โสภณธรรม ครั้งที่ 019


    ตอนที่ ๑๙

    ย่อมดีกว่าขณะที่ไม่เมตตา ไม่กรุณา ไม่มุทิตา และไม่อุเบกขา แต่อย่างไรๆ ก็ไม่ยอมที่จะเปลี่ยนความคิด ถ้าเพียงแต่คิดว่า อย่างใดดีกว่ากัน กุศลดีกว่าแน่ แต่ยังทำไม่ได้ ก็ยังดีกว่า ใช่ไหม แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่า กุศลดีกว่า และยังไม่ยอมที่จะตั้งต้นทำ ซึ่งความจริงความตายทุกขณะ หมายความถึงแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ถ้าทุกคนพร้อมที่จะตั้งต้นใหม่ เกิดใหม่ทุกขณะ เพราะเหตุว่าขณะก่อนๆ ก็เป็นอโยนิโนมนสิการ ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ใครเลย เพราะฉะนั้น ถ้าจะเกิดใหม่เสียในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยการโยนิโสมนสิการ ถ้ามีความคิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ยังเป็นหนทางที่จะทำให้หิริและโอตตัปปะในวันหนึ่งๆ เพิ่มขึ้นมากทีเดียว มีความละอายต่อการที่จะมีกายที่ทำความเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่น มีความละอายที่จะมีวาจาที่ไม่ไพเราะ ที่จะทำให้คนอื่นขุ่นเคือง หรือว่าที่จะทำให้คนอื่นไม่สบายใจ

    นี่เป็นสิ่งซึ่งต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรมเท่านั้น ที่จะกระทำกิจของโสภณธรรมนั้นๆ บางท่านก็ดื้ออีกอย่างหนึ่ง ท่านใช้คำว่า ดื้อ แต่ความจริงท่านดื้อที่จะไม่เป็นอกุศล เพราะรู้ว่ากุศลย่อมดีกว่า เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะมีสิ่งที่ชักชวน หรือว่าจูงใจให้คิดในทางที่เป็นอกุศล ให้เข้าใจผิดในทางซึ่งเป็นอกุศล ท่านก็ไม่คล้อยตาม เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่มั่นคงในกุศล เพราะฉะนั้น ท่านจะใช้คำว่า ดื้อ ก็แล้วแต่ตัวท่าน ที่ท่านบอกว่าท่านดื้อ แต่ว่าถ้าท่านดื้อในทางกุศล คือดื้อที่จะไม่เป็นอกุศล อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ควรสรรเสริญ

    โดยเฉพาะท่านที่จะอบรมเจริญปัญญา ไม่ควรที่จะลืมบารมี ๑๐ ว่าจะขาดข้อหนึ่งข้อใดไม่ได้ คือ ทานบารมี ๑ ศีลบารมี ๑ เนกขัมมบารมี ๑ ปัญญาบารมี ๑ วิริยะบารมี ๑ ขันติบารมี ๑ สัจจะบารมี ๑ อธิษฐานบารมี ๑ เมตตาบารมี ๑ อุเบกขาบารมี ๑ ถ้าไม่ครบ ก็ยังอีกไกลทีเดียว ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะมีอกุศลเลย แต่ว่าลืมว่า ชีวิตในวันหนึ่งๆ นี้ ซึ่งเป็นผู้ที่จะขัดเกลากิเลส นอกจากทาน ศีล เนกขัมมะ คือ ในขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นก็เป็นเนกขัมมะด้วย ซึ่งจะต้องอาศัยวิริยะ ความเพียร ขันติ ความอดทน สัจจะ ความจริง อธิษฐาน ความตั้งใจมั่น แล้วยังต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยเมตตาและอุเบกขา

