โสภณธรรม ครั้งที่ 003
ตอนที่ ๓
แต่ว่าให้ทราบว่า ในขณะนั้นก็มีศรัทธาเจตสิกแล้ว หรือว่าในการอุทิศส่วนกุศล เวลาที่ทำบุญเสร็จแล้ว ขณะนั้นก็อุทิศส่วนกุศล ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพของจิต ซึ่งเป็นสภาพจิตที่ไม่ผ่องใส เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีอกุศล ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เกิดร่วมด้วย ก็ไม่รู้ว่า แม้เพียงในขณะที่กำลังอุทิศส่วนกุศล ขณะนั้นก็ต้องมีศรัทธา มิฉะนั้นก็ทำไม่ได้ เพราะบางคนอาจจะทำกุศลแล้ว แต่ว่าไม่อุทิศส่วนกุศล เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่อุทิศส่วนกุศล ก็อาจจะไม่ทราบสาเหตุว่าเพราะอะไร แต่ว่าตามความเป็นจริงเพราะขณะนั้นศรัทธาไม่เกิด ถ้าศรัทธาเกิดย่อมคิดที่จะอุทิศส่วนกุศล และในขณะที่กำลังอุทิศส่วนกุศลนั้นก็เป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยศรัทธา
วันหนึ่งๆ เวลาที่ได้ยินข่าวกุศล ก็เกิดอนุโมทนา ยินดีด้วย ในขณะนั้นก็เป็นมหากุศลที่มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีกุศลจิตเกิดบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นนิสัย ก็จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ ท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธาในกุศล แม้ว่าขณะนั้นจะไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ก็เป็นกุศลแล้ว และขณะใดที่กุศลจิตเกิดขณะนั้นมีศรัทธาในกุศลนั้น กุศลนั้นจึงเกิด
สำหรับบุญกิริยาที่เป็นเรื่องของศีล มีการวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา ขณะใด ขณะนั้นก็เป็นผู้มีศรัทธาที่จะวิรัติ บุญกิริยาที่เป็นอปจายนะ คือ การอ่อนน้อม ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพจากใจด้วยกาย เช่น การกราบ การไหว้ หรือว่าสำหรับพระรัตนตรัยก็เป็นการบูชาด้วยดอกไม้ ของหอมเป็นต้น ขณะที่กระทำนั้นอาจจะทำจนกระทั่งรู้สึกว่า เสร็จอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ว่ามีพวงมาลัย หยิบขึ้นมาแล้วนำไปบูชา เสร็จแล้ว แต่ความจริงในขณะนั้นต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมกับมหากุศลจึงได้กระทำอปจายนะ คือ การอ่อนน้อม แสดงความเคารพด้วยกายได้ หรือแม้ในขณะที่มีวาจาที่สุภาพ ยกย่อง ไม่ดูหมิ่นบุคคลใด ขณะนั้นก็ต้องมีศรัทธาที่จะกระทำอย่างนั้น เพราะวันหนึ่งๆ ถ้าจะคิดถึงความสุขความสบาย ความสำคัญตนแล้ว ย่อมจะไม่กระทำกิริยาอาการทางกาย ทางวาจาอย่างนั้น แต่ที่จะมีการระลึกได้ว่า ถ้าใช้คำพูดที่น่าฟัง เป็นคำพูดที่อ่อนโยน ย่อมทำให้ผู้ที่ได้ยินเกิดความสบายใจ ขณะนั้นมีศรัทธาในการที่จะมีสัมมาวาจา
สำหรับบางท่านก็เป็นผู้ที่คิดถึงผู้ที่ชราผู้ที่สูงอายุ นอกจากแสดงความเคารพด้วยการกราบไหว้ แล้วยังคิดถึงสุขภาพร่างกาย มีการประคับประคองให้ท่านได้นั่งสะดวกสบาย ช่วยเหลือในการลุกขึ้น ในการนั่ง มีการถนอมจิตใจ รู้ว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร ผู้ที่ชราแล้วจึงจะรู้สึกเบิกบานใจ ในขณะนั้นก็เป็นศรัทธาที่เกิดกับกุศลจิต อาจจะเป็นอุปนิสัยของท่านผู้นั้น โดยที่ท่านผู้นั้นเมื่อท่านไม่ได้ศึกษา ก็ไม่ทราบว่าในขณะนั้นเป็นศรัทธาที่จะกระทำอย่างนั้น เพราะว่าบุคคลอื่นไม่ทำ ผู้ที่ไม่ทำก็คือ ไม่มีศรัทธาที่จะทำอย่างนั้น
