โสภณธรรม ครั้งที่ 015
ตอนที่ ๑๕
มีอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าจะพิจารณาแล้วจะทำให้เกิดความสลดใจ คือ สังเวคะ ได้แก่ความรู้สึกที่เห็นว่า สภาพธรรมนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยินดี เพลิดเพลิน พอใจ
ข้อความในอรรถสาลินี นิกเขปกัณฑ์ พระบาลีนิทเทส สังเวคทุกะ มีข้อความว่า
ฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ
พอที่จะหาได้ไม่ยาก ใช่ไหม ชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ พยาธิ ความเจ็บไข้ได้ป่วย มรณะ ความตาย ควรที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสังเวคะ คือ ความสลดใจ เพราะเหตุว่าชาติเกิดขึ้นขณะใด พิจารณาได้เลย ย่อมนำมาซึ่งชรา ใครซึ่งเกิดมาแล้ว หรือวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดมาแล้ว ที่จะไม่เก่าคร่ำคร่า ไม่ชราลง เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย
นี่คือความไม่เที่ยง ขณะที่สิ่งนั้นยังไม่เก่าคร่ำคร่า ก็น่าดู น่าพอใจ แต่เมื่อถึงกาลถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็จะต้องถึงในวันหนึ่ง คือ ความชรา ความไม่สะดวกกายไม่สบายกายทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่พึงปรารถนา ไม่เป็นที่น่ายินดี แต่ว่าถ้าไม่มีชาติ ความเกิด ชรา พยาธิ มรณะ ก็ย่อมมีไม่ได้ ซึ่งทุกคนที่เกิดมาแล้วก็ต่างวัย แต่ว่าถ้าใครมีสติปัญญาที่จะพิจารณาเสียตั้งแต่ยังไม่ชรา หรือว่ายังไม่มีโรค ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่มีใครที่สามารถจะพ้นไปได้เลย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ย่อมเกิดความพยายามที่จะทำให้ถึงการพ้นจากชาติ ชรา พยาธิ และมรณะ แม้ว่าเป็นสิ่งซึ่งยากที่จะถึงค่ะ แต่ก็มีทางที่จะถึงได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญาขึ้นเรื่อยๆ
ข้อความต่อไปมีว่า
บทว่า ความพยายามโดยแยบคายของบุคคลผู้มีใจสลดแล้ว คือ เป็นผู้ที่เห็นโทษภัยของชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ผู้นั้นย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิตไว้ ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น
ที่จะไม่ให้มีอะไรเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อมีปัจจัยก็ต้องเกิด แต่เมื่อเห็นโทษแล้ว ก็เป็นผู้ที่ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม บาปธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น
เพื่อละอกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่บังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่จืดจาง เพื่อความเพิ่มพูน เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว
นี่คือผู้ที่ไม่ประมาท คือ ผู้ที่มีสติ และก็ในการที่จะไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นก็ดี เพื่อละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดี เพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมก็ดี เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไพบูลย์เจริญขึ้นของกุศลธรรมก็ดี จะเป็นไปได้ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งทุกท่านก็ย่อมจะเห็นประโยชน์ของสติว่า แม้แต่การที่จะเห็นภัย เห็นโทษของชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ขณะนั้นก็ต้องเป็นสติที่ระลึกได้
