โสภณธรรม ครั้งที่ 027
ตอนที่ ๒๗
นั่นอะไรกันหนอ ทั้งที่นอนนั้นแหละ กล่าวคาถาต่อไป มีข้อความว่า
“โยม ญาติ และมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว หรือยังเป็นอยู่แต่หายไป โยมยังเห็นฉันเป็นอยู่ ไฉนโยมจึงร้องไห้ถึงฉัน”
อุบาสิกากล่าวว่า “ลูกเอ๋ย ญาติและมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้วหรือยังเป็นอยู่แต่หายไป แต่คนใดละกามทั้งหลายแล้วจะกลับมาในกามนี้อีก ลูกรัก ญาติและมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคนนั้น เพราะเขาเป็นอยู่ต่อไปอีกก็เหมือนตายแล้ว แน่ะพ่อ เรายกท่านขึ้นจากเถ้ารึงที่ยังร้อนระอุแล้ว ท่านอยากจะตกลงไปสู่เถ้ารึงอีก แน่ะพ่อ เรายกท่านขึ้นจากเหวแล้ว ท่านอยากจะตกลงไปสู่เหวอีก เราจะโพนทะนาแก่ใครเล่าว่า ขอท่านจงช่วยกัน ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน ประดุจสิ่งของที่ขนออกจากเรือนที่ไฟไหม้ แต่ท่านอยากจะเผามันเสียอีก”
เวลาไฟไหม้ก็พยายามเอาสมบัติทั้งหลายออกจากเรือน โดยการบรรพชาอุปสมบท เพราะเห็นโทษของกาม แต่แล้วก็กลับจะเผาของที่เอาออกนั้นเสียอีก
ซึ่งเมื่อมารดากล่าวอยู่อย่างนั้น สามเณรก็ระลึกได้ กลับได้หิริและโอตตัปปะ จึงกล่าวว่า “เราไม่ต้องการเป็นคฤหัสถ์” ครั้งนั้น มารดาของสามเณรนั้น ยินดีว่า “ดีละลูก” ดังนี้ ถวายโภชนะอันประณีตให้ฉันแล้ว จึงถามว่า “ลูก เจ้าอายุกี่ปี” สามเณรตอบว่า “แม่ ยี่สิบปีบริบูรณ์” อุบาสิกากล่าวว่า “ลูก ถ้าเช่นนั้น ขอเจ้าจงทำการอุปสมบทเถิด”
เมื่อได้ผ้าและจีวรแล้ว สามเณรนั้นได้ทำจีวรแล้วอุปสมบท เรียนพระพุทธพจน์อยู่ ทรงพระไตรปิฏก ยังพระพุทธพจน์นั้นให้บริบูรณ์ ในอาคตสถานแห่งศีลเป็นต้น ไม่นานบรรลุความเป็นพระอรหันต์ เป็นพระธรรมกถึกผู้ใหญ่ ดำรงอยู่ได้ ๑๒๐ ปี ให้ชมพูทวีปทั้งสิ้นสั่นสะเทือน แล้วก็ปรินิพพาน
ยาก ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่จะเกื้อกูลให้หิริโอตตัปปะเกิด หิริโอตตัปปะก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น แต่ละท่าน ต่อไปก็คงที่จะรู้จักตนเองตามความเป็นจริง เวลาที่กำลังเกิดอกุศล แล้วก็มีอะไรที่จะทำให้หิริโอตตัปปะเกิดได้บ้าง หรือว่าแม้จะมีถึงเหตุการณ์อย่างนั้น ก็ยังไม่เกิด แต่สำหรับสานุสามเณร เมื่อท่านเห็นมารดาของท่านร้องไห้อย่างนั้น และก็ได้ฟังเรื่องของมารดาในอดีตชาติที่กล่าวเตือนท่าน ท่านก็ระลึกได้
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่มีคำอยู่คำหนึ่ง ปาริหาริกปักษ์ แปลว่าอะไร
ท่านอาจารย์ เรื่องของการรับศีลอุโบสถตลอด ๓ เดือน
ผู้ฟัง คือฟังแล้วก็เป็นเรื่องอุโบสถ ทีนี้ถ้าพูดถึงตัวอย่างเมื่อสักครู่นี้ ถ้าเผื่อยักษ์ไม่มาเข้าสิง มารดาของท่านสามเณรสานุเพียงลำพัง คงจะเอาไม่อยู่ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน ท่านได้กล่าวหลายข้อ แต่ว่าสานุสามเณรก็ยังไม่เกิดหิริโอตตัปปะ
ผู้ฟัง แล้วยักษ์นั้นก็คงได้อานิสงส์มาก
ท่านอาจารย์ อยู่ที่จิตที่เป็นกุศล
ผู้ฟัง ก็มีส่วนช่วยให้สามเณรสานุไม่สึก
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ จิตขณะใดเป็นกุศลโสมนัส ขณะนั้นก็ย่อมได้ผลมาก
