โสภณธรรม ครั้งที่ 013


    ครั้งที่ ๑๓

    ซึ่งสัจจกนิครนถ์ทูลรับว่าเป็นความจริงอย่างนั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตนของเรา อำนาจของท่านเป็นไปในรูปนั้นว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ”

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเสียถึงสองครั้ง ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรอัคคิเวสสนะ กาลบัดนี้ ท่านจงแก้ ไม่ใช่การที่ท่านควรนิ่ง ดูกรอัคคิเวสสนะ ผู้ใดอันตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง มิได้แก้ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงในที่เช่นนี้”

    สมัยนั้น ท้าววชิรปาณีสักกเทวราชถือกระบองเพชรลุกเป็นไฟรุ่งเรืองลอยอยู่ในเวหา ณ เบื้องบนศีรษะสัจจกนิครนถ์ ประกาศว่า ถ้าสัจจกนิครนถ์นี้ อันพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง มิได้แก้ปัญหา เราจักผ่าศีรษะสัจจกนิครนถ์นั้นเจ็ดเสี่ยงในที่นี้แหละ

    ท้าววชิรปาณีนั้น พระผู้มีพระภาคกับสัจจกนิครนถ์เท่านั้นเห็นอยู่ ในทันใดนั้น สัจจกนิครนถ์ ตกใจกลัวจนขนชัน แสวงหาพระผู้มีพระภาคเป็นที่ต้านทานป้องกันเป็นที่พึ่ง ได้ทูลว่า “พระโคดมผู้เจริญ ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้”

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามซ้ำ และสัจจกนิครนถ์ได้ตรัสตอบว่า “ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจงทำไว้ในใจเถิด ครั้นทำไว้ในใจแล้วจึงกล่าวแก้

    ทำในใจ หมายถึง พิจารณาไตร่ตรอง

    เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ต่อกัน ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลายและวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า “ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า “สิ่งนั้นเป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา”

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ”

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ คำที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับสัจจกนิครนถ์ ก็คือในขณะนี้เอง ได้ยินไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแล้ว ยังเป็นของใคร ขณะที่กำลังได้ยิน รู้สึกเหมือนกะว่า เราได้ยิน แต่ได้ยินก็ดับ ดับแล้วก็ดับไปเลย ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดับไปแล้วนั้นจะเป็นของใคร เพราะฉะนั้น ถ้าสัจจกนิครนถ์พิสูจน์และพิจารณาธรรมในขณะนั้น ก็ย่อมจะเห็นธรรมตามความเป็นจริงว่า ที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา”

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ”

    รูปของทุกท่านในขณะที่นั่งลง แล้วเริ่มฟัง กับในขณะนี้ต่างกันมากแล้ว รูปก็เกิดแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ๆ เวทนา ความรู้สึกก็ต่างกันมาก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ๆ แม้แต่สัญญาหรือสังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ จิตทุกขณะ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ๆ ถ้าพิจารณาถึงความดับ ความสิ้นไปของรูป ของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร ของวิญญาณ จะรู้ได้ว่าไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของเรา แม้รูปชั่วขณะเดียวที่ดับ แม้นามขณะเดียวที่ดับ ไม่ว่าจะเป็นเห็นหรือได้ยิน หรือคิดนึก หรือความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ก็ตาม ที่ดับไปแล้ว ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของเรา ฉันใด รูปที่กำลังปรากฏ หรือนามที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของเรา เพราะเหตุว่ายังไม่ทันไรก็ดับไปเสียแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า “ดูกรอัคคิเวสสนะ เปรียบเหมือนบุรุษมีความต้องการแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้อยู่ ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่งในป่านั้น มีต้นตรง ยังกำลังรุ่น ไม่คด เขาจึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคนต้น แล้วตัดยอด ริดใบออก เขาไม่พบแม้แต่กระพี้ แล้วจะพบแก่นได้แต่ที่ไหน แม้ฉันใด ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านอันเราซักไซ้ไล่เลียง สอบสวนในถ้อยคำของตนเอง ก็เปล่า ว่าง แพ้ไปเอง ท่านได้กล่าววาจานี้ในที่ประชุมชนในเมืองเวสาลีว่า เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ แม้ที่ปฏิญญาตนว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา จะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ แม้แต่คนเดียวเลย หากเราปรารภโต้ตอบวาทะกะเสาที่ไม่มีเจตนา แม้เสานั้นปรารภโต้ตอบวาทะกับเราก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว จะป่วยกล่าวไปไยถึงมนุษย์เล่า ดังนี้ ดูกรอัคคิเวสสนะ หยาดเหงื่อของท่านบางหยาดหยดจากหน้าผากลงยังผ้าห่มแล้วตกที่พื้น ส่วนเหงื่อในกายของเราในเดี๋ยวนี้ไม่มีเลย ดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงเปิดพระกาย มีพระฉวีดังทองในบริษัทนั้น