ข้อความต่อไปมีว่า
ความเป็นผู้กระทำโดยเคารพ เพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
นี่คือทุกท่านซึ่งจะเจริญขึ้นในธรรม ต้องเป็นผู้ที่เคารพ หรือว่ากระทำโดยความเคารพเพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
คือ ความเป็นผู้กระทำติดต่อ เนืองๆ ไม่ขาดตอน ความเป็นผู้กระทำไม่หยุด คือ ไม่หยุดกระทำ
บางท่านอาจจะเป็นพักๆ บางพักก็กระทำ แล้วบางพักก็หยุด ไม่กระทำ
ความเป็นผู้ประพฤติไม่ย่อหย่อน ความเป็นผู้ไม่ทิ้งฉันทะ คือยังคงพอใจที่จะกระทำต่อไป ความเป็นผู้ไม่ทอดธุระ คือ ไม่ละความเพียรในกุศล
นี่คือผู้ที่กระทำโดยความเคารพ เพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
ชีวิตประจำวันที่จะสังเกตได้ว่า สติจะเกิดเพิ่มขึ้น คือ เมื่อเห็นคุณ เห็นประโยชน์ของสติทุกขั้นในชีวิตประจำวัน แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นในเรื่องความซื่อสัตย์ ความเป็นผู้ตรง คือ ไม่เข้าข้างตัวเอง แม้แต่อกุศลธรรมของตนเอง ก็เห็นว่าเป็นอกุศลธรรม เพื่อที่จะได้ละ
ความกตัญญูกตเวที ความนอบน้อม ความรู้การควรไม่ควร ทางกาย ทางวาจา หรือในขณะที่เกิดความไม่โกรธ การอภัย ความมีเมตตากรุณา ต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นการแสดงถึงลักษณะของสติที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งแม้ว่าจะไม่เห็นลักษณะของศรัทธาที่เกิดร่วมกับสติในขณะที่กุศลจิตเกิด แต่ในขณะที่เกิดการระลึก ตรึก เป็นไปในเรื่องการละทุจริต และในเรื่องของกุศลต่างๆ ขณะนั้นก็จะเห็นลักษณะของสติได้
สำหรับประโยชน์ของสติ ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปฐมอัปปมาทสูตรที่ ๗ ข้อ ๓๗๘
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้และประโยชน์ภพหน้า มีอยู่”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้และประโยชน์ภพหน้า คืออะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งูประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้และประโยชน์ภพหน้า คือ ความไม่ประมาท
ดูกรมหาบพิตร รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่สัญจรไปบนแผ่นดินชนิดใดชนิดหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงการรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างย่อมกล่าวกันว่า เป็นเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นของใหญ่ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ดูกรมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้และประโยชน์ภพหน้า คือ ความไม่ประมาท ก็มีอุปไมยฉันนั้น”
[๓๘๐] พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้ จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
บุคคลปรารถนาอยู่ซึ่งอายุ ความไม่มีโรค วรรณะ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูง และความยินดีอันโอฬารต่อๆ ไป พึงบำเพ็ญความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้และประโยชน์ภพหน้า เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ผู้มีปัญญาจึงได้นามว่า "บัณฑิต"