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ทุกข์เพราะความคิดที่เป็นอกุศล หิริโอตตัปปะเป็นธรรมเครื่องคุ้มครองโลก ซึ่งจะทำให้ไม่เดือดร้อนทั้งกาย วาจา ใจ เพราะเหตุว่าหิริเป็นสภาพที่ละอาย รังเกียจอกุศลธรรม และโอตตัปปะก็เป็นสภาพธรรมที่กลัวบาป กลัวอกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด แม้ว่ากุศลจิตแต่ละครั้งที่เกิด ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของโสภณเจตสิกแต่ละประเภทที่เกิดในขณะนั้นก็ตาม แต่ว่าเจตสิกที่เป็นโสภณสาธารณเจตสิกก็จะต้องเกิดขึ้นกระทำกิจการงานของตน มิฉะนั้นแล้ว ขณะนั้นก็จะเป็นกุศลจิตไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจลักษณะของหิริและโอตตัปปะว่า ไม่ใช่เป็นขณะที่ต้องแสดงกิริยาอาการรังเกียจ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของจิตใจ และสำหรับโอตตัปปะนั้นก็ไม่ใช่ความรู้สึกกลัวอกุศล แบบกลัวด้วยความไม่สบายใจ เพราะเหตุว่าถ้าหากว่าขณะเป็นความไม่สบายใจ ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เป็นโทมนัสเวทนาที่เกิดกับจิต เพราะฉะนั้น ยากที่จะรู้ลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภท เพียงด้วยคำที่ใช้ แต่ว่าต้องพยายามเข้าถึงความหมายว่า หิริก็ดี โอตตัปปะก็ดี เป็นโสภณสาธารณะ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่ถอยจากอกุศลธรรม ซึ่งในวันหนึ่งๆ ทุกชีวิต เต็มไปด้วยอกุศล เพราะฉะนั้น บางท่านจะสังเกตเห็นได้ เวลาที่กุศลจิตเกิดแทรกอกุศล ไม่ใช่ว่าเป็นกุศลอยู่ตลอดเวลา แล้วอกุศลจิตเกิดแทรก

    ลองพิจารณาดูก็ได้ว่า ท่านคิดว่าอย่างไร บางท่านอาจจะคิดว่า ท่านเป็นปกติ แล้วเกิดมีอกุศลแทรกอย่างมากมาย แต่ว่าให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า ตามความเป็นจริงแล้ว ต้องเป็นอกุศลอยู่เป็นประจำ ไหลซึมไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เมื่อเป็นสภาพที่ไหลซึม ย่อมไม่ปรากฏลักษณะให้รู้ชัด เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจว่าไม่มีอกุศล จนกว่าจะบางวันเกิดความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย ความเดือดร้อน ความไม่สบายใจ ก็คิดว่าขณะนั้นแหละ มีอกุศลเกิดแทรก แต่ตามความเป็นจริงแล้ว วันหนึ่งๆ กุศลเกิดแทรกอกุศล

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าในขณะที่ฟังพระธรรม ในขณะนี้เป็นช่วงของกุศลจิต แต่ก็ย่อมจะมีบางวาระซึ่งอกุศลจิตก็เกิดแทรกได้ตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้าไม่ใช่ในขณะที่เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ คือ ไม่ใช่ขณะที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในความสงบของจิตบ้าง ในการเจริญสติปัฏฐานบ้างแล้ว ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล ซึ่งกุศลจิตเกิดแทรกในบางวาระ

    สำหรับผู้ที่เคยเป็นคนกล้าหาญ หรือว่าเคยเก่งในอกุศลธรรม ซึ่งก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมก็มีความพอใจในความกล้าหาญ ในความเก่งที่เป็นอกุศล เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เมื่อรู้ว่าเป็นอกุศล และหิริโอตตัปปะเกิดขณะไหน ขณะนั้นก็จะถอยกลับจากอกุศล ที่เคยเข้าใจว่ากล้าหาญ ที่เคยเข้าใจว่า เก่งกล้าสามารถ แต่ว่าเป็นไปในทางอกุศลทั้งหมด หิริโอตตัปปะจะเกิดละอาย แล้วก็กลัวอกุศลธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิกก็เป็นสภาพที่ถอยจากอกุศล