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์นั่งนิ่งอึ้ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ

    ในลำดับนั้น เจ้าลิจฉวีผู้มีนามว่าทุมมุขะ ทราบว่า สัจจกนิครนถ์นิ่งอึ้ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อุปมาย่อมแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรทุมมุขะ อุปมานั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่านเถิด”

    คือ ท่านขอโอกาสที่จะอุปมา

    เจ้าลิจฉวีนั้นทูลถามว่า “เปรียบเหมือนในที่ใกล้บ้านหรือนิคม มีสระโบกขรณีอยู่สระหนึ่ง ในสระนั้นมีปูอยู่ตัวหนึ่ง พวกเด็กชายหญิงเป็นอันมากออกจากบ้านหรือนิคมนั้นไปถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็ลงจับปูขึ้นจากน้ำวางไว้บนบก ปูนั้นจะส่ายก้ามไปข้างไหน เด็กเหล่านั้นก็คอยต่อยก้ามปูนั้นด้วยไม้บ้าง ด้วยกระเบื้องบ้าง เมื่อปูนั้นก้ามหักหมดแล้ว ก็ไม่อาจลงสู่สระโบกขรณีนั้นเหมือนก่อนได้ฉันใด ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม เข้าใจผิด กวัดแกว่ง บางอย่างของสัจจกนิครนถ์ พระองค์หักเสียแล้ว แต่นี้ไปสัจจกนิครนถ์ก็ไม่อาจเข้ามาใกล้พระองค์ ด้วยความประสงค์จะโต้ตอบอีก ก็ฉันนั้นแหละ”

    เมื่อเจ้าลิจฉวีทุมมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็พูดว่า “เจ้าทุมมุขะท่านหยุดเถิด ท่านพูดมากนัก ข้าพเจ้าไม่ได้พูดกับท่าน ข้าพเจ้าพูดกับพระโคดมต่างหาก” ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็ทูลว่า “ข้าแต่พระโคดม ข้อที่พูดนั้นเป็นของข้าพเจ้า และของพวกสมณพราหมณ์เหล่าอื่น ยกเสียเถิด เป็นแต่คำเพ้อ พูดเพ้อกันไป”

    ตอนนี้ก็มีสติระลึกได้ นี่คือผลของการที่จะฟังด้วยการพิจารณาด้วยสติจริงๆ แม้แต่สัจจกนิครนถ์ ก็ยังสามารถที่จะระลึกได้ว่า คำที่พูดแล้วเป็นแต่คำเพ้อ พูดเพ้อกันไป

    ผู้ฟัง สมัยพุทธกาลนี้ พอใครมาโต้เถียงกับพระผู้มีพระภาคแล้ว จะคอยมีเทวดามาถือกระบอง ผมอ่านพบในหลายสูตร ถ้าสมัยนี้มีก็ดีนะ สมัยนี้ไม่มีเลยเถียงเอาสีข้างเข้าถูบ้าง ไม่เอาเหตุผลเข้าว่ากัน ทำไมเทวดาไม่ถือกระบองมาหวดเสียบ้าง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่กาลสมัย แล้วก็ไม่มีใครเห็น ขณะนั้นก็มีแต่พระผู้มีพระภาคกับสัจจกนิครนถ์เท่านั้นที่เห็น เพราะฉะนั้น เทวดามีจริง ใครไม่เห็น ก็ไม่เห็น แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปคิดว่า เทวดาถือกระบองอยู่หรือเปล่าเดี๋ยวนี้ เมื่อไม่เห็นก็ไม่เห็น แต่อาศัยพระธรรมที่มีเหตุผลที่ทรงแสดงและพิจารณาด้วยสติ

