โสภณธรรม ครั้งที่ 017
ตอนที่ ๑๗
การที่จะมีหิริโอตตัปปะที่จะเห็นโทษของความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอนาคามี
เพราะฉะนั้น หิริโอตตัปปะของแต่ละท่าน ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ในระดับไหน ในขั้นไหน ตามกำลังของปัญญา สำหรับผู้ที่ไม่กระทำชั่ว มีเหตุที่จะให้ละเว้นความชั่ว ซึ่งเป็นเหตุภายในเป็นสมุฏฐาน คือ มีตนเป็นใหญ่ เหตุ 4ประการคือ
ประการที่ ๑ ไม่กระทำชั่วเพราะระลึกถึงชาติ คือ ระลึกถึงการเกิดเป็นบุคคลนี้ แล้วแต่ว่าท่านจะอยู่ในฐานะใดก็ตามแต่ แต่ว่าสามารถที่จะระลึกได้ว่า การทำชั่วเป็นการกระทำของคนต่ำทราม ไม่ว่าเป็นใครทั้งนั้น เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศล และรู้ได้เลยว่า กามาวจรธรรมที่เป็นบุญกิริยาวัตถุ เป็นมนุษยธรรม เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการระลึกชาติ การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศล ควรจะบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ซึ่งเป็นมนุษยธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเป็นเหตุที่จะให้ละการกระทำทุจริต เพราะเห็นว่าการกระทำทุจริต เป็นการกระทำของคนต่ำทราม ถ้าระลึกได้อย่างนี้ ก็จะไม่พูดเท็จ ไม่ทำปาณาติบาต แล้วก็จะไม่ล่วงศีล
ประการที่ ๒ คือ ไม่กระทำชั่วเพราะระลึกถึงวัย เห็นว่าการทำชั่วเป็นเรื่องของเด็กหรือว่าผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังไม่สามารถมีสติปัญญาพิจารณาความถูกความควรได้โดยละเอียด เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่พ้นจากวัยเด็กเล็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องที่ควรและไม่ควรแล้ว ก็ควรจะเป็นผู้ที่ระลึกได้ว่า สิ่งใดไม่ควรจะกระทำ ในขณะนั้นก็เว้นความชั่ว เพราะระลึกถึงวัย ตอนที่เป็นเด็กนักเรียนเล็กๆ ไม่ทราบทุกท่านมีอกุศลจิตประเภทใดบ้าง แต่ว่าพอโตขึ้นก็ค่อยๆ หายไป นี่ก็แสดงให้เห็นได้ว่า เป็นเพราะพิจารณารู้ว่า สิ่งใดที่เหมาะ สิ่งใดที่ควร แล้วก็ไม่อาจที่จะกลับไปทำสิ่งซึ่งเด็กที่เยาว์วัยกระทำได้
ประการที่ ๓ คือ ไม่ทำชั่วเพราะระลึกถึงความแกล้วกล้า เพราะเหตุว่า คนขลาดย่อมทำอกุศล แต่ว่าคนกล้านี้ กล้าที่จะทำกุศลและไม่ทำอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนกล้าหาญ ที่จะไม่กระทำอกุศล คนขลาดทำอกุศล เพราะเหตุว่ากลัวลำบากบ้าง กลัวยากจนบ้าง กลัวความทุกข์ต่างๆ บ้าง ก็เป็นเหตุให้กระทำทุจริต แต่ว่าผู้ที่กล้าหาญ แม้ว่าจะลำบาก แม้ว่าจะขัดสน แม้ว่าจะยากจน แต่ก็จะไม่ทำทุจริต นั่นก็ต้องเป็นผู้ที่มีความแกล้วกล้า คือ เป็นผู้ที่สามารถที่จะกล้าที่จะละเว้นทุจริตได้ โดยที่ไม่กลัวความลำบากต่างๆ
ประการที่ ๔ คือ ไม่ทำชั่ว เพราะเห็นว่า คนทำชั่วเป็นคนไม่ฉลาด
ถ้าทุกคนคิดได้อย่างนี้ ก็จะไม่มีทุจริตกรรมใดๆ เลย โลกนี้ก็จะมีหิริโอตตัปปะ ซึ่งทำให้ทุกคนเห็นภัยและรังเกียจอกุศล
