โสภณธรรม ครั้งที่ 002
ตอนที่ ๒
อุปาทขณะ ขณะเกิด ฐีติขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ และภังคขณะ คือ ขณะที่ดับ แต่ว่าจะต้องมีเจตสิกที่เป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วยมากกว่าอกุศลจิต และอเหตุกจิต ซึ่งเป็น อโสภณจิต
นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วใช่ไหมว่า ทำไมกุศลจึงเกิดน้อยกว่าอกุศล เพราะเหตุว่าจะต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยมาก ครบจึงจะเกิดขึ้นได้
สำหรับโสภณเจตสิกก็คงจะชินหูบางชื่อ โสภณสาธารณเจตสิกดวงที่ ๑ คือ ศรัทธาเจตสิก ได้ยินบ่อยใช่ไหม ลักษณะของศรัทธาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส สะอาด เปรียบเหมือนสารส้ม หรือแก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว น้ำขุ่นๆ ถ้าแกว่งสารส้มลงไป ก็จะทำให้น้ำนั้นใส ฉันใด เวลาที่ศรัทธาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ผ่องใส สะอาดเกิดขึ้น ก็ทำให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น เป็นสภาพธรรมที่สะอาด ผ่องใส เมื่อศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลทั้งหลายซึ่งก็เปรียบเหมือนกับโคลนตม ก็ย่อมจะจมลง คือ เกิดไม่ได้ เพราะขณะนั้นศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่เลื่อมใสในกุศลธรรม
ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบาย “สัทธินทรีย์” มีข้อความว่า
ที่ชื่อว่า ศรัทธา เพราะเป็นเหตุให้เชื่อ หรือเชื่อเอง หรือเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น
เชื่อในที่นี้ คือ เลื่อมใสในกุศล
ก็ศรัทธานั้น ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะเป็นสภาพที่เป็นใหญ่
เพราะเหตุว่าในขณะนั้นครอบงำอกุศล ทำให้อกุศลเกิดไม่ได้ และก็ครอบงำความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา
ก็ศรัทธา มีการเลื่อมใสเป็นลักษณะ มีความแล่นไปเป็นลักษณะ คือ ศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นย่อมข่มนิวรณ์ทั้งหลายเสียได้ ย่อมยังกิเลสให้ระงับ ทำให้จิตผ่องใส ซึ่งเมื่อบุคคลใดมีจิตเลื่อมใสแล้ว ย่อมจะถวายทาน หรือสมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เจริญภาวนา ศรัทธาอย่างนี้แหละ พึงทราบว่า มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ
ได้ยินชื่อ ศรัทธาบ่อยๆ และเป็นผู้ที่มีศรัทธา แต่ก็ต้องรู้ลักษณะของศรัทธาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกดวงหนึ่งในเจตสิก ๑๙ ดวง ซึ่งเกิดกับกุศลจิต และกุศลทุกประเภทขาดศรัทธาไม่ได้เลย เช่นเดียวกับจะขาดเจตสิกอื่นๆ ที่เป็นโสภณสาธารณะ ๑๙ ดวงไม่ได้เลย ถ้าไม่มีศรัทธาจะให้ทานไหม ถ้าไม่มีศรัทธาจะรักษาศีลไหม ถ้าไม่มีศรัทธาจะฟังธรรมไหม ถ้าไม่มีศรัทธาจะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไหม เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ศรัทธานั้นเป็นสภาพธรรมที่นำกุศลธรรมอื่นๆ