    เมื่อได้ทราบเรื่องอาการของสติ ๑๗ ประการแล้ว ก็พอที่จะรู้ลักษณะของสติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอีกได้ใช่ไหม ซึ่งแต่ก่อนนี้อาจจะไม่เคยสังเกต เพราะเหตุว่าเวลาที่มีศรัทธา คือมีสภาพของจิตที่ผ่องแผ้ว ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ก็ค่อยๆ รู้ว่า นั่นเป็นสภาพลักษณะของโสภณธรรม เป็นศรัทธาเจตสิก ซึ่งทำให้ธรรมซึ่งเกิดร่วมกันในขณะนั้นเป็นสภาพที่ผ่องแผ้ว ผ่องใส แต่ว่าศรัทธาก็ไม่ได้ปรากฏอาการของศรัทธาโดยตลอด ในการกุศลแต่ละครั้ง บางครั้ง อย่างในเวลาที่ท่านผู้ฟังอาจจะอ่านจดหมาย หรือได้รับจดหมายจากท่านที่ได้รับประโยชน์จากธรรม ขณะนั้นก็เกิดความปีติ ผ่องแผ้ว เป็นลักษณะของศรัทธา แต่เวลาอื่นนอกจากนั้น ลักษณะของศรัทธาจะไม่ปรากฏ แต่การกระทำกิจการใดๆ ก็ตามที่เป็นกุศล ในขณะนั้นแม้ศรัทธาจะไม่ปรากฏ ลักษณะของสติก็ยังปรากฏได้ ถ้ารู้เรื่องของสติ เช่น อาการ ๑๗ ประการของสติ

    อย่างท่านผู้หนึ่งท่านก็บอกว่า แต่ก่อนนี้เวลาที่เห็นใครที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนบิดามารดาของท่าน ทำให้ท่านอดคิดไปถึงเมื่อครั้งที่ท่านได้อยู่กับมารดาบิดา และมีความสัมพันธ์ มีความผูกพันกับมารดาบิดาอย่างไรบ้าง แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของสติแล้ว ก็รู้ว่าในขณะที่กำลังคิดถึงด้วยความผูกพันนั้นเป็นอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดเป็นอกุศลจิต ก็กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยการกระทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านที่ล่วงลับไปแล้ว และถ้ามีกิจใดๆ ก็ตามที่เป็นกุศล ที่จะกระทำเพื่อที่จะอุทิศส่วนกุศลให้บุพพการี ก็ทำได้ ในขณะนั้นก็เป็นลักษณะอาการของสติ ซึ่งแม้ว่าลักษณะของศรัทธาไม่ปรากฏ แต่ว่าลักษณะของสติที่ระลึกได้ก็ย่อมปรากฏได้

    หรือบางท่านไม่เคยที่จะคิดเพิ่มความเมตตาขึ้น โดยที่ว่าไม่เคยสังเกต การกระทำทางกาย หรือว่าคำพูดทางวาจา แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของสติแล้ว ก็เกิดระลึกได้ แทนที่จะพูดคำที่ทำให้คนฟังไม่พอใจ เช่น พอพูดย้อนไป ก็อาจจะระลึกได้ว่า ไม่ควรที่จะพูดอย่างนั้น เพียงเท่านี้ แม้แต่คำพูดซึ่งอาจจะเคยเป็นผู้พูดย้อนคนอื่น ก็ทำให้เกิดสติระลึกได้ว่า ไม่ควรที่จะทำอย่างนั้นอีก

    นี่ก็เป็นลักษณะอาการของสติ ซึ่งแม้ในขณะนั้นลักษณะของศรัทธาไม่ปรากฏ แต่ว่าลักษณะของสติก็ปรากฏ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการกระทำทางกาย และคำพูดทางวาจา ก็แสดงให้เห็นว่า สติระลึกได้ในขณะนั้น จึงเปลี่ยนจากที่เคยคิดด้วยความไม่ถูกต้อง ไม่แยบคาย ซึ่งเป็นอกุศลให้เป็นกุศลได้ หรือสติอาจจะเกิดเวลาที่ระลึกได้ว่า เมื่อมีภาระผูกพัน แล้วอาจจะหลงลืม ขณะนั้นไม่เป็นกุศล เช่นบางท่านอาจจะมีภาระผูกพันที่จะอุปถัมภ์หรืออุปการะญาติพี่น้อง หรือผู้ที่ควรอุปการะ แม้ไม่ใช่ญาติพี่น้อง ถ้าสติไม่เกิด แม้ว่าตั้งใจไว้ ก็หลงลืมไป แต่เมื่อคิดถึงภาระขึ้นมาได้ ซึ่งความจริงไม่ใช่ภาระทางโลก แต่คงจะเป็นภาระความผูกพันทางกุศลซึ่งได้ตั้งใจไว้ ก็ทำให้ขณะนั้นระลึกเป็นไปในกุศลได้ เพราะเหตุว่าผู้ที่ต้องการช่วยเหลือในยามทุกข์ยากย่อมมี และท่านก็อาจจะช่วยบ้างแม้เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ยังเป็นประโยชน์แก่คนอื่น บางคนตั้งใจจะช่วย แต่ว่าวันเดือนปีก็ผ่านไป อาจจะหลายวัน หลายเดือน พอถึงหลายเดือนเกิดระลึกได้ ก็ยังดี เพราะเหตุว่าในขณะที่ระลึกที่จะอุปการะช่วยเหลือผู้ที่กำลังทุกข์ยาก ในขณะนั้นก็เป็นสติที่ระลึกได้