    ซึ่งผู้ที่จะดับกิเลสหรือเพียรพยายามที่จะอบรมเจริญปัญญา จะต้องเป็นผู้ที่ตรง และเริ่มที่จะรู้จักตัวเองในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิกก็เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันนั่นเอง เพราะฉะนั้น การที่จะคุ้นเคยกับลักษณะของสภาพเจตสิกประเภทใดๆ ก็ตาม ก็จะต้องพิจารณารู้ความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของตน ด้วยความเป็นผู้ตรง ซึ่งจะต้องพิจารณาว่า เมื่อหิริโอตตัปปะจะเกิด ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปในบุญกิริยาวัตถุในชีวิตประจำวันนั่นเอง ซึ่งก็ควรที่จะได้พิจารณาเป็นเรื่องๆ ตั้งแต่ในเรื่องของทาน

    บุญกิริยาวัตถุที่ ๑ คือ ทาน ทานที่จะให้พิจารณาเห็นหิริโอตตัปปะก็พิจารณาได้แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อน เพราะเหตุว่ายังไม่มีผู้ใดที่สามารถจะสละได้อย่างใหญ่อย่างบรรพชิตทั้งหลาย หรืออย่างผู้ที่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทแล้ว เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนที่จะเข้าใจหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิก ก็พิจารณาได้แม้ในเรื่องทาน ในวันหนึ่งๆ จากทานเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน ถ้ามีผู้ที่ทำงานให้ในบ้าน แล้วในเรื่องของทาน ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ได้สละแม้อาหารรสอร่อยให้คนในบ้านบ้างเป็นประจำหรือเปล่า

    นี่เป็นสิ่งซึ่งจะทำให้พิจารณาเห็นหิริและโอตตัปปะได้ ถ้าเป็นคนที่ติดในรสอาหารแล้วไม่มีการสละให้บุคคลอื่นเลย แล้วยังไม่เห็นด้วยว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ที่มีความตระหนี่ มีความหวงแหน มีความเห็นแก่ตัว มีความพอใจในรสจนสละไม่ได้ แต่ถ้าเกิดระลึกได้ว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศล ควรจะมีเมตตา และมีการสละแบ่งปันให้ หิริจะเกิดไหม คือ เริ่มที่จะละอายในอกุศล คือ ความตระหนี่ หรือความเห็นแก่ตัว หรือความติดในรส

    อย่างบางท่าน ท่านก็บอกว่า ท่านเดินผ่านคนขอทาน แล้วท่านก็ไม่ให้ พอผ่านไปแล้ว ท่านก็เกิดหิริได้ว่าควรที่จะเกิดกุศลแทนอกุศล เพราะเหตุว่าที่ไม่ให้นั้นก็เพราะได้ข่าวว่า ขอทานนี้มีเงินมาก ขอทานบางคนมีเงินฝากธนาคาร เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตที่ไม่คิดจะให้ แต่เมื่อไม่ให้แล้ว หลังจากที่ได้ฟังธรรม แล้วได้เข้าใจเรื่องของหิริโอตตัปปะ ก็ยังเกิดระลึกได้ มีความละอายที่ไม่ให้ในขณะนั้น แต่ว่ามีเหตุผล คือ ยังเป็นผู้ที่พิจารณาในการไม่ให้ ไม่ใช่ด้วยความต้องการที่จะไม่ให้ แต่ไม่ให้เพราะพิจารณาเห็นว่า ผู้ที่ขอบางคนก็เป็นผู้ที่มีเงินมากแล้ว

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลอื่นซึ่งสมควรที่จะช่วยเหลือ ท่านผู้นั้นก็คงจะเกิดหิริโอตตัปปะ ถอยกลับจากอกุศล แล้วสงเคราะห์ช่วยเหลือคนที่ควรจะช่วย เพราะฉะนั้น ในการกระทำบางอย่างดูเสมือนว่าเป็นอกุศล แต่ถ้าขณะนั้นเป็นไปด้วยโยนิโสมนสิการ พิจารณาด้วยความถูกต้อง ขณะนั้นก็เป็นกุศลได้

    เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปตัดสินขณะจิตในขณะนั้นได้ นอกจากบุคคลนั้นเองเป็นผู้ที่สติเกิด ระลึกรู้ว่าขณะนั้นจริงๆ เป็นผู้ตรงไม่เข้าข้างตัวเองเลย ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล แม้คนอื่นจะบอกว่าเป็นกุศล ท่านผู้นั้นก็ต้องทราบว่าเป็นอกุศลต่างหาก เพราะเหตุว่าใครจะรู้ดีกว่าท่าน หรือแม้ว่าท่านเป็นกุศล แล้วคนอื่นจะบอกว่าเป็นอกุศล คนอื่นก็ไม่สามารถจะรู้ได้เท่ากับตัวของท่านเอง

    เพราะฉะนั้น ในเรื่องของทาน การให้ ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็เกิดหิริโอตตัปปะถอยกลับจากอกุศล ที่เป็นความตระหนี่ หรือการไม่สละวัตถุเพื่อที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น ชีวิตประจำวัน หิริโอตตัปปะจะเกิดเพิ่มขึ้นๆ เวลาที่สติเกิด

    บุญกิริยาวัตถุที่ ๒ คือ ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นอนุโมทนา สำหรับท่านที่ไม่เคยอุทิศส่วนกุศลเลย ก็เกิดหิริโอตตัปปะที่จะอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้เกิดกุศลอนุโมทนาด้วย ซึ่งแต่ก่อนนี้อาจจะเป็นเพราะไม่สนใจ หรือว่าไม่มีเวลาพอ แต่หิริโอตตัปปะก็จะเกิดขึ้น ทำให้เป็นผู้ที่มีเวลาและเห็นประโยชน์ว่า แม้กุศลที่ได้กระทำแล้ว ก็ยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผู้ที่รู้ สามารถที่จะเกิดกุศลอนุโมทนาด้วยได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็ถอยกลับจากการไม่ทำบุญและการไม่อุทิศส่วนกุศล

    บางท่านเป็นผู้ละเอียด เวลาที่ท่านต้องการทำกุศลให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด แล้วให้ท่านผู้นั้นอนุโมทนา ท่านก็นำวัตถุปัจจัยที่ท่านจะทำกุศลไปให้ท่านผู้นั้นดูด้วย เช่น ท่านจะถวายตะเกียงแก่พระภิกษุ เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ท่านต้องการให้อนุโมทนา จะเป็นผู้ที่ท่านเคารพนับถือ ท่านก็นำวัตถุปัจจัยนั้นไปให้ดู ไปให้เห็น ไปให้ชื่นชมยินดีและให้อนุโมทนาด้วย

    เพราะฉะนั้น เรื่องของแต่ละบุคคล ก็เป็นเรื่องความละเอียดของจิตใจ ซึ่งมีความแยบคายที่จะทำให้กุศลของบุคคลอื่นเกิดได้ ทั้งหมดนี้ก็ต้องเป็นเพราะหิริโอตตัปปะด้วย

    ผู้ฟัง เวลาเรามาฟังธรรมก็คิดว่าได้บุญได้กุศล ใจก็คิดว่าจะแผ่ส่วนกุศล เพราะตามหลักของธรรมว่า ควรจะแผ่ส่วนกุศล ก็เคยคิดจะแผ่ส่วนกุศลให้กับมารดา

    ท่านอาจารย์ ท่านล่วงลับไปหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังอยู่ แต่มานึกถึงว่า ในชีวิตประจำวันของท่าน ท่านไม่ค่อยได้คิดถึงผมเท่าไร นอกจากเวลาท่านได้รับความเดือดร้อนเท่านั้นเอง ท่านคงไม่ได้รับหรอก จิตของเราก็เป็นอกุศล ก็เลยไม่แผ่

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ไม่ทราบท่านผู้ฟังกลับไปแล้วแผ่บ้างหรือเปล่า หรืออุทิศส่วนกุศลให้ใครบ้าง ให้ท่านผู้นั้น ผู้นี้อนุโมทนาบ้างหรือเปล่า มีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ค่อยมี

