โสภณธรรม ครั้งที่ 020


    ครั้งที่ ๒๐

    ข้อความในอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๓ ข้อความโดยย่อมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ววัสสการพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า

    นี่เป็นวิตก วิจารเจตสิกซึ่งกำลังคิดอย่างนั้น และเป็นปัจจัยให้มีวจีวิญญัติรูป ทำให้เกิดวาจาอย่างนั้น ที่วัสสการพราหมณ์กล่าวว่า

    “ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนเห็นว่า เราเห็นอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนได้ฟังมาว่า เราได้ฟังมาอย่างนี้โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ทราบทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ว่า เราทราบอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนรู้แจ้งทางใจ คือ ที่ตนคิด ว่า เรารู้แจ้งอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี

    นี่เป็นความเห็นของวัสสการพราหมณ์

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรพราหมณ์ เราไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว ดูกรพราหมณ์ แท้จริง เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรกล่าว แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นนั้นว่า ควรกล่าว”

    สิ่งที่ได้ฟัง สิ่งที่ได้ทราบ สิ่งที่รู้แจ้งทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน

    ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ในแคว้นมคธ ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป ฯ

    นี่ก็เป็นหิริโอตตัปปะได้ ที่จะได้พิจารณาสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ทราบทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และสิ่งที่รู้แจ้ง คือ คิดนึกทางใจว่า สิ่งใดควรกล่าว และสิ่งใดไม่ควรกล่าว มิฉะนั้นแล้ว หิริโอตตัปปะก็จะไม่เป็นธรรมที่คุ้มครองโลก แต่เพราะเหตุว่าหิริละอายต่ออกุศล โอตตัปปะกลัวต่ออกุศล จึงเป็นธรรมที่คุ้มครองโลก ไม่ให้เดือดร้อนทั้งทางกาย ทั้งวาจาและใจ

    ไม่มีท่านผู้ใดทราบว่า วัสสการพราหมณ์มีหิริโอตตัปปะในขั้นใด และในเรื่องใดบ้าง แต่เมื่อได้ฟังก็ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค แต่ว่าเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว วัสสการพราหมณ์ก็เกิดเป็นลิงในป่าไผ่ เพราะเหตุว่าท่านได้กล่าวคำที่ไม่สมควรถึงท่านพระมหากัจจายนะ แล้วไม่มีหิริโอตตัปปะที่จะขอโทษ แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงพยากรณ์ว่า ถ้าท่านไม่ขอให้ท่านพระมหากัจจายนะอดโทษให้ ก็จะเกิดเป็นลิงในป่าไผ่ ท่านก็ให้คนไปปลูกต้นกล้วย ของกิน ของเคี้ยวของลิงไว้ พร้อมที่จะไปเกิดเป็นลิง เพราะเหตุว่าหิริโอตตัปปะไม่เกิดพอที่จะเห็นโทษของอกุศล

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ ณ พระวิหารเวฬุวัน เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ก็ยังเป็นโอวาทที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาเตือนพุทธบริษัท ผู้ที่ยังไม่เกิดหิริโอตตัปปะในเรื่องใดให้พิจารณา ให้เห็นการที่ควรจะเพิ่มหิริโอตตัปปะขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ว่าก็ไม่มีใครรู้อกุศลของแต่ละคน ว่าจะเกิดมีกำลังขึ้นมาขณะไหน หรือว่าเกิดจะเป็นผู้ที่ว่าง่าย อ่อนโยน พร้อมที่จะเกิดหิริโอตตัปปะในอกุศลในขณะใด

    บุญกิริยาวัตถุประการที่ ๕ คือ อปจายนะ ความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม นี่ก็เป็นการกระทำทางกายที่ย่อมจะเห็นสภาพของหิริโอตตัปปะได้ เพราะเหตุว่าในขณะใดที่เกิดความรังเกียจ ละอายอกุศล และความกลัวอกุศล ขณะนั้นจิตจะอ่อนน้อม เคารพในคุณธรรมของผู้ที่ควรเคารพ ไม่เป็นผู้ที่กระด้าง ไม่อ่อนน้อม ไม่อ่อนโยน ซึ่งย่อมไม่เป็นที่รักของใครๆ

