โสภณธรรม ครั้งที่ 030


    ตอนที่ ๓๐

    (๑) เหตุเหตุ คือ เหตุที่เป็นมูล หรือเหตุที่เป็นเหตุปัจจัย ซึ่งก็ได้แก่ อกุศลเหตุ ๓ กุศลเหตุ ๓ และอัพยากตเหตุ ๓ ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว พ้นไปจากโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก แล้วก็ไม่ใช่เหตุเหตุ แต่ว่าเป็นปัจจัย เป็นเหตุ โดยเหตุอื่น ซึ่งไม่ใช่เหตุเหตุ

    สำหรับกุศลเหตุ ๓ ก็เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากที่เป็นกุศลวิบาก อกุศลเหตุ ๓ ก็เป็นเหตุที่จะให้เกิดอกุศลวิบาก อัพยากตเหตุ ๓ ไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกเกิดกับวิบากจิตก็ได้ เกิดกับกิริยาจิตก็ได้ ซึ่งเมื่อเป็นวิบากจิต ไม่เป็นเหตุเหตุที่จะทำให้เกิดวิบาก และเมื่อเป็นกิริยาจิตก็ไม่เป็นเหตุเหตุที่จะให้เกิดวิบาก

    (๒) ปัจจัยเหตุ คือ เหตุปัจจัย หมายความถึงปัจจัยทุกอย่างเป็นเหตุ เช่น มหาภูตรูปเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติรูปขันธ์ ชื่อว่า ปัจจัยเหตุ

    ถ้าไม่มีมหาภูตรูป จะมีการเรียกรู้รูปใดๆ ได้ไหม ถ้าปราศจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปนั่นเองเป็นปัจจัยเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติรูปขันธ์ว่า นี่คือรูป ชื่อว่า ปัจจัยเหตุ หรืออุปาทายรูปก็เกิดขึ้นเพราะมหาภูตรูปเป็นปัจจัย นั่นก็คือปัจจัยเหตุ ซึ่งไม่ใช่เหตุเหตุ เพราะเหตุว่าเหตุที่เป็นเหตุมีเพียง ๖ แต่นี่ปัจจัยทุกปัจจัยเป็นเหตุ โดยเป็นปัจจัย

    (๓) อุดมเหตุ ได้แก่ เหตุที่เป็นหลักเป็นประธาน เช่น สภาพธรรมที่สำเร็จเป็นกรรมแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก จึงชื่อว่า อุดมเหตุ เพราะว่าเป็นเหตุที่สมบูรณ์แล้ว ที่จะทำให้เกิดวิบากได้

    ถ้าอย่างเกิดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในชีวิตประจำวันธรรมดา ยังไม่สำเร็จเป็นกรรม เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ใช่อุดมเหตุที่จะทำให้เกิดวิบาก ต่อเมื่อใดสำเร็จเป็นกรรมแล้ว ก็เป็นอุดมเหตุ คือ เป็นเหตุที่สมบูรณ์ที่จะทำให้วิบากเกิดขึ้น

    นี่ก็เป็นการพิจารณาสภาพธรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลว่า ขณะใดเป็นเหตุเหตุ ขณะใดเป็นปัจจัยเหตุ และขณะใดเป็นอุดมเหตุ

    (๔) สาธารณเหตุ ได้แก่ เหตุทั่วไป ซึ่งก็ได้แก่ อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร คือ เป็นเหตุที่สาธารณะทั่วไป โดยไม่เฉพาะเจาะจงจริงๆ เพราะเหตุว่าอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารได้ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล

    ในชีวิตประจำวันที่ไม่รู้เรื่องของปรมัตถธรรมเลย ไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เลย แต่แม้กระนั้นก็มีเจตนาที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง โดยมีอวิชชานั่นเองเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงเป็นสาธารณเหตุ คือ เหตุทั่วไปของกรรมที่เป็นกุศลและที่เป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงเหตุก็ควรที่จะได้ทราบด้วยว่า ที่ใช้คำว่า “เหตุปัจจัย” หมายคลุมทั้งที่เป็นเหตุเหตุ ๑ ที่เป็นปัจจัยเหตุ ๑ ที่เป็นอุดมเหตุ ๑ และที่เป็นสาธารณเหตุ ๑ แต่ถ้ากล่าวโดยเจาะจงที่เป็นเหตุเหตุจริงๆ เหตุที่เป็นเหตุจริงๆ ก็ต้องได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง ที่เป็นอกุศลเหตุ ๓ และที่เป็นโสภณเหตุ ๓

