โสภณธรรม ครั้งที่ 016
ตอนที่ ๑๖
ผู้ถาม ถ้าหากระลึกรู้เฉยๆ โดยที่ไม่มีสภาวธรรมอะไรเลย สมมติว่าระลึกรู้อาการของยืน อาการของเดิน อาการของนั่ง อาการของนอน เหล่านี้ สภาวธรรมคืออะไร กระผมก็ไม่แน่ใจว่ามีสภาวธรรมหรือเปล่า แต่เข้าใจว่าไม่มี นอกจากจะเห็นว่าเป็นตัวที่ยืนอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ รวมๆ กันอยู่ อาการที่จะปรากฏว่าเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมนั้นจะไม่มี เพราะฉะนั้น สติที่ระลึกขึ้นในขณะนั้น จะไม่จัดเป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหม
สุ. ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน ต้องทราบว่าแต่ละท่านมีอัตตสัญญา ความทรงจำว่ามีตัวตน ตั้งแต่เกิดมา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ยึดถือว่าเป็นรูปร่างกายของเรา ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ถ้ายังมีอิริยาบถ คือ เรากำลังนั่ง หรือเรากำลังนอน เรากำลังยืน เรากำลังเดิน อัตตสัญญาก็ไม่มีทางจะละไปได้เลย เพราะเหตุว่าไม่ได้ประจักษ์ว่า รูปมีอายุที่สั้นมาก รูปแต่ละกลุ่ม คือ แต่ละกลาปซึ่งทยอยกันเกิดขึ้น จะมีอายุเพียง ๑๗ ขณะของจิต เพราะฉะนั้น รูปใดที่เกิดก่อนมีอายุ ๑๗ ขณะก็ดับไป แล้วรูปซึ่งเกิดสืบต่อมาแต่ละกลุ่ม แต่ละกลาป ก็ทยอยกันดับไป ถ้าไม่ประจักษ์ความจริงว่า รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้ว ดับแล้ว
ถ้าไม่ประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ความทรงจำว่ามีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นอัตตา เป็นร่างกาย เป็นรูปร่างของเราจริงๆ ก็ยังต้องมีอยู่ เช่นในขณะนี้ทุกคนยากที่จะละสัญญานี้ไปได้ ใช่ไหมว่า แท้ที่จริงไม่มีเรา มีแต่เห็น ขณะที่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังปรากฏ แล้วสติระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา สีสันวรรณะต่างๆ หรือระลึกลักษณะของนามธรรมที่กำลังรู้ คือ กำลังเห็นในขณะนี้ ขณะนั้นจะไม่นึกถึงรูปร่างเลย แม้จะในขณะที่กำลังนั่งอยู่นี้ ปอดอยู่ที่ไหน หัวใจอยู่ที่ไหน กระเพาะอาหารอยู่ที่ไหน ม้ามอยู่ที่ไหน เล็บอยู่ที่ไหน ผมอยู่ที่ไหน ฟันอยู่ที่ไหน ต้องนึกใช่ไหม เพราะอะไร เพราะว่าลักษณะของรูปนั้นๆ ไม่ได้ปรากฏ ทำไมลักษณะของรูปนั้นๆ ไม่ได้ปรากฏ เพราะเหตุว่ารูปนั้นๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเลย ๑๗ ขณะนี่เร็วมาก เร็วกว่าขณะที่ทางตากำลังเห็น และหูกำลังได้ยิน เสมือนว่าพร้อมกัน ในขณะที่รู้สึกว่าเห็นด้วยและได้ยินด้วย เสมือนกับว่าพร้อมกันนี้ เกิน ๑๗ ขณะแล้ว
เพราะฉะนั้น รูปทุกรูปที่เกิดนี้ รูปใดไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว ถ้าไม่ประจักษ์ความจริงอย่างนี้จริงๆ จะถอนอัตตสัญญาว่าเรากำลังนั่ง เรากำลังนอน หรือเรากำลังยืน เรากำลังเดินไม่ได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมจะไม่ปรากฏ ถ้าไม่ได้เพิกอิริยาบถ ไตรลักษณะจะปรากฏไม่ได้เลยตามความเป็นจริง
