเที่ยวภิกขาและผลไม้
เมื่อพราหมณ์ได้ไปอยู่ที่นั่นแล้ว ตำบลนั้นก็เจริญขึ้น ทำให้พราหมณ์นั้นได้ของบูชาเป็นอันมาก
วันหนึ่งพราหมณ์พิการคนหนึ่ง เดินงกงัน ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ เข้าไปหาพาวรีพราหมณ์แล้วขอทรัพย์ห้าร้อย
พาวรีพราหมณ์ก็บอกว่า ได้บริจาคทรัพย์ไปหมดแล้ว พราหมณ์นั้นก็บอกว่า ถ้าเมื่อเราขอ ท่านจักไม่ให้ ในวันที่เจ็ด ศีรษะของท่านจงแตกเจ็ดเสี่ยง
สติเกิดไหม ถ้าได้ยินอย่างนี้ นี่เป็นชีวิตประจำวัน แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน น่ากลัวหรือไม่น่ากลัว ถ้าสติเกิดจะกลัวไหม ถ้าสติไม่เกิด ไม่รู้เหตุไม่รู้ผล ไม่ได้พิจารณาเหตุและผล ก็ย่อมตกใจกลัว เพราะเหตุว่าในสมัยโน้น เป็นสมัยที่ใช้อิทธิฤทธิ์ซึ่งต่างกาลต่างสมัย ในสมัยนี้ก็เป็นอิทธิฤทธิ์คนละอย่าง ใช่ไหม อาจจะใช้อาวุธยิงไกล ไปทำลายล้างไกลๆ ได้ คนละเหตุการณ์ แต่ว่าผู้ที่ขาดสติ ก็มีความหวั่นเกรงภัย แทนที่จะคิดว่า ถ้าคนนั้นมีฤทธิ์สามารถที่จะทำให้ศีรษะคนอื่นแตก ๗ เสี่ยงได้ ไม่น่าจะต้องมาขอเงินคนอื่นเลย ใช่ไหม แต่เรื่องของความไม่รู้เหตุผล และเรื่องของความรักชีวิต รักตัว ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมทำให้ขณะนั้นเกิดความขาดสติ และมีความหวั่นเกรง จนกระทั่งพาวรีพราหมณ์ซูบผอม ไม่บริโภคอาหาร
เทวดาที่สถิตอยู่ใกล้อาศรมของพราหมณ์พาวรี เห็นพาวรีพราหมณ์หวาดกลัวเป็นทุกข์อยู่ ก็ใคร่ที่จะช่วยเหลือ ก็เข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า
พราหมณ์ผู้มีความต้องการทรัพย์นั้นเป็นคนโกหก ย่อมไม่รู้จักศีรษะ ความรู้จักศีรษะหรือธรรมอันให้ศีรษะตกไป ย่อมไม่มีแก่พราหมณ์นั้น
ผู้ที่เข้าใจธรรม ก็สามารถที่จะยกตัวอย่างและชี้แจงให้เห็นได้จริงๆ ว่า พราหมณ์ที่ไปบอกคนอื่นว่า ศีรษะจะต้องแตก ๗ เสี่ยงนี้ เป็นผู้ที่ไม่รู้จักศีรษะ ว่าศีรษะคืออะไร แม้แต่ธรรมที่จะทำให้ศีรษะนั้นตกไป ก็ไม่รู้ เพียงแต่ว่าสามารถจะขู่คนอื่นหรือบอกคนอื่นได้ว่า ถ้าไม่ทำอย่างที่ต้องการแล้วละก็ศีรษะจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง ขณะนี้ทุกท่านมีศีรษะหรือเปล่า แม้แต่เรื่องศีรษะก็เป็นธรรมที่ลึกซึ้งได้ ไม่ใช่เพียงศีรษะที่ทุกคนรู้ว่ามีทุกคน ทุกคนมีศีรษะ แต่ก็ยังมีศีรษะที่ทุกคนไม่รู้ว่ามีด้วย
เมื่อพาวรีพราหมณ์ขอให้เทวดาบอกศีรษะและธรรมอันให้ศีรษะตกไป เทวดานั้นก็บอกให้พาวรีพราหมณ์ไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนครสาวัตถี
พาวรีพราหมณ์ปีติยินดีมากที่ได้ฟังคำว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นี่คือการสะสมที่สะสมมาที่จะรู้พระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงได้ยินก็รู้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง
ทั้งพาวรีพราหมณ์เรียกพราหมณ์ที่เป็นศิษย์ของท่าน ๑๖ คน คือ อชิตพราหมณ์ ติสสเมตเตยยพราหมณ์ ปุณณกพราหมณ์ เมตตคูพราหมณ์ โธตกพราหมณ์ อุปสีวพราหมณ์ นันทพราหมณ์ เหมกพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ กัปปพราหมณ์ ชตุกัณณีพราหมณ์ ภัทราวุธพราหมณ์ อุทยพราหมณ์ โปสาลพราหมณ์ โมฆราชพราหมณ์ผู้เป็นนักปราชญ์ ปิงคิยพราหมณ์ แล้วก็ให้พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนซึ่งต่างก็เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะมีลูกศิษย์มากมาย ไปเฝ้ากราบทูลถามปัญหานั้นกับพระผู้มีพระภาค