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแม้เรื่องเหตุ เพื่อที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันในวันหนึ่งๆ เวลาอกุศลจิตเกิด มีอวิชชาเป็นสาธารณเหตุ เวลากุศลจิตก็ต้องยังมีอวิชชานั่นเองเป็นสาธารณเหตุ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดขึ้นๆ ก็เพื่อจุดประสงค์เพื่อจะให้เห็นชัดเจนในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมแต่ละอย่างในวันหนึ่งๆ

    สำหรับเหตุให้เกิดอโลภะก็คือ โยนิโสมนสิการ

    การกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย คือ โดยถูกต้องตามลักษณะของสภาพธรรม โดยถูกต้องตามเหตุและผล

    แต่ว่ามีหลายท่านที่คิดว่า จะต้องทำโยนิโสมนสิการ บางคนก็บอกว่า ต้องให้เป็นโยนิโส ต้องให้เป็นโยนิโส แต่ว่าจะเป็นไปได้ตามใจชอบไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าโยนิโสมนสิการก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปในชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้น เพราะเหตุว่ามนสิการ มี ๓ อย่าง คือ

    (๑) อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ ได้แก่ มนสิการเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพเจตสิกซึ่งยังใจให้ไปสู่อารมณ์ เป็นสภาพที่สนใจ ใส่ใจในอารมณ์

    เจตสิกเกิดร่วมกันหลายดวง ในขณะที่จิตขณะหนึ่งๆ เกิดขึ้น และมนสิการเจตสิกก็เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวง แต่ว่าลักษณะของมนสิการเจตสิก ถ้าจะอุปมาในระหว่างเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดพร้อมกัน ก็เป็นสภาพที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์ มีการมุ่งสู่อารมณ์ เป็นลักษณะ ซึ่งทุกคนก็อาจจะเปรียบเทียบได้กับ ถ้ามีหลายๆ คนอยู่ในที่หนึ่งที่ใด อาจจะมีการฟังธรรม หรือการพูดสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ หรือมีการแสดง หรือมีวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ดูก็ได้ แต่ใครในกลุ่มบุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่กำลังสนใจในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ลักษณะนั้นก็คือ มนสิการเจตสิก ที่เป็นสภาพที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์ มุ่งเข้าสู่อารมณ์ เป็นลักษณะ นี่คือ “อารัมมณปฏิปาทกมนสิการเจตสิก” ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง แม้ในขณะนี้เอง กำลังใส่ใจขณะใด ขณะนั้นก็ปรากฏลักษณะสภาพที่ให้รู้ได้ว่า เป็นมนสิการเจตสิก

    (๒) วิถีปฏิปาทกมนสิการ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่ยังใจให้สู่วิถี หรือยังใจให้ดำเนินสู่วิถี เพราะเหตุว่า ถ้าจิตดวงนี้ไม่เกิด จิตอื่นๆ ที่เป็นวิถีจิต จะเกิดไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต ข้อความใน โมหวิจเฉทนี ข้อ ๑๙ มีคำอธิบายว่า

