โสภณธรรม ครั้งที่ 028
ตอนที่ ๒๘
แล้วจะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นความละเอียดของการที่จะต้องพิจารณาตนเอง เพื่อที่จะเห็นความต่างกันของธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง มีคูขุดลึกและกว้าง นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๒ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ถ้าคิดถึงจิต ใจทุกขณะที่พร้อมที่จะถูกศัตรูเบียดเบียน ถ้าไม่มีเครื่องป้องกันจะเห็นได้ว่า อกุศลธรรมก็ยังคงเกิดบ่อยๆ ต่อไป เพราะว่าไม่ใช่เพียงแต่มีศรัทธา ซึ่งเหมือนเสาระเนียด ยังต้องมีเครื่องป้องกันอย่างอื่นที่มั่นคงเข้มแข็งอีก เช่น มีคูที่ขุดลึกและกว้าง เป็นเครื่องป้องกันนคร ประการที่ ๒ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า หิริ สภาพธรรมที่ละอายต่ออกุศลเป็นคูที่ขุดลึกและกว้าง ทำให้ศัตรูเข้ามาได้ยากขึ้นอีก ในเมื่อนอกจากเสาระเนียดแล้ว ก็ยังมีคูที่ขุดลึกและกว้างด้วย
อีกประการหนึ่ง มีทางเดินตามคูโดยรอบ ทั้งสูงและกว้าง นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๓ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องอันตรายภายนอก ฯ
ซึ่ง โอตตัปปะ สภาพธรรมที่กลัวอกุศลธรรม เป็นทางเดินตามคูโดยรอบ ทั้งสูงและกว้าง เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๓
อีกประการหนึ่ง มีการสะสมอาวุธไว้มาก ทั้งที่เป็นอาวุธแหลมยาวและอาวุธคม นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๔ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภาย นอก
ซึ่งข้อนี้ พหูสูต การฟัง การสะสมความเข้าใจในธรรม ในการแทงตลอดอรรถและพยัญชนะด้วยดี เป็นอาวุธแหลมยาวและอาวุธคม ที่เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๔ ถ้าไม่มีอาวุธเลย ก็ยากที่จะป้องกันอันตราย
อีกประการหนึ่ง ตั้งกองทัพไว้มาก คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู กองถือธง กองจัดกระบวนทัพ กองสัมภาระ กองเสนาธิการ กองตะลุมบอนเหมือนช้างที่วิ่งเข้าสู่สงคราม กองทหารหาญ กองทหารโลหะ กองเกราะหนัง กองทหารทาส นี้เป็นเครื่องป้องกันนคร ประการที่ ๕ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
เครื่องป้องกันนี้ต้องมากสำหรับประเทศชาติ บ้านเมือง ฉันใด สำหรับจิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่เป็นทหาร ท่านก็คงจะต้องรู้ประโยชน์ของกองทัพ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู กองถือธงก็สำคัญด้วย ถ้าไม่มีกองทัพก็ระส่ำระสาย กองจัดกระบวนทัพ กองสัมภาระ กองเสนาธิการ กองตะลุมบอนเหมือนช้างที่วิ่งเข้าสู่สงคราม กองทหารหาญ กองทหารโลหะ กองเกราะหนัง กองทหารทาส นี้เป็นเครื่องป้องกันนคร ประการที่ ๕
ลองทายได้ไหมว่า ได้แก่อะไร ทหารที่ต้องรบ ต้องต่อสู้กับข้าศึกศัตรู ความเพียร การที่จะไม่ล้มตามอกุศลไปง่ายๆ เพราะเหตุว่าเวลาที่อกุศลธรรมเกิดชักชวน มีความเพียรที่จะต่อต้านมากแค่ไหน หรือว่าไม่มีกำลังเลย อ่อนแอ แล้วแต่ว่าอกุศลจะเกิดเมื่อไรก็ตามไปทันทีเมื่อนั้น แต่การที่จะไม่ให้อกุศลเกิด ก็เป็นสิ่งซึ่งจะต้องสะสมเครื่องป้องกันทุกอย่าง
อีกประการหนึ่ง มีทหารยามฉลาดสามารถดี ห้ามไม่ให้คนที่ไม่รู้จักเข้า อนุญาตให้คนที่รู้จักเข้า นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๖ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ทราบไหม อะไร สติ ที่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร เหมือนทหารยามที่ฉลาดที่จะป้องกันคนนอกที่ไม่รู้จักไม่ให้เข้า อนุญาตให้คนที่รู้จักเข้า เพราะฉะนั้น ธรรมใดที่เป็นกุศล เข้าได้ใช่ไหม แต่ธรรมใดที่เป็นอกุศลก็ไม่เข้ามาได้ ในเมื่อสติเกิด ก็เหมือนกับทหารยามที่ฉลาดสามารถดี