ผู้ถาม ถ้าจะพูดว่า ขณะที่ยืนก็รู้อาการของยืน ขณะที่นั่ง ก็รู้อาการของนั่ง ขณะที่นอน ก็รู้อาการของนอน ขณะที่เดิน ก็รู้อาการของเดิน ผมว่าเป็นเรื่องเก่า ที่เคยถกเถียงกันมาไม่หยุดไม่หย่อนเมื่อสักหลายปีมาแล้ว ซึ่งผมเข้าใจว่าเรื่องนี้น่าจะยุติได้ เพราะว่าอาการของยืน เดิน นั่ง นอน นั้นไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร มีรูปมีลักษณะอะไรที่ปรากฏ ที่จะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานในขณะนั้น หรือว่าอบรมภาวนา อบรมเจริญสติปัฏฐาน เจริญไปให้สติระลึกได้ โดยที่ใหม่ๆ ไม่ต้องให้มีอารมณ์อะไรอย่างนี้ จะเป็นไปได้หรือเปล่า
สุ. พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม ทั้ง ๓ ปิฎกต้องสอดคล้องกัน ในพระสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร อิริยาบถบรรพ ก็มีอิริยาบถ ๔ ซึ่งขณะที่กำลังนั่ง ให้รู้ในอาการที่นั่ง หมายความถึงรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏในขณะที่กำลังนั่ง
ผู้ถาม แล้วแต่รูปอะไรจะปรากฏ
สุ. แน่นอนที่สุด ที่กำลังนั่งนี้ต้องเป็นรูป แต่ว่าต้องมีลักษณะของรูปปรากฏ แต่ไม่ใช่ทั่วทั้งตัวปรากฏอย่างนั้นไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะกระทบกับกายปสาทส่วนใด เพราะเหตุว่าตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ที่รู้ว่ายังมีรูปอยู่ เวลานี้ มีหรือไม่มี รูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ๆ เร็วมากทีเดียว แต่ยังจำไว้ว่ามี เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ได้ว่า รูปมีจริงๆ นี้ ต่อเมื่อกระทบสัมผัสกับกายปสาทเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วก็จะยังคงเป็นความทรงจำว่ามีรูป ถ้ารูปที่กายส่วนหนึ่งส่วนใดไม่กระทบกายปสาท จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นรูป เพราะฉะนั้น เรื่องของรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า จะไม่พ้นจากมหาภูตรูป ๔ ซึ่งเฉพาะมหาภูตรูป ๓ เท่านั้นที่เป็นโผฏฐัพพะที่กระทบกับกายปสาทแล้วปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปคิดถึงปอด ตับ ม้าม หัวใจ ในเมื่อไม่ได้กระทบส่วนหนึ่งส่วนใดปรากฏเลย แต่ว่าขณะนี้แข็งตรงหนึ่งตรงใด มีเหตุปัจจัยทำให้แข็งนั้นเกิดขึ้น เป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าใครจะจงใจให้แข็งเกิด แข็งก็เกิดไม่ได้ ใครจะจงใจไม่ให้แข็งเกิด แข็งจะไม่เกิดตามความต้องการก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าแม้แต่รูปแข็งนั้นก็เป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้น การที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดทั้งสิ้น ก็เพื่อที่จะให้ประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน คือ ความหมายหรืออรรถของอนัตตานั่นเอง เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ผู้ถาม และการที่จะอบรมเจริญสติให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ อย่างตามในมหาสติปัฏฐานสูตรที่ว่า ให้พิจารณากายเนืองๆ เวทนาเนืองๆ จิตเนืองๆ ธรรมเนืองๆ ก็เพื่อที่จะให้สติเกิด การที่จะไปเพ่งที่กายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี เพื่อที่จะให้สติเกิดเนืองๆ อย่างนี้ ผมรู้สึกว่า อาการอย่างนั้นจะเป็นเรื่องเจาะจงที่จะเพ่งเพื่อที่จะให้สติเกิด แต่กระผมได้ทราบจากที่ได้ศึกษาเล่าเรียนที่อาจารย์บรรยายมาโดยตลอดว่า ปัจจัยที่จะให้เกิดสติได้ ก็คือว่า จะต้องมีการศึกษา การฟัง และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง แม่นยำ