    ชื่อว่า มนสิการ โดยอรรถวิเคราะห์ว่า ทำใจอันต่างจากใจมีในก่อน ดังนี้บ้าง

    ก่อนที่วิถีจิตจะเกิด เป็นอะไร ก่อนที่วิถีจิตจะเกิดเป็นภวังคจิต เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ ทำใจอันต่างจากใจมีในก่อน เพราะว่าใจก่อนนี้เป็นภวังคจิต ไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดจึงต่างกับภวังคจิต เพราะเหตุว่าเป็นวิถีจิตที่เป็นขณะแรกที่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    (๓) ชวนปฏิปาทกมนสิการ ก็คือ มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งยังใจให้ดำเนินสู่ชวนวิถี เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ชวนวิถีจิตต้องเกิด ที่จะมีชวนวิถีจิตเกิด โดยไม่มีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน ไม่มีโดยปกติ เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตจึงเป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ เป็นจิตที่ยังใจให้ดำเนินสู่ชวนะ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บรรดามนสิการทั้ง ๓ ประการนี้ อารัมมณปฏิปาทกะ ชื่อว่า มนสิการ ซึ่งได้แก่ มนสิการเจตสิก โดยอรรถวิเคราะห์ว่า ทำไว้ในใจ มนสิการนั้นมีการยังสัมปยุตตธรรม ให้แล่นไปตรงต่ออารมณ์ เป็นลักษณะ มีการประกอบสัมปยุตตธรรมไว้ด้วยอารมณ์ เป็นรสะ มีการเผชิญหน้าต่ออารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นธรรมนับเนื่องในสังขารขันธ์ พึงเห็นว่า ราวกะสารถีของสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ด้วยความเป็นธรรม ช่วยให้ดำเนินไปสู่อารมณ์

    สำคัญหรือเปล่า สำคัญแค่ไหน ต้องมีอีกใช่ไหม โดยเป็นเพียงสัพพจิตตสาธารณเจตสิกเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า คนขับนี้สำคัญไหม สำคัญแค่ไหน สำคัญแค่ขับ แต่จะขับไปในทางถูกหรือในทางผิด ต้องแล้วแต่บุคคลอื่นซึ่งกำกับคนขับ หรือเป็นผู้ที่ชี้ทาง เป็นผู้ที่รู้ทาง ซึ่งจะต้องเป็นโสภณเจตสิก เพราะฉะนั้น แต่ละลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกระทำกิจในวันหนึ่งๆ แม้ว่าแต่ละท่านจะไม่รู้จักลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภท แต่ว่าพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทนั้นโดยละเอียด เพื่อที่จะให้เห็นในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้น ที่ท่านจะทำโยนิโส ลองคิดดู จะทำขณะไหน จะทำเมื่อไร ขณะที่จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้น เป็นวิบาก เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะทำโยนิโสได้ไหม ไม่ใช่เรื่อง “ทำ” แต่เป็นเรื่องเข้าใจว่าขณะใดที่กุศลธรรมเกิด ขณะนั้นมนสิการโดยถูกต้อง เป็นโยนิโสมนสิการ โดยกำเนิด โดยใจ ไม่ใช่โดยบุคคลหนึ่งบุคคลใด

    นี่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แม้แต่โยนิโสมนสิการก็เป็นไป เกิดขึ้นโดยกำเนิด โดยใจ ไม่ใช่ว่าโดยบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะทำโยนิโสมนสิการได้ ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็ยังคงจะเห็นว่า มีเรา หรือว่ามีตัวตน แทนที่จะระลึกรู้ได้ว่า ขณะนี้เป็นอกุศลจิต เป็นอโยนิโสมนสิการ แต่พอจิตเปลี่ยนกลับเป็นกุศล ระลึกได้ ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการแล้ว โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะเป็นตัวตน หรือว่าทำโยนิโสมนสิการได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ส่วนคำว่า วิถีปฏิปาทก นั้นเป็นชื่อของ ปัญจทวาราวัชชนจิต คำว่า ชวนปฏิปาทก นั้นเป็นชื่อของ มโนทวาราวัชชนจิต ทั้งสองนั้น มิได้ประสงค์เอาในที่นี้

    เพราะฉะนั้น ที่เป็นโยนิโสมนสิการก็เป็นมนสิการเจตสิก เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึง วิถีปฏิปาทกมนสิการแล้วก็หมายถึง ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งต้องเกิดก่อนปัญจวิญญาณ หรือทวิปัญจวิญญาณ ซึ่งในขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพที่รู้อารมณ์ ที่กระทบทางทวารเท่านั้นเอง