    ท่านอาจารย์ ปกติมักจะไม่กระทำ เพราะเหตุว่าคนในบ้านย่อมทราบว่าเราทำอะไรบ้าง อย่างท่านที่มาวัด คนในบ้านก็ทราบว่าวันนี้ท่านไปไหน เพราะฉะนั้น เขาย่อมเกิดกุศลอนุโมทนาได้

    ผู้ฟัง ถ้าสำหรับที่บ้านก็อาจจะเป็นไปได้ แต่มารดาผมอยู่กันคนละที่

    ท่านอาจารย์ พูดถึงคนในบ้านก่อน หรือถ้าเขาจะไม่อนุโมทนา เขาก็ไม่อนุโมทนาทั้งๆ ที่รู้ เพราะฉะนั้น เรื่องของการกุศลนี้ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้ที่อุทิศส่วนกุศลให้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้ที่รู้จะอนุโมทนาหรือไม่ด้วย เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะให้ผู้อื่นมีโอกาส ก็อุทิศส่วนกุศล หรือเป็นผู้ที่ทราบแน่ว่าเขาจะอนุโมทนา ก็อุทิศส่วนกุศลให้ ถ้ารู้แน่ว่าท่านผู้นั้นอนุโมทนา แต่ถ้ารู้ว่าท่านผู้นั้นไม่สนใจ บอกหรือไม่บอกก็มีค่าเท่ากัน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับกุศลของท่านผู้ฟังว่าท่านจะเกิดการแบ่งส่วนกุศลให้หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น สำหรับที่บ้านก่อนจะมา เราควรจะบอกเขาไหม บอกว่าเดี๋ยวบ่ายสามโมงนี้ ฉันจะได้บุญแล้ว เธอคอยรับไว้ด้วย จะแผ่ไปให้

    ท่านอาจารย์ รับไม่ได้หรอก ก็อนุโมทนาทันทีที่ทราบก็ได้นี่ หรือว่ากลับไปก็ไม่ได้ไปทำธุระอย่างอื่น ก็ไปฟังธรรม ก็อนุโมทนาได้เหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับผู้ที่รู้ด้วย นี่อาจจะเป็นเหตุหนึ่งซึ่งบางท่านก็ไม่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ว่าสำหรับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนี้ควรจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าอยู่ในฐานะที่เมื่อรับอุทิศส่วนกุศลแล้ว สามารถที่จะพ้นจากอกุศลกรรม และได้รับผลของกุศล ก็ย่อมเป็นไปได้ แต่สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกท่านก็คุ้นเคยพอที่จะรู้อัธยาศัยว่า บุคคลใดจะอนุโมทนาหรือจะไม่อนุโมทนา เพราะฉะนั้น ก็มีบางท่านซึ่งท่านทำกุศลแล้ว ท่านก็ไม่ได้บอกใคร หรือมิฉะนั้นท่านก็เป็นผู้ที่ไม่ประสงค์ออกนาม เพราะเหตุว่าเกรงว่าแทนที่คนอื่นจะอนุโมทนา อาจจะไม่อนุโมทนาก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะแต่ละบุคคลจริงๆ

    บุญกิริยาวัตถุประการที่ ๓ คือ ปัตตานุโมทนา นี่จะเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์หิริโอตตัปปะในจิตใจของท่าน เพราะเหตุว่าเมื่อทราบว่าบุคคลอื่นทำกุศล ควรที่จะอนุโมทนา ไม่ยากเลย เพราะท่านไม่ได้เหนื่อยที่จะต้องกระทำด้วย แต่ว่ากุศลนั้นก็ได้สำเร็จไปแล้วด้วยการกระทำของคนอื่น เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้อนุโมทนาในกุศลของบุคคลนั้นจริงๆ แต่ถ้าขณะใดไม่อนุโมทนา หิริโอตตัปปะไม่เกิดแน่นอนในขณะนั้น ขณะนั้นควรที่จะได้พิจารณาว่า เพราะอะไร ซึ่งน่าที่จะเห็นได้ชัดเจน ถ้าไม่เป็นผู้ที่เข้าข้างตัวเอง และถ้าเป็นผู้ที่ตรงก็จะรู้ได้ว่า ขณะนั้น อะไรเป็นเหตุให้ไม่อนุโมทนา อวิชชา (ความไม่รู้) อหิริกะ (ความไม่ละอาย) อโนตตัปปะ (ความไม่กลัวอกุศลธรรม) เป็นเหตุให้อกุศลอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น ริษยา หรือความแข่งดีก็ได้ ความมานะสำคัญตนต่างๆ เหล่านี้ ทันทีที่ไม่อนุโมทนา ควรจะเป็นอนุสติได้แล้ว เตือนให้ระลึกได้ เพราะแม้อกุศลที่เกิดขึ้นก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทำให้เห็นสภาพของอกุศลธรรมในขณะนั้นซึ่งกำลังปรากฏ