ผู้ฟัง จะเล่าศรัทธาที่เกี่ยวกับตัวเอง เมื่อเริ่มศึกษาธรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ขณะนั้นมีศรัทธา แต่ไม่รู้ว่าศรัทธานี้เป็นเจตสิก ไม่รู้ ก็เพิ่งมารู้เมื่อศึกษาธรรมว่า ศรัทธานี่เป็นเจตสิกดวงหนึ่ง แต่ศรัทธาในขณะนั้น สภาพของมันก็คือว่า ชีวิตนี้ไม่แน่นอน สุขได้มา เดี๋ยวก็แปรผันไป ทุกข์ได้มา ก็เศร้าหมอง เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ๓๐ กว่าปี คิดว่าธรรมของพระพุทธองค์นี้ คงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็เกิดศรัทธา ตอนนั้นมีศรัทธาแรง ถึงขนาดเรียกว่า ไม่เป็นปกติเลย หลายๆ อย่าง ไม่เป็นปกติ เช่น เห็นใครไม่ดีเราจะต้องว่าเขา เป็นศรัทธาที่ไม่เป็นปกติ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า ลักษณะของอกุศลกับกุศลใกล้เคียงกันมาก อย่างลักษณะของโลภมูลจิตกับลักษณะของมหากุศลจิต โลภมูลจิตก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนา มหากุศลจิตก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น โดยเวทนา จะแยกไม่ออกว่าขณะไหนเป็นโลภมูลจิต ขณะไหนเป็นกุศลจิต แต่ด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ความเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า ลักษณะไหนเป็นลักษณะของโลภะ ลักษณะไหนเป็นลักษณะของศรัทธา มิฉะนั้นแล้ว ก็จะปนกัน แล้วคิดว่าโลภะนั่นแหละเป็นศรัทธา ความพอใจ ความต้องการ หรือมิฉะนั้น แม้ว่าเป็นความเห็นผิด เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่เชื่อ ขณะนั้นก็เข้าใจว่าความเชื่อนั้น คือ ศรัทธา เพราะเป็นลักษณะของความเลื่อมใส แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่
ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเป็นความเห็นผิดในความเห็นในเรื่องโลก ในความเห็นในเรื่องข้อประพฤติปฏิบัติทั้งหมด เป็นอกุศลเจตสิกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นทิฏฐิเจตสิก แต่เพราะโลภะมีความพอใจ มีความชอบในความเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็เกิดความติด เมื่อเกิดความติดก็มีการสละ มีการกระทำทุกอย่าง เพื่อที่จะเผยแพร่หรือประพฤติปฏิบัติตามความคิดเห็นอย่างนั้น แต่ขณะนั้นไม่ทราบหรอก ว่าไม่ใช่ลักษณะของศรัทธาเจตสิกเลยสักนิดเดียว เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพที่ผ่องใสเป็นกุศล เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าโลภเจตสิกเป็นสภาพที่พอใจ แต่ไม่ผ่องใส เพราะเหตุว่าเป็นอกุศล มิจฉาทิฏฐิเป็นความเห็นผิด ไม่ใช่ความเห็นถูก เพราะฉะนั้น ความเชื่อในความเห็นผิดนั้นไม่ใช่ศรัทธาเจตสิก
ด้วยเหตุนี้ถ้าจะใช้คำว่า ความเชื่อ สำหรับลักษณะของศรัทธา ก็จะต้องรู้ว่าเป็นความเชื่อในกุศลธรรม ถ้าจะใช้ในความหมายที่ว่า เป็นความเลื่อมใส ก็จะต้องเป็นความเลื่อมใสด้วยจิตที่ผ่องใส ไม่ใช่จิตที่ประกอบด้วยอกุศล ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หนัก
ผู้ฟัง คือสรุปแล้วที่คิดว่าเป็นศรัทธานั้นไม่ใช่ มันเป็นความเชื่อ ไม่ได้ผ่องใส และไม่ได้เป็นกุศล เพราะตอนนั้นยังไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลย
ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจอะไร แล้วเชื่ออะไร
ผู้ฟัง เชื่อพระธรรม แต่ก็คงจะมีอยู่บ้าง
ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นว่า ลักษณะของศรัทธามีตั้งแต่น้อยนิดเดียว จนไม่ได้สังเกต จนกระทั่งเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ จนกระทั่งเป็นพละ เป็นสภาพที่มีกำลัง ไม่หวั่นไหว อกุศลทั้งหลาย เช่น อวิชชา หรือโลภะ หรือโทสะ ก็มีหลายระดับขั้น คือ มีตั้งแต่ขุ่นใจนิดๆ จนกระทั่งเป็นความผูกโกรธ เป็นความพยาบาท เป็นความอาฆาต ฉันใด ทางฝ่ายโสภณธรรม ก็ฉันนั้น คือ แม้แต่ลักษณะของศรัทธา ก็มีในขณะที่กุศลจิตเกิด จะปราศจากศรัทธาเจตสิกไม่ได้เลย แต่ว่าน้อยจนกระทั่งไม่สามารถจะสังเกตเห็นได้
ผู้ฟัง ก็เห็นด้วยกับอาจารย์ คงจะเป็นศรัทธาน้อยๆ จะว่าเป็นบุญเก่าหรือกรรมเก่า ก็นำมาจนถูกทางจนได้
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะใดที่เป็นความเห็นถูกในพระธรรมเพิ่มขึ้น ขณะนั้นจะต้องรู้ว่า เป็นกุศล แต่เวลาที่เป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เกือบจะไม่มีเครื่องเปรียบเทียบว่า เป็นโลภมูลจิตหรือว่าเป็นศรัทธา เพราะเหตุว่าศรัทธาต้องเป็นความเลื่อมใสในทางที่เป็นกุศล ในกุศลธรรม
ผู้ฟัง แต่ในขณะนั้นก็ได้รับทุกๆ อย่าง ทั้งมิจฉาทิฏฐิ ทั้งอะไรๆ และเชื่อว่านำมาถูกทางแล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องสังเกตอย่างละเอียดจริงๆ ถ้ามีความติดในพระเครื่อง ขณะนั้น เป็นอะไร ต้องเป็นผู้ที่ตรง ไม่อย่างนั้นแยกไม่ได้แน่ๆ ว่าเป็นอกุศลจิตรึกุศลจิต
ถาม ขณะที่ให้ทาน ต้องมีศรัทธาเสมอไปหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้ากุศลจิตเกิดขณะใด ต้องมีศรัทธาเจตสิกขณะนั้น
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นการให้ทาน อาจจะมีอกุศลจิตก็ได้ บางครั้งให้ด้วยความจำใจ ไม่ได้ให้ด้วยความรัก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตเกิดดับเร็ว ที่จะรู้ได้จริงๆ ต่อเมื่อสติระลึกในขณะนั้นว่า เพราะอะไร ให้เพราะอะไร ถ้าให้เพราะหวังการตอบแทน จะเหมือนลักษณะของการแลกเปลี่ยนหรือเปล่า ขณะนั้นจิตผ่องใสไหม หรือหวัง หรือต้องการ แม้ว่าอาการกิริยาภายนอกเป็นการให้ แต่จิตในขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต
ผู้ฟัง อย่างการเสียสละ บางคนเขาก็ว่าไม่มีศรัทธา หรือไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ หรือศาสนาอะไร แต่เขาให้เพราะคนช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่ดูแล้วไม่น่าจะมีความผ่องใส หรืออะไรเลย ซึ่งเป็นลักษณะของศรัทธา
ท่านอาจารย์ กุศลจิตเป็นปรมัตถธรรม ใช่ไหม ไม่มีเชื้อชาติ ไม่จำกัดผิวพรรณวรรณะ เป็นอนัตตา ไม่ว่าจะเกิดกับใครที่ไหน เมื่อไร สัตว์ดิรัจฉานก็มีกุศลจิตได้ เมื่อมีเหตุที่จะให้กุศลจิตเกิด มนุษย์ก็มีกุศลได้ มีอกุศลได้ ผิวพรรณวรรณะใดก็มีกุศลได้ มีอกุศลได้
ถ้าพูดถึงปรมัตถธรรม ศาสนาอื่น ลัทธิอื่นเป็นความเห็น ความเชื่อ ขณะที่โลภมูลจิตเกิดพร้อมกับความคิดเห็นอย่างนั้น ที่ติดพอใจในความเห็นอย่างนั้น คนละขณะกับขณะที่คิดช่วยเหลือหรือเปล่า แม้ว่าความเชื่อนั้นมั่นคงจนเกิดแทรกเข้ามาอีกได้ แต่ขณะที่มีจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้น จะไม่มีเลยหรือ เมื่อไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนา
จิตใจที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีแต่ศาสนาหนึ่งศาสนาใด จิตใจที่เห็นว่า คนอื่นก็ต้องการความสุขเหมือนกับตนเอง เป็นผู้ที่เมตตา คิดที่จะอนุเคราะห์สงเคราะห์ให้คนอื่นมีความสุข ก็เป็นขณะจิตหนึ่ง ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่จำกัดเชื้อชาติ ไม่จำกัดศาสนาเหมือนกัน ขณะนั้นจิตนั้นที่ต้องการช่วยเหลือบุคคลอื่น เป็นจิตที่ผ่องใสไหม ไม่มีอกุศลเกิดในขณะนั้น เป็นจิตที่สะอาด ไม่ว่าจะเป็นจิตของใคร ไม่ได้หมายความว่าถ้าคนอื่น ศาสนาอื่น แล้วจะไม่มีศรัทธาเสียเลย เพราะกุศลจิตที่เกิดขณะใด ที่จะเป็นกุศลได้ เพราะศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตนั้น จิตนั้นจึงเป็นกุศลจิตได้
ผู้ฟัง เข้าใจว่า ศรัทธานี้แปลว่า ความเชื่ออย่างเดียว ในทางที่ถูกเท่านั้น เข้าใจมาอย่างนี้
ท่านอาจารย์ แล้วคนที่ไม่เชื่ออะไรเลย กุศลจิตเกิดได้ไหม เป็นคนใจดีน่ะ จิตใจดีเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นก็เป็นกุศลแล้ว โดยที่ไม่ต้องเชื่ออะไร ในยุคนี้สมัยนี้ คนที่ไม่เชื่อลัทธิหนึ่งลัทธิใด ดูจะมีมาก ใช่ไหม แต่ว่าจิตใจที่ดีงาม ที่เป็นกุศล ที่ช่วยเหลือคนอื่นก็เกิดได้ ขณะนั้นศรัทธาเจตสิกเป็นสภาพที่เลื่อมใสในกุศล แต่ว่าไม่ใช่ในลัทธิ ไม่ใช่ในความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นความเลื่อมใสในกุศล จึงทำกุศลในขณะนั้น
เลื่อมใสในที่นี้ ไม่ใช่หมายความว่าต้องมีความเชื่อว่า นี่เป็นกุศล แต่ว่าสภาพของจิตที่ผ่องใสสะอาด ซึ่งครอบงำอกุศล ทำให้อกุศลเกิดไม่ได้ในขณะนั้น เพราะเหตุว่าศรัทธาเกิดแล้ว ใครจะบอกว่าไม่ให้ให้ เขาก็จะให้ ใครบอกว่าไม่ให้ช่วย เขาก็จะช่วย เพราะว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา เป็นศรัทธาเจตสิก
เพราะฉะนั้น ไม่จำกัดไม่ใช่ว่าจะต้องเชื่อในพระพุทธศาสนา แล้วจึงจะเป็นศรัทธา แต่ว่าท่านที่เชื่อในพระธรรมคำสอน ก็เพิ่มศรัทธาขึ้นในพระธรรมคำสอนด้วย มีความผ่องใส เลื่อมใสยิ่งขึ้น เมื่อมีความเข้าใจในเหตุผลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จะต้องศึกษาแล้วพิจารณาโดยละเอียดว่า แต่ละขณะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้นเป็นอกุศล หรือเป็นกุศลอย่างไร
สำหรับลักษณะของศรัทธาเจตสิก เป็นโสภณเจตสิก ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย เพราะ ฉะนั้น ศรัทธาไม่ใช่โลภะ โลภะเป็นอกุศลเจตสิก เกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น แต่ศรัทธาเจตสิกเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น แม้ว่าดูเสมือนว่าคล้ายๆ กัน ในบางอย่าง ในการกระทำบางอย่าง แต่แม้กระนั้นเมื่อพิจารณาแล้ว ก็พอที่จะรู้ได้ว่า ศรัทธานั้นต้องเป็นความเลื่อมใสในคุณธรรม แต่ว่าสำหรับโลภะนั้นเป็นความติดหรือเป็นความพอใจ เป็นความต้องการ ซึ่งขอเปรียบเทียบลักษณะของเจตสิก ๓ ดวง ซึ่งในบางแห่งอาจจะใช้พยัญชนะเหมือนกัน แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมต่างกัน
ลักษณะของโลภะ มีการรับอารมณ์ คือมีการพอใจในอารมณ์ เป็นลักษณะ ราวกะความตะกรุมตะกรามแห่งลิง ฉะนั้น