    แต่ว่าสำหรับเหตุที่ทำให้เกิดอโลภเจตสิก ได้แก่ โยนิโสมนสิการ ซึ่งสำหรับกุศลจิตที่เป็นมหากุศล มีถึง ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท คือ ที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง แล้วเป็นมหากุศลญาณวิปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง แม้มหากุศลไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ต้องเป็นโยนิโสมนสิการ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ก็จะเป็นกุศลไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรม เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ สภาพของปัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้ชัด แต่ว่าลักษณะของมนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์ ด้วยความถูกต้อง ด้วยความแยบคาย แต่ว่าสภาพของปัญญานั้น ไม่ใช่เป็นการสนใจหรือใส่ใจ แต่เป็นสภาพที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นในขั้นของความเข้าใจ ก็เป็นความเข้าใจในเหตุและในผล ซึ่งก็เป็นขั้นของปัญญา ซึ่งเป็นความรู้ ไม่ใช่เป็นขั้นของเพียงขณะที่กำลังใส่ใจ หรือขณะที่กำลังสนใจ เพราะเหตุว่าถ้าใส่ใจหรือสนใจด้วยดี ด้วยความถูกต้อง ขณะนั้นก็เป็นกุศล แต่ถ้าใส่ใจโดยไม่ถูกต้อง เช่นสิ่งที่ไม่เที่ยง ก็เห็นว่าเที่ยง ขณะนั้นก็เป็นอโยนิโสมนสิการ

    สำหรับลักษณะของอโลภเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งลองพิจารณาดูว่า ทุกคนมีความเห็นแก่ตัวแน่นอน เมื่อมีความรู้สึกว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตน ก็ย่อมมีความเห็นแก่ตัวมากกว่าที่จะเห็นแก่บุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันจึงมีความรักตัว และก็ทำทุกอย่างเพื่อตัว ด้วยความเห็นแก่ตัว ในขณะใด ในขณะนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด เป็นโลภมูลจิตทั้งหมด มากมายเหลือเกินในชีวิตประจำวัน แต่ว่าขณะใดที่อโลภเจตสิกเกิด ขณะนั้นละความเห็นแก่ตัวทุกขั้น

    เพราะฉะนั้น กว่าอโลภเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ละความเห็นแก่ตัว จะเจริญขึ้น เพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะดับความเห็นแก่ตัวได้เป็นสมุจเฉท ก็จะต้องเห็นการเจริญขึ้นของอโลภเจตสิกเป็นขั้นๆ เช่น อโลภะขั้นแรก คือ ในขั้นของทาน ขณะนั้นละความเห็นแก่ตัว โดยคิดถึงประโยชน์สุขของคนอื่น ถ้าไม่มีประโยชน์สุขของคนอื่น เป็นเครื่องให้ระลึกหรือให้คิดถึงทานกุศลในขณะนั้นก็เป็นไปไม่ได้ ก็ยังคงคิดถึงแต่ประโยชน์สุขของตนเอง แต่ขณะใดที่มองเห็นบุคคลอื่นซึ่งมีความจำเป็นและก็ควรที่จะได้รับวัตถุปัจจัย เป็นการช่วยเหลือเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลนั้น ในขณะที่มีการสละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุของบุคคลอื่น กุศลขั้นทาน ละความเห็นแก่ตัว โดยคิดถึงประโยชน์สุขของคนอื่น

    ลองพิจารณาดูทานกุศลในวันหนึ่งๆ เป็นในลักษณะนี้หรือเปล่า อโลภะ ขั้นศีล คือ การเว้นทุจริต เบียดเบียนบุคคลอื่นทางกาย ทางวาจา ขณะนั้นก็เป็นการละความเห็นแก่ตัว คือ ไม่คิดถึงแต่ประโยชน์สุขของตนเอง ในขณะที่วิรัติทุจริตกรรมนั้นก็ต้องคิดถึงประโยชน์สุขของผู้นั้นด้วย มิฉะนั้นแล้วก็ย่อมจะเบียดเบียนผู้นั้น แต่ขณะใดที่เว้นการเบียดเบียนด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ในขณะนั้นก็เป็นการละความเห็นแก่ตัว โดยคิดถึงประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นโดยการช่วยเหลือสงเคราะห์ หรือว่าโดยการละเว้นกายทุจริต วจีทุจริต ก็ตาม