    ลักษณะของศรัทธาในขณะนั้นคงจะไม่ปรากฏว่า เป็นสภาพที่ผ่องใส แต่ว่าลักษณะอาการของสติก็ปรากฏ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมแล้วการที่จะได้เข้าใจลักษณะของธรรม ไม่ใช่ว่าไปสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เกิดขึ้นเพื่อจะรู้ แต่ว่าตั้งแต่เกิดจนตายเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ บางครั้งบางขณะก็เป็นกุศล บางครั้งบางขณะก็เป็นอกุศล ล้วนอยู่ที่ตัวของแต่ละท่านซึ่งเกิดแล้วเป็นแล้วตามปกติ

    เพราะฉะนั้น พระธรรมทำให้ท่านสามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไป อย่างเช่นเรื่องของกุศล บางท่านอาจจะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่ตัวท่านเลย สติเกิดระลึกได้ จึงเป็นไปในกุศลประเภทนั้น อย่างนั้น ในวันนั้น แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ก็จะรู้ได้ว่าแม้ในขณะนั้นก็เป็นสตินั่นเองที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคลได้ถูกต้องว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริง

    ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทุกคนมีอกุศลมาก ซึ่งทุกคนก็เกือบจะบอกไม่ถูกว่ามากสักแค่ไหน ถ้าสติเกิดระลึกได้จริงๆ จะรู้ได้ว่ามีอกุศลมาก แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้ได้ ไม่มีทางที่จะพิจารณาได้ว่า ขณะนั้นสิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร และสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรที่จะละเว้น เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้จริงๆ ว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ถ้าสติไม่เกิดแล้วละก็ใครๆ ก็เจริญกุศลไม่ได้ ไม่ใช่ว่ามีใครจะสามารถเจริญกุศลได้โดยสติไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้นๆ แม้ว่าจะได้รู้ว่า ขณะที่ตื่นเพื่อจะฟังพระธรรม กระวีกระวาด ขณะนั้นก็เป็นสติที่จะฟังพระธรรม ก็ยังไม่พอใช่ไหม เพราะขณะนั้นรู้จากการฟังว่าเป็นสติ แต่ลักษณะของสติจริงๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่งหรืออีกขั้นหนึ่ง คือ ขั้นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น สติก็จะต้องเจริญขึ้นๆ จากการค่อยๆ อบรมไปในการเจริญกุศลทุกประการ รวมทั้งการฟังพระธรรมด้วย และเมื่อรู้ว่าในขณะนั้นเป็นสติขั้นฟัง ก็ทำให้เกิดการฟังด้วยสติต่อไป

    เพราะเหตุว่าแม้ในขณะที่กำลังฟังนี้ ถ้าสติไม่เกิดขึ้นพิจารณาความละเอียด ก็เพียงแต่ฟังแล้วผ่านไป อย่างบางท่านก็ได้ยินคำว่า นามธรรมและรูปธรรมอยู่เสมอทีเดียว ลองพิจารณาจริงๆ ว่า เข้าใจอรรถของนามธรรมและรูปธรรมแค่ไหน และเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกไหม แล้วเข้าใจในลักษณะที่ว่าเป็นขั้นคิดไตร่ตรองลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้ ต้องในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่กำลังได้กลิ่น ในขณะที่กำลังลิ้มรส ในขณะที่กำลังกระทบสัมผัส ในณะนี้เอง ในขณะที่กำลังคิดนึก นี่ก็อาจจะมีการไตร่ตรองถึงลักษณะของนามธรรม โดยสตินี้คิดถึงเรื่องลักษณะอาการที่เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แล้วก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกได้ตรงอาการรู้ ซึ่งไม่ใช่รูปธรรมที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมนี้ก็ต้องละเอียดขึ้นๆ บางท่านก็กล่าวว่า ท่านฟังแล้ว ท่านก็คิดว่าท่านเข้าใจแล้ว แต่เมื่อฟังอีก ฟังอีก ก็เพิ่มความเข้าใจอีก และทราบว่าที่คิดว่าเข้าใจแล้วนั้น ความจริงยังไม่พอเลย ยังต้องมีการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังโดยสติระลึกศึกษาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะเหตุว่าลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ประจักษ์แจ้งโดยความขาดจากกันหรือยัง ว่ารูปธรรมไม่ใช่นามธรรม