นี่เป็นคำอุปมาที่จะแสดงให้เห็นลักษณะของความต้องการอย่างรวดเร็วของจิตของแต่ละคน จากอารมณ์ทางตาไปสู่อารมณ์ทางหู ไปสู่อารมณ์ทางจมูก ไปสู่อารมณ์ทางลิ้น ไปสู่อารมณ์ทางกาย ไปสู่อารมณ์ทางใจ จิตเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเห็น โลภะก็พอใจ ไม่ว่าจะได้ยิน โลภะก็พอใจ เพราะฉะนั้น ถ้าหลงลืมสติจะเห็นความรวดเร็วของโลภะว่า ช่างคล้ายๆ กับลักษณะที่ตะกรุมตะกรามแห่งลิง ฉะนั้น รวดเร็วถึงอย่างนั้น ที่จะพอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ
มีการข้องติดอยู่ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ ราวกะชิ้นเนื้อที่โยนไปบนกระเบื้องอันร้อน นี่เป็นลักษณะที่ติดแน่นทีเดียว
มีความไม่สละรอบ เป็นปัจจุปัฏฐาน ราวกะย้อมด้วยการทาน้ำมัน ฉะนั้น เวลาที่โลภะเกิด มีความพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม จะไม่สละสิ่งนั้นทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะเห็นได้ว่าวันหนึ่งๆ นี้ ช่างสละน้อยเสียจริงๆ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่าขณะที่โลภะเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นมีการไม่สละรอบ ทุกอย่างสละไม่ได้ ในขณะที่พอใจ
มีความเห็นว่า ควรยินดีในสังโยชนธรรมทั้งหลาย เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด คือ เห็นความน่ายินดีของสิ่งที่ทำให้เกิดความผูกพัน เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
ถ้าพิจารณาจริงๆ ก็จะรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นอกุศลจิต ซึ่งอาจจะเข้าใจว่า ขณะนั้น เป็นกุศล ความจริงไม่ใช่ ถ้าสติเกิดพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นเป็นความติด ไม่ใช่เป็นกุศล
สำหรับลักษณะของศรัทธา คือ ศรัทธามีความเชื่อ เป็นลักษณะ แต่ความเชื่อในที่นี้ต้องเป็นความเชื่อในกุศลธรรม
มีความเลื่อมใส เป็นรสะ เหมือนแก้วมณีที่ทำให้น้ำใส ไม่ขุ่นมัว
หรือ มีการแล่นไปหรือนำไป เป็นรสะ คือ เป็นกิจ ราวกะวีรบุรุษผู้ข้ามห้วงน้ำ เพราะว่าธรรมดาคนขลาดไม่กล้าข้ามน้ำที่มีสัตว์ร้ายชุกชุม แต่เมื่อมีนักรบที่แกล้วกล้าในการสงครามมาถึง ก็ถามว่า ทำไมพวกท่านถึงหยุดอยู่ ไม่ข้ามไป พวกนั้นก็กล่าวว่ากลัวภัย ไม่กล้าข้าม นักรบก็บอกให้คนเหล่านั้นตามไป แล้วก็ก้าวลงสู่แม่น้ำ เอาดาบป้องกันสัตว์ร้ายทั้งหลาย ทำให้คนเหล่านั้นปลอดภัยจากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งโน้น จากฝั่งโน้นมาสู่ฝั่งนี้ ฉันใด เมื่อบุคคลให้ทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถกรรม เจริญภาวนา ศรัทธาย่อมเป็นหัวหน้านำไป ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น ศรัทธานี้เป็นโสภณสาธารณเจตสิกดวงแรกที่ทรงแสดงไว้ เพราะเหตุว่ามีลักษณะนำมาซึ่งกุศลทั้งหลายเวลาที่ศรัทธาเกิด
ศรัทธามีความไม่ขุ่นมัว เป็นปัจจุปัฏฐาน คือเป็นอาการปรากฏ หรือมีการน้อมใจเชื่อ เป็นปัจจุปัฏฐาน
มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา เป็นปทัฏฐาน หรือมีโสตาปัตติยังคธรรม เป็นปทัฏฐาน พึงเห็นเป็นดุจมือ ทรัพย์สมบัติ และพืช ฉะนั้น
นี่คือลักษณะของศรัทธา