มารดาในอดีตชาติของใคร ขณะนี้อยู่ที่ไหน กำลังเห็นท่านผู้หนึ่งผู้ใด ทำอกุศลอะไรบ้าง ถ้าจะทำให้มารดาในอดีตชาติเกิดกุศล ก็ต้องทำกุศล แม้ว่าจะไม่รู้เลยว่า ท่านอยู่ที่ไหน แม้แต่มารดาหรือบิดาในปัจจุบันชาติซึ่งท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ยังไม่อาจจะรู้ได้ แต่ว่าขณะใดที่บุคคลใดทำกุศล ผู้อื่นรู้ ก็สามารถที่จะอนุโมทนาได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของการฟัง ต้องฟังด้วยการพิจารณา พร้อมทั้งระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วเรื่องผลก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่เหตุจริงๆ ถ้าปัญญาเกิด ปัญญาทำกิจของปัญญา คือ ละคลายความไม่รู้ ซึ่งเป็นอวิชชา แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด อวิชชาก็ยังต้องมี แล้วก็ยังต้องมีวิจิกิจฉา คือ ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วก็ยังมีโลภะ ความอยาก ความต้องการผล ซึ่งไม่ใช่ผลจริงๆ เพราะว่าผลจริงๆ ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ว่าใครจะไปเกิดการประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม โดยขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น เรื่องของหิริโอตตัปปะนี่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ว่า ต้องมีทุกๆ ขั้น ตลอดไปที่จะเกิดหิริโอตตัปปะ ที่จะละข้อปฏิบัติที่ผิดด้วย เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้ว่าข้อปฏิบัติใดผิด ข้อปฏิบัติใดถูก ขณะนั้นก็ไม่มีความละอาย ไม่มีความรังเกียจ ที่ยังคงเห็นผิดยึดถือข้อปฏิบัติผิดต่อไป
และสำหรับอกุศลในวันหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ก็จะต้องมีอหิริกะ อโนตตัปปะเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ลองคิดดูว่า ถ้าอกุศลจิตเกิดขณะหนึ่ง แล้วไม่รังเกียจ แล้วไม่ละอาย เพราะเห็นว่าเป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง น้อยมาก ใช่ไหมวันนี้ ระดับขั้นของอหิริกะ อโนตตัปปะที่เกิดยังไม่ถึงกับเป็นอกุศลกรรมบถ เพียงแต่เกิดความยินดี พอใจในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะบ้าง เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งๆ ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะเป็นผู้ประมาทในเรื่องความไม่ละอาย ไม่รังเกียจในอกุศลธรรม เพราะเห็นว่าเป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวที่เล็กน้อย แต่ว่าทุกขณะจิตเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้จะสะสมสืบต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทำให้เป็นผู้ที่ไม่ละอายในอกุศลธรรมทุกขั้นได้ ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ
เพราะฉะนั้น พระธรรมนี้สำหรับฟังและก็พิจารณา เพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตาม มีท่านผู้หนึ่งท่านบอกว่า ตอนแรกทีเดียว ท่านก็ไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ท่านคิดว่าท่านฟังเพียงเพื่อต้องการที่จะรู้ความต่างกันของข้อปฏิบัติที่เป็นวิปัสสนา กับการทำสมาธิว่าต่างกันอย่างไร นั่นคือความสนใจ อยากจะรู้ความต่างกัน แต่ว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า การฟังพระธรรมนั้น ประโยชน์ คือ เพื่อเมื่อเข้าใจแล้วก็น้อมประพฤติปฏิบัติตาม แต่ว่าในขณะนี้เมื่อได้ฟังเพิ่มขึ้น เข้าใจเพิ่มขึ้น ท่านก็รู้ว่า จุดประสงค์แท้จริงของการฟังพระธรรมนั้น เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วย
เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดถึงเรื่องของการดับกิเลส ซึ่งยังอยู่อีกไกลมากกว่าสติปัฏฐานจะเกิดแทรกในวันหนึ่งๆ ซึ่งอหิริกะ อโนตตัปปะ และอกุศลธรรมทั้งหลายเกิดอยู่แล้วเป็นประจำ เพราะฉะนั้น โอกาสของกุศลแต่ละขั้นที่จะเกิด เช่น ทาน วันหนึ่งก็พอจะเกิดบ้าง แต่ว่าในขณะที่เป็นทานกุศลกำลังทำทานอยู่นั้น สติปัฏฐานเกิดกี่ครั้ง ยิ่งน้อยกว่าขณะจิตซึ่งเป็นทานกุศล เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แล้วก็ดับกิเลสได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท ก็ลองคิดดูว่าอีกกี่ภพ อีกกี่ชาติ อีกกี่กัปป์ ในเมื่อยังคงเป็นผู้ที่กำลังเจริญสติปัฏฐานอยู่ แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้อกุศลเกิดบ่อย และก็กุศลขั้นอื่นๆ ก็เกิดบ้าง และในระหว่างที่กุศลขั้นอื่นๆ กำลังเกิดขึ้นนั้น กุศลที่เป็นสติปัฏฐานก็ยังเกิดน้อยกว่านั้นอีก คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่ได้ทุกครั้งว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา ที่กำลังกระทำกุศลนั้นๆ
เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นเรื่องของความอดทน และก็เพิ่มโสภณธรรมทั้งหลายมากขึ้น ทั้งศรัทธา ทั้งสติ ทั้งหิริ ทั้งโอตตัปปะ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว หิริโอตตัปปะเพิ่มขึ้นอีก ทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจ ในขั้นใดบ้าง ในขั้นที่ละเว้นทุจริตกรรม ถอยกลับจากการฆ่าสัตว์ ถอยกลับจากการถือเอาสิ่งของที่บุคคลอื่นไม่ให้ ถอยกลับจากการประพฤติผิดทางกาม ซึ่งเป็นอกุศลกรรมบถ และยังละเอียดขึ้นกว่านั้นได้ คือ ถอยกลับแม้แต่การที่จะถึงไม่ฆ่า ก็ไม่เบียดเบียน ไม่ประทุษร้ายด้วยกาย ไม่แม้กักขัง ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ใช่เป็นการทุบตีให้ได้รับทุกขเวทนา
สำหรับทางวาจา อกุศลกรรมบถก็มีการพูดเท็จ การพูดคำส่อเสียด การพูดคำหยาบคาย การพูดคำที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาทางกายแล้ว ก็พิจารณาทางวาจาต่อไปอีกว่า หิริ โอตตัปปะเพิ่มขึ้นทางวาจา ที่จะละคำเท็จ ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าเล็กน้อยอีกเหมือนกัน แต่ว่าถ้าหิริโอตตัปปะเกิด แม้ว่าจะเป็นคำเท็จซึ่งรู้สึกว่า ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ถ้าสะสมบ่อยๆ ก็จะมีกำลังขึ้น เพราะฉะนั้น หิริโอตตัปปะก็จะทำให้เกิดการรังเกียจ แล้วก็ถอยกลับจากแม้จะพูดไม่จริงในเรื่องใดๆ ก็ตาม
นี่ก็เป็นความละเอียดที่หิริโอตตัปปะจะเจริญขึ้น ไม่พูดคำส่อเสียด ถอยกลับจากการพูดคำหยาบคาย และคำที่ไม่เป็นประโยชน์
วันหนึ่งๆ ก็จะเห็นได้ว่า จะพูดสิ่งที่ดีเพิ่มขึ้น เวลาที่หิริโอตตัปปะมีกำลังขึ้น แต่ก่อนอาจจะพูดไปโดยที่ไม่รู้สึกว่าสิ่งนั้นจะเป็นโทษ หรือว่าจะเป็นประโยชน์ แต่ว่าเวลาที่หิริโอตตัปปะเกิดขึ้น ทำให้พิจารณาเห็นว่า สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์ แม้ว่ากำลังจะพูด ก็ยังสามารถที่จะเว้น ไม่พูดในขณะนั้นได้
และสำหรับทางใจก็ควรที่จะได้พิจารณาด้วย เพราะว่าไม่ได้มีแต่การกระทำทางกาย ทางวาจาเท่านั้น แม้แต่ความคิดทางใจ ถอยกลับจากการคิดทุจริตต่างๆ และก็แม้แต่ในเรื่องที่เล็กน้อย เช่น ถอยกลับจากการคิดด้วยความหวังในสิ่งที่ไม่ใช่ของๆ ตน หรือว่าคิดที่จะละความเห็นผิด เพราะเหตุว่าบางท่านอาจจะเห็นว่าอกุศลเป็นกุศล และก็เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ว่าเป็นเรื่องใดๆ ก็ตามในชีวิตประจำวัน ถ้าพิจารณาในเหตุในผล ในกุศล ในอกุศลแล้ว เกิดความเห็นถูกขึ้นขณะใด ขณะนั้นก็เพราะหิริโอตตัปปะ ถอยกลับจากอกุศล
อย่างบางท่านอาจจะเคยคิดว่า จะต้องฆ่าคนที่ทนทุกข์ทรมาน หรือสัตว์ที่เจ็บปวดด้วยความสงสาร ในขณะนั้นก็ลองพิจารณาดูว่า จิตขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลมากน้อยเพียงไร เป็นความเห็นถูก หรือว่าเป็นความเห็นผิด หรือแม้แต่บางท่านที่มีญาติมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้ว บางคนก็อาจจะบอกว่า ต้องโศกเศร้าเสียใจในการจากไปของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ลองพิจารณาว่า การคิดอย่างนั้นถูกหรือผิด เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ที่จะให้จิตใจเศร้าหมองเกิดขึ้น