สำหรับกุศลที่เป็นเวยยาวัจจะ การช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น จะเห็นได้ว่าก็ย่อมจะทำกุศลประการที่เป็นการสงเคราะห์ช่วยเหลือ คือ เวยยาวัจจะทางกาย เช่น การปรนนิบัติรับใช้ การเอื้อเฟื้อ หรือว่าการช่วยกิจธุระของบุคคลอื่นในขณะใด ขณะที่กำลังช่วยเหลือก็ต้องเป็นศรัทธาที่เป็นกุศลจิตจึงจะกระทำได้
บางท่านก็อาจจะเห็นบุคคลที่ป่วยไข้ มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือ จัดหาหมอหายาให้ นี่ก็เป็นศรัทธาทั้งนั้น ที่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำที่ดีงามทางกายทางวาจา หรือแม้แต่ทางวาจา ก็สามารถที่จะกระทำได้โดยการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนไข้ ซึ่งอาจจะไม่ชอบรับประทานยา แต่ก็ชักชวนให้เขารับประทานยา เพราะเหตุว่าถ้ารับประทานยา แล้วก็จะหาย คนที่กำลังไม่อยากจะรับประทานก็ยังมีความเห็นในความหวังดีของคนอื่น ก็รับประทานยาได้
นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่การทำประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นขณะใด ขณะนั้นต้องมีศรัทธาที่จะทำอย่างนั้นๆ
สำหรับการฟังธรรม คือ ธัมมสวนะ ก็จะเห็นได้ว่า ต้องมีศรัทธาแน่นอน เพราะเหตุว่าบางวันอาจจะต้องตื่นแต่เช้ามาก เช่น ตีสี่ครึ่ง และบางท่านก็อาจจะบอกว่าตื่นไม่ได้ แต่ว่าถ้าได้ฟังแล้วก็สนใจ และก็มีศรัทธาที่จะพิจารณาข้อความที่ได้ยินได้ฟัง ขณะนั้นก็จะรู้ได้ว่า ศรัทธาเจริญขึ้น หรือว่าศรัทธายังไม่เจริญพอที่จะกระทำกุศล เช่น การฟังธรรมในเวลาที่ยังเช้าอยู่ได้
สำหรับบุญกิริยาที่เป็นธัมมเทศนา ทางวาจาก็ได้แก่การแสดงธรรม การสนทนาธรรม อย่างท่านผู้ฟังก่อนจะถึงเวลาฟังคำบรรยาย ก็มีการสนทนาธรรมกันในเรื่องของรูปบ้าง ในเรื่องของนามบ้าง เรื่องรูปนามทางตาบ้าง ตามที่ได้ทราบ
นั่นก็แสดงว่าท่านผู้นั้นก็มีศรัทธาในธรรมเทศนา ในการที่จะแสดงธรรม และสนทนาธรรมกัน หรือบางท่านก็ตอบจดหมายธรรม เวลาที่มีท่านผู้ฟังเขียนปัญหาธรรมมา ไม่เป็นคนที่ขยันในการเขียนจดหมายเลย มีท่านผู้หนึ่งท่านไม่เขียนจดหมายถึงลูกที่อยู่ต่างประเทศ แต่ว่าเมื่อมีคนเขียนถามปัญหาธรรม ท่านเขียนตอบ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงขณะนั้น เพราะศรัทธาเกิด จึงเป็นเหตุให้มหากุศลจิตกระทำกุศล ซึ่งเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น
การอบรมจิตใจ เช่น สมถภาวนาในชีวิตประจำวัน รู้ว่าขณะใดจิตไม่สงบ และจิตจะสงบได้อย่างไร ด้วยการเจริญเมตตา การระลึกถึงความตาย เป็นต้น ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตซึ่งเกิดเพราะศรัทธา
สำหรับการกระทำความเห็นให้ตรงก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคงจริงๆ ในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้ที่ไม่อยากจะมีความเห็นผิดใดๆ ในพระธรรมวินัยและในข้อปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นผู้ที่พอใจที่จะยึดติดในข้อปฏิบัติซึ่งไม่ทำให้เกิดปัญญา หรือว่าทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไป แต่จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แล้วก็มีศรัทธาที่จะทิ้งความเห็นผิดต่างๆ
ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องของศรัทธาทั้งนั้น เพราะว่าถ้าศรัทธาเจตสิกไม่เกิดแล้ว กุศลทั้งหลายเกิดไม่ได้เลย นอกจากนั้น การทำกุศลก็ยังเป็นเรื่องที่ละเอียด กุศลจิตย่อมจะเกิดได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ถ้าเห็นดอกไม้สวย กุศลจิตเกิดได้ไหม ระลึกถึงคนป่วยเจ็บ ซึ่งเขาจะต้องนอนอยู่เวลานาน และก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้จิตใจเบิกบานได้ นอกจากถ้าได้มีผู้ที่ไปเยี่ยมเยียน แล้วก็มีสิ่งที่ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง ที่จะลืมความเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะฉะนั้น เพียงแต่การคิดถึงว่า เมื่อมีดอกไม้ที่น่าจะให้คนป่วยเจ็บ แล้วให้ ในขณะนั้นก็เพราะเห็นสีที่ปรากฏทางตา กุศลจิตก็เกิดได้ โดยการคิดที่จะสละสิ่งนั้นเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น นอกจากดอกไม้ก็ยังมีหลายสิ่งหลายประการ เช่น เสื้อผ้า อาภรณ์ต่างๆ นั่นก็แล้วแต่ว่ากุศลจิตจะเกิดขึ้นในขณะใด
แม้แต่ในเรื่องของเสียง กุศลจิตจะเกิดได้ไหม ไม่สามารถที่จะหยิบยกยื่นเสียงให้ได้อย่างข้าวปลาอาหารหรือว่าดอกไม้เสื้อผ้าก็จริง แต่แม้กระนั้นก็ยังมีขณะจิตซึ่งสามารถที่จะเป็นไปในเสียงได้ เช่น ถ้ามีคนป่วยไข้ เป็นหวัด เจ็บคอ ไม่มีเสียง มีการที่จะเกิดกุศลจิตที่จะให้ยาที่จะทำให้เขาเกิดพูดได้ตามปกติ มีเสียงได้ตามปกติ
นี่ก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ศรัทธาจริงๆ ว่าถ้าศรัทธาเกิดขึ้นขณะใด ย่อมไม่พ้นจากกุศลที่จะเป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในภาวนาบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง
สำหรับกลิ่นทางจมูก มีโอกาสที่ศรัทธาจะเกิดเป็นกุศลได้ไหม ให้วัตถุที่มีกลิ่นหอมหรือของที่เป็นประโยชน์ ทั้งกลิ่นและคุณภาพ เช่น ยาหอม หรือว่าเพียงกลิ่นหอมที่จะทำให้คนที่ป่วยไข้รู้สึกสบายขึ้น ขณะนั้นก็แม้แต่รูปกลิ่น ก็ยังเป็นปัจจัยให้ศรัทธาเกิด ที่จะเป็นกุศลได้
สำหรับรสอาหารก็เป็นที่ทราบอยู่ว่า ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตได้โดยจัดหาอาหารอร่อย ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ หรือมิตรสหายญาติพี่น้องเพื่อนฝูง เป็นการเกื้อกูลให้บุคคลนั้นได้รับรสที่อร่อย เป็นผู้ที่เจริญอาหาร ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้
สำหรับโผฏฐัพพะ การกระทบทางกายนี่ ก็มีหลายสิ่งหลายประการซึ่งศรัทธาจะเกิดทำให้กุศลจิตระลึกเป็นไปในการให้ เช่น ให้สัมผัสที่สะดวกสบาย เช่น ที่นอน หมอน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ เครื่องกันความหนาว ความร้อน เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้วในอารมณ์ที่เป็นธัมมารมณ์ทางใจ ก็มีทางที่จะกระทำได้ เช่น การบริจาคตา หรือว่าบริจาคโลหิต พวกนี้ ก็ล้วนแต่เป็นธัมมารมณ์ เป็นสิ่งที่จะทำให้บุคคลที่ได้รับ ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้
นอกจากนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กุศลจิตย่อมเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสติปัฏฐานตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น กุศลจิตในวันหนึ่งๆ ถ้าได้สะสมจนกระทั่งศรัทธาเจริญ ศีลเจริญ สุตะเจริญ ปัญญาเจริญ ก็จะทำให้เป็นผู้เจริญในกุศลธรรม
ถ้าไม่สังเกตอาจจะไม่รู้เลยว่าเป็นศรัทธาทั้งนั้น
ผู้ถาม พูดถึงเรื่องศรัทธานี่ ก็นึกถึงพระสาวกองค์หนึ่ง ชื่อพระวักกลิ ท่านก็เลิศเป็นเอตทัคคะในทางบวชด้วยศรัทธา แต่ศรัทธานี่ก็ที่อาจารย์บรรยายนี่ รู้สึกว่าบางทีก็อาจจะเข้าใจสับสน เหมือนอย่างอาจจะเข้าใจโลภะว่าเป็นศรัทธาก็ได้ อย่างพระวักกลิ ที่ท่านออกบวชเพราะท่านต้องการจะเฝ้าได้เห็นพระผู้มีพระภาคอยู่ตลอดเวลา คือ ได้เห็นอยู่ตลอดเวลา คือ ท่านหลงชมเชยในพระรูปพระโฉมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า มีความสวยงาม แล้วก็อยากจะดูอยากจะเห็น ไม่อิ่ม ลักษณะอาการที่ท่านอยากจะดู จะเห็น ไม่อิ่ม ในการที่จะดูพระรูปพระโฉมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ จะมีโลภะอยู่ด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องความละเอียดของจิตใจที่น่าพิจารณาจริงๆ เพราะเหตุว่าท่านพระวักกลิในขณะนั้น ท่านก็ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แล้วก็ไม่เฉพาะแต่ท่านพระวักกลิ ไม่ว่าใครก็ตามที่กำลังมีความรู้สึกเลื่อมใสในบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า เลื่อมใสในอะไร ถ้าเลื่อมใสในคุณธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านพระวักกลิท่านเป็นเอตทัคคะในการบรรลุธรรมด้วยศรัทธา ก็แสดงให้เห็นว่าท่านมีศรัทธาอย่างมากทีเดียว ไม่ใช่แต่เฉพาะในพระรูปเท่านั้น แต่ท่านก็จะต้องมีศรัทธาในพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย แต่เนื่องจากท่านยังมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น การที่จะไม่ให้กิเลสเกิดเลย แล้วก็ให้มีแต่ศรัทธาโดยตลอดในขณะที่ได้เห็น หรือว่าได้ฟังพระธรรมนี้ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียด และก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ จึงจะกล่าวได้ว่า ไม่มีโลภมูลจิตเกิดเลย แต่ว่าถ้ายังเป็นผู้ที่ยังมีโลภมูลจิตอยู่ ก็จะต้องพิจารณาขณะที่เลื่อมใสว่า ขณะนั้นจะมีอกุศลเกิดแทรกบ้างหรือเปล่า
ผู้ฟัง และศรัทธาที่เกิดทางตาที่เห็นรูปอย่างเห็นพระพุทธรูปก็ดี หรือเห็นสิ่งที่เคารพนับถือ ถ้าตามอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว หมายความว่า ถ้ามีความชอบใจมากๆ หรือว่าเลื่อมใสมากๆ อารมณ์ที่ปรากฏทางตานี้ ก็ที่จะเป็นกุศล เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยนี้ไม่ได้
ท่านอาจารย์ แน่นอน นี่เป็นข้อที่เตือนใจจริงๆ ที่จะต้องพิจารณาว่า สำหรับรูปไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดกุศลจิต แต่ว่าเป็นอารัมมณปัจจัยแก่กุศลจิตได้
เพราะฉะนั้น เวลาเห็นพระพุทธรูป ระลึกถึงพระคุณ นั่นเป็นกุศล แต่ถ้าเป็นวัตถุที่มีค่า แล้วก็มีความพอใจในความวิจิตร หรือว่าในความงดงามของพระพุทธรูปนั้น ขณะนั้นก็ควรจะพิจารณาว่า เป็นความพอใจในอะไร เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต
ผู้ฟัง อย่างสังเกตดูตัวเอง เวลาจะซื้อดอกไม้ไปถวายพระ ไปบูชาพระ จะต้องนึกถึงความสวยก่อนอื่น เห็นดอกไม้อย่างดอกบัวนี้สวยไหม สดไหม ไม่เอาดอกที่เหี่ยวหรือบานอะไรอย่างนี้ ขณะที่เลือกก็เพื่อว่าจะได้ดอกที่สวยๆ ดีๆ ไปบูชาพระ ขณะนั้นรู้สึกว่าศรัทธารู้สึกว่าจะไม่สดใส โลภะจะขึ้นหน้ามากกว่า
ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องพิจารณาว่า อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ที่น่าพอใจนี้ จะทำให้เกิดกุศลโสมนัส ถ้าได้ดอกบัวที่ไม่สวย เหี่ยวแห้ง จำเป็นที่จะต้องบูชา ความรู้สึกในขณะนั้นจะเป็นมหากุศลที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาหรือว่าโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น แม้แต่มหากุศลก็ยังจะต้องอาศัยอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ จึงจะทำให้เกิดมหากุศลโสมนัสได้ แต่ต้องเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นความติดความพอใจในดอกไม้ที่สวย ไม่คิดที่จะบูชาพระคุณของพระผู้มีพระภาค ขณะนั้นต้องเป็นโลภมูลจิตแน่นอน เพราะเหตุว่ากำลังติด กำลังพอใจในดอกไม้ที่สวย แต่ถ้าคิดที่จะบูชาพระคุณ ด้วยดอกไม้ที่สวย ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ทำให้เกิดกุศลโสมนัส ไม่ใช่ทำให้เกิดกุศลที่เป็นอุเบกขา
เพราะฉะนั้น จิตของใครก็จิตของคนนั้นจริงๆ เรื่องของศรัทธากับเรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียด
ผู้ฟัง กรณีอย่างดอกไม้ที่ผมว่าเมื่อกี้นี้ สมมติว่าดอกไม้เราเลือกเอาดอกไม้ที่ดีๆ ที่สวยงาม ความมุ่งหมายที่เลือกเอาดอกไม้ดีสวยงาม ก็เพื่อที่จะบูชาพระรัตนตรัย จิตมุ่งหมายว่าเพื่อบูชาพระรัตนตรัย แต่ไม่ใช่เลือกเพื่อไปดูว่าเป็นดอกที่สวยที่งาม อย่างนี้เป็นศรัทธา
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่ใช่การติดไง ไม่ใช่การยึดไว้ นี่เป็นการสละ ใช่ไหม เพื่อพระรัตนตรัย ไม่ใช่เพื่อตนเอง ขณะนั้นก็ต้องเป็นกุศล
ผู้ฟัง ทีนี้เวลาไปประดับแล้ว ไปใส่แจกันแล้วอะไรแล้ว แล้วก็กราบไหว้พระแล้ว เสร็จแล้วมาดูแม้ดอกไม้นี้รู้สึกสวย ชอบใจ อันนี้สงสัยจะเป็นโลภะขึ้นมาแล้ว ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า ลิง เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น เดี๋ยวทางกาย เดี๋ยวทางใจ เร็วที่สุดที่โลภะจะเกิด ตะกรุมตะกรามอย่างลิง
ถาม ธรรมของพระพุทธเจ้านี้ช่างมากมายเหลือเกิน เราทั้งกุศลและอกุศล เรียนเรื่องอื่นมาแล้ว ก็นึกว่าเอาหล่ะจะได้ วันนี้มาเจอ “ศรัทธา” และอาจารย์ก็ได้บรรยายอย่างละเอียด เรานี้ยังแย่มาก แสดงว่าศรัทธานี้ยังสะสมมายังน้อยเหลือเกิน อย่างผมอย่างนี้เรื่องจะไปซื้อดอกไม้ ไม่เคยคิดเลย อย่างคุณนิภัทรนี้ ฟังแล้วยังน่าอนุโมทนา เป็นผู้ชายยังซื้อดอกไม้ไปบูชาพระ ผมน่ากลัวต้องสะสมอีกนานเรื่องซื้อดอกไม้ไปบูชาพระ
สุ. ขออนุโมทนา นี่เป็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม แล้วก็จะได้พิจารณาตนเองว่า มีศรัทธามากน้อยแค่ไหน เพราะว่าศรัทธานี้เป็นสิ่งที่ควรเจริญจริงๆ เป็นความเจริญทางด้านจิตใจ ที่จะทำให้เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงฝั่ง คือ มรรคผล นิพพานได้
