โสภณธรรม ครั้งที่ 021


    ตอนที่ ๒๑

    ท่านอาจารย์ เจริญกุศลทุกประการ เริ่มจากการเป็นผู้ตรง รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่มีหิริโอตตัปปะ แม้แต่ในเรื่องทานบ้าง ในเรื่องศีลบ้าง ในเรื่องอัปปจายนะบ้าง ในเรื่องเวยยาวัจจะบ้าง แล้วก็มุ่งหวังที่จะดับกิเลส ก็เป็นสิ่งซึ่งสุดวิสัย เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังไม่รู้เลยว่า ตนเองมีอกุศลในวันหนึ่งๆ มากสักแค่ไหน

    ผู้ฟัง แล้วก็เกิดหิริ โอตตัปปะอีกว่า เรานี่เคยดูถูกหิริ โอตตัปปะว่า นัยของมันคงจะมีไม่เท่าไร พอมาได้ฟังอย่างนี้แล้ว โอ นัยของหิริ โอตตัปปะ มีนัยที่ลึกซึ้งมาก เกิดหิริ โอตตัปปะอีกเหมือนกันว่า เราเคยไปดูถูกเขาไว้

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมที่คุ้มครองโลกทีเดียว หิริ โอตตัปปะ แล้วก็เป็นพละธรรมด้วย

    ผู้ฟัง ขณะที่อาจารย์กำลังพูด หรือกำลังอ่านหนังสือธรรม อาจารย์ตั้งสติไว้ที่ไหน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีตัวตนที่จะตั้งเลย สติเป็นอนัตตา ขณะใดสติเกิด ก็รู้ว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่หลงลืมสติ

    ผู้ฟัง ขณะที่เราอ่านหนังสือไป ถ้าเกิดเราไม่มีสติ เราก็ไม่เข้าใจในเรื่องราวที่เราอ่าน

    ท่านอาจารย์ มิได้ เวลาอ่านหนังสือเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง เป็นกุศล เพราะอ่านหนังสือธรรม

    ท่านอาจารย์ อ่านหนังสือธรรมดา อย่างอ่านคำว่า “พาราณสี” เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ผมไม่ทราบว่าเป็นกุศล หรืออกุศล เพราะว่าก็อ่านไปอย่างนั้นเอง

    ท่านอาจารย์ นี่เรื่องไม่ทราบใช่ไหม ก็เป็นเรื่องของอหิริกะ เพราะว่าไม่ทราบ ถ้าทราบถึงจะเป็นเรื่องของหิริ คือ กุศลจิต เพราะฉะนั้น เรื่องไม่ทราบนี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่รู้จริงๆ ว่า วันหนึ่งๆ นี้ ที่เรียกว่า “โลก” หรือว่า “ตัวเรา” ในขณะนี้ ก็ไม่พ้นจากทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่ถูกต้อง ทางใจที่คิดนึก

    เพราะฉะนั้น ทันทีที่เห็น ทางตานี้มีโลกปรากฏไหม ทางตา

    ผู้ฟัง มี

    สุ. แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นของจริงอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา จะรู้ได้จริงๆ ด้วยหิริโอตตัปปะว่า ในขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วต่อจากนั้นเป็นความคิดทั้งหมด เรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาและโลก

    นี่เฉพาะทางตา เช่นในขณะที่อ่านหนังสือ เหมือนกับมีเรา แล้วก็มีโลก ใช่ไหม แต่ว่าตามความเป็นจริง ที่เกิดหิริ โอตตัปปะ และก็สติ และศรัทธา และปัญญาพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น จะรู้ได้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาจะไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเลย เมื่อไรก็เมื่อนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏอย่างนี้ วันนี้จะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา พรุ่งนี้จะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา กลับไปบ้านรับประทานอาหาร ลืมตาเมื่อไร ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีวันที่จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย แต่ความคิดหลังจากที่เห็นแล้วนี้เปลี่ยนตลอด เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าโลกของความคิดของเราที่กว้างใหญ่มาก เกิดจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อไม่รู้ความจริง แต่ถ้ารู้ความจริงขณะใด โลกก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา และความคิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาหลังจากที่เห็น เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น จะบอกว่าสติตั้งที่ไหน ในขณะที่อ่านหนังสือ ไม่ใช่มีกฎเกณฑ์ แต่ต้องเป็นการฟังเรื่องของสภาพธรรมจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ แล้วสัมมาสติจึงจะระลึกได้ถูกต้อง แล้วก็ค่อยๆ น้อมไปพิจารณาว่า เป็นความจริงอย่างนี้ไหม ที่คิดว่าอยู่ในโลกกว้างใหญ่มีหลายคน ความจริงคนเดียว จิตขณะเดียวเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตาแล้วดับไป หลังจากนั้นจิตทางใจเกิดขึ้นคิดนึกเรื่องสิ่งที่เห็นทางตามากมายเป็นเรื่องราวใหญ่โต เพราะฉะนั้น ทุกคนนี้ไม่ได้อยู่กับคนอื่นเลย ตามความเป็นจริงแล้ว อยู่กับสิ่งที่ปรากฏทางตาและความคิด อยู่กับเสียงที่ได้ยินทางหูและความคิด อยู่กับกลิ่นที่ปรากฏทางจมูกและความคิด อยู่ที่รสต่างๆ ที่ปรากฏที่ลิ้นและความคิด อยู่ที่สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายและความคิด และแม้ไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ใจก็ยังคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เคยเห็น เพราะฉะนั้น ทุกคนอยู่ในโลกของตัวเอง เป็นโลกเล็กๆ แต่ว่าในความรู้สึกนั้นเหมือนกับมีสิ่งต่างๆ มากมาย เป็นโลกที่กว้างขวาง แต่ว่าความจริงก็คือขณะจิตเดียว

    ผู้ฟัง ความคิดนี้มีอยู่ตลอดระยะเวลา

    ท่านอาจารย์ หลังจากเห็นก็คิดได้ หรือแม้ไม่เห็นก็คิดถึงเรื่องที่เคยเห็นได้ เพราะฉะนั้น นี่คือโลกตามความเป็นจริงที่จะต้องเข้าใจ

    ที่บอกว่าสติจะตั้งที่ไหน ในขณะที่อ่าน คือในขณะที่เห็นเหมือนกัน แทนที่จะเห็นเป็น ก ไก่ ข ไข่ ก็เห็นเป็นเส้นต่างๆ แล้วก็คิดไปในหนังสือที่อ่าน มีชื่อของคนต่างๆ ใช่ไหม ในขณะนี้ที่เห็นก็มีเส้นต่างๆ ที่ทำให้นึกถึงชื่อต่างๆ แต่ว่าไม่ได้อยู่ในกระดาษเท่านั้นเอง แต่ก็เป็นแต่เพียงเมื่อเห็นแล้ว ทางใจก็คิดตามสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น โลกของแต่ละคนจะเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่นเลย จะได้ผลของกุศล จะได้ผลของอกุศล ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามความคิดของแต่ละคน จะคิดว่าคนอื่นจะติเตียน จะคิดว่าคนอื่นจะเกลียด จะคิดว่าคนอื่นจะรัก ก็คือความคิดของตัวเอง ในเมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับไป เสียงที่ปรากฏทางหูก็ดับไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏจะไม่กลับมาอีกเลย แม้แต่สีที่ปรากฏทางตาที่ดับแล้ว หรือเสียงที่ปรากฏทางหูที่ดับแล้ว ก็จะไม่กลับมาอีกเลย แต่ว่าความคิดเรื่องสี เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ เรื่องสิ่งต่างๆ เรื่องบุคคลต่างๆ ทำให้ดูเหมือนกับว่า อยู่กับสิ่งต่างๆ มากมายในโลก อยู่กับคนมากมายในโลก แต่ตามความเป็นจริงแล้ว อยู่คนเดียว และไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลด้วย เพียงชั่วขณะจิตเดียวที่เห็นแล้วก็คิด

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ที่จะไปตั้งสตินี้เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าปัญญาไม่เกิด ไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง จะคิดถึงใคร ก็ไม่ใช่ว่ามีคนนั้นจริงๆ เป็นความคิด เป็นจิตที่เกิดคิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง และก็ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นในห้องนี้ จะอ่านหนังสือ หรือไม่อ่านหนังสือ สิ่งที่ปรากฏทางตาจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความคิดเปลี่ยน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเข้าใจชัดเจนในรูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ย่อมจะไม่ปะปนกับความคิดนึก และก็สามารถที่จะรู้จักโลกตามความเป็นจริงได้ ว่าโลกจริงๆ นี้ คือ ชั่วขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด

    อยู่คนเดียวจริงๆ หรือเปล่า ถ้ายังคิดว่าไม่จริง วันนี้กลับบ้านคงจะมีบางโอกาสที่อยู่คนเดียว จะเห็นได้เลยว่าเริ่มคิดแล้ว ถึงคนนั้น คนนี้บ้าง แล้วพอมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เลยทำให้เกิดความคิดต่อไปอีก แล้วก็เพิ่มอีก ต่อไปอีก เพิ่มอีก ต่อไปอีก ก็เป็นเรื่องราวต่างๆ ตลอดชีวิตไม่จบสิ้น แต่ว่าทุกอย่างจบพร้อมกับการดับของจิต แม้แต่ความคิด เมื่อจิตดับ แล้วก็ไม่คิดเรื่องนั้นอีก เรื่องนั้นก็ไม่มี

    ผู้ฟัง การฟังธรรมนี้ก็ต้องมีหิริ โอตตัปปะด้วยหรือ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นต้องมี ถ้าไม่มี ไม่ฟัง ฟังอย่างอื่น

    ผู้ฟัง กระผมก็รู้สึกตัวเองว่า รู้สึกจะขาดหิริ โอตตัปปะมาก เพราะว่าตอนเช้ามืด ตีสี่ครึ่ง เวลาเปิดวิทยุฟังธรรมที่ออกอากาศทางวิทยุ ขณะนั้นกระผมไม่ฟังอย่างเดียว กระผมก็ทำกิจกรรมของตัวเองไปด้วย ออกกำลังบ้าง อะไรบ้าง เพราะว่าเวลามันไม่พอ ฟังไปด้วยออกกำลังไปด้วย กระผมก็มานึกดูว่า การที่เราออกกำลังกายไปนี่ บางทีจิตเราไม่ค่อยได้จดจ่ออยู่กับเรื่องราวที่บรรยายในวิทยุเท่าไร มันก็ขาดๆ มันไม่สมบูรณ์ กระผมก็นึกว่า เอ๊ะ รู้สึกว่ามันจะขาดหิริ โอตตัปปะ ไม่ค่อยจะสมบูรณ์ หรือบางทีเปิดวิทยุธรรม หรือเปิดเทปธรรม แล้วก็กวาดบ้านบ้าง ถูบ้านบ้าง ซักผ้าบ้าง อะไรอย่างนี้ ซึ่งกระผมก็มาคิดว่า รู้สึกมันจะไม่เป็นการสมควรเท่าไร

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ฟังดีกว่าไม่ฟังหรือเปล่า

    ผู้ฟัง แต่ก็ได้ ได้ประโยชน์น่ะได้ แต่ว่าบางทีๆ พอจบไปแล้ว ยังนึกไม่ออกว่าเราได้ฟังอะไรไปบ้าง ต้องกลับมาเปิดใหม่อีกทีหนึ่ง ก็อาศัยว่าฟังบ่อยๆ อาศัยเวลาฟังบ่อยๆ แต่ถ้าหากว่าใครทำได้โดยที่จะฟังแล้วก็ตั้งใจฟังโดยเฉพาะ ไม่ต้องมีกิจกรรมอย่างอื่นมาปะปน กระผมก็เข้าใจว่าจะได้รับประโยชน์มากกว่า