    สำหรับอโลภะขั้นสมถะ คือ ความสงบของจิตจากอกุศล ขณะนั้นละความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง ไม่เกี่ยวกับคนอื่นแล้ว ใช่ไหม ขณะใดที่รู้สึกว่าจิตใจเป็นอกุศลด้วยโลภะ หรือโทสะก็ตาม ถ้าระลึกได้ในขณะนั้นก็มีความเมตตาเกิดขึ้น มีการให้อภัยเกิดขึ้น มีความกรุณาเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่มีความเห็นแก่ตัวว่า ตนเองต้องถูก หรือว่าตนเองต้องสำคัญ หรือว่าตนเองต้องยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าในขณะที่เป็นอโลภะขั้นสมถะนั้น เป็นการละความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง เพราะว่าเห็นภัยของอกุศลทั้งหลาย

    สำหรับอโลภะขั้นวิปัสสนา ก็เป็นการละความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง คือ เพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    นี่เป็นสิ่งที่พอจะมองเห็นได้ แต่ว่าก็จะต้องพิจารณาให้ละเอียดว่า แม้การละความเห็นแก่ตัวขั้นทานและขั้นศีลนั้น ซึ่งเป็นการละความเห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่นนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นประโยชน์สุขแก่ตนเองด้วย เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่การสะสมโลภะ โทสะ หรือว่าอกุศลอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยที่จะสะสมต่อไปให้เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยที่ดีงาม คือ เป็นผู้ที่มีทานุปนิสสัยสำหรับตนเอง เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ที่เป็นกุศลทั้งหลาย ต้องทั้งประโยชน์ตัวเองและประโยชน์ผู้อื่น แล้วแต่ว่าจะเห็นได้ชัดว่า ในขณะนั้นเป็นประโยชน์ผู้อื่น โดยที่ว่ายังไม่เห็นว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นประโยชน์ของตนด้วย

    สำหรับอโลภะที่เป็นกุศลขั้นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ซึ่งเป็นประโยชน์สุขแก่ตนเอง เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีความเดือดร้อนเพราะอกุศล และก็เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพื่อดับกิเลสของตนเอง แต่โดยความละเอียดแล้ว ขณะนั้นก็เป็นการละความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นด้วย เพราะเหตุว่าเป็นเหตุที่จะทำให้บุคคลอื่นไม่เดือดร้อน จากการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดอบรมเจริญความสงบขั้นสมถะ และอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสของตนเองเป็นสมุจเฉท

    นอกจากนั้นแล้ว การอบรมเจริญกุศลขั้นวิปัสสนาภาวนา ซึ่งจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทนั้นก็ยังสามารถเกื้อกูลบุคคลอื่นในทางธรรม ให้เจริญหนทางข้อปฏิบัติที่ถูกต้องได้

    ผู้ฟัง อโลภเจตสิกนี่เป็นกุศลสาธารณเจตสิกเกิดได้กับมหากุศลทั้ง ๘ ดวง แต่เหตุที่จะให้เกิดมหากุศล หรือให้เกิดอโลภเจตสิก ข้อหนึ่งที่ว่า โยนิโสปทัฏฐาโน มีโยนิโสคือ การพิจารณาโดยแยบคายเป็นปทัฏฐาน การพิจารณาโดยแยบคายนี่จะไม่ประกอบด้วยปัญญาหรือ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กุศลจิตเกิด เป็นญาณวิปยุตต์มีไหม

    ผู้ถาม มี

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก

    ผู้ฟัง ไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก แต่ที่จะประกอบด้วยปัญญาเจตสิกที่ว่า มหากุศลญาณสัมปยุตต์นั้น จะต้องเกิดในขณะที่สติปัฏฐานเกิดอย่างเดียวเท่านั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ มิได้ กุศลทุกขั้น แม้แต่ในขั้นของทานที่เป็นญาณสัมปยุตต์ก็ได้ เพราะเหตุว่าต้องแยก อโลภเจตสิกเป็นการไม่เห็นแต่ตัว เป็นเหตุให้กระทำกุศลขั้นต่างๆ เริ่มตั้งแต่ขั้นทาน ซึ่งควรจะพิจารณาความต่างกันของทาน กับ ทานบารมี