หรือบางคนอาจจะคิดว่า ต้องโกรธ หรือต้องแสดงความโกรธ เพื่อที่จะให้คนอื่นเกรงใจ หรือกลัว หรือประพฤติในทางที่ถูก เพราะฉะนั้น ทุกขณะไม่มีคนอื่นจะพิจารณาให้ตัวท่านได้ ว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิต หรือเป็นอกุศลจิต แต่ว่าขณะใดที่เป็นโสภณ เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ขณะนั้นต้องมีหิริโอตตัปปะเกิดขึ้นด้วย
ข้อความในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ สมาปัตติสูตร ข้อ ๖ มีข้อความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอกุศลย่อมไม่มี ตลอดเวลาที่ศรัทธาในกุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใดศรัทธาเสื่อมหายไป อัสสัทธิยะ คือ ความไม่เชื่อความไม่เลื่อมใสย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้นการถึงอกุศลย่อมมี
นี่แสดงถึงการที่ไม่ควรจะประมาทในทุกขณะจิต บางท่านอาจจะคิดว่า ท่านเป็นผู้ที่กระทำกุศลมามากแล้ว แต่ในระยะที่กำลังทำกุศลเป็นเพราะเหตุว่าศรัทธาก็ดี สติก็ดี หิริก็ดี โอตตัปปะก็ดี ยังไม่เสื่อม ยังไม่หายไป แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสของอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น แต่เมื่อใดศรัทธาเสื่อมหายไป อัสสัทธิยะ ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้นการถึงอกุศลย่อมมี ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนจะสังเกตเห็นได้
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
การถึงอกุศลย่อมไม่มี ตลอดเวลาที่หิริในกุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใดหิริเสื่อมหายไป อหิริกะ (ความไม่ละอาย) ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้น การถึงอกุศลย่อมมี
นี่ก็เป็นการเตือนให้ไม่ประมาท ว่าไม่ใช่ว่าจะมีหิริอยู่ได้มั่นคงตลอดเวลา ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด สังเกตเห็นอหิริกะทันทีได้
ข้อความต่อไปก็โดยนัยเดียวกัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลาที่โอตตัปปะในกุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด โอตตัปปะเสื่อมหายไป อโนตตัปปะ (ความไม่สะดุ้งกลัว) ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้นการถึงอกุศลย่อมมี
การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลาที่วิริยะในกุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด วิริยะเสื่อมหายไป โกสัชชะ ความเกียจคร้าน ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้นการถึงอกุศลย่อมมี
ท่านผู้ฟังคงไม่ได้สังเกตว่า ขณะที่เป็นกุศล มีวิริยะด้วย แต่ละท่านที่กำลังทำกุศล ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องของทาน ก็มีวิริยะ ในเรื่องของศีล การวิรัติทุจริต ก็มีวิริยะในการที่จะเว้นทุจริต แล้วก็มีวิริยะในสุจริต หรือแม้แต่ในเรื่องของการฟังพระธรรม ก็ต้องมีวิริยะด้วย เวลาอาจจะเช้าตรู่เกินไป ดึกเกินไป ก็ต้องอาศัยวิริยะที่จะฟัง หรือว่าการที่จะมาฟังพระธรรม แต่ละท่านก็อาจจะมีอุปสรรค ซึ่งบุคคลอื่นอาจจะไม่ล่วงรู้ อาจจะเป็นภารกิจทางบ้าน หรือว่าชีวิตของบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องด้วย
เพราะฉะนั้น แม้แต่การฟังพระธรรมก็ต้องอาศัยวิริยะด้วย เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรประมาทอีกเหมือนกัน เพราะเหตุว่าการถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลาที่วิริยะในกุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใดวิริยะเสื่อมหายไป โกสัชชะย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้นการถึงอกุศลย่อมมี