อันนี้แหละที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสติ ไม่ใช่ว่าจะไปอบรมให้สติเกิดโดยระลึกอย่างนั้นเนืองๆ ระลึกอย่างนี้เนืองๆ โดยที่ไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจถูกต้องถ่องแท้ ถ้าหากยังไม่เข้าใจถูกต้องถ่องแท้แล้ว จะไปอบรมให้สติเกิด ผมก็รู้สึกว่า จะเป็นการไปบังคับสติ จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
สุ. ไม่มีใครจะไปเพ่งได้ เพราะฉะนั้น ปกติธรรมดาอย่างนี้ สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง
ผู้ถาม ทางกายนี้ปรากฏไม่ขาดสายเหมือนกัน
สุ. แล้วแต่ ถ้าขณะนั้นกายวิญญาณไม่เกิด รูปก็ปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่ขาดสาย ก็ไม่เห็น
ผู้ถาม ที่อาจารย์ว่า ทางตาปรากฏไม่ขาดสาย
สุ. มีอยู่ตลอดเวลาที่เห็น เสียงก็ปรากฏขณะที่ได้ยิน แล้วแต่ขณะใดอารมณ์ใดปรากฏ ถ้าจะใช้คำว่าไม่ขาดสายแล้ว ก็ไม่คิดถึงความหมายของไม่ขาดสาย ตามที่เว้นเลย ก็เป็นอันว่าไม่มีอย่างอื่นปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่ขาดสาย หมายความว่า แม้ในขณะนี้ ถ้าสติเกิดก็ระลึกได้ เพราะเหตุว่ามีการกระทบทางกายในขณะที่แข็งปรากฏ วันหนึ่งๆ กระทบแข็งกี่ครั้ง ตั้งแต่ตื่น เปิดวิทยุใช่ไหม แข็งไหม บริหารร่างกายตามสุขลักษณะ ล้างหน้า แปรงฟัน มีการกระทบแข็งไหม เดินลงกระไดไปบริโภคอาหาร กระทบแข็งไหม นั่นแหละ ส่วนใหญ่แล้วก็หลงลืมสติ แต่ว่ากายวิญญาณก็เกิด
เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด หมายความว่า ถ้าระลึกได้ สติระลึกที่ลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมใดๆ ก็ตาม ทางตาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องระลึกแข็ง ขณะใดที่เห็น แล้วระลึกศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจให้ถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทางตา ในขณะนั้นแข็งไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้คำว่า ไม่ขาดสายก็คือว่า วิถีจิตเกิดในขณะที่ตื่นสลับกับภวังค์ ต้องมีความละเอียดลงไปถึงพระอภิธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ละเอียดยิ่ง แต่เวลานี้ไม่มีใครทราบว่า มีภวังคจิตคั่น ระหว่างเห็นกับได้ยิน ซึ่งความจริงก่อนเห็นกับได้ยินก็มีภวังคจิตคั่นแล้ว หลังจากปัญจทวารวิถีจิตดับลง ภวังคจิตต้องคั่น ก่อนที่จะรู้ว่าเห็นใคร เห็นอะไร โดยที่ไม่ต้องพูดถึงทางโสตทวารเข้ามาเกี่ยวเลย ภวังคจิตก็คั่นแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง ก็ดูเสมือนว่าสภาพธรรมปรากฏตลอดเวลา
ผู้ถาม คำว่าไม่ขาดสาย ก็ต้องปรากฏด้วยถึงจะเรียกว่า ไม่ขาดสาย
สุ. ขณะนี้เห็นปรากฏการขาดสายไหม
ผู้ถาม ถ้าไม่ระลึกถือว่าขาดสาย เกิดไประลึกทางแข็ง
