โสภณธรรม ครั้งที่ 026


    ตอนที่ ๒๖

    ขณะนั้นก็จะเป็นไปตามมารยาทที่สมควรและการที่จะพิจารณาเรื่องของมารยาท เมื่อหิริมีแล้ว คือ ทำตามมารยาทที่ควร แล้วยังเพิ่มถึงมารยาทที่งามขึ้นกว่านั้นอีกได้ไหม

    นี่คือพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้ ถ้าเป็นเรื่องของมารยาท แล้วก็ส่วนใหญ่ก็เป็นในเรื่องของพระวินัยบัญญัติ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากหิริโอตตัปปะในชีวิตประจำวันนั่นเอง

    สำหรับกุศล ผู้ที่รู้ว่ากุศลมีประโยชน์อย่างไร แต่ก็ยังไม่ทำความเพียร เครื่องเผากิเลส และไม่สะดุ้งกลัว ก็เป็นชีวิตประจำวันอีก โดยที่ผู้นั้นคิดว่า กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดขึ้นจะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ รู้ว่ากุศลดี แต่ก็ไม่ทำ เมื่อไม่ทำก็ต้องเสื่อม หรือว่าเสียประโยชน์ แต่ก็ยังไม่ทำ นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน แล้วก็สำหรับกุศลธรรมนั้น ผู้ที่ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส และไม่สะดุ้งกลัว ก็คิดว่ากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อดับ คือ ไม่เกิดอีกเพราะเสื่อมไป จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์

    ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ ก็ไม่ทำความเพียร เครื่องเผากิเลส และไม่สะดุ้งกลัว แต่สำหรับผู้ที่หิริโอตตัปปะเกิด ท่านพระมหากัสสปะกล่าวว่า

    “ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเสียประโยชน์ อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อยังละไม่ได้ ย่อมเสียประโยชน์ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เมื่อไม่เกิดขึ้น ย่อมเสียประโยชน์ กุศลธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อดับแล้ว ไม่เกิดอีกเพราะเสื่อม ย่อมเสียประโยชน์”

    เหมือนกันทุกประการ กับผู้ที่อหิริกะ อโนตตัปปะเกิด รู้ทั้ง ๒ ท่าน แต่ว่าท่านหนึ่งทั้งๆ ที่รู้ อหิริกะ อโนตตัปปะ ก็เกิด อีกท่านหนึ่ง รู้ แต่ว่าหิริโอตตัปปะเกิด

    เพราะฉะนั้น พระธรรมนี่สำหรับแต่ละบุคคลจะพิจารณาตนเองจริงๆ บางท่านอาจจะเห็นท่านผู้อื่นเป็นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะ ที่น่าชื่นชม แต่ว่าท่านยังทำไม่ได้ แต่ก็ขวนขวายเพียรเพิ่มขึ้นที่จะกระทำ สักวันหนึ่งก็ย่อมเป็นไปได้ แทนที่จะประมาทและก็ไม่สนใจ ในเรื่องของหิริโอตตัปปะเลย

    ผู้ฟัง ทั้งที่รู้แล้วก็ทำนี่ชื่อว่า ไม่มีความเพียร ไม่สะดุ้งกลัว แล้วคนที่ทำโดยความไม่รู้นี่ จะชื่อว่า ไม่มีความเพียร ไม่สะดุ้งกลัวไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถที่จะรู้เลยว่า วันนี้มีอกุศลกี่ครั้ง มากไหม หรือว่าผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้พิจารณาพระธรรมเลย ก็ไม่รู้ใช่ไหมก็เป็นอหิริกะ อโนตตัปปะ และสำหรับผู้รู้ก็ยังเป็นอหิริกะ อโนตตัปปะได้ทั้งๆ รู้

    ผู้ฟัง ผู้รู้ ไม่มีความเพียร ไม่สะดุ้งกลัวเพราะรู้ แต่คนที่ไม่รู้ เขาไม่รู้นี่

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ก็ทำไปสบายมาก ทำต่อไป ใช่ไหม ถ้าไม่รู้แล้วก็จะเลิกไหม