    ท่านอาจารย์ เช่นในขณะนี้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง อย่างในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นชีวิตของแต่ละคนตามความเป็นจริง ดูเหมือนว่าเวลาของกุศลนี้จะน้อย เมื่อเทียบกับเวลาของอกุศล ไม่พอกับกิจธุระการงานในชีวิตจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าผู้ที่ไม่ฟัง เพราะว่าจะต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้น ถ้าต่อไปสามารถที่จะฟังโดยที่ไม่ต้องทำกิจธุระได้ อันนั้นก็ย่อมดีกว่า แต่เมื่อยังไม่มีโอกาสที่จะทำอย่างนั้นได้ การฟังก็ยังดีกว่าการไม่ฟังเพราะอย่างน้อยที่สุดก็ยังได้ยินได้ฟังผ่านซ้ำไปซ้ำมา หลายๆ วันเข้า เพราะฉะนั้น เรื่องของสภาพธรรมก็ต้องตรงตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นกุศล และก็ขณะใดเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ผมว่าแม้กระนั้นก็ยังไม่จัดว่าเป็นการนอบน้อม ถ้าได้ตั้งใจฟังอย่างที่อาจารย์ว่าแล้ว ถ้ามีโอกาสต่อไป ก็ควรจะหาโต๊ะเก้าอี้มานั่ง แล้วพนมมือฟังจนกว่าพระธรรมนั้นจะหมดเวลา

    ท่านอาจารย์ การนอบน้อมสูงสุดคืออะไร การนอบน้อมสูงสุดคืออะไร ในขณะที่ฟังพระธรรม การเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หรือแม้ก่อนนั้น หรือแม้ในขณะนี้ หรือแม้ในกาลข้างหน้า แต่ละคนสะสมเหตุปัจจัยมาทุกขณะจิต ที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสม ซึ่งเลือกไม่ได้เลย อย่างบางท่าน ท่านก็มีกิจธุระที่จะต้องทำอาหารในครัว แต่ท่านก็เป็นพระอนาคามีบุคคล ในขณะที่แกงชนิดหนึ่งไหม้ เพราะไฟแรง

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่ไม่ได้กระทำกิจในครัว แต่ทำกิจอื่น และก็เป็นผู้ที่เคารพนอบน้อมสักการะด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ การเจริญสติปัฏฐาน นั่นเป็นการเคารพอย่างสูงสุด

    ดอกไม้ ธูปเทียน ก็ยังไม่เป็นการเคารพอย่างสูงสุด เพราะว่าพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงหวังดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องสักการะ แต่ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อหวังให้สาวกได้ดับกิเลสเช่นเดียวกับพระองค์ด้วย แต่ก่อนที่จะดับกิเลสได้นี้ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และก็เป็นผู้ที่ตรง และก็ต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

    ถ้าในวันหนึ่งๆ รู้ว่าเห็น แล้วก็คิดนึกเป็นอกุศล ได้ยินแล้วก็คิดนึกเป็นอกุศล ได้กลิ่นคิดนึกเป็นอกุศล ลิ้มรสคิดนึกเป็นอกุศล กระทบสัมผัสแล้วคิดนึกเป็นอกุศล อยู่เฉยๆ โดยที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ก็ยังคิดนึกเป็นอกุศล ก็เห็นได้ว่าเมื่อไรกิเลสจะหมด

    เพราะฉะนั้น ถ้าหิริ โอตตัปปะและโสภณธรรมอื่นๆ ไม่เจริญขึ้น ก็ไม่มีทางที่ว่าจะไปเพ่ง ไปจ้อง ไปตั้งสติ แล้วก็คิดว่า จะบรรลุมรรคผลได้ โดยที่ไม่รู้จักสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    บุญกิริยาวัตถุประการที่ ๘ คือ สมถภาวนา หรือความสงบของจิตจากอกุศล

    วันหนึ่งๆ ถ้าเป็นอกุศลอย่างอ่อนๆ ที่ไหลซึมไปตามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ย่อมจะไม่เห็นว่า เป็นโทษเป็นภัย ใช่ไหม ดูเป็นชีวิตปกติธรรมดาของทุกคน แต่ว่าบางวันไม่เป็นอย่างนั้น บางวันอกุศลธรรมมีกำลังขึ้น มีความเร่าร้อน กระวนกระวาย กระสับกระส่ายเพราะอกุศลธรรมเหล่านั้นกลุ้มรุมจิตใจ เป็นนิวรณธรรม ขัดขวางการเจริญกุศลได้ เพราะว่าบางคนเตรียมการกุศลไว้แล้ว แต่พอนิวรณธรรมประการหนึ่งประการใดเกิดขึ้นก็ล้มเลิก