ผู้ฟัง ในข้อ ๒ ว่า ไม่ทำชั่วเพราะระลึกถึงวัย ผมว่าขึ้นอยู่กับการสั่งสมเหมือนกัน และอยู่ที่ยุคที่สมัยด้วย เช่นอย่างวัยเยาว์ของผมนี้ มีการกัดปลา จับจิ้งหรีดมากัดกัน ยิงไก่วัด ยิงมะม่วงวัด เท่าที่จำได้ พอถึงสมัยนี้ อย่างลูกผมไม่มีนี่ เรื่องจับจิ้งหรีดมากัดกันก็ไม่มี ตกปลาก็ไม่มี ไม่มีทั้งนั้น ที่ผมกล่าวมาเมื่อกี้นี้ ผมว่าอยู่ที่ยุคที่สมัยด้วย
ท่านอาจารย์ สมัยของเด็กยุคนี้ก็อย่างหนึ่ง และพอถึงวัยอย่างนั้น คนวัยนั้นในยุคนั้นก็จะไม่ทำอย่างนั้น
ผู้ฟัง ปุถุชนเป็นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะ บางครั้งก็ไม่มีหิริโอตตัปปะ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่มีหิริโอตตัปปะ คือ ไม่เห็นว่าอกุศลจิตในขณะนั้นน่ารังเกียจ ยากที่จะเห็นใช่ไหม อย่างโลภะนี่น่ะคะ กำลังสนุกสนานรื่นเริง ไม่ว่าจะทางหนึ่งทางใดก็ตาม ที่จะระลึกขึ้นมาได้ว่า ขณะนั้นที่กำลังสนุกนั้นเป็นสภาพธรรมที่น่ารังเกียจ ยากใช่ไหม
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่เห็นอาจารย์พูดว่า พระโสดาบันถึงพระอนาคามี เป็นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะที่สูง ละเอียดขึ้น
ท่านอาจารย์ ตามลำดับขั้น อย่างปุถุชนที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ยังไม่เห็นประโยชน์ของสติปัฏฐาน ก็ไม่รังเกียจขณะที่หลงลืมสติ ขณะที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามความเป็นจริงก็ไม่รังเกียจในอวิชชา ในความไม่รู้
เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่รังเกียจ สติเกิดจึงระลึก เพื่อที่จะศึกษาพิจารณา จนกว่าจะรู้ตามความเป็นจริงขณะใด ขณะนั้นก็แสดงว่ามีความละอายในความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง แล้วท่านอาจารย์ก็ลำดับไปถึงพระอนาคามี แล้วทำไมเว้นพระอรหันต์ แสดงว่าพระอรหันต์ไม่มีหิริโอตตัปปะใช่ไหม
ท่านอาจารย์ มีหิริโอตตัปปะ เป็นโสภณสาธารณะ แต่ว่าเป็นชาติกิริยา ไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิด ไม่เป็นกุศล เพราะเหตุว่ากุศลเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก
ผู้ฟัง ต่างกับปุถุชน ซึ่งไม่มีหิริโอตตัปปะ
ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีกุศลและอกุศล พระอรหันต์ดับกิเลสหมด เพราะฉะนั้น แม้หิริโอตตัปปะก็เป็นกิริยา เป็นไปตามธรรมชาติ
ผู้ฟัง ขอถามอีกครั้งหนึ่ง ที่ว่าพระอรหันต์มีหิริโอตตัปปะ หมายความว่าเกิดกับกิริยาจิต ทีนี้อธิบายตามภาษาเราๆ หมายความว่าพระอรหันต์กลัวเฉยๆ ละอายเฉยๆ หรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่จิตไม่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นลักษณะของโสภณสาธารณเจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน และต่างก็กระทำกิจตามหน้าที่ของตนๆ เช่น สติก็ทำกิจของสติ หิริก็ทำกิจของหิริ โอตตัปปะก็ทำกิจของโอตตัปปะ คือ ธรรมชาติของพระอรหันต์รังเกียจละอายบาปอยู่แล้ว ใช่ไหม รังเกียจไม่เหมือนคนซึ่งไม่รังเกียจ