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะพิจารณาเห็นได้ ใครซึ่งเป็นที่รักของใครๆ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่อ่อนน้อม แต่ใครซึ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นผู้ที่แข็งกระด้าง ไม่อ่อนโยน ซึ่งอาการที่แข็งกระด้างนี้ ถ้าขณะนั้นไม่พิจารณาจิตใจ อาจจะไม่ทราบว่า เป็นผู้ที่สะสมมาในทางที่เป็นผู้ที่มีความสำคัญตน บางคนก็อาจจะคิดว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนที่มีความสามารถ ก็เลยไม่สนใจในบุคคลอื่น ก็เป็นได้

    และในขณะที่ไม่สนใจบุคคลอื่น ถ้าขาดการพิจารณาว่าในขณะนั้นมีความสำคัญในตนเองหรือเปล่า ตราบใดที่ยังไม่เห็น หิริโอตตัปปะก็ไม่เกิด แต่เมื่อเห็นตราบใด จึงจะรู้ว่าในขณะนั้น แม้แต่ความเก่งในความสามารถ หรือความสำคัญตนนั้นก็เป็นอกุศล ซึ่งอาจจะมีอกุศลอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น เมื่อมีความสำคัญตนก็จะเป็นเหตุให้เกิดความลบหลู่คนอื่น โดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ หรืออาจจะมีการตีเสมอบุคคลอื่น เพราะเห็นว่าตนเองก็เป็นผู้ที่มีความสามารถ หรืออาจจะเป็นผู้ที่เมื่อมีความสามารถแล้ว ก็เลยแข่งดีกับคนอื่นซึ่งก็มีความสามารถด้วย หรือว่าอาจจะไม่พอใจ เวลาที่บุคคลอื่นมีความสามารถมากกว่าตน ซึ่งความไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ นี้ ก็จะเป็นความขุ่นเคืองใจ ที่จะเป็นความผูกโกรธ ทำให้มีความโกรธเกิดขึ้นได้โดยง่าย หรือว่าถ้าคิดถึงบุคคลที่ไม่พอใจก็โกรธขึ้นมาอีก แล้วก็โกรธต่อไปอีกนาน ในขณะนั้นทั้งหมดหิริโอตตัปปะไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น เพียงกายก็เตือนตัวเองได้ใช่ไหม ขณะไหนที่อ่อนน้อม อ่อนโยน ขณะนั้นก็เห็นลักษณะของหิริโอตตัปปะ ซึ่งเป็นสภาพที่มีความเคารพในคุณธรรมของบุคคลอื่น ขณะใดที่เกิดกาย วาจาแข็ง ขณะนั้นก็พอที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นอหิริกะและอโนตตัปปะ

    บางท่านก็อาจจะรู้สึกเบื่อ หรือว่ารำคาญ คล้ายๆ กับเป็นเรื่องที่ฟังดูน่ารำคาญที่จะพูดถึงแต่เรื่องของอกุศลธรรม ทำไมไม่พูดถึงเรื่องดีๆ อย่างเรื่องของกุศลบ่อยๆ แต่ให้ทราบว่าทุกคนมีอกุศลเป็นประจำ แต่ว่าส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัว เห็นอกุศลของคนอื่นนี้ เห็นง่าย แต่ว่าเห็นอกุศลของตนเองนี้เห็นยาก อกุศลของตัวเองนี้อภัยง่าย แต่ว่าอกุศลของคนอื่น ไม่ได้อภัยง่ายอย่างที่อภัยให้อกุศลของตนเองเลย เวลาที่ทำอะไรผิด ก็รู้สึกว่าทำผิดเท่านั้นก็เลิกโกรธแล้ว ใช่ไหม แต่ว่าถ้าคนอื่นทำผิด โกรธไปอีกนาน อาจจะเป็นเดือน เป็นปี หรือว่าอาจจะเป็นตลอดชีวิตก็ได้