    สำหรับผู้ที่สะสมปัญญาที่จะเกิดหิริโดยง่าย ขอกล่าวถึงข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุต ซึ่งทุกท่านคงอยากเป็นอย่างนี้ แต่ว่าชาติไหนจะเป็นอย่างนี้ ก็ต้องสะสมไปอีกจนกว่าจะถึงชาตินั้น ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ

    ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุต อรหันตวรรคที่ ๑ พหุธิติสูตร ข้อ ๖๖๗ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในชัฏป่าแห่งหนึ่ง ในโกศลชนบท ก็โดยสมัยนั้นแล โคงาน ๑๔ ตัว ของพราหมณ์ภารทวาชโคตรคนหนึ่งหายไป

    ครั้งนั้นแล พราหมณ์ภารทวาชโคตรเที่ยวแสวงหาโคงานเหล่านั้นอยู่ เข้าไปถึงชัฏป่านั้น ครั้นแล้ว ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในชัฏป่านั้น ทรงนั่งสมาธิ ตั้งพระกายตรง ทรงดำรงพระสติเฉพาะพระพักตร์ ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า

    โคงาน ๑๔ ตัวของพระสมณะนี้ไม่มีแน่ แต่ของเราหายไปได้ ๖๐ วันเข้าวันนี้ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข

    งาทั้งหลายอันเลวใบหนึ่งและสองใบในไร่ ของพระสมณะนี้ไม่มีเป็นแน่ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข

    หนูทั้งหลายในฉางเปล่า ย่อมไม่รบกวนแก่พระสมณะนี้ด้วยการยกหูหางขึ้นแล้วกระโดดโลดเต้นเป็นแน่ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข

    เครื่องลาดของพระสมณะนี้ใช้ตั้งเจ็ดเดือนไม่ดาดาษแล้ว ด้วยสัตว์ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นเป็นแน่ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข

    หญิงหม้าย บุตรธิดามีบุตรคนหนึ่งและสองคนของพระสมณะนี้ย่อมไม่มีแน่ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข

    แมลงซึ่งมีตัวอันลาย ไต่ตอมบุคคลผู้หลับด้วยเท้า ย่อมไม่ไต่ตอมพระสมณะนี้เป็นแน่ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข

    ในเวลาใกล้รุ่ง เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมไม่ทวงพระสมณะนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงให้ๆ ดังนี้เป็นแน่ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข ฯ

    เป็นชีวิตประจำวันของใครบ้างหรือเปล่า อาจจะไม่มีโคงาน ๑๔ ตัวที่หายไป ๖๐ วัน แล้วกลุ้มใจ เหมือนอย่างพราหมณ์คนนี้ แล้วก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่ปลูกผักปลูกงาที่มีใบเลว ๑ ใบ หรือ ๒ ใบ ในไร่ และก็ไม่มีฉางข้าวที่หนูชูหางกระโดดโลดเต้น แต่ว่ามีบ้างไหม ที่แมลงซึ่งมีตัวอันลายไต่ตอมบุคคลผู้หลับด้วยเท้า หรือไม่ต้องหลับก็ได้ เพียงเท่านี้ก็คิดถึงความสุขที่ต่างกันของผู้ที่มีกิเลสกับผู้ที่ไม่มีกิเลส ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียด

    พระผู้มีพระภาคได้ภาษิตพระคาถาตอบว่า “ดูกรพราหมณ์ โคงาน ๑๔ ตัวของเราไม่มีเลย แต่ของท่านหายไปได้ ๖๐ วันเข้าวันนี้ ดูกรพราหมณ์เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้มีความสุข ดูกรพราหมณ์ งาทั้งหลายอันเลวมีใบหนึ่งและสองใบในไร่ของเราไม่มีเลย ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีความสุข ดูกรพราหมณ์ หนูทั้งหลายในฉางเปล่า ย่อมไม่รบกวนเราเลยด้วยการยกหูหางขึ้นแล้วกระโดดโลดเต้น ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้มีความสุข ดูกรพราหมณ์ เครื่องลาดของเราใช้ตั้งเจ็ดเดือนไม่ดาดาษเลยด้วยสัตว์ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้มีความสุข ดูกรพราหมณ์ หญิงหม้าย บุตรธิดามีบุตรคนหนึ่งและสองคน ของเราไม่มีเลย ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้มีความสุข แมลงซึ่งมีตัวอันลาย ไต่ตอมบุคคลผู้หลับด้วยเท้าย่อมไม่ไต่ตอมเราเลย ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้มีความสุข ดูกรพราหมณ์ ในเวลาใกล้รุ่งเจ้าหนี้ทั้งหลาย ย่อมไม่ทวงเราเลยว่า ท่านทั้งหลายจงให้ ท่านทั้งหลายจงให้ ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้มีความสุข”

    ท่านผู้ฟังจะเป็นอย่างไหนถึงจะมีความสุข มีโค มีฉาง มีไร่ มีนา หรือว่าไม่มีเลย จึงจะมีความสุข แล้วแต่กิเลส ฝืนกิเลสไม่ได้ ใช่ไหม ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ต้องมีนา ต้องมีโค ต้องมีฉางข้าว ถึงจะมีความสุข ถ้าไม่มีจะสุขได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่กิเลสจริงๆ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระสมณโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ”

    สำหรับผู้ที่สะสมอัธยาศัยมาที่จะเป็นบรรพชิต ก็ประพฤติปฏิบัติการอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต แต่ว่าแม้คฤหัสถ์จะไม่ได้สะสมมาที่จะเป็นบรรพชิต แต่ก็น้อมรับอนุสาสนีโดยเคารพ คือ ประพฤติปฏิบัติตาม นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าเพียงฟังแล้วเข้าใจ แล้วก็ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม

    พราหมณ์ภารทวาชโคตรบรรพชา ได้อุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็ท่านพระภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกไปอยู่ผู้เดียวไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ไม่นานเท่าไรนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ มีความต้องการ ด้วยปัญญาเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล

    จะคิดไหมว่า คนหนึ่งซึ่งมีโคซึ่งหายไป ๑๔ ตัว มีไร่ มีนา มีฉางข้าว จะเป็นผู้ที่ได้สะสมปัญญา ความเพียร หิริ โอตตัปปะมาแล้ว พร้อมที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น ถ้าท่านผู้ใดเห็นท่านที่ มีไร่ มีนา จะทราบไหมว่า ท่านผู้นั้นอาจจะได้สะสมปัญญามาแล้ว จะถึงขั้นไหนก็ไม่แน่ แล้วแต่ว่าโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม และมีเหตุปัจจัยที่จะให้ปัญญาเจริญในชาตินั้น ถ้าเป็นในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เป็นกาลสมบัติ เพราะฉะนั้น ก็ประมาทไม่ได้เลยว่าใคร อาชีพไหน มีความทุกข์อย่างไร ยังมีโลภะ โทสะอยู่ แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรม การสะสมโสภณธรรมทั้งหลายที่พร้อม ที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็น้อมปฏิบัติธรรมได้ทันที จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ทุกคนก็ตรงต่อตัวเอง ยังไม่ต้องคิดถึงพราหมณ์ผู้นี้ แต่คิดถึงความเข้าใจธรรมในวันหนึ่งๆ แล้วสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมในวันหนึ่งๆ แล้วปัญญาซึ่งเกิดเพราะการพิจารณาสังเกตลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในวันหนึ่งๆ จนกว่าจะถึงชาติหนึ่งซึ่งจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยที่ท่านจะไม่ทราบเลยว่า ในชาตินั้นท่านจะเป็นใคร จะเป็นผู้ที่มีไร่ มีนา หรือว่าจะเป็นคนทำอาหารอยู่ในห้องครัว แล้วก็ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอนาคามี แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ เหตุต้องตรงกับผล ถ้าขณะนี้ไม่รู้ว่า สัจจธรรมคืออะไร ก็ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญหนทางที่จะดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง ฟังจากสูตรนี้แล้ว ก็ต้องเข้าใจอย่างแน่นอนว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรนี้จะต้องเจริญสติปัฏฐานมาอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้พูดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย พูดแต่หิริโอตตัปปะ โคมีทุกข์เพราะโค มีทุกข์เพราะบุตร มีทุกข์เพราะไร่ เพราะฉางข้าว ก็ได้บรรลุแล้ว