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลาที่ปัญญายังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด ปัญญาเสื่อมหายไป ปัญญาทรามย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้นการถึงอกุศลย่อมมี
นี่แสดงให้เห็นขณะจิตซึ่งสลับกันอย่างรวดเร็วมาก แม้แต่ในเรื่องของปัญญา บางขณะความรู้ความเข้าใจเกิด แต่ว่าหลังจากนั้นไปแล้ว หลายขณะซึ่งอกุศลกลุ้มรุม ขณะนั้นปัญญาหายไปไหน นึกไม่ออก เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นไปในเรื่องการเพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือความขุ่นเคือง ไม่พอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็กั้นไม่ให้ปัญญาเกิดในขณะนั้น แม้แต่การที่จะฟังพระธรรมหรือการที่จะแสวงหาความเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น ขณะนั้นก็หายไปหมด ในขณะที่อกุศลกลุ้มรุม เพราะฉะนั้น แต่ละท่านไม่ควรที่จะคิดแต่เพียงที่จะเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น โดยที่ไม่เจริญกุศลอื่นๆ ด้วย เพราะเหตุว่าขณะใดที่อกุศลเกิด เจริญขึ้น เติบโตขึ้น ครอบคลุมมิดชิด ขณะนั้นสติปัฏฐานจะมีโอกาสเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเป็นผู้ที่ประมาทที่ปล่อยให้อกุศลเจริญจนทำให้สติปัฏฐานไม่สามารถที่จะเกิดได้
เพราะฉะนั้น นอกจากจะเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการด้วย เพราะเหตุว่าในขณะที่เจริญกุศลทุกประการไปเรื่อยๆ ความเข้าใจพระธรรมและความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าในขณะนั้นอกุศลธรรมไม่ได้ครอบคลุมจนมืดมิด เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันแต่ละวันสำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็จะทำให้เห็นได้ว่า นอกจากสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมบ้างในบางขณะ และศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่สติระลึก แล้วก็ยังจะต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญกุศลประการอื่นๆ ด้วย ถ้ามิฉะนั้นแล้ว เรื่องของการดับกิเลสเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก และอีกไกลแสนไกลทีเดียว
ผู้ฟัง ทำกุศลต้องมีวิริยะ ทำอกุศลก็ต้องมีวิริยะ
ท่านอาจารย์ ในทางอกุศล เพราะว่าตามความเป็นจริง วิริยเจตสิกเกิดกับจิตเกือบทุกดวง เว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง
ผู้ฟัง วิริยเจตสิกเป็นปกิณณกเจตสิก ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ วิริยเจตสิกเป็นปกิณณกเจตสิก
ในขณะนี้ ทุกคนกลัวภัยบ้างใช่ไหม ชีวิตไม่ใช่ปลอดภัยอยู่ทุกขณะ ถ้ากล่าวถึงส่วนรวม บ้านเมืองก็ยังต้องป้องกันภัยจากศัตรู ฉันใด ถ้ากล่าวถึงส่วนบุคคลแต่ละบุคคลก็ย่อมกลัวภัยที่จะมาถึงจากศัตรู แต่ว่าภัยภายใน คือ กิเลสของตนเอง ซึ่งเป็นอกุศลธรรมที่พร้อมที่จะเกิดขึ้นเบียดเบียนทุกขณะนี้ จะป้องกันอย่างไร เพราะเหตุว่าส่วนมากจะไม่คิดถึงการป้องกันภัยจากศัตรูซึ่งเป็นอกุศลธรรมของตนเอง
ข้อความในอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๖๔ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมเครื่องป้องกันจากอกุศลซึ่งเป็นภัยอย่างยิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นกับแต่ละท่านได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็วที่สุด เพียงขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นก็มีภัยจากอกุศลเกิดขึ้นแล้ว
