โสภณธรรม ครั้งที่ 022
ตอนที่ ๒๒
เมื่อเห็นความไม่ดีของบุคคลนั้นแล้ว ก็ย่อมจะคอยวาระที่จะเกื้อกูล เมื่อถึงกาละที่สมควร ดีกว่าที่จะไม่เห็นความไม่ดีของคนที่เป็นที่รักเสียเลย เห็นแต่ความดีของคนซึ่งเป็นที่รักเท่านั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่ตรง
เพราะฉะนั้น สำหรับทิฏฐุชุกรรม ก็เป็นกุศลธรรมซึ่งเป็นการกระทำความเห็นให้ตรง ทำให้เป็นผู้ตรงด้วยหิริโอตตัปปะ และข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า ไม่ลืมพิจารณาตนเองด้วย เพราะว่ามักจะพิจารณาผู้อื่น เช่น คนที่ไม่เป็นที่รักบ้าง หรืออาจจะพิจารณาคนที่เป็นที่รักบ้าง แต่ว่าตนเองมีอกุศลอะไรบ้าง อาจจะยังไม่ได้พิจารณา หรือโทษของตนเองมีหรือไม่มี หรือว่าไม่เห็น เท่านั้นเอง ย่อมมี แต่ไม่เห็น ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย
ผู้ถาม ถ้าถือศีล ๘ แล้วจิตไม่สงบ ไม่เป็นกุศล ก็คงไม่ใช่ได้บุญ ก็เลยนึกว่าธรรมดาปกติจะถือศีล ๘ เป็นประจำ คราวนี้เวลาถือศีล ๘ ในวันที่ไปทำงานก็เกิดปัญหาหลายอย่าง ซึ่งทำให้เกิดโทสะได้บ่อยๆ ก็เลยสรุปจากวันนั้นว่า เราก็ไม่ควรถือศีล ๘ เพราะว่าถ้าเราเกิดโทสะ ก็เป็นอกุศล ไม่ทราบว่าสรุปอย่างนี้จะถูกหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เรื่องของศีล เป็นเรื่องของความประพฤติทางกาย ทางวาจา ของผู้ที่เห็นโทษของกิเลส คือข้อสำคัญที่สุด กุศลทุกประเภทจะเกิดเมื่อมีหิริโอตตัปปะ มีศรัทธาที่เห็นประโยชน์ของธรรมที่เป็นกุศล แล้วก็ละอาย รังเกียจ กลัวอกุศล จึงได้รักษาศีลด้วย เพราะฉะนั้น แม้แต่ศีลข้อที่ ๑ ที่รักษาก็หมายความว่า ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล จึงได้รักษาศีลข้อที่ ๑ แม้ศีลข้อที่ ๒ ศีลข้อที่ ๓ ศีลข้อที่ ๔ ศีลข้อที่ ๕ ก็โดยนัยเดียวกัน ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล แล้วก็มีกุศลศรัทธาที่สามารถจะรักษาได้
ถ้ายิ่งเพิ่มเป็นศีล ๘ ก็ยิ่งเป็นกุศลเพิ่มขึ้น เพราะขณะนั้นเป็นจิตที่เห็นโทษของอกุศล แล้วก็ต้องการที่จะให้กุศลจิตเกิดมากกว่าศีลเพียง ๕ ข้อ เพราะเหตุว่าสำหรับศีล ๕ เป็นการไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น แต่สำหรับศีลอีก ๓ ข้อ ซึ่งเป็นศีล ๘ จะเห็นได้ว่า ไม่เกี่ยวกับคนอื่นเลย แต่เกี่ยวกับตนเองทั้งนั้น ใช่ไหม ตั้งแต่ไม่ประดับตกแต่ง แล้วก็ไม่นอนที่นอนสูง หรือว่าที่นอนที่สวยงาม นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องเฉพาะตนมากกว่า ไม่ได้เกี่ยวกับคนอื่นเลย และก็ถ้าอยากจะรักษามากกว่านั้นก็ได้ โดยการที่ศึกษาในพระวินัยบัญญัติ และเห็นว่าสิ่งใดที่ดี เป็นประโยชน์ เรื่องของกาย วาจาก็ประพฤติปฏิบัติตาม โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อห้ามว่าสำหรับคฤหัสถ์แล้วหล่ะก็ จะกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ในเมื่อเพศบรรพชิตควรที่จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร แล้วก็ไม่เป็นที่ติเตียน แต่ว่าเป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส ผู้ใดที่ศึกษาและก็สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามเพิ่มขึ้น แม้เป็นคฤหัสถ์ก็ย่อมได้