เมื่อพราหมณ์ ๑๖ ท่านเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว อชิตพราหมณ์ก็ได้กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ปัญหาของพาวรีพราหมณ์ที่ถามถึงศีรษะ และธรรมอันทำให้ศีรษะตกไป (ซึ่งทุกคนมี)
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ วิชชาประกอบกับศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ เป็นธรรมเครื่องยังศีรษะให้ตกไป”
เพียงเท่านี้ อชิตมาณพก็เกิดปีติโสมนัสยิ่งนัก นี่คือผู้ที่ได้มีโอกาสฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ เพราะเหตุว่าท่านสะสมปัญญามาที่จะได้เฝ้า และได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค
ท่านกระทำหนังเสือเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วซบศีรษะแทบพระยุคลบาท ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยพวกศิษย์ มีจิตเบิกบานโสมนัส ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยพวกศิษย์จงเป็นผู้มีสุข ดูกรมาณพ และแม้ท่านก็ขอให้มีความสุข มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด เราให้โอกาสแก่พาวรีพราหมณ์ แก่ท่าน และแก่พราหมณ์ทั้งหมด ตลอดข้อสงสัยทั้งปวง ท่านทั้งหลายย่อมปรารถนาปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ในใจ ก็จงถามเถิด”
ประทานอนุญาตให้ถามปัญหาทุกอย่างที่ข้องใจ
เมื่อพระสัมพุทธเจ้าทรงประทานโอกาสแล้ว อชิตพราหมณ์นั่งประนมมือ แล้วทูลถามปฐมปัญหากะพระผู้มีพระภาคในบริษัทนั้น
ซึ่งปัญหาของแต่ละข้อไม่เหมือนกัน แต่ว่าปัญหาทุกข้อก็เป็นสภาพธรรมทั้งนั้น และไม่พ้นจากสติและโสภณธรรมทั้งหลายด้วย
ท่านอชิตะทูลถามปัญหาว่า “โลกอันอะไรสิหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฏเพราะเหตุอะไรสิ อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้น ขอพระองค์จงตรัสบอก อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น”
นี่ก็เป็นชีวิตในขณะนี้เอง ทุกๆ ขณะ ท่านที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็พอที่จะทราบคำตอบได้ ใช่ไหมว่า อะไรห่อหุ้มโลกไว้ ทำให้โลกไม่ปรากฏ
กำลังเห็นอย่างนี้ เป็นโลก ใช่ไหม ปรากฏตามความเป็นจริงหรือเปล่า ว่าเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงชั่วขณะเดียวเท่านั้นเอง นี่คือความจริงของโลก ถ้าโลกปรากฏต้องปรากฏอย่างนี้ แต่ว่า โลกอันอะไรสิหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฏเพราะเหตุอะไร
ท่านที่คิดว่าท่านอยู่ในโลกมานาน และก็รู้จักโลก แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรม ก็จะได้เข้าใจอวิชชาซึ่งเป็นศีรษะว่า ในขณะที่กำลังเห็นนี้ เป็นการพิสูจน์อวิชชาว่า เป็นการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่เห็นนี้เป็นโลก แต่ก็ไม่รู้จักโลก เพราะเหตุว่าโลกจริงๆ ไม่ได้ปรากฏ ซึ่งแม้ว่าท่านผู้ฟังจะคิดคำตอบอย่างไร ก็ยังไม่ละเอียดเท่ากับฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียดแจ่มแจ้ง แม้แต่คำว่า “โลก” ซึ่งรวมทุกโลก ทั้งโลกนรก โลกเดรัจฉาน โลกปิติวิสัย โลกมนุษย์ โลกเทวดา ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกกับทั้งเทวโลก ซึ่งสรุปแล้วก็คือ โลกทางตาในขณะนี้เอง ไม่ว่าจะเป็นโลกติรัจฉาน เห็นไหม โลกปิติวิสัยคือเปรต โลกมนุษย์ โลกเทวดา ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกกับทั้งเทวโลก
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050