ผู้ฟัง คล้ายๆ กับว่าเป็นกิริยา คือ รังเกียจเฉยๆ กลัวเฉยๆ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องทำกิริยาอาการรังเกียจ คำว่ารังเกียจที่นี่ไม่ได้หมายความว่า ต้องแสดงกิริยาอาการ แต่ขณะใดที่เห็นโทษ และก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมี ไม่ควรจะเป็น ในขณะนั้นคือความหมายของหิริโอตตัปปะ โดยสภาพของท่าน
ผู้ฟัง หมายความว่า มีความละอายแล้วไม่เป็นกุศลหรืออกุศล
ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำ ละอาย ในภาษาไทย ก็อาจจะทำให้เข้าใจความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้ากล่าวถึงหิริเจตสิก ไม่มีคำอื่นที่จะใช้ นอกจากพยายามเปรียบเทียบให้เห็นว่า ขณะใดที่รังเกียจบาป แต่ไม่ใช่หมายความว่าดูหมิ่น หรือว่าไม่ได้หมายความว่า ต้องแสดงกิริยาอาการรังเกียจ แต่ในขณะที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมี ขณะนั้นชื่อว่าละอาย ไม่ใช่คนที่คุ้นกับกิเลส จนกระทั่งไม่รู้สึก ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใด ระดับใดก็ไม่รู้สึกทั้งนั้น
ผู้ฟัง ไม่มีผลเป็นกุศลหรืออกุศล
ท่านอาจารย์ สำหรับพระอรหันต์ ทั้งหมดเป็นกิริยา
ผู้ฟัง หมายความว่าเห็นสิ่งที่ละอายก็เฉยๆ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่าต้องแสดงกิริยาละอาย ขณะใดที่อกุศลไม่เกิด สำหรับปุถุชนเป็นกุศลขณะใด มีหิริขณะนั้น เพราะฉะนั้น สำหรับพระอรหันต์ไม่มีอกุศล เป็นกิริยาจิตขณะใด ก็เป็นหิริโดยสภาพ
ผู้ฟัง ต้องทำสติว่านี่เป็นสิ่งละอาย
ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว เพราะว่าไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้อกุศลธรรมเกิดเลยสักประเภทเดียว หมดกิจที่จะกระทำ เพราะเหตุว่าได้กระทำเสร็จแล้ว นั่นคือพระอรหันต์ แต่คนที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีกิจที่จะต้องกระทำ คือ การอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะดับกิเลสได้เป็นขั้นๆ
ลักษณะของหิริโอตตัปปะ ซึ่งทุกท่านพอที่จะสังเกตได้เวลาที่มีอกุศลธรรมเกิดขึ้นปรากฏ หรือเกิดขึ้นแล้วก็ตาม ท่านมีความรู้สึกอย่างไรต่ออกุศลธรรมนั้นๆ ถ้าไม่เคยรังเกียจมาก่อน แต่ว่าเมื่อได้ปฏิบัติธรรมมากๆ ขึ้น เริ่มรู้สึกรังเกียจบ้างไหมในอกุศลธรรมบางอย่างบางประเภท แม้ว่าจะไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะเหตุว่ากิเลสยังไม่ได้ดับหมดเป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง แม้ว่าจะตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปีมาแล้ว ใช่ไหม เริ่มรังเกียจเดี๋ยวนี้ ฟังมานาน ยิ่งรังเกียจใหญ่ เคยไปขโมยไก่วัดอะไรอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ก็ผ่านไปแล้ว และถ้ารังเกียจจริงๆ ต้องถึงการดับเป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่ารังเกียจชั่วครั้งชั่วคราว พอต่างวัย เกิดมาใหม่ ก็มีความต้องการสนุกสนานอย่างนั้นอีก เพราะว่ากิเลสยังไม่ได้ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง เกิดชาติหน้าคงไม่ไปกระมัง