    สำหรับอกุศลที่เป็นนิวรณ์ที่กลุ้มรุมจิตใจ ที่ทำให้รู้สึกกระสับกระส่าย มีกำลังมากกว่ากุศลที่เป็นปกติทุกๆ วัน ที่ไหลซึมไปในอารมณ์ต่างๆ ก็ได้แก่ กามฉันทะ (ความยินดีพอใจ) ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้ามีกำลังก็เป็นนิวรณ์ที่ทำให้จิตใจกระสับกระส่าย เร่าร้อน ในขณะนั้น มีหิริโอตตัปปะเกิดไหม เห็นโทษไหมว่า เพราะอะไร เพราะโลภะ ความยินดี เพลิดเพลิน พอใจในสิ่งนั้น ซึ่งถ้าเพียงแต่ไม่ยินดี ไม่พอใจ ไม่เพลิดเพลินเท่านั้น ความเร่าร้อน ความกระสับกระส่าย กระวนกระวายในขณะนั้นก็ไม่มี แต่ถ้าขณะนั้นหิริโอตตัปปะไม่เกิด ก็ไม่ละอาย และก็ไม่เห็นโทษของอกุศลธรรมนั้นๆ ด้วย

    นอกจากกามฉันทะ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามฉันทะนิวรณ์แล้ว และก็มีพยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธะนิวรณ์ อุทธัจจะกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ได้แก่ ความขุ่นเคืองใจ

    วันนี้พิสูจน์ธรรมว่าเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า หรือไม่เป็น ไม่ได้เป็นทุกวันใช่ไหม โกรธมากๆ ขุ่นเคืองใจมากๆ ยังไม่หายโกรธ วันนี้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า แต่บางวันเป็น เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่สภาพธรรมมีกำลังกลุ้มรุม ปรากฏลักษณะที่กระสับกระส่าย หิริโอตตัปปะเกิดไหมที่จะเห็นว่าในขณะนั้น เป็นอกุศลของตนเอง ไม่ใช่เห็นอกุศลของคนอื่น แต่เห็นอกุศลของตนเองซึ่งปรากฏให้เห็น แล้วแต่ว่าหิริและโอตตัปปะจะเกิดหรือไม่เกิด ถ้าหิริโอตตัปปะเกิดเห็นโทษ กุศลจิตเกิดเท่านั้นล่ะ สงบ สมถะ ขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ สงบจากอกุศลในขณะนั้นได้ด้วยหิริโอตตัปปะ คือ ละอายและรังเกียจอกุศลในขณะนั้น

    ถีนมิทธะนิวรณ์ ก็เป็นความท้อถอย ความหดหู่ บางท่านก็บอกว่า ธรรมนี้ยากมาก เมื่อไรจะถึง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วก็ยากอีก เพิ่มขึ้นมาอีก เพราะเหตุว่ามีการหวังผล ซึ่งผลจะเกิดไม่ใช่จากการหวัง แต่เกิดจากการอบรมเจริญปัญญาทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าการที่จะดับกิเลสได้ ไม่ใช่คิดนึกเรื่องธรรม แล้วก็ดับได้ เช่น นึกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของเรา ปล่อยเสีย วางเสีย ถ้าเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคไม่ต้องทรงแสดงอะไรเลย เพราะเหตุว่าเพียงกล่าวเท่านี้ ทุกคนก็วางได้ ปล่อยได้ แต่ว่าความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะจริงๆ ที่จะรู้ว่า การที่ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนี้ จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ ไม่ใช่เกิดความท้อถอยว่า เมื่อยาก แล้วเมื่อไรจะถึง เมื่อไรจะรู้ ถ้าวันนี้ฟังแล้วเข้าใจ เพิ่มปัญญาขึ้นแล้วใช่ไหม จากการที่ไม่ได้ฟัง และก็ไม่ได้เข้าใจ พรุ่งนี้ฟังอีก และเข้าใจอีก ก็เพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้น ปัญญาก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกว่าจะเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง หรือว่าในขณะที่จิตใจกระสับกระส่ายด้วยกามฉันทะ ด้วยพยาปาทะ ด้วยถีนมิทธะ หรืออุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ในอกุศลที่ได้กระทำแล้วและในกุศลที่ยังไม่ได้กระทำ