    ใครที่ไม่เคยเห็นอกุศล ก็คงจะบอกว่าเห็นยาก ทางตาในขณะนี้ อกุศลเกิดได้อย่างไร ทางหูในขณะนี้ อกุศลเกิดได้อย่างไร แต่พอใครทำกุศลแล้วไม่อนุโมทนา เป็นเวลาที่จะเห็นอกุศลได้ชัดเจนทีเดียวว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม ซึ่งเกิดกับตัวท่านที่จะให้สังเกตให้รู้ชัดได้ทีเดียวว่า ในขณะนั้นไม่สามารถที่จะอนุโมทนาได้ แม้เพียงด้วยกุศลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

    นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง การอนุโมทนาบางครั้งก็เป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขา และบางครั้งก็เป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัส แล้วแต่กาล แล้วแต่เหตุการณ์ ถ้าเป็นกุศลที่กระทำได้ยาก และมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำ ก็เป็นปัจจัยพอที่จะให้จิตของท่านเกิดยินดีด้วย ด้วยความรู้สึกโสมนัสปีติที่ท่านผู้นั้นสามารถที่จะกระทำกุศลที่กระทำได้ยาก แต่ถ้าเป็นกุศลทั่วๆ ไปเล็กๆ น้อยๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่บุคคลที่ห่างไกล หรือเป็นบุคคลที่ห่างไกลก็ตาม แต่ถ้าเป็นกุศลซึ่งเกิดได้โดยไม่ยาก แล้วท่านก็เกิดอนุโมทนาได้ อย่างเห็นใครช่วยเหลือใครแม้เพียงเล็กน้อย พอที่จะสังเกตลักษณะของจิตในขณะนั้นได้ว่า ท่านยินดีด้วยในกุศลของคนนั้นด้วยจิตประเภทไหน ขณะนั้นเป็นอุเบกขา หรือว่าเป็นโสมนัส เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งทุกคนก็พอที่จะสังเกตเห็นลักษณะของหิริและโอตตัปปะได้เวลาที่กุศลจิตเกิด

    บุญกิริยาวัตถุประการที่ ๔ คือ ศีล ซึ่งเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ก็ย่อมจะเห็นลักษณะของหิริ โอตตัปปะได้ง่าย ใช่ไหม ในขณะที่เว้นการฆ่าสัตว์ เว้นการถือเอาสิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตน เว้นการประพฤติผิดในกาม ซึ่งเป็นไปในทางกายขณะใด ขณะนั้นก็เห็นสภาพของหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิก สำหรับทางวาจา ขณะใดที่เว้นคำพูดเท็จ คำพูดหยาบคาย คำพูดส่อเสียด คำพูดเพ้อเจ้อ ในขณะนั้นก็เห็นหิริโอตตัปปะได้เหมือนกัน เพราะเหตุว่าตามธรรมดาปกติ ทางวาจามักจะคล้อยไปในทางอกุศลโดยง่าย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เกิดวิรัติ แม้แต่คำพูดเท็จก็ไม่พูด ในขณะนั้นก็จะยิ่งสามารถเห็นลักษณะของหิริ ความละอาย ความรังเกียจอกุศลธรรมที่จะพูดเท็จในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เว้นไม่พูดเท็จ ขณะนั้นก็เห็นหิริโอตตัปปะ ขณะใดที่เว้นคำพูดหยาบคาย ขณะใดที่เว้นคำพูดส่อเสียด ขณะใดที่เว้นคำพูดเพ้อเจ้อ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต บางท่านพูดคำไม่จริงง่ายมาก จนเกือบจะเป็นปกติธรรมชาติ เพราะขาดหิริโอตตัปปะ แต่ถ้าได้ทราบเสียว่าในขณะนั้นกำลังสะสมอุปนิสัยที่เป็นอกุศล แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งต่อไปเมื่อเป็นเรื่องใหญ่ก็ย่อมจะกระทำได้โดยง่าย เพราะเหตุว่าในเรื่องเล็กน้อย ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องพูดไม่จริง ยังพูด เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็จะยิ่งมีข้ออ้าง หรือมีข้อแก้ตัวที่จะพูด แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลทางวาจา ในเรื่องของการเป็นผู้ที่พูดคำเท็จ ก็จะทำให้เกิดหิริ และระวังที่จะไม่พูดคำที่ไม่จริง