แต่สำหรับคฤหัสถ์ไม่มีใครบังคับใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ศรัทธาที่จะเกิดขึ้นว่า สามารถที่จะรักษาได้มากน้อยเท่าไร แล้วก็อาจจะไม่สามารถที่จะรักษาได้ตลอดทุกวันๆ เหมือนอย่างเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น ก็มีการล่วงศีลบ้าง แต่ว่าถ้าท่านผู้ฟังรู้สึกตัวเองว่ายังเป็นคฤหัสถ์อยู่ แล้วก็ไม่ได้มุ่งมั่นที่จะต้องรักษาให้ถึงศีล ๘ โดยตลอดอย่างพวกที่เป็นอุบาสิกาที่รักษาศีล ๘ ที่เราเรียกว่า ชี เพราะฉะนั้น ก็เป็นของธรรมดาตามความเป็นจริงว่า เมื่อมีโอกาสที่จะรักษาได้ก็รักษา เมื่อไม่ใช่โอกาสที่จะรักษาศีลข้อหนึ่งข้อใด เช่นในข้อไม่บริโภคอาหารในเวลาวิกาล อันนั้นก็จะเห็นได้ว่า บางครั้งของชีวิตคฤหัสถ์ก็ไม่ได้รักษาได้ทุกวัน
คือข้อสำคัญที่สุดที่จะต้องคิดก็คือว่า จะรักษาศีลทำไม นี่คือไม่ใช่ว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีเหตุผล แม้แต่การรักษาศีล ที่จะต้องเป็น ๕ หรือจะต้องเป็น ๘ หรือจะต้องเป็น ๑๐ ก็ตามแต่ ควรที่จะได้ทราบ รู้จักตัวเองว่า รักษาศีลทำไม
ผู้ฟัง ที่รักษาศีล ๘ เพราะเคยได้ฟังพระสูตรอยู่สูตรหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ ที่ว่าคนใช้ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่กลับมาบ้าน แล้วไม่มีคนทำอาหารเย็นแล้วก็ถามกัน ได้ความว่าคนอื่นถืออุโบสถศีลกันหมด ก็เลยถืออุโบสถศีลบ้าง แต่เนื่องจากเหนื่อยมาก และทำกาละไป แล้วได้ขึ้นสวรรค์ คืออยากได้บุญ ที่ถือศีล
ท่านอาจารย์ ก็หมายความว่ารักษาศีล ๘ เพราะว่าอยากจะได้บุญ แล้วก็รู้ว่าศีล ๘ ต้องได้บุญมากกว่าศีล ๕ เพราะว่าเพิ่มขึ้นมาอีก ๓ ข้อ ใช่ไหม แต่ว่าถ้าได้ศึกษาธรรมแล้วก็จะทราบว่า บุญคือกุศลจิต ซึ่งเป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีลบ้าง เป็นไปในความสงบของจิตบ้าง เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาบ้าง ซึ่งในวันหนึ่งๆ สามารถที่จะกระทำกุศลเหล่านี้ได้เป็นประจำตามสมควรแก่เพศ ถ้ามีศรัทธาที่จะรักษาศีล ๘ ได้ ก็น่าอนุโมทนามาก แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องทราบด้วยว่า รักษาศีลเพราะเหตุว่าเห็นโทษของอกุศล อย่าเพียงแต่รักษาเพราะอยากจะได้บุญ ก็เลยอยากจะรักษาเพิ่มขึ้น แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล แล้วก็ต้องขัดเกลาด้วย สำหรับผู้ที่รักษาศีล ๘ ไม่ใช่ว่าเพียงปฏิบัติตามศีล ๘ ข้อ แล้วจิตใจก็วุ่นวาย กระสับกระส่าย อย่างนั้นก็จะไม่ได้ผลเต็มที่
อันนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว ถ้าสามารถจะรักษาศีล ๘ ได้ด้วยความสบายใจ ด้วยความศรัทธา ด้วยความมั่นคงก็ดี หรือว่าบางวันจะรักษาได้ก็ดี แล้วแต่ อย่างวันอุโบสถ ส่วนใหญ่ผู้มีศรัทธาก็รักษาศีล ๘ เป็นเรื่องแต่ละบุคคล เฉพาะตนๆ จริงๆ
เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทที่มีศรัทธาในพระศาสนาจึงมีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต และคฤหัสถ์ก็มีทั้งที่ครองเรือนและไม่ครองเรือน เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ไม่มีการจำกัด
ต้องเข้าใจจุดประสงค์ แล้วก็รู้ว่า ขณะใดที่จิตปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศล ขณะนั้นจึงเป็นกุศล แม้แต่การที่จะรักษาศีล ก็ต้องรู้ว่ารักษาเพื่ออะไร ถ้าเพื่อผลหรืออานิสงส์ของศีล อันนั้นก็ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุว่ายังหวังผลที่เป็นสุข ไม่ใช่เพื่อการขัดเกลากิเลส