    นี่ก็แสดงลักษณะของความช่างคิด ใช่ไหม อกุศลที่ได้ทำแล้ว ดับแล้ว อาจจะเป็นหลายอาทิตย์มาก่อนก็ได้ แต่ก็ยังเกิดความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย รำคาญใจในอกุศลที่ได้ทำแล้ว ด้วยความเป็นเรา ด้วยความเป็นตัวตน เพราะไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ถ้ามีหิริโอตตัปปะ ก็เห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่สมควร ไม่ได้ประโยชน์อะไรต่อการที่จะฟุ้งซ่าน รำคาญใจกับอกุศลที่ได้กระทำสำเร็จลงไปแล้ว เสร็จไปแล้ว ดับไปแล้ว หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะนี้ต่างหาก ถ้าสติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม นั่นก็เพราะหิริโอตตัปปะเกิดขึ้นจึงละอุทธัจจะกุกกุจจะได้ หรือแม้แต่วิจิกิจฉา ความสงสัย ไม่แน่ใจในข้อประพฤติปฏิบัติในธรรมนี้ ก็เป็นเครื่องขัดขวาง เป็นเครื่องกั้นการเจริญกุศล

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า ท่านฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา แล้วก็อ่านหนังสือหลายเล่ม และก็หนังสือบางเล่มก็บอกว่าไม่จำเป็นต้องศึกษา ไม่จำเป็นต้องฟัง เพราะเหตุว่าเมื่อฟังพระธรรม ก็เป็นความอยากอย่างหนึ่ง คือเป็นโลภะ

    นี่คือการไม่พิจารณาให้รู้ความต่างกันของฉันทเจตสิกกับโลภเจตสิก เพราะว่าฉันทเจตสิกเกิดกับกุศลได้ ความพอใจที่จะกระทำ ที่จะศึกษา ที่จะเข้าใจธรรม ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่ความติด ความข้อง แต่ว่าเป็นการแสวงหาหนทางที่จะดับความติด ความยึดมั่น ความติดข้อง ในความเห็นผิด หรือว่าในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้นี้ไม่ฟังพระธรรม ปรากฏว่าด้วยความสงสัย คือ วิจิกิจฉาเป็นนิวรณ์ ทำให้ท่านผู้นี้ปฏิบัติตามแบบอื่น จนกระทั่งคิดที่จะฆ่าตัวตาย โกรธแม้แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความกดดันซึ่งพยายามที่จะข่ม และก็พยายามที่จะวาง พยายามที่จะปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง โดยที่ปัญญาไม่เกิดเลย ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อพยายามที่จะบีบบังคับ ความฟุ้งซ่านก็เกิดขึ้น ซึ่งก่อนนั้นไม่เคยเป็น แต่ว่าเมื่อเข้าใจในข้อปฏิบัติไม่ถูกต้อง เกิดความสงสัย ไม่แน่ใจ ก็ทำให้หันไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ผิดได้

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความสงสัย ไม่แน่ใจ ทางที่ถูก หิริโอตตัปปะควรจะเกิด และก็พิจารณาในเหตุผลว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ปัญญาจะต้องรู้ อะไรเป็นอริยสัจจธรรม อะไรเป็นของจริง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จริงไหม เสียงที่กำลังปรากฏทางหู จริงไหม กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จริงไหม จิตที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ คิดนึก จริงไหม เป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่รู้แจ้งได้ จริงหรือไม่จริง แทนที่จะต้องตามคำพูด หรือการชักจูงของคนอื่น แล้วก็เกิดความสงสัย ความไม่แน่ใจในหนทางเจริญข้อปฏิบัติ ที่จะทำให้ปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    บุญกิริยาวัตถุประการที่ ๙ คือ วิปัสสนาภาวนา จะเกิดขึ้นเมื่อหิริโอตตัปปะ ละอาย รังเกียจ กลัวอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ น่ากลัวไหม ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏจนตาย ถ้าไม่ฟังพระธรรม ยังพอใจที่จะไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ยังจะมีความเห็นตรงกันข้ามกับที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่เปลี่ยน แต่ความคิดเปลี่ยน นี่แสดงให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง และความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต่างๆ นั้นก็เป็นเพียงความคิด เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นโทษของอวิชชา ก็จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมเพื่อที่จะให้วิชชาเกิด เพราะเหตุว่าละอาย รังเกียจ และเห็นโทษของอวิชชาว่า เป็นเหตุให้เกิดอกุศลธรรมทั้งหมด ทั้งโลภะ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมใดๆ ก็ตาม ที่จะเกิดมีได้ เพราะมีอวิชชา