อีกประการหนึ่ง มีกำแพงทั้งสูงและกว้าง พร้อมด้วยป้อมก่ออิฐถือปูนดี นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๗ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ปัจจันตนครมีการป้องกันดี ด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการนี้แล
ได้แก่อะไร ปัญญา สำคัญมาก เพราะว่าเป็นป้อมก่ออิฐถือปูนดี มีความแข็งแรงมั่นคงที่จะป้องกันอันตราย
นอกจากเครื่องป้องกันนคร ๗ ประการนี้แล้ว ข้อความต่อไปมีว่า
ปัจจันตนครหาอาหาร ๔ ประการ ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากเป็นไฉน คือ ในปัจจันตนครของพระราชามีการสะสมหญ้า ไม้ และน้ำไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก
ได้แก่ ปฐมฌาน เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ยังไม่ถึงปฐมฌาน ต้องสุข ทุกข์ ไปวันหนึ่ง อย่างน่าสงสารจริงๆ เพราะเหตุว่าขาดเสบียง คือ การสะสมหญ้า ไม้ และน้ำไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน ถ้ามีอาหารมาก ก็ไม่ต้องกลัวภัยเท่าไรใช่ไหม แต่ว่าอาหารไม่มาก ก็ต้องค่อยๆ หาไป สุขบ้าง ทุกข์บ้างในวันหนึ่งๆ ของผู้ที่กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ก็ทำให้ติด ไม่ใช่ทำให้สงบระงับ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า ความเดือดร้อนใจไม่ใช่มาจากโทสะ อกุศลที่เป็นความไม่สบายใจเท่านั้น แต่ควรที่จะเห็นแม้โลภะ ความยินดี พอใจแม้ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในความปรารถนา ในความไม่พอ ในความหวั่นไหว ตลอดไปจนกระทั่งถึงความหวั่นไหวในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ
ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ไม่หวั่นไหว ใช่ไหม ในเรื่องของลาภ ในเรื่องของยศ ในเรื่องของสรรเสริญ แต่ว่าเมื่อยังเป็นผู้ที่ยินดี พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เหมือนกับผู้ที่ไม่ได้สะสมกุศลธรรมที่เป็นมหัคคตะที่สงบจากโลภะ โทสะ จากความยินดี พอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
ลองเปรียบเทียบดูก็ได้ ความสุขซึ่งเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กับการไม่ติด ไม่ต้องการ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อย่างไหนจะสงบและเป็นสุขจริงๆ กว่ากัน แต่อย่างนั้นหิริก็ไม่เกิด โอตตัปปะก็ไม่เกิดตามการสะสม
แต่แม้กระนั้นก็ให้เข้าใจให้ถูกไว้ว่า เรื่องของอกุศลทั้งหลายเป็นเรื่องที่ยากที่จะดับได้ เพราะฉะนั้น สำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นทางที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท
แต่แม้กระนั้นถึงแม้ว่าไม่อาจที่จะสงบจากความพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ได้ถึงขั้นฌานจิต เพียงแต่มีสมถะ คือ ความสงบจากอกุศลเล็กๆ น้อยๆ ในวันหนึ่งๆ ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ แม้ว่าจะได้หญ้า ได้ไม้ ได้น้ำไว้ ไม่มากนักในวันหนึ่งๆ ก็ยังดี ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง มีการสะสมข้าวสาลี และข้าวเหนียวไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก
ซึ่งได้แก่ ทุติยฌาน
อีกประการหนึ่ง มีการสะสมงา ถั่วเขียว ถั่วทอง และอปรัณชาติไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก
ความสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มั่นคงขึ้น ประณีตขึ้น ก็เหมือนกับฌานจิตขั้นต่างๆ เช่น ปฐมฌาน เปรียบเหมือนกับการสะสมหญ้า ไม้และน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น ทุติยฌาน ก็สะสมสิ่งซึ่งทำให้สงบสบายเพิ่มขึ้น ได้แก่การ สะสมข้าวสาลี ข้าวเหนียวไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว และสำหรับ ตติยฌาน ก็เพิ่มสิ่งซึ่งจะทำให้ไม่เดือดร้อน สงบสบายสะดวกยิ่งขึ้น คือ สะสมงา ถั่วเขียว ถั่วทอง และอปรัณชาติไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก
สำหรับ จตุตถฌาน มีข้อความว่า
อีกประการหนึ่ง มีการสะสมเภสัชไว้มาก คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เกลือ เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน และป้องกันอันตรายภายนอก
ปัจจันตนคร หาอาหาร ๔ ประการได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนครของพระราชาป้องกันไว้ดีด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการนี้ และอาหาร ๔ ประการได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในกาลนั้น เรากล่าวว่าศัตรูหมู่ปัจจามิตรไม่ทำอันตรายได้
ลองคิดถึงประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร ข้าว น้ำ ทุกอย่าง และก็มีเครื่องป้องกันนครครบทุกอย่าง คนที่อยู่ในนครนั้น จะมีความสบายใจ ไม่เดือดร้อนสักแค่ไหน แล้วก็คิดถึงจิตของผู้ที่มีโสภณธรรม เช่น ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พหูสูต ความเพียร สติ ปัญญา ก็เป็นเครื่องป้องกันที่คุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตราย และยังจะมีข้าวปลาอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อน แต่ว่าจิตใจของท่านเป็นไปในระดับไหน วันนี้เดือดร้อนด้วยอกุศลประเภทใด ก็แล้วแต่ว่าจะมีเครื่องป้องกันน้อยมากประการใด และมีความสมบูรณ์ของอาหารมากน้อยแค่ไหน หรือว่าขณะนี้เป็นผู้อดอยาก ได้รับทุกข์ทรมาน เพราะเหตุว่าไม่ได้สะสมเสบียงไว้เพียงพอ มีความโหยหิวอยู่ตลอดด้วยความต้องการด้วยโลภะ และก็เดือดร้อนเวลาที่ไม่ได้สิ่งที่ต้องการด้วยโทสะ ก็มีความคิดเบียดเบียน โกรธเคืองบุคคลอื่น ซึ่งก็เป็นภัยของตนเอง ซึ่งทำให้จิตของตนเองเดือดร้อน
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ในกาลใด อริยสาวกประกอบพร้อมด้วยสัทธรรม ๗ ประการ และเป็นผู้มีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ในกาลนั้น เรากล่าวว่ามารผู้มีบาปทำอันตรายอริยสาวกไม่ได้ สัทธรรม ๗ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเป็นผู้มีศรัทธาเชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯลฯ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีเสาระเนียด ขุดหลุมฝังลึก ไม่หวั่นไหว สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีศรัทธาเปรียบเหมือนเสาระเนียด ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมอันไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เป็นสัทธรรมประการที่ ๑ ฯลฯ
นี่ก็คือประโยชน์ของพระธรรมซึ่งทุกครั้งจะเตือนให้ระลึกถึงสภาพธรรมที่เกิดกับตน เพื่อที่จะละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมอันไม่มีโทษ