    เพราะฉะนั้น ยิ่งเห็นอกุศลของตนเองมากเท่าไร ละเอียดขึ้นเท่าไร บ่อยเท่าไร ย่อมเป็นทางที่จะให้รู้จักตัวเองมากเท่านั้น แต่ถ้าพูดถึงเรื่องกุศลของตนเอง อาจจะเป็นทางที่ทำให้เกิดอกุศลได้ คือ ความสำคัญตน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาประโยชน์ของธรรมแล้ว ลองคิดดูว่า ถ้าวันนี้จะพูดเรื่องอกุศลของตัวเอง จะดีกว่าไหม จะได้เตือนตัวเองไปในตัวให้คนอื่นได้รับทราบด้วยว่า ตัวเองยังมีอะไรที่ไม่ดี ซึ่งคนอื่นอาจจะคิดว่าเป็นผู้ที่ดีมากทีเดียว แต่ว่าคนอื่นย่อมไม่รู้ในอกุศลของท่าน นอกจากตัวท่านเอง เพราะฉะนั้น ถ้าได้พูดถึงอกุศลของตัวเองบ้าง หรือบ่อยๆ และรับความจริงว่า เป็นอกุศลที่จะต้องขัดเกลา ก็ย่อมจะทำให้ขัดเกลาได้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ เริ่มอยากจะพูดเรื่องอกุศลของตัวเองบ้างหรือยัง หรือว่ายังคงอยากจะพูดแต่เรื่องกุศลของตนเองเท่านั้น

    ข้อความในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต กุมารลิจฉวีสูตร ข้อ ๕๘ ข้อความโดยย่อมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปสู่เมืองเวสาลีเพื่อบิณฑบาต ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว เวลาปัจฉาภัต เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน ประทับนั่งพักผ่อนกลางวันที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง

    แม้เป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พักผ่อนของพระองค์ คือ โคนต้นไม้ต้นหนึ่งในป่ามหาวัน

    ก็สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีกุมารหลายคนถือธนูที่ขึ้นสาย มีฝูงสุนัขแวดล้อม เดินเที่ยวไปในป่ามหาวัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง แล้วจึงวางธนูที่ขึ้นสาย ปล่อยฝูงสุนัขไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ต่างนั่งนิ่งประนมอัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค

    เพียงเท่านี้เห็นจิตไหม ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน มีหิริ มีโอตตัปปะไหม ที่แสดงความเคารพนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม

    ก็สมัยนั้น เจ้าลิจฉวี นามว่ามหานามะ เดินพักผ่อนอยู่ในป่ามหาวัน ได้เห็นเจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านั้นผู้ต่างนั่งนิ่งประนมอัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้เปล่งอุทานว่า เจ้าวัชชีจักเจริญๆ

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ดูกรมหานามะ ก็เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่าเจ้าวัชชีจักเจริญๆ ”

    เจ้ามหานามะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้เป็นผู้ดุร้าย หยาบคาย กระด้าง ของขวัญต่างๆ ที่ส่งไปในตระกูลทั้งหลาย คือ อ้อย พุทรา ขนม ขนมต้ม หรือขนมแดกงา เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ย่อมแย่งชิงกิน ย่อมเตะหลังหญิงแห่งตระกูลบ้าง เตะหลังกุมารีแห่งตระกูลบ้าง แต่บัดนี้ เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ต่างนั่งนิ่งประนมอัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค”

    แม้เพียงชั่วขณะที่นั่งนิ่ง ประนมอัญชลีก็ต่างกับขณะที่เป็นอกุศลที่เคยเป็น ซึ่งไม่ว่าใครจะมีความประพฤติอย่างไร มีความเกเรมากมายอย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีโอกาสที่จะได้สนใจในพระธรรมและฟังพระธรรม ก็ย่อมเป็นที่หวังได้ว่า คนนั้นย่อมจะดีขึ้น จะน้อยหรือจะมาก แล้วแต่พื้นของจิตที่สะสมมา แม้แต่บรรดาเจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรมหานามะ ธรรม ๕ ประการนี้มีอยู่แก่กุลบุตรคนใดคนหนึ่ง เป็นขัตติยราชได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ตาม ผู้ปกครองรัฐซึ่งได้รับมรดกจากบิดาก็ตาม เป็นอัครเสนาบดีก็ตาม เป็นผู้ปกครองหมู่บ้านก็ตาม หัวหน้าพวกก็ตาม ผู้เป็นใหญ่เฉพาะตระกูลก็ตาม กุลบุตรนั้นพึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

