โสภณธรรม ครั้งที่ 014
ตอนที่ ๑๔
เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะหวัง อยากจะมีสติมากๆ หรือว่ามีสตินานๆ เพราะว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าคิดถึงเหตุผลตามความเป็นจริงที่เคยสะสมอวิชชา ความไม่รู้ และความหลงลืมสติมามาก เพียงแต่ให้ทราบว่า เมื่อมีปัจจัย สติเกิดขณะใด สติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ชั่วขณะสั้นๆ เท่านั้นเอง เพราะว่าสิ่งที่สติระลึกก็ดับและสติก็ดับ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าสติจะเกิดระลึกใหม่ ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมใด แล้วก็ดับไปทั้งรูปธรรมและนามธรรมในขณะนั้น
นี่ก็จะเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และรู้ตามความเป็นจริงว่า สติปัฏฐานไม่ได้เกิดตลอดเวลา แต่วันหนึ่งๆ มีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดหรือไม่เกิด ก็เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ เพราะเหตุว่าแม้ว่าสติปัฏฐานจะไม่เกิด สติในการฟังพระธรรมก็เกิด ในเมื่อมีสติในการฟังพระธรรม และพิจารณาพระธรรม ก็เป็นปัจจัยเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดในขณะใด ก็เป็นสติปัฏฐานในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ก็มีสติหลายขั้นในชีวิตประจำวัน
ข้อความในขุททกนิกาย อัฏฐกนิบาตชาดก อินทริยชาดก ข้อ ๑๑๗๕ กล่าวถึงลักษณะของผู้ที่มีสติในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเอ่ยคำว่า เป็นผู้มีสติ แต่ว่าไม่ว่าชีวิตของใครในวันไหนจะเป็นอย่างไร ผู้ที่เข้าใจเรื่องของสติปัฏฐานแล้ว สติปัฏฐานย่อมเกิดบ้างในวันหนึ่งๆ
ข้อความในอินทริยชาดก ข้อ ๑๑๗๕ มีว่า
ความขยันของคฤหบดีผู้อยู่ครองเรือน ดีชั้นหนึ่ง การแบ่งปันโภคทรัพย์ให้แก่สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม แล้วบริโภคด้วยตนเอง ดีชั้นสอง เมื่อได้ประโยชน์ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา ดีชั้นสาม เมื่อเวลาเสื่อมประโยชน์ไม่มีความลำบากใจ ดีชั้นสี่
นี่เป็นเรื่องของสติทั้งหมด ใช่ไหม ในชีวิตประจำวันจริงๆ บางคนอาจจะเป็นผู้ที่ขยัน เป็นคฤหบดีผู้ครองเรือนผู้ขยัน แต่ไม่ได้เจริญสติก็มี ใช่ไหม แต่ว่าผู้ขยัน ผู้เป็นคฤหบดี ผู้ครองเรือนแล้วเจริญสติปัฏฐานด้วยก็มี เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ว่าสติปัฏฐานจะแยกจากชีวิตประจำวัน แต่ให้ทราบว่าเรื่องของการอบรมเจริญกุศล ก็จะเจริญขึ้นในทุกๆ ด้าน แม้แต่ในเรื่องของความขยัน แม้แต่ในทางโลกยังไม่ขยัน ในทางธรรมจะขยันบ้างไหม หรือบางท่านอาจจะเป็นผู้ที่ขยันมากในทางธรรม แล้วก็ไม่ขยันเท่าไรในทางโลก ก็เป็นไปได้ อันนี้ก็ต้องแล้วแต่อัธยาศัยจริงๆ แต่จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงให้ผู้ที่เป็นพุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตเป็นผู้ที่ไม่กระทำกิจการงานใดๆ
เพราะแม้ชีวิตของบรรพชิตจะละอาคารบ้านเรือน จะสละหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คับแคบ ทำให้ไม่สะดวกในการเจริญกุศล เช่น บรรพชิตไม่ต้องบริโภคอาหารในเวลาวิกาล นี่ก็เป็นความสะดวกสบายอย่างมากทีเดียวแล้ว ใช่ไหม แต่ว่าบรรพชิตก็ยังต้องเป็นผู้ที่ขยันในการดูแลสถานที่อยู่ ในเรื่องของจีวร หรือว่าในเรื่องของการต้อนรับอาคันตุกะ เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต หรือคฤหัสถ์ การเป็นผู้ที่ดำรงชีวิตด้วยความขยันในทางที่ถูกต้อง และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ดีชั้นหนึ่ง