    ถาม เวลานอนหลับสนิท สติเกิดได้ไหม

    ท่านอาจารย์ สำหรับคนที่เกิดเป็นมนุษย์และไม่พิการแต่กำเนิด ก็จะเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ หรือญาณสัมปยุตต์ แม้ว่าเป็นวิบากญาณวิปปยุตต์ก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าโดยชาติแล้วเป็นวิบาก สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ คือ ประกอบด้วยปัญญา แต่โดยชาติแล้วเป็นวิบากเหมือนกัน เพราะเหตุว่าไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนั้นไม่ได้ฝัน แต่ว่าถ้าขณะที่ฝัน ก็แล้วแต่ว่าฝันด้วยกุศลจิตหรือฝันด้วยอกุศลจิต ความฝันก็มีทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลใช่ไหม ถ้าฝันแล้วตกใจกลัว ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตที่ฝัน แต่ถ้าฝันแล้วจิตใจผ่องใสเป็นกุศล ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต ความต่างกันของสิ่งที่เราเรียกว่า ฝัน หรือไม่ฝัน ก็คือว่า ธรรมดาของภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิต ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และวิถีจิต คือ ขณะที่รู้อารมณ์โดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใด แต่ก็มีภวังคจิตคั่นแต่ละวาระที่รู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใด เช่นในขณะนี้ หลังจากที่จักขุทวารวิถีจิตดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น ก่อนที่จะมีวิถีจิตทางหูที่ได้ยินเสียง

    เพราะฉะนั้น ความต่างกันของฝันกับไม่ฝัน ก็คือว่าในขณะนี้ที่ภวังคจิตเกิด แต่ก็มีอารมณ์จริงๆ กระทบทางตา กระทบทางหู กระทบใจ ที่ทำให้ทางมโนทวารเกิดขึ้นนึกคิดเรื่องราวต่างๆ แต่ในขณะที่ฝัน เป็นเพราะการสะสมของสิ่งที่เคยเห็นบ้าง เคยได้ยินบ้าง เป็นสุข เป็นทุกข์กับสิ่งที่เคยเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ทำให้อารมณ์นั้นกระทบกับมโนทวาร คือ ภวังคุปัจเฉทะ แล้วมโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นนึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็เป็นความฝัน แต่ว่าเป็นช่วงระยะที่ต้องสั้นมาก

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฝันก็จะมีภวังค์เกิดคั่นกับวิถีจิต โดยที่ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจริงๆ กระทบ แต่ว่าในขณะที่ไม่ฝันจะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจริงๆ กระทบมากกว่า เพราะฉะนั้น เวลาตื่นขึ้นก็รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นความฝัน เพราะเหตุว่าไม่ใช่มีรูปกระทบตาจริงๆ ไม่ใช่มีเสียงกระทบหูจริงๆ ไม่ใช่มีกลิ่นกระทบจมูกจริงๆ ไม่ใช่มีรสกระทบลิ้นจริงๆ ไม่ใช่มีโผฏฐัพพะกระทบกายจริงๆ

    ผู้ฟัง เป็นกุศลหรืออกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกุศลจิต ก็ต้องมีสติเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ไม่เป็นบุญ เป็นบาป

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ เพราะคำว่าอกุศลกรรมบถก็ดี กุศลกรรมบถก็ดี คำว่า ปถ แปลว่า ทาง เพราะฉะนั้น เมื่ออกุศลนั้นถึงความเป็นทางที่จะไปสู่คติหนึ่งคติใด หรือทำให้วิบากจิตเกิด จึงจะครบองค์ แต่ในขณะที่ฝันนั้นไม่ครบองค์ เป็นอกุศลจิต หรือกุศลจิต