    เรื่องของหิริโอตตัปปะทั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    [ประการที่ ๑] ดูกรมหานามะ กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชามารดาบิดาด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขนของตน ได้มาโดยอาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม มารดาบิดาผู้ได้รับการสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันมารดาบิดาอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้รับความเจริญส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม

    แม้แต่เพียงความคิด ที่อยากจะให้ใครมีอายุยืนนาน ในขณะนั้นก็ต้องเห็นในคุณธรรมความดีของบุคคลนั้น ใช่ไหม ในขณะนั้นก็มีความเคารพ มีความนอบน้อม สักการะในคุณความดีของท่านผู้นั้น ซึ่งขณะนั้นก็เป็นหิริโอตตัปปะ ประการต่อไป คือ

    ประการที่ ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องของกุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บุตร ภริยา ทาสกรรมกร และคนใช้ ด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มา โดยนัยเดียวกัน

    ประการที่ ๓ กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เพื่อนชาวนาและคนที่ร่วมงาน ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ โดยนัยเดียวกัน

    ประการที่ ๔ กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เทวดาผู้รับพลีกรรมด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ โดยนัยเดียวกัน

    ประการที่ ๕ กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา สมณพราหมณ์ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ โดยนัยเดียวกัน

    ข้อความในตอนท้ายมีว่า

    กุลบุตรผู้โอบอ้อมอารี มีศีล ย่อมทำการงานแทนมารดาบิดา บำเพ็ญประโยชน์แก่บุตร ภริยา แก่ชนภายในครอบครัว แก่ผู้อาศัยเลี้ยงชีพ แก่ชนทั้งสองประเภท กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิต เมื่ออยู่ครองเรือนโดยธรรม ย่อมยังความยินดีให้เกิดขึ้นแก่ญาติ ทั้งที่ล่วงลับไป ทั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน สมณพราหมณ์และเทวดา กุลบุตรนั้น ครั้นบำเพ็ญกัลยาณธรรมแล้ว เป็นผู้ควรบูชา ควรสรรเสริญ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ เขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์ ฯ

    ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีหิริโอตตัปปะแล้วก็ย่อมจะทำกุศลไม่ได้ครบถ้วน ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว

    ไม่ใช่แต่เฉพาะท่านผู้มีพระคุณ และท่านที่ใกล้ชิดที่สุด คือ มารดาบิดาเท่านั้น การสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ในประการที่ ๒ แม้บุตร ภริยา ทาส กรรมกรและคนใช้ เป็นกุศลไหม ถ้าทำได้ ไม่ใช่เป็นผู้ที่ถือตน สำคัญตนว่า เป็นใหญ่ เป็นนาย แต่ว่าเป็นผู้ที่เคารพนับถือบูชาคุณความดีของบุคคลอื่นได้ แม้บุตรซึ่งเป็นผู้ที่มีความดี มารดาบิดาก็ยังเห็นในความดีของบุตรนั้นได้ เคารพในคุณความดีได้ ไม่ใช่ถือว่าเป็นผู้ที่เป็นใหญ่ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นภริยา หรือเป็นทาส เป็นกรรมกร หรือคนใช้

    ผลที่ได้จะดีไหม ถ้ามีความเคารพในกันและกัน ไม่ใช่มีความสำคัญตน เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ธรรมใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร ก็ต้องเป็นกุศล และผลของกุศลก็ต้องเป็นกุศลวิบาก ไม่ใช่ว่าผู้เป็นหัวหน้าต้องถูกเสมอ แต่ว่าผู้เป็นหัวหน้ามีอกุศลจิต ขณะที่คนอื่นมีกุศลจิต เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้พิจารณาให้ถูกต้องว่า ในขณะนั้นกุศลธรรมมีในบุคคลใด ก็ควรจะเคารพในกุศลธรรมของบุคคลนั้น