การแบ่งปันโภคทรัพย์ให้แก่สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้วบริโภคด้วยตนเอง ดีชั้นสอง นี่ก็ต้องเป็นสติที่ระลึกได้ ใช่ไหม ที่จะมีการเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ละคลายความเห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นในตัวตนลงได้ โดยการที่แบ่งปันโภคทรัพย์ให้แก่สมณพราหมณ์ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้วบริโภคด้วยตนเอง
เรื่องของพระศาสนาก็เป็นเรื่องที่เช่นเดียวกับสมณพราหมณ์ เพราะเหตุว่าสมณพราหมณ์ก็กระทำกิจของพระศาสนา เพราะฉะนั้น ถ้ามีผู้ที่แบ่งปันโภคทรัพย์ในการทะนุบำรุงพระศาสนา แล้วบริโภคด้วยตนเอง นี่ก็เป็นดีชั้นสอง
สติต้องเกิดใช่ไหม มิฉะนั้นกุศลก็เกิดไม่ได้
เมื่อได้ประโยชน์ ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา ดีชั้นสาม ต้องเจริญขึ้นอีก เวลาที่ได้ลาภ แล้วได้ทรัพย์สมบัติ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข เมื่อได้ประโยชน์ ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา
ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติหรือว่าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจความไม่แน่นอน ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมทุกอย่าง แม้แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแต่ละขณะ ก็ไม่มีใครที่สามารถรู้ได้ว่าจะเป็นอย่างไร เพียงวันนี้แข็งแรงดี พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ก็ย่อมเป็นได้ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น เมื่อได้ประโยชน์ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา
นี่ก็แสดงว่า ต้องเป็นลักษณะของสติ
เมื่อเวลาเสื่อมประโยชน์ ไม่มีความลำบากใจ ดีชั้นสี่ นี่ก็เป็นตัวของท่านเองที่จะพิจารณา เพราะว่าชีวิตของแต่ละวันทั้งชีวิตของท่านเอง ของญาติพี่น้อง ของเพื่อนสนิทมิตรสหาย ย่อมมีทั้งในขณะที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง และบางครั้งก็อาจจะทุกข์จนกระทั่งยากต่อการพิจารณาได้ว่า จะทำอย่างไร แต่ว่าสำหรับผู้ที่มีสติ เมื่อเวลาเสื่อมประโยชน์ ไม่มีความลำบากใจ เพราะทุกอย่าง ทุกขณะ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เป็นไปตามกรรม ซึ่งแต่ละคนสะสมมา ไม่ว่าจะเป็นขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก
หลายท่านทีเดียวได้อ่านพระไตรปิฎกซาบซึ้งในคำสุภาษิต ในพระพุทธพจน์ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ปัญญาจะต้องอบรมเจริญตามต่อไปอีก จนกว่าจะถึงการดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังนี้เป็นเครื่องเกื้อกูล เป็นเครื่องส่องทางให้รู้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่สามารถจะดับกิเลสได้ นอกจากปัญญา และปัญญาก็มีหลายระดับขั้น เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังเรื่องของผู้ที่สติเกิด แล้วก็สามารถที่จะเป็นอุบาสก อุบาสิกา ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรือว่าเป็นบรรพชิต ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่จะต้องเริ่มจากการฟัง และซาบซึ้งในเหตุในผลของพระธรรม แล้วก็อบรมเจริญปัญญาตามไป จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้
ผู้ที่เป็นปุถุชน มีโลภะทุกคน บางท่านก็เจริญสติ บางท่านก็ไม่ได้เจริญสติ ไม่ใช่ว่าให้ไปทำอะไรกับโลภะเลย เพียงแต่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นในขณะนั้นตามความเป็นจริง เพราะขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมก็ตาม ขณะนั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลาง เพราะเหตุว่าไม่มีการที่จะหันไปสู่อารมณ์อื่น หรือต้องการอารมณ์อื่นที่ยังมาไม่ถึง ไม่มีอภิชฌาที่ต้องการอารมณ์อื่น และไม่มีโทมนัสในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ
ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ สติจะเกิดพิจารณาความถูกต้องและความจริงของสภาพธรรม แม้ในทางโลกอย่างไรบ้าง เพราะว่าทุกคนยังอยู่ในโลก ยังพ้นโลกไปไม่ได้เลย ยังมีเพื่อนสนิทมิตรสหาย ยังมีการที่จะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ แต่ว่าจิตที่ระลึกเป็นไปแต่ละขณะในขณะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น หรือว่าพิจารณาความถูกต้อง ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นอย่างไร แม้แต่ในเรื่องของเพื่อน พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงข้อความที่จะทำให้ทุกท่านได้พิจารณาว่า สติเกิดระลึกเป็นไปในเรื่องของมิตรสหายในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง
ข้อความในขุททกนิกาย ทวาทสนิบาตชาดก มิตตามิตตชาดก ข้อ ๑๗๑๓ – ๑๗๒๔ มีข้อความว่า
บุรุษผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญา ได้เห็น และได้ฟังซึ่งบุคคลผู้ทำกรรมอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไร เพื่อจะรู้ได้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตร
เรื่องของมิตรเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเหตุว่าการคบสมาคมกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด อาจจะนำความเจริญอย่างมากมาให้ หรือว่าอาจจะนำความเสื่อมอย่างมากมาให้ ซึ่งความเสื่อมอย่างมาก คือ ความเสื่อมโดยเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติในธรรม ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลผู้มิใช่มิตรเห็นเพื่อนๆ แล้ว ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ร่าเริงต้อนรับเพื่อน ไม่แลดูเพื่อน กล่าวคำย้อนเพื่อน
เพียงแค่นี้ก็เตือนสติได้แล้ว ใช่ไหม ถ้าขณะใดที่นึกย้อน หรือพูดย้อนเพียงนิดเดียวนั้นไม่ใช่เพื่อน เพราะฉะนั้น ท่านที่จะเป็นเพื่อนของใคร หรือว่าใครจะเป็นเพื่อนกับใคร ก็สามารถจะพิจารณาสภาพของจิตในขณะนั้นได้จริงๆ ว่า ลักษณะของผู้ที่เป็นมิตร และไม่ใช่มิตรนั้น ต่างกันอย่างไร
บุคคลผู้มิใช่มิตร คบหาศัตรูของเพื่อน ไม่คบหามิตรของเพื่อน ห้ามผู้ที่กล่าวสรรเสริญเพื่อน สรรเสริญผู้ที่ด่าเพื่อน
ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็มีท่านพระเทวทัต แล้วยังมีพระภิกษุซึ่งมีความเห็นผิด มีการปฏิบัติผิดอีกหลายท่าน
บุคคลผู้มิใช่มิตร ไม่บอกความลับแก่เพื่อน ไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน ไม่สรรเสริญการงานของเพื่อน ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน.
เป็นเรื่องสติหรือเปล่า นี่คือชีวิตจริงๆ ที่จะรู้ว่าสติเกิดในขณะใด แล้วสติไม่เกิดในขณะใด บางสิ่งบางอย่าง เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เลยที่จะกล่าวถึง เพราะเหตุว่าทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดอกุศลจิต ถ้าไม่พูดก็จะดีกว่า ถ้าพิจารณาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แล้วไม่พูด หรือว่าในเรื่องเดียวกันแต่ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วพูด หมายความว่าต้องพิจารณาก่อน ในขณะนั้นเป็นสติ เพราะฉะนั้น แม้ในชีวิตประจำวัน ก็จะเห็นได้ว่า ขณะใดเป็นกุศลและขณะใดเป็นอกุศล
บุคคลผู้มิใช่มิตร ยินดีในความพินาศของเพื่อน ไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน ได้อาหารที่ดีมีรสอร่อยมาแล้ว ก็มิได้นึกถึงเพื่อน ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอ เพื่อนของเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง
บุคคลผู้มิใช่มิตร ยินดีในความพินาศของเพื่อน