    สำหรับวจีทุจริตก็มี ๔ คือ พูดคำเท็จ ๑ พูดคำหยาบคาย ๑ พูดคำส่อเสียด ๑ พูดคำเพ้อเจ้อ ๑

    สำหรับวจีสุจริตก็มี ๔ คือ พูดคำจริง ๑ พูดคำอ่อนหวาน ๑ พูดคำไม่ส่อเสียด ๑ พูดคำพอประมาณ ๑

    แล้วในเรื่องของวาจานี้ กุศลจะละเอียดขึ้นๆ เช่น ถึงแม้จะเป็นวาจาที่มีประโยชน์ในทางโลก แต่ว่าไม่ใช่ประโยชน์ในทางธรรม ก็เป็นเดรัจฉานกถา เพราะฉะนั้น เวลาที่คำนึงถึงประโยชน์ จะต้องเข้าใจให้ชัดเจนละเอียดขึ้นว่า คำพูดใดๆ ก็ตามที่เป็นประโยชน์ในทางโลกทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่ธรรม ไม่เป็นคำพูดที่จะเป็นทางไปสู่สวรรค์ หรือมรรคผลนิพพาน คำพูดนั้นทั้งหมดเป็นดิรัจฉานกถา เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเว้นวจีทุจริตแล้วก็ตาม แต่ว่าคำพูดในวันหนึ่งๆ พูดในเรื่องของธรรมหรือเปล่า ถ้าพูดในเรื่องของธรรม ในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของความสงบของจิต ในเรื่องของการเจริญปัญญา ในเรื่องของการละอกุศล ในเรื่องของการเจริญกุศล ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ เท่านั้น ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เดรัจฉานกถา

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ คนที่เกิดมามีอกุศลจิตเป็นพื้น และเมื่อเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา หรือว่าได้ยินเสียงทางหูก็ตามแต่ อกุศลจิตย่อมเป็นไปตามอารมณ์ที่ปรากฏ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ก็คิดตามสิ่งที่เห็น ตามเสียงที่ได้ยิน แต่ว่าจะคิดถูก คิดผิดมากน้อยอย่างไร เป็นกุศล เป็นอกุศลอย่างไร บางครั้งวิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกนั้น ก็ยังไม่ถึงกับเป็นปัจจัยให้เกิดวจีวิญญัติรูป ที่จะทำให้เกิดเสียงเป็นคำพูดตามความคิดออกมา เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงความคิดในใจ แต่ก็เห็นกำลังของอกุศลอีกขั้นหนึ่ง คือ ไม่ใช่เพียงคิดในใจ แต่ก็ยังกล่าวออกมาเป็นวาจาอีก

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ เรื่องที่จะสังวร เรื่องที่จะระวัง เรื่องที่หิริจะเจริญขึ้น ที่จะมีความละอาย รังเกียจอกุศลธรรม และมีความกลัวต่ออกุศลธรรมจะเพิ่มขึ้น ถ้าพิจารณาคำพูดทางวาจา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