ท่านอาจารย์ ยังไม่เป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง ถ้าชาตินี้เรามีหิริโอตตัปปะมากๆ ขึ้น
ท่านอาจารย์ สะสมไป แล้วอบรมเจริญปัญญา ต้องรังเกียจอวิชชาและมิจฉาทิฏฐิ
ผู้ฟัง เพราะตอนนั้นทำไปโดยไม่รู้ ไก่วัดไม่ค่อยมีใครดูแล เลยไปขโมยกันมาเรื่อย
ท่านอาจารย์ เป็นไปได้ แต่ว่าต่อไปนี้ คือ สิ่งใดที่ผ่านไปแล้ว ก็ผ่านไปแล้ว เรียกกลับมาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้จะรังเกียจอะไรเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง ปกตินิสัยคนไทย โดยมากจะเป็นคนขี้อายและขี้กลัวด้วย คำว่า ที่ชอบละอายอยู่เสมอ หรือว่าเป็นคนทั้งขี้อายขี้กลัวนี้ เกี่ยวกับหิริโอตตัปปะด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยว เพราะว่าขณะนั้นถ้าพิจารณาลักษณะของจิต ก็เป็นอกุศลจิต
ผู้ฟัง เป็นอกุศล ไม่เกี่ยวกับหิริโอตตัปปะ
ท่านอาจารย์ ขณะที่อาย รู้สึกสบายใจไหม
ผู้ฟัง มันเป็นความทุกข์
ท่านอาจารย์ ไม่สบายใจ ใช่ไหม เป็นโทสมูลจิต เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่หิริ ไม่ใช่โอตตัปปะ หิริโอตตัปปะต้องเป็นกุศลจิตที่ละอายต่อการที่จะเป็นอกุศล ขณะที่กลัวก็เป็นโทสมูลจิตเหมือนกัน ถ้ากลัวบาปไม่เป็นโทสมูลจิต ใช่ไหม เกรง รังเกียจอกุศล นั่นเป็นลักษณะของโสภณธรรม
ผู้ฟัง อาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า หิริ นี้ควรแปลว่าละอายและเกรงกลัวต่อบาปหรือเปล่า หิริโอตตัปปะนี้แปลถูกต้องแล้วหรือ ที่แปลว่าความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
ท่านอาจารย์ ในภาษาอื่น นอกจากภาษาบาลี จะไม่มีคำที่สมบูรณ์ในอรรถเท่ากับภาษาบาลี เพราะฉะนั้น ก็ต้องพยายามเข้าใจคำที่ใช้แทนภาษาบาลีในภาษาหนึ่งๆ เพื่อเทียบเคียงให้เข้าใจความหมายของสภาพธรรมเท่านั้นเอง จะใช้คำอะไรก็ได้
ผู้ฟัง รู้สึกว่าคนไทยจะเข้าใจคำนี้ผิดพลาดมาก จนทำให้เกิดนิสัยประจำชาติไปเลย
ท่านอาจารย์ ทุกภาษา แม้แต่ภาษาอังกฤษ ถ้าจะเลือกแปลคำต่อคำ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของหิริได้ จนกว่าจะพยายามเข้าใจอรรถว่า เป็นสภาพที่รังเกียจ ละอายที่จะเป็นอกุศล
ผู้ฟัง ขอถามเล็กน้อย ถ้าเผื่อมีความรังเกียจ ละอาย เกรงกลัวต่อบาป ที่เป็นหิริโอตตัปปะก็จะเป็นกุศล แต่บางครั้งอาจจะรังเกียจหรือกลัวที่เป็นอกุศล แต่ขณะนั้นไม่มีหิริโอตตัปปะเจตสิกได้ แล้วเวลาที่บางคนเคยถือศีล ไม่เคยกระทำทุจริต เพราะกลัวนรก กลัวจะต้องไปทนทุกข์ทรมาน อาจจะกลัวด้วยโทสมูลจิตได้ไหม
ท่านอาจารย์ ได้
ผู้ฟัง ขณะนั้นจะต่างกับกลัวที่เป็นโอตตัปปะที่เป็นกุศลอย่างไร อยากทราบลักษณะของจิตในขณะนั้น เวลาที่มีหิริโอตตัปปะเกิด ต้องเป็นกุศล ต้องเป็นความผ่องใส พูดถึงเวลาที่โอตตัปปะเจตสิกเกิดกับกุศลจิต สมมติว่าเวทนาไม่ได้เป็นโสมนัส แต่เวทนาเป็นอุเบกขา ก็มีความรู้สึกเฉยๆ แต่กลัวเห็นภัย ที่จะต้องเห็นความเดือดร้อน แต่อาจจะยังไม่มีปัญญาเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ก็มีกุศลขั้นนั้นแล้ว แต่บางคนอาจจะกลัวโดยที่ไม่มีปัญญา แต่เขาไม่ทำกุศลได้ เขาอาจไม่ทำกุศลเพราะมีอกุศลเป็นปัจจัย ให้เกิดกุศล อยากให้คุณโยมอธิบาย จะได้สังเกตลักษณะของจิตที่เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ ก็ยังคงเป็นการกลัวอกุศลนั่นเอง ในระดับหนึ่ง ในขั้นหนึ่ง มีความละอายพร้อมกับการกลัวอกุศล ไม่ใช่กลัวโทษภัยที่จะได้รับอย่างเด็กที่กลัวถูกตี หมายความว่ารังเกียจ ละอายแล้วเห็นโทษ แล้วกลัวที่จะเป็นอกุศล ไม่ใช่กลัวการที่จะถูกลงโทษแบบเด็กกลัวถูกตี