นี่เป็นพระธรรมจากพระโอษฐ์ ดูเหมือนจะเป็นข้อความธรรมดาๆ แต่ก็เตือนให้ผู้ฟังระลึกว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์ทั้งภพนี้และภพหน้าเท่ากับความไม่ประมาทในกุศลธรรม ในบุญกิริยาทั้งหลาย ซึ่งความไม่ประมาทนั้นก็เป็นธรรมที่เกื้อหนุนให้ทำบุญต่างๆ ถึงแม้ว่าบุญทั้งหลายที่ยังกระทำเป็นโลกียะอยู่ คือ เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ยังนับว่าเลิศอยู่นั่นเอง เพราะเหตุว่าเป็นเหตุให้ได้ธรรมที่เป็นกุศลระดับขั้นสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในการเจริญสมถภาวนา หรือการเจริญวิปัสสนาภาวนา ถ้าไม่มีสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ย่อมจะไม่ถึงโลกุตตรกุศล
สำหรับผู้ที่เข้าใจพระธรรม และมีชีวิตแวดล้อมอยู่กับพระธรรม ด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณา ด้วยการน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ย่อมเป็นไปตามลำดับขั้นของปัญญาของแต่ละท่าน
ข้อความในขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โสฬสมาณวกปัญหานิทเทส ท่านผู้ฟังจะได้เห็นผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นผู้ที่ไม่อยู่ปราศจากพระผู้มีพระภาค ข้อความในขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โสฬสมาณวกปัญหานิคมนิทเทส มีข้อความว่า
เมื่อพราหมณ์พาวรีได้ถามท่านพระปิงคิยเถระผู้เป็นหลานของท่าน เมื่อกลับมาหลังจากที่ได้เฝ้าทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคและได้บรรลุอรหัตแล้ว ท่านถามว่า
ดูกรปิงคิยะ ท่านอยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้น ซึ่งมีพระปัญญาเป็นเครื่องปรากฏ มีพระปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน แม้ครู่หนึ่งหรือหนอ
ทุกคนมีชีวิตอยู่ แล้วแต่ว่าจะอยู่อย่างไร อยู่ใกล้ชิดใคร ท่านพระปิงคิยเถระกล่าวตอบว่า
ท่านพราหมณ์ อาตมามิได้อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้โคดม ซึ่งมีพระปัญญาเป็นเครื่องปรากฏ มีพระปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน แม้ครู่หนึ่ง
ท่านกล่าวต่อไปว่า
ท่านพราหมณ์ อาตมาย่อมเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยจักษุ อาตมาเป็นผู้ไม่ประมาทตลอดคืนและวัน นมัสการอยู่ตลอดคืนและวัน อาตมาย่อมสำคัญ การไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้านั้นนั่นแล
ซึ่งคำอธิบายในข้อ ๖๒๗ มีว่า
คำว่า นมัสการอยู่ ในอุเทศว่า นมสฺสมาโน วิวสามิ รตฺตึ ดังนี้ ความว่านมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยจิตบ้าง ด้วยการปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์บ้าง ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมบ้าง ย่อมอยู่ คือ ยับยั้งอยู่ตลอดคืนและวัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นมัสการอยู่ตลอดคืนและวัน