ผู้ฟัง ขอเรียนถามอาจารย์อีกข้อหนึ่ง คราวที่แล้วที่อาจารย์พูดถึงเรื่อง บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แล้วมีอันหนึ่ง ที่สูตรของกุมารลิจฉวีสูตร ไม่ทราบจำชื่อได้หรือเปล่า ที่มีข้อมี ๕ ข้อ ให้เคารพนับถือบูชาบิดามารดา จนกระทั่งถึงที่สงสัยคือ เทวดาผู้ทำพลีกรรมแล้ว นี้เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ เมื่อกระทำบุญกุศลแล้ว ก็อุทิศส่วนกุศลให้ให้เทวดา
ผู้ฟัง โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อให้
ท่านอาจารย์ ก็ทั่วๆ ไป
ผู้ฟัง การทำพลีกรรมต่อเทวดา ไม่จำเป็นจะต้องสร้างศาลพระภูมิ หรืออะไรอย่างนี้ หรือ
ท่านอาจารย์ ข้อความในอรรถกถา จะกล่าวถึงเรื่องข้าว เรื่องน้ำ แต่ก็ควรที่จะได้เข้าใจด้วยว่า เทวดาไม่ได้บริโภคข้าวน้ำอย่างเรา ต้องเป็นอาหารของเทวดา เพราะฉะนั้น จะเอาข้าว เอาน้ำไปให้เทวดา เทวดาก็ไม่บริโภคแน่ เพราะฉะนั้น อะไรที่เทวดาจะรับได้ คือบุญกุศลที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำแล้วอุทิศส่วนกุศลให้เทวดาอนุโมทนา กุศลที่อนุโมทนานั่นเองจะเป็นเหตุให้ได้รับกุศลวิบากตามภพภูมินั้นๆ ไม่ใช่ว่าจะเป็นข้าว เป็นน้ำ แม้ว่าข้อความในอรรถกถาจะกล่าวว่าข้าวน้ำก็ตามแต่ แต่ก็ควรที่จะได้พิจารณาให้ถูกต้องด้วยว่า เทวดาไม่บริโภคข้าวน้ำนั้น
ผู้ฟัง คราวที่แล้วบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ที่อาจารย์แสดง ไม่มีข้อการแสดงธรรม ไม่ทราบว่าการแสดงธรรม เป็นทางให้เกิดกุศลหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เป็นกุศลแน่นอน ขณะนั้น ต้องขอขอบคุณที่ได้กล่าวถึงเรื่องการแสดงธรรม ซึ่งในคราวก่อนคงจะขาดไป
ผู้ฟัง คือหลังจากฟังแล้วก็ไปคุยกันกับเพื่อน เขาก็สงสัยว่า ทำไมการทำกุศลถึงต้องประกอบด้วยหิริโอตตัปปะด้วย เพราะว่ามองไม่เห็นเลยว่าอย่างเราๆ สมมติว่าเรา ฟังธรรมนี่ เรามีหิริโอตตัปปะตอนไหน
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีหิริโอตตัปปะ จะฟังพระธรรมไหม ลองคิดในมุมกลับ ทำไมถึงฟัง ฟังเพื่อที่ต้องการจะเข้าใจธรรม คือสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่มีโอกาสจะรู้ได้ ถ้าไม่ฟังพระธรรม ในขณะที่เห็นอันตรายของความไม่รู้ ต้องการที่จะพ้นจากความไม่รู้ ต้องการเจริญความรู้ขึ้น ในขณะนั้นต้องมีหิริโอตตัปปะที่เห็นภัย แล้วก็เห็นโทษ แล้วก็กลัว ละอายอกุศล คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่าต้องมานั่งนึกละอาย แต่ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีโสภณเจตสิกซึ่งเป็นโสภณสาธารณะเกิดกับโสภณจิตทุกดวง ต้องมีศรัทธา ต้องมีหิริ ต้องมีโอตตัปปะ
ผู้ฟัง คือยังมองไม่เห็นอยู่ดี ว่าทำไมต้องประกอบด้วย
ท่านอาจารย์ ยากที่จะเห็น เพราะแม้แต่จักขุวิญญาณ ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ไม่มีทางที่จะเห็นได้ ใช่ไหม ขณะนี้ที่กำลังเห็น ปริยัติแสดงว่ามีเจตสิกเกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ ๗ ดวง ก็ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้น ยิ่งมากกว่านั้น คือ เวลาที่เป็นกุศลจิตก็มากกว่านั้นอีก ใช่ไหม ก็ยังไม่เห็น เพราะว่าเป็นไปเพียงชั่วขณะจิตเดียว แต่ให้ทราบว่าจิตที่เป็นอกุศลนี้ ก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นอกุศล และก็จิตที่เป็นกุศล ก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นกุศล ทุกคนอยากจะมีกุศลจิตมากๆ แต่ก็ไม่สามารถจะเป็นไปได้
เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งๆ อกุศลเกิดโดยไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นมีอหิริกะ อโนตตัปปะ การไม่ละอายต่อการไม่รู้ลักษณะของธรรมที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยินทุกอย่าง ไม่มีความรู้เรื่องสภาพธรรมตามความเป็นจริงเลยในขณะใดที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิดจะเห็นได้ว่า ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง ต้องมีโสภณเจตสิกเกิด และโสภณเจตสิกที่เป็นหิริโอตตัปปะก็ต้องเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น เพราะละอาย เป็นสภาพธรรมชาติที่ละอาย รังเกียจการที่จะไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จึงฟังพระธรรม แต่ไม่ใช่ความรู้สึกที่ว่า กระดากอาย หรือต้องมานั่งคิดอย่างนั้น แต่ว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย
เป็นเรื่องที่เข้าใจยากจริงๆ สภาพธรรมที่เกิดดับตามปกติในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ทุกๆ ขณะตั้งแต่เกิดจนตาย มีจิตประเภทต่างๆ ซึ่งเกิดร่วมกับเจตสิกประเภทต่างๆ ตลอดมาโดยไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาพระธรรม ในขณะนั้นต้องแสดงว่า มีความละอายที่จะไม่รู้ จึงได้ฟังเพื่อที่จะได้เข้าใจขึ้น และสำหรับหิริโอตตัปปะ ถ้าพิจารณาบุญกิริยาวัตถุในชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน จะทำให้เห็นได้ว่า มีสภาพธรรมที่เป็นอกุศลเกิดมาก หรือว่ามีสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรมเกิดมาก
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ที่เป็นอกุศลขณะใด ขณะนั้นต้องเป็นอหิริกะ อโนตตัปปะ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตามแต่ แต่ว่าอกุศลจิตแม้ว่าจะเล็กน้อยสักเพียงใด หรือว่าจะถึงขั้นเป็นกายทุจริต วจีทุจริต ก็ต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าสำหรับทุกท่าน การศึกษาธรรมจะทำให้เริ่มรู้จักตนเองตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเจตสิกทั้งหมดอยู่ในหนังสือ หรือว่าจิตทั้งหมดทุกประเภทอยู่ในหนังสือ แต่ว่าในขณะนี้เอง และในทุกๆ ขณะที่สามารถที่จะระลึกและก็สังเกตพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น เช่นในเรื่องของทาน ขณะใดที่มีการให้วัตถุที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปในทาน มีหิริ มีโอตตัปปะ ละอายต่อการที่จะเป็นผู้ที่ตระหนี่ และนอกจากนั้นถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด จะรู้จักตนเองเพิ่มขึ้น โดยดูจากทานที่เป็นไปในขณะนั้นว่า เป็นกุศลที่ประณีตหรือไม่ประณีต เป็นทานที่ให้ด้วยความเคารพ หรือว่าเพียงแต่ให้