    บุญกิริยาวัตถุประการที่ ๖ คือ เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ก็ยังเห็นได้เหมือนกันในหิริและโอตตัปปะ ถ้ากุศลจิตเกิดขึ้นในขณะนั้น ก็ย่อมช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งถ้าใครไม่ช่วยเป็นปกติ ไม่เคยช่วยใครเลย เคยแต่ให้คนอื่นช่วย ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ในขณะที่ไม่ช่วยคนอื่น ซึ่งในขณะนั้นช่วยได้ แต่ไม่ช่วย เพราะอะไร เพราะเหตุว่าในขณะนั้นจิตเป็นอกุศล เพราะถ้ากุศลจิตเกิดแล้ว ย่อมจะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น เพราะว่ากุศลไม่ใช่เป็นแต่เฉพาะในเรื่องของทานเท่านั้น แม้ในการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ในขณะนั้น บางคนทำไม่ได้ เพราะไม่มีหิริโอตตัปปะ แต่บางคนก็เป็นอุปนิสัยที่มักเป็นผู้ที่ช่วยเหลือคนอื่นเสมอ ก็มีหิริโอตตัปปะในขณะนั้น

    ถ้าหิริโอตตัปปะไม่เกิด ลองพิจารณาในชีวิตประจำวัน ไม่ช่วยแม้แต่จะยกอาหารที่อยู่ไกลมือผู้อื่นให้ ขณะนั้นจิตเป็นอะไร ขณะที่รับประทานอาหารร่วมกัน แล้วก็ไม่ได้สนใจในบุคคลอื่นเลย ขณะนั้นก็ย่อมมีความเพลิดเพลินในรสอาหารบ้าง หรือว่าในเรื่องอื่นๆ บ้าง แต่พอหิริโอตตัปปะเกิด สังเกตพิจารณาเอื้อเฟื้อสงเคราะห์ช่วยเหลือ แม้แต่ในการที่จะหยิบยกอาหารที่อยู่ไกลมือให้ ในขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น หิริโอตตัปปะนี้มีเป็นประจำได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะในการบริโภคอาหาร หรือในกิจการงาน ก็ย่อมมีหิริโอตตัปปะที่เป็นไปในเวยยาวัจจะได้

    บุญกิริยาวัตถุประการที่ ๗ คือ ธัมมสวนะ กุศลในการฟังธรรม เวลาที่ไม่ฟังพระธรรมนี้ คิดอย่างไร บางคนคิดว่าไม่ต้องฟัง รู้แล้ว ไม่เห็นประโยชน์เลย ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็รู้หมด เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็ไม่มีหิริโอตตัปปะ ที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า แท้จริงตนเองยังไม่ได้รู้ทั่วโดยตลอด ยังต้องอาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทุกประการทีเดียว เว้นไม่ได้ ถ้าต้องการจะเป็นผู้ที่เจริญกุศลจริงๆ ย่อมเห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมทุกประการ และนอกจากนั้นขณะที่ฟังพระธรรม ก็จะสังเกตได้ว่าหิริโอตตัปปะเกิดไหมในขณะนั้น คือ ฟังด้วยความเคารพ หรือว่าฟังด้วยความไม่เคารพ

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ทั้งกาย ทั้งวาจา ที่จะให้เห็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดอยู่ทุกขณะ เพราะเหตุว่าเจตสิกก็เกิดกับจิตซึ่งกำลังเกิดดับในขณะนี้เอง แต่เพราะเหตุว่าจิตแต่ละดวงนี้ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมาก แล้วก็ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่ได้ฟังเรื่องของเจตสิกเหล่านั้น ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของเจตสิกที่เกิดขึ้นว่า เป็นอกุศลเจตสิกหรือว่าเป็นโสภณเจตสิก และนอกจากนั้นเมื่อฟังแล้ว ฟังด้วยการพิจารณาให้เข้าใจในพระธรรม หรือว่าเพียงฟัง นี่ก็หิริโอตตัปปะเป็นขั้นๆ แม้แต่ในการฟัง เมื่อฟังแล้วยังต้องคิดไตร่ตรองว่า ธรรมที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลนั้นควรจะเป็นอย่างไร นี่ก็เป็นขั้นหนึ่ง เมื่อได้เข้าใจในพระธรรมแล้วจากการพิจารณาไตร่ตรองแล้ว ยังต้องเกิดหิริโอตตัปปะต่อไป ที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วย เป็นอีกขั้นหนึ่ง