    บุญกิริยาวัตถุประการที่ ๑๐ คือ ทิฏฐุชุกรรม การทำความเห็นให้ตรง คือ การเป็นผู้ตรง ยากไหม การที่จะเป็นผู้ตรง ถ้าไม่มีหิริโอตตัปปะแล้วเป็นผู้เอียง ไม่ใช่เป็นผู้ตรง

    โดยมากมักจะพยายามหาทางที่จะไม่โกรธ ใช่ไหม ไม่มีใครชอบความโกรธเลยในวันหนึ่งๆ พอเกิดโกรธ บางคนอาจจะไม่สบาย ความดันสูง เป็นไข้ มีอันตรายหลายอย่างซึ่งเกิดจากความโกรธ เดินไปก็อาจจะหกล้มตกกระได ทำอะไรก็ได้ด้วยความโกรธ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ชอบความโกรธ แต่ว่าเห็นโทษภัย มีหิริโอตตัปปะ กลัวอกุศลที่เป็นความโกรธ หรือว่าเพียงแต่ว่าไม่ชอบ ไม่อยากมีความโกรธ นี่ เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาและนอกจากนั้นก็ยังไม่คิดถึงเรื่องของความโลภ หรือความติด เพราะเหตุว่าเพียงแต่ไม่ต้องการความโกรธเท่านั้น

    นี่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องตรงจริงๆ คือว่าธรรมประเภทใดเป็นอกุศล ก็ต้องเห็นธรรมประเภทนั้นว่าเป็นอกุศลด้วย ไม่ใช่เห็นแต่โทสะเป็นอกุศล แต่ไม่เห็นว่าโลภะเป็นอกุศล

    บางคนเห็นโทษของผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เห็นความดีของคนไม่เป็นที่รักเลย ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ตรง แม้ผู้ซึ่งไม่เป็นที่รัก ก็ย่อมมีทั้งความดีและความไม่ดี ทุกคนต้องมีทั้งกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น แม้ผู้ซึ่งไม่เป็นที่รัก ก็จะต้องมีบางกาลที่เป็นกุศลด้วย แต่ว่าคนส่วนมากจะเห็นโทษของผู้ที่ไม่เป็นที่รัก แล้วก็ไม่เห็นความดีของผู้ซึ่งไม่เป็นที่รัก และนอกจากนั้นก็ยังจะต้องตรงต่อตัวเองและคนซึ่งเป็นที่รักด้วย เพราะเหตุว่าถ้าพิจารณาดูแล้วในชีวิตประจำวัน ถ้ามีบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่เป็นที่รัก การที่จะพิจารณาว่ามีหิริโอตตัปปะในบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักหรือไม่ ก็คือพิจารณาว่าเห็นแต่โทษของบุคคลนั้นหรือเปล่า ถ้าขณะใดเห็นแต่โทษของบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก ก็แสดงว่าขณะนั้นไม่มีหิริโอตตัปปะพอที่จะเห็นความดีของบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก นี่สำหรับคนซึ่งไม่เป็นที่รัก

    และสำหรับคนที่เป็นที่รัก เห็นแต่ความดีของคนที่เป็นที่รัก หรือว่าเห็นแม้ความไม่ดีของคนซึ่งเป็นที่รักด้วย นี่คือหิริโอตตัปปะ คือ ความที่จะต้องเป็นผู้ตรง แม้บุคคลซึ่งเป็นที่รักก็ต้องพิจารณาเห็นความไม่ดีของบุคคลนั้นด้วย เพื่อที่จะเกื้อกูล เพราะมิฉะนั้นแล้ว ก็คิดว่าผู้ที่เป็นที่รักนี้ดีมาก ไม่มีอะไรที่จะเกื้อกูลกันอีกต่อไปแล้ว แต่ว่าถ้าเป็นผู้ตรง แม้แต่คนที่เป็นที่รักก็ต้องมีสิ่งที่ไม่ดี และถ้าเป็นโอกาสที่จะเกื้อกูล เมื่อเห็นความไม่ดีของบุคคลนั้นแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