นี่ก็เป็นความละเอียดของกุศลจิตแต่ละครั้ง บางท่านอาจจะให้อาหารเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น แต่ว่าเป็นอาหารที่อร่อย หรือว่าไม่อร่อย เป็นอาหารที่ดี หรือว่าเป็นอาหารที่ไม่ดี นี่ เป็นสิ่งที่พอจะพิจารณาลักษณะของหิริและโอตตัปปะในขณะนั้นได้ ว่ามีกำลังและก็มีความละเอียด มีความประณีตเพิ่มขึ้นไหม
สำหรับในเรื่องของศีลก็เช่นเดียวกัน พิจารณากาย วาจาของตนเองได้ในวันหนึ่งๆ ในขณะที่มีความอ่อนน้อม นอบน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ในขณะนั้นก็มีหิริ มีโอตตัปปะมากน้อยแค่ไหน สติสามารถที่จะเกิด ระลึกแล้วก็พิจารณาถึงความรู้สึกที่อ่อนโยนในขณะนั้นได้ หรือว่าเพียงแต่แสดงความเคารพตามมารยาท นี่ก็เป็นสิ่งที่พิจารณาได้ ทั้งในเรื่องของการช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา
สงเคราะห์ด้วยวาจาได้ไหม พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ให้กำลังใจ ที่ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ท้อถอย ขณะนั้นก็เป็นการสงเคราะห์ทางวาจาได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกายหรือวาจา ก็เป็นการที่จะทำให้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า มีหิริ โอตตัปปะเพิ่มขึ้นไหม
จากตัวอย่างในอดีต ในพระไตรปิฎก เวลาที่อ่านข้อความต่างๆ ในพระไตรปิฎก สามารถที่จะพิจารณาถึงกุศลจิตและอกุศลจิตของบุคคลในพระไตรปิฎกได้ อย่างข้อความในอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๓ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคจะตรัสกับวัสสการพราหมณ์ ผู้ที่มีความเห็นว่า เมื่อตนเองเห็นอย่างไร ได้ยินอย่างไร ได้กลิ่นอย่างไร ลิ้มรสอย่างไร สัมผัสอย่างไร คิดนึกอย่างไร ก็พูดอย่างนั้น โทษแห่งการพูดตามที่เห็น ตามที่ได้ยิน ตามที่ได้กลิ่น ตามที่ลิ้มรส ตามที่กระทบสัมผัส ตามที่คิดนึกไม่มี นี่เป็นความเห็นของวัสสการพราหมณ์ ก็จะพิจารณาได้ถึงหิริ โอตตัปปะเป็นขั้นๆ ซึ่งถ้าเป็นขั้นที่พูดจริง ตรง ตามที่ได้เห็น ตามที่ได้ยิน บางท่านก็คิดว่าไม่มีโทษ แต่พระผู้มีพระภาคทรงเตือนว่า ไม่ควรพูดถึงทุกอย่างที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก ที่ทำให้อกุศลธรรมเจริญ และทำให้กุศลธรรมเสื่อม
นี่ก็หิริโอตตัปปะอีกขั้นหนึ่ง ใช่ไหม ที่จะรู้ว่า แม้แต่เป็นเรื่องจริง ที่เห็น ที่ได้ยินก็ตาม แต่สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรที่จะพูด แม้อย่างนั้นถึงแม้ว่าวัสสการพราหมณ์จะชื่นชมแล้ว แต่เวลาที่เห็นท่านพระมหากัจจายนะลงจากภูเขา ก็ยังกล่าววาจาว่า ท่านผู้นี้มีอาการเหมือนลิง
นี่เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ไหม เห็นอย่างนี้ คิดอย่างนี้ แต่ว่าเป็นสิ่งที่ควรพูดหรือไม่ควรพูด นี่ก็แสดงถึงความละเอียดของหิริโอตตัปปะว่า ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่เห็น ที่ได้ยินแล้วก็จะต้องเป็นสิ่งที่ควรพูดเสมอไป บางคนหัวเราะกิริยาอาการของคนอื่น หรือว่าการแต่งเนื้อแต่งตัวของคนอื่น หรือว่าคำพูดของคนอื่น ดูแล้วเหมือนขำ แต่ว่าลึกลงไปในใจ ขณะนั้นดูหมิ่นดูถูกบ้างไหม
นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา แม้แต่กิริยาอาการหรือคำพูดของตนเอง ซึ่งถ้าขณะนั้นไม่พิจารณาก็ดูเหมือนกับว่า น่าหัวเราะจริงๆ ในความรู้สึก ก็อาจจะพูด อาจจะวิจารณ์ อาจจะกล่าวถ้อยคำอะไรซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่บอกว่าไม่ใช่ดูหมิ่น แต่ว่าอาจจะเป็นเรื่องน่าขำเท่านั้นเอง แต่ว่าลึกลงไปกว่านั้น ในขณะนั้น อหิริกะ อโนตตัปปะ ไม่รังเกียจ ไม่ละอาย ในอกุศลจิตในขณะนั้น แล้วก็ถ้าไม่มีการนึกดูหมิ่นดูถูกบ้างแม้นิดหน่อยในใจ จะมองเห็นกิริยาอาการ หรือว่าการแต่งกาย หรือคำพูดของคนอื่นในลักษณะนั้นไหม ซึ่งถ้ามองเป็นธรรม ทุกคนมีกายวาจาตามการสะสมจริงๆ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะคิด ก็ต้องเป็นไปตามการสะสม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกาย วาจาที่เคยเป็น ถ้าเกิดหิริโอตตัปปะ พิจารณาละเอียด แล้วก็จะรู้ได้ว่า ในขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อาจจะคิดว่าตนเองไม่ได้ดูหมิ่นใคร ไม่ได้ดูถูกใคร แต่การที่มองบุคคลอื่นในลักษณะที่น่าขำ ก็แสดงให้เห็นว่า ในขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ พิจารณาตนเองทางกาย ทางวาจา และตลอดไปจนถึงทางใจ แม้เพียงความคิด อหิริกะ อโนตตัปปะ ซึ่งเป็นอกุศลมาก หรือว่าหิริและโอตตัปปะมาก
ในขณะที่ไม่ได้ให้ทาน แล้วก็ขณะนั้นไม่ใช่การวิรัติทุจริต ซึ่งเป็นศีล จิตจะสงบจากอกุศลได้ เมื่อศึกษาพระธรรม หรือแสดงธรรม คือสนทนาธรรมกัน และก็พิจารณาธรรมขณะนั้นเป็นกุศล ขณะที่ไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้รักษาศีล อาจจะเป็นการศึกษาธรรมด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณาธรรม หรือว่าบางท่านก็สนทนาธรรม และถ้าอยู่ตามลำพังขณะใดที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ระลึกถึงความตาย ระลึกถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมทั้งหลาย และจิตประกอบด้วยเมตตา เมื่อนึกถึงใครก็ตาม มีจิตที่หวังประโยชน์เกื้อกูลต่อบุคคลนั้นบ้าง หรือว่ามีความกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา ขณะนั้นก็เป็นหิริและโอตตัปปะ ซึ่งสะสมเจริญขึ้น จนสามารถที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้กุศลจิตเกิดในขณะที่กำลังคิดนึกถึงบุคคลต่างๆ
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ที่คิดถึงแต่ละคน ก็พอที่จะพิจารณาได้ถึงลักษณะของหิริและโอตตัปปะ และก็ต้องอย่าลืมว่า ขณะที่เมตตานั้นเมื่อนึกถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด คือ ขณะที่ทั้งไม่โกรธและไม่รัก ต้องทั้งสองอย่าง ไม่ใช่ว่าคิดถึงด้วยความรัก ความผูกพัน และขณะนั้นจะเป็นหิริโอตตัปปะ แต่แม้ขณะที่มีความคิดถึงด้วยความรักความผูกพัน ขณะนั้นก็ไม่ใช่หิริ ไม่ใช่โอตตัปปะ ไม่เห็นโทษของความผูกพัน ไม่เห็นโทษของความติดข้อง จึงยังคงคิดถึงด้วยความผูกพันอยู่ ต่อเมื่อใดเห็นว่าเป็นโทษ เป็นภัย เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ ความไม่สบายใจทั้งหมด ขณะนั้นก็จะคิดถึงด้วยความเมตตา ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดความไม่สบายใจ
เพราะฉะนั้น หิริโอตตัปปะในวันหนึ่งๆ นี้ง่ายหรือยาก มากหรือน้อยในชีวิตประจำวัน นี่ไม่ใช่ในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพียงแต่ว่าเกิดความสงบ เวลาที่คิดถึงบุคคลอื่นก็คิดถึงด้วยเมตตาบ้าง กรุณาบ้าง มุทิตาบ้าง อุเบกขาบ้าง