    ท่านอาจารย์ ยัง ท่านต้องบรรพชาอุปสมบท ไม่ใช่บรรลุทันที

    ผู้ฟัง แค่ฟังท่านได้เพียงพระรัตนตรัย ถึงพระรัตนตรัยเท่านั้น แล้วก็ คงไม่ได้พูดละเอียดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ ทรงแสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษา

    เพราะฉะนั้น ข้อความในพระสูตรก็ตาม หรือว่าที่ยกจากพระไตรปิฎกโดยตรง หรืออรรถกถา แม้ว่าจะมีบางคำซึ่งอาจจะทำให้คนที่ไม่ชิน เข้าใจได้ไม่ชัดเจน หรืออาจจะเป็นคำที่ทำให้ต้องคิด แล้วก็พิจารณาในอรรถ ในเนื้อความนั้นจึงจะเข้าใจได้ แต่นั่นก็ยังเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในพระธรรม แล้วก็ไม่ทอดทิ้งแม้แต่คำที่ยังไม่เข้าใจ แต่ว่าเป็นประโยชน์รักษาไว้ แล้วก็ในกาลข้างหน้าก็จะได้ศึกษา พยายามหาความเข้าใจให้แจ่มแจ้งขึ้น แต่ว่าสำหรับบางบุคคล ต้องคำนึงถึงบางบุคคลด้วย นอกจากบางกาลเทศะแล้ว ก็ยังบางบุคคล ซึ่งอาจจะไม่สนใจในพระธรรมถึงขั้นนี้ แต่ว่าต้องการเรื่องเบาๆ ง่ายๆ ที่พอจะเข้าใจได้ แต่พอมีคำยากก็จะทิ้งความสนใจทันที เห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากไป สูงไป

    ท่านที่มีเจตนาอยากจะให้ท่านผู้นั้นมีความเข้าใจ ก็เป็นการเฉพาะตัวส่วนตัวที่จะตัดคำยากๆ ออกได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละท่าน ซึ่งก็ควรที่จะพิจารณาเมื่อหวังประโยชน์แก่บุคคลอื่น ก็ทำตามอัธยาศัยของผู้นั้นได้

    ผู้ฟัง ธรรมของพระพุทธเจ้านี้มีมากมาย และก็ต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ เมื่อฟังหิริโอตตัปปะจากอาจารย์แล้ว ก็มาพิจารณาตัวเองว่า มีกำลังน้อยเหลือเกินสำหรับหิริโอตตัปปะ ทำไป ทำบาปทำอกุศลไปวันหนึ่งๆ คิดเรื่องอกุศล เราก็ฟังเรื่องหิริโอตตัปปะมาตั้ง ๓ – ๔ อาทิตย์แล้ว มันก็ยังไม่มีกำลัง ยิ่งไปกว่านั้นบางท่านเจริญสติปัฏฐานอยู่ด้วย ก็ไม่นำไปปฏิบัติ ไม่นำไปประพฤติ ไม่ละไม่อะไร เมื่อสักครู่นี้อาจารย์บอกว่า หิริโอตตัปปะจะมีกำลังก็โดยการเพียร เพียรเผากิเลสๆ ละ ละในที่นี้ก็คงละกิเลสอีกเหมือนกันใช่ไหม ละกิเลส ก็คือ ก็ต้องเจริญสติปัฏฐาน จะเอาอย่างใดอย่างหนึ่งหนักก็ไม่ได้ ต้องหนักๆ ด้วยกันทั้งนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ละเอียดขึ้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว เพราะเหตุว่าถ้ามุ่งที่จะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว วันนี้ทำอะไรบ้าง อหิริกะเท่าไร อโนตตัปปะเท่าไร แม้แต่ในเรื่องมารยาท ในเรื่องปฏิสันถาร ในเรื่องความเอื้อเฟื้อ ในเรื่องบุญกิริยา แม้เล็กๆ น้อยๆ