เพื่อนหรือไม่ใช่เพื่อนก็ตาม ถ้ายินดีในความพินาศของใคร ในขณะนั้นสติก็ควรจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตได้แล้ว แต่ถ้าสติไม่เกิด ลองพิจารณาจิตในขณะที่อ่านหนังสือพิมพ์ เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เลยว่าสติเกิดหรือไม่เกิดในขณะใด เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือไม่เป็นเพื่อนก็ตาม ถ้ายินดีในความพินาศของเพื่อน หรือบุคคลใดก็ตาม ในขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต และถ้าไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน ก็เป็นอกุศลจิต ได้อาหารที่มีรสอร่อยมาแล้ว ก็มิได้นึกถึงเพื่อน ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอ เพื่อนของเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง
บัณฑิตได้เห็นและได้ฟังแล้ว พึงรู้ว่า ไม่ใช่มิตรด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา ๑๖ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้มิใช่มิตร
วิธีที่จะทราบว่า ท่านเป็นมิตรของใคร และไม่ใช่มิตรของใคร ก็คงพอที่จะรู้ได้จากจิตที่เกิดขึ้น ตามเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
บัณฑิตมีปัญญา ได้เห็น และได้ฟังบุคคลผู้กระทำกรรมอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไร เพื่อจะรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร คือ
บุคคลผู้เป็นมิตรนั้นย่อมระลึกถึงเพื่อนผู้อยู่ห่างไกล ย่อมยินดีต้อนรับเพื่อนผู้มาหา ถือว่าเป็นเพื่อนของเราจริง รักใคร่จริง ทักทายปราศรัยด้วยวาจาอันไพเราะ
คนที่เป็นมิตร ย่อมคบหาผู้ที่เป็นมิตรของเพื่อน ไม่คบหาผู้ที่ไม่ใช่มิตรของเพื่อน ห้ามปรามผู้ที่ด่าติเตียนเพื่อน สรรเสริญผู้ที่พรรณนาคุณความดีของเพื่อน
ถ้าท่านผู้ฟังรู้สึกว่าอยากจะเจริญแต่เมตตา ใช่ไหม อยากจะมีเมตตามากๆ แต่เวลาพูดถึงเพื่อน เกี่ยวข้องกับเรื่องเมตตาหรือเปล่า เพราะเหตุว่า เมตตา คือ ความเป็นมิตรอย่างจริงใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการที่จะแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่าท่านคิดว่าท่านจะเจริญเมตตาโดยขาดการพิจารณาบุคคลที่เป็นเพื่อนของท่านในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่การเป็นเพื่อนของท่านต่อบุคคลอื่นจริงๆ
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นเพื่อนแท้ของบุคคลใด ก็แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาต่อบุคคลนั้น และก็จะรู้ได้ว่า ถ้าหวังร้ายต่อใคร หรือว่ายินดีในความพินาศของใคร ขณะใด ขณะนั้นท่านไม่ได้เจริญเมตตา ไม่ต้องไปแผ่ถึงไกลมาก เพียงแต่ผู้ที่ท่านรู้จักคุ้นเคย แล้วท่านเกิดความไม่พอใจในความเจริญของบุคคลนั้น หรือว่ายินดีในความพินาศของบุคคลนั้น ก็ชื่อว่าท่านไม่ได้เจริญเมตตาในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด จะส่องไปถึงสภาพของธรรม แม้แต่ส่วนที่ท่านคิดว่า ท่านต้องการเจริญ เช่นเมตตา แต่ท่านไม่อยากจะฟังเรื่องของเพื่อน ก็แสดงว่าท่านจะรู้จักตัวของท่านได้อย่างไร ว่ามีเมตตาจริงๆ หรือเปล่า
ข้อความต่อไปมีว่า
คนที่เป็นมิตร ย่อมบอกความลับแก่เพื่อน ปิดความลับของเพื่อน สรรเสริญการงานของเพื่อน สรรเสริญปัญญาของเพื่อน
คนที่เป็นมิตร ย่อมยินดีในความเจริญของเพื่อน ไม่ยินดีในความเสื่อมของเพื่อน ได้อาหารมีรสอร่อยมา ย่อมระลึกถึงเพื่อน ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอ เพื่อนของเราจะพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง
บัณฑิตได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว พึงรู้ว่า เป็นมิตรด้วยอาการเหล่าใดอาการดังกล่าวมา ๑๖ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้เป็นมิตร