สำหรับผู้ที่เจริญพุทธานุสติ คือ ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอยู่เสมอ หรือว่าระลึกถึงคุณของพระธรรม หรือแม้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เตือนให้ระลึกถึงพระธรรมได้ โดยการที่ระลึกได้ถึงพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เหมือนกับจะกล่าวเป็นข้อความได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้สหายธรรมของท่านฟัง เวลาที่ท่านเห็นจิ้งจกเกาะอยู่ที่เพดาน แล้วก็ตกลงมา เข้าไปในปากแมวพอดี ซึ่งก็เป็นการเห็นวิบากกรรมที่ทำให้ระลึกได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิด ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น จิ้งจกจะรู้ไหมคะว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า แต่กรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่กระทำกิจของพระศาสนา มีการใฝ่ใจในพระธรรม บางท่านก็ถอดเทป หรือว่าพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวกับธรรม เพื่อแจกจ่ายให้มิตรสหายของท่านได้มีโอกาสอ่าน ได้มีโอกาสได้ศึกษาธรรม บางทีท่านอาจจะไม่ทราบว่า ขณะนั้นมีอะไรเป็นวัตถุ เป็นที่ตั้งของศรัทธาของท่าน ที่ทำให้ท่านกระทำอย่างนั้น โดยที่ว่าเป็นการสะสมของเหตุปัจจัย ซึ่งมีการกระทำอย่างนั้นเป็นประจำ แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมโดยละเอียดแล้ว ก็ย่อมทราบว่า ในขณะนั้นท่านมีพระธรรมเป็นวัตถุที่ตั้งของศรัทธา คือ การที่จะใคร่เข้าใจ การที่จะได้ปฏิบัติตามพระธรรม เป็นปัจจัยที่ทำให้ขวนขวาย พากเพียรเจริญกุศลในการที่จะกระทำกิจของพระศาสนาด้วยการถอดเทป ด้วยการฟังธรรม ด้วยการพิมพ์ธรรมต่างๆ
ส่วนใหญ่ของผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม ถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว อยู่ไม่ห่างจากพระรัตนตรัย เพียงแต่ว่าจะระลึกได้เป็นไปในกุศลมากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุว่าแม้แต่ในขณะที่อกุศลจิตเกิด สติปัฏฐานก็ยังเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลในขณะนั้นได้ นั่นก็คือการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ข้อความต่อไปมีว่า
ความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ ความกำหนดคือการพิจารณา ความเลื่อมใสยิ่ง ศรัทธา สัทธินทรีย์ ศรัทธาพละ ที่ปรารภถึงพระผู้มีพระภาค ชื่อว่าศรัทธา ในอุเทศว่า สทฺธา จ ปีติ จ มโนสติ จ ดังนี้
ความอิ่มใจ ความปราโมทย์ ความเบิกบานใจ ความยินดี ความปลื้มใจ ความเป็นผู้มีอารมณ์สูง ความเป็นผู้มีใจดี ความที่จิตผ่องใสยิ่ง ปรารภถึงพระผู้มีพระภาค ชื่อว่า ปีติ
จิต ใจ มนัส หทัย จิตขาว มโน มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุอันเกิดแต่วิญญาณขันธ์ ปรารภถึงพระผู้มีพระภาค ชื่อว่า มโน
ความระลึก ความระลึกชอบ ปรารภถึงพระผู้มีพระภาค ชื่อว่า สติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ศรัทธา ปีติ มนะและสติ
นี่ก็เป็นในขณะที่จิตผ่องใส เบิกบานเวลาที่ระลึกถึงพระรัตนตรัย คือ พระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์
ข้อความต่อไปมีว่า
คำว่า ธรรมเหล่านี้ ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดม ความว่า ธรรม ๔ประการนี้ย่อมไม่หายไป ไม่ปราศไป ไม่ละไป ไม่พินาศไปจากศาสนาของพระโคดม คือ จากศาสนาของพระพุทธเจ้า ศาสนาพระชินเจ้า ศาสนาของพระตถาคต ศาสนาของพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ธรรมเหล่านี้ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดม
ตราบใดที่ยังมีการศึกษาพระธรรมของพระผู้มีพระภาคโดยละเอียด ตราบนั้นศรัทธา ปีติ มนะ และสติย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระผู้มีพระภาค เพราะว่าศาสนาของพระผู้มีพระภาคเป็นสัจจธรรม เป็นธรรมที่แสดงเรื่องของสิ่งที่มีจริง ที่ปรากฏ ที่พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีการศึกษา พิจารณา เข้าใจโดยละเอียด และประพฤติปฏิบัติตามจนเกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น ศรัทธา ปีติ มนะ และสติย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระผู้มีพระภาค
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งที่สำคัญในการศึกษาพระธรรม
ผู้ฟัง ธรรม ๔ ประการที่ว่าจะไม่หายไปจากศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอยู่ข้อหนึ่ง คือ มนะ ผมฟังทีแรกว่าเป็น มานะ มนะในที่นี้หมายถึงอะไร
ท่านอาจารย์ ใจ ใจที่ประกอบด้วยศรัทธาและสติ
ผู้ฟัง มีปีติ ศรัทธา และมนะ มนะในที่นี้หมายถึงใจที่เป็นกุศล
ผู้ฟัง อาจารย์เคยตอบผมไว้ และผมมาบ้างไม่มาบ้าง พระอรหันต์นี้ท่านมีสติทุกขณะจิตไหม
ท่านอาจารย์ อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง ก็หมายความว่าไม่มีอยู่ทุกขณะจิต
ท่านอาจารย์ ถ้าจะกล่าวว่าทุกขณะจิต ก็หมายความว่าต้องเว้น ใช้คำว่า เว้น อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น สำหรับคนทั่วๆ ไป จะกล่าวว่าพระอรหันต์มีสติทุกขณะ เพราะว่าปุถุชนไม่ได้เป็นอย่างพระอรหันต์ แต่คำว่าทุกขณะในที่นี้ สำหรับท่านผู้รู้ ท่านที่ศึกษาแล้ว ก็เว้นไปในตัว คือ เว้นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง
ดิฉันได้รับความกรุณาจากท่านผู้ฟังที่มีความรู้ในทางภาษาบาลี คือ อาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์ ซึ่งเป็นผู้แปลอรรถกถาของพระไตรปิฎก ท่านได้กรุณาตรวจสอบพยัญชนะในเรื่องของอาการของสติ ๑๗ อย่าง ซึ่งท่านได้กรุณาให้คำแปลไว้ด้วย ซึ่งก็ขอเรียนให้ท่านผู้ฟังได้ทราบ คือ ทางเกิดของสติ ๑๗ คือ
๑. อภิชานโต สติ สติเกิดทางความรู้ยิ่ง (จำแม่นยำ)
๒. กุฎุมฺพิกาย สติ สติเกิดทางเก็บรวบรวมไว้ (ต้องจดบันทึกจึงจำได้)
๓. โอฬาริกวิญญาณโต สติ สติเกิดทางวิญญาณที่ใหญ่ (มีความรู้ของกษัตริย์ เป็นต้น)
๔. หิตวิญญาณโต สติ สติเกิดทางวิญญาณที่มีสิ่งเกื้อกูล (ไม่ลืมความหลัง)
๕. อหิตวิญญาณโต สติ สติเกิดทางวิญญาณที่ไม่มีสิ่งเกื้อกูล (นึกถึงทุกข์ได้)
๖. สภาคนิมิตฺตโต สติ สติเกิดทางสภาคนิมิต (นึกถึงอารมณ์ที่เห็นสิ่งอื่นคล้ายกันได้)
๗.วิสภาคนิมิตฺตโต สติ สติเกิดทางวิสภาวนิมิต (นึกถึงอารมณ์ที่เคยถูกต้องมาแล้วได้)
๘. กถาภิญญาณโต สติ สติเกิดทางได้รับบอกเล่า (นึกได้เมื่อผู้อื่นบอก)
๙. ลกฺขณโต สติ สติเกิดทางเครื่องหมาย (นึกได้เมื่อเห็นเครื่องหมาย)
๑๐. สรณโต สติ สติเกิดทางถูกเตือน (นึกได้เพราะคนอื่นบอกให้คิด)
๑๑. มุทฺธโต สติ สติเกิดทางหัวข้อ (นึกได้เมื่อเห็นหัวข้อ)
๑๒. คณนาโต สติ สติเกิดทางคำนวณ (นึกได้เมื่อต้องนับ)
๑๓. ธารณโต สติ สติเกิดทางทรงจำไว้
๑๔. ภาวนาโต สติ สติเกิดทางภาวนา
๑๕. โปตฺถกนิพนฺธนโต สติ สติเกิดทางดูตำรา (นึกได้เมื่อเปิดตำรา)
๑๖. อุปนิกฺเขปนโต สติ สติเกิดทางการที่เขาเก็บไว้ (นึกได้ต่อเมื่อเห็นของตั้งอยู่)
๑๗. อนุภูตโต สติ สติเกิดทางเคยชิน (นึกถึงสิ่งที่เคยกระทบมาแล้ว)
นี่เป็นข้อความจากมิลินทปัญหา และท่านก็ได้ตรวจสอบกับที่อื่นด้วย สติเกิดด้วยอาการ ๑๗ คือ