    ผู้ฟัง ต้องเก็บหมด

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น ด้วยสติ ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่มีการระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตของตนเองในขณะนั้น ยังคงเป็นเรื่องคนอื่นมากมายอยู่นั่นเอง เพราะ ฉะนั้นขณะใด ที่คิดถึงคนอื่นด้วยจิตที่เป็นอกุศล พอที่จะเห็นได้ใช่ไหมว่า ขณะนั้น อหิริกะ อโนตตัปปะ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเปลี่ยนเป็นกุศลเสีย คิดด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา หรือด้วยอุเบกขา ไม่ต้องคอยจนถึงชาติหน้าที่จะอยากมีกิเลสน้อย ถ้าจะอยากมีกิเลสน้อยชาติหน้า คือ ขณะนั้นเอง ต้องลดคลายอกุศล เพียรคืออย่างนั้น ไม่ใช่คอย แต่ค่อยๆ ระลึกได้ แล้วก็รู้ว่าขณะใดเป็นอกุศล ก็ละ

    ผู้ฟัง ก็ควรจะเริ่มตั้งต้น ตำหนิตัวเองไปหนักๆ หน่อย

    ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนาอย่างยิ่ง สำหรับท่านที่คิดที่จะรู้จักตัวเองและก็เตือนตัวเอง นี่เป็นการน้อมรับอนุศาสนี ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อปฏิบัติ ด้วยความเคารพ

    อย่าลืม กัลยาณมิตร ไม่ใช่คนที่จะทำให้เราโกรธ หรือรู้สึกโกรธคนนั้นคนนี้ แต่ว่าเป็นผู้ที่ทำให้เราเกิดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในบุคคลอื่นๆ

    สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส จะเห็นได้ว่า อหิริกะ อโนตตัปปะนี้ มีปัจจัยที่จะเกิดได้ทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และถ้าไม่มีปัจจัยที่จะเกื้อกูลได้ หิริโอตตัปปะก็ไม่เกิด ต่อเมื่อใดที่มีปัจจัยที่เหมาะสมที่เกื้อกูลได้ในขณะนั้น หิริโอตตัปปะจึงเกิดได้

    ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค สานุสูตร ข้อ ๘๑๔ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล บุตรของอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสานุ ถูกยักษ์เข้าสิง

    ครั้งนั้นแล อุบาสิกานั้นได้ปริเทวนาการกล่าวคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า ฉันได้สดับต่อพระอรหันต์ทั้งหลายว่า “ชนเหล่าใดเข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการด้วยดี ตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ ทั้งตลอดปาริหาริกปักษ์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ยักษ์ทั้งหลาย ย่อมไม่เล่นกับชนเหล่านั้น บัดนี้ ฉันเห็นในวันนี้ ยักษ์เล่นกับสามเณรสานุ”