สุ. ถึงระลึก ขาดสายหรือยัง
ผู้ถาม มีภวังคจิต
สุ. นั่นโดยตำรา ซึ่งวันหนึ่งจะต้องถึง แต่ว่าก่อนจะถึง ก็จะต้องศึกษาแม้ว่าการเห็นยังไม่ได้ขาดสาย แต่ว่าเพราะสติเริ่มระลึกที่ลักษณะของบางนามหรือบางรูป เช่นในขณะที่เห็น แต่ว่าระลึกที่แข็ง ได้ไหม ได้ ใช่ไหม ขณะนั้นจะค่อยๆ ละการติดในนิมิตอนุพยัญชนะทางตา เพราะรู้ว่าขณะนั้นที่แข็งกำลังปรากฏ และศึกษาลักษณะสภาพที่แข็ง บางท่านอาจจะศึกษาลักษณะอาการที่กำลังรู้แข็ง ไม่ใส่ใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ขาดตอน ยังไม่ดับ เพราะเหตุว่าเกิดสืบต่อสลับอยู่ เพราะเหตุว่าสติมีกำลังที่อ่อนมาก เกิดแทรกได้บางวิถี บางวาระเท่านั้น
เพราะฉะนั้น วิถีจิตทางตาเมื่อมีปัจจัยที่จะปรากฏ ก็ยังเกิดขึ้นปรากฏอยู่ แต่ว่าจะเริ่มเห็นการไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะทางตา เพราะเหตุว่ารู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะขณะนั้นสติกำลังใส่ใจพิจารณาลักษณะของแข็ง
ถ้าไม่อย่างนั้นทางตาไม่มีวันที่จะดับเลย ถ้าไม่เห็นว่าทางตานี้เพียงชั่วขณะจริงๆ เวลาที่ทางหู เสียงปรากฏ ทางตาต้องไม่มี ตามความเป็นจริง แต่เมื่อทางตายังปรากฏอยู่โดยไม่ขาดสาย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมยังไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง แต่ก็จะเกิดการเข้าใจขึ้น เห็นว่าทางตานี้ต้องเล็กน้อยมาก เพราะฉะนั้น สติจึงสามารถที่จะระลึกที่แข็งที่กายได้ จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริง แม้แต่ทางตาซึ่งทุกท่านก็สงสัยว่าจะดับอย่างไร ถ้าไม่พิจารณาโดยทั่วทั้ง ๖ ทวาร ทางตานี้ดับไม่ได้แน่ แต่เมื่อพิจารณาแต่ละทวาร แม้ว่าทางตาจะเห็น แต่ขณะนั้นก็ไม่มีการติดในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะเหตุว่าสติกำลังระลึกรู้ลักษณะของแข็งที่กำลังปรากฏทางกาย
ผู้ถาม อย่างนี้ฟังดูแล้วก็ยาก คงจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแทบจะไม่ได้เลย ไม่มีความหวังที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
สุ. ท่านที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ท่านก็คงจะเคยคิดอย่างนี้มาแล้ว ก็ต้องเป็นสิ่งที่ยากแน่นอน ท่านต้องเคยคิดมาก่อน แต่ท่านไม่ละความเพียร เพราะท่านรู้ว่าเป็นสัจจธรรม เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่อวิชชาเท่านั้นจึงไม่สามารถรู้ได้ อวิชชาไม่มีทางที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แต่วิชชาสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ถ้ารู้หนทางที่จะเจริญปัญญา ไม่ท้อถอย เพราะเหตุว่าเป็นของจริงที่พิสูจน์ได้
ผู้ถาม ขอย้อนมาอีกปัญหาหนึ่ง ที่เมื่อสักครู่อาจารย์บอกว่า บารมี ๑๐ ทัศ ถ้าผมไม่บำเพ็ญบารมีครบ ๑๐ ทัศ จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ไหม
สุ. ให้ทานแล้วใช่ไหม ทุกคนต้องเคยให้ทาน จะมากจะน้อยก็ไม่เป็นไร รู้สึกว่าไม่มีข้อสงสัยในเรื่องของทาน รักษาศีลด้วย ใช่ไหม
ผู้ถาม กระพร่องกระแพร่ง
สุ. แล้วก็ฟังธรรมด้วย
ผู้ถาม ก็ยังกระพร่องกระแพร่ง