ที่ว่า ศรัทธาพึงเห็นราวกะว่ามือ เพราะเหตุว่าศรัทธานั้นมีสภาพถือไว้ซึ่งกุศลธรรม ไม่ปล่อยกุศล ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดทั้งสิ้น ขณะนั้นเมื่อศรัทธาเกิด ศรัทธาก็เหมือนกับถือเอากุศลนั้น
ศรัทธาพึงเห็นราวกะว่าทรัพย์ เพราะเหตุว่าทรัพย์เป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งสิ่งที่น่าปลื้มใจ น่าพอใจทั้งปวงมาให้ ฉันใด ศรัทธาก็ฉันนั้น และศรัทธานั้นย่อมนำสิ่งที่น่าปลื้มใจแห่งสมบัติทั้งปวงนั้น ยิ่งกว่าทรัพย์ในทางโลก เพราะเหตุว่าศรัทธานั้นย่อมนำมาให้ทั้งสมบัติทางโลก และสมบัติทางธรรมทุกขั้น
ที่ว่า ศรัทธาพึงเห็นราวกะพืช เพราะเหตุว่าพืชย่อมผลิตผลให้มากมายฉันใด ศรัทธาก็ผลิตผลมากมายราวกะเมล็ดพืชฉันนั้น
นี่เป็นลักษณะของศรัทธา ซึ่งข้อความในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ธนสูตร ข้อ ๔๗ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทรัพย์ในธรรม ๕ ประการ
ทรัพย์ ๕ ประการ คือ ทรัพย์ คือ ศรัทธา ๑ ทรัพย์ คือ ศีล ๑ ทรัพย์ คือ สุตะ ๑ ทรัพย์ คือ จาคะ ๑ ทรัพย์ คือ ปัญญา ๑
ซึ่งข้อความตอนท้ายพระสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ผู้ใดมีความเชื่อในตถาคต ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว มีศีลอันงาม อันพระอริยะชอบใจ สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นที่ตรง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า ไม่เป็นคนขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อนึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ปสาทะ และความเห็นธรรมเนืองๆ เถิด ฯ
จบสูตรที่ ๗
ลักษณะของโลภะ ลักษณะของศรัทธาต่างกัน และลักษณะของศรัทธา ไม่ใช่ลักษณะความเชื่อทั่วไป แต่ว่าต้องเป็นความเชื่อในกุศลธรรม
สภาพของเจตสิกอีกดวงหนึ่ง ซึ่งอาจจะดูคล้ายกับศรัทธา คือ อธิโมกขเจตสิก
อธิโมกข์ มีความตกลงใจ เป็นลักษณะ มีความไม่กระเสือกกระสน เป็นรสะ มีการตัดสินใจ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ มีธรรมที่พึงตกลงใจ เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด พึงเห็นราวกะเสาเขื่อน ด้วยความไม่คลอนแคลนในอารมณ์
เพราะฉะนั้น เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง และวิจิกิจฉา โมหมูลจิต ๑ ดวง จิตอื่นๆ ก็มีอธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าสำหรับอกุศลเจตสิก โลภมูลจิตแล้วนอกจากอธิโมกขเจตสิกก็มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ทางฝ่ายกุศลนั้น นอกจากอธิโมกขเจตสิกแล้ว ก็มีศรัทธาเจตสิก และโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย
บางท่านเข้าใจว่า ท่านมีศรัทธา จนกว่าปัญญาจะเกิด ถึงจะรู้ได้ว่า แท้ที่จริงหาใช่ศรัทธาไม่ แต่ว่าในขณะที่ปัญญายังไม่เกิด ก็ยังไม่รู้ ก็ยังเข้าใจว่าขณะนั้นๆ เป็นศรัทธา เพราะบางครั้งเป็นโลภมูลจิต และบางครั้งเป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ และบางครั้งก็เป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ ไม่เกิดร่วมกับปัญญา แต่ก็มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และบางครั้งก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ มีศรัทธาและมีปัญญาเกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้น ลักษณะของศรัทธาเจตสิกก็เกิดกับโสภณจิต โดยที่ปัญญาเจตสิกไม่เกิดร่วมกับศรัทธาได้ แต่ขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นก็ต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความเจริญที่ประเสริฐ ซึ่งเป็นความเจริญของจิตใจ ไม่ใช่ความเสื่อมของจิตใจ หรือว่าไม่ใช่ความเจริญของวัตถุ
ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สัญญาวรรคที่ ๒ วัฑฒิสูตร ที่ ๑ ข้อ ๖๓
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้เจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการ ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญอย่างประเสริฐ ชื่อว่าเป็นผู้ยึดถือสาระ และยึดถือสิ่งประเสริฐแห่งกาย ธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ย่อมเจริญด้วยศีล ย่อมเจริญด้วยสุตะ ย่อมเจริญด้วยจาคะ ย่อมเจริญด้วยปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้เจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการนี้แล ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญอย่างประเสริฐ ชื่อว่าเป็นผู้ยึดถือสาระ และยึดถือสิ่งประเสริฐแห่งกาย ฯ อริยสาวกผู้ใด ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาทั้งสองฝ่าย อริยสาวกผู้เช่นนั้นเป็นสัปบุรุษ มีปรีชาเห็นประจักษ์ ชื่อว่าย่อมยึดถือสาระแห่งตนในโลกนี้ไว้ได้ทีเดียว ฯ
นี่คือผู้ที่เห็นความเจริญที่ถูกที่ควร ซึ่งเป็นความเจริญที่ประเสริฐ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความเจริญทางด้านวัตถุ ไม่ใช่ความเสื่อมของจิต แต่ต้องเป็นความเจริญของจิตด้วยความเจริญแห่งศรัทธา
เมื่อมีศรัทธาแล้ว ย่อมเจริญด้วยศีล ย่อมเจริญด้วยสุตะ ย่อมเจริญด้วยจาคะ ย่อมเจริญด้วยปัญญา
ซึ่งทุกท่านก็จะพิจารณาตนเองได้จากการฟังพระธรรมว่า มีศรัทธาเพิ่มขึ้น มีสุตะเพิ่มขึ้น มีจาคะเพิ่มขึ้น มีปัญญาเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยในวันหนึ่งๆ ซึ่งปกติแล้ว กุศลที่เกิดในแต่ละวันนี้ ยากที่จะเห็นลักษณะของศรัทธา ถ้ากุศลนั้นเป็นกุศลเล็กๆ น้อยๆ เช่น ในเรื่องของทาน ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ซึ่งชีวิตประจำวันของทุกๆ ท่าน ก็มีการสละวัตถุให้บุคคลอื่น เช่น บุคคลในบ้าน มีการคิดถึงความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายของบุคคลในบ้าน อาจจะเป็นผู้รับใช้ และมีการสละวัตถุสิ่งของเพื่อให้เขามีความสะดวกสบายขณะใด ทำจนชินก็อาจจะไม่รู้ว่า แท้ที่จริงในขณะนั้นมีศรัทธาเจตสิกเกิดกับกุศลจิต จึงเป็นเหตุให้กระทำทาน แม้เพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้ หรือว่าบางครั้งอาจจะไม่กระทำด้วยตนเอง เพียงการเอ่ยวาจาให้คนอื่นให้ทาน ขณะนั้นก็เป็นศรัทธาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต ซึ่งอาจจะไม่มีการพิจารณาสังเกตเห็นเลย แต่ว่าให้ทราบว่า ในขณะนั้นก็มีศรัทธาเจตสิกแล้ว
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050