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    เล่ากันว่า บุตร คือ สานุสามเณร เป็นบุตรคนเดียวของอุบาสิกานั้น นางให้บุตรบรรพชาในเวลาเป็นหนุ่ม สานุสามเณรนั้น ตั้งแต่บรรพชาแล้วก็ เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวัตรเป็นผู้ที่มีศีล ทำวัตรแก่อาจารย์ อุปัชฌายะและพระอาคันตุกะเป็นต้น เดือนละแปดวัน ลุกแต่เช้า เข้าไปตั้งน้ำไว้ในโรงน้ำ กวาดโรงฟังธรรม ตามประทีป ประกาศฟังธรรมด้วยเสียงไพเราะ พวกภิกษุทราบกำลังของสามเณรนั้นจึงเชื้อเชิญว่า “พ่อเณร จงกล่าวบทสรภัญญะเถิด ” สามเณรนั้น ไม่นำอะไรมาอ้างว่า ลมเสียดแทงหัวใจของผม หรือโรคไอรบกวน ขึ้นธรรมาสน์ กล่าวบทสรภัญญะเหมือนยังแม่น้ำคงคาในอากาศให้ตกลงอยู่ฉะนั้น ลงมากล่าวว่า “ขอส่วนบุญในสรภัญญะนี้ จงมีแก่มารดาบิดาของข้าพเจ้าเถิด”

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีศรัทธา เวลาที่ผู้อื่นให้เชื้อเชิญให้ทำกิจหนึ่งกิจใดในเรื่องของการแสดงธรรม ท่านไม่มีข้ออ้างอื่นเลย เช่น สามเณรนั้นไม่อ้างว่า

    ลมกำลังเสียดแทงหัวใจ หรือว่าโรคไอรบกวน ท่านขึ้นธรรมาสน์ กล่าวบทสรภัญญะแล้ว ก็เมื่อลงมาแล้วก็อุทิศส่วนบุญคือกล่าวว่า “ขอส่วนบุญในสรภัญญะนี้ จงมีแก่มารดาบิดาของข้าพเจ้าเถิด” แต่ว่ามารดาที่มีชีวิตอยู่ของท่านไม่รู้ในส่วนบุญนั้นเพราะว่าขณะนั้นท่านบรรพชาอุปสมบทแล้ว แต่ว่ามารดาของสามเณรในอัตภาพก่อนเกิดเป็นยักษิณี นางมากับพวกเทวดา ฟังธรรมแล้ว จึงกล่าวว่า “ลูก ข้าพเจ้าขออนุโมทนาส่วนบุญอันสามเณรให้แล้ว” ก็ธรรมดาพวกภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นที่รักของโลกพร้อมทั้งเทวโลก ด้วยประการฉะนี้

    เหล่าเทวดามีความละอาย มีความเคารพในสามเณรนั้น หิริโอตตัปปะย่อมสำคัญสามเณรนั้นเหมือนท้าวมหาพรหม และเหมือนกองไฟ ยกนางยักษิณีนั้นขึ้นเป็นที่เคารพดูแล ด้วยความเคารพในสามเณร

    แต่เมื่อสามเณรนั้นเจริญวัยขึ้น ถูกความไม่ยินดีบีบคั้น เมื่อไม่อาจจะบรรเทาความไม่ยินดีได้ ก็ปล่อยให้ผมและเล็บยาวรกรุงรัง ทั้งสบงและจีวรก็สกปรกเหลือเกิน ไม่บอกใคร ถือบาตรและจีวรไปยังประตูเรือนของมารดาของตน