สำหรับสัทธรรมประการต่อๆ ไป ก็โดยนัยเดียวกัน
ผู้ฟัง กระผมขอความกรุณาให้อาจารย์โปรดอธิบายเรื่อง ผู้ที่เจริญสมาธิภาวนาจนได้ฌาน แล้วก็ทำฌานนั้นให้เป็นบาทแห่งวิปัสสนา อันนี้กระผมมีความสงสัย ไม่แจ่มแจ้งสักที หมายความว่า ผู้ที่ได้ฌานนั้น แล้วเจริญวิปัสสนาต่อ หรือว่าทำให้เป็นบาท หมายความว่าทำอย่างไร
สุ. ทำไม่ได้ ตอบได้ทีเดียวว่าทำไม่ได้
ผู้ฟัง ทำฌานให้เป็นบาทไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ทำไม่ได้ ไม่มีใครทำได้
ผู้ฟัง แล้วที่ว่า เจริญฌานแล้วก็เป็นบาทแห่งวิปัสสนา เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย จะทำอย่างไรที่จะให้ฌานนั้นเป็นบาท เพราะว่าก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค ก็มีผู้ที่ได้ฌานเป็นอันมาก และก็ผู้ที่เกิดเป็นพรหมปุถุชน คือ ผู้ที่ไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็มีมาก ซึ่งท่านเหล่านั้นทำอย่างไรถึงจะให้ฌานนั้นเป็นบาท ถ้าท่านไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และสำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน คำว่า “ปกติเจริญสติปัฏฐาน” ก็บอกแล้วว่า ไม่ใช่ทำ แต่ว่าเป็นปกติของบุคคลนั้น ปกติของผู้ที่ไม่เคยเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งฌานจิตเกิด ก็คือ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วศึกษา คือ พิจารณาน้อมไปรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน คือ ลักษณะซึ่งเป็นอาการรู้ สภาพรู้ หรือว่าลักษณะที่ไม่ใช่สภาพรู้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นสำหรับผู้ที่ไม่ได้ฌานจิต ต้องเป็นผู้มีปกติอย่างนั้น
แล้วสำหรับผู้ที่เคยอบรมเจริญสมถภาวนา จนกระทั่งฌานจิตเกิด เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ถ้าท่านผู้นั้นไม่ใช่เป็นผู้มีวสี คือ ความชำนาญอย่างยิ่ง จนกระทั่งสามารถที่จะนึกถึงฌานได้ทันที ณ สถานที่ใดก็ได้ ในกาลไหนก็ได้ สามารถที่จะเข้าฌานได้ทันที ณ สถานที่ใดก็ได้ กาลใดก็ได้ สามารถที่จะออกจากฌานได้ทันที ในกาลไหนก็ได้ ณ สถานที่ใดก็ได้ สามารถที่จะพิจารณาองค์ฌานได้ทันที ในกาลไหนก็ได้ ณ สถานที่ใดก็ได้ ถ้าไม่มีวสีอย่างนี้ สติปัฏฐานจะไม่ระลึกลักษณะของสภาพของฌานจิต ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่นเดียวกับขณะนี้ เห็น ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คนที่มีจักขุปสาท แล้วก็ลืมตาขึ้น จะไม่ให้เห็น ไม่มีใครสามารถที่จะทำได้ คนที่มีโสตปสาท เมื่อเสียงกระทบหู แล้วก็จะไม่ให้เกิดการได้ยิน ไม่มีใครสามารถที่จะทำได้
เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน มีวสี มีความชำนาญ ที่ฌานจิตมีปัจจัยจะเกิด สติจึงจะเป็นผู้มีปกติระลึกลักษณะของฌานที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นบาทให้พิจารณาได้ ไม่ใช่ว่ามีความจงใจ ต้องการที่จะทำฌาน แล้วก็ยกขึ้นมาสู่วิปัสสนา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น มีผู้ที่ได้ฌานจิตเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แม้ว่าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ปรินิพพาน ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลที่ไม่มีฌานจิตเป็นบาท ที่เป็นปัญญาวิมุติมีมากกว่าเจโตวิมุติ เพราะเหตุว่าต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงจะเห็นว่าสภาพธรรมทั้งหลายทั้งหมดเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้ามิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถที่จะละคลายความติด ความจงใจ ความพอใจในนามธรรมและในรูปธรรมบางประเภทได้
เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีการเลือก ยังมีความพอใจที่จะระลึกลักษณะของนามธรรมเฉพาะอย่าง รูปธรรมเฉพาะอย่าง ไม่สามารถที่จะประจักษ์ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น จึงทำไม่ได้ เพราะว่าทุกอย่างจะต้องเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย และปัญญาจะต้องรู้เหตุปัจจัยของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นเรา แล้วก็เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ผู้ฟัง หมายความว่าในขณะที่ ผู้ที่ได้ฌานนั้น ถ้าไม่เข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนา หรือไม่เคยเจริญวิปัสสนาอยู่ก่อนแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะทำฌานให้เป็นบาทอะไรได้ทั้งนั้น
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ในขณะที่เป็นฌาน ถ้าเข้าใจวิปัสสนาถูกต้อง ก็อาศัยอารมณ์ของฌานนั้นเองเจริญวิปัสสนา
ท่านอาจารย์ เมื่อได้ฌานแล้ว ก็ยังจะต้องการให้ฌานจิตเกิดเพื่อสติปัฏฐานจะระลึกไม่ได้ ต้องการอย่างนั้นไม่ได้ แล้วแต่ว่าเมื่อมีวสี มีความชำนาญ การคิดนึกของทุกคน ห้ามไม่ได้ใช่ไหม คนที่ไม่ได้ฌาน ก็จะไปนึกถึงสภาพของฌานจิตไม่ได้ ว่าฌานจิตนั้นมีลักษณะอย่างไร แต่คนที่ไม่ได้ฌาน นึกถึงรูปได้ นึกถึงเสียงได้ นึกถึงกลิ่นได้ นึกถึงรสได้ นึกถึงเรื่องราวบัญญัติต่างๆ ได้ นึกถึงสุข นึกถึงทุกข์ได้ นี่คือผู้ที่ไม่ได้ฌาน ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่าอยากจะนึกเรื่องไหน ก็นึกขึ้นมาได้ สำหรับคนที่ไม่ได้ฌานจิตก็ยังนึกตามใจชอบไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ฌานจิตแล้วก็จะนึกตามใจชอบไม่ได้เหมือนกัน ต้องแล้วแต่วสี คือ ความชำนาญ เมื่อมีความชำนาญในการนึกบ่อยๆ เกิดนึกถึงฌาน แล้วสติปัฏฐานเกิด แล้วสติปัฏฐานก็เกิดระลึกลักษณะของสภาพของฌาน หรือว่าลักษณะของจิตที่คิดถึงฌาน ก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานทั้งหมด เรื่องละ ไม่ใช่เรื่องติด ตราบใดที่ยังมีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้ได้ว่า นั่นไม่ใช่หนทาง หิริ โอตตัปปะต้องเกิด ที่จะพิจารณารู้ว่าในขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นความต้องการ ไม่ใช่เป็นหนทางที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเกิดความยินดีพอใจในนามใด รูปใด
ผู้ฟัง และที่มีผู้อธิบายส่วนใหญ่ที่กระผมก็ได้ยินอยู่เสมอว่า ผู้ที่ได้สมาธิแล้ว หรือได้ฌานแล้ว จะเจริญวิปัสสนา จะต้องถอยออกจากสมาธิเสียก่อน ถอยออกจากฌานเสียก่อน คือหมายความว่าออกจากฌานแล้วถึงจะเจริญวิปัสสนาต่อ
ท่านอาจารย์ ใครถอย
ผู้ฟัง เขาอธิบายอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ใครมิได้ ลองคิดถึงสภาพธรรมในขณะที่คิดจะถอย ว่าใครถอย
ผู้ฟัง ก็ตัวตน
ท่านอาจารย์ ตัวตนถอย ก็ตัวตนทำอยู่ตลอด เดี๋ยวถอยออก เดี๋ยวถอยเข้า ถอยไปถอยมา ก็เป็นตัวตนทั้งหมด ก็ไม่ใช่การละ
ผู้ฟัง การอธิบายอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎก มีข้อความว่า พิจารณาฌาน เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามเหตุตามปัจจัย
ผู้ฟัง คือส่วนใหญ่แล้วจะเข้าใจว่าการที่จะเจริญวิปัสสนาต่อวิปัสสนาได้นี้จะต้องทำจิตให้เป็นสมาธิเสียก่อน แล้วถึงจะยกจิตนั้นขึ้นสู้วิปัสสนา อันนี้เป็นความเข้าใจซึ่งกระผมก็เห็นว่ามันยังไม่ถูกต้อง ไม่ทราบว่าจะยกแบบไหนจะยกอย่างไร ถ้ายกได้อย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องไปทำความเข้าใจอะไรมากเพียงแต่ทำใจให้เป็นสมาธิ แล้วก็ยกใจทำใจนั้นยกขึ้นสู่วิปัสสนา ซึ่งเมื่อคิดตามแล้วก็มันไม่ได้เหตุผลที่สมควรที่จะเชื่อได้ว่ามันจะยกแบบไหนยกอย่างไร ซึ่งกระผมก็อึดอัดใจอยู่ตลอดเวลาเมื่อได้ยินเข้าแล้ว ไม่สามารถเชื่อได้สนิทใจ ถ้าอย่างที่ท่านอาจารย์พูดนี่ อาจารย์บรรยายก็หมายความว่าผู้ที่ได้ฌานนี้ ถ้าหากไม่มีความเข้าใจในเรื่องเจริญวิปัสสนาเลย แล้วก็ไม่เคยระลึกไม่เคยมีสติระลึก ไม่มีความไวในการที่จะระลึกในขณะที่อยู่ในฌานนั้น ก็เรียกว่าเจริญวิปัสสนาไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญวิปัสสนาโดยเอาฌานเป็นบาท ก็หมายความว่า พิจารณาฌาน จิตในขณะที่เป็นฌาน ไม่ใช่ว่าออกมาแล้วจึงหวนระลึกถึงฌานที่ได้มาก่อนนั้น แล้วก็เอาเป็นอารมณ์เจริญวิปัสสนาต่อ ซึ่งบางคนเขาบอกว่าผู้ที่ได้ฌานนั้น เวลาจะเจริญวิปัสสนาก็ทำจิตให้ตกภวังค์ คือ เมื่อถ้าจิตตกภวังค์เมื่อไร ก็เรียกว่าขณะนั้นไม่ใช่ฌาน ขณะจิตเป็นฌาน เขาหมายความว่าจะต้องเป็นฌานจิตตลอด พอจิตเป็นภวังค์ ฌานจิตก็ไม่มี ในขณะนั้นก็เจริญวิปัสสนา ซึ่งขณะที่จิตเป็นภวังค์นั้น ก็ไม่ทราบว่าใครจะระลึกได้ กระผมก็ยังมองไม่เห็น
ท่านอาจารย์ ท่านผู้นั้นคงไม่ได้หมายความว่า ให้ระลึกในขณะที่เป็นภวังค์ แต่คงหมายความว่า เมื่อฌานจิตดับแล้ว เป็นภวังค์คั่น วิถีจิตทางมโนทวารก็เกิดขึ้นพิจารณาฌานจิตนั้น
ผู้ฟัง อย่างนี้ได้
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมชาติตามปกติของบุคคลนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ฌาน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นพระอริยสาวก พร้อมกับองค์ฌาน หรือว่าโดยพิจารณาองค์ฌานเป็นบาท ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ถึงแม้ว่าจะได้ฌานคล่องแคล่ว แต่ว่าเวลาที่โลกุตตรจิตจะเกิด ไม่ได้พิจารณาฌานเป็นบาทก็ได้ และบางท่านได้ถึงฌานที่ ๕ แต่เวลาที่โลกุตตรจิตจะเกิด ขณะนั้นพิจารณาตติยฌาน หรือทุติยฌาน หรือปฐมฌานก็ได้ แล้วแต่ว่าฌานใดจะเกิดเพราะเหตุปัจจัยที่สติระลึกในขณะนั้น แล้วรู้ในความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าเลือกตามใจชอบว่า จะเอาฌานนี้ขั้นนั้นยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าโดยลักษณะนั้นแล้วก็เป็นอัตตา
ผู้ฟัง ถ้าหากเอาฌานเป็นบาทของวิปัสสนาได้ ก็สงสัยผู้ที่จะได้บรรลุก่อน ก็คือท่านอาฬารดาบส อุททกดาบส และฤาษีดาบสทั้งหลายในสมัยนั้นก็รู้สึกว่าจะได้ฌานกันเป็นอันมาก แต่ก็ไม่ปรากฏว่าไม่ได้มีผู้ใดสำเร็จมรรคผลนิพพาน ก็แปลว่าผู้ที่เข้าใจว่า การที่จะเจริญวิปัสสนา จะต้องทำสมาธิให้ได้ฌานเสียก่อน …
ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อไรจะได้ เมื่อไรจะได้ฌาน ชาตินี้จะได้ไหม ไม่ใช่ว่าจะได้ง่าย เพราะฉะนั้น โดยมากอยากจะได้สิ่งที่ไม่รู้จัก คือ ยังไม่รู้จักว่า ฌานคืออะไร และก็เจริญอย่างไร แต่ก็อยากได้ฌานเสียแล้ว
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่อาจารย์ได้กล่าวว่า “ฆ่าความโกรธเสียได้ อยู่เป็นสุข” สมมติว่ามีคนๆ หนึ่งเขาฆ่าความโกรธได้ แล้วก็อยู่เป็นสุขจริง
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050