(๑) สติเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกอันยิ่งใหญ่
(๒) สติเกิดขึ้นเพราะทรัพย์
(๓) สติเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกอันโอฬาร
(๔) สติเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกนึกถึงความสุขที่เคยประสบมาแล้ว
(๕) สติเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกนึกถึงความทุกข์ที่เคยประสบมาแล้ว
(๖) สติเกิดขึ้นเพราะนิมิต คือ เหตุการณ์ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับของตน
(๗) สติเกิดขึ้นเพราะนิมิต คือ เหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามกับของตน
(๘) สติเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกนึกตามถ้อยคำของคนอื่น
(๙) สติเกิดขึ้นเพราะเครื่องหมาย (ถือจำเครื่องหมายที่ตนทำไว้ได้)
(๑๐สติเกิดขึ้นเพราะความระลึกได้
(๑๑) สติเกิดขึ้นเพราะการจำได้
(๑๒) สติเกิดขึ้นเพราะการนับ
(๑๓) สติเกิดขึ้นเพราะการทรงจำไว้
(๑๔) สติเกิดขึ้นเพราะการอบรม (สั่งสม)
(๑๕) สติเกิดขึ้นเพราะการบันทึกไว้ในสมุด
(๑๖) สติเกิดขึ้นเพราะทรัพย์ที่เก็บไว้
(๑๗) สติเกิดขึ้นเพราะการนึกถึงสิ่งที่เคยรู้จักหรือเห็นมาแล้ว
สำหรับเรื่องของพยัญชนะกับอรรถทั้งหลาย ท่านผู้ฟังกรุณาตรวจสอบเทียบเคียง และข้อความใดซึ่งเป็นส่วนที่ถูกต้อง ตรงกับอรรถกถาและพระไตรปิฎก ก็ขอให้ถือในส่วนที่ถูกต้องนั้น และขอขอบพระคุณอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
ผู้ฟัง อาการของสติ ๑๗ อย่างที่อาจารย์ได้บรรยายไปแล้ว ก็รู้สึกว่าแต่ละข้อก็ออกจะจำได้ยาก แต่ก็ให้รู้ว่าสตินี้เป็นโสภณสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตที่เป็นกุศลฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ในบางข้อในอาการของสติ ๑๗ ข้อนี้ ก็มีบางอย่างคล้ายๆ กับว่าจะเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับกุศล แต่กระผมก็เข้าใจว่าจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับกุศลที่สติเกิด กระผมมีข้อสงสัยอาการของสติ ๑๗ ข้อที่จะเกิดขึ้นนั้น ยังไม่จัดว่าเป็นสติปัฏฐานใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ ถ้าเป็นภาวนาโตสติ ก็เป็นสติทางภาวนา แล้วแต่ว่าจะเป็นการอบรมจิตด้วยการเจริญสมถะ หรือว่าอบรมปัญญาด้วยการเจริญวิปัสสนา มีข้อที่ ๑๔ คือ ภาวนาโตสติ สติทางภาวนา
ผู้ฟัง นอกนั้นก็เป็นสติที่เกิดกับกุศลทั่วๆ ไป
ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ อย่างข้อที่ ๑ ที่ว่า อภิชานโตสติ สติเกิดทางความรู้ยิ่ง อันนี้แล้วแต่อรรถที่จะอธิบายความหมาย ตามตัวอย่างบางแห่ง ยกตัวอย่างเรื่องของการระลึกชาติ ซึ่งเป็นสติที่เป็นอภิชานโต ยิ่งจริงๆ ยิ่งกว่าผู้ที่สติระลึกได้บ้างนิดๆ หน่อยๆ ในชาตินี้ แต่ไม่สามารถที่จะจะระลึกถึงอดีตชาติได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นกำลังของสติที่ต่างกัน
ผู้ฟัง หันมาเรื่องเจริญสติปัฏฐาน ขณะที่มีสติระลึกรู้ จะต้องมีสภาวธรรม คือ สิ่งที่จะให้สติระลึกรู้ จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็แล้วแต่ จะต้องมีอารมณ์หรือมีสิ่งที่จะให้สติระลึกรู้ จึงจะเป็นสติปัฏฐาน อย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050