    เมื่ออุบาสิกาเห็นสามเณรก็ไหว้แล้วก็ ได้กล่าวว่า “เมื่อวันก่อน ท่านได้มากับอาจารย์อุปัชฌายะ หรือภิกษุหนุ่มและสามเณร แต่ว่าวันนี้ทำไมถึงมาคนเดียว” ซึ่งสามเณรนั้นก็ได้บอกความจริงให้ทราบ ที่เป็นผู้ที่ใคร่จะสึก อุบาสิกาเป็นคนมีศรัทธา ก็ได้แสดงโทษของการครองเรือนโดยประการต่างๆ เป็นการกล่าวสอนสามเณร แต่ก็ไม่อาจที่จะให้สามเณรนั้นยินยอมได้ นางก็เลยกล่าวชวนว่าให้เข้าไปในบ้าน และก็จะได้จัดข้าวยาคูและภัตเพื่อที่จะถวายให้ดื่มและทำภัตกิจเสร็จเสียก่อน ก็คิดว่า คำพูดของตนอาจจะไม่เกื้อกูลแก่สามเณร สามเณรอาจจะเกิดหิริโอตตัปปะระลึกได้เอง เมื่อสามเณรนั่งแล้ว อุบาสิกานั้นก็ได้จัดข้าวยาคูและของขบเคี้ยวถวาย แล้วก็เตรียมที่จะจัดภัต นั่งซาวข้าวอยู่ในที่ไม่ไกล

    สมัยนั้น นางยักษิณีซึ่งเป็นมารดาในอดีตชาติ ก็คิดว่า สามเณรนั้นจะได้อาหารที่ไหน และเป็นอาหารอะไร หรือไม่ได้ ก็ได้รู้ว่า สามเณรได้นั่งอยู่ในเรือนของมารดา แล้วก็เตรียมที่จะสึก นางยักษิณีนั้นก็คิดว่า อย่าให้ความละอายเกิดขึ้นระหว่างเทวดาของเรา เพราะว่าเทวดาทั้งหลายก็เป็นผู้ที่มีความเคารพในสามเณร เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะให้ขาดความเคารพ โดยการที่ไม่ควรที่สามเณรนั้นจะสึก เพราะฉะนั้น นางยักษิณีนั้นก็สิงที่ร่างของสามเณรสานุ แล้วก็บิดคอให้ล้มลงที่พื้น สามเณรมีนัยน์ตาเหลือก น้ำลายไหล ดิ้นอยู่ที่พื้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บุตรชื่อว่าสานุของอุบาสิกาถูกยักษ์สิงแล้ว

    เมื่ออุบาสิกาเห็นอาการแปลกของบุตร ก็เข้ามาหาโดยเร็ว แล้วก็คร่ำครวญแล้วได้กล่าวคาถาตามที่ได้กล่าวแล้วคือ “ฉันได้สดับต่อพระอรหันต์ทั้งหลายว่า ชนเหล่าใดเข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการด้วยดี ตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ ทั้งตลอดปาริหาริกปักษ์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่เล่นกับชนเหล่านั้น บัดนี้ ฉันเห็นในวันนี้ ยักษ์เล่นกับสามเณรสานุ”

    ยักษ์กล่าวว่า ท่านได้สดับต่อพระอรหันต์ทั้งหลายว่า “ชนเหล่าใดเข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการด้วยดี ตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ ทั้งตลอดปาริหาริกปักษ์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่เล่นกับชนเหล่านั้น เป็นการชอบ ท่านพึงบอกสานุผู้ฟื้นขึ้นแล้วว่า ยักษ์สั่งคำนี้ไว้ว่า ท่านอย่าได้กระทำกรรมอันลามกทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ถ้าท่านจักกระทำกรรมอันลามกไซร้ ถึงท่านจะเหาะหนีไปก็ไม่พ้นจากทุกข์”

    เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ปล่อยสามเณร สามเณรลืมตา เห็นมารดาที่สยายผมร้องไห้ สะอึก สะอื้น โดยที่ไม่รู้ว่า ตนเองได้ถูกอมนุษย์สิงแล้ว เมื่อสามเณรเห็นอย่างนั้น ก็คิดว่า ก่อนนี้เรานั่งบนตั่ง แล้วมารดาก็นั่งซาวข้าวอยู่ในที่ไม่ไกล แต่เดี๋ยวนี้เรานั่งบนพื้น ส่วนมารดาของเราร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ แม้ชาวบ้านทั้งสิ้นก็ประชุมกันแล้ว นั่นอะไรกันหนอ ทั้งที่นอนนั้นแหละ กล่าวคาถาต่อไป มีข้อความว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