ถ้าอีกขั้นหนึ่งก็คือ หิริโอตตัปปะ ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นหิริโอตตัปปะในขั้นของการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าใครยังไม่เห็นกำลังของอหิริกะ อโนตตัปปะ ว่ามีมาก คนนั้นก็คงจะคิดว่า ไม่ได้ทำความเดือดร้อนอะไรให้ใครเลย มีชีวิตวันหนึ่งๆ ก็เป็นสุขสบายดี เพราะฉะนั้น ก็ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะศึกษาให้ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น วิริยารัมภกถาที่จะให้เกิดความเพียร ที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม คือ ชี้แจงให้เห็นโทษของอกุศล และให้เห็นกำลังของอกุศล ซึ่งมีแทบจะกล่าวได้ว่า ตลอดทั้งวันและตลอดทั้งคืนด้วย ติดตามไปถึงความฝัน กลางวันนี่ก็เต็มไปด้วยอกุศลแล้ว ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ทางใจ นอนหลับพักผ่อนแล้ว อหิริกะ อโนตตัปปะ ก็ติดตามไปถึงความฝันด้วย
มีใครไม่ฝันบ้างไหม พระอรหันต์ไม่ฝัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ฝัน เพราะว่ายังมีอหิริกะ อโนตตัปปะ เวลาฝันนี้ เป็นโลภมูลจิตบ้าง เป็นโทสมูลจิตบ้าง ใช่ไหม ใครที่ฝันเป็นกุศลได้ทุกคืนๆ หรือว่าในฝันเรื่องหนึ่ง ซึ่งคืนหนึ่งนี้ฝันหลายเรื่อง ถ้าตื่นขึ้นมาก็หลับไปอีก ก็ฝันอีก บางทีก็เป็นคนละเรื่อง บางทีก็เรื่องต่อกัน เพราะฉะนั้น คืนหนึ่งก็ฝันหลายเรื่อง แล้วก็ในฝันเรื่องหนึ่งๆ นี้ เป็นกุศลกี่ครั้ง หรือว่าฝันด้วยอกุศลทั้งนั้น ตื่นเต้น สนุกสนาน เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ถึงสิ่งที่เคยเห็นมาแล้วบ้าง หรือว่าเคยลิ้มรสมาแล้วต่างๆ เหล่านั้น เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า อหิริกะ อโนตตัปปะ นอกจากจะมีมากมายในกลางวันแล้ว ก็ยังติดตามไปจนถึงกลางคืน แม้ในขณะที่กำลังพักผ่อนหลับนอนด้วย
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านก็อยากปฏิบัติมากเหลือเกิน ซึ่งก็คงจะไม่ใช่ท่านผู้ฟังท่านนี้ท่านเดียว ก็คงจะมีอีกหลายท่านทีเดียวที่อยากจะข้ามธรรมทั้งหมด เพื่อที่จะปฏิบัติเสียทีๆ รู้สึกว่ามีความตั้งใจรีบร้อนที่จะปฏิบัติ แต่ว่าถ้าการปฏิบัตินั้นไม่ใช่เพื่อรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง จะมีประโยชน์ไหม ท่านที่อยากจะปฏิบัติธรรม ลองพิจารณา ถ้าการปฏิบัตินั้น ไม่ทำให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง จะมีประโยชน์ไหม ไม่รู้ว่าอกุศลเกิดในขณะไหนบ้าง กุศลเกิดในขณะไหนบ้าง วันหนึ่งมีกุศลมาก หรือมีอกุศลมาก ถ้าไม่รู้อย่างนี้ แล้วก็อยากจะปฏิบัติทันที โดยไม่รู้อะไรทั้งหมดในเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เท่ากับว่าไม่เป็นการปฏิบัติเพื่อรู้จักตัวเอง เพราะฉะนั้น จะมีประโยชน์อะไร แต่ถ้าได้ฟังพระธรรมและการปฏิบัติก็คือสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เคยรู้ แต่ว่าเคยยึดถือว่าเป็นเรา และก็เริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงขึ้น อันนั้นย่อมเป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าเมื่อเห็นอกุศลตามความเป็นจริง ย่อมเกิดความละอาย ความรังเกียจ และก็อบรมเจริญปัญญา
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050