เรื่องของจิตใจของแต่ละคนนี้ก็ยากที่จะรู้ เพราะเหตุว่าเกิดดับสลับกันอย่างเร็วมาก ไม่ว่าจะเรียนเรื่องของจิตกี่ประเภท เจตสิกเท่าไร รูปเท่าไรก็ตาม แต่เพราะเหตุว่าทั้งจิต เจตสิกนี้เกิดแล้วก็ดับสลับกันอย่างเร็วมาก จนกระทั่งไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริงได้ ถ้าปราศจากสติที่ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมโดยละเอียด เพื่อให้รู้จักสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับแต่ละท่าน ตามปกติ ตามความเป็นจริง ให้ถูกต้องว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่นขึ้นมารู้ ยิ่งฟังพระธรรมมากเท่าไร ก็ยิ่งจะรู้ว่า คือธรรมที่เกิดมีแก่แต่ละบุคคลแต่ละท่านในชีวิตประจำวันจริงๆ แม้แต่หิริโอตตัปปะ หรือสติ หรือศรัทธาก็ตาม เนื่องจากเป็นสภาพธรรมที่เกิดเร็วมากและดับเร็วมาก ไม่มีการสังเกตพิจารณาเลย ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้เริ่มพิจารณาแม้ในลักษณะของหิริและโอตตัปปะ
ข้อความในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ข้อ ๒๕๕ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุกธรรม คือ ธรรมฝ่ายขาว ๒ ประการเหล่านี้ ย่อมคุ้มครองโลก ๒ ประการคืออะไรบ้าง คือ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุกธรรม ๒ ประการเหล่านี้แล ย่อมคุ้มครองโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากสุกธรรม ๒ ประการ ไม่พึงคุ้มครองโลกไซร้ ใครๆ ในโลกนี้จะไม่พึงบัญญัติคำว่ามารดา น้า ป้า ภรรยาของอาจารย์ หรือภรรยาของครู โลกจักถึงความสำส่อน เหมือนอย่างพวกแพะแกะ พวกไก่ พวกหมู พวกสุนัขบ้าน และพวกสุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะ สุกธรรม๒ ประการนี้ ยังคุ้มครองโลกอยู่ ฉะนั้น จึงบัญญัติคำว่ามารดา น้า ป้า ภรรยาของอาจารย์ หรือ ภรรยาของครู ดังนี้
นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า หิริโอตตัปปะทำให้มีความเคารพยำเกรง ต่อผู้ที่ควรเคารพ และย่อมจะมีความละอายที่จะไม่มีเคารพ
เวลาเกิดความรู้สึกไม่เคารพ ขณะนั้นรู้สึกได้เลยว่า ไม่ละอาย แต่ถ้าขณะใดละอายที่จะไม่เคารพ ขณะนั้นก็มีความเคารพ คือ หิริโอตตัปปะเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน
สำหรับเรื่องของหิริโอตตัปปะในชีวิตประจำวันที่ทรงแสดงกับพระภิกษุ ซึ่งสำหรับผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถที่จะพิจารณารู้และประพฤติปฏิบัติตาม ตามสมควร เพราะเหตุว่าสำหรับพระภิกษุแล้ว หิริโอตตัปปะจะทำให้เกิดอาจาระและโคจร ทำให้เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร
ข้อความในโมหวิจเฉทนี ฌานังควิภังค์ วินิจฉัยในบทว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน มีข้อความว่า อาจาระ เป็นไฉน
เคยได้ยินบ่อยๆ คำว่า อาจาระ
อาจาระ เป็นไฉน คือ ความไม่ล่วงละเมิดเป็นไปทางกาย ทางวาจา ความไม่ล่วงศีล เป็นต้น
อาจาระของภิกษุ คือ ความยำเกรงในทางกาย มีการเดิน การนั่ง การจงกรมข้างหลังพระเถระ ไม่เบียดเสียดภิกษุเถระ แสดงธรรมโดยขอโอกาสภิกษุเถระก่อน และไม่ด่าแช่ง
นี่คืออาจาระ คือ ความยำเกรงในทางกาย
อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรง คือ ถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะ นุ่งดี ห่มดี เป็นผู้มีอาการ มีการก้าวไปข้างหน้า เป็นต้น อันนำมาซึ่งความเลื่อมใส มีตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ เป็นผู้มีปกติทำความเคารพในอภิสมาจาริกวัตรทั้งหลาย คือ มรรยาทของการกินอยู่หลับนอน เป็นเรื่องของอภิสมาจาริกวัตร เป็นผู้มากด้วยความยำเกรง นี่เรียกว่า อาจาระ
ซึ่งคฤหัสถ์ก็ประพฤติปฏิบัติตามได้ ต่อมารดาบิดา ครู อาจารย์ หรือผู้ที่สูงวัยกว่า หรือว่าผู้ที่ควรเคารพ ในขณะนั้นก็จะสังเกตลักษณะของหิริและโอตตัปปะได้เมื่อเกิดขึ้น ซึ่งแต่ก่อนอาจจะไม่เกิด เพราะไม่รู้ แต่เมื่อรู้ลักษณะของหิริโอตตัปปะว่า เป็นโสภณธรรมก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดหิริและโอตตัปปะยิ่งขึ้นได้
สำหรับ โคจร คือ ทางไป
โคจรมี ๓ อย่าง คือ อุปนิสสยโคจร (โคจรอันเป็นอุปนิสัย) ๑ อารักขโคจร (โคจรอันควรรักษาไว้) ๑ อุปนิพันธโคจร (โคจรอันเข้าไปผูกพัน) ๑
บรรดาโคจร ๓ อย่างนั้น กัลยาณมิตรผู้ประกอบด้วยคุณ คือ กถาวัตถุ ๑๐ ชื่อว่า อุปนิสสยโคจร
การไม่แลดูทิศใหญ่ทิศน้อยด้วยเสขิยวัตร มีความเป็นผู้มีตาทอดลงเป็นต้น ในที่มีละแวกบ้าน เป็นต้น ชื่อว่า อารักขโคจร
ส่วนสติปัฏฐาน ๔ ชื่อว่า อุปนิพันธโคจร ซึ่งเป็นที่เข้าไปผูกพันของจิต ภิกษุผู้ประกอบด้วยอาจาระและโคจรนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร
สำหรับอุปนิสสยโคจร ได้แก่ กัลยาณมิตรผู้ประกอบด้วยคุณ คือ กถาวัตถุ ๑๐
ข้อความในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมวัตถุกถาสูตร ว่าด้วยกถาวัตถุ ๑๐ ประการ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของคำพูด ข้อ ๖๙ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่หอฉัน สนทนาดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก
(แม้ว่าเป็นภิกษุแล้ว ก็ยังมีการตรึก วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ในเรื่องของดิรัจฉานกถา) คือ สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนล่วงลับไปแล้ว เบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้น ฯ