    มีท่านผู้หนึ่ง ท่านกำลังฟังพระธรรม ซึ่งแต่ก่อนนี้ท่านไม่ได้ฟัง เพราะว่าไม่ได้เห็นประโยชน์ แต่ว่าเริ่มฟัง แล้วก็เริ่มเห็นประโยชน์ แล้วก็ฟังด้วยความเคารพ และก็ฟังด้วยการพิจารณา เมื่อเริ่มเข้าใจขึ้น ท่านก็รู้จักตัวท่านเองตามความเป็นจริงว่า ท่านเพียงแต่เพิ่งจะเริ่มเข้าใจ แต่ว่ายังปฏิบัติไม่เป็น คือ ยังเจริญสติปัฏฐานไม่เป็น ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ตรงและก็ถูกต้อง เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรื่องที่ผู้ที่ยังไม่มีหิริโอตตัปปะที่จะเห็นความน่ารังเกียจ น่าละอายของอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะไม่เกิดการที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะศึกษาให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ไม่เที่ยง ที่เกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ามีใครพยายาม ต้องไปกระตุ้นหรือว่าไปฝืน หรือว่าไปเร่งรัดท่านผู้นั้น เพียงแต่ว่าท่านผู้นั้นต้องฟังต่อไปอีกเท่านั้นเอง จนกว่ากุศลธรรม หิริ โอตตัปปะ ศรัทธา สติจะเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งเห็นประโยชน์ แล้วก็รู้ว่าสิ่งที่ได้ฟังนั้น ควรที่จะได้ประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่เพียงแต่ขั้นเข้าใจเท่านั้น

    อย่างในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขั้นความเข้าใจ ไม่มีข้อสงสัยเลย ยิ่งฟังเรื่องของจิตแต่ละประเภท เจตสิกแต่ละประเภท รูปแต่ละประเภท ซึ่งเป็นสังขารธรรม มีปัจจัยก็เกิดขึ้น ก็เข้าใจ แต่ว่ายังไม่ได้ถึงขั้นที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้น เพราะเหตุว่าเพียงเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจชัดเจนขึ้น ก็ยิ่งรู้ว่าไม่ควรที่จะปล่อยให้เป็นเพียงความเข้าใจขั้นปริยัติหรือขั้นฟังเท่านั้น แต่ควรที่จะได้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ตรงกับที่ได้เข้าใจแล้วด้วย

    นี่ก็เป็นหิริ โอตตัปปะอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งก็จะต้องอาศัยการอบรมเจริญขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ว่าเร่งรัดไม่ได้เลย จะบอกให้ใครเจริญสติเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าบุคคลนั้นยังไม่เกิดหิริโอตตัปปะขั้นที่จะละอาย และรังเกียจในอวิชชา ที่ไม่รู้ความจริงของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ แม้แต่เพียงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ได้ทันที ถึงแม้ว่าจะได้ฟังมานานนับปี แต่จะรู้ได้ว่า สติเริ่มระลึกที่ลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมบ้างหรือเปล่า ถ้ายังไม่เริ่มระลึกก็ไม่มีทางที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพียงแต่ว่าสามารถขั้นเข้าใจ หรือว่าสามารถแค่เข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเจริญกุศลทุกประการเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติระลึกที่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง หิริ โอตตัปปะมีหลายๆ ขั้น อย่างที่อาจารย์ว่า เวลานี้ก็เกิดหิริโอตตัปปะแล้วว่าเรายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเลย ก็เกิดหิริอีกว่า ก็ต้องเจริญให้สูงขี้นไปเจริญหิริและโอตตัปปะให้สูงขึ้นไปอีก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกประการ ควรจะเจริญกุศลทุกประการ เริ่มจากการเป็นผู้ตรง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