สุ. ก็ตามแต่ แต่ว่าวันหนึ่งๆ ทานที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้กุศลจิตเกิดได้มาก เพราะเหตุว่าวาระที่ให้ทานเป็นวาระที่สั้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะให้ทานสักเท่าไร เมตตานี้เวลาที่คิดถึงบุคคลอื่น ยากหรือง่าย ยาก ถ้ายังคงเมตตายากอยู่อย่างนี้ จะดับกิเลสได้ไหม ก็คงไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเจริญเมตตาดีกว่าไหม ซึ่งความจริงถ้าหิริโอตตัปปะเกิด โดยการที่เห็นโทษของอกุศล เช่น โทสะ ความพยาบาท ความผูกโกรธ ความขุ่นเคือง จะเห็นได้ว่าเมตตาเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าอย่างอื่น เพราะเหตุว่าไม่ต้องอาศัยวัตถุ ไม่ต้องอาศัยการตระเตรียมเลย เพียงแต่ว่าโยนิโสมนสิการ พิจารณาด้วยความถูกต้องแยบคายเท่านั้นเอง ทานก็ให้มาแล้ว ก็ยังทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัวได้ ศีลก็ได้วิรัติทุจริตไปแล้ว แต่ก็ยังทำให้จิตใจโกรธ ผูกโกรธ พยาบาท เศร้าหมองขุ่นมัวได้ แล้วทำไมเพียงแต่ว่าจะเจริญความสงบของจิตด้วยสมถะ เพราะเหตุว่าแม้ว่าจะเป็นผู้เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่มีปกติเจริญปัญญาด้วยการเจริญสติปัฏฐานก็ตาม แต่ในบางกาลเวลาที่จิตไม่สงบเกิดขึ้น หิริโอตตัปปะเห็นโทษ เกรงกลัว และรังเกียจละอายอกุศลธรรมในขณะนั้นไหม จะเว้นเป็นบางข้อก็ไม่สมควร เพราะเหตุว่าเมตตาและอุเบกขาไม่ใช่สิ่งที่ยากเลย
สำหรับโสภณสาธารณเจตสิกดวงต่อไป คือ ดวงที่ ๓ และดวงที่ ๔ ได้แก่ หิริเจตสิกและโอตตัปปเจตสิก
เวลาที่สติเจตสิกเกิดก็ต้องมีโสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย และลักษณะที่พอจะปรากฏให้เห็นได้ต่อจากลักษณะของสติ ก็คือ หิริเจตสิกและโอตตัปปเจตสิก
หิริเจตสิก เป็นเจตสิกที่รังเกียจและละอายต่อบาป มีการยำเกรง และมีความเคารพ เป็นลักษณะ
โอตตัปปเจตสิกเป็นเจตสิกที่เกรงกลัวบาป และมีปกติกลัวต่อโทษ และเห็นภัยของบาป เป็นลักษณะ
ซึ่งไม่แยกกัน ทั้งหิริและโอตตัปปะเกิดร่วมกันทุกครั้ง เพราะเหตุว่าเป็นโสภณสาธารณเจตสิก
ลักษณะของหิริเจตสิก คือ
ปาปโตชิคุจฺฉนลกฺขณา มีความรังเกียจบาป เป็นลักษณะ
ปาปานํ อกรณรสา มีการไม่ทำบาป เป็นกิจ
ปาปโตสงฺโกจน ปจฺจุปฏฺฐานา มีการถอยกลับจากบาป เป็นอาการปรากฏ
อตฺตคารวปทฏฺฐานา มีความเคารพในตน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
ขณะใดที่รู้สึกรังเกียจและละอายในการที่จะเป็นอกุศล ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของหิริเจตสิก
ลักษณะของโอตตัปปเจตสิก คือ
อุตฺตาสนลกฺขณํ มีความเกรงกลัวบาป เป็นลักษณะ
ปาปาณํอกรณรสํ มีการไม่ทำบาป เป็นกิจ
ปาปโตสงฺโกจนปจฺจุปฏฺฐานํ มีการถอยกลับจากบาป เป็นอาการปรากฏ
ปรคารวปทฏฺฐานํ มีความเคารพผู้อื่น เป็นเหตุใกล้
ขณะใดที่เว้นจากความชั่ว บาป อกุศล ทุจริตทั้งปวง แม้ว่าจะเล็กน้อยสักเพียงใด ขณะนั้นก็เป็นเพราะหิริและโอตตัปปะ ซึ่งเป็นสภาพที่รังเกียจ ละอาย กลัว และเกรงโทษของบาป
ทุกคนทุกวันต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ใช่ไหม การที่จะไม่ทำบาปนี้เกิดจากอะไร หรือการที่จะไม่ทำอกุศลทุจริตเกิดจากอะไร เพราะกลัวคนอื่นรู้ หรือว่าเปล่าเลย เพราะรังเกียจที่จะกระทำสิ่งนั้น