มีใครไม่พูดอย่างนี้บ้าง ไม่มีใช่ไหม สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนล่วงลับไปแล้ว เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เสด็จเข้าไปยังหอฉัน ประทับนั่งบนอาสนะอันเขาตบแต่งไว้ ครั้นแล้วจึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ก็แหละกถาอะไรที่เธอทั้งหลายสนทนาค้างไว้”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตนั่งประชุมกันที่หอฉัน สนทนาซึ่งดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก คือ สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร และเรื่องอื่นๆ ต่อไปถึง เรื่องความเสื่อมและความเจริญพระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายสนทนากันถึงดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก คือ สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร ตลอดไปจนถึง เรื่องความเสื่อมและความเจริญนี้ ไม่สมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ อัปปิจฉกถา ๑ สันตุฏฐิกถา ๑ ปวิเวกกถา ๑ อสังสัคคกถา ๑ วิริยารัมภกถา ๑ สีลกถา ๑ สมาธิกถา ๑ ปัญญากถา ๑ วิมุตติกถา ๑ วิมุตติญาณทัสสนกถา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่าเธอทั้งหลายยึดถือเอากถาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้ว กล่าวเป็นกถาไซร้ เธอทั้งหลายพึงครอบงำเดชแม้ของพระจันทร์และพระอาทิตย์ ผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ด้วยเดชได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงปริพาชกอัญญเดียรถีย์ทั้งหลายเล่า
น่าสงสัยใช่ไหมว่า วันหนึ่งๆ จะพูดอะไรกัน ถ้าไม่พูดเรื่องต่างๆ เหล่านี้ แต่ว่าในขณะที่พูดนี้ สติยังเกิดระลึกได้ว่า ขณะนั้นจิตที่พูดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ไม่ใช่ว่าไม่ควรจะพูดเสียเลยทั้งหมด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่วันหนึ่งๆ จะไม่พูด เพราะถ้าไม่พูดเรื่องเหล่านี้ ก็ไม่มีเรื่องที่จะพูด ใช่ไหม แต่เมื่อมีเรื่องที่จะพูด พูดที่เป็นประโยชน์ แม้เรื่องเหล่านี้ก็พูดได้ ไม่ใช่เดรัจฉานกถา
ข้อความในอรรถกถา ปฐมวัตถุกถาสูตรที่ ๙ มีข้อความว่า
เรื่องที่เกี่ยวกับเหย้าเรือน เป็นต้นว่า ราชาพระองค์โน้น งดงามน่าชม ถ้าพูดอย่างนี้เป็นดิรัจฉานกถา แต่ถ้าพูดว่า พระราชาแม้พระองค์นั้นมีอานุภาพมากอย่างนั้น ถึงความสิ้นไป ดังนี้ ก็ยังตั้งอยู่ในความเป็นกรรมฐาน
คือถ้าพูดที่คล้อยไปในเรื่องของธรรม ที่จะให้เข้าใจธรรมว่า แม้จะเป็นพระราชาที่งดงาม แล้วก็มีอานุภาพมาก แต่ก็ไม่พ้นจากการที่จะต้องตาย หรือเรื่องของโจรก็เช่นเดียวกัน อาจจะกล่าวถึงโจรที่มีอำนาจ หรือว่าเป็นคนกล้าหาญประการต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นดิรัจฉานกถา แต่ถ้ากล่าวว่าแม้โจรนั้นๆ ก็ต้องตายเป็นธรรมดา
คือ พูดเรื่องของธรรมทุกอย่าง ขณะนั้นไม่ใช่ดิรัจฉานกถา หรือถ้าพูดเรื่องญาติด้วยความยินดีว่า ญาติของเราเป็นคนกล้าสามารถ หรือว่าแต่ก่อนนี้พวกเราพากันท่องเที่ยวด้วยยานอันวิจิตร อย่างนี้ก็ไม่ควร แต่ควรจะพูดว่า พวกญาติของเรานั้นก็ถึงความสิ้นไป ทุกอย่างนี้ ถ้าพูดในเรื่องของธรรมก็เป็นสิ่งที่ควรทั้งนั้น
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050