ข้อความในอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต นครสูตร ข้อ ๖๔ มีข้อความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนครของพระราชา ป้องกันไว้ดีด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการ และหาอาหาร ๔ ประการได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในกาลนั้น เรากล่าวว่า ศัตรูหมู่ปัจจามิตรภายนอกทำอันตรายปัจจันตนครของพระราชานั้นไม่ได้ เครื่องป้องกัน ๗ ประการเป็นไฉน คือ ในปัจจันตนครของพระราชา มีเสาระเนียดขุดหลุมฝังลึกไม่หวั่นไหว นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๑ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ถ้าเปรียบใจของท่านเหมือนเมือง ซึ่งก็จะต้องมีป้อมค่ายที่จะต้องระวังศัตรู คือ อกุศลธรรมที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับเสาระเนียดที่ขุดหลุมฝังลึกไม่หวั่นไหว ซึ่งเป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๑ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ได้แก่ ศรัทธาที่มั่นคงเหมือนเสาระเนียด
มิฉะนั้นแล้วก็เป็นบ้านเมืองที่ง่ายต่อการที่จะเข้ามาทำอันตรายได้ ใช่ไหม ไม่มีเครื่องป้องกันใดๆ เลย แต่ว่าศรัทธาก็มีหลายขั้น เพราะเหตุว่าบางท่านมีศรัทธาในการฟัง แล้วก็รู้สึกซาบซึ้งในพระธรรมที่ได้ฟัง แต่ต้องพิจารณาว่า ในขณะที่กำลังซาบซึ้งในพระธรรมนั้น เป็นแต่เพียงความซาบซึ้งในพระธรรมที่ไพเราะเท่านั้น หรือว่าน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วย
นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ตอนที่น้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงความไพเราะของพระธรรม และซาบซึ้งในความไพเราะนั้น เช่นข้อความที่ว่า “ฆ่าความโกรธเสียได้ จึงจะอยู่เป็นสุข” ฟังดูก็ถูกต้อง ซาบซึ้ง แต่ว่าเวลาโกรธเกิดขึ้นทันที ระลึกถึงคำที่ไพเราะนี้ไหม ที่ว่าฆ่าความโกรธเสียได้จึงอยู่เป็นสุข แต่อาจจะคิดว่า ต้องโกรธต่อไป ชอบ ต้องโกรธ พอใจที่จะโกรธ ต้องโกรธอีก ขณะนั้นไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่รังเกียจ ไม่กลัวในอกุศลธรรม ซึ่งเป็นความโกรธในขณะนั้นเลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะซาบซึ้งในพระธรรมสักเท่าไรก็ตาม ยังไม่เป็นประโยชน์เท่ากับขณะที่ระลึกได้ แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามทันที
หรือแม้แต่พระธรรมที่กล่าวว่า “ธรรมของสัตบุรุษ และธรรมของอสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่าฟ้าและดิน” นี่ก็แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ว่าไกลกันแสนไกล เช่น ฟ้ากับดิน หรือว่าฝั่งข้างนี้ของมหาสมุทรกับฝั่งข้างนั้นของมหาสมุทร แต่คนที่ระลึกได้ถึงอกุศลของตนเอง กับผู้ที่ได้ดับอกุศลเป็นสมุจเฉทเป็นลำดับขั้น จะเห็นความต่างกันมากของผู้ที่อกุศลเกิดอยู่ตลอด แล้วหิริ โอตตัปปะก็ยังไม่เกิด และอกุศลก็มากมาย นานๆ ครั้งหนึ่งก็จะมีสติระลึกได้ แล้วหิริโอตตัปปะก็จะเกิดบ้าง เพราะฉะนั้น ก็จะต้องต่างกันกับท่านที่ได้อบรมเจริญปัญญาจนสามารถที่จะดับกิเลสได้ เป็นสัตบุรุษ
เพราะแม้แต่ความเห็น ยังไม่ต้องถึงการดับมิจฉาทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ซึ่งผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลดับได้เป็นสมุจเฉท แต่ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล มีความยึดมั่นในความเห็นของตนเองว่าถูกต้อง แล้วก็ไม่ยอมที่จะทิ้งความเห็น ความยึดมั่นในความเห็นของตนซึ่งไม่ถูกต้อง ยังไม่ต้องเป็นเรื่องของการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพียงความเห็นส่วนตัวที่ไม่ถูก ก็ยังไม่สามารถที่จะเกิดหิริ โอตตัปปะที่จะละทิ้งไป แล้วจะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ได้อย่างไร
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050