    ผู้ฟัง ตอนนอนหลับสนิท สติเกิดได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ตอนนอนหลับสนิทอย่างที่ได้เรียนให้ทราบ ตอนหลับสนิท ไม่ใช่วิถีจิต คือไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้อารมณ์ ถ้าขณะนั้นเป็นผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ก็ดี หรือมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ก็ดี ขณะนั้นต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เป็นชาติวิบาก เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลซึ่งไม่พิการแต่กำเนิด หรือว่าทำให้ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลที่มีปัญญาเจตสิกเกิดในขณะที่กำลังเป็นวิบาก เป็นพื้นฐานของจิตที่จะทำให้สามารถเจริญเติบโตขึ้น เพื่อได้มีโอกาสอบรมเจริญปัญญาต่อๆ ไป

    สติเกิดกับโสภณจิต แม้วิบากจิตซึ่งเป็นโสภณ เป็นมหาวิบากจิตก็เป็นกามาวจรโสภณจิต แต่โดยชาติ สติเป็นชาติวิบาก แต่สติเป็นสภาพธรรมที่ระลึก เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดขึ้นแม้โดยสภาพที่เป็นวิบากก็ระลึกในอารมณ์ของมหาวิบากนั้นเอง

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า พระองค์ก็บรรทมหลับ แต่หลับด้วยสติ โดยนัยนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงพร้อมที่จะลุกขึ้นด้วยสัมปชัญญะ ไม่เหมือนกับคนที่หลงลืมสติตื่น หลงลืมสติหลับ

    เพราะฉะนั้น อายตนะมีโทษมากเมื่อไม่รู้ แต่ว่ามีประโยชน์มากเมื่อสติเกิด ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ต่อไปนี้ก็คงจะสังเกตลักษณะของสภาพของสติที่ระลึกเป็นไปในกุศลในขณะนั้นๆ บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมทำอย่างนี้ เช่น เดินไปหยิบหนังสือพระไตรปิฎกมาอ่าน ที่แท้แล้วก็ไม่ใช่ใครเลย แต่ว่าเป็นสติทั้งนั้นที่เกิดขึ้นระลึก ก็ทำให้การกระทำทางกายเป็นไปในทางกุศล

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำการช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใด กระทำกิจในพระธรรมโดยการศึกษา โดยการอ่าน โดยการสนทนา โดยการเกื้อกูลบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ขณะนั้นเป็นสติทั้งนั้น ถ้าสติไม่เกิด การกระทำอย่างนั้นๆ ก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรม ถ้าพิจารณาแต่ละพยัญชนะโดยละเอียดจริงๆ ไม่ข้าม จะทำให้การอบรมเจริญปัญญาเป็นไปโดยถูกต้อง ไม่ผิดเลย เพราะฉะนั้น ที่มีท่านที่ถามว่า สติเกิดเมื่อไร และสติมีลักษณะอย่างไร และสติระลึกรู้อะไร เวลากระทบแข็งซึ่งเคยผ่านไปๆ โดยไม่ได้สังเกต แต่ขณะใดก็ตามที่แข็งแล้วสังเกต พิจารณา ศึกษาลักษณะของแข็งในขณะนั้น ว่าไม่ใช่สภาพที่รู้แข็ง ในขณะนั้น คือ สติที่ระลึกได้ ที่จะไม่ให้แข็งผ่านไปๆ ทั้งวันๆ ซึ่งจับนั่นกระทบนี่อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เช้า ตื่นมาหยิบอะไรบ้าง แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แข็งแล้วใช่ไหม แต่ว่าสติไม่ได้เกิด แต่ว่าเวลาที่สติเกิด ก็คือในขณะที่กระทบสัมผัส แล้วระลึกศึกษาลักษณะสภาพที่กำลังปรากฏทางกายบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง นั่นคือขณะที่สติเกิดตามปกติ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องพิจารณาให้ละเอียดและสอดคล้องตั้งแต่เบื้องต้นทีเดียว รูปใดที่เกิดปรากฏ แล้วสติไม่ระลึก รูปนั้นก็ดับไปแล้ว

    ถาม สติปัฏฐาน คำว่า ปัฏฐานนี้หมายความว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ที่ตั้ง สติปัฏฐาน คือ ที่ตั้งของสติ ที่สติระลึก สติกำลังระลึกที่ลักษณะใด ขณะนั้นก็เป็นปัฏฐาน คือ ที่ตั้งที่สติระลึกในขณะนั้น เพราะว่าสติเป็นสภาพที่ระลึก

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ สติปัฏฐานไม่ได้เกิดตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะหวัง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