นี่ ก็เป็นสิ่งที่พอจะเห็นได้ว่า แม้ว่าทั้งหิริและโอตตัปปะจะเกิดร่วมกันก็จริง แต่ขณะใดที่เกิดละเว้นอกุศลชนิดหนึ่งชนิดใด ขณะนั้นก็พอที่จะสังเกตสภาพของจิตได้ว่าในขณะนั้นจริงๆ ละเว้นเพราะรังเกียจ หรือว่าละเว้นเพราะกลัว เกรงโทษเกรงภัยของอกุศล บางคนก็อาจจะกลัวคนอื่นเห็น กลัวคนอื่นรู้ ก็เลยไม่กล้าที่จะกระทำ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น กิริยามารยาท ถ้าอยู่คนเดียว รู้สึกว่าจะนั่งจะนอนตามสบาย แต่ว่าถ้ามีคนอื่นอยู่ด้วย ก็เป็นผู้ที่มีกิริยาสงบเรียบร้อย ระมัดระวัง อันนี้ก็พอที่จะมองเห็นได้ว่า ชีวิตในวันหนึ่งๆ ความคิดของจิตใจแล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นผู้ละเอียด หรือว่าเป็นผู้ที่กระทำสิ่งซึ่งไม่กระทำเวลาที่อยู่ต่อหน้าคนอื่น แต่เวลาที่ไม่อยู่ต่อหน้าคนอื่น ทำ หรือว่าไม่ว่าจะมีคนอื่นหรือไม่มีใคร ปกติก็เป็นอย่างนั้น
นี่เป็นการที่แสดงให้เห็นถึงสภาพของจิต เพราะว่าทุกคนก็มีกิริยามรรยาทที่เรียบร้อย ไม่เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน เวลาที่มีคนอื่นอยู่ด้วย แต่ว่าอยู่คนเดียวอาจจะรีบร้อน ทำอะไรก็อาจจะหกเลอะเทอะอะไรก็ได้ นี่เป็นแต่เพียงเครื่องเปรียบเทียบแสดงให้เห็นว่า การที่จะรู้ว่าละเว้นเพราะละอาย รังเกียจ หรือละเว้นเพราะกลัวคนอื่นจะรู้ หรือว่าจะติเตียน
นี่ก็เป็นเรื่องที่จะทำให้สังเกตเห็นความต่างกันของสภาพของหิริเจตสิกและโอตตัปปเจตสิกได้ ข้อความในอรรถสาลินี แสดงเรื่องของหิริและโอตตัปปะ ในขณะที่เว้นจากการทำชั่ว มีข้อความว่า
ความจริง บุคคลบางคนก้าวลงสู่ลัชชีธรรม คือ ความละอายต่อบาปอันมีอยู่ในภายในแล้ว ย่อมไม่กระทำกรรมชั่ว บางคนกลัวภัยในอบายภูมิ ย่อมไม่กระทำกรรมชั่ว เปรียบเหมือนกุลบุตรบางคนเมื่อจะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นต้น เห็นบุคคลที่ควรละอายเพียงคนเดียว พึงถึงอาการละอาย พึงแอบกระมิดกระเมี้ยน ไม่ยอมถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นต้นฉะนั้น ในข้อนี้มีข้ออุปมาดังต่อไปนี้ เปรียบเหมือนบรรดาก้อนเหล็ก ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งเย็นแต่เปื้อนคูถ คือ เปื้อนอุจจาระ อีกก้อนหนึ่งร้อนไฟลุกโชน ในบรรดาก้อนเหล็ก ๒ ก้อนนั้น คนฉลาดย่อมรังเกียจไม่จับต้องก้อนเหล็กที่เย็นเพราะเปื้อนคูถ รังเกียจไม่จับต้องก้อนเหล็กอีกก้อนหนึ่งเพราะกลัวร้อน
สภาพไม่จับต้องก้อนเหล็กที่เย็นเพราะเปื้อนคูถ เป็นหิริเจตสิก สภาพรังเกียจไม่จับต้องก้อนเหล็กอีกก้อนหนึ่งเพราะกลัวร้อน เป็นโอตตัปปะ
นี่คือขณะที่เว้นจากอกุศล
ข้อความต่อไปมีว่า
ความจริงบุคคลบางคนทำหิริซึ่งมีความยำเกรงและความเคารพ เป็นลักษณะให้ตั้งขึ้น ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ พิจารณาถึงชาติที่เป็นใหญ่ พิจารณาถึงศาสดาที่เป็นใหญ่ พิจารณาถึงความเป็นทายาทที่เป็นใหญ่ พิจารณาถึงเพื่อนสพรหมจารีที่เป็นใหญ่ แล้วย่อมไม่กระทำความชั่ว