จบ มิตตามิตตชาดกที่ ๑๐
ไม่เคยคิดที่จะนับ ๑๖ ประการ เพื่อที่จะทดสอบความเป็นเพื่อน ใช่ไหม ก็ไม่จำเป็น แต่ว่าเวลามีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น หรือระลึกถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็พิจารณาจิตว่าขณะนั้นเป็นไปด้วยความเป็นมิตร ด้วยความเมตตาหรือไม่ หรือว่าต่อไปนี้จะต้องรีบไปบอกความลับเพื่อนให้ทราบทุกอย่าง นั่นก็ไม่ถูกอีก คือเรื่องของสติ เป็นเรื่องที่จะต้องเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ในทางที่สมควร เพราะข้อความในชาดกตอนหนึ่งมีว่า
ไม่ควรให้มิตรโง่รู้ความลับ
อะไรก็ตามที่จะเป็นเหตุให้อกุศลจิตเจริญมากมายจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง จากอีกบุคคลหนึ่ง ต่อๆ ไปอีกบุคคลหนึ่ง ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่จำเป็น ส่วนในเรื่องของความลับที่จะพิสูจน์ว่าเป็นเพื่อนหรือไม่ ก็คือว่าเมื่อสามารถที่จะเกื้อกูลได้ ช่วยเหลือได้ ก็ควรที่จะบอก แต่ไม่ใช่ไปบอกให้บุคคลอื่นเกิดความเป็นห่วง ความทุกข์ร้อน หรือว่าความกังวลใจ
นี่ก็เป็นเรื่องของสติจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าท่านจะพูด หรือท่านจะทำอะไร แม้แต่ในเรื่องที่ท่านคิดว่าเป็นความลับ ก็จะต้องมีสติที่จะรู้ว่าบอกเพื่ออะไร และไม่บอกเพื่ออะไร
สำหรับท่านที่เห็นประโยชน์ของสติ และรู้ว่าสติที่เจริญสมบูรณ์ถึงขั้น คือ ขั้นสติปัฏฐาน สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ก็ไม่ใช่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้เข้าใจว่า อะไรเป็นอาหารของสติ เพราะว่าทุกอย่างที่จะเจริญขึ้น ก็จะต้องมีอาหาร
ข้อความในอังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์ อวิชชาสูตร ข้อความบางตอน มีว่า
ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า สุจริต ๓
เพื่อที่จะไม่ให้ขาดสติ และประพฤติทุจริต เพราะเหตุว่าถ้ากิเลสยังมีกำลังแรง เป็นผู้ที่กระทำทุจริตอยู่เสมอ และหวังที่จะให้สติปัฏฐานเกิด ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะสติปัฏฐานเป็นสติขั้นที่สูงกว่า สติทั่วๆ ไป
ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์ ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือ การพิจารณาโดยแยบคาย ก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่าศรัทธา ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังธรรม ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังธรรม ควรกล่าวว่าการคบสัปบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ
ต้องค่อยๆ เจริญไป อบรมไปเรื่อยๆ และจะค่อยๆ สังเกตรู้ลักษณะของสติในขณะที่กุศลจิตเกิด
ปกติในชีวิตประจำวัน เป็นผู้ที่หลงลืมสติ แต่แม้กระนั้นบางท่านก็ไม่ทราบ คือไม่รู้สึกตัวว่า ตัวเองเป็นผู้ที่หลงลืมสติ นอกจากอาการที่หลงลืมสตินั้นจะปรากฏ และได้ฟังพระธรรมที่กล่าวถึงเรื่องของการหลงลืม ก็จะทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า ในขณะไหนบ้างซึ่งท่านเป็นผู้ที่หลงลืมสติ ลักษณะอาการของความเป็นผู้หลงลืมสติบางประการที่ได้ทรงแสดงไว้ ก็จะทำให้ระลึกได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่หลงลืมสติในอาการอย่างไรบ้าง
ข้อความในอรรถสาลินี นิกเขปกัณฑ์ พระบาลีแสดงนิทเทสมุฏฐสัจจทุกะ เตือนให้รู้ว่าเป็นผู้ที่หลงลืมสติในขั้นไหน ข้อ ๑๓๕๖ มีข้อความว่า
จะวินิจฉัยในนิทเทสแห่งมุฏฐสัจจ คือ สภาพอาการหลงลืมสติต่อไป
คำว่า อสติ คือ ความระลึกไม่ได้ ได้แก่ ขันธ์ ๔ อันเว้นจากสติ
นี่ก็ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่สติเจตสิกไม่ได้เกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็คือ อสติ ความระลึกไม่ได้ในทางที่เป็นกุศล