    ถ้าเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด เช่น เชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดอีก ไม่รู้เรื่องของการดับกิเลสเลย แม้ว่าจะมีการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุของบุคคลอื่น ก็ไม่ใช่ทานบารมี เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังให้ทานนั้น ไม่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะว่าไม่มีจุดประสงค์ที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท คนที่มีความเห็นผิด ไม่เชื่อว่าตายแล้วเกิด ก็ยังมีการให้ทาน แต่ว่าไม่รู้เรื่องของการดับกิเลส เพราะฉะนั้น ในขณะที่ให้ทานในขณะนั้น ก็ไม่ใช่กุศลญาณสัมปยุตต์ แล้วก็ไม่ใช่ทานบารมีด้วย เพราะเหตุว่าท่านผู้นั้นไม่มีจุดประสงค์ที่จะดับกิเลส

    ผู้ฟัง ถ้าในขณะที่ให้ทาน ถ้าจะให้เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ จะเป็นลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังให้ ที่จริงแล้ว สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะมิฉะนั้นแล้วลองสังเกตการให้ในวันหนึ่งๆ ว่า จิตในขณะที่ให้มีความเข้าใจอะไร มีความคิดอย่างไรในขณะที่ให้ บางท่านอาจจะเห็นประโยชน์จึงให้ แม้ว่าคนอื่นอาจจะบอกว่า ไม่สมควรที่จะให้เลย แต่ว่าท่านผู้นั้นก็ยังพิจารณา เห็นประโยชน์ของการที่จะให้ เพราะเหตุว่าเป็นการละคลายความติดในวัตถุที่จะให้ เพราะพิจารณาเห็นสมควรที่จะให้ เรื่องของการให้เป็นเรื่องที่ต่างอัธยาศัยจริงๆ บางคนก็อาจจะบำเพ็ญทานกับพระภิกษุผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ บางท่านก็สงเคราะห์คนตกทุกข์ได้ยาก โดยที่ว่าท่านก็เห็นว่า พระภิกษุผู้ประพฤติดีประพฤติชอบนั้นไม่เป็นผู้ที่ขาดแคลนขัดสน แต่ว่าผู้อื่นที่กำลังเดือดร้อน ป่วยไข้ ทุกข์ยาก เป็นผู้ที่ควรที่จะได้รับความเมตตา เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นที่มีอัธยาศัยสะสมมาก็สงเคราะห์ผู้ที่ยากไร้ แต่ว่าบางท่านก็สะสมมาที่จะมีความเมตตา เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ที่จะให้วัตถุทาน เพื่อที่จะให้บุคคลอื่นมีความสุข มีความสะดวกสบาย และก็บางท่านก็อาจจะให้วิชาความรู้เป็นทาน

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ในเรื่องของการให้ แต่ละท่านสะสมมาต่างๆ กัน จริง แต่ในขณะที่กำลังให้ เป็นจิตที่รู้ว่าให้เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะรู้ว่า บุคคลนั้นมีความจำเป็น และถ้าท่านสามารถสงเคราะห์ได้ ท่านก็สงเคราะห์ โดยการรู้ว่า ในขณะนั้นจะเป็นเหตุให้โลภะของท่านเบาบางลงได้ด้วยการกระทำอย่างนั้น ถ้าขณะใดที่เป็นกุศลอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นญาณสัมปยุตต์ เพราะรู้ว่าถ้าขาดทานบารมี ถ้าวันหนึ่งๆ ในชีวิต ไม่มีการให้เลย ชาติหนึ่งไม่มีการให้เลย แล้วก็กิเลสจะดับได้อย่างไร แต่ว่าเมื่อรู้ว่าชาติหนึ่งถ้ามีการให้บ้าง ก็เป็นการที่จะทำให้กิเลสสามารถที่จะดับได้ในวันหนึ่ง ช้าหรือเร็วก็แล้วแต่อโลภะ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เจริญกุศลทุกขั้นต่อไป

    ผู้ฟัง อันนี้เรียกว่า ปัญญา หรือว่ามหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดในขณะที่ให้ทาน แต่ที่จะเกิดเรียกว่ามหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่เกิดในขณะที่ให้ทานนั้นเป็นการเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าปัญญาเกิดขึ้นในขณะที่ให้ทาน ที่จะเป็นการเจริญสติปัฏฐานนั้นจะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ตัวเรา ในขณะนั้นเป็นนามธรรม กับเป็นรูปธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