นี่ทรงแสดงไว้สำหรับพระภิกษุ ซึ่งควรที่จะละอายในการที่จะกระทำความชั่ว เมื่อพิจารณาถึงเพศบรรพชิต ซึ่งเป็นชาติ คือ กำเนิด หรือการเกิดโดยสภาพที่เป็นใหญ่กว่าเพศคฤหัสถ์ แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่บรรพชิต บางท่านเมื่อพิจารณาถึงตำแหน่ง ฐานะ การงาน ก็จะไม่กระทำชั่วได้เหมือนกัน
สำหรับบรรพชิต พิจารณาถึงศาสดาที่เป็นใหญ่ นอกจากนั้นพิจารณาถึงความเป็นทายาทที่เป็นใหญ่ คือ พิจารณาถึงตนเองซึ่งเป็นทายาทของพระธรรม หรือทายาทที่จะสืบต่อพระพุทธศาสนา ก็ย่อมเป็นเหตุที่จะทำให้ละเว้นความชั่ว
อีกประการหนึ่ง คือ พิจารณาถึงเพื่อนสพรหมจารีด้วยกันที่เป็นใหญ่ ในเมื่อทุกคนเป็นผู้ที่เป็นบรรพชิต เป็นผู้ที่มีศรัทธาออกบวช เป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามธรรม ละเว้นจากความชั่ว ตนเองก็ควรที่จะละเว้นจากความชั่ว เช่นเดียวกับเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายด้วย
บางคนทำโอตตัปปะซึ่งมีปกติกลัวต่อโทษและเห็นภัยเป็นลักษณะให้ตั้งขึ้น ด้วยเหตุ ๔ ประการ
คือ ไม่ว่าจะเป็นหิริ หรือโอตตัปปะ ก็จะต้องมีเหตุที่จะทำให้เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่พิจารณาโดยแยบคาย การที่จะละอายหรือการที่จะเกรงกลัวต่อบาป ก็ย่อมจะไม่มี เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะคิดว่า คนอื่นไม่รู้ หรือว่าเป็นสิ่งที่เล็กน้อย แต่ว่าขณะใดที่ละเว้น ก็จะต้องมีเหตุ คือการพิจารณาโดยถูกต้อง
คือ เหตุให้เกิดโอตตัปปะ ๔ ประการ ได้แก่ ความกลัวยำเกรงต่อการติเตียนตนเอง ๑ ความกลัวต่อการติเตียนจากผู้อื่น ๑ ความกลัวต่อการถูกลงโทษทัณฑ์ ๑ ความกลัวต่อการไปสู่ทุคติ ๑ แล้วย่อมไม่กระทำชั่ว
นี่ก็เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ
ซึ่งท่านผู้ฟังถ้าพิจารณาโดยละเอียด จะเห็นระดับของหิริโอตตัปปะนี้หลายขั้น ขณะที่ละเว้นทุจริต ขณะนั้นก็เป็นหิริโอตตัปปะขั้นหนึ่ง ระดับที่ละเว้นทุจริตกรรมเป็นหิริโอตตัปปะขั้นหยาบขั้นหนึ่ง แต่ว่าขั้นละเอียดกว่านั้นอีก คือเห็นโทษของอกุศล คือ แม้ว่าจะไม่กระทำทุจริตกรรม แต่ก็ยังเห็นว่าอกุศลจิตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ควรละอาย ควรรังเกียจ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของหิริโอตตัปปะจริงๆ จึงต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา และปัญญาเจริญขึ้นเป็นลำดับขั้น จึงสามารถที่จะมีหิริโอตตัปปะที่ละเอียดขึ้นๆ อย่างบางท่านก็มีสมโลโภ คือ ความโลภตามธรรมดาในสิ่งที่ตนมี ไม่ได้ไปหวังในสิ่งของคนอื่น ไม่ได้ปรารถนาต้องการของๆ คนอื่น แต่ว่ามีความพอใจ ยินดีในสิ่งที่ตนมี ข้าวของทรัพย์สมบัติทุกอย่างในบ้านนั้น ก็เป็นความโลภที่สม่ำเสมอ ยังไม่ถึงกับจะถึงขั้นไม่สม่ำเสมอ ไปจนกระทั่งโลภในสิ่งของทรัพย์สมบัติของคนอื่น แต่ว่าในขณะนั้นก็ไม่มีหิริโอตตัปปะ เพราะเหตุว่ายังมีโลภเจตสิกเกิด ต้องมีการเห็นอกุศลละเอียดขึ้นๆ จึงจะเกิดหิริโอตตัปปะในการที่จะไม่ให้อกุศลจิตขั้นนั้นๆ เกิดได้ แต่ว่าทุกคนเป็นคนที่ยังมีโลภะอยู่ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า การที่จะมีหิริโอตตัปปะที่จะเห็นโทษของความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050