เพราะฉะนั้น ถ้าขาดศรัทธาโน่น ศรัทธานี่ ขาดไปเรื่อยๆ กุศลก็เล็กน้อยจริงๆ และก็อกุศลก็เพิ่มขึ้นๆ ทุกๆ วัน เพราะฉะนั้น ถ้าได้ทราบลักษณะของศรัทธาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่จะเป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในภาวนาบ้าง ย่อมเกื้อกูล แล้วพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ละเอียด เป็นการที่จะกันอกุศล คือ ให้รู้ว่าขณะใดเป็นโลภะ ขณะใดเป็นศรัทธา เพราะว่าเรื่องของโลภะกับเรื่องของศรัทธา ถ้าเป็นผู้ที่ไม่พิจารณา ไม่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว แทนที่จะเป็นความเจริญทางกุศล จะเป็นการเจริญทางอกุศล และก็ยังอาจจะทำให้เข้าใจผิด เห็นผิดคลาดเคลื่อนไปได้
ผู้ฟัง ส่วนมากพระอริยบุคคล ท่านก็แสดงไว้ว่าเป็นผู้ที่ตั้งมั่นในศรัทธา ทีนี้พระอริยบุคคลที่ยังดับโลภะไม่ได้ ขณะที่โลภะเกิด ก็ไม่มีศรัทธา และความหมายที่ท่านแสดงไว้ว่า ความตั้งมั่นความมีศรัทธาตั้งมั่นแล้วนี้ มีความหมายขอบเขตแค่ไหน
ท่านอาจารย์ มีความหมายว่า สำหรับพระอริยเจ้าแล้วไม่ล่วงศีล ๕ เลย ซึ่งผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า มีศรัทธาได้ในทานบ้าง ในศีลบ้าง แต่ก็ล่วงศีลได้ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าแล้ว นอกจากจะมีศรัทธา ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยโดยไม่คลอนแคลน เพราะความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยโดยไม่คลอนแคลนนั้นเอง จึงทำให้เป็นผู้ที่ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะล่วงศีล ๕ ได้
นี่เป็นความต่างกัน นี่แสดงถึงความมั่นคงของศรัทธา ซึ่งสำหรับการอบรมเจริญปัญญา จะเห็นได้ว่า ศรัทธาของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลนั้น เป็นศรัทธาที่ไม่คลอนแคลน แต่ในการเจริญสมถภาวนานั้น ลักษณะของศรัทธาที่จะปรากฏได้ ต้องถึงทุติยฌาน เพราะแม้ปฐมฌาน ลักษณะของศรัทธาก็ยังไม่ผ่องใส เพราะเหตุว่ายังมีองค์ ๕ คือ ทั้งวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา เพราะฉะนั้น ที่ศรัทธาจะผ่องใสขึ้น ก็ต่อเมื่อสามารถที่จะละองค์ คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิกได้ จึงจะเห็นได้ว่า ความละเอียด ความสงบนั้น มีสภาพของความผ่องใสอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของศรัทธา
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ที่ทุกคนให้ทานบ้าง รักษาศีลบ้าง วิรัติทุจริตบ้าง รักษาอุโบสถศีลบ้าง จึงไม่ค่อยจะเห็นลักษณะของศรัทธา เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่มีกำลังน้อย
เรื่องของกุศลจิตนี่ มีเป็นลำดับขั้น แล้วก็มีมากต่างกันไปโดยประเภท ทั้งอย่างอ่อน อย่างปานกลาง อย่างประณีต ต่างกันโดยสภาพของอธิบดี คือ โดยฉันทะบ้าง โดยวิริยะบ้าง โดยจิตบ้าง โดยวิมังสา คือ ปัญญาบ้าง
เพราะฉะนั้น กุศลมีปริมาณไม่มีที่สุด เช่นเดียวกับสภาพของจิต มีปริมาณไม่มีที่สุด เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นปรุงแต่งจากขณะหนึ่งเป็นอีกขณะหนึ่ง ไม่ว่าจะมีชีวิตในมนุษยโลกเท่าไร ในสัตว์ ในนรก ในเปรต ในอสุรกาย ในสวรรค์ ในรูปพรหมภูมิ ก็จะเห็นได้ว่า จิตมีต่างกัน ไม่มีที่สุด มีทั้งกุศลที่เป็นอดีต กุศลในอนาคตที่จะเกิดขึ้น และกุศลในปัจจุบัน มีทั้งกุศลที่หยาบ มีทั้งกุศลที่ประณีต เป็นไปได้ไหม กุศลหยาบ กุศลประณีต บางคนทำกุศลก็ทำให้เสร็จๆ สวยไม่สวยไม่ว่า ดีไม่ดี ไม่คำนึงถึงเหมือนกัน อร่อยหรือไม่อร่อย ก็ไม่เป็นไรเหมือนกัน อันนี้ก็แสดงให้เห็นถึงกุศลหยาบ
ดิฉันขอเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟัง ซึ่งก็คงจะเป็นวิบากกรรมอันหนึ่งของดิฉัน ซึ่งไม่ทราบว่าจะเป็นผลของกรรมในชาติไหน หรือว่าจะได้เคยกระทำมาแล้วบ่อยมากน้อยอย่างไรไม่ทราบ แต่เป็นคนที่ถ้ารับประทานอาหาร จะต้องพบกรวดหรือทรายอยู่ในเม็ดข้าวบ้าง หรือว่าในอาหารที่เป็นกับข้าวบ้าง ไม่ใช่ว่าต้องบ่อยเป็นประจำ แต่ว่าพอเห็นทีไรก็ต้องนึกว่า ชาติก่อนๆ คงจะได้ทำกุศลที่ไม่ประณีตเลย ชาตินี้เวลาที่รับประทานข้าว ก็จะเจอเม็ดกรวด เม็ดทรายแข็งๆ แม้แต่ในขนมซึ่งเป็นถั่วก็จะต้องมีเม็ดกรวดหรืออะไร ซึ่งคนที่รับประทานด้วยกัน จะมีหรือไม่มี ไม่ทราบ จะสังเกตหรือไม่สังเกตไม่ทราบ จะระลึกถึงกรรมหรือไม่ระลึกไม่ทราบ แต่สำหรับดิฉันเอง พอพบทีไร จะต้องนึกว่าต้องเคยกระทำกุศลที่ไม่ประณีต เพราะฉะนั้น ในอาหารถึงได้มีกรวดเม็ดเล็กๆ หรือทรายเม็ดเล็กๆ ให้ระลึกได้ถึงอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ทราบว่าจะเป็นชาติหนึ่งชาติใด
เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่า กุศลนี้มีทั้งหยาบ มีทั้งประณีต ถ้าเป็นกุศลที่ประณีต ก็ทำด้วยความวิจิตร ด้วยความบรรจง ด้วยความระมัดระวัง นั่นก็ชื่อว่าเป็นกุศลที่ประณีต
กุศลทั้งหลายในสัตว์บุคคลหนึ่ง รวมทั้งในบรรดาสัตว์บุคคลทั้งหลาย ในจักรวาลซึ่งไม่มีประมาณ ในภพภูมิที่ไม่มีประมาณ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่ากุศลย่อมต่างประเภทเป็นอันมาก แต่แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ทรงกำหนดกุศลเหล่านั้นทั้งหมด โดยอาการทั้งปวงด้วยพุทธญาณอันไม่มีที่สุด ราวกะว่าทรงชั่งอยู่ด้วยคันชั่งมหึมา ราวกะว่าทรงใส่เข้าในหม้อมหึมาตวงอยู่ แล้วจึงทรงน้อมเข้าไปสู่ความเป็นชั้นเดียวกัน คือประเภทเดียวกัน เพราะเป็นธรรมคล้ายกัน โดยความเป็นกามาวจรกุศล ๘ ดวง
แล้วทรงแสดงทำให้เป็นส่วนๆ โดยอรรถ คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา มีปัญญาเกิดร่วมด้วย และไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เป็นอสังขาริก และเป็นสสังขาริก ด้วยพระมหากรุณาสมกับที่ทรงเป็นโลกวิทู ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายแล
ถ้าได้ทราบอย่างนี้ถึงพระมหากรุณาคุณที่ได้ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ก็ย่อมจะมีศรัทธาที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมยิ่งๆ ขึ้น ซึ่งลักษณะของผู้ที่มีศรัทธา พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ฐานสูตร ข้อ ๔๘๑ มีข้อความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส พึงรู้ได้ด้วยสถาน ๓ สถาน ๓ คืออะไร คือ เป็นผู้ใคร่ในการเห็นท่านผู้มีศีลทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ใคร่เพื่อจะฟังพระธรรม ๑
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050