อนนุสฺสติ ความไม่ตามระลึก
ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ทางตา สติปัฏฐานไม่ได้เกิดขึ้นตามระลึกรู้ลักษณะของเห็นที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน สติปัฏฐานไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้ตามระลึกลักษณะสภาพที่ได้ยิน และเสียงที่กำลังปรากฏขณะใด ขณะนั้นก็เป็นอนนุสฺสติ ความไม่ตามระลึก
อปฺปฏิสฺสติ ความไม่หวนระลึก
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แล้วก็ไม่พิจารณาให้ได้เหตุผล ให้ได้ความถูกต้อง ให้ได้สิ่งที่ควรจะแก้ไข เพราะเหตุว่าทุกคนนี้จะทำถูกไปหมดตลอดไม่ได้ จะต้องมีการกระทำที่อาจจะผิดพลาดพลั้งเผลอ หรือว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะฉะนั้น ถ้าขาดการพิจารณาสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ที่ได้กระทำแล้ว ก็ย่อมจะยังคงทำสิ่งซึ่งกระทำไป ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่อๆ ไป
เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นไม่ได้พิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อที่จะแก้ไข ขณะนั้นก็เป็น อปฺปฏิสฺสติ
อสรณตา แปลว่า อาการที่ระลึกไม่ได้
ลืมสนิทเลย เคยมีไหม บางท่านก็จำไม่ได้ว่าฟังอะไรบ้างแล้ว นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของการหลงลืมสติก็มีมาก โดยอาการต่างๆ
อธารณตา ความไม่ทรงจำ ได้แก่ ไม่อาจเพื่อจะทรงจำ เพราะบุคคลผู้ประกอบด้วยความไม่ทรงจำนั้นถึงตั้งใจจำก็ไม่อาจรักษาไว้ คือคนที่ประกอบด้วยความไม่ทรงจำ ได้แก่คนที่จำไม่เก่ง หรือว่าจำไม่แม่นยำ ก็ย่อมจะเก็บไม่ได้ คือจำไม่ได้ ไม่อาจที่จะเก็บไว้ได้ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เป็นปกติสำหรับคนยุคนี้สมัยนี้ ได้ยินมากเรื่อง จำได้หมดไหม หรือจำความละเอียดของเรื่องที่ได้ฟังและได้เข้าใจไหม
นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงว่า ความไม่ทรงจำ คือ อธารณตา ได้แก่อาการที่ไม่สามารถจะทรงจำได้ คนที่จำไม่เก่ง จะรู้สึกตัวได้ว่าเป็นอย่างนี้ แต่บางท่านนี่จำเก่ง ใครพูดอะไร แล้วเขาตอบว่าอย่างไร เขาสามารถที่จะกล่าวทวนไปได้ว่า คนนั้นพูดว่าอย่างนั้น แล้วเขาตอบว่าอย่างนั้น นั่นก็เป็นเรื่องของผู้ที่สามารถที่จะทรงจำได้
ปิลาปนตา ความเลื่อนลอย นี่คือลักษณะของการหลงลืมสติ ด้วยอรรถว่า เลื่อนลอยไปตามอารมณ์
ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ว่าอารมณ์ที่จะปรากฏเป็นอารมณ์ที่น่าเพลิดเพลิน เห็นสิ่งใดสวยงาม ก็พอใจ ชื่นชมยินดี เลื่อนลอยไปในอารมณ์ หรือว่าเห็นสิ่งที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ไม่น่าพอใจ ก็เกิดความขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นก็เลื่อนลอยไปในอารมณ์ ท่านอุปมาว่า เหมือนกระโหลกน้ำเต้าลอยไปในน้ำฉะนั้น
นี่คือทุกขณะที่ลอยไปตามอารมณ์ที่กระทบ
สัมมุสนตา ความหลงลืม ได้แก่ ความเป็นผู้มีสติหายไปและหลงไป
ซึ่งก็คงจะเป็นไปตามไปด้วย สำหรับท่านที่สูงอายุ มีข้ออุปมาว่า
บุคคลผู้ประกอบด้วยความหลงลืมนั้น ย่อมเป็นดุจกาที่ทิ้งก้อนข้าว และเป็นดุจสุนัขจิ้งจอกที่ทิ้งก้อนเนื้อไว้ ฉะนั้น
คือจำไม่ได้ว่า อะไรอยู่ที่ไหน ซึ่งบางคนยังไม่ถึงกับสูงวัย เดี๋ยวนี้ก็ชักจะเป็นผู้ที่หลงลืม นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการขาดสติ เวลาที่สติเจตสิกไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งสภาพธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งที่ควรที่สติจะระลึกได้ มีอยู่ตลอดเวลา
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050